เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 4)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 4)


ทฤษฎีความยุติธรรมของเพลโต

เพลโต ถือเป็นบุคคลหนึ่งที่มีอิทธิพลแทบจะมากที่สุดในปรัชญาตะวันตก เขาได้เสนอมุมมองต่างๆอย่างมากมาย ทั้งในเรื่องอภิปรัชญา รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือแม้แต่จิตวิทยา ทฤษฎีที่โด่งดังของเพลโตคือ “ทฤษฎีแบบ” นอกจากนี้เขายังเป็นคนแรกที่เขียนตำราว่าด้วยความยุติธรรมตั้งแต่สมัย 400 ปีก่อนคริสตกาล มุมมองเรื่องความยุติธรรมของเพลโตเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะนักคิดและนักปรัชญาการเมืองตะวันตก มักจะเริ่มต้นเปิดประเด็นวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมโดยนำเสนอแนวคิดของเพลโตเป็นฐานอยู่เสมอ บ้างก็สนับสนุน บ้างก็หักล้าง

คำถามคือ รู้เรื่องทฤษฎีความยุติธรรมของเพลโตแล้วจะได้อะไร มันน่าสนใจตรงไหน ?

คำตอบ คือ การทำความเข้าใจแนวคิดของเพลโตในแง่ของความยุติธรรม จะช่วยเราให้เข้าใจว่า ปรัชญาตะวันตกและตะวันออกได้พัฒนากระบวนทัศน์ที่เกี่ยวกับความยุติธรรมอย่างไร เราจะเห็นว่า ความยุติธรรมในสมัยอดีตกับปัจจุบันต่างกัน และจะเห็นด้วยว่าในห้วงประวัติศาสตร์ นักการเมือง นักวิชาการ นักการทหารหลายคน ทั้งที่ดีและร้าย มักใช้แนวคิดของเพลโตมาสร้างเป็นอุดมการณ์บริหารประเทศชาติบ้านเมืองเสมอ บ้างก็นำเอามาปรับให้เข้ากับยุคสมัยของตนเอง บ้างก็แก้ไขเพียงบางส่วน บ้างก็เอามาสร้างเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองใหม่ บทความกระทัดรัดนี้จะให้มุมมองว่า รากฐานของความคิดทางการเมืองในเรื่องความยุติธรรม ที่ถูกนำมาใช้เป็นกฎหมาย หรือ ความยุติธรรมทางสังคมในสมัยอดีตของเพลโตเป็นอย่างไรเขา ใช้เหตุผลอะไรพิสูจน์ โดยเนื้อหาที่ถูกนำมาวิเคราะห์จะใช้ หนังสือ Republic ของเพลโตเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้มีแปลในฉบับภาษาไทย

ความยุติธรรมในทรรศนะของเพลโต

ควรจะเกริ่นก่อนว่า ในทัศนะของเพลโต รัฐในอุดมคติจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบทั้ง 4 รวมอยู่ในรัฐนั้น อันได้แก่ ความรู้ ความกล้าหาญ วินัยหรือความเคร่งครัด และความยุติธรรม เราสามารถสรุปเหตุผลของเพลโตได้ว่า

    รัฐที่มีแต่ความรู้ แต่ไม่มีความกล้า คือรัฐที่รู้แต่ไม่ปฏิบัติ เมื่อไม่กล้าปฏิบัติ ความสำเร็จก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

    รัฐที่มีแต่ความเคร่งครัดและวินัย แต่ปราศจากความรู้ คือรัฐที่ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่รู้ เมื่อมีแต่ความไม่รู้ รัฐนั้นย่อมเป็นรัฐที่โง่เขลา ไม่อาจสร้างความเจริญได้

    รัฐที่มีความรู้ มีความกล้า แต่ไม่มีวินัย คือรัฐที่ไร้ระเบียบและเปราะบาง เมื่อรัฐไม่มีวินัย ความจราจลจะเกิดขึ้น อันเป็นตัวบ่อนทำลายความมั่นคงของรัฐ

    รัฐที่มีความรู้ มีความกล้าหาญและมีวินัย แต่ขาดความยุติธรรม รัฐนั้นย่อมไม่ประสบความสำเร็จ เพราะความยุติธรรมจะบอกแก่รัฐว่า ความรู้ ความกล้า และวินัยควรนั่งอยู่ในตำแหน่งใด ดังนั้นรัฐในอุดมคติของเพลโตจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีทั้งความยุติธรรม ความกล้าหาญ ความรู้ และระเบียบวินัย

จากแนวคิดนี้ทำให้เพลโตแบ่งประชาชนออกเป็น 3 ชนชั้นด้วยกัน ได้แก่นักปราชญ์ คือชนชั้นที่ทำหน้าที่คอยบริหารจัดการแผ่นดิน และคอยตัดสิน ทหาร คือชนชั้นที่ทำหน้าที่ปกป้องและจัดระเบียบความเรียบร้อยให้แก่สังคม เกษตรกร-พ่อค้าวาณิช คือชนชั้นที่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ เพลโตมองว่า ความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อ คนแต่ละชนชั้นทำหน้าที่และทำงานในชนชั้นของตน

นิยามความยุติธรรมของเพลโต

เหตุผลที่เพลโตคิดเช่นนี้ เพราะเขานิยามความยุติธรรมว่า “ความยุติธรรมคือการที่คนแต่ละคนทำงานของตัวเองและไม่เข้าไปแทรกแซงงานของคนอื่น” เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้ เพลโต ได้เปรียบสังคมเสมือนว่าเป็นคนหนึ่งคน โดยบุคคลผู้นี้ มีพลังปัญญา พลังตัณหา พลังแห่งอารมณ์ และพลังแห่งโทสะอยู่ในตัว และเขาก็ได้อธิบายโดยเราสรุปเหตุผลของเขาได้ว่า

    หากคนหนึ่งคนใช้ตัณหาคิด ผลคือความพินาศย่อยยับและความเห็นแก่ตัว

    หากคนหนึ่งคนใช้อารมณ์คิด ผลคือความพินาศย่อยยับและความเห็นแก่ตัวเช่นกัน

    หากคนหนึ่งคนใช้ความโกรธคิด ผลคือความพินาศเช่นเดียวกัน

    แต่หากคนหนึ่งคนใช้ปัญญาคิด ผลคือความสมดุล และความผาสุก

    มองได้ว่า เพลโต ไม่ได้ปฏิเสธ ตัณหา อารมณ์ หรือความโกรธแต่อย่างใด เขามีมุมมองว่า ของพวกนี้มีประโยชน์ในที่ของมัน เพราะ

    ถ้าหากเราไม่โกรธ เราจะไม่อยากปกป้องคนที่เรารัก

    ถ้าหากเราไม่มีอารมณ์ เราจะไม่มีแรงจูงใจ

    ถ้าหากเราไม่มีตัณหา เราจะหยุดนิ่ง เพราะไม่มีความอยากใดๆเกิดขึ้นอีก

ดังนั้นเพลโตไม่ได้ปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ แต่เขามองว่าสิ่งเหล่านี้ต้องไม่ใช่ตัวควบคุมหรือตัดสินใจ ตรงข้าม อารมณ์ ตัณหา โทสะ มันจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อตัณหา อารมณ์ และความโกรธ อยู่ภายใต้การปกครองของสติปัญญา เมื่อเปรียบเทียบเช่นนี้แล้วเพลโตก็ได้อธิบายแนวคิดของเขาในสังคม กล่าวคือ ในแต่ละสังคม ก็มีพลังทั้ง 4 นี้เช่นกัน และสำหรับสังคมในอุดมคตินั้น เพลโตมองว่าต้องให้สติปัญญาเป็นผู้กุมบังเหียนสังคม สังคมแบบนั้นถึงจะเกิดขึ้นได้ แต่ก็มีประเด็นเพิ่มเติมเล็กน้อยนั่นคือความยุติธรรมในทรรศนะของเพลโตนั้นเป็นเหมือนภาพสะท้อนด้านหนึ่งของปัญญา เพราะหนึ่งในหน้าที่ของสติปัญญา คือการตัดสินว่าอะไรคือสิ่งที่ดีและอะไรคือสิ่งที่ไม่ดี อะไรคือสิ่งที่ควรและอะไรคือสิ่งที่ไม่ควรทำ.

ความยุติธรรมเชิงโทษานุโทษในทัศนะของเพลโต

สำหรับเพลโตแล้วความยุติธรรมในแง่ของการลงโทษ จำเป็นต้องบังคับใช้ อิงจากแนวคิด “โลกหลังความตาย” โดยเหตุผลที่เขาอธิบายว่าจะต้องมีการลงโทษเกิดขึ้นนั่นก็เป็นเพราะ

จิตใจของมนุษย์สกปรกได้ด้วยการกดขี่ การจะชำระล้างการกดขี่ที่อยู่ในจิตใจของมนุษย์ให้บริสุทธิ์ได้ จะต้องมีการลงโทษเกิดขึ้น เพราะมันคือวิธีในการเยียวยาความสกปรกในจิตใจของมนุษย์

แนวคิดนี้แตกต่างจากแนวคิดของนักปรัชญาบางส่วน นักปรัชญาบางกลุ่มอาจอธิบายว่าเหตุผลที่ต้องมีการลงโทษก็เพื่อตอบแทนการกระทำของมนุษย์ ในขณะที่บางส่วนมีทัศนะว่าการลงโทษไม่ได้ช่วยในการชำระล้างจิตใจ 100% เพราะนักโทษบางคนก็ไม่ได้สำนึกจากการถูกจองจำ และในทางกลับกันบางส่วนก็มีความเห็นว่าบางครั้งการไม่ลงโทษก็มีผลทำให้คนหนึ่งคนเปลี่ยนแปลงตัวเองจากที่ไม่ดีเป็นดีได้ อย่างไรก็ตามหากจะเปรียบการลงโทษตามเหตุผลของเพลโต คงจะเหมือนกับแปรงที่ใช้ขัดคราบสกปรกออกจากเสื้อผ้า ยิ่งคราบสกปรกมากเท่าใด ยิ่งต้องใช้แรงขัดมากเท่านั้น

ความยุติธรรมมีอยู่จริงหรือไม่ ?

อีกประเด็นหนึ่ง เพลโตมีมุมมองว่า ความยุติธรรมไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่แต่ในความคิดหรือเป็นเพียงคำศัพท์ที่มนุษย์ใช้พูดกันในภาษาต่างๆ เขามองว่าความยุติธรรมและการกดขี่ เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงเหมือนแอปเปิ้ลที่เรากัดกิน หรือเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ เพราะเพลโต มองว่าความยุติธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในจิต และเพราะจิตเป็นสิ่งที่มีจริง ดังนั้นความยุติธรรมก็จะต้องมีจริงด้วยเช่นเดียวกัน หรือกล่าวในอีกบริบทหนึ่ง เมื่อมีภาชนะอยู่จริง สิ่งที่ถูกเติมเต็มลงไปในภาชนะนั้นก็จะต้องมีจริง

อ่านเพิ่มม:

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 1)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 2)

บทความ – สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 3)

บทความ-สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 5)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 6)

บทความ-สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-1)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-2)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-3)

 

ศึกษาเพิ่มเติม:

-หนังสือ อุตมรัฐ,เพลโต

–Philosophy for dummies ,Cohen Martin

-A History of philosophy v1, Charles Frederick Copleston

-Critical Study of Theories of Justice , Ahmad Vaezi

บทความ Muhammad Behesti

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม