เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 5)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 5)

 

ความยุติธรรมในทัศนะของอริสโตเติล

อริสโตเติล หรือ แอริสตอเติล (Aristotle) (384 – 322 ปีก่อนคริสตกาล) นักปรัชญากรีกโบราณ เป็นลูกศิษย์มือหนึ่งของเพลโต เขาเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดสูงสุดคนหนึ่งในตะวันตกและบางส่วนในปรัชญาตะวันออก หนึ่งในสาขาที่อริสโตเติลได้ประพันธ์วิชาขึ้นมาคือ”รัฐศาสตร์”และหนึ่งในประเด็นสำคัญที่อริสโตเติลนำเสนอ คือ “ความยุติธรรม” ในบทความนี้เราจะศึกษาว่า อริสโตเติล คิดอย่างไรเกี่ยวกับความยุติธรรม ทำไมเขาถึงมีมุมมองแบบนี้ และมีข้อวิพากษ์ใดๆต่อความคิดของเขาบ้าง และเช่นเคยการได้ศึกษาแนวคิดเรื่องความยุติธรรมของอริสโตเติล ก็เหมือนกับเพลโต เรากำลังดูประวัติศาสตร์การเดินทางและพัฒนาการของความยุติธรรม เพื่อทำความเข้าใจว่าความยุติธรรมที่คนในยุคปัจจุบันเชิดชูทุกวันนี้มันมีที่มาอย่างไร มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกันกี่ครั้ง การศึกษาเรื่องนี้จึงถือเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจการเมือง,สิทธิ,กระบวนการยุติธรรม เพราะหนึ่งในประเด็นที่แตกออกมาจากการเมือง คือ ความยุติธรรม และเมื่อพูดว่า”การเมืองอยู่รอบตัวเรา มีผลกับเรา และอนาคตของเรา” นั่นหมายความว่า ความยุติธรรมก็อยู่รอบตัวเราในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองเช่นกัน.

    เนื้อหา

    1.กระบวนทัศน์ของอริสโตเติล

    2.นิยามและทรรศนะเกี่ยวกับความยุติธรรม

    3.มุมมองทางเลือก

    4.อ้างอิง

1.กระบวนทัศน์ของอริสโตเติล

แม้ว่าอริสโตเติลจะเป็นลูกศิษย์ของเพลโต แต่เขาไม่ได้ยอมรับทฤษฎีของอาจารย์ไปเสียทั้งหมด การเรียนจากครูสำหรับอริสโตเติลไม่ใช่การถ่ายเอกสาร โดยไม่ต่อยอดทางความรู้ [1] เขาได้สร้างสรรค์ทฤษฎีเฉพาะเป็นของตัวเอง และประพันธ์วิชาใหม่ขึ้นมาอย่างมากมาย [I]ในเรื่องนี้อริสโตเติลแตกต่างจากอาจารย์ตรงที่เขาใช้มุมมองแบบประสบการณ์นิยม ,ใช้วิทยาศาสตร์ มาเป็นหลักการในการนำเสนอแนวคิด แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า อริสโตเติล จะปฏิเสธเครื่องมืออื่นในการเข้าถึงความรู้ของมนุษย์ในทางญาณวิทยา เพราะตัวเขาเองประพันธ์วิชา “ตรรกวิทยา” ขึ้นมา โดยใช้ “สติปัญญา” ผ่านวิธีนิรนัย เป็นตัวค้นหาความจริง หรือ ประพันธ์วิชาอภิปรัชญา โดยอาศัยวิธีอุปนัย

หากเราจะมองถึงกระบวนทัศน์[2](paradigm)ของเขาให้ถูกต้อง จะต้องไม่สรุปว่า อริสโตเติลยึดประสบการณ์นิยม หรือเหตุผลนิยมและอภิปรัชญาด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น เพราะเขายึดทั้งสองด้าน ดังนั้น[II]กระบวนทัศน์ของอริสโตเติล จึงเป็นกระบวนทัศน์ของนักปรัชญาที่ยืนอยู่บนทั้งสองด้านของความรู้ คือ วิทยาศาสตร์ และ อภิปรัชญา มองเช่นนี้จึงจะได้ภาพที่ถูกต้องเกี่ยวกับกระบวนทัศน์ของเขา และเนื่องจากเขารับทั้งแนวคิดแบบอภิปรัชญา และ วิทยาศาสตร์ จึงมีผลทำให้ปรัชญาภาคทฤษฎี และปรัชญาภาคปฏิบัติของเขา ได้รับอิทธิพลจากกระบวนทัศน์ทั้งสองด้านนี้ [III]แต่นี่ไม่ได้หมายความว่า อริสโตเติล คิดเหมือนกับเพลโต ความต่างของทั้งสองคือ เพลโต พยายามมองหาความดีจากโลกที่อยู่เหนือวัตถุ ส่วนอริสโตเติลมองหามันจากโลกนี้ กล่าวในอีกบริบทหนึ่งคือ ทฤษฎีความยุติธรรมของอริสโตเติลมีที่มาจากการเข้าใจธรรมชาติ ส่วนทฤษฎีความยุติธรรมของเพลโต วางอยู่บนหลักของทฤษฎีแบบ และเพราะเหตุนี้ความยุติธรรมของอริสโตเติลจึงเริ่มต้นจากการพิสูจน์ให้ได้ก่อนว่า ธรรมชาติดำเนินไปอยู่บนหลักแห่งความสมดุล ในอีกแง่หนึ่งจะเห็นว่า ปรัชญาภาคปฏิบัติของเขาล้วนเกิดจากมุมมองของการใคร่ครวญธรรมชาติที่เขาเรียนรู้

