วิเคราะห์เรื่องราวของอิมามมะฮ์ดี ตอนที่ 6

วิเคราะห์เรื่องราวของอิมามมะฮ์ดี ตอนที่ 6

สภาพสังคม การเมืองการปกครอง และความคิดในสมัยการปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ยุคฆ็อยบัตซุฆรอ
เมืองขึ้นของอาณาจักรอับบาซียะฮ์บางส่วนได้ประกาศตนเป็นอิสรภาพ
เกี่ยวกับสภาพการเมืองการปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์ภายในนั้นได้อัปปางลงไปแล้ว
ส่วนบรรดาหัวเมืองน้อยใหญ่ที่ตกเป็นเมืองขึ้นก็มีศักยภาพมากขึ้น หัวเมืองส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะประกาศตนเป็นอิสระ
เช่นเดียวกับ พวกข้าหลวงของวงศ์อับบาซียะฮ์ที่ปกครองดินแดนต่างๆอันกว้างใหญ่ในสมัยนั้น เริ่มไม่ให้ความยอมรับนับถือต่ออำนาจของรัฐบาลกลาง
ถึงแม้ว่า พวกข้าหลวงจะทำแสดงตนว่าจงรักภักดีอยู่ก็ตาม แต่ความจริงพวกเขาไม่เชื่อฟังกาหลิบแล้ว
หลักฐานคือพวกเขาคิดจะยกทัพไปตีเมืองใด ก็ทำตามที่ต้องการ โดยไม่ได้ขออนุญาตจากกาหลิบเลย
นี่คือหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นว่า พวกเขาต้องการยึดบ้านเมืองต่างๆและต้องการขยายอิทธิพลของพวกเขาให้มากขึ้นกว่าเก่า
ยกตัวอย่างหัวเมืองต่างๆที่สามารถปกครองตนเองได้แล้วเช่น
อันดาลุส(สเปน),แอฟริกาเหนือ,อิหร่าน,อียิปต์,ซีเรีย,โมซุล(อิรัก)

เป้าหมายที่แท้จริงของการพิชิตหัวเมืองต่างๆนั้นถูกเปลี่ยนแปลงไป
เป้าหมายตอนแรก ที่มุสลิมยกทัพออกไปพิชิตดินแดนบ้านเมืองต่างๆในอิสลามคือ ช่วยปลดปล่อยประชาชนให้พ้นจากการเป็นทาส จากความอธรรมต่างๆ และการปกครองของอิสลามได้เผยแผ่ไปยังดินแดนต่างๆที่พิชิตได้
ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อไปเข่นฆ่า ล้างแค้น หรือออกไปแสวงหาทรัพย์สินจากการทำสงคราม
ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่บรรดาผู้พิชิตบ้านเมืองต่างๆ จะต้องเรียกร้องเชิญชวนประชาชนไปสู่อิสลาม และอธิบายสารคำสอนอิสลาม ก่อนเปิดฉากรบกับเมืองนั้น เพราะการทำญิฮาดในอิสลามมีจุดประสงค์และมีระเบียบการของมันโดยเฉพาะตามที่กล่าวเอาไว้ในตำราอิสลาม
แต่ว่า มีจุดประสงค์และระเบียบการนี้ ได้สูญหายไปจากความคิดของบรรดาผู้พิชิตบ้านเมืองต่างๆในสมัยนั้น
การไปพิชิตบ้านเมืองในสมัยราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ได้ห่างไกลจากจุดประสงค์ขึ้นพื้นฐานอย่างแท้จริงตามที่อิสลามกำหนดไว้
เพราะไม่มีการเชิญชวนชาวเมืองให้เข้ารับอิสลาม ทั้งก่อนและหลังการรบกับพวกเขา ขณะที่การ ดะอ์วะฮ์เรียกร้องเชิญชวนสู่อิสลามเป็นสิ่งจำเป็นที่ชัดเจนในหลักการอิสลาม ดังนั้น การสังหารเชลย, การตัดต้นไม้ การจุดไฟเผาบ้านเมือง จึงเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับหลักการอิสลาม
อิบนุอะษีรได้บันทึกไว้ว่า
في هذه السنة(248) أغزى المنتصر وصيفاً التركي إلى بلاد الروم؛ وكان سبب ذلك أنه كان بينه وبين أحمد بن الخصيب شحناء وتباغض، فحرض أحمد ابن الخصيب المنتصر على وصيف، وأشار عليه بإخراجه من عسكره للغزاة، فأمر المنتصر بإحضار وصيف
ปีฮ.ศ. 248 กาหลิบอัลมุนตะซิร ได้มอบหมายให้ วะศีฟ แม่ทัพเติร์กยกกองทัพไปตีเมืองโรม
สาเหตุเพราะ ระหว่าง แม่ทัพ วะศีฟ กับ อะห์มัด บิน คอศีบ ซึ่งเป็นเสนาบดี มีความบาดหมางชิงชังกัน  
เสนาบดี อะห์มัด บิน คอศีบ จึงยุยงให้กาหลิบอัลมุนตะซิร ปลดวะศีฟออกจากตำแหน่งแม่ทัพ  กาหลิบอัลมุนตะซิรจึงสั่งให้แม่ทัพวะศีฟเข้าพบ
วะศีฟมีทหารในสังกัดของเขาถึง 12,000 คน เมื่อวะศีฟได้นำทหารเดินทางไปรบ
กาหลิบอัลมุนตะซิรได้เขียนสารคำสั่งแจ้งไปว่า ให้วะศีฟอยู่รบที่ชายแดนเป็นเวลา 4 ปี และวะศีฟต้องทำสงครามที่นั่น ไปจนกว่าจะมีคำสั่งอื่นของกาหลิบมาเปลี่ยนแปลง
ดู อัลกามิล ฟิตตารีค เล่ม 7 หน้า 111-112 และ ตารีคอัตต็อบรีย์ เล่ม 11 หน้า 74

สรุปความได้ว่า
จุดประสงค์การรบหรือการไปพิชิตบ้านเมืองยุคอับบาซียะฮ์นั้น มิได้เป็นไปตามหลักการอิสลาม
แต่มันเกิดขึ้นจากเหตุผลอื่นๆ เช่น ความขัดแย้งทางการเมือง ความชิงชังและการเป็นศัตรูระหว่างกันในเรื่องส่วนตัวและเรื่องอื่นๆระหว่างสองคนหรือสองฝ่าย ซึ่งไม่เกี่ยวกับการไปเผยแผ่อิสลาม หรือการไปช่วยประชาชนให้เป็นอิสระจากการถูกกดขี่

บทความโดย เชคอับดุลญะวาด สว่างวรรณ