เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 6)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 6)

 

ทฤษฎีความยุติธรรมของฟารอบี

อบูนัศร์ มูฮำหมัด บิน มูฮำหมัด ฟาราบี(คศ 870 – 950) หรือ ที่รู้จักกันในนาม”ฟารอบี” เป็นหนังปรัชญาอีกท่านหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในโลกแห่งปรัชญาและความคิด งานของเขาเหมือนอริสโตเติล(อ่านเพิ่มเติม:สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 5) เข้าถึงและเรียบเรียงวิชาในศาสตร์ต่างๆ แต่ต่างกับอริสโตเติลตรงที่[I]ฟารอบี ได้พัฒนาแนวคิดที่อริสโตเติลนำเสนอให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และ[II]หลอมรวมแนวคิดทางปรัชญาเข้ากับแนวคิดทางศาสน และ[III]ผสมผสานแนวคิดของอริสโตเติล กับ เพลโตเข้าด้วยกัน หนึ่งในประเด็นที่ฟาราบีได้นำเสนอ คือ ปรัชญาการเมือง หนึ่งในทฤษฎีการเมือง ของฟารอบี คือ การเสนอแนวคิด”มะดีนะตุลฟาฎีละฮ์” (Civil of City)[1] ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า “อารยะนคร” หรือ นครแห่งอารยะ เป็นคำที่สามารถขนย้ายความคิดจากภาษาหนึ่งสู่ภาษาหนึ่งได้ดีที่สุด และในเรื่องอารยะนครหนึ่งในประเด็นที่ฟารอบี ได้นำเสนอก็คือแนวคิดเรื่อง”ความยุติธรรม” โดยในบทความนี้การศึกษาแนวคิดเรื่องความยุติธรรมของฟารอบี จะมีประโยชน์กับผู้อ่านที่ต้องการศึกษาความยุติธรรม เพื่อทำการเปรียบเทียบ และศึกษากระบวนการพัฒนาแนวคิดเรื่องความยุติธรรมในประวัติศาสตร์ต่อไป

    เนื้อหา

    1.ค่านิยมพื้นฐานในปรัชญาการเมืองของฟารอบี

    2.แนวคิดเรื่องความยุติธรรมของฟารอบี

    3.มุมมองทางเลือก

    4.อ้างอิง

 

1.ค่านิยมพื้นฐานในปรัชญาการเมืองของฟารอบี

ก่อนเข้าสู่แนวคิดเรื่องความยุติธรรม สิ่งที่ผู้อ่านต้องทำความเข้าใจคือ [I]ปรัชญาของฟารอบี แบ่งประเภทแบบเดียวกับปรัชญาของอริสโตเติล มีทั้งปรัชญาภาคทฤษฎี/ทัศนะ กับ ปรัชญาภาคปฏิบัติ และปรัชญาการเมืองจัดอยู่ในประเภทของปรัชญาภาคปฏิบัติ ซึ่งเมื่อเราพูดถึง ปรัชญาการเมืองของฟารอบี ระบบปรัชญานี้มีความสัมพันธ์กับปรัชญาภาคทฤษฎีกล่าวคือ ปรัชญาการเมือง มีผลหนึ่งมาจากโลกทัศน์และความเชื่อและค่านิยมของเขา และ[II]ปรัชญาการเมืองของฟารอบี วางอยู่บนทัศนะที่ถือว่าเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ เป็นได้ทั้งทางประสบการณ์/วิทยาศาสตร์และสติปัญญา/เหตุผล และผนวกแนวคิดปัญญาแห่งการเชื่อฟังเข้าไปด้วย กล่าวคือ ฟารอบี ถือว่า แนวคิดจากศาสนาก็ถือ เครื่องมือในการเข้าถึงความรู้เช่นกัน ตัวอย่างที่เรียบง่าย คือ การเปรียบคำสอนศาสนา เหมือนการเชื่อฟังหมอ กล่าวคือ ผู้ป่วยเชื่อในสิ่งที่หมอบอก ไม่ใช่เพราะเขาเข้าใจในเหตุผล หรือ มีประสบการณ์ แต่เป็นเพราะผู้ป่วยรู้ว่า หมอรู้เรื่องโรคที่ตนเป็นดีกว่าตนเอง การปฏิบัติตามคำสั่งหมอ จึงเป็นความรู้หนึ่งสำหรับผู้ป่วยเช่นกัน ในเรื่องของศาสนา ก็เป็นเช่นนั้น การปฏิบัติตามความรู้จากแหล่งศาสนา ก็ถือเป็นหนทางในการเข้าถึงแก่นแท้ และ[III]ในปรัชญาศีลธรรม คุณวิทยา และปรัชญาการเมือง มีสองค่านิยมใหญ่ที่นักปรัชญาใช้เป็นฐานในการนำเสนอแนวคิดของตน ได้แก่แนวคิดหน้าที่นิยม(Deontologist) กับ ผลนิยม หรืออีกชื่อคือ อันตนิยม หรือเป้าหมายนิยม (Teleologist) สำหรับฟารอบีเขาไม่ได้มองว่า การทำความดี เป็นสิ่งที่ต้องกระทำ เพราะมันเป็นหน้าที่ ความคิดของเขาจะไปนางอันตนิยม เพราะเขามีมุมมองว่า มนุษย์ไม่สามารถแยกแยะสิ่งผิด-ถูก ยุติธรรมขอยุติธรรม มีหน้าที่-ไม่มีหน้าที่ได้ หากปราศจากเป้าหมาย ฟารอบีจึงถือเป็นผู้ยึดค่านิยมในแบบที่สองตามบริบทนี้ และผลงานของฟารอบี ในปรัชญาภาคปฏิบัติ ทั้งจริยศาสตร์ การเมือง ต่างมีรากฐานจากแนวคิดอันตนิยม[2] ซึ่งเราสามารถสรุปได้ว่า แนวคิดของเขากับ อริสโตเติล เพลโต มีจุดร่วมเดียวกัน คือ การทำเพื่ออารยะ และความสุขสมบรณ์[3] แต่ต่างกันตรงที่ความสุขสมบูรณ์ หรือ ความสำเร็จสูงสุดในทัศนะของฟารอบี คือ การกลายเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ ที่สามารถเชื่อมต่อกับพระเจ้าได้อย่างแท้จริง[4]

[III]นักปรัชญาบางส่วนอาจมองว่า สังคมมนุษย์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงเป็นสังคมที่ดีได้ เพราะไม่มีสังคมไหนที่สมาชิกเป็คนดีหมดทั้งสังคม หรือ เป็นคนชั่วทั้งสังคม แต่สำหรับฟารอบี เขามีมุมมองต่างออกไป ฟารอบีมีมุมมองว่า สังคมการเมือง และรัฐบาลของมนุษย์ มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงเป็น “อารยะสังคม”ได้ ด้วยการกระจายความดีงาม และการกระทำอันประเสริฐในหมู่มนุษย์ ด้วยการเปลี่ยนชาวเมืองให้เป็นผู้ใฝ่ความดี และความสุขสมบูรณ์ โดย“สุขสมบูรณ์” ของเขาเหมือนกับที่อริสโตเติลนิยามไว้ แต่เขาพัฒนาแนวคิดนี้มาใช้กับการออกแบบรัฐ และสังคม โดยมีแนวคิดผลนิยมเป็นรากฐาน กล่าวคือ ฟารอบี มองว่า “หัวใจของรัฐบาล และศิลปะแห่งการเมือง มีจุดประสงค์ เพื่อมอบความผาสุก และความสุขสมบูรณ์ให้แก่มนุษย์ ทุกนโยบายจึงต้องขับเคลื่อนไปเพื่อเป้าหมายนี้ ดังนั้นหากการเมืองหรือรัฐบาลไม่ได้จุดมุ่งหมายเพื่อมอบความสุขสมบูรณ์ให้แก่ผู้คน การเมืองนั้นย่อมเป็นการเมืองที่บกพร่อง และไม่สามารถสร้างสังคมอารยะได้อย่างแท้จริง เช่น รัฐบาลที่ผู้นำขาดแคลนความยุติธรรม ย่อมไม่สามารถเยียวยาความเจ็บปวดของสังคม หรือรัฐบาลที่กระทำสิ่งที่ไม่ประเสริฐ แม้ว่าจะทำให้ประเทศมั่งคั่ง แต่มันก็ไม่สามารถสร้างอารยะสังคมได้เช่นกัน ทางเดียวคือ รัฐบาลและการเมืองจะต้องทำแต่สิ่งที่ประเสริฐเท่านั้น สังคมจึงจะกลายเป็นสังคมแห่งอารยะ หรือ สังคมแห่งความดี [5] [IV] ตรงนี้คือจุดเชื่อมโยงกับความยุติธรรม คนหนึ่งคนกับสังคม กล่าวคือ เช่นเดียวกับที่คนหนึ่งคนมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสวงหาความสุขสมบูรณ์ เพื่อให้คนหนึ่งคนไปถึงจุดนั้น สังคมและรัฐก็ต้องวิ่งในเส้นทางที่พร้อมอำนวยความสะดวกให้มนุษย์สามารถเก็บเกี่ยวความสำเร็จของตนเอง และเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย รัฐจะต้องใช้หลักความสมดุล หลักความพอดี หลักความยุติธรรม มาบริหาร ชาวเมืองถึงจะสามารไปถึงที่หมายได้ ด้วยเหตุนี้ความยุติธรรม สำหรับฟารอบี จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสังคมแห่งความดี ความสุขอันเป็นความสุขที่สมบูรณ์

2.แนวคิดเรื่องความยุติธรรมของฟารอบี

2.1 ประเภทของความยุติธรรม

ฟารอบี เริ่มจากการอธิบายถึงประเภทของความยุติธรรมด้วยเขาได้แบ่งประเภทเหมือนกับอริสโตเติลแต่ต่างกันที่เนื้อหา กล่าวคือความยุติธรรมแบ่งออกเป็นแบบทั่วไปกับแบบพิเศษ ดังนี้

2.1.1 ความยุติธรรมแบบทั่วไป

ความหมายของความยุติธรรมแบบทั่วไปของเขา คือ “การกระทำที่ประเสริฐต่อผู้อื่นและสังคม”

ดังนั้น หากมีการกระทำใดก็ตามซึ่งเกิดขึ้นโดยมีผู้กระทำ 2 คนขึ้นไปโดยการกระทำดังกล่าวกระทำบนพื้นฐานของการเคารพและให้ความสำคัญกับจริยธรรมและความประเสริฐและมนุษยธรรมการกระทำนั้นคือภาพสะท้อนหนึ่งของความยุติธรรมและตัวของการกระทำคือความยุติธรรม[6] นี่เป็นนิยามที่แตกต่างจากอริสโตเติลเพราะอริสโตเติลให้นิยามความยุติธรรมแบบทั่วไปว่าหมายถึง การเคารพกฎหมาย ส่วนฟารอบีเน้นไปทางการกระทำที่ประเสริฐและมีเกียรติ

2.1.2 ความยุติธรรมแบบเฉพาะ ประเภทที่หนึ่ง

ความยุติธรรมแบบเฉพาะ ของฟารอบีแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรก คือ การกระจายความดีในหมู่ชาวเมือง หมายถึง ประชาชนในเมืองมีสิทธิ ในการใช้ประโยชน์จากความดีงามสาธารณะ เช่นทรัพย์สินเกียรติของมนุษย์ ตำแหน่งและฐานะทางสังคมและกิจการต่างๆที่เปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้อย่างเสมอภาคต่อกันและการเคารพต่อสิทธิ์และความเหมาะสมซึ่งกันและกันในหมู่ชาวเมือง ในทางกลับกันถ้าหากผู้ใดในเมืองได้น้อยกว่าหรือได้มากกว่าที่ตนเหมาะสมสิ่งนี้จะถือว่าไม่ยุติธรรมและความอธรรมจะเกิดขึ้นและการกระทำดังกล่าวถือเป็นการกดขี่ต่อชาวเมือง[7]

