ความรู้ของบรรดาอิมามแห่งอะห์ลุลบัยต์นบี
ความรู้ของบรรดาอิมามแห่งอะห์ลุลบัยต์นบี
อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงประทานความรู้ที่ลี้ลับไว้ในอัล-กุรอาน และไม่มีใครตีความหมายได้ นอกจากบรรดาผู้สันทัดจัดเจนทางวิชาการ[الرَّاسِخُونَ فِي الْعِلْمِ]และบรรดาผู้สันทัดจัดเจนทางวิชาการ นั้นคือ อะฮ์ลุลบัยต์ อ.
divider
ความรู้ของบรรดาอิมามแห่งอะห์ลุลบัยต์นบี
สิ่งหนึ่งที่อะฮฺลิซซุนนะฮ์จงเกลียดจงชังต่อชีอะฮ์ ก็คือคำพูดของชาวชีอะห์ที่ว่า บรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ อะลัยฮิมุสสลามนั้น อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงประทานวิชาความรู้แก่พวกเขามากเป็นพิเศษ โดยที่ไม่มีคนอื่นในหมู่มนุษย์มีส่วนร่วมในเรื่องนี้เลย และถือว่าบรรดาอิมาม อ. คือผู้มีความรู้ที่สุดประจำยุคสมัยของตน จนไม่มีใครอาจท้าท้ายท่านได้เลย เพราะยอมจำนนต่อคำตอบ
ข้ออ้างเหล่านั้นมีหลักฐานหรือไม่ ?
เราจะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์หลักฐานจากอัล-กุรอานอันทรงเกียรติเหมือนอย่างเคย และต่อมาก็จะนำเสนอวจนะของท่านศาสนทูตของพระองค์ เป็นลำดับต่อไป
อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงมีโองการไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ซูเราะห์อัล-ฟาฎีร โองการที่ 32 ว่า :
{ ثُمَّ أوْرَثْنَا الكِتَابَ الَّذِينَ اصْطَـفَيْنَا مِنْ عِبَادِنَا }
[35:32]จากนั้น เราได้ให้คัมภีร์เป็นมรดกตกทอดแก่บรรดาผู้ซึ่งเราได้เลือกสรรจากปวงบ่าวของเรา
โองการนี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันอย่างชัดแจ้งว่า อัลลอฮ์ ซ.บ.ทรงคัดเลือกบ่าวจำนวนหนึ่งจากบรรดามนุษย์ และพระองค์ทรงมอบมรดกทางวิชาการในคัมภีร์ให้ตกทอดแก่พวกเขา แล้วเรารู้จักบ่าวผู้ถูกคัดเลือกเหล่านี้แล้วหรือยัง ? พวกเขานี่เอง อะฮ์ลุลบัยต์ อ. คือผู้ที่อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงมอบมรดกทางวิชาการในคัมภีร์ให้เป็นมรดกตกทอด
อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงมีโองการไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ซูเราะห์อัล-วากิอะฮ์ อายะที่ 75-79 ว่า :
فَلاَ أُقْسِمُ بِمَوَاقِعِ ٱلنُّجُومِ وَإِنَّهُ لَقَسَمٌ لَّوْ تَعْلَمُونَ عَظِيمٌ إِنَّهُ لَقُرْآنٌ كَرِيمٌ فِي كِتَابٍ مَّكْنُونٍ لاَّ يَمَسُّهُ إِلاَّ ٱلْمُطَهَّرُونَ
[56:75-79]ดังนั้น ข้าขอสาบานด้วยตำแหน่งต่าง ๆ(สถานที่ตก)ของดวงดาว และแท้จริงมันเป็นการสาบานที่ยิ่งใหญ่ หากพวกเจ้ารู้ แท้จริงมันคืออัล-กุรอานอันทรงเกียรติ อยู่ในคัมภีร์ที่ถูกพิทักษ์ไว้ ไม่มีใครสัมผัสมันได้นอกจากบรรดาผู้บริสุทธิ์ เท่านั้น
อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงสาบานในโองการนี้ด้วยการสาบานอันยิ่งใหญ่ว่า อัล-กุรอานอันทรงเกียรติ มีความหมายอันลี้ลับ และมีความนัยอันถูกพิทักษ์รักษาไว้ จะไม่มีใครเข้าถึงความหมายของมัน และความเป็นจริงต่าง ๆ ของมันได้ นอกจากบรรดาผู้ได้รับการชำระขัดเกลาให้สะอาดบริสุทธิ์ พวกเขานี่เองอะฮฺลุลบัยต์ อ. คือผู้ที่อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงขจัดมลทินออกไปจากพวกเขา และทรงชำระขัดเกลาพวกเขาให้สะอาดบริสุทธิ์
[وهم أهل البيت الذين أذهب اللّه عنهم الرجْس وطهّرهم تطهيراً]
โองการนี้ยังให้ความหมายอีกว่า สำหรับอัล-กุรอาน นั้น มีวิชาการเป็นความนัย ซึ่งอัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงประสงค์ประทานให้เฉพาะแต่กับอิมามแห่งอะฮฺลุลบัยต์ อ. คนอื่นนอกจากพวกเขาแล้ว ไม่สามารถรู้ได้นอกจากอาศัยแนวทางจากพวกเขาเท่านั้น
อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงมีโองการว่า
هُوَ الَّذِي أَنزَلَ عَلَيْكَ الْكِتَابَ مِنْهُ آيَاتٌ مُّحْكَمَاتٌ هُنَّ أُمُّ الْكِتَابِ وَأُخَرُ مُتَشَابِهَاتٌ فَأَمَّا الَّذِينَ فِي قُلُوبِهِمْ زَيْغٌ فَيَتَّبِعُونَ مَا تَشَابَهَ مِنْهُ ابْتِغَاءَ الْفِتْنَةِ وَابْتِغَاءَ تَأْوِيلِهِ وَمَا يَعْلَمُ تَأْوِيلَهُ إِلَّا اللَّهُ وَالرَّاسِخُونَ فِي الْعِلْمِ يَقُولُونَ آمَنَّا بِهِ كُلٌّ مِّنْ عِندِ رَبِّنَا وَمَا يَذَّكَّرُ إِلَّا أُولُو الْأَلْبَابِ
[3:7]พระองค์ คือผู้ประทานคัมภีร์ลงมายังเจ้า ในนั้น มีโองการต่างๆ อันชัดแจ้ง อันเป็นแม่บทแห่งคัมภีร์ อีกส่วนหนึ่งนั้นความเป็นนัย ดังนั้น พวกที่ในหัวใจของพวกเขามีความรวนเร พวกเขาก็จะปฏิบัติตามส่วนที่เคลือบแคลงจากมัน เพื่อแสวงหาความเสียหาย และแสวงหาการตีความหมายมัน แต่ไม่มีใครรู้การตีความหมายมันได้ นอกจากอัลลอฮฺ และบรรดาผู้สันทัดจัดเจนในวิชาการ พวกเขากล่าวว่า เราศรัทธาต่อพระองค์แล้ว ทุกประการล้วนมาจากพระผู้อภิบาลของเรา แต่ไม่มีใครคิดใคร่ครวญได้ นอกจากปวงผู้มีปัญญา
โองการอันทรงเกียรตินี้ให้ความหมายว่า อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงประทานความรู้ที่ลี้ลับไว้ในอัล-กุรอาน และไม่มีใครตีความหมายได้ นอกจากอัลลอฮ์ ซ.บ. และบรรดาผู้สันทัดจัดเจนทางวิชาการ เหมือนกันกับความหมายที่ได้เข้าใจไปแล้วในโองการก่อน เพราะเหตุว่า บรรดาผู้สันทัดจัดเจนทางวิชาการนั้นคือ อะฮฺลุลบัยต์ อ. ด้วยเหตุนี้ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ ศ. จึงได้ชี้แจงความคิดตรงนี้ว่า
لا تتقدموهم فتهلكوا، ولا تقصروا عنهم فتهلكوا، ولا تعلّموهم فإنّهم أعلم منكم
“พวกท่านอย่าได้กระทำการล้ำหน้าพวกเขา และอย่าทำให้บกพร่องไปจากพวกเขา เพราะจะทำให้พวกท่านเสียหาย และจงอย่าสอนสั่งพวกเขา เพราะพวกเขานั้นรู้ดีกว่าพวกท่าน”(จาก “อัศ-ศ่อวาอิก” ของอิบนิฮะญัร หน้า 148, “อัด-ดุรรุล-มันษูร” ของซะยูฏี เล่ม 2 หน้า 60, “กันซุล-อุมมาล” เล่ม 1 หน้า 168, “อุซะดุล-ฆอบะฮฺ” เล่ม 3 หน้า 137)
ขณะเดียวกัน ท่านอิมามอะลี อ. ได้กล่าวถึงตัวท่านเองว่า
“ไหนเล่าคนที่อ้างตนเองว่าเป็นผู้สันทัดจัดเจนในวิชาการ นอกเหนือไปจากพวกเรา นับเป็นการปฏิเสธและละเมิดต่อพวกเรา แท้จริงอัลลอฮฺ(ซ.บ.)ทรงยกย่องพวกเราและทำให้พวกเขาตกต่ำ พระองค์ทรงประทานให้พวกเรา และทรงหวงห้ามให้พวกเขา พระองค์ทรงนำให้เราเข้าไปและทรงนำพวกเขาออกมา เพราะเรานี่เอง ทางนำจึงสัมฤทธิ์ผล และคนตาบอดก็จะได้รับแสงสว่าง : แท้จริงบรรดาอิมามจากพวกกุเรชนั้น ถูกปลูกฝังไว้ในท้องนี้อันมาจากฮาชิม ไม่มีใครปกครองได้ นอกจากพวกเขา และอำนาจการปกครองจะสำเร็จมิได้นอกจากพวกเขา…” (จาก “นะฮฺญุล บะลาเฆาะฮฺ” เล่ม 2 หน้า 143, “ซะเราะฮฺมุฮัมมัดอับดุฮฺ คุฏบะฮฺที่ 143)
ดังนั้น ถ้าหากบรรดาอิมามแห่งอะฮฺลุลบัยต์ อ. มิใช่บรรดาผู้สันทัดจัดเจนทางวิชาการแล้ว ใครเล่าที่เป็นบรรดาคนเหล่านั้น ? สำหรับข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีใครในประชาชาตินี้ ทั้งคนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ จะหาญกล้าอ้างว่าตนรู้มากกว่าพวกเขา
พระองค์ตรัสว่า
{ فَاسْألُوا أهْلَ الذِّكْرِ إنْ كُنْتُمْ لا تَعْلَمُونَ }
“ดังนั้นจงถามผู้รู้เถิด ถ้าหากพวกสูเจ้าไม่รู้” (อัน-นะฮฺลุ / 43)
โองการนี้ได้ถูกประทานมาเกี่ยวกับอะฮฺลุลบัยต์อีกเช่นกัน (จาก “ตัฟซีรฏ็อบรี” เล่ม 14 หน้า 134, “ตัฟซีรอิบนุกะษีร” เล่ม 2 หน้า 570, “ตัฟซีรกุรฏุบี” เล่ม 11 หน้า 272, “ชะวาฮิดุต-ตันซีล” เล่ม 1 หน้า 334)
เป็นอันว่า ประชาชาตินี้ จำเป็นจะต้องย้อนกลับไปหาบรรดาอิมามแห่งอะฮ์ลุลบัยต์ภายหลังจากขาดท่านศาสดาไปแล้ว เพื่อจะได้รู้ความจริงต่างๆ แน่นอนบรรดาศ่อฮาบะฮ์ ต่างย้อนกลับไปหาท่าน อะลี บิน อะบีฏอลิบ อ. เพื่อท่านจะได้อธิบายปัญหาต่างๆ ให้แก่พวกเขา เช่นเดียวกับที่ประชาชนได้ย้อนกลับไปหาอะฮฺลุลบัยต์ ต่อมาเป็นเวลาหลายปี เพื่อเรียนรู้ในเรื่องของฮะลาลและฮะรอม และเพื่ออาศัยวิชาการของพวกท่าน ความรู้และจริยธรรมของพวกท่านมาเป็นแนวปฏิบัติ
เมื่อปรากฏว่าอะบูฮะนีฟะฮฺ เองยังกล่าวว่า
“لولا السنتان لهلك النعمان”
“ถ้าหากไม่มีสองปีนี้ แน่นอน นุอฺมาน (ตัวท่านเอง)จะต้องเสียหาย”
อันนี้หมายความว่า สองปีที่ท่านได้รับการศึกษาจากท่านอิมาม ญะอฺฟัร ศอดิก อ. และเมื่อปรากฏว่าอิมามมาลิก บินอะนัซ กล่าวว่า
مارأتْ عينٌ، ولا سمعتْ أذنٌ، ولا خطر على قلب بشر أفضل من جعفر الصادق فضلاً و علماً و عبادة وورعاً
“สายตาฉันไม่เคยเห็น หูฉันไม่เคยได้ยิน จิตใจฉันไม่เคยสั่นระรัวกับมนุษย์คนใดในด้านคุณงามความดีที่มากกว่า ท่านญะอฺฟัร ศอดิก ทั้งในด้านเกียรติ ด้านความรู้ และด้านการสำรวมตน” (มะนากิบอาลิอะบีฏอลิบ” เรื่องท่านอิมามศอดิก)
เมื่อเรื่องราวเป็นอย่างนี้ โดยการยอมรับของบรรดาอิมามแห่งอะฮฺลิซซุนนะฮฺ วัล-ญะมาอะฮ์เอง แล้วทำไมหลังจากที่มีหลักฐานอย่างนี้แล้ว และหลังจากที่มีข้อมูลทางประวัติศาสตร์ยืนยันอย่างนี้แล้วว่า บรรดาอิมามแห่งอะฮฺลุลบัยต์ อ. เป็นผู้รู้สูงสุดประจำยุคสมัยของพวกท่าน ยังจะมีการจงเกลียดจงชัง และการปฏิเสธในลักษณะนี้อีก ?
แล้วมันจะแปลกประหลาดอะไร ตรงไหนที่อัลลอฮ์ ซ.บ. จะทรงมอบวิทยปัญญาและวิชาความรู้อันลึกซึ้งแก่บรรดาเอาลิยาอ์ของพระองค์ “ที่ทรงคัดเลือกพวกเขาไว้” และทรงแต่งตั้งพวกเขาให้เป็นผู้นำของมวลผู้ศรัทธา และเป็นอิมามของมวลมุสลิม
ถ้าหากบรรดามุสลิมศึกษาหลักฐานของกันและกัน แน่นอนจะต้องยอมรับโดยคำตรัสของอัลลอฮ์ ซ.บ. และศาสนทูตของพระองค์ ศ. และแน่นอนพวกเขาจะต้องเป็นประชาชาติเดียวกันที่กระชับมั่นต่อกันและกัน และจะไม่มีความขัดแย้งใดๆ ไม่มีสำนักวิชาการใดๆ ไม่มีมัซฮับใดๆ ไม่มีนิกาย ไม่มีพวกนั้นพวกนี้
แต่จำเป็นที่ทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามนี้ เพื่ออัลลอฮ์ ซ.บ. จะได้ทรงตัดสินกิจการหนึ่งอย่างเป็นกิจจะลักษณะดังโองการที่ว่า
{ لِيَهْلِكَ مَنْ هَلَكَ عَنْ بَيِّنَة وَيَحْيى مَنْ حَيَّ عَنْ بَيِّنَة وَإنَّ اللّهَ لَسَمِيعٌ عَلِيمٌ }
“เพื่อพระองค์จะทำลายผู้ทำลายหลักฐานอันชัดแจ้งและทรงให้ชีวิตแก่ผู้ที่ให้ชีวิตแก่หลักฐานอันชัดแจ้งแท้จริง อัลลอฮฺทรงได้ยิน ทรงรอบรู้เสมอ” (อัล-อัมฟาล อายะที่ 42 )
บทความโดย เอกภาพ