ชีวประวัติอิมามอะลี อัล ฮาดีย์ (อ.)
ชีวประวัติอิมามอะลี อัล ฮาดีย์ (อ.)
ข้อมูลจำเพาะ
ชื่อ : อะลี
สมญานาม : อัล ฮาดีย์ หรือ อันนะกี
ฉายานาม : อบู อัล ฮาซัน
ชื่อบิดา : อิมาม มุฮัมมัดอัล ญะวาด (อ.)
ปีที่ถือกำเนิด : ฮ.ศ. 212
ปีที่เสียชีวิต : ฮ.ศ. 254
ระยะเวลาการเป็นอิมาม : 34 ปี
อายุ : 42 ปี
สถานที่ฝังศพ : เมืองสะมัรรอฮ์ ประเทศอิรัก
การถือกำเนิด
อิมามอะลี อัล ฮาดีย์ ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 15 ซุลฮิจญะฮ์ ฮ.ศ. 212 ณ นครมะดีนะฮ์ บิดาของท่านคือ อิมามมุฮัมมัด อัล ญะวาด (อ.) อิมาม อัล ฮาดีย์ คืออิมามคนที่สิบในบรรดาอิมามในสายอะห์ลุลบัยต์
มารดา เป็นชาวประเทศมอร็อคโค นางเป็นสตรีที่ประเสริฐยิ่ง อีกที่เป็นผู้มีความสำรวมตนเป็นเลิศ ชื่อของนางคือ “ซุมานะฮ์”
บิดาของท่านได้พลีชีพเพราะถูกวางยาพิษ เมื่อท่านมีอายุได้ 8 ปี ท่านได้ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นอิมาม ตั้งแต่ช่วงเวลาที่ท่านอายุยังน้อย
จริยธรรมของอิมาม อัล ฮาดีย์
อิมามอัล ฮาดีย์ เป็นผู้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ด้วยความสมถะ และเคร่งครัดในการเคารพภักดีต่อพระเจ้า ในห้องที่พักของท่านว่างเปล่า ปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ สำหรับปัจจัยทางโลก นอกจากเพียงเสื่อผืนเดียวเท่านั้น ท่านใช้เวลาของท่านที่มีอยู่ด้วยการอ่านอัล กุรอาน และพิจารณาตรึกตรองดูความหมาย ท่านจะให้การต้อนรับผู้คนด้วยสีหน้าที่แช่มชื่นเสมอ ท่านมีความเมตตาปรานีต่อคนยากจนและให้ความช่วยเหลือจุนเจือแก่คนที่ประสบความลำบาก
ครั้งหนึ่งคอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิลได้ส่งเงินมามอบแก่ท่านจำนวน 1,000 ดินาร ท่านอิมามฮาดีย์ ได้รับมาแจกจ่ายบรรดาคนยากจนและผู้ประสบความเดือดร้อน
อีกครั้งหนึ่งอัล มุตะวักกิลล้มป่วย แพทย์ต่างพยายามเยียวยารักษาอาการของเขา แต่ไม่สามารถทำให้หายป่วยได้ มารดาของคอลีฟะฮ์มุตะวักกิล ได้ส่งชายคนหนึ่งคือ “อัล ฟัตห์ บิน คอกกอน” ให้ไปหาอิมามท่านจึงจัดยาส่งมาให้สำรับหนึ่ง ซึ่งเป็นยาที่ทำให้อาการป่วยไข้หายอย่างฉับพลัน พวกหมอทั้งหลายต่างประหลาดใจยิ่งนัก ดังนั้นมารดาของคอลีฟะฮ์มุตะวักกิล จึงจัดส่งเงินจำนวน 1,000 ดินาร เพื่อเป็นของกำนัลแก่อิมาม อัล ฮาดีย์ ท่านอิมามอัล ฮาดีย์ ก็ได้นำเงินจำนวนนั้นแจกจ่ายแก่บรรดาผู้ประสบความเดือดร้อนอีกเช่นเคย
เรื่องเกี่ยวกับหัวแหวน
ชายคนหนึ่งชื่อยูนุส เป็นช่างแกะสลักแหวน ได้เข้ามาพบอิมามอัลฮาดีย์ ด้วยอาการหวาดกลัวเป็นอย่างยิ่ง เขารีบเล่าเรื่องราวให้อิมามฟังว่า : โอ้นายของข้าได้มีชายคนหนึ่งจากในวังมาหาฉัน พร้อมกับนำหัวแหวนไฟรูซที่มีราคาแพงมากมาด้วย และขอร้องให้ฉันแกะสลักให้ แต่แล้วฉันได้ทำให้มันแตกในขณะที่ฉันกำลังทำงานอยู่ ซึ่งมันได้กลายเป็นสองซีกไปแล้ว และวันพรุ่งนี้เขาจะส่งคนมาพบฉัน ซึ่งฉันคงไม่รอดจากการลงโทษของเขาแน่ในเมื่อเขารู้เรื่องนี้เข้า”
ท่านอิมามฮาดีย์ ได้ปลอบใจเขาว่า “เขาไม่มีวันที่จะมาทำร้ายท่านได้หรอก ยิ่งกว่านั้น เจ้าจะได้รับความดีงามจากเรื่องนี้เสียอีกด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์”
ในวันต่อมา เจ้าหน้าที่ของคอลีฟะฮ์ก็มาหาแล้วกล่าวว่า “ตอนนี้ฉันเปลี่ยนความคิดแล้ว ฉันต้องการจะทำให้เป็นสองหัว และฉันจะเพิ่มค่าแรงให้ท่านอีก”
ช่างแกะสลักแหวนครุ่นคิด ในขณะที่หัวใจของเขาเต็มไปด้วยความดีใจเขากล่าวตอบว่า “ดีแล้ว ถ้าเช่นนั้น ฉันจะพยายามทำมันให้ดีที่สุด”
เจ้าหน้าที่คนนั้นได้กล่าวของคุณช่างแกะสลักแล้วกลับไปทำหน้าที่ของตนเองต่อไป ในขณะเดียวกันช่างแกะสลักผู้นั้นก็รีบรุดเดินไปยังบ้านพักของอิมาม เพื่อกล่าวคำขอบคุณต่อท่าน
ท่านอิมามฮาดีย์ กล่าวกับเขาว่า “ฉันได้ขอพรต่ออัลลอฮ์ เพื่อให้เขาเห็นว่าการทำงานของเจ้าเป็นผลดีสำหรับเขา และพระองค์ทรงปกป้องเจ้าให้พ้นจากความเลวร้ายของเขา”
คอลีฟะฮ์อัลมุตะวักกิล
เมื่อคอลีฟะฮ์อัล มุตะซ็อมเสียชีวิตลง วาซิกก็เข้ามารับตำแหน่งสืบต่อ และการดำรงตำแหน่งคอลีฟะฮ์ของเขามีระยะเวลาได้ 5 ปี 9 เดือน
หลังจากนั้น “อัล มุตะวักกิล” ก็ได้เข้ามารับอำนาจการปกครองในตำแหน่งคอลีฟะฮ์ต่อไป ในสมัยของเขานี่เอง ที่มีเรื่องที่เสียหายและความอยุติธรรม หลายประการแพร่ระบาดในบ้านเมือง อำนาจของพวกทหารเผด็จการได้เข้ามามีบทบาทในการปกครองอย่างเต็มรูปแบบ จนกระทั่งการปกครองได้กลายเป็นสองขั้วอำนาจ และในที่สุด ตำแหน่งคอลีฟะฮ์ก็กลายมาเป็นของเล่นในมือของพวกเขา
คอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิลมีความเคียดแค้นชิงชังอะห์ลุลบัยต์และบรรดาชีอะฮ์มาก จนถึงกับมีการสั่งให้ขุดทางระบายน้ำไปสู่สุสานของอิมามฮูเซน (อ.) และออกคำสั่งห้ามมุสลิมเยี่ยมสุสานของท่าน อีกทั้งยังได้สังหารชีวิตของผู้คนที่มาเยี่ยมเยือนสุสานเป็นจำนวนมาก ในเรื่องนี้ได้มีนักกวีประพันธ์ กาพย์ กลอนขึ้นมาเล่าเหตุการณ์ตอนหนึ่งว่า
ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ ถึงแม้พวกอุมัยยะฮ์เคยสังหารบุตรสาวศาสดาของพวกตนอย่างไม่เป็นธรรมไปแล้ว
พวกลูกหลานของคนเหล่านั้นก็ยังกระทำได้เสมอเหมือน ดังนั้นสุสานของฮูเซนจึงถูกทำลาย
พวกเขาเสียใจ ที่มิได้มีส่วนร่วมในการสังหารบุตรสาวท่านศาสดา
ดังนั้น พวกเขาจึงติดตาม ทำร้ายสุสานของฮูเซนด้วยการยิงธนูเข้าใส่”
คอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิลได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของตนติดตามเพื่อดูอิมามอัล ฮาดีย์ที่เมืองมะดีนะฮ์อย่างใกล้ชิด โดยให้มีหน่วยสอดแนมคอยส่งข่าวความเคลื่อนไหว และรายงานเรื่องราวของอิมามให้เขารับทราบในทันที
อัล มุตะวักกิลหวั่นเกรงว่า หลังจากที่อิมามฮาดีย์ ได้แสดงบทบาททางด้านบุคลิกภาพอันสูงส่งออกมาแล้ว จะทำให้ท่านเป็นที่นิยมชมชอบของประชาชน เพราะท่านกระทำแต่ความดีต่อคนทั้งหลาย และใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในมัสยิดอันทรงเกียรติ
อัล มุตะวักกิล จึงส่งเจ้าหน้าที่พิเศษคนหนึ่งเดินทางเพื่อไปนำตัวอิมามฮาดีย์นั่นคือ “ยะห์ยา บิน ฮัรษะมะฮ์” ซึ่งต่อมาไม่นานเขาก็ได้เดินทางเข้ามาถึงเมืองมะดีนะฮ์
ข่าวคราวเกี่ยวกับแผนการณ์ของอัล มุตะวักกิล ได้แพร่ออกไปทั่วทุกหนแห่ง จึงทำให้ประชาชนไปชุมนุมกันบริเวณที่พักของเจ้าเมืองที่ผู้ถูกส่งมา โดยคอลีฟะฮ์ อัล มุตะวักกิล เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานะความเป็นอยู่ของอิมาม
“ยะห์ยา บิน ฮัรษะมะฮ์” พูดกับตัวเองว่า “ฉันจะสร้างความเชื่อมั่นให้แก่คนเหล่านั้น และจะสาบานกับพวกเขา จะไม่ดำเนินการอันไม่พึงปรารถนาใดๆ ในเรื่องของอิมามฮาดีย์”
ส่วนอัล มุตะวักกิล ครุ่นคิดอยู่ตลอดเวลาเพื่อหาทางกำจัดอิมามฮาดีย์ (อ.) ดังนั้นที่ปรึกษาของเขาบางคนได้เสนอแนะว่าให้กระทำการแพร่ข่าวที่ทำลายชื่อเสียงของอิมามฮาดีย์ ทั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนจาก “มูซา” ผู้เป็นน้องชายคนหนึ่งของอิมามฮาดีย์เอง แต่เป็นคนที่ประพฤติตัวต่ำช้าและไม่อยู่ในหลักจริยธรรม
อัล มุตะวักกิล เห็นชอบด้วยกับความคิดข้อนี้ จึงส่งคนไปตามตัว มูซามาพบ ส่วนท่านอิมามอัล ฮาดีย์ ซึ่งหวาดระแวงน้องชายคนนี้อยู่แล้ว จึงกล่าวเตือนน้องชายว่า “แท้จริงคอลีฟะฮ์ อัล มุตะวักกิล เชิญเจ้าไปพบก็เพื่อจะทำให้เจ้าเสียหาย และจะทำลายเกียรติของเจ้า ดังนั้น ขอให้เจ้ายำเกรงอัลลอฮ์ด้วยเถิดน้องเอ๋ย เจ้าอย่าได้ประพฤติตัวในทางที่เป็นอันตรายเลย”
การพูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครองที่อธรรม
ชายคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้รุ่นอาวุโสมีชื่อว่า “อิบนุ ซิกกีต” “อบูอับบาส อัล มุบัรร็อด” กล่าวว่า “ฉันยังไม่เคยพบเห็นเลยว่าในบรรดาหนังสือของท่านผู้รู้ชาวแบกแดดจะมีหนังสือเล่มใดดีกว่าหนังสือที่มีชื่อว่า “อิบนะ ซิกกีต ในแง่ของตรรกวิทยา”
ครั้งหนึ่ง คอลีฟะฮ์ อัล มุตะวักกิลได้ขอร้องให้อิบนุซิกกีตทำหน้าที่อบรมสั่งสอนบุตรชายสองคนของตนนั่นคือ “อัล มุอ์ตัซ” กับ “อัล มุอัยยัด”
ต่อมาวันหนึ่งคอลีฟะฮ์ อัล มุตะวักกิลได้ขอร้องให้อิบนุซิกกีตว่า “ระหว่างฮาซันกับฮูเซน (หลานของท่านศาสดามุฮัมมัด) กับลูกของฉันสองคนนี้ ใครเป็นที่ชื่นชอบสำหรับท่านมากกว่ากัน” ผู้รู้ท่านนั้นได้ตอบอย่างกล้าหาญว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ว่าแม้แต่ก็อนบัร คนรับใช้ของอิมามอะลี อิบนิ อบีฏอลิบก็ยังประเสริฐกว่าทั้งตัวท่านเอง และลูกชายของท่านทั้งสองคนเสียอีก”
อัล มุตะวักกิลตกตะลึงด้วยความคาดคิดไม่ถึง กับคำตอบของอิบนุซิกกีต เขารู้สึกโมโหสุดขีด จึงสั่งให้ทหารดึงลิ้นของอิบนุซิกกีตออกจากปาก จนในที่สุดอิบนุ ซิกกีตก็ต้องถึงกับเสียชีวิตเป็นชะฮีด
แน่นอนท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้กล่าวว่า “ประมุขของบรรดาผู้สละชีพเป็นชะฮีดได้แก่ ท่านฮัมซะฮ์ และบุคคลที่กล้าพูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครองที่อธรรม”
บทบาททางการเมืองของคอลีฟะฮ์มุตะวักกิล
คอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิล ได้ถลุงทรัพย์สินของมุสลิมอย่างสนุกสนาน เขาใช้ชีวิตทั้งหมดไปด้วยความสุรุ่ยสุร่ายและฟุ่มเฟือย อายุขัยของเขาหมดไปกับการเสพสุรา ความบันเทิงเริงรมณ์ และหว่านโปรยเงินไปเพื่อบำรุงความสุขด้วยจำนวนเงินนับล้าน ในขณะที่ประชาชนใช้ชีวิตอยู่ด้วยความลำบากยากเข็ญ แร้นแค้นและทุกข์ทรมาน ส่วนบรรดาคนในตระกูลของอิมามอะลีนั้น ก็ยังชีพอยู่ในสภาพที่ลำบากยากจน ถูกลิดรอนสิทธิ์ในการดำรงชีวิตอยู่อย่างมีเกียรติ
ต่อมาท่านอิมามอัล ฮาดีย์ (อ.) ได้ถูกเชิญตัวมายังเมืองสะมัรรอฮ์พร้อมกับบุตรชาย นั่นคืออิมามฮาซัน (อ.) ในระหว่างทางพวกทหารของมุตะวักกิลให้ท่านทั้งสองหยุดพัก ณ ค่ายพักแห่งหนึ่งเพื่อให้พวกทหารได้สำรวจตรวจตราอย่างเข้มงวดกวดขัน ทั้งนี้เพราะความโง่เขลาเบาปัญญา ไม่รู้ซึ้งถึงฐานะของบรรดาอะห์ลุลบัยต์ (อ.) นั่นเอง แน่นอนที่สุดบรรดาเจ้าหน้าที่เหล่านั้นเป็นเผด็จการที่มีความเหี้ยมโหด ซึ่งสภาพแวดล้อมและการอบรมสั่งสอน ได้ช่วยทำให้พวกเขามีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่ยอมรับฟังใครทั้งสิ้น นอกจากการเชื่อฟังปฏิบัติคำสั่งของเจ้านายเหนือหัวและนักปกครองทรราชเท่านั้น
ตำนานเล่าขาน
ครั้งหนึ่ง มีลูกชายของชาวบ้านคนหนึ่งรับอุบัติเหตุจากก้อนหิน หมอจึงสอนชาวบ้านคนนั้นให้เรียนรู้วิธีการรักษาบาดแผล แต่แล้วในขณะที่กำลังรักษาพยาบาลอยู่นั้น เด็กได้ถึงแก่ความตาย ชาวบ้านส่วนหนึ่งก็ตำหนิพ่อแม่ของเด็กคนนั้น โดยกล่าวว่า
“แกคนฆ่าลูกของตัวเองทั้งๆ ที่มีเลือดของแกอยู่ในเลือดของเขา”
ชายคนนั้นกลุ้มใจมากจึงไปปรึกษาอิมามอัล ฮาดีย์
อิมามอัล ฮาดีย์ ได้ปลอบใจเขาว่า “ท่านไม่มีความผิดอะไรกับเรื่องที่ได้กระทำลงไปหรอก เพราะท่านทายาให้เขาเท่านั้น แต่อายุขัยของเขาถึงวาระสุดท้าย เพราะสาเหตุนี้เท่านั้นเอง”
มีเด็กคนหนึ่งนำดอกกุหลาบมามอบให้แก่อิมามอัล ฮาดีย์ หนึ่งดอก เมื่อท่านได้รับมาแล้ว ก็นำกุหลาบดอกนั้นมาดมและวางไว้ที่ระหว่างดวงตาของท่าน ต่อจากนั้นท่านก็ได้มอบต่อไปยังสหายของท่านคนหนึ่ง พลางกล่าวว่า “ผู้ใดได้รับดอกกุหลาบดอกหนึ่งหรือได้รับกลิ่นหอมแล้วสูดดมและวางลงตรงดวงตาของเขา ต่อจากนั้นเขาได้กล่าวคำซอละวาตแก่มุฮัมมัดและวงศ์วานของมุฮัมมัด อัลลอฮ์จะทรงบันทึกความดีงามให้แก่เขาเท่ากับจำนวนเม็ดทรายในทะเลทราย และความชั่วของเขาจะถูกลบล้างไปในปริมาณเดียวกัน”
ยะห์ยา บิน ฮัรษะมะฮ์ ผู้ทำหน้าที่ควบคุมการเดินทางของอิมาม อัล ฮาดีย์จากเมืองมะดีนะฮ์ เพื่อไปยังเมืองสะมัรรอฮ์ได้เล่าว่า ขณะที่พวกเรากำลังเดินทางกันอยู่นั้นท้องฟ้าก็ยังดูสดใส ไม่มีเค้าเมฆฝนแต่อย่างใด แต่อิมามอัล ฮาดีย์ ก็สั่งให้สหายของท่านเตรียมการป้องกันฝน พวกเราบางคนรู้สึกประหลาดใจ บางคนก็หัวเราะแต่ครั้นแล้วเวลาผ่านไปไม่นาน ท้องฟ้าก็เริ่มปรากฏเมฆครึ้ม และฝนเทลงมาอย่างหนัก อิมามอัล ฮาดีย์ หันกลับมาพูดกับข้าพเจ้าว่า
“ตอนแรกพวกท่านคงไม่เชื่อว่าเป็นอย่างนี้ จากนั้นจึงคิดว่าฉันล่วงรู้ในสิ่งลี้ลับ แต่ที่จริงมันมิได้เป็นเหมือนอย่างที่ท่านคิด หากเป็นเพราะว่าฉันเคยใช้ชีวิตอยู่ในชนเผ่าเร่ร่อนตามทะเลทราย ดังนั้นฉันจึงเรียนรู้เรื่องกระแสลมที่จะส่งผลให้ฝนตกตามมา ฉันสามารถรู้กลิ่นของฝนที่มากับลมได้ ฉันจึงเตรียมการให้ทำอย่างนี้”
คอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิลได้กล่าวบนบาน (นะซัร) เมื่อครั้งที่เขาเจ็บป่วยในครั้งหนึ่งว่า ถ้าหากเขาหายจากอาการป่วย เขาจะบริจาคทรัพย์สินเพื่อเป็นทานจำนวนมาก แต่มิได้ระบุว่าเป็นจำนวนเท่าใด
เมื่อเขามีความประสงค์ ที่จะทำตามปณิธานที่ตั้งไว้ เขาก็ได้ปรึกษาหารือกับบรรดาผู้รู้ทางศาสนา ผู้รู้ทางศาสนาเหล่านั้นมีความเห็นขัดแย้งกันในเรื่องของอัตราที่แน่นอนในการบริจาค และไม่สามารถหาข้อสรุปที่ลงเอยกันได้ จึงมีบางคนเสนอขึ้นว่า น่าจะไปถาม อิมามอบู ฮาซัน และอะลี อัล ฮาดีย์ (อ.)
เมื่อท่านอิมามได้ถูกตั้งคำถามถึงความหมายของคำว่า “มาก” ว่าหมายถึงจำนวนเท่าใด ท่านตอบว่าคำว่า “มาก” หมายถึงจำนวนแปดสิบนั้นเอง แล้วท่านยังได้ถูกตั้งคำถามว่า ท่านมีหลักฐานในเรื่องนี้อย่างไร ท่านอิมาม อัล ฮาดีย์ ได้ตอบว่ามีโองการหนึ่งของอัลลอฮ์ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์ ความว่า
โดยแน่นอนยิ่ง อัลลอฮ์ได้ทรงสนับสนุนพวกเจ้าในสถานที่ตั้งเป็นจำนวนมาก” ซึ่งในสถานที่ตั้งเหล่านั้น ก็คือ “สมรภูมิของอิสลาม” โดยเรานับได้ว่ามีแปดสิบแห่ง
การบุกรุกเข้าไปในที่พักของอิมามอัล ฮาดีย์
ถึงแม้ว่าจะมีการวางมาตรการในลักษณะบีบบังคับต่ออิมามอัล ฮาดีย์ (อ.) อยู่ก็ตาม แต่ท่านก็มิได้ยอมรับการถูกตั้งข้อหาว่ากระทำความผิดในด้านต่างๆ แต่อย่างใด มีทหารคนหนึ่งนำข่าวไปแจ้งคอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิลว่า อิมามอัล ฮาดีย์สะสมอาวุธและทรัพย์สินเพื่อการปฏิวัติ ดังนั้นคอลีฟะฮ์ อัล มุตะวักกิล จึงได้ออกคำสั่งให้ซะฮีด อัล ฮาญิบ ไปตรวจค้นบ้านของอิมามในยามค่ำคืน เพื่อจะได้ยืนยันว่าข่าวที่ได้รับมานั้นจริงหรือไม่อย่างไร
เมื่อชะฮีดได้ตรวจค้นบ้านของอิมามอัล ฮาดีย์แล้ว เขาก็ได้พบว่า อิมามอัล ฮาดีย์ พักอยู่ในห้องอย่างโดดเดี่ยว ไม่มีสิ่งของเครื่องใช้ใดๆ เลย นอกจากเสื่อเพียงผืนเดียวเท่านั้น และตัวของอิมามอัล ฮาดีย์เองก็กำลังทำนมาซอยู่ด้วยความนอบน้อมต่อพระผู้เป็นเจ้า
ถึงแม้ชะฮีดจะพยายามตรวจค้นบ้านทุกซอกมุมอย่างละเอียดถี่ถ้วน เขาก็มิได้พบเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดอีกเลย ชะฮีด อัล ฮาญิบจึงพูดกับอิมามเพื่อขอโทษว่า “โอ้นายของฉัน แท้จริงฉันเป็นเพียงผู้ถูกสั่งให้ทำงานเท่านั้น และบัดนี้ฉันต้องขอโทษท่าน”
ท่านอิมาม อัล ฮาดีย์ได้กล่าวตอบเป็นโองการอัล กุรอานด้วยความรู้สึกเสียใจว่า
และบรรดาผู้อธรรมเขาจะได้รู้ว่าบรรดาผู้ตระบัดสัตย์ นั้นมีที่คืนกลับอย่างไร
ความเป็นสิริมงคลของสิงโต
มีผู้หญิงคนหนึ่งอ้างว่าตนเองคือซัยนับ บุตรีของอะลี (อ.) และอ้างอีกว่า อายุของนางจะเป็นสาวขึ้นมาใหม่ในทุกๆ ห้าสิบปี คอลีฟะฮ์อัลมุตะวักกิลรู้สึกมีความฉงนสนเท่ห์ยิ่งนัก จึงส่งเจ้าหน้าที่ให้ไปตามหาผู้อาวุโสในตระกูลของอบูฎอลิบมาหารือ แต่คนเหล่านั้นได้กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “แท้จริงท่านหญิงซัยนับได้ล่วงลับและได้ถูกฝังไปตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์แล้ว”
อย่างไรก็ตามผู้หญิงคนนั้น ก็ยังคงยืนกรานตามข้ออ้างของตนเองอยู่เหมือนเดิม ดังนั้นเสนาบดีคนหนึ่งของคอลีฟะฮ์ อัล มุตะวักกิล ซึ่งมีชื่อว่า “อัล ฟัตห์ บิน คอกอน” ได้กล่าวว่า “จะไม่มีใครสามารถให้ความกระจ่างในเรื่องนี้แก่ท่านได้ นอกจากบุตรชายของอิมามริฎอ (อ.) เท่านั้น”
ดังนั้นคอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิล จึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเชิญอิมามอัลฮาดีย์มาพบ เมื่ออิมามมาถึงคอลีฟะอ์อัล มุตะวักกิลได้ซักถามท่านในประเด็นปัญหาข้อนี้ ท่านอิมามอัล ฮาดีย์ (อ.) จึงให้คำตอบว่า “สำหรับเรื่องราวของบรรดาลูกของท่านอะลี (อ.) นั้นมีสัญญาณที่สำคัญอยู่ประการหนึ่งคือ สิงโตจะไม่ทำร้ายพวกเขาอย่างเด็ดขาด ดังนั้น ให้นำตัวนางไปเผชิญหน้ากับสิงโตเพื่อพิสูจน์ ถ้าหากสิงโตไม่ทำร้ายนางแล้วแสดงว่าเรื่องที่นางพูดนั้นต้องเป็นความจริง”
แต่คอลีฟะฮ์ อัล มุตะวักกิล มีความประสงค์จะทดสอบเรื่องนี้กับอิมาม อัล ฮาดีย์ก่อน ซึ่งท่านก็ได้เดินทางไปหาสิงโตด้วยความมั่นใจอย่างเต็มที่ ทันใดนั้นเองสิงโตได้ซบลงแทบเท้าทั้งสองของอิมาม
ต่อจากนั้น คอลีฟะฮ์ อัล มุตะวักกิล ก็ได้สั่งให้นำผู้หญิงคนนั้นมาเผชิญหน้ากับสิงโตดูบ้าง แต่แล้วผู้หญิงคนนั้นกลับหวีดร้องสุดเสียงด้วยความหวาดกลัว และยอมสารภาพผิดในกรณีที่นางได้แอบอ้างเอง
ที่ประชุมของคอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิล
ครั้งหนึ่ง ขณะที่คอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิล กำลังมึนเมาสุราอยู่ เขาได้สั่งให้ไปเชิญตัวอิมามอัล ฮาดีย์มาพบอย่างกระทันหัน บรรดาสมุนรับใช้ได้รีบรุดออกไปทันที และพวกเขาได้บุกรุกขึ้นไปบนบ้านของท่านอิมามอัลฮาดีย์ด้วยท่าทางที่แข็งกร้าว จากนั้นก็ได้นำตัวอิมามอัล ฮาดีย์ไปหาคอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิลยังราชวัง
ขณะนั้น คอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิลกำลังเสพสุราอยู่ ท่านอิมามอัลฮาดีย์ เข้าไปยืนอยู่ใกล้ๆ ครั้นแล้วคอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิลก็ได้รินสุราส่งไปให้ท่านอิมามแก้วหนึ่ง ท่านอิมามตอบปฏิเสธว่า “ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ทั้งเนื้อและเลือดของฉันจะไม่สัมผัสกับสุราเป็นอันขาด”
คอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิล จึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้น ท่านก็จงร่ายบทกวีให้ฉันฟังสักบทหนึ่ง”
ท่านอิมามได้กล่าวออกตัวว่า “ฉันเป็นคนที่มีความรู้เกี่ยวกับบทกวีเพียงเล็กน้อย”
คอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิล ยังคงยืนกรานในท่าทีของตนอยู่เหมือนเดิม ดังนั้น อิมามอัล ฮาดีย์ จึงได้กล่าวบทกวีออกมาบทหนึ่ง ซึ่งท่านยังไม่เคยแสดงให้ปรากฏที่ไหนมาก่อนเลย ดังนี้
“พวกเขาได้สร้างที่พักอาศัยที่มั่นคงอันสูงตระหง่าน
ไว้ปกป้องคุ้มภัยพาล อีกทั้งยังมีเหล่าทหารอารักขาให้ปลอดภัย
แต่กระนั้น มันมิได้ให้ประโยชน์
เพื่อจะได้รอดพ้นจากความตาย ที่กำลังเวียนว่ายใกล้ตัวเขา
แล้วพวกเขาที่ถูกฝังลงในก้นบึ้งของสุสาน
จะไม่มีใครรู้ว่าพวกเขาจะพบพานความโชคร้ายสักปานใด
ที่จมดิ่งสู่ความเลวร้ายอันลึกล้ำนั้น…
และจงพำนักอยู่ในหลุมสุสานให้เงียบเถิด
โอ้ผู้ซึ่งมีสถานที่พำนักอันเลวทราม
จะมีเสียงตะโกนถามพวกเขาอย่างกึกก้อง
หลังจากที่พวกเขาถูกฝังแล้ว ว่า…
บรรดาเพชรนิลจินดา มงกุฎแห่งจักรพรรดิ
และอัญมณีอันมีค่าทั้งหลาย
ใบหน้าที่เคยอาบความสุข หายไปไหนเสียแล้วฤา ?
ดูเหมือนว่ามันไม่มีม่านกั้น ไม่มีมาลัยแห่งเกียรติยศสวมใส่เสียแล้ว
ขณะนั้นสุสานก็จะให้คำตอบแทน
ในยามที่พวกเขาถูกถามเช่นนั้นว่า…
ใบหน้าเหล่านั้นกำลังถูกชอนไชอยู่ด้วยตัวหนอน
ตัวแมงก็กำลังเกาะแทะกัดกินอยู่
ในอดีต เขาเคยกินเคยดื่มตลอดเวลาแห่งอายุขัย
แต่วันนี้พวกเขากลับถูกกินเสียเอง หลังจากที่เคยได้กินมาก่อน
พวกเขาเคยได้สร้างคฤหาสน์อันงามหรู ติดตามกันอยู่ตลอดอายุขัย
เพื่อพักอาศัย แต่แล้ว … ก็ต้องพรากจากบ้านเรือนและบริวาร
พวกเขาเคยสะสมทรัพย์สิน สิ่งมีค่าหลากหลายตลอดอายุขัย
แต่แล้ว …ก็ต้องละทิ้งเหล่านั้นไว้ให้แก่บรรดาศัตรู
แล้วพวกเขาก็ต้องจากไป”
กวีบทนี้มีผลกระทบทางด้านจิตใจอย่างรุนแรงยิ่งนัก แท้จริงแล้วทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมลายสูญสิ้น จุดจบของประสาทราชวัง อำนาจราชศักดิ์ ตลอดจนเกียรติยศทั้งหลาย และทุกสิ่งทุกอย่างที่หลอกล่อมนุษย์ อยู่นั้น ในที่สุด มันก็จะสูญหายไปหมดสิ้น
เมื่อท่านอิมามได้กล่าวบทกวีจบลง คอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิล ถึงกับหลั่งน้ำตาร้องไห้ และได้แสดงความเคารพต่ออิมามด้วยการส่งอิมามกลับไปยังบ้านของท่านอย่างสมเกียรติ
การพลีชีพของอิมามอะลี อัล ฮาดีย์
เมื่อคอลีฟะฮ์อัล มุตะวักกิล ต้องเสียชีวิตไปโดยแผนการณ์ร้ายอย่างหนึ่งของบรรดาผู้ที่แสวงหาอำนาจ ปรากฏว่ามุนตะซ็อรผู้เป็นบุตรชายได้ขึ้นดำรงตำแหน่งสืบต่อ แต่ระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจการปกครองมีเพียงหกเดือนเท่านั้น ต่อมาได้มีคอลีฟะฮ์อีกคนหนึ่ง ขึ้นครองอำนาจแทนนั่นคือ อัล มุสตะอีน เขาผู้นี้ได้ครองอำนาจอยู่เป็นเวลาสามปี ต่อจากนั้น อัล มุตัช ก็ได้ขึ้นครองอำนาจแทน คอลีฟะฮ์ผู้นี้เองที่ดำเนินการลอบสังหารอิมามอัล ฮาดีย์ ด้วยการวางยาพิษ ท่านได้คืนกลับสู่พระผู้อภิบาลในฐานะผู้เป็นชะฮีด เมื่อ ฮ.ศ. 254 ในขณะที่มีอายุได้ 42 ปี สุสานของท่านตั้งอยู่ที่เมืองสะมัรรอฮ์ ประเทศอิรักในปัจจุบัน ซึ่งถูกประดับด้วยโดมทองคำแท้สูงตระหง่านโดดเด่นเป็นสง่ายิ่งนัก และเป็นสถานที่เยี่ยมเยือนของบรรดามุสลิมทั่วทุกสารทิศ
สานุศิษย์ของอิมามอัล ฮาดีย์
ถึงแม้ว่าอิมามอัล ฮาดีย์ จะดำเนินชีวิตอยู่ภายใต้การตรวจสอบและการควบคุมให้มีอุปสรรคอย่างหนักหน่วงสักปานใดก็ตาม แต่ท่านอิมามก็ยังมีสานุศิษย์ และบรรดาผู้สานต่อเจตนารมย์อยู่จำนวนหนึ่ง บุคคลเหล่านี้ล้วนแต่ประสบกับความยากลำบากอย่างแสนเข็ญ เพียงเพราะสาเหตุที่ต้องการจะไปพบปะเพื่อร่ำเรียนวิชาความรู้จากท่านอิมามในจำนวนบุคคลเหล่านั้นได้แก่:
1. ท่านอับดุลอะซีม อัล ฮุซนีย์ ท่านผู้นี้เป็นนักปราชญ์ ผู้ยิ่งใหญ่ท่านหนึ่ง เป็นผู้มีชื่อเสียงระบือไกลว่า มีความสำรวมตนเป็นเลิศ ท่านอิมามอัล ฮาดีย์ ได้เคยยกย่อง และกล่าวสดุดีบุคคลผู้นี้ไว้ในที่ต่างๆ หลายแห่งด้วยกัน ท่านได้ถูกเนรเทศออกจากบ้านเมืองตามคำสั่งของผู้มีอำนาจในยุคนั้น และได้ไปหลบซ่อนตัวอยู่ที่เมืองเรย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นชานเมืองทางด้านทิศใต้ของกรุงเตหะราน สุสานของท่านผู้นี้ ปัจจุบันยังเป็นสถานที่เยี่ยมเยือนของบรรดาชาวมุสลิมทั้งหลาย เพื่อเป็นการแสวงหาความจำเริญ
2. อัล ฮาซัน บิน สะอีด อัล อะฮ์วาซ ท่านผู้นี้เคยเป็นสานุศิษย์ ทั้งของอิมามริฎอ (อ.) และของอิมาม อัล ญะวาด (อ.) ท่านอาศัยอยู่ที่เมืองกุฟะฮ์และเมืองอัล อะฮ์วาซ และได้ย้ายไปพำนักอยู่ที่เมืองกุมจนเสียชีวิตที่นั้น ท่านได้เขียนตำราเกี่ยวกับวิชาฟิกฮ์ (นิติศาสตร์อิสลาม) วิชาจริยศาสตร์ และจริยธรรม ท่านผู้นี้ยังเป็นนักรายงานฮะดิษที่ได้รับความเชื่อถือสูงสุดด้วยท่านหนึ่ง
3. อัล ฟัฏล์ บิน ชาซาน อัล นัยซาบูร ท่านผู้นี้เป็นผู้เชี่ยวชาญทางสาขานิติศาสตร์ อิสลามรุ่นอาวุโสสูงสุดท่านหนึ่ง เป็นนักอรรถาธิบาย และรายงานฮะดิษอย่างมากมายจากอิมาม อัล ฮาดีย์ อีกทั้งยังเป็นบุคคลที่พำนักอาศัยอยู่กับอิมามฮาซัน อัล อัสการีย์ อีกด้วย อิมามอัล ฮาดีย์ได้เคยยกย่องท่านผู้นี้ อีกทั้งยังได้แนะนำให้ประชาชนชาวคุรอซานยอมรับไว้เป็นผู้นำทางด้านวิชาการในยามที่พวกเขามีปัญหาทางด้านวิชาการศาสนา
ขอขอบคุณเว็บไซต์อะฮ์ลุลบัยต์
http://ahlbeyt.com