อิสลามกับประชาธิปไตย (ตอนที่ 1)

อิสลามกับประชาธิปไตย (ตอนที่ 1)


ตามบันทึกประวัติศาสตร์ ในช่วงปีที่ 35 ของฮิจเราะห์ศักราช คศ. (656) ในอาณาจักรอิสลามเกิดวิกฤตการเมืองขึ้น จนนำไปสู่การสังหารคอลีฟะห์อุษมาน เวลาไม่นานหลังจากนั้น ประชาชนตกอยู่ในความโกลาหล และไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไรจึงจะหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์และความโกลาหลครั้งนี้ได้ ประชาชนกลุ่มหนึ่งตัดสินใจไปรวมตัวกันที่บ้านของ อาลี บิน อบีฏอลิบ(อ) เพื่อมอบสัตยาบัน และเรียกร้องให้ท่านขึ้นเป็นผู้ปกครองคนใหม่ ท่านอาลีปฏิเสธคำขอนี้ในตอนแรก เพราะสถานการณ์มีความสุ่มเสี่ยงจนทำให้ไม่สามารถยอมรับตำแหน่งคอลีฟะได้ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่หลังจากนั้นไม่นาน คลื่นประชาชนทุกแห่งหนต่างมารายล้อมรอบบ้านของอาลีเพื่อขอให้เขาเป็นผู้นำที่จะแก้ปัญหาวิกฤตการณ์บ้านเมือง สุดท้ายท่านจึงรับการให้สัตยาบันของประชาชน และขึ้นมาเป็นผู้นำในอาณาจักรอิสลาม ท่านกล่าวว่า

        ” หากเหล่าผู้มอบสัตยาบันไม่ออกมาปรากฏ และหากผู้ช่วยเหลือไม่ทำให้ข้อพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ ข้าจะละสิ่ง(การปกครอง)นี้”

นะฮญุลบาลาเฆาะ คำปราศรัยที่ 27

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการขับเคลื่อนเสียงส่วนมากในอดีต “เสียงส่วนมาก” คือหัวใจของประชาธิปไตย ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องราวในประวัติศาสตร์อิสลาม จึงเกิดคำถามว่า อิสลามกับประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์กันอย่างไร ระบบการปกครองในอิสลามมีแบบประชาธิปไตยหรือไม่ ? ถ้ามี ประชาธิปไตยในอิสลามแตกต่างกับประชาธิปไตยในแบบอื่นๆอย่างไร บทความนี้จะค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านี้

1.บทบาทของประชาชนในรัฐบาลอิสลาม

เริ่มจาก บทบาทของประชาชนในรัฐอิสลาม เราจะใช้คำถามเป็นเครื่องมือเพื่อนำทางเนื้อหาในบทความนี้ กล่าวคือ ประชาชนที่อยู่ภายใต้รัฐบาลอิสลามมีบทบาทอย่างไร ? หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์และบทบาทของประชาชนในรัฐบาลอิสลามบางแห่ง จะพบว่ามี 2 ด้านที่เราสามารถวิเคราะห์บทบาทของประชาชนได้ ในด้านแรกก็คือการมอบความชอบธรรมของประชาชนให้ระบบการปกครองอิสลาม ด้านที่สองก็คือ การทำให้ระบบการปกครองแบบอิสลามเกิดขึ้นจริง

สองด้านนี้แตกต่างกันอย่างไร คำอธิบาย คือ ทุกนิกายในศาสนาอิสลามต่างมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าการจัดตั้งรัฐบาลของศาสดามูฮัมหมัด(ศ) ได้รับความชอบธรรมมาจากพระผู้เป็นเจ้า เช่นเดียวกับเรื่องราวของศาสดาสุไลมาน(อ) และฏอลูต ซึ่งทุกนิกายมีความเห็นตรงกันว่าพวกเขาได้รับความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลจากพระผู้เป็นเจ้า แต่มีความเห็นต่างกันในเรื่องของผู้นำ หลังจากศาสดามูฮัมมัด(ศ) กลุ่มหนึ่งเชื่อว่า รัฐบาลใดๆก็ตาม ยกเว้นรัฐบาลของศาสดามูฮัมหมัด(ศ) จะได้รับความชอบธรรมในการปกครองก็ต่อเมื่อประชาชนมอบสัตยาบันให้รัฐบาลชุดนั้น อีกกลุ่มหนึ่งมีทัศนะว่าความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลของบุคลากรผู้เป็นตัวแทนของศาสดาเกิดจากพระเจ้า ไม่ได้มาจากมนุษย์ แต่มนุษย์จะเป็นผู้ทำให้เจตจำนงนี้เกิดขึ้นหากพวกเขาต้องการ ซึ่งทัศนะนี้คือทัศนะที่เรามองว่า มีความถูกต้องและสมเหตุสมผลกว่าทัศนะอื่นๆ

ตัวอย่างเช่น: ตามความเชื่อของนิกายชีอะห์ ท่านอาลี(อ) ได้รับการแต่งตั้งอย่างชอบธรรมจากพระผู้เป็นเจ้า ทว่าเวลา 25 ปีผ่านไป ประชาชนจึงหลั่งไหลเรียกร้องให้ท่านขึ้นเป็นผู้นำและจัดตั้งรัฐบาล กล่าวคือ ท่านอาลี(อ)มีสิทธิอันชอบธรรมในการปกครอง ตามแนวคิดของชีอะฮ์ แม้ว่าประชาชนจะเลือกท่านหรือไม่ก็ตาม แต่ประชาชนเป็นผู้ทำให้เจตจำนงนี้เกิดขึ้น หลังจากเวลาผ่านไป 25 ปี

กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง

ในมุมมองของนักวิชาการ บทบาทของประชาชนในรัฐบาลอิสลามหลังยุคศาสดามีสองรูปแบบ แบบแรกคือ ผู้นำศาสนาและโลกีย์ เป็นคนที่ประชาชนเลือก และรูปแบบที่สอง คือ ผู้นำศาสนาและโลกีย์ เป็นคนที่พระเจ้าเลือก แต่เขาจะได้เป็นผู้นำหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ ความต้องการของประชาชนเอง ความต่าง คือ แบบแรก ความชอบธรรมเกิดจากเสียงส่วนมาก แม้ผู้ที่ถูกเลือก จะเป็นคนดี หรือ ไม่ดีก็ตาม แต่แบบที่สอง ความชอบธรรมเกิดจากพระเจ้า แม้ผู้ที่ถูกเลือกจะได้รับการยอมรับจากประชาชนของตนหรือไม่ก็ตาม

นี่เป็นอรัมภบทสำหรับการเข้าสู่เนื้อหาสำคัญ เบื้องต้นผู้เขียนจะชี้ให้เห็นว่า แต่ละทัศนะมีมุมมองอย่างไรเกี่ยวกับบทบาทของประชาชนต่อรัฐบาลศาสนา แล้วหลังจากนั้นจึงวิพากษ์ทัศนะเหล่านั้น โดยสี่ทัศนะแรกเป็นภาพรวมของแนวคิดที่แตกออกมาจากทัศนะที่หนึ่ง ดังนี้

กลุ่มที่ 1 : มีมุมมองว่ารัฐบาลจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง นั่นคือถ้าไม่เป็นแบบเสรีนิยม ซึ่งความชอบธรรมเกิดจากเสียงของประชาชน ก็จะต้องเป็นแบบฟาสซิสต์ ซึ่งประชาชนไม่มีบาทบทบาทใดๆ ในเรื่องของการเมืองการปกครอง ดังนั้นในระบบการปกครองแบบอิสลาม หากไม่ถือว่าเสียงของประชาชนคือแหล่งที่มาของความชอบธรรม ก็เท่ากับบอกว่าอิสลามปกครองโดยระบบฟาสซิสต์

    วิพากษ์ : กฎการจำกัดสมาชิกของการแบ่งประเภทในทางตรรกวิทยา จะถูกต้องก็เมื่อ มีสมาชิกที่เป็นหน่วยย่อยของประเภทที่เราแบ่งอยู่ครบสมบูรณ์ และจะไม่ถูกต้องหากการแบ่งประเภทไม่ครอบคลุมสมาชิกอื่นที่จัดอยู่ในประเภทนั้น และเพราะประโยคของกลุ่มที่ 1 ไม่ครอบคลุมระบบอิสลามในสมาชิกของระบบการเมือง การวิพากษ์ของกลุ่มที่ 1 จึงบกพร่อง เราจะยกตัวเชิงอุปมานิทัศน์เพื่อทดสอบความถูกต้องจากของใกล้ตัวที่สามารถเห็นได้ชัดเช่น ผลไม้

ประโยคเช่น ผลไม้ถ้าไม่ใช่ส้ม ก็คือ แอปเปิ้ล ต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง

ประโยคนี้จัดเป็นการจำกัดสมาชิกของผลไม้ที่ไม่ครอบคลุมทั้งหมด

ดังนั้น การจำกัดนี้จึงมีความบกพร่อง ในเรื่องของรัฐบาลก็เช่นกัน การจำกัดว่ารัฐบาลมี 2 ประเภทได้แก่ เสรีนิยมกับฟาสซิสต์ จะผิดทันทีหากพบระบบอื่นเช่น ระบบอิสลาม ดังนั้นผู้อ้างทฤษฎีจะต้องตอบคำถามให้ได้ว่าเหตุใดจึงจำกัดรูปแบบของรัฐบาลไว้เพียง 2 รูปแบบและจำกัดด้วยเหตุผลอะไร ?

กลุ่มที่ 2 อนุมานว่าก่อนการปรากฏของอิมามมะฮดี(อ) ตามความเชื่อของมุสลิมผู้นำคนสุดท้ายตามคำทำนายในศาสนาอิสลาม นักการศาสนามีความเห็นว่า ความชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาลเกิดจากเสียงของประชาชน

    วิพากษ์ : ในทัศนะของกลุ่มที่ 2 สามารถแย้งได้ว่า สมมติฐานนี้ไม่ได้เป็นความจริงไปเสียทั้งหมด เพราะเราสามารถตรวจสอบพบหลักฐานมากมายที่แสดงให้เห็นว่าผู้รู้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 3 จนถึงปัจจุบันยังคงมีความเชื่อว่า ผู้นำคือบุคคลที่ถูกแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า แต่ระบบการปกครองของเขาจะเกิดขึ้นหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน เช่น เชคมูฟีด (ฮศ 413) มูฮักกิกฮิลลี(676) มูฮักกิก กัรกี (940) ซึ่งส่วนใหญ่ผู้รู้ที่แต่งหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการเมืองล้วนมีความเห็นในทัศนะนี้ กฎทางตรรกะก็คือ ข้อเท็จจริงใดๆก็ตาม จะถูกต้อง หากสมาชิกที่ถูกกล่าวถึงในข้อเท็จจริงเป็นเช่นนั้นทั้งหมด แต่หากสมาชิกที่ถูกกล่าวถึงไม่ได้เป็นเช่นนั้นทั้งหมด ดังนั้นข้อเท็จจริงนั้นก็เป็นข้อเท็จจริงเพียงบางส่วน เช่น ประโยค -นักการศาสนาทุกคนมีความเห็นตรงกันในเรื่องนี้- ถ้าถูกพบว่ามีนักการศาสนาบางส่วนที่มีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนั้นข้อเท็จจริงนี้จะถูกทำลายรากฐานในทันที และคำว่า”ทุกคน”จะใช้ไม่ได้อีกต่อไป

กลุ่มที่ 3 มีทัศนะว่า ก่อนยุคการปรากฏตัวของอิมามมะฮดี(อ) เนื่องจากพระเจ้าไม่ได้แต่งตั้งใครในยุคนี้ เราไม่ได้รับรู้ถึงข้อบังคับหรือข้อห้ามใหม่จากพระองค์ ดังนั้นประชาชนควรมีบทบาทสำคัญในการเลือกผู้นำให้กับตนเอง กล่าวคือการจัดตั้งรัฐบาลเกิดจากความชอบธรรมที่มาจากเสียงของประชาชน

    วิพากษ์ : ในทัศนะของกลุ่มที่ 3 สามารถแย้งได้ว่า ไม่มีหลักฐานใดๆทั้งจากอัลกุรอ่าน หรือ ฮาดิษที่แสดงให้เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าได้นิ่งเฉยต่อมนุษยชาติ โดยเฉพาะในเรื่องการเมือง เพราะมีรายงานซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกนิกายแต่ตีความต่างกันถูกบันทึกว่า “แผ่นดินจะไม่ว่างเว้นจากตัวแทนของพระองค์ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็ตาม” หรือ “วันสิ้นโลกจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่า 12 ผู้นำจะมาถึง”[1] ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่พระเจ้าเพิกเฉยหรือไม่เพิกเฉยต่อมนุษยชาติ แต่อยู่ที่ความสามารถในการจัดตั้งรัฐของสังคม สำหรับมุสลิมที่ยอมรับในฮาดิษ เนื้อหาบทนี้ จึงนำไปสู่ ข้อเท็จจริงที่ว่า พระเจ้าวางแผนชี้นำมนุษย์ จนไปถึงวันสุดท้าย ความเข้าใจดังกล่าว คือ ปัจจัยที่ทำให้เกิดโครงสร้างการเมืองแบบอิสลาม ปัจจัยแรก คือ เรื่องการเมืองผู้นำต้องเป็นบุคลากรของพระเจ้า เพราะหากไม่เป็นเช่นนั้น จะไม่มีวัจนะลักษณะนี้ปรากฎอยู่ในสารบบฮาดิษ แม่แบบลายแทงชี้ให้เห็นถึงเจตจำนงของพระผู้เป็นเจ้ารวมถึงวิธีในการจัดตั้งรัฐบาล แน่นอนว่า มีแค่บุคลากรของพระเจ้า ระบบการเมืองของพระองค์จะยังไม่เกิดขึ้น ต้องอาศัยอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การเลือกของผู้คนเอง

    ดังนั้นแม้พระเจ้าจะส่งคนดีสักแค่ไหนมาชี้นำ แต่หากฝ่ายมนุษย์ไม่ร่วมด้วย รัฐในอุดมคติก็ไม่อาจเกิด ความคิดนี้มาจากอัลกุรอ่าน ที่พระองค์กล่าวว่า “แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงเปลี่ยนแปลงสภาพของชนกลุ่มใด จนกว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงสภาพของพวกเขาเองเท่านั้น”[2] ฝ่ายมนุษย์จะต้องร่วมและสร้างให้มันเกิดขึ้นด้วย ดังนั้นหากฝั่งของมนุษย์ไม่ทำ รัฐบาลในอุดมคติก็จะยังไม่เกิดขึ้น นี่จึงเป็นเรื่องของความพร้อมของมนุษย์ไม่ใช่เรื่องความเพิกเฉย

กลุ่มที่ 4 มีแนวคิดว่า เนื่องจากพระเจ้าไม่ได้มอบสิทธิ์ในการปกครองให้แก่ผู้ใดในยุคสมัยปัจจุบัน ดังนั้นประชาชนจะต้องตัดสินใจเอง เพราะประชาชนมีสิทธิ์เหนือชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง จึงเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะมอบอำนาจของตนให้แก่ผู้อื่นเป็นผู้บริหาร หรือตั้งบุคคลเป็นตัวแทนของตน

    วิพากษ์ : ในทัศนะของกลุ่มที่ 4 วิพากษ์ได้ว่าตามทัศนะของอัลกุรอาน สิทธิ์ในการปกครองมาจากพระผู้เป็นเจ้า ทุกสิ่ง อยู่ใต้อำนาจปกครองของพระองค์ จึงไม่มีผู้ใดมีสิทธิ์ครอบครองสิ่งใดโดยปราศจากการอนุมัติจากพระองค์ ดังนั้นในแง่ของการปกครองสิทธิ์ในการปกครองจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับมนุษย์ คำตอบนี้โดยผิวเผินอาจดูแข็งทื่อและทำให้เกิดคำถาม ถ้าเราจะซื้อบ้านสักหลัง จะไปขออนุมัติจากพระเจ้าได้อย่างไร คำตอบ จะรู้ว่า พระองค์อนุมัติสิ่งใด หรือไม่อนุมัติสิ่งใด ก็คือ การย้อนกลับไปดูที่ อัลกุรอ่าน กับ ฮาดิษ ตัวอย่างเช่น ในบทหนึ่งของการซื้อขาย การค้าขายจะถูกต้องต่อเมื่อ ไม่ได้ถูกบังคับให้ซื้อหรือขาย,เรามีสิทธิ์ยกเลิกและส่งคืนสินค้าใดๆก็ตาม ที่ไม่ตรงตามลักษณะที่บอกไว้ล่วงหน้าก่อนทำข้อตกลง,ทรัพย์สินใดก็ตามที่ได้มาจากการลักขโมย หรือ ทุจริต แม้ทรัพย์สินนั้นจะถูกโอนชื่อเป็นของบุคคลแล้วก็ตาม ความเป็นเจ้าของจะเป็นโมฆะ นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของภาพรวมที่เราเรียกว่า ศาสนบัญญัติ คำว่า ขออนุมัติจากพระเจ้า ไม่ได้หมายถึง การนั่งสมาธิทางใน หรือ คุยกับพระเจ้าโดยตรง แต่คือการปฏิบัติตามวิวรณ์ของพระองค์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นกฎหมายมีผลบังคับใช้ และส่วนหนึ่งเป็นการชี้นำ

ในแง่หนึ่ง ข้อโต้แย้งใดก็ตามที่วิพากษ์ประชาธิปไตยได้ ข้อโต้แย้งนั้นก็จะวิพากษ์ทรรศนะของกลุ่มที่ 4 ได้ด้วยเช่นกัน เช่น หากประชาชนส่วนมากมอบสิทธิ์หรืออำนาจให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด คำถามคือ หน้าที่ของฝ่ายตรงข้ามซึ่งก็คือคนส่วนน้อยคืออะไร ? คนส่วนน้อยจำเป็นต้องเชื่อฟังผู้นำที่ตนไม่ได้เลือกหรือไม่ หากจำเป็นเหตุผลเพราะอะไร หากเป็นเพราะสัญญาประชาคม ก็จะเกิดเป็นวัฏจักรที่เป็นโมฆะในทางตรรก เพราะทัศนะนี้อิงสัญญาประชาคม ซึ่งก็คือ การตกลงร่วมกันของเสียงส่วนมากสัญญาประชาคมบอกว่า เสียงส่วนน้อย ต้องเชื่อฟัง เสียงส่วนมาก เพราะสัญญาประชาคมบอกให้เชื่อฟังส่วนมาก

กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง แนวคิดนี้เป็นโดมฆะ
เสียงส่วนน้อย ต้องปฏิบัติตาม สิ่งที่เสียงส่วนมากต้องการ เพราะ สัญญาประชาคมบอกไว้เช่นนั้น
สัญญาประชาคม คือ การตกลงร่วมกันของเสียงส่วนมากว่าจะให้สิ่งใดเป็นหรือไม่เป็นอะไร
ดังนั้นเสียงส่วนมากถูกต้องชอบธรรมเพราะเสียงส่วนมาก และเสียงส่วนน้อยต้องเชื่อฟังเสียงส่วนมาก เพราะเป็นเสียงส่วนมาก คือ เสียงส่วนมาก หรือ จะกล่าวอย่างรวบรัดคือ “เราถูกเพราะเรามากกว่า”

เช่นเดียวกันอีกปัญหาหนึ่งที่จะตามมาก็คือ หากยึดตามทัศนะของคนกลุ่มนี้คำถามคือ แล้วทำไมประชาชนจึงมีสิทธิ์เลือกแต่บุคคลที่เป็นผู้รู้ในศาสนาเท่านั้น ? เพราะถ้าหากสิทธิ์ในการปกครองมาจากประชาชนผู้ที่จะถูกเลือกก็ควรเป็นใครก็ได้ และหากเป็นเช่นนี้ภาวะความเชี่ยวชาญในศาสนาก็จะไม่ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอีกต่อไป ประชาชนไม่ได้มอบความชอบธรรมให้แก่ผู้วินิจฉัยปัญหาศาสนา แต่ว่าเสียงและความพึงพอใจของประชาชนคือสาเหตุที่ทำให้อำนาจของผู้วินิจฉัยทางศาสนาเกิดขึ้นจริง

เหตุผล

1.ยึดตามหลักอัลกุรอาน ในบริบทหนึ่ง อัลกุรอ่านอธิบายว่า”พระองค์คือผู้ทีได้ทรงสนับสนุนเจ้าด้วยการช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยผู้ศรัทธาทั้งหลาย” 8/62 ในบริบทนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่าพระผู้เป็นเจ้าคือผู้ที่ทรงช่วยเหลือมนุษย์ ด้วยความช่วยเหลือของพระองค์ และด้วยผู้ศรัทธา ซึ่งเมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของไวยากรณ์ ตัวบา ในองค์การมีความหมายถึงเครื่องมือหรือสื่อ กล่าวคือความช่วยเหลือมาจากพระเจ้า และส่วนหนึ่งมันจะเกิดขึ้นจริงด้วยการกระทำของมนุษย์ ในแง่ของการปกครองก็มีลักษณะเช่นเดียวกัน กล่าวคือ หากศาสดามูฮัมหมัด(ศ) ได้รับพระประสงค์ให้จัดตั้งรัฐบาล แต่มนุษย์ไม่กระทำให้มันเกิดขึ้นจริง รัฐบาลย่อมไม่อาจเกิดขึ้น ดังนั้นสภาวะของสังคมจะเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะใดก็ขึ้นอยู่กับเจตจำนงของสังคมด้วย เรื่องนี้ยังเป็นการชี้ให้เห็นว่าเสียงส่วนมากไม่ได้มีอิทธิพลใดๆ ต่อการสร้างความชอบธรรมให้แก่บุคลากรของพระเจ้า กล่าวคือหากเสียงส่วนมากไม่ได้เลือกให้ศาสดาเป็นผู้นำ ไม่ได้หมายความว่าศาสดาองค์นั้นจะไม่มีสิทธิ์อันชอบธรรมในการเป็นผู้นำ

2. พิจารณาจากคำปราศรัยของท่านอาลี(อ) ที่เราได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น ท่านกล่าวว่า ” หากผู้คนไม่ออกมาปรากฏตัว และหากผู้ช่วยเหลือไม่ทำให้ข้อพิสูจน์เป็นที่ประจักษ์ ข้าละจะทิ้งสิ่ง(การปกครอง)นี้” กล่าวคือ เสียงส่วนมากไม่ได้มีอิทธิพลต่อการสร้างความชอบธรรมใดๆให้กับท่าน ผู้คนจะเลือกท่านหรือไม่เลือกท่าน ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการปกครอง เพราะมีหลักฐานที่แสดงว่าท่านอาลีเป็นผู้ที่ถูกแต่งตั้งจากศาสดา (แม้ว่าเรื่องนี้ในหมู่มุสลิมจะมีความเห็นแตกต่างกันเป็น 2 นิกายใหญ่ก็ตาม)

หากจะให้ยกตัวอย่าง สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับประวัติศาสตร์ศาสดาอิสลาม ท่านจะรู้จักศาสดาฮารูน(อ) ซึ่งตามประวัติศาสตร์แล้ว มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ศาสดามูซาถูกมอบหมายให้ทำภารกิจหนึ่ง ท่านจึงมอบหมายให้ศาสดาฮารูนเป็นผู้นำของชาวบนีอิสราอีล หลังจากนั้นเวลาได้ผ่านไประยะหนึ่ง บนีอิสราอีล เริ่มแข็งข้อกับศาสดาฮารูน จนกระทั่งเสียงส่วนมากไม่ยอมรับในตัวท่านและพยายามที่จะถอดถอนท่านออกจากตำแหน่งผู้นำ แต่สุดท้ายพวกเขาก็ทำไม่สำเร็จ เพราะศาสดามูซากลับมาได้ทันเวลา ในตัวอย่างนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความคล้ายคลึงกันของประเด็นที่ผู้เขียนยกมา นั่นก็คือการที่ศาสดาฮารูน ไม่เป็นที่ยอมรับของเสียงส่วนมากไม่ได้หมายความว่าตัวของศาสดาไม่มีความชอบธรรมในการปกครอง กล่าวในภาพรวมก็คือ การที่บุคลากรของพระผู้เป็นเจ้าไม่ได้รับการยอมรับจากเสียงของประชาชนในชุมชนของเขา ไม่ได้หมายความว่าความชอบธรรมของเขาจะตกไป

ประเด็นเพิ่มเติม

1.ควรรู้ว่าการพิสูจน์บุคลากรของพระเจ้า และอำนาจที่ได้รับมอบหมายมาจากพระองค์ จะมีผลเป็นอย่างมากก็ต่อเมื่อเราสามารถที่จะพิสูจน์ข้อถกเถียงเกี่ยวกับพระเจ้าและศาสดาของพระองค์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กล่าวในอีกบทหนึ่ง ข้อโต้แย้งเหมาะกับคนที่เชื่อในพระเจ้าเป็นฐานรากอยู่แล้ว

2.ในเรื่องของผู้นำหลังจากศาสดา ผู้เขียนเคารพในความเห็นต่าง และนับถือมิตรสหายของศาสดาในฐานะผู้ทรงเกียรติ จึงไม่มีการวิพากษ์ตัวบุคคลใดๆ และเนื้อหาของบทความทั้งหมดเป็นการวิพากษ์ในทางความคิด ให้เป็นเรื่องราวของวิชาการโดยปราศจากอคติใดๆ

3.อาจมีการโต้แย้งว่า หากระบบการเมืองของอิสลามเป็นแบบแต่งตั้งจากพระผู้เป็นเจ้า เหตุใดสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านจึงมีระบบสภาสูง ซึ่งมีผู้วินิจฉัยศาสนาระดับสูงเป็นสมาชิกของสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ? คำตอบคือ การเลือกของประชาชนในเรื่องนี้ก็มีลักษณะเดียวกันกับการเลือก” มัรเญียะตักลีด” ซึ่งหมายถึงผู้วินิจฉัยปัญหาศาสนาสูงสุดที่เราเลือกจะปฏิบัติตามซึ่งหมายถึงผู้วินิจฉัยปัญหาศาสนาสูงสุดที่เราเลือกปฏิบัติตาม ซึ่งหลักการดังกล่าวก็มีที่มาจากตัวบทของศาสนาเช่นเดียวกัน เราจึงพบในประวัติศาสตร์ว่าเคยมีการส่งตัวแทนของศาสดาไปวินิจฉัยปัญหาศาสนาหรือเผยแพร่ศาสนาต่างๆ เกี่ยวกับอิสลามแทนตัวท่าน ต่อมากลไกของระบบนี้ถูกนำมาปรับเป็นระบบในการเลือกผู้ที่เราเห็นสมควรว่าควรติดตาม ซึ่งเงื่อนไขที่จะพิจารณาความเหมาะสมของบุคคลเหล่านั้นเป็นเงื่อนไขแบบเดียวกับเงื่อนไขที่เราจะเลือกว่าใครคือผู้ที่เราสมควรติดตามมากที่สุด เช่นมีความรู้มากกว่าผู้อื่น ไม่มีการทำบาปหรือทำความผิดอย่างเปิดเผย ฯลฯ

ดังนั้นระบบสภาคุบเรกอน จากเรื่องดังกล่าวเป็นการเลือกที่มีจุดประสงค์เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ที่เหมาะสม ไม่ใช่มอบความชอบธรรมในการปกครองให้กับสภาสูง นี่จึงเป็นความแตกต่างในทางอัตลักษณ์ระหว่างผู้นำของศาสนาอิสลามกับสภาในศาสนาอิสลาม

 

โปรดติดตามตอนที่ 2…..

source:

[1] ตัวอย่างจาก สุนันติรมีซีย์ ฮาดิษที่ 2386

[2] อัรเราะดฺ 11


บทความ Muhammad Behesti