แน่นอนว่าอริสโตเติลไม่ได้จัดให้ คุณวิทยา จริยศาสตร์ รัฐศาสตร์ เป็นประเภทของปรัชญาภาคทฤษฎี แต่เป็นประเภทของปรัชญาภาคปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้ผู้ศึกษางานของเขาจะเห็นความสัมพันธ์ระหว่าง ความคิดเรื่องความเป็นจริง การดำรงอยู่ของโลก และจักรวาล กับความคิดเรื่อง คุณค่า ความดี ความงาม เพราะผิด-ถูก ดี-ชั่ว จะถูกตัดสินอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าคนหนึ่งคนมองความเป็นจริงของโลกนี้ไว้อย่างไร หรือหากจะกล่าวสรุปในประโยคเดียว

“มองโลกอย่างไร ก็จะใช้ชีวิตอย่างนั้น”

ตัวอย่างเช่น สำหรับอริสโตเติล เขามองว่าพระเจ้าหรือปฐมเหตุ ผู้เคลื่อนที่โดยปราศจากการเปลี่ยนแปลง คือ ความดีสูงสุด ความสมบูรณ์สูงสุด จริงสูงสุด ในความหมายที่ว่า ทุกความดี ความสมบูรณ์ ทุกความจริง ทุกคุณค่ามาจากพระองค์ เพราะสรรพสิ่งไม่อาจเกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ได้โดยปราศจากความเคลื่อนไหวแรก ดังนั้นผู้เคลื่อนไหวแรกจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมี (necessary being) และเพราะจำเป็นต้องมีอยู่จริง การมีอยู่ของพระองค์จึงถือเป็นความดีงาม ในฐานะที่เป็นปฐมแห่งสรรพสิ่ง[3]และเพราะความยุติธรรมเปรียบเหมือนเศียรของความประเสริฐ ซึ่งก็คือความดี ความยุติธรรมก็จะต้องมาจากพระองค์เช่นกัน

ในประเด็นของความยุติธรรม ความเข้าใจเรื่องความยุติธรรมของอริสโตเติล เกิดจากการทำความเข้าใจธรรมชาติของเขา เพราะในธรรมชาติ ขับเคลื่อนได้เพราะวางอยู่บนหลักแห่ง “ระบบ” ”ความสมดุล” และความยุติธรรม หากมองระบบธรรมชาติจะพบว่า “สุดท้ายแล้วทุกสิ่งจะอยู่ในที่ทางที่มันควรอยู่เสมอ” ด้วยความเข้าใจนี้จึงทำให้อริสโตเติลมองว่า ระบบความยุติธรรมของมนุษย์ก็จะต้องเป็นแบบเดียวกับระบบความยุติธรรม หรือ ความสมดุลของธรรมชาติ จึงจะสามารถพัฒนาต่อไปสู่ความสมบูรณ์หรือเป้าหมายของมันได้ เราอาจสรุปเป็นแผนภาพได้ดังนี้

ดังนั้นหากจะมีใครสรุปว่า ยูไดโมเนีย หรือ ความสุขสมบูรณ์ กับ ทางสายกลาง ความยุติธรรม ความดีความงามของอริสโตเติล เป็นผลมาจากความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับโลก ก็ถือว่าเป็นการสรุปที่มองความคิดของอริสโตเติลเป็นองค์รวมที่ดี(holistic)

2.นิยามและทัศนะเกี่ยวกับความยุติธรรม

หัวใจของแนวคิดเรื่องความยุติธรรมของอริสโตเติล กับ ทัศนะของเพลโต คือสิ่งเดียวกัน ต่างตรงที่อริสโตเติลอธิบายความยุติธรรมโดยเริ่มจากการพูดถึงความสมดุลของธรรมชาติ ส่วนเพลโต อธิบายความยุติธรรมโดยวางอยู่บนหลักของทฤษฎีแบบ โดยในทัศนะของอริสโตเติล ธรรมชาติได้มอบความสามารถและศักยภาพต่างๆให้กับมนุษย์ ซึ่งมนุษย์จะต้องใช้ศักยภาพและความสามารถนี้อย่างยุติธรรมในที่ที่มันควรถูกใช้ และความสามารถหรือศักยภาพของบุคคลคือสิ่งที่ทำให้บุคคลมีสิทธิ์ที่จะได้รับสิ่งต่างๆ ตัวอย่างเช่นถ้าหากทุกคนในสังคมใช้ศักยภาพของตนเองเพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น ระบบความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้น ทุกคนจะรักษาความสมดุล และใช้ชีวิตบนทางสายกลาง

2.1 ความหมายของความยุติธรรมในทรรศนะของอริสโตเติล

อริสโตเติล เริ่มจากการอธิบายว่า “ประชาชนถือว่าผู้กดขี่คือคนที่[I]ไม่ให้ความสำคัญหรือละเมิดต่อกฎหมาย[II]ไม่รู้จักเพียงพอและไม่ให้ความสำคัญ,เพิกเฉยต่อการแบ่งให้กันอย่างเท่าเทียม ดังนั้นผู้มีความยุติธรรมก็คือคนที่จะต้อง[I]ให้ความเคารพต่อกฎหมาย และ[II] ให้ความเคารพต่อความเท่าเทียมของประชาชน … ท่านทั้งหลายต่างเห็นแล้วว่าผู้ที่ทำลายกฎหมายก็คือผู้กดขี่ ส่วนผู้ที่เคารพเชื่อฟังในกฎหมายก็คือผู้ที่ยุติธรรม ดังนั้นการกระทำใดก็ตามที่สอดคล้อง/อยู่ภายใต้กฎหมาย การกระทำนั้นย่อมหมายถึงการกระทำที่มีความยุติธรรมในความหมายแบบทั่วไป”[4]

ความยุติธรรมของอริสโตเติลมี 2 รูปแบบ รูปแบบแรกเป็นแบบทั่วไป และอีกความหมายหนึ่งเป็นความหมายแบบเฉพาะหรือพิเศษ ความยุติธรรมแบบทั่วไปของอริสโตเติล คือการให้เกียรติและเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายและรักษาความเสมอภาคเท่าเทียมกันของประชาชน ส่วนความยุติธรรมในความหมายเฉพาะในทัศนะของเขาแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ความยุติธรรมเชิงกระจาย(distributive)ความยุติธรรมเชิงการตอบแทน(retributive) ความยุติธรรมเชิงกระจายหมายถึงการกระจายเกียรติยศ,ตำแหน่งการปกครอง,ทรัพย์สินเงินทอง,และสิ่งอื่นๆที่อยู่ในหมู่ประชาชน ในความหมายที่ว่าประชาชนทุกคนมีสิทธิ์และสามารถมีส่วนร่วมในการใช้ประโยชน์จากความดีงามของสังคม และในทางกลับกันหากประชาชนกระทำความผิดสิทธิ์ในการมีส่วนร่วมจากการใช้ประโยชน์ของสังคมก็จะเป็นอันตราย และถูกยกเลิกสำหรับเขา และความยุติธรรมในลักษณะนี้ยังมีบทบาทในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในสังคมในทางที่ถูกต้อง

ในอีกด้านหนึ่งความเท่าเทียม ของอริสโตเติล ไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมแบบสัมบูรณ์ แต่หมายถึงความเท่าเทียมที่ยึดอยู่บนหลักการของสิทธิที่บุคคลสมควรได้รับ หมายความว่า เบื้องต้นประชาชนทุกคน ต้องรู้และเข้าใจก่อนว่าตนนั้นมีสิทธิ และมีคุณค่า ในการใช้ประโยชน์จากความดีงามของสังคม ดังนั้นถ้าหากบุคคลเท่าเทียมกันในด้านของคุณค่าและสิทธิ ความยุติธรรมเชิงกระจายก็จะเกิดขึ้น แต่ถ้าหากคุณค่าและสิทธิของบุคคลไม่เท่าเทียมกัน ประชาชนก็จะไม่ได้รับสิ่งต่างๆอย่างเท่าเทียมกัน อริสโตเติลได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในเรื่องของการเมืองและในเรื่องของจริยธรรมไว้ว่า

“คนกลุ่มหนึ่ง(เดโมแครต)เชื่อว่า ความยุติธรรมคือความเท่าเทียม แน่นอนว่ามันเป็นเช่นนั้น แต่ความเท่าเทียมไม่ได้มีไว้สำหรับทุกคน แต่มีไว้สำหรับคนที่อยู่ในฐานะเท่าเทียมต่อกัน และอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ความยุติธรรมคือความไม่เท่าเทียม คำพูดนี้ก็ถูกต้อง แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน แต่มีไว้สำหรับผู้คนที่อยู่ในฐานะไม่เท่าเทียมกัน จึงจะเกิดความยุติธรรมได้….ทุกคนล้วนมีแนวคิดเหมือนกันว่า ความยุติธรรมที่สมบูรณ์แบบคือการมอบสิทธิ์ตามปริมาณคุณค่าของคนผู้นั้น แต่มีความเห็นต่างกันตรงที่ กลุ่มหนึ่งคิดว่า ความเท่าเทียมบนพื้นฐานหนึ่ง จะทำให้เกิดความเท่าเทียมในทุกๆรากฐาน ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อว่า ความดีกว่าบนพื้นฐานหนึ่ง จะทำให้เกิดความดีกว่าในทุกๆพื้นฐาน”[5]

และในอีกบริบทหนึ่งอริสโตเติลได้บันทึกว่า

“ความยุติธรรมจะมีความหมายก็ต่อเมื่อคน 2 คนมีสถานะเท่าเทียมกัน ความสัมพันธ์ของทั้งสองอยู่ในสถานะที่กฎหมายได้แจ้งอย่างชัดเจน แต่ถ้าหากไม่อยู่ในกรณีนี้ เช่นครอบครัวหนึ่ ที่มีหัวหน้าครอบครัวมี ภรรยา มีลูกและมีทาส จะไม่เท่าเทียมกัน เพราะความยุติธรรมไม่อาจก่อรูปขึ้นมาได้ในบริบทนี้” [6]

ดังนั้นในทัศนะของอริสโตเติลความยุติธรรม คือ

    การกระทำที่เท่าเทียมกันระหว่างบุคคลที่มีฐานะเท่าเทียมกัน

    และการกระจายความเท่าเทียมกันสำหรับบุคคลที่มีฐานะเท่าเทียมกัน

    และการกระจายความไม่เท่าเทียมกันสำหรับบุคคลที่มีฐานะไม่เท่าเทียมกัน

กล่าวคือถ้าหาก นาย A และนาย B มีสถานะเป็นชาย กฎหมายรองรับความเป็นพลเมือง การแบ่งอย่างเท่าเทียมจึงจะมีความหมาย แต่ถ้าหากนาย A เป็นพลเมือง มีสถานะเป็นชาย ส่วนนาย B เป็นทาส,เป็นคนต่างถิ่น การแบ่งอย่างเท่าเทียมจะไม่ถือเป็นความยุติธรรม แนวคิดนี้ก็ยังมีให้พบเห็นในหลากหลายประเทศ เช่น ถ้าหากบุคคลผู้หนึ่งมีสถานะเป็นพลเรือนของประเทศไทย เขาย่อมมีสิทธิเข้าใช้สถานที่สาธารณะโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากบุคคลผู้หนึ่งเป็นชาวต่างชาติ การเข้าใช้พื้นที่สาธารณะบางแห่ง เช่นอุทยานแห่งชาติ ก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายตามมา

2.2 ความสัมพันธ์ระหว่างความยุติธรรมกับแนวคิดเรื่องความพอดี

เราได้กล่าวในตอนต้นของบทความแล้วว่า อริสโตเติลดึงเอา“ความยุติธรรม”มาจากการทำความเข้าใจแก่นแท้ของธรรมชาติ ในเรื่องนี้เขาถือว่าระหว่างความยุติธรรมกับความพอดี(Mean theory) มีความสัมพันธ์กัน คือ สิ่งเดียวกัน เพราะในทัศนะของเขา ธรรมชาติ แสดงถึง ความพอดี และความสมดุล หากเราสังเกตถึงองค์ประกอบของทุกสรรพสิ่ง เราจะพบว่าทุกสิ่งล้วนประกอบขึ้นมาอย่างเหมาะสม อยู่ในที่ที่ควรอยู่ ไม่มีสิ่งใดเพิ่ม ไม่มีสิ่งใดลด เมื่อสังเกตเห็นว่าธรรมชาติเดินอยู่บนกฎเกณฑ์นี้ ทำให้อริสโตเติลมอง หากธรรมชาติเป็นเช่นนี้ สังคม มนุษย์ ก็จะต้องเป็นเช่นเดียวกัน ชีวิตของคนหนึ่งคนหรือปัจเจกจะไปสู่ความสุขสมบูรณ์(Eudemonia)ได้ก็ต่อเมื่อ เขาใช้ชีวิตอยู่บนหลักของความพอดี เช่นเดียวกันชีวิตของสังคมจะไปสู่ความสุขสมบูรณ์ได้ก็ต่อเมื่อสังคมนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของความพอดี [7]จากแนวคิดนี้ทำให้เราเห็นว่าแนวคิดเรื่องความพอดีของอริสโตเติลแบ่งออกเป็น 2 มิติด้วยกัน [I]มิติทางด้านปัจเจก[II]มิติทางด้านสังคม

ความพอดีในแง่ปัจเจก และสังคมคือ มีคำอธิบาย คือ ในจิตของมนุษย์มีความต้องการและความปรารถนาต่างๆมากมาย แต่ละความรู้สึกต้องการสําแดงตนออกมาและเข้าครอบงำและกลืนกินความรู้สึกอื่นๆ เช่น ความโกรธต้องการเอาชนะสติอยู่เสมอ อริสโตเติล เสนอว่า แต่ละความรู้สึก มีสิทธิที่จะอาศัยอยู่ในจิตของมนุษย์ เขาไม่ได้ปฏิเสธโมหะ โทสะ หรือ ราคะ แต่สอนว่า ทุกอารมณ์มีประโยชน์ในตัวของมันเอง ที่ต้องทำคือ การให้แต่ละอารมณ์อยู่ในจุดที่สมดุลกัน นี่คือ ความหมายของความพอดี และในทางสังคมก็คือการนำความยุติธรรมในความหมายของความเท่าเทียมที่เหมาะสมสำหรับคนที่อยู่ในสถานะเดียวกันมาใช้ในสังคม[8] เพื่อสร้างภาวะที่สมดุลไม่ให้เหลื่อมล้ำในสังคม

ตามนิยามนี้อริสโตเติลกำลังพาผู้คนให้ไปเจอกับการแบ่งฐานะทางสังคม แต่ไม่ใช่ความหมายแบบการแบ่งชนชั้นวรรณะ คำพูดของเขาคล้ายคลึงความต่างทางฐานะที่เกิดจากความพยายามของบุคคลมากกว่า ทุกคนล้วนมีสิทธิแต่สิทธิของแต่ละคนจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับฐานะทางสังคมของคนผู้นั้น โดยถือว่าสิทธิสูงสุด คือ สิทธิในการปกครองโดยการใช้อำนาจบริหาร อาจทำได้ด้วยระบบสภา และสิทธิรองลงมากว่าต่ำขั้นแรก คือสิทธิในการตัดสินใจและสิทธิในการเลือกสิ่งที่เหมาะสมสำหรับการบริหารรัฐบาลโดยผ่านอำนาจตุลาการ และสภาของชาติ ซึ่งสิทธินี้จะเป็นสิทธิของประชาชนพลเรือน โดยไม่นับชนชั้นแรงงาน เพราะสำหรับเขาชนชั้นแรงงานไม่ถือเป็นพลเรือน เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสที่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้าที่แบบพลเรือน และ หากมอบหน้าที่การบริหารให้ชนชั้นแรงงาน ความยุติธรรมจะไม่เกิดขึ้น แต่จะเป็นการกดขี่เข้ามาแทนที่ เพราะในนิยามของเขา ความยุติธรรมสำหรับบุคคลที่มีฐานะเท่าเทียมกัน ไม่สามารถใช้ได้กับ คนที่มีฐานะเท่าเทียมกัน ท่านจะเห็นว่านี่คือความเหมือนที่แตกต่างระหว่างยุคสมัยของอริสโตเติล กับระบบผู้แทนไม่ว่าจะ สส สว สจ หรือฟังชั่นใดก็ตามที่มาในฐานะตัวแทน แต่ต่างตรงที่ ประชาธิปไตยสมัยปัจจุบัน ไม่ได้ตั้งชนชั้นแรงงาน เพราคิดว่าคนฐานะนี้ไม่สามารถบริหารบ้านเมืองได้ แต่ที่ไม่ตั้งเพราะคุณสมบัติไม่เพียงพอ และแนวคิดนี้จะไปชนกับปัญหา เหมือนปัญหาสังคมที่เสรีนิยมยุคปัจจุบันกำลังเผชิญ เพราะระบบทุนนิยมไม่สามารถทำลายความเหลื่อมล้ำในด้านฐานะของคนในสังคมไ จึงไม่แปลกที่นักปรัชญาสายยุติธรรมยุคหลังอย่าง จอห์น รอลส์ ถึงได้อธิบายว่า ความยุติธรรมทางสังคมไม่ได้หมายถึงการทำให้ทุกคนมีฐานะเท่ากัน แต่คือ การมอบโอกาสให้ทุกคนในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน เช่น การให้เงินเด็ก ป.3 ไปโรงเรียนจากพ่อแม่ให้เท่ากับเด็กมหาลัยฯ ไม่ถือเป็นการกระทำที่ยุติธรรม แต่การมอบโอกาสให้เด็ก ป.3 มีโอกาสเรียนได้เท่าเทียบกับเด็กมหาลัยฯ คือ ความหมายของความยุติธรรมที่รอล์สพูดถึง และอริสโตเติลได้ตั้งประเด็นเปิดไว้

    ประเด็นเพิ่มเติม

    ภาวะผู้นำ : ในทัศนะของอริสโตเติลรากฐานที่ใช้สำหรับสิทธิทางการเมืองและการมีส่วนร่วมของปัจเจกบุคคลในการสร้างโครงสร้างทางการเมืองรวมถึงองค์ประกอบของรัฐ ล้วนวางอยู่บนรากฐานของเสรีภาพ-ความมั่งคั่ง-การอบรมฝึกฝน-การมีตระกูลที่ดีงาม เพราะความมั่งคั่งกับเสรีภาพถือเป็นปัจจัยสำคัญและเป็นปัจจัยจำเป็นสำหรับทุกประเทศ กล่าวคือ ประเทศไม่อาจกลายเป็นประเทศได้หากปราศจากเสรีภาพและความมั่งคั่ง ในความคิดของอริสโตเติลผู้ที่สมควรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้นำมากที่สุดคือ [I]ผู้ที่ได้รับการอบรมบ่มนิสัยมาเป็นอย่างดี [II]ครอบครองความคุณลักษณะอันประเสริฐมากมายเพราะการจะสร้างประเทศให้มีคุณภาพและมีประโยชน์ จำเป็นต้องอาศัย 2 สิ่งนี้ ซึ่งคือ คนที่มีความสามารถ และ คนที่ขัดเกลาวิสัยทัศน์และจิตใจของตนเอง

จะเห็นว่า จากคำอธิบายนี้ สิ่งที่อริสโตเติลพยายามทำคือ การอธิบายความยุติธรรมในแบบที่แตกต่างไปจากเพลโต เพราะรากฐานสำคัญของอริสโตเติล ที่ทำให้เกิดความยุติธรรม คือ ความเท่าเทียมและความเสมอภาค ในขณะที่ เพลโต มองว่าความเสมอภาคและความเท่าเทียมไม่ใช่สิ่งจำเป็น แต่การมอบงานให้ถูกที่ ใช้คนให้เหมาะกับงาน คือ สิ่งที่จะทำให้เกิดความยุติธรรมมากกว่า[9] โดยสรุปแล้วหัวใจของแนวคิดของอริสโตเติลคือการอธิบายว่า ความยุติธรรมคือการวางของต่างๆให้ถูกที่ของมัน เหมือนเพลโต แต่ต่างกันตรงที่มีเรื่องของความเท่าเทียบเข้ามา

2.3การพิสูจน์ความเป็นหนึ่งเดียวระหว่างความยุติธรรมทางธรรมชาติกับความยุติธรรมในสังคมของมนุษย์

อย่างที่เราได้ทราบกันแล้วอริสโตเติลเข้าถึงนิยามของความยุติธรรมจากการสังเกตถึงแก่นแท้ของธรรมชาติ ซึ่งก็คือ ความสมดุล เขาได้เสนอว่า สังคมของมนุษย์ก็จะต้องมีจุดสมดุลมีความพอดีแบบเดียวกับที่ธรรมชาติดำรงอยู่บนกฎนั้น คำถามคือ ทำไมความยุติธรรมที่หมายถึงความเสมอภาคและความเท่าเทียมจึงเป็นสิ่งเดียวกันกับจุดสมดุลในธรรมชาติ ? และหากทฤษฎีความพอดี คือความยุติธรรม ทำไมสังคมของมนุษย์จะต้องหลอมความยุติธรรมแบบนี้ ?

อริสโตเติลได้พิสูจน์แนวคิดของตนโดยนำเสนอ 3 ตรรกะ ได้แก่[I]ความเป็นเอกภาพร่วมกันระหว่างความยุติธรรมในระบบแห่งภวันต์ หรือระบบธรรมชาติ [II]ผลทางการได้มาซึ่งความสุขสมบูรณ์ [III]ความจำเป็นต้องรักษาความพอดีในสังคม

 

2.3.1 ความเป็นเอกภาพร่วมกันระหว่างความยุติธรรมในระบบแห่งธรรมชาติ กับ ความยุติธรรมในสังคมมนุษย์

เนื่องจากทุกสรรพสิ่งล้วนมีระบบ ทั้งระบบทางธรรมชาติและระบบของมนุษย์ในทางปัจเจกและในทางสังคม ไม่ว่าจะระบบใดล้วนชี้ถึง ความยุติธรรม ดังนั้นความยุติธรรมจึงครอบคลุมในทุกระบบของมนุษย์ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแต่ระบบแห่งธรรมชาติเท่านั้น โดยเราจะสังเกตเห็นว่าความยุติธรรมในระบบธรรมชาติไม่ใช่สิ่งอื่นนอกจากความเป็นระบบระเบียบ ความสมดุล และความสำคัญต่อกันและกัน ถ้าหากเราดูระบบแห่งธรรมชาติจะพบว่าทุกสิ่งล้วนอยู่ในที่ของมัน ทุกสิ่งล้วนเชื่อมต่อกัน ทุกสิ่งล้วนอยู่ในภาวะสมดุลทุกสิ่งล้วนอยู่ในความพอดี ในทางหนึ่งสำหรับสังคมของมนุษย์ หากสามารถเชื่อมต่อกับความยุติธรรมตามแบบธรรมชาติได้ สังคมนั้นจะกลายเป็นสังคมที่ทุกสิ่งล้วนอยู่ในที่ของมันเช่นเดียวกัน และความพอดีจะถูกรักษาไว้ ในท้ายที่สุด ความยุติธรร ก็คือการรักษาความพอดี มันคือความพอดีแบบเดียวที่เกิดขึ้นในระบบแห่งธรรมชาติในระบบธรรมชาติที่สรรพสิ่งไม่มีสิทธิ์ในการเลือก ไม่มีเจตจำนงเป็นของตนเอ งถ้าหากระบบของสังคมมนุษย์สามารถนำมาปรับใช้กับความยุติธรรมในความหมายนี้ได้สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือสังคมอุดมคติ

2.3.2 การแสวงหาความสุขสมบูรณ์(Eudemonia)

ในเหตุผลนี้อริสโตเติลอธิบายว่าความสุขสมบูรณ์ คือเป้าหมายสุดท้ายของมนุษย์ โดยตัวของมันมันคือสิ่งที่พึงประสงค์ ไม่ใช่เครื่องมือของสิ่งอื่นใดอีก แต่คือเป้าหมาย ซึ่งการจะได้ความสุขมาไม่ว่าจะเป็นมิติของปัจเจกหรือสังคมล้วนแล้วแต่ต้องพึ่งทางสายกลาง และใช้วิธีของทางสายกลาง เพราะเราจะรู้จักพฤติกรรมที่มีความประเสริฐได้ก็ต่อเมื่อเรารับรู้ว่าความพอดีของพฤติกรรมคืออะไร ดังนั้นนหากมองในแง่ของความผาสุกหรือการประสบความสำเร็จในชีวิตของมนุษย์อริสโตเติลได้สรุปหนทางที่จะทำให้พวกเขาไปสู่ความผาสุกนั้นแล้ว คือหนทางแห่งความพอดี

2.4 ระบบการเมืองในอุดมคติของอริสโตเติล

อริสโตเติลแบ่งระบบการปกครองออกเป็น 2 ประเภท ประเทศแรกมีเป้าหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และการอำนวยความสะดวกให้กับคนทั่วไปประเภทที่ 2 แสวงหาผลประโยชน์ให้แก่คนบางกลุ่ม ในทัศนะของเขาระบบการปกครองที่ถูกต้องคือระบบการปกครองแบบกษัตริย์ซึ่งปกครองโดยคนคนเดียวหรือโดยระบบหนึ่งระบบเพื่อ ผลประโยชน์ของทุกๆคน เราอาจเรียกระบบนี้ว่าราชาธิปไตย(monarchy) ระบบต่อมาคือ อภิชญาธิปไตย (aristocracy) คือระบบที่ปกครองโดยกลุ่มคณะ รูปแบบที่ 3 คือระบบ โพลิตี้ (polity) คือระบบที่ปกครองโดยคนส่วนมาก พวกเขาจะแสวงหาผลประโยชน์และสวัสดิการเพื่อทุกๆคน และระบบที่ไม่ถูกต้องในทัศนะของเขาคือระบบเผด็จการโดยคนหนึ่งคนหรือผู้ทรงอำนาจ ปกครองสังคมโดยแสวงหาผลประโยชน์ให้กับตนเอง ระบบที่ 2 คือระบบที่ผู้มีทรัพย์สิน ใช้ทรัพย์สินของตนเองเพื่อซื้ออำนาจและเข้าปกครองผู้อื่น ระบบที่ 3 ที่อริสโตเติลไม่เห็นด้วยคือระบบประชาธิปไตยในยุคสมัยของเขา

หลังจากอธิบายถึงประเภทต่างๆของระบบการปกครองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เขาก็ได้อธิบายว่าระบบ aristocracy คือเป็นระบบการปกครองที่ดีที่สุด เหตุผลเพราะในระบบกษัตริย์คนหนึ่งคนจะเป็นผู้ปกครอง ถ้าหากเขาตัดสินใจผิดพลาดผลเสียก็จะตามมา แต่ถ้าหากในการปกครอง มีผู้ปกครองร่วมกัน เมื่อตัดสินใจสิ่งหนึ่ง คนหนึ่งคนจะต้องนำเสนอด้วยเหตุผลโดยไม่มีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นการปกครองโดยใช้ปัญญาของคนหลายๆคนเป็นกลุ่มคณะหรือพูดในอีกลักษณะหนึ่งก็คือการใช้ระบบการปกครองแบบ ปวงปราชญ์ จึงเป็นการปกครองที่ดีที่สุดในทัศนะของอริสโตเติล และเหตุผลที่เขาไม่เห็นด้วยกับระบบประชาธิปไตยเพราะเขามองว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความรู้ในเรื่องของการเมือง ถ้าหากให้ประชาชนเลือกในสิ่งที่เขาชอบ การเลือกของเขาก็ไม่ใช่การเลือกที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ ดังนั้นอริสโตเติลจึงไม่เห็นด้วยกับระบบประชาธิปไตยในสมัยนั้น กล่าวในอีกด้านหนึ่ง อริสโตเติลใช้หลักคิดเรื่องความพอดีในการนำเสนอรัฐและรูปแบบการปกครอง เพราะเขามองว่าระบบการปกครองแบบกษัตริย์อาจทำให้เกิดทรราชหรือระบบการปกครองแบบประชาธิปไตยอาจทำให้เกิดการปกครองแบบตามใจตัวเอง ดังนั้นจุดกึ่งกลางหรือความพอดีระหว่าง 2 ระบบก็คือระบบอภิชนาธิปไตย

3.มุมมองทางเลือก

1.คำนิยามของอริสโตเติล

อริสโตเติลนิยามความยุติธรรมโดยแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ความยุติธรรมเชิงกระจายกับความยุติธรรมเชิงตอบแทนซึ่งความยุติธรรมเชิงตอบแทนจะเป็นความยุติธรรมที่เป็นหลักประกันว่าจะมีการกระจายความยุติธรรมเกิดขึ้น และถูกนำมาใช้จริง ในเรื่องนี้เราไม่มีความเห็นแตกต่างจากอริสโตเติล และเป็นความคิดที่ได้รับการยอมรับ เพราะหากมีกฎหมายแต่ไม่มีผู้บังคับใช้กฎหมาย กฎหมายก็จะไม่มีใครปฏิบัติเช่นเดียวกับความยุติธรรม ทว่าในแง่ของการกระจายความยุติธรรมในทัศนะของเขาคือการกระจายความเท่าเทียมและความเสมอภาคของประชาชนซึ่งวางอยู่บนหลักการของความพอดี และความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อทุกคนใช้หลักแห่งความพอดี ตามทัศนะนี้ธรรมชาติของทุกสิ่งคือการอยู่ในที่ๆมันควรอยู่และธรรมชาติของบุคคลคือ การอยู่ในที่ที่ตนควรอยู่ตามความสามารถที่เหมาะสมของตนเองในที่ใดที่หนึ่งของรัฐ หากพิจารณาจะพบปัญหาจากการนิยามนี้ได้แก่

2.ในทฤษฎีความยุติธรรมของเขา ตัวเขาอธิบายเรื่องของการกระจายความยุติธรรมทางสังคม และอธิบายถึงหลักการ คือการดูที่ความเหมาะสมและสิทธิที่แต่ละคนมี แต่ปัญหาก็คือเขาไม่ได้บอกว่าใครควรได้สิทธิ์บนพื้นฐานของอะไร ทรัพย์สิน ฐานะทางสังคม ชาติตระกูล ความรู้ ความสามารถ ตำแหน่ง อิทธิพล ? เพียงแต่บอกว่าความยุติธรรมคือการให้สิทธิ์ตามที่สิ่งนั้นควรจะได้รับ

3 ทฤษฎีทางสายกลางหรือความพอดีของอริสโตเติล เป็นทฤษฎีที่คลุมเครือ เพราะไม่ใช่ทุกเรื่องที่เราจะใช้ความพอดีเป็นหลักได้ เช่น การทำความดีมาก ดีน้อย ดีปานกลาง การทำดีที่มากกว่า ย่อมดีกว่าดีปานกลางและในบางครั้งแนวคิดเรื่องความพอดีก็เอามาใช้ไม่ได้กับทุกเรื่อง เช่น ความพอดีระหว่างน้ำร้อนกับน้ำเย็นคือน้ำอุ่น หรือการเลือกใส่สีเสื้อผ้า และทุกเรื่องที่มนุษย์เรามีทางเลือกในการตัดสินใจมากกว่า 3 ทาง

4.อริสโตเติลมองว่าความพอดีเป็นคุณค่าเชิงเปรียบเทียบ จากการที่บุคคลผู้หนึ่งนำตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือสังคมหนึ่งเปรียบเทียบตนกับสังคมอื่น ปัญหาก็คือความพอดีของแต่ละคนหรือแต่ละสังคมมันไม่เหมือนกัน และไม่ได้มีความหมายเหมือนกัน คนหนึ่งคนอาจเข้าใจว่าความพอดีของตน คือการกินข้าววันละ 3 มื้อ แต่อีกคนหนึ่งอาจมองว่าความพอดีคือการกินข้าววันละ 2 มื้อ และความแตกต่างของบรรทัดฐานทางสังคมของแต่ละประเทศ ก็ทำให้มุมมองเรื่องความพอดีแตกต่างกัน ตามหลักการนี้จึงไม่มีใครสามารถที่จะสร้างสังคมยุติธรรมโดยมีแกนกลางของมันคือความยุติธรรมขึ้นมาได้เพราะความยุติธรรมในทรรศนะนี้เป็นเรื่องเปรียบเทียบ หรือ สัมพัทธ์

5.ในแง่หนึ่งทฤษฎีของอริสโตเติลสามารถใช้ได้ดีกับการกระจายอำนาจ แต่ไม่สามารถใช้ได้ดีกับการกระจายสิทธิและการกระจายทรัพย์สิน กล่าวคือตัวของอริสโตเติลบอกว่าการกระจายความยุติธรรมคือการกระจายสิทธิ์ให้คนที่มีฐานะเท่ากันและให้คนที่มีฐานะไม่เท่ากัน แต่ปัญหาคือเขาไม่ได้บอกว่าอะไรคือตัวแบ่งแยกฐานะและอะไรคือเหตุผลที่ทำให้คนหนึ่งคนมีฐานะเท่ากับอีกหนึ่งคนหรือไม่เท่ากับคนอื่น คนที่มีฐานะเท่ากันมีสิทธิอะไรต่อกันบ้าง และคนที่มีฐานะไม่เท่ากันไม่เท่ากันเรื่องอะไรบ้าง

6.การที่อริสโตเติลยกให้ระบบการปกครองแบบอริสโตเครซี่ หรือการปกครองแบบกลุ่มคณะดีกว่าระบบอื่นๆ ประเด็นนี้ก็สามารถใช้ได้แต่ในเรื่องของการกระจายอำนาจด้วยเช่นเดียวกัน และไม่ครอบคลุมวงการอื่น เราอาจพูดได้ว่ามันสามารถนำมาใช้ได้ในกระบวนการตัดสินพิพากษาด้วย อย่างที่เราเห็นระบบลูกขุนในวันนี้ แต่ในเรื่องของผิดถูก ความถูกต้องของเหตุผลไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนของคนพูดแต่อย่างใด

เราสามารถสร้างแผนที่ความคิดเรื่องทฤษฎีความยุติธรรมของอริสโตเติลได้ดังนี้

source:

[1] Bluhm, William T, Theories of the Political System ,Vol I,P150-152

[2] กระบวนทัศน์ในที่นี้ คือ paradigm เป็นศัพท์ทางปรัชญา ซึ่งหมายถึง จิตวิญญาณของระบบความคิดหนึ่งระบบ เช่น แนวคิดของอัตถิภาวนิยม ไม่ได้มีกระบวนทัศน์ แบบ ภวนิยม ในทางภววิทยา แต่มีกระบวนทัศน์ คือ การรับรู้/ปรากฎการณ์ที่รับรู้ ในทางปรากฎการณ์วิทยา ด้วยเหตุนี้คำว่า ไม่มีตัวตน ไม่ดำรงอยู่ จึงเป็นเหมือนการเปรียบเปรย สำหรับคนที่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีตัวตน หรือ ชีวิตไม่มีความหมาย แม้ว่าตัวเขาจะมีอยู่จริงในโลกแห่งความเป็นจริงก็ตาม

[3] Aristotle,Metaphysics translate by Hasan Lutfi,P481

[4] Aristotle,Nicomachoen Ethics, P 163,165 Translate by Hasan Lutfi

[5] อ้างแล้ว P 267

[6] อ้างแล้ว P 185

[7] อ้างแล้ว P 173,174

[8] อ้างแล้ว P 63,64

[9] ท่านสามารถอ่านบทวิพากษ์แนวคิดของเพลโตในสีสันแห่งความยุติธรรมในตอนที่ 4

บทความ Muhammad Behesti

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม