นิยามของ “ปรัชญาการเมือง”

นิยามของ “ปรัชญาการเมือง”

 

“การเมืองที่ประเสริฐ ย่อมสร้างคุณค่าให้การปกครอง” -อะลี บินอะบีตอลิบ- (Ali bin abitalib)

แม่คนหนึ่ง คิดว่า ความยุติธรรม คือ การให้เงินลูกไปโรงเรียนเท่าๆกัน เธอให้เงินลูกชายคนโตที่เรียนมหาวิทยาลัย วันละ50 บาท และให้เงินลูกชายคนกลางที่เรียนชั้นประถม วันละ 50 บาท และให้เงินลูกชายคนสุดท้องที่เรียนชั้นอนุบาล วันละ 50 บาท หลังจากผ่านไปไม่กี่วัน ลูกชายคนโตของเธอ ก็ต้องไปหางานพิเศษเพื่อหารายได้สำหรับค่าอาหารจนขาดเรียน ส่วนลูกชายคนกลาง ก็ประท้วงที่ไม่มีเงินเก็บให้ซื้อของพิเศษที่ตนต้องการ และลูกชายคนเล็ก ทำเงินหายทุกวัน เรื่องนี้อาจเป็นตัวอย่างที่มีอยู่แต่ในหนังสือ และแน่นอนคงไม่มีแม่คนไหนทำแบบนั้น แต่มันสะท้อนแง่คิดบางอย่าง ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แม่คนนี้ ไม่เข้าใจความหมายของความยุติธรรมอย่างถูกต้อง และมันส่งผลให้เธอ บริหารการเงินในครอบครัวได้อย่างเลวร้าย

แต่ที่แย่ยิ่งกว่า ก็คือ เรื่องราวแบบนี้กลับเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์การเมือง เช่น ฮิตเลอร์ที่เชื่อว่า ชาติพันธุ์ของตนและประชาชนของตนสูงส่งกว่าชาติอื่น จนนำสู่สงครามที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่าหลายสิบล้าน บาทหลวงที่คิดว่า ความรู้อื่นนอกจากพระคัมภีร์เป็นสิ่งต้องห้าม จนนำสู่ยุคมืดแห่งคริสตจักร หรือ จักรพรรดิที่สร้างกำแพงเพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของสถาบันอำนาจ แต่กลับได้ความสำเร็จของมันด้วยความตายของราษฎรนับล้านคน

เรื่องราวเหล่านี้ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับ คุณค่าต่างๆ คุณค่าที่เกี่ยวข้องกับการเมือง และมันคือประเด็นที่ปรัชญาการเมืองพยายามให้คำตอบ ในบทความนี้จะเป็นอรัมภบท นำไปสู่เนื้อหาปรัชญาการเมืองอิสลามในระดับพื้นฐาน สำหรับผู้ที่สนใจศึกษาในด้านนี้ เบื้องต้นจึงควรเข้าใจเกี่ยวกับความหมายของปรัชญาการเมือง เพื่อใช้เป็นบันไดสู่การศึกษาในขั้นถัดไป
1.ความหมายของปรัชญาการเมือง

ควรเริ่มจากการเกริ่นก่อนว่า มีวิธีมากมายในการศึกษา”ศาสตร์แห่งการเมือง” บางครั้งเป้าหมายของการศึกษาเรื่องการเมืองก็คือ การวิเคราะห์ประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องและมีผลกับเรา มุมมองของเราต่อการเมืองในรูปแบบนี้ จะเป็นมุมมองเล็กๆ ที่มีตัวเราเป็นศูนย์กลางของเรื่องราว ผู้ศึกษาวิเคราะห์ในเรื่องของการเมือง เริ่มต้นด้วยการสืบเสาะหาข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อตอบคำถามสำคัญบางข้อ ซึ่งแน่นอนการวิเคราะห์ในเรื่องอนาคตจะเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าหากผู้หาข้อมูลไม่ได้เริ่มจากข้อมูลที่ถูกต้องมาตั้งแต่เริ่มต้นเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ เพราะไม่มีใครสามารถหยั่งหรือคาดการณ์ถึงอนาคตได้หากยึดข้อมูลจากอดีตและปัจจุบันที่ผิด ตัวอย่างของเรื่องนี้ ก็คือ บทวิเคราะห์การเมือง การเลือกผู้ลงสมัครเลือกตั้ง เพื่อเลือกคนที่ถูกและมีความชอบธรรม ประชาชนจำเป็นต้องเสาะหาข้อมูลในภาพรวมที่สามารถเชื่อถือได้ เพื่อใช้เปรียบเทียบผู้ลงสมัครเลือกตั้งแต่ละราย และใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบการตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นผู้แทน

แน่นอนบางครั้งในการศึกษาการเมือง บางเรื่องบางเนื้อหาก็ต้องชัดเจนและเป็นที่กระจ่างเช่นเดียวกัน คือหลักการและรากฐานของรัฐศาสตร์ และเพราะทุกคนในประเทศ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองไม่ว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธก็ตาม ดังนั้นการศึกษาในเรื่องของรัฐศาสตร์จึงถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประชาชนทุกคนในทุกประเทศ เพราะปัญหาหลักมักอยู่ที่รากมากกว่ากิ่งก้านของระบบการเมืองเสมอ

ในปรัชญาการเมือง จะเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการหาคำตอบของคำถามที่เกี่ยวข้องกับรากฐานและหลักการที่ถูกพูดถึงและถกเถียงกันในวงการการเมือง และเพื่อเข้าใจเรื่องนี้ เบื้องต้น ผู้ศึกษาจะต้องทำความเข้าใจว่า อะไรคือหลักการของการเมือง ? เพื่อใช้ในการทดสอบและเปรียบเทียบถึงทฤษฎีต่างๆที่ถูกนำมาใช้เป็นหลักการพื้นฐานซึ่งกลายมาเป็นโครงสร้างของการเมืองในแต่ละรัฐ

ตัวอย่างเช่น คำว่า อำนาจ,อิทธิพล,ความชอบธรรม,กฎหมาย,รัฐธรรมนูญ,รัฐบาล,การปกครอง,ความยุติธรรมทางสังคม,เสรีภาพ และอื่นๆ ล้วนเป็นหลักการพื้นฐานในปรัชญาการเมืองทั้งสิ้น คำเหล่านี้ล้วนมีความสัมพันธ์กันในทางหนึ่ง ซึ่งแกนกลางของมันก็คือระบบการเมือง การวิเคราะห์ที่ถูกต้องแม่นยำและมองแบบภาพรวมของสิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเข้าใจถึงเนื้อหาของการเมืองได้ดียิ่งขึ้น และมันยังทำให้เราเข้าใจส่วนที่บิดเบี้ยวของการเมืองด้วยเช่นกัน
2.วิธีของปรัชญาการเมือง

ประเด็นต่อมาไม่ใช่เนื้อหาของปรัชญาการเมือง แต่คือวิธีที่ปรัชญาการเมืองศึกษาเนื้อหาของตนเอง เมื่อเข้ามาในวงการนี้ต้องศึกษาปรัชญาการเมืองแบบไหน ? ทดลองเหมือนวิชาวิทยาศาสตร์ หรือศึกษาเนื้อหาเรื่องราวผ่านประวัติศาสตร์ หรือคำนวณแบบคณิตศาสตร์ ???

คำตอบคือ ปรัชญาการเมืองใช้หลักตรรกะและการใช้เหตุผลเป็นพื้นฐานในการวิเคราะห์เนื้อหาที่ถูกนำเสนอ ผนวกกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และทฤษฎีต่างๆด้วยเช่นกัน ส่วนที่ผนวกหรือเพิ่มเข้ามาเหล่านี้จะช่วยทำให้เหตุผลแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ในบางกรณีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์หรือประวัติศาสตร์ก็อาจเป็นอารัมภบทสำหรับต่อยอดแนวคิดทางการเมือง ซึ่งในปรัชญาอิสลามก็อาศัยข้อมูลจากทั้งสองด้านด้วยเช่นเดียวกัน
3 ว่าด้วย นิยามของ “ฮูกูมะฮ์” หรือ รัฐ

คำว่า “ฮูกูมะฮ์” จะเป็นอีกคำหนึ่งที่ผู้ศึกษาปรัชญาการเมืองอิสลามต้องทำความเข้าใจ โดยรากศัพท์ของคำว่า ฮูกูมะฮ์(حکومة) มาจากคำว่า ฮุกมุน(حُکم) ที่หมายถึง ความมั่นคง ความยั่งยืน การตัดสิน หรือการปกครอง นักภาษาศาสตร์อาหรับ บางท่าน นิยามว่า ฮุกม์ หมายถึง การยับยั้งบางสิ่งเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องนั้น (มุฟรอดาต,รอฆิบ อิสฟาฮานี น.248) ในแง่หนึ่งคำนี้ในภาษาอาหรับเป็นคำที่พ้องกับ คำว่า ฮิกมัต ซึ่งหมายถึง ปัญญา หรือวิทยปัญญา การใช้รากศัพท์ร่วมกันสะท้อนให้เห็น ว่า รัฐ,การเมือง,การตัดสิน หรือ พิพากษาต้องเป็นสิ่งที่ควบคู่กับปัญญา และในทางกลับกัน รัฐบาลใดก็ตามที่ไม่ได้บริหารปกครองบ้านเมืองด้วยพลังแห่งปัญญา รัฐบาลนั้นก็สมควรยุติบทบาทของตัวเองเสีย เช่นเดียวกัน รัฐบาลใดก็ตามที่บริหารปกครองบ้านเมืองด้วยกิเลสตัณหาราคะหรืออารมณ์ใฝ่ต่ำทั้งปวง รัฐบาลนั้นก็ไม่มีความชอบธรรมในการปกครองบริหารบ้านเมืองอีกต่อไป จากนิยามของฮูกูมะฮ์ จึงทำให้เรามองเห็นถึงหัวใจหลักของการเมืองอิสลาม นั่นก็คือ การปกครองโดยมีธรรมะและปัญญาเป็นผู้กุมบังเหียนถือเป็นความปรารถนาสูงสุดและเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปกครองแบบอิสลาม ถึงแม้ว่ากลุ่มก่อการร้ายสุดโต่งอย่างกลุ่มไอเอส จะสร้างภาพลักษณ์ของฮูกูมัต ให้ดูน่ากลัว รุนแรง และโง่เขลา แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของการเมืองแบบอิสลามถูกทำลายลง เพราะอุดมการณ์อันเป็นแก่นกระพี้ของรัฐศาสตร์อิสลาม ตรงข้ามกับการปกครองแบบไอเอส แล้วเมื่อเราศึกษานิยามในเชิงสำนวนวิชาการก็จะพบว่า ฮูกูมัต หมายถึง อำนาจทางการเมืองขององค์กรณ์หนึ่ง ที่ถูกจัดตั้งเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชนในสังคม,สร้างระบบความมั่นคงให้แก่ประเทศ,ชี้นำสังคมสู่เส้นทางที่ถูกต้อง,สร้างหรือผลิตกฎหมาย และปฏิบัติตามกฎหมายนัั้น และรักษารากฐานกฎหมายนั้นให้คงอยู่ต่อไป

นิยามนี้ เป็นนิยามที่นักวิชาการอิสลามยอมรับ เพราะมันครอบคลุมระบบการเมือง กฎหมายเฉพาะ(ชะรีอัต) และแนวทางในการชี้นำสังคม โดยกฎหมายอิสลาม จะถูกเรียกว่า “ชะรีอัต” หลักการต่างๆมีที่มาจาก อัลกุรอ่าน และ แบบฉบับของศาสดา ซึ่งจะมีนักการศาสนาระดับสูงเป็นผู้วินิจฉัย และกำหนดประเด็นต่างๆในสังคมว่าควรจะเป็นไปในทิศทางไหน ผู้เขียนทราบดีว่า เเนวคิดนี้ มีทั้งผู้วิพากษ์ และผู้สนับสนุน ตั้งแต่ความชอบธรรมของตัวบทกฎหมายที่เรียกว่า ชะรีอัต ผู้วินิจฉัยที่ร่างรัฐธรรมนูญ จนไปถึง กฎหมายแต่ละข้อที่ถูกนำมาใช้ในประเทศอิสลาม อย่างไรก็ตาม ประเด็นเหล่านี้ จะถูกเสนอในพื้นที่ของมัน
4.รูปแบบของระบบการปกครอง

จากการค้นคว้างานเขียนของนักวิชาการอิสลามที่เสนอเนื้อหาในเรื่องของปรัชญาการเมือง หัวข้อหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ประเด็นหนึ่งที่นักปรัชญาการเมืองอิสลามนำเสนอ นั่นคือการแบ่งประเภทของรูปแบบการปกครอง ณ ที่นี้ ผู้เขียนขอเสนอการแบ่งประเภทรูปแบบหนึ่ง คือการแบ่งประเภทการปกครองตามทัศนะของอิมามโคมัยนี ในความเห็นของท่านระบบการปกครองแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน

ประเภทที่ 1 การปกครองแบบเผด็จการ

ในรูปแบบนี้ จะเกิดการกดขี่มากกว่ารูปแบบอื่นๆ อำนาจและการร่างกฎหมายและการปฏิบัติตามกฎหมายอยู่ภายใต้การพิจารณาและเห็นชอบของคนเพียงคนเดียว

ประเภทที่ 2 การปกครองโดยประชาชน

ในรูปแบบนี้มนุษย์ทุกคนจะมีความเท่าเทียมกัน และอำนาจจะขึ้นอยู่กับประชาชน หมายถึง ไม่ว่าประชาชนจะต้องการอะไรพวกเขาสามารถใช้อำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนั้น

ประเภทที่ 3 การปกครองโดยพระเจ้า

ตามทัศนะนี้ อำนาจมีที่มาจากแหล่งเดียวเท่านั้น ก็คือการอนุมัติโดยพระผู้เป็นเจ้า และรูปแบบการปกครองใดก็ตาม หากปราศจากฉันทานุมัติจากพระเจ้า การปกครองนั้นย่อมมีความบกพร่อง
สรุป

ปรัชญาการเมืองคือศาสตร์ที่ใช้สำหรับการศึกษาคุณค่าต่างๆอันเป็นพื้นฐานและเป็นรากฐานของการเมือง โครงสร้างของแต่ละระบบการเมือง และที่มาของมัน ค่านิยมต่างๆที่ถูกให้คุณค่า หรือถูกลดทอนคุณค่าในทางการเมือง เช่นความยุติธรรม ความเท่าเทียม กฎหมาย 9ล9 คือสิ่งที่ปรัชญาการเมืองจะศึกษาถึงทฤษฎีต่างๆที่มีการนำเสนอในแวดวงของวิชานี้ วิธีที่ปรัชญาการเมืองศึกษาเนื้อหาของตนเองก็คือหลักตรรกะผนวกกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และในส่วนของปรัชญาการเมืองอิสลามก็มีลักษณะเช่นนี้ โดยคำที่ผูกพันกับเรื่องของการเมืองในปรัชญาการเมืองอิสลามก็ คือคำว่า ฮูกูมะฮ์ ที่หมายถึง รัฐ ในมุมมองของนักวิชาการอิสลามบางส่วน ได้แบ่งรูปแบบการปกครองออกเป็น 3 รูปแบบ อันได้แก่การปกครองโดยเผด็จการ การปกครองโดยประชาชน และการปกครองโดยพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในทัศนะของนักวิชาการอิสลาม การปกครองใดก็ตามที่ไม่ได้รับการชี้นำจากพระผู้เป็นเจ้าย่อมมีความบกพร่องในตัวของมันเอง.


บทความโดย มูฮัมหมัด เบเฮสตี้