ชะฮาดะฮ์อิมามอะลี อัลฮาดีย์
ชะฮาดะฮ์อิมามอะลี อัลฮาดีย์
เนื่องในโอกาสคล้ายวันชะฮาดะฮ์ของท่านอิมามอะลี อัลฮาดีย์ ซึ่งตรงกันกับ
วันที่ 3 ของเดือนรอญับ ซึ่งเป็นวันที่โศกเศร้าสำหรับเหล่าชีอะฮ์ทั้งหลาย เนื่องจากวันนี้ในอดีตเมื่อ ปี ฮ.ศ. 254 ท่านอิมามอะลี อัลฮาดีย์ (อ.) อิมามท่านที่สิบของชีอะฮ
ท่านมีสร้อยนามอีกชื่อหนึ่ง คือ อันนะกี ท่านได้ถูกลอบสังหารเป็นชะฮีดในวันนี้ จึงขอแสดงความเสียใจต่อทุกท่านที่มีความรักใน อะฮ์ลุลบัยต์ (วงศ์วานของท่านศาสดา)
อิมามอะบุลฮะซัน อะลียุนนะกี อัลฮาดีย์ (อ) เป็นอิมาม (ผู้นำ) ท่านที่ 10 จากวงศ์วานอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) ของบรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์
ท่านอิมามอะลี ฮาดีย์ (อ) ถือกำเนิดในวันที่ 15 ซุลฮิจญะฮ์ ฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 212 ณ สถานที่แห่งหนึ่งที่อยู่รอบๆ นครมะดีนะฮ์ ชื่อว่า "ซ็อรยา"
บิดาของท่านคืออิมามญะวาด (อ) อิมามท่านที่ 9 จากวงศ์วานอะฮ์ลุลบัยต์ ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) และมารดาของท่านคือ ซะมานะฮ์ และฉายานามที่โด่งดังที่สุดของอิมามท่านที่ 10 นี้คือ "นะกีย์" และ "ฮาดีย์"
อิมามอะลี ฮาดีย์ (อ) ได้เข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำประชาชาติมุสลิมในปีที่ 220 ฮิจเราะฮ์ศักราช ภายหลังจากการเป็นชะฮีด (เสียชีวิตในหนทางของพระเจ้า) ของบิดาท่าน ซึ่งในเวลานั้นท่านอิมามฮาดีย์ (อ) มีอายุแค่ 8 ขวบ ระยะเวลาการดำรง
ตำแหน่งของท่านรวม 33 ปี อิมามฮาดีย์ (อ) ถูกทำชะฮาดัต (ถูกสังหารในหนทางแห่งพระองค์) ในฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 254
ณ เมืองซะมัรรออ์ ในวัย 41 ปีเศษ
ช่วงเวลาที่ท่านอิมามอะลี อัลฮาดีย์ (อ) ดำรงตำแหน่งผู้นำประชาชาติมุสลิมอยู่นั้น ได้อยู่ร่วมกับผู้ปกครองแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ถึงหกคนคือ
1. มุอ์ตะซิม บิลลาฮ์ น้องชายของมะอ์มูน (ปกครองอยู่ช่วงปีฮ.ศ.ที่ 217-227)
2. วาซิก บิลลาฮ์ บุตรของมุอ์ตะซิม (ปกครองอยู่ช่วงปีฮ.ศ. 224-232)
3. มุตะวักกิล บิลลาฮ์ น้องชายของวาซิก (ปกครองอยู่ช่วงปี 232-248)
4. มุนตะซิร บิลลาฮ์ บุตรชายของมุตะวักกิล (ปกครองอยู่ประมาณหกเดือน)
5. มุสตะอีน บิลลาฮ์ (ปกครองอยู่ช่วงปี 248-252)
6. มุอ์ตัซ บิลลาฮ์ บุตรชายอีกคนหนึ่ง ของมุตะวักกิล (ปกครองอยู่ช่วงปี 252-255)
มาตรแม้นว่าระยะเวลาแห่งการดำรงตำแหน่งของท่านอิมามอะลี ฮาดีย์ (อ) จะยาวนานถึงสามสิบกว่าปี แต่ทว่าด้วยสาเหตุของอุปสรรคต่างๆ นานา จากเหล่าผู้ปกครองแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ ทำให้ท่านอิมามอาลี ฮาดีย์ (อ) ไม่สามารถทำงานได้
อย่างเต็มที่ จนในที่สุดท่านอิมามอะลี ฮาดีย์ (อ) ได้ถูกมุตะวักกิลอับบาซีย์เชิญตัวแบบบังคับให้ท่านอิมาม ออกจากนครมะดีนะฮ์ยังเมืองซามัรรออ์ การกระทำของฝ่ายผู้ปกครองอับบซียะฮ์นั้นย่อมบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่า พวกเขากังวลและระแวงต่อการเคลื่อนไหวของท่านอิมามอะลี ฮาดีย์ (อ) ฉะนั้นพวกเขาจีงต้องควบคุมตัวท่านไว้อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเป็นการปิดกั้นไม่ให้ท่านอิมามอะลี ฮาดีย์ (อ) เคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองได้อย่างสะดวก
มุตะวักกิล มีความคับแค้นใจและเป็นปฏิปักษ์ต่อวงศ์วานอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) อย่างที่สุด และถ้าหากเขาได้ทราบว่าบุคคลใดก็ตามที่มีความรักต่อวงศ์วานอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) เขาก็จะยึดทรัพย์สิน และสังหารคนๆ นั้นในทันที คล้ายๆ กับมุสลิมกลุ่มหนึ่งใน
ปัจจุบัน ที่ประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับชีอะฮ์ของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ) อย่างแข็งขัน พวกเขาได้แสดงความคับแค้นใจอย่างมากมายออกมา และตั้งหน้าตั้งตาโจมตี ให้ร้ายป้ายสีต่างๆ นานา ทั้งบนเวที และในโลกอินเตอร์เน็ต ต่อชีอะฮ์ของอะฮ์ลุลบัยต์(อ) ซึ่งมีให้เห็นมากมายในยุคปัจจุบัน
ในสมัยการปกครองของ มุตะวักกิล แห่งราชวงศ์ อับบาสิยะฮ์ มีชายคริสเตียนคนหนึ่งได้ทำซินา กับผู้หญิงมุสลิม คอลีฟะฮ์ มุตะวักกิล จึงได้ทำการตัดสินด้วยการประหารชีวิต ขณะนั้นเองชายคริสเตียนผู้นี้ได้กล่าว กะลิมะฮ์ชะฮาดะฮ์ (การปฏิญาณตนเพื่อเข้ารับอิสลาม) เมื่อ กอฏี ยะฮ์ยา บิน อักษัม ซึ่งเป็น อุลามาอ์ ประจำราชสำนักได้ยินดังนั้น จึงได้กล่าวขึ้นว่า :-
“การเข้ารับอิสลามของชายคนนี้ ได้ขจัดความผิดบาปที่ชั่วร้ายในครั้งอดีตของเขาจนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น จึงไม่ต้องลงโทษเขาอีก”
แต่ทันใดนั้นก็ได้มีอุลามาอ์อีกคนหนึ่งเข้ามาคัดค้าน เขากล่าวว่า “เขาต้องถูกเฆี่ยนสามกระทง”
จนสุดท้ายอุลามาอ์แห่งราชสำนักหลายคนต่างก็ ฟัตวา แตกต่างกันไปจนหาข้อยุติไม่ได้ เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนั้น มุตะวักกิล จึงเห็นเป็นโอกาสดีที่จะได้ทดสอบ ท่านอิมาม อะลี อัลฮาดีย์ (อ.) เขาจึงได้สั่งให้ตามตัวท่านอิมาม ฮาดีย์ (อ.) และสอบถามถึง ฮุกุ่ม ของเรื่องนี้
ท่านอิมาม ฮาดีย์ (อ.) จึงตอบไปว่า : -
“ฮุกุ่มของ นัศรอนี (คริสเตียน) คนนี้ก็คือ ต้องเฆี่ยนจนตาย”
คำฟัตวานี้ทำให้ ยะฮ์ยา บิน อักษัม และเหล่าอุลามาอ์ไม่ถูกใจเป็นอย่างมากจึงกล่าวว่า : -
“คำฟัตวาเช่นนี้ทั้งในอัลกุรอ่านและซุนนะฮ์ของท่านศาสดาไม่ได้มีการรับรองไว้ ท่านไปเอามาจากไหนกัน”
มุตะวักกิล จึงกล่าวว่า : “ อธิบายมาซิว่าเอามาจากไหน?? ”
ท่านอิมาม ฮาดีย์ (อ.) จึงกล่าวว่า : - بسم اللّه الرحمن الرحيم
“ พระผู้เป็นเจ้าได้กล่าวถึง กาฟิร ทั้งหลายไว้ว่า
فَلَمَّا رَأَوْا بَأْسَنَا قَالُوا آمَنَّا بِاللَّهِ وَحْدَهُ وَكَفَرْنَا بِمَا كُنَّا بِهِ مُشْرِكِينَ ﴿84﴾ فَلَمْ يَكُ يَنفَعُهُمْ إِيمَانُهُمْ لَمَّا رَأَوْا بَأْسَنَا سُنَّتَ اللَّهِ الَّتِي قَدْ خَلَتْ فِي عِبَادِهِ وَخَسِرَ هُنَالِكَ الْكَافِرُونَ ﴿85﴾
ครั้นเมื่อพวกเขาเห็นการลงโทษอันรุนแรงของเรา
เขาก็กล่าวว่าเราศรัทธาต่อ อัลลอฮ์ (ซบ)
เพียงองค์เดียวและเราขอปฏิเสธต่อสิ่งที่ได้ตั้งภาคีกับพระองค์
แต่การศรัทธาของพวกเขาจะไม่มีประโยชน์อันใดเลยในยามที่พวกเขาได้ประจักษ์ถึงการลงโทษอันแสนสาหัส
(ซูเราะฮ์ ฆอฟิร : 84-85)
ดังนั้น การ เตาบะฮ์ หรือกลับตัวนั้นจะต้องทำก่อนที่บทลงโทษจะมาถึง ”
ยะฮ์ยาบิน อักษัม และเหล่าอุลามาอ์ แห่งราชสำนักเมื่อได้ยินเช่นนี้ต่างก็ต้องยอมรับในคำ ฟัตวาของท่าน อิมาม อลี อัลฮาดีย์ (อ.) ดังนั้น มุตะวักกิลจึงสั่งให้ทำการเฆี่ยน นัศรอนี ผู้นี้จนตาย
ที่มา : - ชะเราะฮ์ ชาฟียะฮ์ ของ อบี กุรอส เล่ม2 หน้า167 (ฉบับไมโครฟิลม์)
ฮะดีษจากท่าน ท่านอิมาม อาลี อัลฮาดีย์ (อ.)
مَنِ اتَّقىَ اللّهَ يُتَّقى ، وَمَنْ اءطاعَ اللّهَ يُطاعُ، وَ مَنْ اءطاعَ الْخالِقَ لَمْ يُبالِ سَخَطَ الْمَخْلُوقينَ، وَمَنْ اءسْخَطَ الْخالِقَ فَقَمِنٌ اءنْ يَحِلَّ بِهِ سَخَطُ الْمَخْلُوقينَ.
“ผู้ใดก็ตามที่ ยำเกรง ต่ออัลลอฮ์ อย่างที่สุด อิฏออัต ภักดีต่อพระองค์อย่างจริงใจ และผู้ใดก็ตามที่เขาเชื่อฟังต่อคอลิก
มัคลูกของพระองค์ก็จะยำเกรงต่อเขา แต่ใครก็ตามที่เขาได้ทำให้พระองค์ต้องทรงกริ้ว พระองค์จะให้เขานั้นมีความหวาด
กลัวต่อเหล่ามัคลูกทั้งหลายของพระองค์ ” (บิฮารุล อันวาร เล่ม68 หน้า 182)
ขอขอบคุณเว็บไซต์เลิฟฮุเซน