2.1.2 ความยุติธรรมแบบเฉพาะ ประเภทที่สอง

เมื่อไหร่ก็ตามที่ชาวเมืองได้สิทธิ์ตามความเหมาะสมของตนหรือมีการกระจายความดีในแบบที่ ฟารอบี ได้อธิบายไว้ ก็จะถึงคิวของความยุติธรรมประเภทที่ 2 เขาเรียกความยุติธรรมประเภทนี้ว่า ค”วามยุติธรรมเชิงพิทักษ์” หมายถึง นอกจากสังคมจะต้องกระจายความดีงามและมอบสิทธิที่ชาวเมืองสมควรได้รับจากความดีสาธารณะอย่างยุติธรรม สังคมแห่งอารยะและรัฐบาลก็จะต้องให้รักษาไม่ให้สิทธินั้นหลุดมือของชาวเมือง ยกเว้นว่าการมอบความดี จะทำให้ผู้คน หรือ สังคม ตกอยู่ในอันตราย หรือ เดือดร้อน หมายถึง กรณีที่การแบ่งปัน มีความชอบธรรมและมีความยุติธรรม แต่ไม่ได้เกิดจากความพึงพอใจของปัจเจก เช่น มีการบริจาคทรัพย์สินให้สังคมมีสิทธิร่วมกัน แต่ต่อมาสืบทราบภายหลังว่า ทรัพย์ดังกล่าวได้มาจากการขโมย กระบวนการความยุติธรรมเชิงพิทักษ์จะทำงานด้วยการทดแทน หรือคืนทรัพย์สินให้กับผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริง[8] จากเนื้อหานี้ทำให้เราได้ภาพรวมว่าสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับความยุติธรรมเชิงพิทักษ์ คือการกดขี่ที่ทำให้ชาวเมืองไม่สามารถเข้าถึงสิทธิ์ของตนได้ หรือชาวเมืองถูกริดรอนสิทธิและไม่มีการทดแทนที่เท่าเทียม แน่นอนว่าความยุติธรรมเชิงพิทักษ์ของเขาไม่ได้หมายถึงการทดแทนให้บางคนเพียงด้านเดียว แต่มันครอบคลุมถึงการทดแทนให้แก่สังคมและเมือง เพราะระหว่างคนกับเมือง มีความสัมพันธ์กันอย่างหนักแน่น ในรูปแบบที่ฟารอบีอธิบายว่า หากเกิดความอยุติธรรมขึ้นในเมือง แม้ความอยุติธรรมดังกล่าวจะกระทำต่อคนเพียงผู้เดียว การกระทำนั้นก็ถือเป็นการยุติธรรมต่อสังคมด้วยเช่นเดียวกัน

2.2 เปรียบเทียบแนวคิดของฟารอบี กับ เพลโต

ก่อนหน้านี้เราได้กล่าวไปแล้วว่าเพลโต มองว่าความยุติธรรมคือการที่ชาวเมืองแต่ละชนชั้นทำงานและปฏิบัติหน้าที่ของตนเอง โดยไม่ไปก้าวก่ายและแทรกแซงงานของผู้อื่น คนหนึ่งคนต้องทำเพียงงานเดียว ฟารอบีเอง ก็มีลักษณะความคิดเช่นนี้ เขามองว่าชาวเมืองจะต้องทำในสิ่งที่ตนถนัด ตามความเหมาะสมของตน แต่ต่างกับเพลโตตรงที่ เขาไม่ได้มองว่าเหตุที่ต้องทำเช่นนี้เพราะถ้าไม่ทำแล้วจะไม่ยุติธรรม แต่เพราะประวัติศาสตร์และประสบการณ์ชี้ว่า การให้คนหนึ่งคนทำงานที่ตนไม่ถนัดและถนัดจะไม่เป็นผลดีต่อสังคมเท่าไหร่นัก กล่าวคือ ฟารอบี ไม่ได้มีแนวคิดเรื่องการแบ่งชนชั้นโดยการวัดจากความถนัดของงาน เพียงแต่เสนอว่าเป็นไปได้ยากที่ ผู้บริหารประเทศ จะเป็นทั้งกรรมกร และผู้บริหารประเทศในคนเดียวกัน เวลาเดียวกัน[9]

2.3 ความยุติธรรมเชิงธรรมชาติ

ฟารอบี ได้พูดถึง “ความยุติธรรมเชิงธรรมชาติ” ซึ่งหมายถึงการยอมรับกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เขามองว่ามีความยุติธรรมอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นฐานของนครที่ไร้อารยะ กล่าวคือ ชาวเมืองในนครเป็นชาวเมืองที่ยอมรับว่า ธรรมชาติ คือ ความเห็นแก่ตัว ต้องการแสวงหาผลประโยชน์ ต้องการยับยั้งโทษและผลเสียต่างๆ มนุษย์เองหนีไม่พ้นกฎนี้ จึงเป็นความยุติธรรมที่จะให้มนุษย์ทุกคนทำตามใจของตนเอง ความสามารถอยู่เหนือ ผู้อื่นเพื่อดำรงไว้ซึ่งการคงอยู่ และรักษาความสุขของตน ความยุติธรรมในนครนี้คือ การพิชิต หมายถึง เพื่อรักษาการคงอยู่ของตนคนหนึ่งคน จะพิชิตคนอื่นๆ จะทำให้ผู้อื่นประสบกับหายนะ สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น และเพื่อให้ตนเองมีเกียรติ พวกเขาจะเลือกทางแห่งความอัปยศเพื่อไต่ขึ้นสู่เกียรติยศในทางมายาคติ และความยุติธรรมแบบนี้เกิดจากการแข่งขัน และความพยายามที่จะเหนือกว่าผู้อื่น ซึ่งในระบบดังกล่าว จะมองว่าจักรวาลและธรรมชาติไม่มีเป้าหมายใดๆทั้งสิ้น และความยุติธรรมในลักษณะนี้จะไม่ใช่สิ่งที่กระทำเพื่อความสุขสมบูรณ์ หรือขับเคลื่อนโดยมีความดีงามและความประเสริฐเป็นแกนกลางแต่จะยึดเอาธรรมชาติดิบของมนุษย์เป็นแกนกลาง[10]

3.มุมมองทางเลือก

3.1.ในแง่ของความยุติธรรมเชิงสังคมที่ฟารอบีได้อธิบายไว้ เป็นความยุติธรรมที่พิจารณาจากความเหมาะสม แนวคิดนี้จะต้องเจอกับคำถามแรก คือ การกระจายความดีโดยพิจารณาจากความเหมาะสมเป็นการคำนึงถึงสิทธิที่เกิดจากการกระทำ แต่เรายังมีสิทธิพื้นฐาน เช่นสิทธิในการใช้ชีวิต หรือสิทธิในการแสวงหาปัจจัยทั้ง 4 ซึ่งในเรื่องนี้ฟารอบีไม่ได้กล่าวถึงไว้ และในอีกด้านหนึ่งหากไม่พูดถึงสิทธิพื้นฐาน การกระจายความดีก็จะไม่มีประโยชน์หากไม่เริ่มต้นที่การรักษาสิทธิแรกเริ่มของมนุษย์

3.2 ทฤษฎีความยุติธรรมของฟารอบี กล่าวถึงการกระจายความดีโดยพิจารณาถึงความเหมาะสมแต่ไม่ได้กล่าวว่า อะไรคือมาตรวัดว่าใครเหมาะสมที่จะได้สิ่งใดและไม่เหมาะสมที่จะได้สิ่งใด

3.3นิยามความยุติธรรมของฟารอบี มองในเรื่องสิทธิ เศรษฐกิจ และ อำนาจ แต่ไม่ได้พูดถึงการกระจายความดีในสังคมในแง่อื่นๆ และไม่ได้เจาะจงว่าประชาชนจะใช้ประโยชน์จากสิทธิที่ตนมีในขั้นพื้นฐานได้อย่างไรหรือเศรษฐกิจจะอยู่ในมือของประชาชนได้อย่างไร

3.4 ในทัศนะของฟารอบี ความยุติธรรมมีความสัมพันธ์กับความสุขสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงมีความเชื่อว่าความยุติธรรมจะต้องดำเนินไปในรูปแบบที่สามารถอำนวยความสะดวกให้มนุษย์ไปสู่ความสุขสมบูรณ์ได้ หากความยุติธรรมไม่ได้ถูกใช้ไปในทางนี้การกระทำดังกล่าวจะถือว่าไม่ใช่ความยุติธรรม เพราะการกระทำนั้นจะยังเป็นเครื่องมือไม่ใช่เป้าหมายสุดท้าย นี่เป็นทัศนะที่ถือว่ามีเหตุผลและหลักการ และมีความคล้ายคลึงกับนักรัฐศาสตร์ในสมัยปัจจุบันที่มองว่ารัฐบาลคือเครื่องมือไม่ใช่เป้าหมาย

3.5 แนวคิดเรื่องการกระจายความดีของฟารอบี เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะมันเชิญชวนให้นักรัฐศาสตร์ โดยคำนึงถึงจริยธรรมเป็นหลัก ในขณะที่สังคมปัจจุบันขับเคลื่อนนโยบายทางการเมืองโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ การแข่งขัน และการเป็นใหญ่ เป็นหลักมากกว่า เป็นเรื่องยากที่จะหลอมแนวคิดเชิงจริยธรรม เข้ากับ การเมืองในสมัยปัจจุบัน กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง เป็นเรื่องยากที่เราจะพบเจอบุคคลที่มีคุณธรรมสูงส่งปานศาสดา และเป็นนักการเมือง ในคนคนเดียวกัน แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย

3.5 อย่างไรก็ตามสำหรับช่องว่างหรือสิ่งที่ฟารอบี ไม่ได้อธิบายไว้ ไม่ได้หมายความว่าแนวคิดของเขาจะเป็นแนวคิดที่ใช้ไม่ได้ เพราะมีนักปรัชญารุ่นหลังนำแนวคิดของเขามาพัฒนาต่อและเติมเต็มช่องว่างที่ขาดหายไป

 

4. อ้างอิง

Al Farabi Fusul Al Madani,Translated by D.M Dunlop,Cambridge Universiti Press 1961

Al Farabi ,Fusul Muntasiah

Ara Ahlu Al-Madinah Al Fadilah,Farobi,

Critical Study of Theories of Justice,Ahmad Vaezi

An introduction to the History of Islamic Philosophy,M F Eshkevari

อ่านเพิ่มเติม:

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 1)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 2)

บทความ – สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 3)

บทความ – สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 4)

บทความ-สีสันแห่งความยุติธรรม (ตอนที่ 5)

บทความ-สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-1)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-2)

บทความ- สีสันแห่งความยุติธรรม ( ตอนที่ 7-3)

source:

[1] An introduction to the History of Islamic Philosophy,M F Eshkevari Vol 1 P 201

[2] Al Farabi Fusul Al Madani,Translated by D.M Dunlop,Cambridge Universiti Press 1961 P 8

[3] Critical Study of Theories of Justice,Ahmad Vaezi,P127-129

[4] An introduction to the History of Islamic Philosophy,M F Eshkevari Vol 1 P 222

[5] Al Farabi ,Fusul Muntasiah ,P96

[6] อ้างแล้ว P 73

[7] อ้างแล้ว P 81

[8] อ้างแล้ว P 72

[9] อ้างแล้ว P 75

[10] Ara Ahlu Al-Madinah Al Fadilah,Farobi,P153-158

บทความ Muhammad Behesti

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม