เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

วิเคราะห์เรื่องราวของอิมามมะฮ์ดี ตอนที่ 7

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


วิเคราะห์เรื่องราวของอิมามมะฮ์ดี ตอนที่ 7


หากอยากรู้เหตุผลว่า ทำไมอิมามมะฮ์ดีต้องเร้นหายไป จำเป็นที่ท่านต้องทำความเข้าใจสภาพการณ์ในยุคการปกครองของราชวงศ์อับบาซียะฮ์
1.สภาพการเมือง (กล่าวไปแล้ว)
2.สภาพสังคม (กำลังจะอธิบายถึง)
3.สภาพความคิด
2. สภาพสังคม
เราจะอธิบายรายละเอียดในมุมมองของอิสลาม ถึงสภาพความเป็นอยู่ของบรรดากาหลิบและบรรดาข้าหลวงยุคราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ในเรื่องการละเล่น การละเมิด การเริงรมย์ในชีวิตยามราตรี และความฟุ่มเฟือยต่างๆ ซึ่งไม่มีขอบเขตจำกัด คนในยุคนั้นแบ่งออกเป็นสองชนชั้น
1.คนรวยคือกาหลิบและพวกข้าหลวง 2. คนจน ซึ่งเป็นชนส่วนใหญ่
ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น ระหว่างกาหลิบกับสมุนบริวาร ด้านหนึ่ง
ความเหลื่อมล้ำระหว่างผู้ถูกปกครองด้วยกัน อีกด้านหนี่ง
เราจะนำเสนอหลักฐานเพียงบางส่วนให้ท่านฟัง
1. #ความสนุกสนาน
ความสนุกสนาน เป็นความเหมือนที่แตกต่างกันระหว่างบรรดากาหลิบ อย่างเห็นได้ชัด เป็นเรื่องที่เล่าขานกันมาจากพวกเขาในเรื่องความสนุกสนาน บันเทิงเริงรมย์ประเภทต่างๆ ที่มีการแสดงในสถานที่ชุมนุม แสดงให้เห็นว่า มีต้องการจะให้มีผู้รู้เห็น หรือให้เป็นแบบอย่าง
ตำราประวัติศาสตร์และวรรณคดีอรับได้บันทึกเรื่องนี้ไว้ จะเห็นได้ว่า บรรดากาหลิบวงศ์อับบาซียะฮ์ ได้ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ไปกับความอัปยศท่ามกลางไหสุราและการร้องรำทำเพลง พวกเขาจะให้เกียรติกับการที่ได้รับมอบสุรา นารีเป็นของกำนัลเหนือสิ่งอื่นใด
ยกตัวอย่างเช่น
ในยามดึกคืนหนึ่ง กาหลิบอัลมุตะวักกิลมีอาการเมาสุราเต็มที่ เขาสั่งให้ทหารเติร์กไปนำตัวอิม่ามอาลีฮาดี(อ)มาพบเขาในงานเลี้ยงสุราของเขา เมื่ออิมามถูกคุมตัวเข้ามาพบเขา ในมือเขาถือแก้วสุราอยู่ เมื่ออัลมุตะวักกิลเห็นอิม่ามก็เกิดความยำเกรงเป็นอย่างมาก จึงให้นำอิม่ามมานั่งข้างๆเขา แล้วส่งแก้วสุราในมือของเขาให้อิม่าม อิม่ามอาลีฮาดีจึงกล่าวว่า
وَ اللَّهِ مَا يُخَامِرُ لَحْمِي وَ دَمِي قَطُّ فَأَعْفِنِي
ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่า เลือดเนื้อของฉันไม่เคยสัมผัสกับสุราเลย โปรดอภัยให้ฉันด้วยเถิด
فَقَالَ: أَنْشِدْنِي شِعْراً فَقَالَ الامام علي الهادي : إِنِّي قَلِيلُ الرِّوَايَةِ لِلشِّعْرِ فَقَالَ : لَا بُدَّ
เขากล่าวว่า เช่นนั้น ท่านจงร่ายกลอนให้ฉันฟัง อิมามจึงกล่าวว่า ฉันเองมีบทกวีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น อัลมุตะวักกิลได้กล่าวว่า ท่านต้องร่ายกลอนให้ฉันฟัง ดังนั้น อิม่ามจึงร่ายกลอนให้เขาฟังบทหนึ่ง
بَاتُوا عَلَى قُلَلِ الْأَجْبَالِ تَحْرُسُهُمْ *** غُلْبُ الرِّجَالِ فَلَمْ تَنْفَعْهُمُ الْقُلَلُ‏
وَ اسْتَنْزَلُوا بَعْدَ عِزٍّ مِنْ مَعَاقِلِهِمْ *** وَ اسْكِنُوا حُفَراً يَا بِئْسَمَا نَزَلُوا
نَادَاهُمْ صَارِخٌ مِنْ بَعْدِ دَفْنِهِمْ *** أَيْنَ الْأَسَاوِرُ وَ التِّيجَانُ وَ الْحُلَلُ‏
أَيْنَ الْوُجُوهُ الَّتِي كَانَتْ مُنْعِمَةً *** مِنْ دُونِهَا تُضْرَبُ الْأَسْتَارُ وَ الْكِلَلُ‏
فَأَفْصَحَ الْقَبْرُ عَنْهُمْ حِينَ سَاءَلَهُمْ *** تِلْكَ الْوُجُوهُ عَلَيْهَا الدُّودُ تَقْتَتِلُ‏
قَدْ طَالَ مَا أَكَلُوا دَهْراً وَ قَدْ شَرِبُوا *** وَ أَصْبَحُوا الْيَوْمَ بَعْدَ الْأَكْلِ قَدْ أُكِلُوا
(กลอนบทนี้กล่าวถึง ความซอเล่ม(อธรรมกดขี่)เป็นสภาพที่น่ารังเกียจซึ่งบั้นปลายของมันคือความเลวร้ายทั้งในดุนยาและอาคิเราะฮ์ ซึ่งความซอเล่มทุกรูปแบบมันจะย้อนกลับไปยังตัวผู้ซอเล่มเองในท้ายที่สุด เมื่อมนุษย์ปฏิเสธความดีในตัวเอง ความหายนะก็จะเกิดขึ้นกับเขาในที่สุด)
ทำให้กาหลิบอัลมุตะวักกิลร้องไห้ออกมาจนดวงตาและเคราของเขาชุ่มไปด้วยน้ำตา และบรรดาผู้ที่มาร่วมร่ำสุรากับเขาก็ร้องไห้จนห้องประชุมกลายเป็นสถานที่แสดงความเสียใจ กาหลิบอัลมุตะวักกิลได้มอบเงินจำนวนสี่ดีนารให้อิม่ามแล้วสั่งให้นำตัวอิม่ามกลับไปส่งบ้านด้วยการให้เกียรติ
2. ปราสาทราชวัง
บรรดากาหลิบและเหล่าเสนาอำมาตย์ ข้าราชบริพาร ล้วนปลูกสร้างปราสาทราชวังอย่างใหญ่โตมโหฬาร อย่างกับเมืองใหญ่ มีสวนสวยงาม มีเสียงขับมโหรี มีแม่น้ำ มีอาคารจำนวนมาก กาหลิบอัลมุตะวักกิลมีวังหลายแห่ง ถึงขนาดว่า พอสร้างวังหนึ่งเสร็จ ก็สั่งให้สร้างอีกวังหนึ่งทันที จนรายจ่ายค่าก่อสร้างรวมทั้งสิ้น 274,000,0000 ดิรฮัม
3. การจัดงานเลี้ยงฉลอง
บรรดากาหลิบให้ความสำคัญมากกับการจัดงานเลี้ยงเฉลิมฉลอง ทั้งยุคแรกและยุคที่สอง ทรัพย์สินถูกจ่ายไปกับงานฟุ่มเฟือยเหล่านี้อย่างไม่มีขีดจำกัด
- กาหลิบอัลมะฮ์ดี (ปกครอง ฮ.ศ 158 ) ใช้จ่ายเงินในงานแต่งงานฮารูนรอชีด บุตรชาย กับนางซุบัยดะฮ์ เป็นเงินจำนวน 50,000,000 ดิรฮัม
ในคืนแต่งงาน นางซุบัยดะฮ์สวมเสื้อคลุมประดับเพชรในฐานะราชินี ที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญในการถักร้อยชุดเองก็ยังตะลึง
กาหลิบอัลมะฮ์ดีไม่เคยหยุดความฟุ่มเฟือยในการใช้จ่ายเงินบัยตุลมาน เขาซื้อเม็ดทับทิมสีแดงจำนวน 30,000 ดีนาร เป็นราคาที่แพงลิบลิ่วสำหรับยุคนั้น นอกจากนั้น เขาได้มอบทองคำแท่งเป็นของกำนัลให้แก่กาหลิบอัลฮาดีบุตรชาย(พี่ฮารูนรอชีด) เมื่อบุตรเข้ามาจูบมือ
- กาหลิบอัลมุตะวักกิล (ปกครอง ฮ.ศ. 232) ใช้จ่ายเงินทองมากมายไปในงานพิธีตัดสุหนัต(คิต่าน-ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย)ของกาหลิบอัลมุอ์ตัซซุ (บุตรชายของเขาคนหนึ่ง) เขาจ่ายเงินไปในงานเลี้ยงพิธีคิต่านนี้ถึง 86,000,000 ดิรฮัม
เงินจำนวนนับล้านดีนาร นับล้านดิรฮัม ถูกใช้ไปอย่างฟุ่มเฟือยสำหรับในงานเลี้ยงแต่ละครั้ง และนั่นคือ งานเลี้ยงที่ยืดเยื้อยิ่งใหญ่เป็นประวัติการณ์ ตามที่มีบันทึกไว้ในหนังสือ พันหนึ่งราตรี(กิตาบ อัลฟ่ะ ลัยละฮ์)ว่า ในงานเลี้ยงฉลองแต่ละครั้งของกาหลิบ จะมีทุกสิ่งทุกอย่างตามประสงค์ของกาหลิบ ขณะที่ประชาชนนับล้านคนอยู่อย่างอดอยาก
อัลมัสอูดี นักประวัติศาสตร์อิสลาม กล่าวว่า
لم تكن النفقات في عصر من الأعصار ولا وقت من الأوقات مثلها في أيام المتوكل
ไม่เคยมียุคใดสมัยใด ไม่เคยมีใครใช้จ่ายทรัพย์สินเงินทองอย่างฟุ่มเฟือย เหมือนการใช้จ่ายในสมัยของกาหลิบอัลมุตะวักกิล
ดู มุรูญุซ-ซะฮับ เล่ม 2 หน้า 92
4. จัดสถานที่ชุมนุมและการบรรเลงมโหรี
สถานที่ชุมนุมในยามกลางคืนที่พวกอับบาซียะฮ์จัดขึ้น ได้ใช้จ่ายทรัยพ์สินอย่างทุ่มเทไม่อั้น ให้แก่บรรดาคนรับใช้ทั้งชายหญิง ที่ร้องรำทำเพลง สถานที่ชุมนุมเพื่อความบันเทิงและเสพสุราเป็นที่เลื่องลือถึงขนาดได้กลายเป็นตำนานอันยิ่งใหญ่ เรื่อง “พันหนึ่งราตรี”
สถานที่ชุมนุมแห่งนี้ เป็นสถานบันเทิงและกิจกรรมที่ชั่วร้าย วังกาหลิบจะมีกำแพงกั้นมิดชิด และสถานที่ชุมนุมเพื่อเสพสุรา บรรดากาหลิบจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่นั่น เพื่อร้องรำทำเพลง สภาพเช่นนี้ยังรวมไปถึงคฤหาสน์ของบรรดาเสนาอำมาตย์และข้าหลวงอีกด้วย
อิบนุญะรีร อัตต็อบรี ได้บันทึกว่า
เมื่อกาหลิบอัลมุตะวักกิลได้สร้างวังอัลญะอ์ฟะรีย์เสร็จ ก็เรียกบรรดานักเต้นรำและนักแสดงมายังสถานที่จัดชุมนุมของเขาและมอบเงินรางวัลให้แก่พวกนั้นไปจำนวน 6,000,000 ดิรฮัม
ดู ตารีค อัตต็อบรีย์ เล่ม 9 หน้า 212
5. การมอบของกำนัล
บรรดากาหลิบได้มอบของกำนัลโดยใช้เงินบัยตุลมาล อย่างไม่มีขอบเขตจำกัดไปกับเรื่องการร้องรำทำเพลง ในสถานที่ชุมนุมที่มีบรรยากาศเสียงกลอง การดื่มสุรา
ทั้งนี้รวมไปถึงแม่และภรรยาของพวกกาหลิบและคนที่มีความสัมพันธ์กับพวกเขาด้วย
กาหลิบอัลมุตะวักกิลเคยมอบของกำนัลให้นางชุญ๊าอ์ มารดาของเขา เป็นเงิน 6,000,000 ดีนารทุกปี
ทรัพย์สินที่นางชุญ๊าอ์ทิ้งไว้ตอนตายเป็นเงิน 5,000,000 ดีนารและมีเครื่องเพชรมูลค่าเป็นเงิน 1,000,000 ดีนาร และรายได้จากเรือกสวนอีก 4,000,000 ดีนาร
อุมมุกอบีหะฮ์(ภรรยาอัลมุตะวักกิล) และเป็นมารดาของกาหลิบอัลมุอ์ตัซซุ แอบมีทรัพย์สินลับหลังสามีและลูก หลังจากอัลมุอ์ตัซซุ บุตรชายของนางถูกสังหาร เพราะไม่ยอมจ่ายเงิน 50,000 ดีนาร ซึ่งป็นเงินเดือนให้แก่ทหาร จากจำนวน 18,000,000 ดีนาร และนางยังมีเครื่องเพชรและอัญมณีจำพวกทับทิมอีกสามหีบเต็มๆ ราคามูลค่าประมาณ 2,000,000 ดีนาร
เมื่อเรามองผ่านเรื่องเหล่านี้ ก็พบว่า
มีบุคคลต่างๆที่บรรดากาหลิบติดต่อสัมพันธ์ด้วยของกำนัล เพราะบุคคลเหล่านั้นได้แต่งกลอนยกย่องสรรเสริญกาหลิบว่าเป็นบอิม่ามผู้นำของท่านนบีมุฮัมมัด(ศ)หรือพวกนั้นแต่งกลอนดูหมิ่นให้ร้ายพวกอะละวีย์
อิบนุอะษีร บันทึกว่า อบุช-ชัมติ เล่าว่า
أنشدت المتوكل شعراً ذكرت فيه الرافضة فعقد لي على البحرين واليمامة،... وأمر لي المتوكل بثلاثة آلاف دينار
ฉันได้ร่ายกลอนบทหนึ่งให้กาหิบอัลมุตะวักกิลฟังถึงพวกชีอะฮ์รอฟิเฎาะฮ์ กาหลิบได้แต่งตั้งฉันให้ปกครองบาห์เรนและยะมามะฮ์ แล้วกาหลิบได้มอบเงินให้ฉัน 3,000 ดีนารและเขาได้สั่งให้อัลมุนตะซิรและสะอัด บุตรชายของเขา ดูแลฉันเสมือนกับพี่น้องคนหนึ่ง
ดู อัลกามิล ฟิตตารีค เล่ม 7 หน้า 200
นี่คือการปรนเปรอของกาหลิบอัลมุตะวักกิลที่มีให้แก่พวกลักเพศและนักแสดงกิจกรรมบันเทิง
6. อาหาร
ของโปรดพิเศษสำหรับบรรดากาหลิบ เหล่าเสนาอำมาตย์และพวกเจ้าเมืองนั้น จะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม ขนมหวานหลากหลายชนิด ถูกนำมาวางเต็มบนโต๊ะอาหารและภาชนะที่ทำด้วยทองคำและเงินเรียงราย
ค่าใช้จ่ายประจำวันที่มีสำหรับกาหลิบอัลมะอ์มูน ถูกกำหนดไว้วันละ 6,000 ดีนาร ส่วนใหญ่หมดไปกับกิจการในห้องครัว
สำหรับกาหลิบฮารูนรอชีด จะมีอาหารที่ต้องจัดให้มื้อละ 30 อย่าง ทุกวัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเป็นเงินวันละ 10,000 ดิรฮัม
ในยามพักผ่อนของกาหลิบบางคน จะสั่งให้บรรดานักกวีของตนร่ายบทกวีเกี่ยวกับประเภทของอาหารชนิดต่างๆให้ฟัง
ดร.ฮาซัน อิบรอฮีม ฮาซัน กล่าวไว้ในหนังสือ ตารีคุลอิสลาม เล่ม 2 หน้า 424
มีหลักฐานต่างๆที่แสดงถึงความฟุ่มเฟือยเรื่องปากท้องของบรรดากาหลิบหล่านั้น
ว่าด้วยค่าใช้จ่ายและการบริหารราชการแผ่นดินในสมัยอับบาซียะฮ์ รายจ่ายค่าอาหารและที่เกี่ยวกับห้องครัวประจำวันของกาหลิบแต่ละคน เป็นหลักฐานแสดงถึงความฟุ่มเฟือยของพวกเขา
และยังมีรายจ่ายก้อนใหญ่สำหรับบรรดาภรรยากาหลิบ บรรดาลูกๆ นางสนม มิตรสหายที่ใกล้ชิดและเสื้อผ้าอาภรณ์ที่หรูหรา
ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดคือ
การให้สินบนอย่างมากมายเพื่อจะได้แลกกับเกียรติยศ และการเข้าสู่ตำแหน่งที่ได้รับสัตยาบันในการดำรงตำแหน่งกาหลิบ ตัวเลขทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงภาระอันหนักหน่วงที่ตกหนักบนความรับผิดชอบของประชาชน
ความยากจนที่ประสบกับชนชั้นต่างๆในสังคม โดยเฉพาะ เกษตรกร กรรมกร ปัญญาชนทั้งหลาย พวกเขาต้องถูกบังคับให้ทำงานอย่างหนัก เพื่อให้พวกกาหลิบแสวงหาความสุข
จากการอธรรมกดขี่เหล่านี้ จึงเกิดขบวนการต่อสู้ต่ออำนาจรัฐ และมีกลุ่มปฏิวัติต่างๆขึ้นมากมาย เช่น กลุ่มศอฮิบซันญ์(พวกทาสแอฟริกา) พวกกะรอมิเตาะฮ์ และกลุ่มเซาเราะฮ์ของพวกอะละวีย์
ซึ่งในความเป็นจริงได้สะท้อนให้เห็นถึงความอธรรมของชนชั้นปกครอง และความยากจนข้นแค้นและการถูกลิดรอนสิทธิที่ประชาชนทั้งหลายต้องประสบนั่นเอง
ความร่ำรวยในโลกอิสลามยุคอับบาซียะฮ์ปกครอง ได้หมดเปลืองไปอยู่ที่พวกเด็กรับใช้ บรรดานางสนม บรรดานักร้องรำทำเพลง พวกดีดสีตีเป่า พวกที่สร้างความบันเทิง และพวกลักเพศ และถูกใช้จ่ายไปกับสถานบันเทิง การเสพสุรา การละเมิดฝ่าฝืนหลักการอิสลามและการทำความชั่วร้ายต่างๆ
เรื่องราวเหล่านี้นักวิชาการอิสลามได้บันทึกเอาไว้ในบรรดาตำราตารีคอิสลามและตารีคคุละฟาอ์ อันเป็นที่รับรู้กันเป็นอย่างดีถึงความฟุ่มเฟือยของพวกอับบาซียะฮ์

บทความโดย เชคอับดุลญะวาด สว่างวรรณ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม