สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 2)

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 2)

 

    ความยุติธรรม คือ การวางสิ่งต่างๆ ในที่ของมัน

บทนิยามของความยุติธรรม

ในบทนี้เนื้อหาจะต่อเนื่องจากบทความที่แล้ว ผู้อ่านที่ยังไม่ได้อ่านจากบทความแรกท่านสามารถย้อนกลับไปอ่านได้ตามลิ้งนี้ บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 1) ส่วนในบทความนี้เราจะพูดถึงนิยามหรือคำจำกัดความของความยุติธรรมกันก่อน ที่ต้องเริ่มด้วยประเด็นนี้ก่อน เพราะบางครั้งคนเราเข้าใจความหมายของความยุติธรรมไม่เหมือนกัน และบางครั้งก็เข้าใจผิดและคิดว่าสิ่งตรงข้ามกัน ความอยุติธรรมคือความยุติธรรม ในเรื่องนี้หากผู้อ่านตระเวนสำรวจงานเขียนของปวงปราชญ์ชาวตะวันตกจะพบว่าแต่ละสำนักคิดล้วนให้นิยามของความยุติธรรมแตกต่างกัน ในขณะที่ปวงปราชญ์ทางฝั่งตะวันออกจะให้นิยามความยุติธรรมไม่แตกต่างกันมากนัก และหากเปรียบเทียบนิยามของนักปรัชญาตะวันตกและตะวันออก มีนิยามของอริสโตเติล ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับนิยามของนักปรัชญาอิสลาม ในบทความชุดนี้เราจะเสนอนิยามของความยุติธรรมจากทัศนะของนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงในด้านนี้แต่ละท่าน ซึ่งเราจะเริ่มต้นจากนิยามของความยุติธรรมจากสวนเอเดน ไปจนถึงนครความรู้แห่งเมืองกุม

ในทางภาษาอธิบายว่า ความยุติธรรม หรือ Justice มาจากภาษาละติน Justus หมายถึง โดยชอบ ชอบด้วยกฎหมาย แนวคิดเกี่ยวกับความถูกต้องทางศีลธรรม ตั้งอยู่บนจริยธรรม ความมีเหตุผล กฎหมาย กฎธรรมชาติ ศาสนา ความชอบธรรม หรือความเที่ยงธรรม ควบคู่กับการลงโทษอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนจริยธรรมดังกล่าว [1]

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน ให้คำนิยามว่าความยุติธรรม หมายถึง ความเที่ยงธรรม ความชอบด้วยเหตุผล เช่น ศาลย่อมทรงไว้ซึ่งความยุติธรรม ,ไม่เอนเอียงเข้าข้างใดข้างหนึ่ง ชอบด้วยเหตุผล[2]

ส่วนในภาษาอาหรับ ความยุติธรรม คือ อัดล์ (عدل) สะกดด้วย ตัว อีน ตัว ดาล ตัว ลาม (ع-د-ل) การทำให้เท่าเทียม การทำให้เสมอกัน การปรับให้สมดุล ความสมดุล การทำให้ถูกต้อง การพิพากษาอย่างถูกต้อง จุดกึ่งกลาง ทางสายกลาง ไม่มากไปไม่น้อยไป[3]

วิเคราะห์

ประการที่ 1 ทั้งภาษาอังกฤษ ภาษาไทย ภาษาอาหรับ และอื่นๆ สามารถอนุมานได้ว่าในทุกภาษา ความยุติธรรม มีความหมายใกล้เคียงกัน หรือ เหมือนกัน มีการใช้งานกันในระบบศาล,ระบบการปกครอง ระบบการเมือง สถาบันครอบครัว และชีวิตส่วนตัวของปัจเจก(one man/woman) เพราะมันเป็นภาษาสำนึกนานาชาติ ผู้อ่านสามารถเห็นวาทะนี้ได้ในวงการต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้น

ประการที่ 2 ในภาคสังคมความยุติธรรมมี 2 ประเภท คือความยุติธรรมเชิงโทษนุโทษ และการกระจายความยุติธรรม ทั้งสองแตกต่างกัน เพราะ ความยุติธรรมเชิงโทษนุโทษ หรือเชิงชดใช้ (Retributive Justice) คือการใช้ยุทธศาสตร์ ด้วยวิธีที่ลงโทษที่รุนแรง ตอบโต้ต่อการกระทำให้สาสมกับที่ผู้กระทำผิดต่อการไว้ ในขณะที่ การกระจายความยุติธรรม (Distributive Justice) คือหลักการในการกระจายผลประโยชน์ให้กับคนในสังคมอย่างเหมาะสม

รูปแบบทั้งสองอาจมีลักษณะของความหมายใกล้กัน แต่มีการทำงานต่างกัน การกระจายความยุติธรรมจะยึดผลประโยชน์ที่เท่าเทียมเป็นหลัก เช่นในบางประเทศมองว่าการกระจายความยุติธรรม คือการมอบโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิ์แข่งขันและสร้างความร่ำรวยให้แก่ตนเอง ส่วนสำหรับบางประเทศการกระจายความยุติธรรมคือการรักษาสิทธิ์และมอบสวัสดิการที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกๆคนที่ถือสัญชาติของประเทศนั้น

ตัวอย่างเช่น การมอบเงินสวัสดิการที่เรียกว่า “บัยตุลมาล” ให้แก่ประชาชนทุกคนเท่าเทียมกันที่อยู่ภายใต้อาณาจักรการปกครองของคอลีฟะห์อาลี(อ) โดยไม่พิจารณาตำแหน่งยศฐา เชื้อชาติหรือความใกล้ชิดเป็นหลัก ทรัพย์สินบัยตุลมาล จะเกี่ยวข้องกับสวัสดิการ แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนที่อยู่ใต้การปกครองของรัฐนั้น จะได้เงินเดือนเท่ากัน กล่าวคือ ใครจะได้เงินเดือนเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลนั้น แต่ในเรื่องของสวัสดิการ ทุกคนที่อยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลชุดนั้น จะได้เงินสวัสดิการในฐานะพลเรือนเท่าเทียมกัน ตัวอย่างแบบนี้อาจเห็นได้ในบางประเทศ เช่น การรักษาโรคฟรีของบางประเทศ การนั่งรถโดยสารฟรี การใช้ไฟฟ้าฟรี เป็นสวัสดิการของผู้อยู่ใต้การปกครองของรัฐบาลนั้นโดยไม่แบ่งแยกว่า สวัสดิการเหล่านั้น จำกัดอยู่แค่คนจน หรือ คนรวย เพศหญิง หรือ เพศชาย ลักษณะการแจกจ่ายเงินบัยตุลมาลในสมัยคอลีฟะฮ์อาลี หากจะใช้คำในภาษาปัจจุบัน ก็คือ ค่าครองชีพพื้นฐานที่รัฐจะแจกจ่ายให้ประชาชนของตน เพื่อให้มั่นใจว่า พวกเขาจะสามารถแสวงหาปัจจัยพื้นฐาน อย่างอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และหากไม่มีรายได้อื่น อย่างน้อยก็จะมีเงินบัยตุลมาลเป็นตัวรับรองหลังชีวิตและความอยู่รอดของประชาชน อย่างไรก็ตามสวัสดิการที่ประชาชนมีสิทธิได้รับภายใต้การปกครองแบบอิสลามเป็นประเด็นที่น่าศึกษา เพราะในบทหนึ่ง ทรัพย์สินใดก็ตามที่ถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะในรัฐอิสลาม ประชาชนมีสิทธิใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินนั้นอย่างเต็มอัตรา เราจะพบตัวอย่างการขุดเจาะน้ำดื่มฟรีในสมัยคอลีฟะฮ์อาลี(อ) การแจกจ่ายข้าวสารอาหารแห้ง และเมล็ดพันธ์ และตัวอย่างอื่นๆอีกมากมาย การล้มเลิกทุกระบบที่ให้ผลลัพธ์คือ ความเหลื่อมล้ำในสังคมคือภารกิจหลักในรัฐบาลของท่านอาลี จึงไม่แปลกที่ท่านจะมีชื่อเสียงด้านความยุติธรรมอย่างกว้างขวาง รัฐที่ทำลายความเหลื่อมล้ำ เป็นอุดมคติที่คนบนดินต่างใฝ่ฝัน อาจมีการโต้แย้งว่า รัฐแบบนี้จะทำให้คนจนเกียจคร้าน และไม่ดิ้นรนต่อสู้ชีวิต แน่นอนนี่ไม่ใช่ความคิดที่ถูกต้อง เพราะความเกียจคร้านไม่ได้เกิดจากการอยู่อย่างสุขสบายเสมอไป เพราะมีคนรวยมากมายที่เป็นอิสระทางการเงิน แต่ก็ยังคงขยันทำมาหากิน และความเกียจคร้านยังเป็นลักษณะที่พบได้ทั้งในคนรวยและคนจน แต่หากสมมติว่าความคิดนี้ถูกต้อง กฎการใช้เหตุผลจะสอนว่า การปล่อยให้ประชาชนอดยาก เลวร้ายกว่า ความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะเกียจคร้าน เหตุผลสนับสนุนให้เราหลีกเลี่ยงภัยที่รุนแรงกว่า วิกฤตกว่า มากกว่าสนับสนุน ความเป็นไปได้ที่อาจจะไม่เกิดขึ้นเสียด้วยซ้ำ

ส่วนความยุติธรรมเชิงโทษนุโทษ จะยึดการตอบแทนหรือลงโทษอย่างสาสม ตัวอย่างเช่น สำหรับผู้ที่ทำร้ายร่างกายและละเมิดผู้อื่น โทษที่สาสมกับความผิดของเขาคือการจำคุก แต่หากเกิดการฆาตกรรม โทษที่สาสมสำหรับเขาคือการฆ่าให้ตกตามกัน หรือการจำคุกระยะยาว การจำคุกตลอดชีวิต เช่น อาชญากรชาวอเมริกัน ชาร์ล มิลเลส แมนสัน(1934-2017) ซึ่งถูกตัดสินให้ผิด ในคดีฆาตกรรมชารอน เทต ที่กำลังตั้งท้องได้ 8 เดือน แมนสัน ถูกตัดสินโทษประหารชีวิตในช่วงแรก หลังจากนั้นศาลแคลิฟอร์เนียได้ยกเลิกโทษประหารและเปลี่ยนเป็นจำคุกตลอดชีวิต เขาเสียชีวิตในเรือนจำแคลิฟอเนีย ในเวลาต่อมา

 

ผู้อ่านจะเห็นว่าระบบการกระจายความยุติธรรม และระบบความยุติธรรมเชิงโทษนุโทษของแต่ละประเทศอาจไม่เหมือนกันเลยซะทีเดียว บางประเทศการลงโทษฆาตกรกรอาจเป็นเพียงการจำคุกตลอดชีวิต บางประเทศก็ใช้กฎฆ่าให้ตกตามกัน ซึ่งแบบไหนเหมาะสมกว่าดีกว่าให้ผลมากกว่ายุติธรรมมากกว่า ก็จะต้องไปเถียงกันในวาระของมัน ส่วนการกระจายความยุติธรรม เป็นประเด็นเปิดใหญ่และค่อนข้างกว้าง เพราะทุกประเทศต่างก็อ้างว่าตนมีระบบการกระจายความยุติธรรมอย่างเหมาะสม แต่ผลที่ตามมาจะนำสู่ความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นๆหรือไม่นั่นคือเรื่องที่เราจะพูดถึงในบทวิพากษ์ทฤษฎีความยุติธรรมของจอฮ์น รอวส์(john rawls)

ประการที่ 3 ความยุติธรรมเป็นคุณค่าหนึ่งในจริยศาสตร์ ไม่ได้มีตัวตนในเชิงกายภาพหรือในเชิงฟิสิกส์ ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เพราะมันไม่ใช่วัตถุ แต่เป็นค่าที่มนุษย์ให้การตัดสินใจเชิงมโนทัศน์ หรือจะกล่าวในอีกบริบทหนึ่งความยุติธรรมเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ การกระทำภายนอกของบุคคลจึงอาจเหมือนกัน แต่ค่านิยมที่ถูกใส่ลงไปในการกระทำมีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น การกักขังโดยมิชอบ คืออาชญากรรม แต่การกักขังผู้กระทำผิดในเรือนจำคือความยุติธรรม จะเห็นว่ากริยาเหมือนกันคือการ “กักขัง” แต่เจตนาและคุณค่าที่ยึด เพราะการกักขังในรูปแบบแรกเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง และการกักขังในรูปแบบที่สองเป็นการกระทำที่ถูกต้อง เหตุผลเพราะเมื่อใครสักคนหนึ่งใช้อิสรภาพของตนเองไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่นการละเมิดต่อผู้อื่น จริยธรรมจะตัดสินว่าอิสรภาพของเขาจำเป็นต้องถูกยับยั้ง เพื่อไม่ให้เขาผู้นั้นไปละเมิดผู้อื่นได้อีก

ประการที่ 4 เหตุผลที่ความยุติธรรมเป็นภาษาสากล ทุกคนเข้าใจในทันที เพราะความยุติธรรมเป็นสามัญสำนึกหนึ่งของมนุษย์ ที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะยุคสมัยใด ไม่ขึ้นอยู่กับมารยาทหรือวัฒนธรรม แน่นอนนิยามของความยุติธรรมอาจแตกต่างกัน แต่รากหลักของมัน เป็นสิ่งที่ทุกคนต่างเข้าใจ ในอิสลามเราเรียก สามัญสำนึกสากลนี้ว่า ”ฟิตรอต” คือ สำนึกที่มนุษย์ทุกคนมีติดตัวมาแต่ก่อน การค้นพบสำนึกนี้ ยังได้หักล้างแนวคิดของล๊อคที่มองว่าในทางญาณวิทยา ที่ว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมความว่างเปล่า เพราะข้อเท็จจริง ทุกคนเกิดมาพร้อมสามัญสำนึกของตนเอง

ประการที่ 5 ความยุติธรรมไม่ได้จำกัดแค่การเมืองและสังคม เพราะมันครอบคลุมกฎธรรมชาติและบุคคล ในแง่นี้หากมีสิ่งใดเสียสมดุล จะเกิดหายนะขึ้น การรักษาภาวะสมดุลจึงเป็นกฎธรรมชาติเพื่อรักษาชีวิตตนเอง และความสมดุลก็คือด้านหนึ่งของยุติธรรม ส่วนในด้านปัจเจก ทุกคนควรจะยุติธรรมต่อจิตวิญญาณของตนเอง ไม่เลยเถิด และไม่ละเลย(อัฟรอต ตัฟรีด)ต่อสิ่งใดที่ผ่านเข้าในชีวิต ซึ่ง“ทางสายกลาง” คือ มุมมองการใช้ชีวิต ที่ความยุติธรรมได้มอบให้แก่มนุษย์ เมื่อพวกเขาเลือกจะยุติธรรมต่อจิตใจตนเอง
ชะฮีด มูฏอฮารี

ประการที่ 6 ความยุติธรรมมีหลายแขนง ในเรื่องการแบ่งประเภท อิสลามมีมุมมองเฉพาะ ชะฮีดมูฏอฮารี(1919-1979) อธิบายว่า ในแนวคิดอิสลาม ความยุติธรรมแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ความยุติธรรมของพระเจ้า กับ ความยุติธรรมของมนุษย์ โดยความยุติธรรมของพระเจ้า จะพบเห็นได้ผ่านโลกทัศน์อิสลาม ซึ่งเมื่อพูดถึงความยุติธรรมของพระองค์ ความยุติธรรมประเภทนี้ก็แบ่งความยุติธรรมนี้เป็นสองประเภทแยกย่อยอีกเช่นกันได้แก่ ความยุติธรรมในธรรมชาติ และความยุติธรรมในศาสนบัญญัติ เช่นในแง่ความยุติธรรมในธรรมชาติ หากสร้างมนุษย์ ให้ต้องกินต้องดื่ม แต่ไม่สร้างแหล่งอาหาร จะขัดกับความยุติธรรมของพระองค์,หรือ หากสร้างสัตว์ให้มีชีวิต แต่ไม่มอบความรู้สัญชาตญาณให้แก่มัน ก็จะขัดกับความยุติธรรมของพระองค์ ส่วนความยุติธรรมในศาสนบัญญัติ คือ หากสร้างมนุษย์ในแบบที่เป็นอยู่แต่ไม่ชี้นำพวกเขา ก็จะขัดกับความยุติธรรมของพระองค์ จึงต้องมีการชี้นำ และข้อปฏิบัติในการใช้ชีวิต เรียกว่า”ศาสนา” หรือศาสนบัญญัติ ความแตกต่างคือ ในแง่ธรรมชาติ มนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้ เช่น เลือกที่จะเกิดเป็นคนผิวดำ หรือ เปลี่ยนตนเองกลายเป็นก้อนหิน แต่ในแง่ของการชี้นำ และการปฏิบัติ มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลง หรือ เลือกที่จะทำหรือไม่ทำตามได้ กล่าวในภาพรวม ความยุติธรรมของพระเจ้า คือ การวางระบบบริหารสรรพสิ่งอย่างเป็นธรรม และความยุติธรรมทางการเมือง หรือ ทางสังคม และบุคคล ก็คือส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบความยุติธรรมของพระเจ้าเช่นกัน[4]

ประการที่ 7 ความยุติธรรมเป็นฐานหลัก หรือคำแม่ในปรัชญาการเมืองอิสลาม มันมีความสัมพันธ์กับคำอื่นๆ เช่น ความเท่าเทียม ความเที่ยงธรรม การตัดสินอย่างโปร่งใสโดยปราศจากอคติ ความดีงาม กฎ ความเป็นหนึ่งเดียว และอิสระภาพ กล่าวคือ ทุกคุณค่าที่อิสลามนำเสนอในแบบของตนเอง คือ คุณค่าที่คำนึงถึงความยุติธรรมเป็นหลัก ในทางโทษ มนุษยุทุกคนมีอิสระภาพ และสิทธิในการมีชีวิต แต่หากบุคคลใดใช้อิสรภาพของตนไปเข่นฆ่าผู้อื่น อิสระนั้นและสิทธิการใช้ชีวิตจะต้องถูกยับยั้ง ซึ่งโทษคือ การประหารชีวิต

โดยหลักการพื้นฐานในระบบความยุติธรรมของศาสนา ได้แก่ การมอบสิทธิให้แก่บุคคลหรือสิ่งมีชีวิตและไร้ชีวิตที่มีสิทธิได้รับสิ่งต่างๆอย่างเคร่งครัด และหลักความสมดุล

ในแง่ การมอบสิทธิให้แก่บุคคลหรือสิ่งมีชีวิตและไร้ชีวิตที่มีสิทธิได้รับสิ่งต่างๆอย่างเคร่งครัด มีสิทธิต่างๆปรากฎอยู่ในตัวบท(Text)ของอิสลามในด้านนี้ ตัวอย่างเช่น หนังสือ รีซาละตุลฮูกูก หรือ ในภาษาไทย คือ สาส์นว่าด้วยสิทธิต่างๆ ซึ่งถูกเขียนขึ้นโดย ท่านอิมาม อาลี ซัยนุลอาบีอีน (อ) เหลนของศาสดามูฮัมมัด(ศ) ตั้งแต่ศตวรรษแรกของฮิจเราะฮ์-ศักราช ในหนังสือเริ่มต้นจากสิทธิที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์ สิทธิที่มนุษย์มีต่อพระเจ้า สิทธิระหว่างมนุษย์ต่อมนุษย์ สิทธิของสัตว์ และสิทธิของพืช ตัวอย่างเช่น ในอิสลาม การรังแกสัตว์ หรือ การเชือดสัตว์อย่างไร้เหตุผล หรือการเชือดสัตว์โดยไม่ให้อาหารแก่มัน ถือเป็นการละเมิดสิทธิ ต้นไม้มีสิทธิในการใช้ชีวิต การตัดหรือทำลาย อย่างไม่มีเหตุผล คือ การละเมิดสิทธของพืช และถือเป็นบาป เราจะเห็นแนวคิดเช่นนี้จากวัจนะของศาสดามูฮัมมัด(ศ)เช่นกัน ท่านได้กล่าวว่า พระเจ้าจะมอบสิทธิให้แก่เจ้าของสิทธินั้น[5]”อัลลามะฮ์ฏอบาฏอบาอีย์ ได้นำเสนอแนวคิดนี้ในศตวรรษที่ 20 ว่า “พลังงานทั้งหมด จะได้รับสิ่งที่เป็นสิทธิของมัน ณ จุดที่เหมาะสม”[6]

ในแง่ หลักความสมดุล จะเกี่ยวข้องกับความเหมาะสมของแต่ละสิ่ง ซึ่งปรากฎใน ตัวบท หรือ Text ของอิสลาม ตั้งแต่การสร้างความสมดุลให้จักรวาล โลก จนไปถึงปรากฎการณ์เล็กๆ ที่จะเกิดขึ้นมาได้ ต้องมีเงื่อนไขครบเถื่อนเกิดขึ้นก่อน เช่น คนจะไม่สามารถเกิดจากก้อนหิน เพราะเงื่อนไขในการกำเนิดของคนไม่ได้เป็นเช่นนั้น หรือ หากจะพูดในแง่การเมืองการปกครอง กฎหมาย เศรฐกิจ จะดำเนินต่อไปอย่างยุติธรรมได้ ต้องคำนึงถึงความสมดุล ดังที่ท่านอาลี(อ)ได้กล่าวว่า “ความยุติธรรมคือสิ่งที่ค้ำจุนโลก”[7] ส่วนในแง่ของการบริหารจิตใจ อิสลามก็มีคำสอนในการสร้างหลักความสมดุลให้แก่จิตเช่นเดียวกัน เช่น จิตวิญญาณจะไม่พบจุดสมดุล หากให้ ความโลภ ความกลัว หรือ ความโกรธ เป็นผู้บริหาร ความสมดุลของชีวิตจะเกิดขึ้นหากให้สติปัญญา เป็นผู้ปกครองจิตใจของตนเอง คำสอนเช่นนี้ พบได้ในอิสลาม พุทธ และแนวคิดเรื่องความยุติธรรมของเพลโต

ประการที่ 8 ในปรัชญาการเมืองตะวันตก อดัม สวิฟต์ อธิบายว่า ความยุติธรรม เป็นคำที่ขัดแย้งกับเสรีภาพ ซึ่งนักการเมืองรู้แต่ไม่อยากพูดถึง และไม่ได้สอดคล้องกับความดีเสมอไป เหตุผลของเขาคือ “เป็นไปได้ที่การกระทำบางอย่างอาจเป็นความดีงาม แต่ไม่ได้แรงผลักให้เกิดการกระทำมาจากความยุติธรรมเสมอไป เช่น การช่วยเหลือผู้อื่น เป็นความดี แต่เหตุผลที่มนุษย์ช่วยกัน มาจากแรงผลักของ”มนุษย์ธรรม” ไม่ใช่ความยุติธรรม[8] เราสามารถโต้แย้งแนวคิด หากให้”ความยุติธรรม” เป็นฐานของทุกศีลธรรม มนุษย์ธรรม ก็เป็นส่วนหนึ่งของศีลธรรมที่ความยุติธรรมได้ชี้นำมนุษย์ ในตัวอย่างของเขา เราสามารถกล่าวได้ว่า การช่วยเหลือจะเกิดขึ้น เมื่อเราตัดสินว่า บุคคลหนึ่งมีสิทธิได้รับความช่วยเหลือจากเรา อาจจะเป็นเพราะพื้นฐานชีวิตที่ต่ำกว่า หรือ สภาวะที่เกิดขึ้นกับเขา ทำให้เขามีสิทธิที่จะได้รับสิทธินั้น แน่นอนว่า อารมณ์ความสงสาร หรือ ความเมตตาก็เป็นองค์ประกอบให้ผู้คนทำสิ่งที่พวกเขาทำ ตัวอย่างเช่น คนที่มีโลกทัศน์ว่า เด็กกำพร้า หรือผู้ยากไร้มีสิทธิรับการช่วยเหลือจากสังคม การหันหลังให้คือความอยุติธรรม บุคคลผู้นั้น จึงช่วยเหลือเด็กกำพร้าคนนั้น กล่าวโดยสรุปคือ ความยุติธรรม กับ มนุษย์ธรรม ไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งกันเอง (Self Contradiction)เพราะมันสามารถรวมกันได้ในมุมมองนี้

 

source:

[1] พจนานุกรมปรัชญา เจษฎาทองรุ่งโรจน์ หมวด J หน้า 468

[2] พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถานหมวด คำว่า ยุติธรรม

[3] อัลมุนญิด หมวดตัว อีน คำว่า อัดล์ (عدل)

[4] มุรตะฎอ มูฏอฮารี่,มูกอดดีเมะอี บัน ญะฮอนบีนีอิสลาม(อรัมภบทสำหรับโลกทัศน์อิสลาม) เล่ม 2 หน้า 135

[5] ฏอบรอนีย์,มุญามุลกาบีร เล่ม 17 หน้า 34

[6] มูฮัมมัดฮูเซน ฏอบาฏอบาอีย์,อัลมีซาน เล่ม 1 หน้า 271

[7] มูฮัมมัด เรย์ ชะฮรีย์ ,มีซานุลฮิกมะฮ์ หมวด อีดาลัต

[8] อดัม สวิฟต์,Political Philosophy หน้า34

บทความ Muhammad Behesti