เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

“ความชอบธรรม” ในรัฐศาสตร์อิสลาม

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

“ความชอบธรรม” ในรัฐศาสตร์อิสลาม
     

   "อำนาจ จะเผยให้เห็นว่าลักษณะใด ควรสรรเสริญ และลักษณะใดควรประณาม"

ฆูรอรุลฮิกัม,1153

 

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่งที่มีชื่อว่า ไมน์คัมพฟ์ (Mein Kampf) หรือ การต่อสู้ของข้าพเจ้า ในหนังสือเล่มนี้ฮิตเลอร์ได้อธิบายความคิดหนึ่ง ความคิดที่จะกลายเป็นตัวจุดชนวนสงคราม ความคิดที่สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเขา ซึ่งก่อนสงครามโลก ความคิดนั้นก็คือ การที่ฮิตเลอร์ อธิบายว่ามีเพียงเหตุผลเดียวที่หลากหลายอารยธรรมอันสูงส่งของมนุษย์ต้องพังทลาย และสูญหายไปตามกาลเวลา คือการที่เลือดบริสุทธิ์ของมนุษย์ผู้สูงส่งผสมเข้ากับชาติพันธุ์อื่นที่ต่ำต้อย แนวคิดของฮิตเลอร์ สะท้อนถึงความเป็นชาตินิยม และความเป็นอารยัน ซึ่งฮิตเลอร์ใช้มันเพื่อสร้างความชอบธรรมจากการยอมรับของประชาชนให้แก่ตนเอง กลายมาเป็นสงครามนองเลือดที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ

 

นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของ“ความชอบธรรม” ซึ่งในบทความนี้ผู้อ่านจะได้ศึกษาว่าด้วยเรื่องของ”ความชอบธรรม” นิยาม ที่มา ทฤษฎี ทัศนะความเห็นของความชอบธรรมแบบศาสนานิยม บทวิพากษ์และบทวิเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับ”ความชอบธรรม” เราจะเริ่มจากคำถามง่ายๆว่า ความชอบธรรมคืออะไร ?

    นิยามของความชอบธรรม

ในภาษาอาหรับ ความชอบธรรม(Legitimacy) ตรงกับคำว่า “มัชรูอียะฮ์(مشروعیة) ซึ่งมาจากคำว่า “ชัรอ์”(شرع) ที่หมายถึง กฎ หรือ บัญญัติ หรือ ศาสนบัญญัติ ซึ่งความหมายทางภาษา กับ สำนวนวิชาการ มีความสัมพันธ์กัน เพราะมันบ่งชี้ว่า ความชอบธรรมในทางการเมืองเกิดจากการมีคุณสมบัติที่เหมาะสมตามเกณฑ์ของบัญญัติ ซึ่งในที่นี้คือ ชะรีอัต หรือ ศาสนบัญญัติ

2.ความชอบธรรม ในทางสังคมวิทยา

ความชอบธรรม ในทางสังคมวิทยา กับ ปรัชญา มีความแตกต่างกัน เพื่อไม่ให้เข้าใจผิด และวิเคราะห์ความหมายอย่างถูกต้อง จึงต้องแยกประเภทของมันให้ชัดเจน แล้วดูว่า ในทางสังคมวิทยา กับ ทางปรัชญา คำว่า ความชอบธรรม มีความหมายแตกต่างกันอย่างไร
2.1 อธิบายความหมายของความชอบธรรมทางสังคมวิทยา ในภาพรวม

สังคมวิทยา ไม่ใช่ศาสตร์ที่จะบอกเราได้ว่าใครมีสิทธิ์หรือใครถือครองความจริง ใครมีสิ่งที่เรียกว่าความชอบธรรม แต่จะมุ่งศึกษาว่า ความชอบธรรมเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับและพร้อมที่จะปฏิบัติตามอย่างเต็มใจต่อบุคคลที่ถือครองคุณสมบัตินี้ในการปกครองได้อย่างไร ?

แนวคิดในลักษณะนี้ได้ผลิตคำถามทางวิชาการออกมามากมาย เช่น ทำอย่างไรให้ประชาชนปฏิบัติตามรัฐบาล ? ทำไมประชาชนจึงไม่ควรเพิกเฉยต่อเรื่องการเมืองการปกครอง ? ผู้นำและระบบการเมืองใช้วิธีใดทำให้ประชาชนยอมปฏิบัติตามรัฐบาล ? เหล่านี้คือคำถามที่สังคมวิทยาศึกษา และมุ่งหาคำตอบ ซึ่งในสังคมวิทยา ประเด็นเบื้องต้นที่มีค่าสำหรับการทำความเข้าใจ เมื่อพูดถึงเรื่องของความ”ชอบธรรม”ได้แก่

ประการที่ 1 ผลงานของทุกระบบทางการเมืองไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาและความก้าวหน้าของทุกประเทศ สามารถส่งผลอย่างลึกล้ำต่อความชอบธรรมในการปกครองได้อย่างน่าพิศวง เพราะความชอบธรรมในลักษณะนี้ ประชาชนไม่ได้ตัดสินจากตัวบุคคล แต่ตัดสินจากผลงานและความก้าวหน้าของประเทศ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างมากมายที่บอกเล่าเรื่องราวว่า บางครั้งคณะรัฐบาลบางคณะ ก็เริ่มต้นจากการที่ไม่มีใครยอมรับ และมั่นใจในตัวของพวกเขา จะจบลงด้วยความสำเร็จในการบริหารประเทศชาติบ้านเมือง

ประการที่ 2 ความชอบธรรมในเชิงสังคมวิทยา เป็นภาคแสดงประเภทปริมาณ หมายถึง ความชอบธรรมเป็นสิ่งที่เพิ่มหรือลดลงได้ โดยมีมาตรวัดคือความสำเร็จและความเจริญก้าวหน้าของรัฐบาล ความพึงพอใจของประชาชน ด้วยเหตุนี้ระดับความชอบธรรมของรัฐบาลแต่ละรัฐบาลจึงมีความแตกต่างกัน เราได้เห็นตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ของรัฐบาลไม่น้อยที่เริ่มต้นจากการได้รับความพึงพอใจจากประชาชนให้มาบริหารประเทศ แต่เมื่อกาลเวลาผ่านไป ความชอบธรรมของพวกเขาจะเป็นเพียงสิ่งพร่ามัวต่อสายตาของประชาชน ตัวอย่างเช่น มูอัมมาร์ กัดดาฟี

ประการที่ 3 โดยหลักการแล้วความชอบธรรมของรัฐบาลหนึ่ง มีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งต่อการยอมรับของประชาชน โดยปราศจากการยินยอมของประชาชน ความชอบธรรมย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้ อาจมีการแย้งว่า แนวคิดนี้ใช้ได้แต่กับระบบประชาธิปไตย คำตอบคือ ในทุกๆระบบการเมือง แม้แต่ระบบเผด็จการหรือฟาสซิสต์ ก็ต้องเริ่มจากการพึงพอใจของผู้คนในสังคมนั้น เพราะถ้าหากผู้คนไม่ยินยอม ผู้มีอำนาจในอดีตไม่มีทางก้าวเข้าสู่อำนาจได้ตั้งแต่วันแรกที่พวกเขาเริ่มเล่นเกมชิงบัลลังก์แห่งอำนาจ
2.2 ความชอบธรรมในมุมมองของ มักซ์ เวเบอร์(Max Weber)

คาร์ล เอมิล มักซิมิเลียน มักซ์ เวเบอร์ (Karl Emil Maximilian Max Weber 1864 – 1920) แสดงความคิดเห็นในหนังสือ เศรษฐศาสตร์และสังคม (Economy and Society)ว่า ความชอบธรรม เกิดจากอำนาจสามรูปแบบ ได้แก่ อำนาจตามจารีตประเพณี (Traditional authority) อำนาจเชิงบารมี (Charismatic authority) และอำนาจตามความเป็นเหตุเป็นผล (Legal-rational authority) อำนาจทั้ง 3 เป็นอำนาจที่ทำให้ประชาชนยอมรับต่อการบริหารของผู้นำ หรือองค์กรหนึ่ง หรือรัฐบาลหนึ่ง เพราะ….

 

 

ประการที่ 1 : อำนาจที่ได้จากจารีตประเพณี เป็นอำนาจที่ทุกๆรัฐบาล สามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อคลาสสิคหรือความเชื่อเก่าแก่ของประชาชน เทคนิคคือ ดูว่าประชาชนส่วนมากในประเทศนั้นยึดมั่นความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องอะไร จากนั้นนำความเชื่อนั้นมาสร้างเป็นอัตลักษณ์ให้แก่บุคคลหรือบุคลากรเป้าประสงค์ ประชาชนก็จะยอมรับและมอบความชอบธรรมให้แก่พวกเขา ในฐานะผู้ยึดมั่นในวิถีจารีตดั้งเดิม

    ตัวอย่างเช่น อดอล์ฟฮิตเลอร์ได้ใช้ความสูงส่งของชาติอารยัน สร้างความชอบธรรมให้แก่ตนเองในสายตาของประชาชน,

    กลุ่มก่อการร้ายไอเอสที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมในการก่อวินาศกรรมของตนเอง

    เล่าปี่ในสามก๊ก ที่ใช้สโลแกนกอบกู้ราชบัลลังก์ ในการสร้างชอบธรรมให้กับตนเอง

และตัวอย่างอื่นๆอีกมากมาย แต่ควรกล่าวสักเล็กน้อยว่า ในตัวของ“อำนาจแห่งจารีตประเพณี” มีลักษณะเป็นสัมพันธภาพไม่มีดีหรือร้ายในตัว แต่จะดีหรือร้ายขึ้นอยู่กับผู้ใช้ เป็นดาบสองคม หากนำมาใช้อย่างถูกต้องก็จะได้รับผลที่ดีงาม แต่หากนำมาใช้ในทางที่ผิดก็จะมีแต่ความหายนะ

ประการที่ 2 : อำนาจแห่งเหตุผล ในบางกรณีต้นตอของความชอบธรรมเกิดมาจากการที่รัฐบาลหนึ่ง บริหารประเทศ ตามกฎเกณฑ์ ครรลอง หรือบริหารประเทศในกรอบที่มีเหตุและผลรองรับ คือตราบใดที่รัฐบาล หนึ่ง ปฏิบัติตามกฎอย่างถูกต้อง และดำเนินการกระบวนการทางการเมืองตามสิทธิได้รับ ไม่ใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่ผิด หรือไม่ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามอำนาจที่ได้รับ ประชาชนก็จะยังมอบความชอบธรรมให้รัฐบาลเหล่านั้นต่อไป ตัวอย่างเช่น ประธานาธิบดี คนที่ 36 ของสหรัฐอเมริกา ริชาร์ด นิกสัน เพราะคดีวอเตอร์เกต และการใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบ ทำให้เขาต้องหลุดจากตำแหน่งประธานาธิบดี เหตุผลเพราะ นิกสันสูญเสียอำนาจแห่งความเป็นเหตุและผล เขาจะหมดความชอบธรรมในการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและบริหารประเทศ

ประการที่ 3 อำนาจจากบารมี ก็เป็นอำนาจอีกประเภทหนึ่งเช่นเดียวกันที่สามารถมอบความชอบธรรมให้กับการปกครองของผู้นำและคณะรัฐบาลของเขาได้ อำนาจบารมีคือเสน่ห์ดึงดูด หรือความน่าเลื่อมใสศรัทธาในบุคลิกภาพของผู้นำ ผู้ที่มีภาพลักษณ์ในลักษณะนี้ จะเป็นคนที่ประชาชนมอบความชอบธรรมให้แก่เขาในการเป็นผู้นำ ตัวอย่างเช่น มหาตมะคานธี,อิมามโคมัยนี, ลี กวนยู บารมีเกิดจากการสะสมการสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมจนกลายเป็นภาวะผู้นำจากภาวะผู้นำแบบพิเศษ ที่ไม่ใช่ผู้นำทุกคนจะมีคุณลักษณะเหล่านี้ ผู้ที่มีบารมีแม้ไม่มีทรัพย์สิน หรือไม่ได้ดำรงตำแหน่งใดๆ ก็มีประชาชนที่พร้อมจะติดตามพวกเขาเสมอ มักพบอำนาจบารมีได้ในบุคคลประเภท แม่ทัพ นักการศาสนา นักต่อสู้เพื่อศิษย์บางประการ และนักการเมือง

    วิพากษ์ : แม้ทัศนะของมักซ์ เวเบอร์ เป็นทัศนะที่มีหลักการและเหตุผล แล้วยังคงเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย แต่ก็มีประเด็นบางอย่างให้คิดเชิงวิพากษ์

ประการที่ 1 ไม่ครอบคลุมทั้งหมด กล่าวคือ ความชอบธรรม ในทางสังคมวิทยา ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงอำนาจแค่ 3 ประการ เพราะยังมีอำนาจอื่นๆอีกมากมายที่บุคคลหรือคณะรัฐบาลจำต้องแสวงหา เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเอง ซึ่งถ้าหากว่าเมื่อพูดถึงเรื่องความชอบธรรมทางการเมือง การที่คนหนึ่งจะกลายเป็นผู้นำประเทศชาติได้เขายังต้องมีอำนาจ ความเชี่ยวชาญ อำนาจเงิน และอำนาจอื่นๆอีกมากมาย ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่เมื่อพูดถึงทฤษฎีอำนาจ จึงมีนักสังคมวิทยาท่านอื่นๆที่อธิบายเรื่องของความชอบธรรมแตกต่างไปจากมักซ์ เวเบอร์

ประการที่ 2 บางกรณีรัฐบาลหนึ่งรัฐบาลอาจมีอำนาจผสมกันหลายประเภท ไม่ได้หมายความว่าถ้ามีอำนาจ 1 ใน 3 จะเพียงพอต่อการสร้างความชอบธรรมต่อการปกครองของตนเอง บางกรณีรัฐบาลจำเป็นต้องมีทั้ง 3 อำนาจไว้ในครอบครอง บางกรณีก็ต้องมีมากกว่านั้น เพราะบรรทัดฐานของสังคมตัดสินความชอบธรรมไม่เหมือนกัน บางสังคมต้องการผู้ปกครองที่มีอำนาจบารมี บางสังคมต้องการผู้ปกครองที่มีทั้งบารมีและการปฏิบัติตามครรลอง บางสังคมต้องการผู้ปกครองที่ปฏิบัติตามจารีตประเพณี มีบารมี และเป็นไปตามครรลอง แต่บางสังคมก็ต้องการมากกว่านั้น

ประการที่ 3 อำนาจแห่งเหตุผลเป็นอำนาจแบบสัมพันธภาพ ไม่มีดีหรือร้ายในตัวเช่นกัน กล่าวคือเราอาจได้เลือกมีจิตใจแข็งกระด้างแต่ปฏิบัติไปตามครรลองอย่างมีเหตุและผลเป็นผู้นำ เช่นเดียวกันบารมีกับการปฏิบัติตามจารีตประเพณีในบางสังคมอาจมีอยู่ในอำนาจแห่งความเป็นเหตุและผลอยู่แล้ว หมายถึง ถ้าสมมุติว่าสังคม 1 ตัดสินว่าผู้มีอำนาจที่ปฏิบัติตามครรลองคลองธรรม คือผู้ที่รักษาจารีตประเพณี และมีบารมีเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ การปฏิบัติตามครรลองคลองธรรมก็เพียงพอสำหรับการสร้างอำนาจความชอบธรรมให้กับผู้นำคนนั้น

ประการที่ 4 อำนาจของความเป็นเหตุและผลไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่การปฏิบัติตามกฎหมายหรือนานาสิทธิแต่เพียงด้านเดียว มันยังครอบคลุมถึงสติปัญญาในการบริหาร รวมไปถึงยุทธศาสตร์ในการสร้างความก้าวหน้าและแก้ไขวิกฤตการณ์ ด้วยเช่นเดียวกัน

 

3.ความชอบธรรมในทางปรัชญาการเมือง

เพื่อให้เข้าใจได้ถูกต้อง ก่อนอื่น เราต้องมาดูนิยามของความชอบธรรมในศาสตร์นี้เสียก่อน แล้วค่อยวิเคราะห์เรื่องราวของมัน จากนั้นจึงวิเคราะห์เนื้อหาของความชอบธรรมในมุมมองของอิสลาม
3.1 ความหมายของ”ความชอบธรรม”ในปรัชญาการเมือง

ในปรัชญาการเมือง “ความชอบธรรม”มีความหมายแตกต่างกับในสังคมวิทยาที่เราได้นำเสนอไปก่อนหน้านี้ เพราะในทางสังคมวิทยา คำถามเกี่ยวกับความชอบธรรม คือ ทำไมประชาชนถึงปฏิบัติตาม ? แต่ในปรัชญาการเมืองคำถามคือ ทำไมประชาชนถึงต้องปฏิบัติตาม ? [1]

ใกล้เคียงกับความหมายของคำว่า”ชอบธรรม”ที่สุดในทางปรัชญาการเมืองคือ สิทธิ์ที่ถูกต้อง ความถูกต้อง เพราะ ในทางปรัชญาการเมือง ความชอบธรรม แหล่งที่มาของอำนาจซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถออกคำสั่งใช้ หรือออกคำสั่งห้ามต่อประชาชนของตน และคณะรัฐบาลใดก็ตามที่ก้าวขึ้นมาสู่อำนาจโดยมิชอบ โดยปราศจากความชอบธรรม รัฐบาลนั้นย่อมไม่มีสิทธิ์ในการปกครอง หรือ หรือสิทธิ์ในการมาตัดสินชี้ชะตาประเทศ เรียกว่า”รัฐเถื่อน”
3.2 รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับความชอบธรรม

ในภาพรวมแล้วมี 2 ประเด็น ที่ควรรู้เกี่ยวกับความชอบธรรม คือ ความไร้ปริมาณ และรูปแบบทั้งสี่ของรัฐที่สัมพันธ์กับความชอบธรรม แต่ละรูปแบบจะสะท้อนถึงสายตาของประชาชนที่มีต่อคณะรัฐบาล

ประการที่ 1 จะเห็นว่าความชอบธรรมในทางปรัชญาการเมืองต่างจากสังคมวิทยา ด้วยเหตุนี้ ความชอบธรรมจึงไม่ได้มีระดับหรือปริมาณที่การลดหรือเพิ่มขึ้นอยู่จากความพึงพอใจของประชาชนเหมือนในสังคมวิทยา แต่มันคือสิทธิ์อันชอบธรรมที่ทำให้รัฐก้าวขึ้นสู่อำนาจการปกครองบริหาร ตัวอย่างเช่น รัฐบาลที่ขึ้นสู่อำนาจจากการเลือกตั้งในสังคมที่ยึดระบบประชาธิปไตย ย่อมมีความชอบธรรมในการปกครอง แม้ว่าจะบริหารประเทศล้มเหลว หรือ ประสบความสำเร็จ

