เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ผู้ใจบุญแห่งอะฮ์ลิลบัยติ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) ถูกรู้จักด้วยสมญานามว่า "กะรีมุ อะฮ์ลิลบัยติ์" (ผู้ใจบุญแห่งอะฮ์ลิลบัยติ์ (อ.))

 

เพื่อที่จะอธิบายถึงเรื่องนี้ เป็นสิ่งที่ดีกว่าที่เราจะทราบว่าอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) แต่ละท่านนั้นได้มีชื่อเสียงและถูกรู้จักด้วยสมญานามต่างๆ ที่เป็นเฉพาะ อย่างเช่น "อะมีรุ้ลมุอ์มินีน" (หัวหน้าของปวงศรัทธาชน) "ซัยยิดุชชุฮะดาอ์" (หัวหน้าของปวงชะฮีด) "ซัยยิดุซซาญิดีน" (หัวหน้าของบรรดาผู้สุญูด) "บากิรุ้ลอุลูม" (ผู้ผ่าขุมคลังแห่งวิชาการ) "ซอดิกุ อาลิมุฮัมมัด" (ผู้สัจจริงแห่งวงศ์วานของมุฮัมมัด) "บาบุ้ลฮะวาอิจญ์" (ประตูแห่งความต้องการ) และอื่นๆ
      เกี่ยวกับกรณีที่ว่า ทำไมอิมาม (อ.) แต่ละท่านจึงถูกรู้จักด้วยหนึ่งในสมญานามเหล่านี้นั้น จำเป็นต้องกล่าวว่า สถานการณ์ต่างๆ ของยุคสมัยได้มอบสมญานามเช่นนี้ให้แก่ท่านเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ฉายา "ซัยยิดุชชุฮะดาอ์" ถูกมอบให้แก่ท่านอิมามฮุเซน (อ.) หรือท่านอิมามซัจญาด (อ.) เนื่องจากไม่สามารถที่จะทำการเผยแพร่คำสอนของอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) ได้อย่างเปิดเผย จึงได้ใช้ประโยชน์จากสื่ออื่นๆ อย่างเช่น “ดุอาอ์” และสิ่งนี้เองที่เป็นสาเหตุทำให้การอิบาดะฮ์ของท่านเป็นที่รู้จักกันดีทั้งในหมู่ประชาชนโดยทั่วไปและในหมู่ผู้ปฏิบัติตามอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) และท่านจึงได้รับการขนานนามว่า “ซัยยิดดุซซาญิดีน” (หัวหน้าของบรรดาผู้สุญูดต่อพระเจ้า) และ “ซัยนุ้ลอาบีดีน” (เครื่องประดับของปวงผู้เคารพภักดีพระเจ้า)
      หรือท่านอิมามบากิร (อ.) เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่ในช่วงสมัยที่โอกาสในการทำการเคลื่อนไหวทางด้านวิชาการความรู้และการเผยแพร่คำสอนของอะฮ์ลุลบัยติ(อ.) ได้อำนวยแก่ท่าน ท่านจึงใช้โอกาสดังกล่าว และมิติต่างๆ ทางด้านวิชาการของท่านอิมาม (อ.) ให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแก่บุคคลทั้งหลายและเป็นสาเหตุทำให้ท่านได้รับการขนานนามจากผู้คนทั้งหลายว่า “บากิรุ้ลอุลูม” (ผู้ผ่าขุมคลังแห่งวิชาการ)
      ในท่ามกลางทั้งหมดเหล่านี้ ท่านอิมามฮะซัน มุจตะบา (อ.) ก็เช่นเดียวกันด้วยเหตุผลที่ว่า สองครั้งที่ท่านบริจาคและเสียสละทรัพย์สินทั้งหมดของตนที่มีอยู่ให้กับคนยากจนขัดสน และสามครั้งที่ท่านแบ่งทรัพย์สินของตนออกเป็นสองส่วน และครึ่งหนึ่งของมันท่านบริจาคให้แก่คนยากจนขัดสน ท่านจึงได้รับการขนานนามจากประชาชนว่า “กะรีมุ อะฮ์ลุลบัยต์(อ.)” (ผู้ใจบุญแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ของท่านศาสดา)
      ท่านอิมามฮะซัน มุจตะบา (อ.) เองได้อธิบายความหมายของคำว่า “กะรอม” (ความใจบุญ ความเอื้ออารี ความมีเกียรติ) ไว้ในฮะดีษ (วจนะ) ที่สวยงามและลึกซึ้งของท่าน โดยที่มีผู้ถามท่านเกี่ยวกับ “กะรอม” (ความใจบุญ ความเอื้ออารี ความมีเกียรติ)  ท่านตอบว่า :
الِابْتِدَاءُ بِالْعَطِيَّةِ قَبْلَ الْمَسْأَلَةِ
“มันคือการเริ่มต้นการให้ (แก่ผู้ยากจนขัดสน) ก่อนการขอ (ของพวกเขา)” (ตุหะฟุลอุกูล, หน้าที่ 227)
  พระผู้เป็นเจ้าก็ทรงเป็นผู้ใจบุญ ผู้ทรงเอื้ออารีเช่นเดียวกัน เนื่องจากพระองค์จะทรงขจัดความต้องการและมอบให้ก่อนที่ปวงบ่าวจะวอนขอต่อพระองค์ ในบทดุอาอ์ของเดือนรอญับ เราจะวิงวอนต่อพระผู้เป็นเจ้าเช่นนี้ว่า :
يَا مَنْ يُعْطِي مَنْ سَأَلَهُ ، يَا مَنْ يُعْطِي مَنْ لَمْ يَسْأَلْهُ وَ مَنْ لَمْ يَعْرِفْهُ تُحَنُّناً مِنْهُ وَ رَحْمَةً
“โอ้ผู้ทรงประทานให้แก่ผู้ที่วอนขอพระองค์ โอ้ผู้ทรงประทานให้แก่ผู้ที่ไม่ได้วอนขอพระองค์และแก่ผู้ที่ไม่รู้จักพระองค์ เป็นความกรุณาและความเมตตาจากพระองค์”
   เป็นที่รู้กันของชาวเมืองมะดีนะฮ์ หากมีคนเดินทางพลัดถิ่นมาถามว่า “การีม” แห่งเมืองนี้คือใคร ทุกคนจะชี้ไปที่บ้านของท่านอิมามฮะซัน(อ) บ้านซึ่งเป็นที่พึ่งของคนยากไร้ บ้านที่จะไม่มีใครผิดหวังกลับไปและนี่คือวิธีคือแนวทางที่ท่านอิมามฮะซัน(อ)ซื้อหัวใจของบรรดาคนยากจนและเชิญชวนผู้คนเข้าสู่แนวทางอันบริสุทธิ์จนกลายเป็น “เกียรติยศแห่งอะห์ลุลบัยต์”
ครั้งหนึ่งท่านอิมามอะลี(อ)กำลังทำสวนอยู่นอกเมืองมีชาวอาหรับต่างถิ่นขี่ม้ามาด้วยความหิวกระหายเพราะอาหารและน้ำหมด เขาเห็นชายสูงวัยคนหนึ่งซึ่งก็คือท่านอิมามอะลี(อ) แต่ชายต่างถิ่นนั้นไม่รู้จัก เขาแวะเข้ามาด้วยความเหนื่อยและหิวกระหาย  ท่านอิมามอะลี(อ)ได้ถามว่ากินอะไรมาหรือยังและเปิดสำรับของท่านให้กับแขก สำรับอาหารของท่านอิมามอะลี(อ) เป็นที่เลื่องลือจนถึงวันกิยามัตว่า ไม่มีอะไรมากนอกจาก โรตีแข็งๆเย็นชืด ชายอาหรับผู้เดินทางมาก็หยิบกินคำสองคำก็ไม่สามารถกินต่อไปได้
ท่านอิมามอะลี(อ)จึงถามว่า “เจ้ากินอาหารของฉันไม่ได้ใช่ไหม?”และบอกต่อว่า “จงเข้าไปในเมืองถามผู้คนว่า การีมแห่งเมืองนี้คือใคร จงไปที่บ้านหลังนั้นอาจจะมีอาหารดีๆให้ท่านกิน”

ชายคนนั้นขี่ม้าเข้าไปในเมืองมะดีนะฮ์ถามตามที่ท่านอิมามอะลี(อ)แนะนำ ชาวเมืองชี้ไปที่บ้านของท่านอิมามฮะซัน (อ)ซึ่งท่านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี ชายคนนี้กินอาหารแล้วก็เงยดูท่านอิมามฮะซัน(อ)เมื่อท่านอิมาม(อ) เผลอ ชายคนนี้จึงรีบเก็บอาหารไว้ในห่อของตน เมื่อท่านอิมาม(อ) เห็นดังนั้นจึงถามว่าท่านทำอะไร?  เขาตอบว่าฉันเพียงแต่สงสารคนแก่ที่ทำไร่อยู่นอกเมือง เขากินนูนแข็งเสียเหลือเกิน จึงอยากจะเอาอาหารบ้านท่านไปให้เขา อิมามฮะซัน อัลมุจตะบา(อ)ทราบดีว่าเป็นใครจึงบอกชายคนนั้นไปว่า “ท่านไม่ต้องเอาไปให้เขาหรอก ชายคนนั้นเขาไม่กินอะไรนอกจากนูน(ขนมปัง)แข็งๆเท่านั้น”
เรื่องราวเหล่านี้ต้องการให้เห็นถึงความเอื้อเฟื้อที่อิมามฮะซัน(อ)ทิ้งเอาไว้เป็นแบบอย่างให้กับมนุษยชาติ  
ในโลกปัจจุบันอันโหดร้าย โหดเหี้ยมและอำมหิตนี้ถ้าเกียรติยศของท่านอิมามฮาซัน(อ)หรือเกียรติยศของอะฮลุลบัยต์(อ)ได้ถูกเผยแพร่ออกไปจะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการที่จะเชิญชวนมนุษย์เข้าสู่เส้นทางแห่งความดีงามด้วยอิสลามอันบริสุทธิ์
  ใช่แล้ว! ท่านอิมามฮะซัน มุจตะบา (อ.) นั้นมีคุณลักษณะเช่นนี้ ท่านจะให้แก่บรรดาผู้ยากจนขัดสนก่อนที่พวกเขาเหล่านั้นจะแสดงความต้องการและการวอนขอ คุณลักษณะอันสูงส่งและงดงามนี้ควรที่จะเป็นแบบอย่างสำหรับเรา เราจะต้องไม่ปล่อยให้คนที่มีความยากจนขัดสนและความจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทำลายเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง ทว่าเราจะต้องให้การช่วยเหลือเขาก่อนที่เขาจะแสดงความต้องการความช่วยเหลือจากเรา ท่านอิมามฮะซัน มุจตะบา (อ.) ได้สอนบทเรียนแก่เรา นี่คือ บทเรียนของความเป็นผู้ใจบุญ เอื้ออารีต่อผู้อื่น และบทเรียนของความเป็นผู้มีเกียรติ (กะรีม)
     ท่านอิมามฮะซัน มุจตะบา (อ.) ยังได้สอนแก่เราอีกว่า :
التَّبَرُّعُ‏ بِالْمَعْرُوفِ‏، وَ الْإِعْطَاءُ قَبْلَ السُّؤَالِ، مِنْ أَكْبَرِ السُّؤْدَد
“การบริจาคทรัพย์ด้วยความดีงาม และการให้ก่อนการขอนั้น คือความมีเกียรติ (และความเป็นนาย) ที่ใหญ่ที่สุด” (นุซฮะตุนนาซิร, หน้าที่ 71)
นอกจากนี้ ความมีน้ำใจและความเมตตาของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ก็เป็นแบบอย่างที่ดียิ่ง ท่านจะมีเมตตากับทุกคนทั้งต่อผู้ที่อยู่ใต้ปกครองของตน หมู่มิตร หรือแม้แต่กับบรรดาศัตรูของท่านเองนั้น ท่านก็ปฏิบัติกับพวกเขาด้วยความเมตตาและความสุภาพอ่อนโยน “
อะนัส บินมาลิก” ได้เล่าว่า : วันหนึ่งในขณะที่ฉันอยู่กับท่านอิมาม (อ.) ทาสหญิงของท่านคนหนึ่งเข้ามาพบท่านอิมาม (อ.) พร้อมด้วยดอกไม้ช่อหนึ่งในมือของตน นางได้มอบช่อดอกไม้นั้นให้ท่านอิมาม ท่านอิมามได้รับช่อดอกไม้นั้นจากนาง และได้กล่าวกับนางด้วยความเมตตาว่า “เธอจงไปเถิด เธอเป็นอิสระแล้ว” ฉันรู้สึกประหลาดใจต่อพฤติกรรมนี้ของท่าน ฉันจึงกล่าวว่า “โอ้บุตรของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์! ทาสหญิงผู้นี้ได้มอบช่อดอกไม้ช่อหนึ่งให้แก่ท่านเพียงเท่านั้น ท่านถึงกับปลดปล่อยนางจากการเป็นทาสเลยเชียวหรือ” ท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวตอบเขาว่า “พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ ผู้ทรงเมตตา ทรงตรัสต่อเราว่า
وَ إِذا حُيِّيتُمْ بِتَحِيَّةٍ فَحَيُّوا بِأَحْسَنَ مِنْها أَوْ رُدُّوها إِنَّ اللَّهَ کانَ عَلي کُلِّ شَيْءٍ حَسيباً
“และเมื่อพวกเจ้าได้รับการคารวะใดๆ (จากผู้อื่น) ดังนั้นจงคารวะตอบด้วยสิ่งที่ดีกว่ามัน หรือไม่ก็ตอบกลับ (ด้วยสิ่งที่เท่าเทียมกัน) แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเป็นผู้คำนวณนับในทุกๆ สิ่ง” [ซูเราะฮ์อันนิซาอ์/อายะฮ์ที่ 86]
จากนั้นท่านกล่าวว่า “รางวัลตอบแทนสำหรับความมีน้ำใจของนางก็คืออิสรภาพของนาง”  
แนวทางการอบรมขัดเกลาของท่านอิมามฮะซัน มุจตะบา (อ.) สามารถที่จะพบเห็นประเด็นต่างๆ ที่ละเอียดอ่อนและเป็นจิตวิทยาได้เป็นอย่างดี และสามารถที่จะหยิบยกขึ้นมาเป็นแบบอย่างและวิธีการที่ถูกต้องที่สุดของการอบรมขัดเกลาลูกหลานของเราได้ ท่านอิมามฮะซัน มุจตะบา (อ.) คือ ผู้ที่ได้รับการอบรมขัดเกลาจากครอบครัวแห่งสาส์น (วะฮ์ยู) ของพระผู้เป็นเจ้า ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้กล่าวเกี่ยวกับท่านว่า
أمَّا الْحَسَنُ فَإِنَّهُ ابْنِي وَ وُلْدِي وَ بَضْعَةٌ مِنِّي وَ قُرَّةُ عَيْنِي وَ ضِيَاءُ قَلْبِي وَ ثَمَرَةُ فُؤَادِي وَ هُوَ سَيِّدُ شَبَابِ أَهْلِ الْجَنَّةِ وَ حُجَّةُ اللَّهِ عَلَى الْأُمَّةِ أَمْرُهُ أَمْرِي وَ قَوْلُهُ قَوْلِي مَنْ تَبِعَهُ فَإِنَّهُ مِنِّي وَ مَنْ عَصَاهُ فَلَيْسَ مِنِّي
“ฮะซันนั้น เขาเป็นบุตรชายของฉัน เป็นลูกของฉัน เป็นหน่อเนื้อของฉัน เป็นแก้วตาของฉัน เป็นแสงสว่างแห่งหัวใจของฉัน เป็นผลไม้แห่งดวงใจของฉัน เขาคือหัวหน้าของบรรดาชายหนุ่มชาวสวรรค์ และเป็นหลักฐาน (ฮุจญะฮ์) ของอัลลอฮ์เหนือประชาชาติ (ของฉัน) คำสั่งของเขาคือคำสั่งของฉัน คำพูดของเขาคือคำพูดของฉัน ผู้ใดที่ปฏิบัติตามเขา ดังนั้นเขาก็เป็นส่วนหนึ่งจากฉัน และผู้ใดที่ฝ่าฝืนเขา ดังนั้นเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งจากฉัน” (บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 28, หน้าที่ 39)
อิมามฮะซัน อัลมุจตะบา(อ.) กล่าวว่า “พวกเจ้าจงเป็นภาชนะของความรู้เเละประทีปเเห่งทางนำ”

หมายความว่าอัลลอฮ์ (ซ.บ.) ทรงมอบหัวใจเเก่พวกท่าน ท่าน(อ.) ได้กล่าวว่า “ภาชนะอันนี้ พวกเจ้าจงเติมให้เต็มปริ่มด้วยสองสิ่งโดยอย่าให้เหลือที่ว่าง สิ่งเเรกคือตราบที่ยังมีพื้นที่จงใส่ความรู้ลงไป อย่าบอกว่าเราไม่สามารถไปยังจุดนี้ได้ สิ่งที่สองจงเป็นประทีปเเห่งทางนำ จงให้เเสงสว่างเเก่สังคม ไม่ค่อยจำเป็นนักที่เราจะพูดออกไป เพียงเเค่เราปฏิบัติเรื่องธรรมดาเหล่านี้ ประชาชนหลงไหลความรู้ ที่ควบคู่กับการปฏิบัติ  ไม่มีใครที่จะรังเกียจน้ำหอม อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงสร้างมนุษย์ มาให้รักสิ่งที่มีกลิ่นหอมเเละน้ำหอม สังคมเพียงเเค่ต้องการความรู้เเละการปฏิบัติ ต้องการสติปัญญาจากเรา”

 

ที่มา เพจสถาบันอัลมะฮ์ดียะฮ์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม