การทำบุญบ้านคนตาย

การทำบุญบ้านคนตาย 


ประเด็นปัญหานี้ ดูเหมือนเป็นประเด็นที่น่าจะคลี่คลายลงไปได้แล้ว เพราะมีหลักฐานมากมายที่สามารถยอมรับได้ แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่ม ที่ทำเป็นไม่เข้าใจ และพยายามหาหลักฐานมาโต้แย้ง จนทำให้ดูเหมือนว่า การอ่านกุรอานและมอบผลบุญให้ผู้ตายนั้น เหมือนจะเป็นอุตริกรรมที่น่าตำหนิเสียเหลือเกิน ทั้งๆที่บรรดาผู้กระทำการอ่านนั้น ต่างก็มีความเข้าใจดีอยู่แล้วเกี่ยวกับหลักฐานที่มา และวิถีของการอ่านที่เป็นที่อนุญาต 
นิยามของการทำบุญบ้านคนตาย
นิยามของ การทำบุญบ้านคนตาย คือ การทำบุญเนื่องจากการตาย ตามธรรมเนียมปฏิบัติในปัจจุบัน นั่นคือ การที่ครอบครัวผู้ตาย เตรียมอาหาร พร้อมเครื่องดื่ม และเชิญบรรดาเพื่อนบ้านใกล้เคียง , บรรดามุอ์มิน และบรรดาโต๊ะครู มาชุมนุมกันที่บ้านผู้ตาย เพื่ออ่านอัลกุรอาน ดุอา และการขออิซติฆฟารให้แก่ผู้ตาย และเพื่อเนียตอุทิศผลบุญเป็นฮะดียะฮ์ให้วิญญาณผู้ตาย ในวันที่ตาย หรือ 3 วัน 7 วัน 40 วัน เป็นต้น
หลักฐานเชิงประจักษ์ของการทำบุญเพื่อมอบสะวาบให้คนตาย
 [1]- จัดเลี้ยงอาหาร หรือบริจาคอาหารเพื่อเนียตฮะดียะฮ์ให้กับผู้ตาย
ปัญหาเรื่องบ้านผู้ตายเป็นเจ้าภาพจัดเลี้ยงอาหาร  เพื่อส่งผลบุญให้แก่ผู้ตาย ซึ่งชาวบ้าน ทั่วๆไปจะเรียกกันว่า  ทำบุญบ้านคนตาย นั้น ไม่มีในบัญญัติอิสลามที่ระบุว่า “ทำไม่ได้” แต่ทางกลับกัน มีระบุไว้ถึงเรื่องของการทำอาหารเนื่องด้วยมีคนตายไว้ว่า ถือเป็นซุนนะฮ์ของท่านนบีมุฮัมมัด ศ. และอะฮ์ลุลบัยต์นบี เกี่ยวกับการปฏิบัติต่อครอบครัวผู้ตายในช่วง 3 วันแรกของการตาย ที่จะให้เพื่อนบ้านของผู้เสียชีวิต หรือเครือญาติของผู้เสียชีวิตทำอาหารไปเลี้ยงบ้านของคนตาย
จากท่านญะอ์ฟัร บุตรของคอลิด จากพ่อของเขา จากท่านอับดุลลอฮ์ บุตรของญะอ์ฟัร(เกิดที่ดินแดนฮะบะชะฮ์ (เอธิโอเปีย)  สิ้นชีวิตปี ฮ.ศ. ที่ 80) เล่าว่า เมื่อข่าวการสิ้นชีวิตของท่านญะอ์ฟัรรู้ถึงท่านรอซูลุลลอฮ์ ท่าน กล่าวว่า
“พวกท่านจงทำอาหารให้แก่ครอบครัวของญะอ์ฟัรเถิด เพราะสิ่งที่ทำให้เกิดความยุ่งยาก (หมายถึงความเศร้าโศกเสียใจ) มาประสบกับพวกเขา”
(บันทึกโดยอบูดาวูด ฮะดีษเลขที่ 3130 /ติรมีซีย์ ฮะดีษเลขที่ 998 / อิบนุ มาญะฮ์ ฮะดีษเลขที่ 1610 / ฮากิม ฮะดีษเลขที่ 1377 บทว่าด้วยญะนาวะฮ์ , /อะฮ์หมัด ฮะดีษเลขที่ 1754 อบูยะอ์ลา ฮะดีษเลขที่ 6801 อับดุรเราะซาก ฮะดีษเลขที่ 6670 / บัยฮะกีย์ ฮะดีษเลขที่ 7197 )
ฮะดิษบทนี้ก็สอดคล้องกับฮะดิษที่รายงานโดยลูกหลานนบี ศ. ท่านอิมามศอดิก อ. กล่าวว่า “ในวันที่ท่านญะฟัร บิน อบูฏอลิบ ได้รับตำแหน่งชะฮีดในสงครามมุตะฮ์ ท่านนบีมุฮัมมัด ศ. ได้สั่งให้ท่านหญิงฟาติมะฮ์ บุตรีของท่าน และผู้หญิงชาวมะดีนะฮ์ได้ทำอาหารไปยังบ้านของอัสมา บิน อุมัยส์ ภรรยาของท่านญะอ์ฟัร เป็นเวลาถึง 3 วัน และสิ่งนี้จึงกลายเป็นซุนนะฮ์ปฏิบัติเรื่อยมา
ท่านหญิงอาอิชะฮ์ เล่าว่า มีชายคนหนึ่งมาหาท่านนบี ศ. แล้วกล่าวว่า “มารดาของฉันเสียชีวิตลงอย่างกะทันหันโดยไม่ทันได้สั่งเสีย แต่ฉันคิดว่าถ้านางมีโอกาสพูด นางคงจะขอให้บริจาคทานเป็นแน่แท้ เช่นนี้แล้ว หากฉันบริจาคแทนนาง นางจะได้รับผลบุญหรือไม่ครับ?” ซึ่งท่านตอบว่า “ได้”
(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ ฮะดีษเลขที่ 1004 และมุสลิม ฮะดีษเลขที่ 1388)
ฉะนั้นการบริจาคทานให้กับคนตาย หรือ การทำอาหารบริจาคเพื่ออุทิศส่วนกุศล(ษะวาบ)ให้กับผู้ตายจึงถือว่าเป็นการงานที่มีการส่งเสริมให้ทำ(ซุนนะฮ์)
[2]- การอ่านอัลกุรอาน และดุอาเนียตฮะดียะฮ์ให้ผู้ตาย
อับดุรเราะฮ์มาน บิน อะลา บิน ลัจญ์ลาจญ์ รายงานมาจากบิดาของเขา ว่า :
จากอับดุรเราะฮ์มาน อิบนุล อะลาอ์ อิบนุ ลัจญ์ลาจญ์ จากพ่อของเขา (อัลอะลาอ์)  กล่าวว่า พ่อของฉัน (ลัจญ์ลาจญ์) ได้กล่าวกับฉันว่า โอ้ลูกเอ๋ย เมื่อฉันตายก็จงทำลูกหลุมฝังศพของฉัน และเมื่อเจ้าวางฉันลงในลูกหลุมของฉันก็จงกล่าวว่า “บิสมิลลาฮิ วะอะลา มิลละติรอซูลิลลาฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม” หลังจากนั้นก็กลบร่างของฉันจนดินเสมอพื้น เสร็จแล้วจงอ่านทางด้านศรีษะของฉันด้วยกับตอนต้นของซูเราะฮ์อัลบะกอเราะฮ์ และตอนท้ายของซูเราะฮ์นี้ เพราะแท้จริงฉันเคยได้ยินท่านรอซูลุลลอฮ์ ศ็อลล็อลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม กล่าวไว้เช่นนั้น”
(อัตฏอบรอนีย์ บันทึกฮะดีษบทนี้ไว้ในอัลกะบีร โดยบรรดาผู้รายงานได้รับความน่าเชื่อถือ จาก อัยซามี)
รายงานจากอิบนุอุมัรได้กล่าวว่า :
ฉันได้ยินรอซูลุลลอฮ์ ศ.  กล่าวว่า เมื่อคนหนึ่งคนใดในหมู่พวกท่านเสียชีวิต พวกท่านอย่าได้รอช้า โดยจงรีบนำเขาไปยังหลุมศพของเขา และจงอ่าน ซูเราะฮ์อัลฟาติหะฮ์ ที่ศีรษะของเขา(มัยยิต) และอ่านช่วงสุดท้ายของซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ที่สองเท้าของเขา (มัยยิต)ที่ หลุมศพของเขา
มะอฺกิล บินยะซารฺ ซึ่งอ้างรายงานมาจากท่านนบี ศ. ว่า 
‎يس قَلْبُ الْقُرْآنِ، لاَ يَقْرَؤُهَارَجُلٌ يُرِيْدُ اللهَ تَبَارَكَ وَتَعَالَى وَالدَّارَ اْلآخِرَةَ إِلاَّ غَفَرَلَهُ، وَاقْرَؤُوْهَا عَلَى مَوْتَاكُمْ
“ยาซีน คือหัวใจอัล-กุรฺอ่าน! .. ไม่มีผู้ใดที่มุ่งหวังต่ออัลลอฮ์และวันอาคิเราะฮ์อ่านมัน เว้นแต่พระองค์จะอภัยโทษให้เขา, และพวกท่านจงอ่านมัน (ยาซีน) ให้แก่ “เมาตากุม” ผู้ล่วงลับของพวกท่าน” ... 
[ท่านอิหม่ามอัส-สะยูฏีย์ได้กล่าวในหนังสือ “อัล-ญาเมี๊ยะอฺ อัศ-เศาะฆีรฺ” (หะดีษที่ 1344) ว่าหะดีษบทนี้เป็นหะดีษหะซัน]
[3]- การเฝ้ากุโบร์ เพื่ออ่านกุรอ่านและดุอาฮ์ให้ผู้ตาย
เมื่อครั้งที่ อิบนิ อับบาส ได้เสียชีวิตลง[ที่เมืองฎออีฟจากการถูกเนรเทศของบนีอุมัยยะฮ์]ท่านมุฮัมมัด ฮะนะฟียะฮ์ ได้จัดเรื่องศพ และการ ตัชยิห์ยินาซะฮ์ และทำการอยู่ในกุโบร์ เพื่ออ่านดุอาฮ์ และอัลกุรอ่าน ถึง 3 วัน[ท่านฮัยษามีฮ์ บอกว่าฮะดิษนี้ศ่อฮิห์]
حَدَّثَنِي مُحَمَّد بْن سَعْد عَنِ الْوَاقِدِيِّ عَنِ التوزي  عَنْ عِمْرَانَ بْن أبي عطاء قال:
أدخل ابن الحنيفة ابنَ عَبَّاس  معترضًا وصلَّى عَلَيْهِ فكبر أربعًا وضرب عَلَى قبره فسطاطًا ثلاثة أَيَّام
เอกภาพ ชัยศิริ