ประการที่ 2 ความชอบธรรม ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบ

    รูปแบบที่ 1 รัฐบาลมีสิทธิ์อันชอบธรรมและประชาชนก็พึงพอใจ ในรูปแบบนี้ คณะรัฐบาลจะมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการขึ้นปกครองตามระบบการเมืองที่ประเทศเลือก และยังใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อสิทธิ์ที่ได้มา และทำให้ประชาชนยอมรับ ในรูปแบบนี้คณะรัฐบาลมีความชอบธรรมในทางปรัชญาการเมือง และมีความชอบธรรมในทางสังคมวิทยา มักพบในรัฐบาลที่ประสบความสำเร็จ และเป็นที่ถูกกล่าวถึงในนามของ แบบอย่างรัฐบาลที่ดี
    รูปแบบที่ 2 เป็นรูปแบบที่คณะรัฐบาลมีสิทธิ์อย่างชอบธรรมในการขึ้นปกครองแต่ไม่สามารถทำให้ประชาชนพอใจได้ หรือไม่สามารถทำให้ประชาชนของตนปฏิบัติตาม ในรูปแบบนี้ คณะรัฐบาลที่มีความชอบธรรมในทางปรัชญาการเมืองแต่ไม่มีความชอบธรรมในทางสังคมวิทยาเนื่องจากประชาชนไม่พอใจ ที่จะให้พวกเขาปกครองต่อไป มักถูกกล่าวถึงในประวัติศาสตร์รัฐที่ล้มเหลว
    รูปแบบที่ 3 เป็นรูปแบบที่คณะรัฐบาลไม่มีสิทธิ์อันชอบธรรมในการปกครอง แต่สามารถใช้ประโยชน์จากการก้าวสู่อำนาจของตนทำให้ประชาชนพึงพอใจต่อการปกครองของพวกเขา ในรูปแบบนี้คณะรัฐบาลขาดความชอบธรรมในทางการเมือง แต่มีความชอบธรรมในทางสังคมวิทยา
    รูปแบบที่ 4 เป็นรูปแบบที่คณะรัฐบาล ไม่มีความชอบธรรม ในทางสังคมวิทยาและไม่มีความชอบธรรมในทางปรัชญาการเมือง แต่กลับก้าวเข้ามาสู่เวทีแห่งอำนาจ โดยไม่สนสิ่งใด

 

4.แนวเรื่องความชอบธรรมในทัศนะของการปกครองโดยเสียงส่วนมากของประชาชน(ประชาธิปไตย)

เป็นแนวคิดที่ทุกคนในสมัยนี้ต่างคุ้นเคยกับมันดี เพราะมันคือหลักการและแนวคิดของการเมืองในแบบปัจจุบัน ในหลักการนี้ “ความชอบธรรม”จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อประชาชนพึงพอใจเท่านั้น อำนาจประชาธิปไตยจึงเกิดจากการที่ผู้นำสามารถก้าวขึ้นมามีอำนาจและมีสิทธิ์ในการปกครอง เมื่อเขาได้รับการเลือกจากประชาชน มีมุมมองให้ศึกษาและประเมินดังนี้

ประการที่ 1 แน่นอนว่าภายใต้ระบบนี้ ผู้นำจะไม่สามารถขึ้นมาเป็นผู้นำได้หากปราศจากความพึงพอใจและความต้องการของประชาชน แต่จิตวิญญาณของแนวคิดนี้วางอยู่บนพื้นฐานสำคัญนั่นก็คือมุมมองแบบมนุษย์นิยม (Humanism) ความหมายของคำนี้ก็คือ มนุษย์นิยม ขบวนการปรัชญาและวรรณกรรมซึ่งมีมนุษย์กับความสามารถของเขาเป็นแกนกลางแนวคิด[2] และเมื่อนำมาพ่วงในเรื่องการเมือง

ก็จะได้นิยามว่า การเมืองแบบมนุษย์นิยม คือ การเมืองที่วางอยู่บนพื้นฐานที่ว่า การเขียนกฎหมาย การร่าง การบัญญัติ ทิศทางของศีลธรรม การตัดสินพิพากษา และ การเลือกผู้บังคับใช้กฎหมาย ขึ้นอยู่กับมนุษย์ทั้งหมด ตามแนวคิดดังกล่าว ประชาชนคือคนที่ให้สิทธิ์และอำนาจการปกครอง โดยผ่านตัวแทน ซึ่งจะทำหน้าที่ในการบริหารบ้านเมือง รักษาผลประโยชน์ สร้างความมั่นคงให้แก่ประชาชน ซึ่งภาพใหญ่ของตัวแทนเหล่านี้คือ ”คณะรัฐบาล”

 

ทฤษฎีที่ใช้แนวคิดประชาธิปไตยเป็นหลักได้แก่ ทฤษฎีสัญญาประชาคมของชองชาคส์รุสโซ ทฤษฎีเสรีนิยมคลาสสิคของจอห์นล็อค (John Locke 1632-1704) มุมมองคือ ในช่วงเริ่มต้นมนุษย์จะใช้สภาวะธรรมชาติ แต่หลังจากกาลเวลาได้ผ่านไปพวกเขาเปลี่ยนสภาวะเป็นผู้มีเหตุผลแทนที่ธรรมชาติภายใต้เงาของการทำสัญญาหรือการสร้างพันธะหรือการจัดตั้งรัฐบาล คำอธิบายก็คือ หากพิจารณาถึงสถานภาพของมนุษย์ในทางธรรมชาติจะพบว่า มนุษย์เราล้วนมีเสรีภาพอย่างเต็มเปี่ยมทั้งในการทำงาน ในการจัดระบบทรัพย์สินของตนเองและยังมีเสรีภาพต่อตัวเอง ซึ่งกฎเดียวที่อยู่เหนือพวกเขาคือ “กฎธรรมชาติ”(Natural law) ในสถานภาพนี้มนุษย์ไม่จำเป็นที่จะต้องขออนุญาตจากใคร และไม่จำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามเจตจำนงของใครอื่น[3] แต่สภาวะแบบชาตินี้ จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในท้ายที่สุด เพราะไม่มีใครตามใคร เมื่อมนุษย์เริ่มทำข้อตกลงกับผู้อื่น จะเป็นการบอกถึงจุดสิ้นสุดสภาวะธรรมชาติ การทำสัญญาหรือข้อตกลง นอกจากจะยุติสภาวะธรรมชาติของมนุษย์แล้ว ยังเป็นตัวแปรที่ทำให้ประชาชนก้าวเข้าสู่สังคมและสร้างชาติขึ้นมา[4]

John Locke แสดงความเห็นว่า ในสภาวะธรรมชาติ มนุษย์ล้วนใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผลเฉพาะ นั่นคือ ไม่มีใครสูงส่งกว่าใคร และไม่มีอำนาจใดที่จะมาตัดสินก็เขาได้[5] แต่เนื่องด้วยเหตุที่อำนาจความชอบธรรมไม่ปรากฏอยู่ในสถานะแบบนี้ ซึ่งคือสถานะแบบธรรมชาติ อำนาจอันเป็นเครื่องมือที่จะใช้ในการแก้ไขและตัดสินความขัดแย้งในหมู่มนุษย์ มันจึงเป็นไปได้ที่สงครามจะเกิดขึ้น ดังนั้นสติปัญญาของมนุษย์จึงตัดสินว่าเพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะอันตรายเช่นนี้ มนุษย์จำต้องทิ้งสภาวะธรรมชาติของตนไป และสร้างสิ่งที่เรียกว่าสังคมขึ้นมา เพราะการบัญชาการและอำนาจ(รัฐบาล)เท่านั้นที่จะสามารถยุติหรือป้องกันวินาศกรรมและสงครามได้ และอำนาจดังกล่าวที่จะใช้ตัดสินประชาชนด้วยกันก็คืออำนาจที่มาจากบทบาทของประชาชน[6]

ประการที่ 2 ในมุมมองของ John Locke สังคมการเมืองจะเกิดขึ้นเมื่อสมาชิกทั้งหมดมอบหมายสิทธิทางธรรมชาติของตนเองให้แก่สังคม สังคมในรูปแบบนี้ จะไม่ใช่สังคมที่มีผู้ตัดสินเพียงคนเดียว ผู้ตัดสินหรือผู้บัญชาการคือผู้ที่สังคมเลือก ซึ่งจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวก และจะปฏิบัติตามกฎหมายที่สังคมกำหนดมาอย่างเคร่งครัด ข้อพิพาทจะถูกตัดสินและแก้ไขโดยคณะผู้ตัดสิน การตัดสินใจก็จะเกิดจากคนหลายๆคน ใครก็ตามที่ทำผิดตามกฎหมายก็จะถูกลงโทษโดยการตัดสินจากคนหลายๆคน ดังนั้นหาก สังคมใดก็ตามที่มีเอกภาพและความร่วมมือร่วมใจกันในลักษณะนี้ ยึดมั่นในกฎหมายร่วมกัน กำหนดผู้ถือครองอำนาจในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน ผู้คนในสังคมนั้นย่อมใช้ชีวิตแบบอารยชน นี่คืออุดมคติของ John Locke แต่อย่างไรก็ตามบนหน้าแผ่นดินนี้ยังไม่มีสังคมที่มีจุดร่วมนั้นปรากฏขึ้น เพราะมนุษยชาติยังคงอยู่ในสถานะทางธรรมชาติ

John Locke ยังได้อธิบายอีกว่า เนื่องจากโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์มีเสรีภาพมีความเท่าเทียมกันและมีเอกราชเป็นของตัวเอง จึงไม่มีใครมีสิทธิ์ที่จะยับยั้งสิทธิตามธรรมชาติของผู้อื่น เช่น สิทธิ์ในการใช้ชีวิต มีเพียงเงื่อนไขเดียวเท่านั้นที่จะทำให้บุคคลถูกยับยั้งจากสิทธิ์ตามธรรมชาติที่พวกเขามี นั่นก็คือการที่พวกเขาทำสัญญาทางสังคมกับผู้อื่น ยกตัวอย่างเช่น มนุษย์ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตอย่างเสรี แต่ถ้าคุณละเมิดชีวิตผู้อื่นโดยมิชอบ นั่นก็เท่ากับ อิสรภาพของคุณจะต้องถูกยับยั้ง คุณจึงต้องจำยอมเดินเข้าคุก นี่เป็นตัวอย่างของการยับยั้ง สิทธิตามธรรมชาติในแบบของ John Locke
4.2 วิพากษ์แนวคิด”ความชอบธรรม”แบบตะวันตก

ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีหนึ่งที่มีผู้ปกป้องและพิทักษ์มาอย่างยาวนานพอๆกับผู้พยายามหักล้าง บทวิพากษ์บางชิ้น พิจารณาจากทฤษฎีสัญญาประชาคม แต่ในบทความนี้เราจะวิเคราะห์ทฤษฎีว่าด้วยความชอบธรรมจากประชาชนในภาพรวม ทั้งที่อิงจากสัญญาประชาคม และที่ไม่อิงจากมัน

ประการที่ 1 แนวคิด ความชอบธรรมจากประชาชน คลอดจากแนวคิดมนุษย์นิยม เพราะสิทธิทั้งหมด มาจากการคิดค้นขึ้นโดยคนกลุ่มหนึ่ง หลังจากร่างนานาสิทธิเรียบร้อย สิทธิส่วนหนึ่งยังคงอยู่กับประชาชนและอีกส่วนหนึ่งถูกมอบให้รัฐบาลเป็นผู้ดูแล ปัญหาแรกที่จะเจอก็คือสำนักคิดมนุษย์นิยม ไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะพิสูจน์ว่ามนุษย์มีสิทธิ์ตามธรรมชาติ เพราะธรรมชาติไม่ได้บอกอะไรมากไปกว่าการที่เราเป็นสิ่งมีชีวิต

หากยึดตามทฤษฎีวิวัฒนาการ สิ่งที่ธรรมชาติบอกเราก็คือ ผู้ที่ปรับตัวตามสภาวะแวดล้อมที่ต้องเผชิญเท่านั้น จึงจะเป็นผู้อยู่รอด การที่อ้างว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนล้วนมีเสรีภาพ เป็นสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ในทางธรรมชาติ แล้วจะเป็นไปได้อย่างไรที่เราจะพิสูจน์ถึงสัญญาประชาคมที่มีส่วนในการมอบสิทธิ์ความชอบธรรมอันนำไปสู่การจัดตั้งรัฐ กล่าวในบริบทหนึ่ง คือ หากใช้สิทธิ์ตามธรรมชาติพิสูจน์ว่ามนุษย์มีเสรีภาพ แนวคิดนี้จะต้องเจอกับปัญหามากมาย เป็นต้นว่า ธรรมชาติบอกเราตอนไหนว่า เรามีเสรีภาพ ? ธรรมชาติบอกเราหรือไม่ว่าเสรีภาพมีข้อจำกัด หรือไร้ข้อจำกัด ? แล้วเราเอาแนวคิดนี้มาจากไหนที่บอกว่า เมื่อคนหนึ่งทำลายชีวิตอีกคน ผู้ทำลาย จะต้องถูกจำกัดเสรีภาพ ? ทำไมสัตว์ชนิดอื่นที่มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์ทั้งในเชิงห่วงโซ่อาหารหรือเครื่องอำนวยความสะดวก จึงไม่ถูกตัดสินให้มีสิทธิ์เสรีภาพแบบเดียวกัน ถ้ามนุษย์มีเสรีภาพทำไมสัตว์ถึงไม่มี ? ทำไมการฆ่าของสัตว์เพื่ออาหาร จึงไม่มีธรรมชาติบอกว่า เสรีภาพของสัตว์นักล่าควรถูกจองจำ ? หากคำตอบ คือ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล ปัญหาที่จะตามมาคือ ธรรมชาติที่อุบัติขึ้นอย่างไร้เหตุผล สร้างสิ่งที่มีเหตุผลและมอบกฎพร้อมสิทธิให้สิ่งที่มีเหตุผลด้วยเหตุผลอะไร ?

ประการที่ 2 เป็นไปไม่ได้ที่หนึ่งคณะรัฐบาล จะได้เสียงและความพึงพอใจจากทุกคน เพราะตามหลักคิดของมนุษย์นิยม “ไม่มีใครจำเป็นต้องอยู่ใต้อาณัติการปกครองของคนอื่น เว้นแต่บุคคลผู้นั้นจะยินยอมให้ตัวเองอยู่ใต้อาณัติการปกครองของผู้อื่น” รัฐบาลจะชอบธรรมก็ต่อเมื่อทุกๆ คนพึงพอใจให้พวกเขาเป็นคณะรัฐบาล คำว่า”ทุกคน”แสดงความคลุมเครืออยู่ในตัว เพราะประชาธิปไตย ไม่ได้หมายถึง เสียงทั้งหมด แต่คือ เสียงส่วนมาก และจนถึงเวลานี้ยังไม่มีระบบการปกครองใดๆเลยในโลกที่ได้รับคะแนนเสียงจากทุกๆคนมาเป็นของตนได้ ตามหลักการแล้วแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่มันจะเกิดขึ้น

มีแนวทางแก้ 2 ทางสำหรับเรื่องนี้ สำหรับแนวทางแรกก็คือผู้ที่ไม่เห็นด้วย เว้นวรรคตนเองจากสังคมการเมืองและกฎหมายไม่ครอบคลุมพวกเขา ทางที่สอง คือผู้ที่ไม่เห็นด้วยออกจากแผ่นดินนั้นเพื่อไม่ให้ถูกบังคับในการยอมรับหรือมอบสัตยาบันต่อรัฐบาลที่ตนไม่พึงพอใจ เพราะอย่างที่เราได้กล่าวไปแล้ว หากสัญญาประชาคมที่นำไปสู่การจัดตั้งรัฐเกิดจากการยินยอมของมนุษย์ หากพวกเขาตกลงร่วมกันในสัญญาประชาคม แต่ไม่ยอมรับในรัฐบาลที่ตนไม่ได้เลือก กฎหมายที่คลอดจากรัฐฯ ก็ไม่มีสิทธิบังคับใช้กับพวกเขา เพราะพวกเขาไม่ได้ตกลงยินยอม ซึ่งตรงตามหลักมนุษย์นิยม “ไม่มีใครจำเป็นต้องอยู่ใต้อาณัติของผู้อื่นเว้นแต่เขาจะยินยอม”

 

อลัน เดอ บาโน แก้ต่างว่า “กฎหมาย หนึ่งฉบับจะเป็นประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อมันถูกสร้างมาจากเจตจำนงของมหาชน” หรืออย่างน้อย ประชาชนทุกคนก็เห็นพ้องกับมัน ผลลัพธ์ของประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงไม่เป็นเพียงแต่การเก็บเกี่ยวความร่วมมือของคนส่วนมาก แต่ยังดึงดูดการให้ความร่วมมือจาก “ทั้งหมด” ดังนั้นเมื่อไหร่ก็ตามที่ผู้คนทั้งหมดมีความเห็นร่วมกัน มันจะเป็นปัจจัยที่ไม่ให้เกิดการปฏิเสธ “การเลือก”และเสรีภาพจะยังคงถูกรักษาไว้อย่างมีเกียรติต่อไป” ปัญหาคือคำว่า”ทั้งหมด”ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง และไม่มีใครบอกเราว่าถ้าคนส่วนมากเอาด้วยที่เหลือจะตามมา 100% การที่คนส่วนมากเห็นด้วยกับเรื่องหนึ่ง ไม่ได้เป็นตรรกที่พิสูจน์ว่า ทุกคนต้องเห็นด้วยเพราะคนส่วนมากต้องการเช่นนั้น คุณจะซวยทันที ถ้าเสียงของคุณอยู่ในฝั่งของคนส่วนน้อย

มารฺ์ติน ลิบเซต (Seymour martin lipset)เข้าใจถึงปัญหานี้ดี เขาได้อธิบายว่า “หลายรัฐบาลที่ถูกเลือกมาด้วยวิถีประชาธิปไตย ได้ละเลยต่อสิทธิมนุษยชน เมื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจ”[7] สมมติว่า ในห้องเรียนหนึ่ง มีนักเรียน 20 คน หาก 16 คน ต้องการโดดเรียน ไม่ได้หมายความว่า 4 คนที่เหลือจะโดดเรียนร้อยเปอร์เซ็น เพราะมันเป็นเพียงแค่แน้วโน้มแต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง

5.ความชอบธรรมจากประชาชนมีผลทำให้รัฐบาลไม่มั่นคง

กล่าวคือ หากยึดความชอบธรรมจากประชาชม หรือ กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง ความชอบธรรมในแบบสังคมวิทยา แม้วันจะมีความหมายและงดงามเพียงใด แต่ในด้านลบ มันจะมีผลทำให้รัฐไม่มีความมั่นคง เพราะในตัวของระบบ ชี้ว่า ถูกผิดขึ้นอยู่กับเสียงส่วนมาก ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นจริงของมัน เพื่อให้เราเข้าใจถึงเรื่องนี้ให้ท่านผู้อ่านลองนึกภาพ ประธาน CEO เจ้าของบริษัท ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารบริษัทให้พัฒนาและทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากนั้น คณะกรรมการได้ลงความเห็นให้เปลี่ยนระบบเลือกประธานบริษัทผ่านการเลือกตั้งด้วยการโหวตจากพนักงาน ผลการโหวตชี้ว่า พนักงานเลือกคนที่ไม่มีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ นำสู่การขาดทุน และการเลิกจ้างพนักงาน ประเด็น ไม่ได้อยู่ที่ประชาธิปไตย เป็นสิ่งเลวร้าย หรือ ดีงาม แต่อยู่ที่ระบบนี้ไม่มีเครื่องกรอง หรือ ฟิลเตอร์ ที่ดีพอจะจับสัญญาณหลอกซึ่งสะกดผู้คนให้คิดว่า ถ้าพวกเขาเลือกคนที่พวกเขาชอบ พวกเขาจะได้การพัฒนาประเทศและความเจริญเป็นสิ่งตอบแทน การแลกเปลี่ยนนี้ คือ การแลกเปลี่ยนระหว่าง “เสียง กับ ความหวัง”ที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในความเป็นจริง“การเลือก”เป็นสิ่งที่มีความหมาย แต่ในเรื่องการเมือง การเลือกไม่ได้บอกผลลัพธ์ใดๆ นอกจากความคาดหวัง และความคาดหวังเป็นแนวโน้ม แต่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงและผู้สมัครทุกคนก็สร้างภาพลักษณ์ให้เห็นว่า การเลือกตนจะสร้างแนวโน้มให้ชาติบ้านเมืองพัฒนา

6.ความชอบธรรมจากเสียงส่วนมากกับความเชี่ยวชาญ

ในหัวข้อนี้ เนื้อหาจะคล้ายกับหัวข้อที่แล้ว แต่ต่างกันตรงที่ เราจะเจาะจงที่ความสามารถของบุคลากร กล่าวคือ ระบบเสียงส่วนมาก ไม่ได้สะท้อนว่า ผลลัพธ์ของการเลือก คือ การได้มาซึ่งบุคลากรที่เชี่ยวชาญและเหมาะกับสายงานของตน เพื่อให้เข้าใจเรื่องนี้เราจะยกตัวอย่าง หมากในกระดานหมากรุก หากการแข่งขันแหวกแนว แทนที่จะแข่งระหว่าง 1 : 1 เป็น 10 : 1 ฝ่ายที่มี 10 คนจะตัดสินใจว่าควรจะเดินหมากตัวใด เมื่อเสียงส่วนมาก โหวตให้ใช้ตัวนั้น ระบบนี้นอกจากจะทำให้เกิดความขัดแย้ง และการถกเถียงที่ยืดเยื้อ ผลลัพธ์อีกด้าน เป็นไปได้ที่คณะผู้เล่นจะเลือกตัวหมากที่ไม่เหมาะสมกับหน้าที่ของมัน ข้อวิพากษ์นี้ มีข้อเท็จจริงอยู่เบื้องหลังนั่นคือ เราไม่สามารถใช้ระบบประชาธิปไตยได้ในทุกองค์กร ถ้าเป็นองค์กรนักวิทยาศาสตร์ คงไม่มีใครเลือกนักวิทยาศาสตร์จากการเลือกตั้ง แต่ต้องดูที่ความรู้ ความเชี่ยวชาญ และสายงานที่เขาถนัด หรือ บริษัทที่ทำธุรกรรมขนาดใหญ่ ในเรื่องการเมืองเองก็เช่นนั้น

7.ความชอบธรรมจากพระผู้เป็นเจ้า

นี่เป็นทัศนะของอิสลาม มีมุมมองว่าความชอบธรรมในการปกครองหรือการจัดตั้งรัฐเกิดมาจากการอนุมัติของพระผู้เป็นเจ้า อิสลามอธิบายว่า: เพื่อการบริหารบ้านเมือง จำเป็นที่พระผู้เป็นเจ้าจะต้องคัดสรรบุคคลกลุ่มหนึ่งให้มาทำหน้าที่นี้ แน่นอนว่าแนวคิดนี้มีบทวิพากษ์และบทพิสูจน์อย่างหลากหลายแต่เราจะขอสรุปอย่างรวบรัดดังนี้

ประการที่ 1 นักวิชาการบางส่วนอธิบายว่า: สิทธิ์อันชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐต้องได้รับการอนุมัติจากพระผู้เป็นเจ้านั้นสามารถพิสูจน์ได้ด้วยหลักของเหตุและผล เพราะโลกเป็นอาณาจักรของพระองค์ และการดำเนินการใดๆเช่น การจัดตั้งรัฐบาล หรือ ปกครองมนุษย์ ย่อมต้องได้รับการอนุมัติจากพระองค์ ดังนั้นสำหรับนักวิชาการมุสลิมที่ต้องการพิสูจน์ด้วยหลักนี้ พวกเขาจะต้องเริ่มด้วยการพิสูจน์พระเจ้าก่อน จากนั้นจึงพิสูจน์ความเป็นผู้ปกครองของพระองค์ แล้วจึงมาสู่ขั้นตอนนี้ โดยการเริ่มจากพิสูจน์ประพจน์ว่า

    -พระเจ้าคือผู้สร้างทุกสรรพสิ่ง

    -การเป็นผู้สร้างที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับผู้ใด แสดงถึงสิทธิ์ในการครอบครองและความเป็นเจ้าของที่แท้จริง

    -ปราศจากการอนุมัติจากพระเจ้าผู้ซึ่งเป็นผู้ครอบครอง ไม่มีผู้ใดสามารถใช้ประโยชน์จากอาณาจักรของพระองค์ได้

    -รัฐบาลเป็นการใช้ประโยชน์จากสรรพสิ่งรูปแบบหนึ่ง

    ดังนั้น : สิทธิ์ในการใช้ประโยชน์จากสรรพสิ่งในรูปแบบนี้ จึงจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากพระองค์

 

กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง คือ หากพิสูจน์ในเรื่องของพระเจ้าได้อย่างสมบูรณ์ จะนำไปสู่การพิสูจน์ว่าจักรวาลซึ่งเป็นอาณาจักรนี้และแคบลงไปกว่านั้น คือโลกใบนี้ มีพระองค์เป็นผู้ปกครอง หากจักรวาลมีเจ้าของ

ดังนั้นไม่ว่าผู้ที่อยู่อาศัยจะทำสิ่งใดก็จำเป็นต้องขออนุญาตจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองเสียก่อน ซึ่งในแง่ของการเมืองการปกครอง จัดเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้ประโยชน์จากอาณาจักรของพระองค์ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องขออนุมัติจากพระองค์ในการเข้ามาบริหารแผ่นดิน

 

ประการที่ 2 ในการพิสูจน์สิทธิ์ในการปกครอง ขั้นตอนต่อมานักวิชาการมุสลิมจะพิสูจน์ว่า ผู้ปกครองจำเป็นต้องเป็นคนของพระเจ้า โดยสาเหตุที่มนุษย์มีความผิดพลาด มีความเขลา และมีความเป็นไปได้ที่จะฝักใฝ่ในทางที่ผิด จึงจำเป็นต้องมีบุคคลที่พระเจ้าแต่งตั้งมาเพื่อชี้นำมนุษย์ ซึ่งเราเรียกบุคคลเหล่านั้นว่า ศาสดา(นบี) หรือ ตัวแทนของศาสดา(วะซี) เหตุผลที่ต้องเป็นศาสดาหรือตัวแทนของท่าน เพราะศาสดาหรือตัวแทนของศาสดาจะมีคุณลักษณะหนึ่ง ที่เรียกว่า”มะศูม” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ถูกปกป้องให้พ้นจากความผิดบาป และความผิดพลาด ภายใต้เงื่อนไขนี้ จะทำให้สังคมมั่นใจได้ว่า ผู้ปกครองจะไม่บริหาร หรือตัดสินใจสิ่งใด อย่างไร้ความเป็นธรรม หรือ ผิดพลาด ลองนึกภาพถึงผู้ปกครองที่ไม่มีความผิดพลาด และยึดมั่นคุณธรรมและความถูกต้องเป็นหลัก โดยปราศจากจุดประสงค์แฝงหรืออกุศลจิตใดๆ ขึ้นมาปกครองประเทศหรือโลก ภายใต้ระบบที่มีผู้นำในลักษณะนี้ จะมีผลออกมาอย่างไร ?

ประการที่ 3 มีข้อโต้แย้งว่าในยุคสมัยปัจจุบันไม่มีผู้ใดอ้างว่าตนเป็นคนของพระเจ้าหรือติดต่อกับพระเจ้าได้โดยตรง ระบบนี้จึงเป็นเหมือนฝัน คำโต้แย้งนี้จะตกไปถ้าหากพิสูจน์ได้ว่า สิ่งที่ศาสดากล่าวคือสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประสงค์ มหาศาสดากล่าวแต่งตั้งผู้ใด ผู้นั้นย่อมเป็นตัวแทนของพระองค์ เช่นที่ศาสดาเป็น และถ้าหากตัวแทนได้วางระบบเพื่อคัดสรรบุคคลที่จะมาทำหน้าที่ต่อจากตนจากรุ่นสู่รุ่นจากยุคสู่ยุค ระบบนั้นก็คือระบบที่มาจากพระผู้เป็นเจ้านั่นเอง กล่าวในบริบทหนึ่ง

-หากพิสูจน์ว่าอิสลามเป็นศาสนาที่ถูกต้อง และนอกจากจะเป็นศาสนาที่ครอบคลุมในชีวิตของปัจเจกแล้ว ยังครอบคลุมชีวิตของสังคม จะเท่ากับพิสูจน์ว่า หนึ่งในมิติของปัจเจกก็คือมิติของสังคม หมายถึงคนหนึ่งคนย่อมมีผลต่อสังคมหนึ่งเสมอ

-เพื่อปฏิบัติการในทางสังคมศาสนา จึงจำเป็นต้องมีผู้ดำเนินการ

-ผู้ดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ประเภทได้แก่ ผู้ดำเนินการที่ประเสริฐกับผู้ดำเนินการที่ปราศจากความประเสริฐ และปัญญาตัดสินว่าผู้ที่ประเสริฐย่อมดีกว่าผู้ที่ไม่ประเสริฐ

ดังนั้น : ผู้ที่ดำเนินกิจการบ้านเมืองในทางศาสนา จึงจำเป็นต้องเป็นผู้ที่ประเสริฐ ความหมายของคำว่าประเสริฐ ณ ที่นี้ คือผู้ที่บริสุทธิ์ไม่มีความผิดพลาดในเรื่องของความรู้ และไม่มีความผิดพลาดไม่มีการทำผิดบาปในภาคปฏิบัติ หากได้บุคคลผู้ประเสริฐทั้งสองด้านเช่นนี้มาเป็นผู้ปกครอง เราจะได้นักปกครองผู้ทรงธรรมมาบริหารบ้านเมือง และนี่คือรัฐในอุดมคติของชาวมุสลิม……

[1] Michael Rush ,Politics and Society p 56

[2] เจษฎา ทองรุ่งโรจน์ พจนานุกรมปรัชญา หมวด H

[3] จอฮน์ ล็อค,ศาสตร์นิพนธ์สองบรรพว่าด้วยการปกครอง,น 73

[4] อ้างแล้ว,น 81

[5] อ้างแล้ว,น 85

[6] อ้างแล้ว น 88

[7] Seymour Martin Lipset,The Encyclopedia of Democracy ,เล่ม 2 หน้า 615


บทความโดย มูฮัมหมัด เบเฮสตี้

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม