การแปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย
การแปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทย
อิมรอน พิชัยรัตน์/เรียบเรียง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี องค์อัครศาสนูปถัมภก ผู้ทะนุบำรุงศาสนาต่างๆ ได้ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์สนับสนุนการจัดพิมพ์ “พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานฉบับแปลความหมายและขยายความ” ความหมายอัลกุรอานฉบับนี้เป็นผลงานแปลและเรียบเรียงของ ท่านต่วน สุวรรณศาสน์ และถือเป็นครั้งแรกที่มีการแปลความหมายอัลกุรอานครบทั้ง 30 ญุซอ์ โดยทยอยพิมพ์เล่มละ 1 ญุซอ์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2511 และครบทั้ง 30 ญุซอ์ในปี พ.ศ. 2524
ผลงานแปลทั้ง 30 ญุซอ์นี้ได้รับการตีพิมพ์ทั้งหมด 5 ครั้ง โดยเป็นการทยอยพิมพ์ในช่วงระหว่างปี พ.ศซ 2511-2524 ต่อมามีการพิมพ์ครั้งที่สอง แต่ไม่ได้ระบุปีที่พิมพ์โดยแบ่งเป็นเล่มละ 5 ญุซอ์ มีทั้งหมด 6 เล่ม ในปี พ.ศ. 2530 ผลงานแปลชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่สาม เนื่องในโอกาสเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนพรรษาครบ 60 พรรษา และได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งที่สี่เนื่องในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ผลงานแปลนี้ได้รับการตีพิมพ์พ์ครั้งที่ห้าในปี พ.ศ. 2547 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินาถในรัชกาลที่ 9
ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 มีการแปลความหมายอัลกุรอานครบ 30 ญุซอ์ โดย ท่านดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ โดยใช้ชื่อว่า “กุรอานมะญีด ความหมายของอัลกุรอาน” ผลงานแปลนี้ได้รับการตีพิมพ์สองครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2512*2513 โดยตีพิมพ์ญุซอ์ที่ 1-20 ในปี พ.ศ. 2512 และญุซอ์ที่ 21-30 ในปี พ.ศ. 2513 และตีพิมพ์ครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2544 โดยแบ่งเป็นสามเล่ม เล่มที่หนึ่ง ซูเราะฮ์ที่ 1-18 เล่มที่สองซูเราะฮี่ 19-45 และเล่มที่สามซูเราะฮ์ที่ 46-114
ในปี พ.ศ. 2524 มีผลงานแปลความหมายอัลกุรอานครบทั้ง 30 ญุซอ์ โดยใช้ชื่อว่า “อัลกุรอาน ฉบับแปลภาษาไทย”ซึ่งเป็นผลงานการแปลของ ท่านวินัย สะมะอุน จึงถือว่าเป็นบุคคลที่สามที่แปลความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาไทยครบ 30 ญุซอ์ โดยเป็นการปลแบบสรุปสั้นๆ จบในสองเล่ม เล่มแรกเป็นการแปลความหมายอัลกุรอานญุซอ์ที่ 1-15 และเล่มที่สองญุซอ์ที่ 16-30 ผลงานแปลนี้ได้มาตรฐานจากคำแปลภาษามาลายู ชื่อ “ปิปินนังอัรเราะห์มาน” และใช้ตำราอรรถาธิบาบอัลกุรอานประกอบอีกหลายเล่ม
ช่วงปี พ.ศ. 2528 สมาคมนักเรียนเก่าอาหรับได้ทยอยแปลและเผยแพร่ความหมายอัลกุรอานจนครบ 30 ญุซอ์ ใช้ชื่อผลงานแปลว่า “ความหมายอัลกุอานเป็นภาษาไทย” จำนวน 3 เล่ม โดยตีพิมพ์เผยแพร่เล่มแรก ญุซอ์ที่ 1-10 ในปี พ.ศ. 2528 ตีพิมพ์เผยแพร่เล่มที่สอง ญุซอ์ที่ 11-20 ปี พ.ศ. 2532 และเล่มที่สาม ญุซอ์ที่ 21-30 ในปี พ.ศ. 2535
ในปี พ.ศ. 2542 ศูนย์กษัตริย์ฟะฮัดเพื่อการพิมพ์อัลกาอาน นครมะดีนะฮ์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นองค์กรที่ส่งเสริมด้านการแปลความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาต่างๆ ทุกภาษาในโลก ได้นำผลงานแปลชื่อ “ความหมายอัลกุรอานเป็นภาษาไทย” โดยสมาคมนักเรียนเก่าอาหรับมาตรวจทานอีกครั้งหนึ่งจากศูนย์กษัตริย์ฟะฮัดฯ ซึ่งตรวจทานโดย ดร. อับดุลลอฮ์ หนุ่มสุข และคุณสุธี คล้ายขำดี จากนั้นจึงนำมาตีพิมพ์และเผยแพร่แจกจ่ายในชื่อ “พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน พร้อมคำแปลเป็นภาษาไทย
ในปี พ.ศ. 2558 ซัยนุลอาบิดีน ฟินดี ได้ตีพิมพ์ผลงานแปลความหมายอัลกุอานทั้ง 30 ญุซอ์ในชื่อ “อัลกุรอานแปลไทย พร้อมตับท ฉบับสมบูรณ์”
ปี พ.ศ. 2544 สุพล บุญมาเลิศ ได้เผยแพร่ผลงานแปลความหมายอัลกุรอานชื่อ “อัลกุรอานพร้อมความหมายภาษาไทย” ซึ่งเป็นผลงานแปลความหมายอัลกุรอานครบทั้ง 30 ญุซอ์ โดยผู้แปลมีจุดประสงค์เพื่อต้องการรวบรวมความหมายอัลกุรอานทั้ง 30 ญุซอ์ไว้ในเล่มเดียวกัน
ปี พ.ศ. 2562 ทางสำนักงานอัลมุศตอฟา อัลอาละมียะฮ์ ประจำประเทศไทย ได้ตีพิมพ์อัลกุรอานฉบับแปลภาษาไทยครบ 30 ญุซอ์ โดยใช้ชื่อว่า “อัลกุรอานฉบับแปลภาษาไทย” ซึ่งแปลเป็นคณะ ได้แก่ มุฮัมหมัดนาอีม ประดับญาติ ซัยนุลอาบิดิน ฟินดี และ อิมรอน พิชัยรัตน์ โดยแปลจากต้นฉบับที่แปลเป็นภาษาฟารซีของอายาตุลลอฮ์มะการิม ชีรอซีย์
(https://soreda.oas.psu.ac.th/files/1136_file_Chapter3.pdf)