ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในมุมมองของนักวิชาการตะวันตก
ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในมุมมองของนักวิชาการตะวันตก
การแต่งตั้งและการส่งศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่จากพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อมนุษยชาติ ด้วยผลของความอุตสาห์พยายามและการรับใช้บริการของท่าน ทำให้ความมืดมนต่างๆ ของความโง่เขลาและความไม่รู้ที่ปกคลุมอยู่ในสังคมโลกได้ถูกขจัดออกไป สายลมแห่งสันติภาพและความสงบสุขได้ปกคลุมเหนือบรรยากาศของโลก ต้นไม้แห่งความเจริญรุ่งเรืองและความผาสุกได้เบ่งบาน กระแสคลื่นแห่งการปฏิเสธและการตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้าถูกทำลายลง
ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือแบบอย่างแห่งอุดมคติสำหรับชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความผาสุก ด้วยกับคำชี้นำสั่งสอนของท่านได้นำทางมนุษยชาติออกจากทางและหุบเหวแห่งความหายนะและความทุกข์ยาก มาสู่เส้นทางหลักของความผาสุกอันเป็นนิรันดร์ และหลุดพ้นออกจากกระแสคลื่นที่บ้าคลั่งของความไร้ศาสนาและการปฏิเสธพระเจ้า มนุษย์ทุกคนต้องการความผาสุกและความสำเร็จที่แท้จริงในชีวิต แต่ทุกคนก็ไม่พยายามที่จะศึกษาและแสวงหาเพื่อให้บรรลุสู่ความผาสุกและความสำเร็จดังกล่าว
วันนี้อิสลามมิใช่ศาสนาที่ไม่เป็นที่รู้จักกันในทั่วทุกมุมของโลกอีกต่อไป มนุษยชาติทั้งมวลของโลก ทุกเชื้อชาติและทุกภาษาต่างรู้จักศาสนาแห่งพระผู้เป็นเจ้านี้เป็นอย่างดี ด้วยชื่อนามอันจำเริญของท่านศาสดามุฮัมมัด อัลมุศฏอฟา (ซ็อลฯ) และไม่เป็นที่ปกปิดสำหรับใครอีกต่อไปที่ว่า การดำรงอยู่ของท่านศาสดาผู้บริสุทธิ์ท่านนี้ เป็นบ่อเกิดของแสงสว่าง (นูร) และความเมตตา (เราะห์มัต) แห่งพระผู้เป็นเจ้า ดังเช่นที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในคัมภีร์อัลกุรอานว่า :
وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ
"และเราไม่ได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อความเมตตาแก่สากลโลก" (1)
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองที่บรรดานักวิชาการคนสำคัญจากเชื้อชาติและประเทศต่างๆ ด้วยกับการศึกษาค้นคว้า ทำให้พวกเขาค้นพบประเด็นสำคัญต่างๆ จากชีวิตและการดำรงอยู่ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)
ซึ่งเราจะขอนำเสนอบางส่วนจากการยอมรับและคำสารภาพของบรรดานักวิชาการบางท่านเหล่านั้นไว้ในที่นี้
อัจฉริยะบุรุษผู้ยิ่งใหญ่แห่งประวัติศาสตร์
คาเรน อาร์มสตรอง (Karen Armstrong) นักเขียนชาวอังกฤษ เกิดในปี ค.ศ. 1944 หลังจากเหตุการณ์ 11 กันยายน 2001 ได้เขียนหนังสือ "ชีวประวัติของศาสดามูฮัมหมัด (ซ็อลฯ)" (2) เป็นหนึ่งในหนังสือที่ขายดีที่สุดในสหรัฐอเมริกาและยุโรป หลังจาก 11 กันยายน 2001 แรงจูงใจหลักของเขาในการเขียนหนังสือเล่มนี้ คือการปกป้องอิสลามและการสร้างความเข้าใจต่อชาวคริสต์เกี่ยวกับศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เธอได้เขียนในบทนำหนังสือเล่มนี้ว่า
"ความมุ่งมั่นโดยส่วนใหญ่ของศาสดา ถูกใช้ไปในการยับยั้งพฤติกรรมต่างๆ ที่ป่าเถื่อนรุนแรง เนื่องจากคำว่า "อิสลาม" นั้นหมายถึง การยอมจำนนต่อพระเจ้า จากรากศัพท์ของคำว่า "สลาม" ซึ่งหมายถึง "ความสงบ" หรือ "สันติภาพ" (ซุลห์) มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือบุรุษนักต่อสู้ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นผู้แสวงหาสันติภาพอย่างแท้จริง ทั้งนี้เนื่องจากท่านได้วางชีวิตและความเชื่อของบรรดาสหายที่ใกล้ที่สุดของท่านไว้ในกระบวนการสันติภาพที่มักกะฮ์จนกระทั่งบรรลุสู่เอกภาพและความสามัคคีโดยไม่ต้องนองเลือด ท่านได้พยายามในการเจรจาและการสงบศึกแทนการหลั่งเลือดและการสังหารหมู่ การศึกษาทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวที่แท้จริงของชีวิตของท่านศาสดามูุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่อันตรายของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาตินี้นับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง และจะต้องไม่ปล่อยให้ผู้ที่มีความอคติทำการบิดเบือนชีวประวัติของท่านศาสดาเพื่อประโยชน์ของตนเอง คนร่วมสมัยชาวตะวันตกสมควรอย่างยิ่งที่จะเรียนรู้บทเรียนต่างๆ ที่สำคัญจากเรื่องราวชีวิตของท่านสำหรับนำทางตนเองในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลง"
เธอยังได้เขียนอีกว่า "หากเรามองมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ด้วยกับมุมมองเดียวกันกับที่บรรดาบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์มองแล้ว เราจะเชื่อมั่นได้อย่างง่ายดายว่า ท่าน (มุฮัมมัด) เป็นอัจฉริยะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ความเชื่อดังกล่าวนี้ ไม่ใช่เนื่องจากประเด็นของการประทานอัลกุรอานลงมา หรือการสร้างศาสนาที่ยิ่งใหญ่ หรือการพิชิตต่างๆ ทางการทหาร แต่ทว่าเนื่องจากสภาพแวดล้อมต่างๆ อันเป็นเฉพาะ ที่ท่านเจริญเติบโตขึ้นมา การยืนหยัดต่อสู้และชัยชนะที่ท่านได้สร้างให้กับเรา"
มนุษย์ผู้มีเป้าหมายที่สูงส่ง
นายพลเซอร์เพอร์ซี่ ไซเกส (Brigadier-General Sir Percy Moles worth Sykes) (1867-1949) นักเขียนที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ ได้เขียนไว้ในหนังสือ "ประวัติศาสตร์อิหร่าน" (3) ว่า
"ในความเชื่อส่วนตัวของผม ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) เป็นมนุษย์ที่มีความยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกของมนุษยชาติ ด้วยกับเป้าหมายอันสูงส่งของท่าน ท่านได้ใช้ความอุตสาห์พยายามทั้งหมดของท่านเพื่อทำลายการตั้งภาคีและการเคารพบูชารูปเจว็ดออกไปจากความคิดทั้งหลาย และแทนที่มันด้วยกับความคิดอันสูงส่งของอิสลาม การรับใช้บริการอย่างมากมายที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่ท่านได้นำเสนอแห่มนุษยชาติในหนทางนี้ คือการรับใช้บริการที่ผมต้องขอเชิดชูสรรเสริญและน้อมคารวะ"
นักปกครองที่เที่ยงธรรม
ฟรอง ซัวส์ มารี อรูเอต์ วอลแตร์ (Francois-Marie Arout Voltaire) นักปรัชญาและนักเขียนที่ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศสในคริสต์ศตวรรษที่ 18 (1694-1778) เขาเขียนว่า
“มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือมหาบุรุษอย่างไม่ต้องสงสัย และเขาได้อบรมขัดเกลาบรรดาบุรุษที่ยิ่งใหญ่จากความดีงามของตน เขาคือผู้พิชิตโลกที่ทรงอำนาจ เป็นผู้วางกฎระเบียบที่ชาญฉลาด เป็นนักปกครองที่เที่ยงธรรม เป็นศาสดาที่มีความสำรวมที่สุด และเขาได้ทำการปฏิวัติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดขึ้นบนโลกนี้” (4)
นักปฏิรูปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
เซอร์วิลเลียม มูเยอร์ (Sir. William Muir) (1819-1905) นักประวัติศาสตร์ที่มีชื่อเสียงชาวอังกฤษ เขาได้เขียนไว้ในหนังสือ "ชีวิตของมุฮัมมัด" ของเขาว่า
"ศาสนาของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มีความเรียบง่าย คำพูดของเขามีความชัดเจน และสิ่งต่างๆ ที่เขากระทำนั้นทำให้สติปัญญาทั้งหลายต้องตะลึง ในประวัติศาสตร์ของโลกไม่มีนักปฏิรูปคนใดเหมือนกับมุฮัมมัด เขาได้ทำให้หัวใจทั้งหลายตื่นขึ้น ฟื้นฟู (ขัดเกลา) จริยธรรมของสาธารณชนและวางรากฐานศีลธรรมที่มั่นคงได้ในระยะเวลาที่แสนสั้น" (5)
มหาบุรุษผู้เรืองนาม
ดร.กุสตาฟ เลอบอน (Gustave Le Bon) (1841-1931) นักเขียนชื่อดังของฝรั่งเศสเกี่ยวได้เขียนเกี่ยวกับบุคลิกภาพของท่านศาสดาอิสลามไว้เช่นนี้ว่า
"หากเราต้องการที่จะเปรียบเทียบความยิ่งใหญ่และความสำคัญของเหล่าบุรุษที่ยิ่งใหญ่ของโลก จากผลงานและการทำงานต่างๆ ของพวกเขาแล้ว จำเป็นต้องกล่าวว่า ศาสดาของอิสลาม (ซ็อลฯ) ได้กลายเป็นมหาบุรุษผู้เรืองนามที่สุดในท่ามกลางปวงบุรุษเหล่านั้น บรรดานักประวัติศาสตร์โบราณเนื่องจากความอคติต่างๆ ทางศาสนา พวกเขาจึงไม่ให้ความสำคัญและความใส่ใจใดๆ ต่อผลงานต่างๆ ของเขา แต่ในปัจจุบันนี้บรรดานักประวัติศาสตร์คริสเตียนได้เริ่มมีการพูดถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วยความเป็นธรรม" (6)
ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กับการปฏิวัติฝรั่งเศส
Constantin Virgil Gheorghiu (1916-1992) นักเขียนชาวโรมาเนีย เจ้าของหนังสือ "มุฮัมมัด ศาสดาที่จำเป็นต้องมาทำความรู้จักกันใหม่" (7) ได้เขียนว่า
"การปฏิวัติที่มุฮัมมัดต้องการจะทำให้เกิดขึ้นในคาบสมุทรอาหรับในเวลานั้น เมื่อพิจารณาถึงขนบธรรมเนียมและจารีตประเพณีของชาวอาหรับและอิทธิพลของหัวหน้าของตระกูลต่างๆ ที่มีอยู่อย่างสูง การที่แต่ละตระกูลและแต่ละชนเผ่าได้จัดตั้งหน่วยทางสังคมที่มีขนาดใหญ่ของตนเองขึ้นมานั้น ถือว่ามีความยิ่งใหญ่กว่าการปฏิวัติฝรั่งเศส”
ทูตแห่งสันติภาพและความสันติสุข
จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) (1856-1905) นักเขียนบทละครชาวไอริช ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในวรรณกรรมร่วมสมัยและเป็นคู่แข่งของเช็คสเปียร์ นักเขียนบทละครและนักกวีชาวอังกฤษ เขาเขียนว่า
"ผมประหลาดใจอยู่เสมอกับศาสนาของมุฮัมมัด ที่มีคุณสมบัติอันยอดเยี่ยม อันเป็นชีวิตที่น่าตื่นตาตื่นใจและมีการเคารพจนถึงขั้นสูงสุด ในทัศนะของผมคิดว่าอิสลามเป็นศาสนาที่มีคุณลักษณะอันเฉพาะ ซึ่งสามารถดึงดูดความหลากหลายของการเปลี่ยนแปลงมายังตน และสามารถปรับรูปแบบเพื่อการปฏิบัติตามให้เข้ากับทุกยุคทุกสมัยได้ ฉันขอพยากรณ์เกี่ยวกับศาสนาของมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ว่า ความพยายามของท่านจะเป็นที่ยอมรับสำหรับยุโรปในวันพรุ่งนี้ ดังเช่นที่ยุโรปในวันนี้เริ่มยอมรับอิสลามแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าคนเฉกเช่นศาสดาของอิสลามได้ปกครองโลกในยุคใหม่ แน่นอนเขาต้องสามารถแก้ไขปัญหาโลกได้สำเร็จลุล่วง เขาสามารถสร้างสันติภาพและความสันติสุข อันเป็นความปรารถนาอย่างแรงกล้าของมนุษย์ได้แน่นอน"
จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ (George Bernard Shaw) ภายหลังจากการเข้ารับอิสลาม เขากล่าวว่า “ในทัศนะของผม ผมคิดว่าศาสนาอิสลามเป็นเพียงศาสนาเดียวที่มีความพร้อมที่จะสามารถย่างก้าวไปพร้อมกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติในยุคสมัยต่างๆ ได้” (8)
เขาได้กล่าวต่อไปอีกว่า “ผมขอพยากรณ์เกี่ยวกับศาสนาของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ว่า ในอนาคต ยุโรปจะยอมรับศาสนานี้ เช่นเดียวกับที่ในปัจจุบันนี้ ศาสนานี้ก็เป็นที่ยอมรับของชาวยุโรปแล้วเช่นกัน” (9)
มหาบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ศาสตราจารย์วีล ดูแรนต์ (William James Durant) นักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียง เขียนว่า
"หากจะเปรียบเทียบระดับผลกระทบของมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ท่านนี้ที่มีในหมู่ประชาชน เราจำเป็นต้องกล่าวว่าศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) คือมหาบุรุษที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ท่านได้พยายามยกระดับความรู้และจริยธรรมของหมู่ชนท่ามกลางความร้อนจัดของอากาศ ความแห้งแล้งของทะเลทราย และความป่าเถื่อนที่ถูกครอบงำด้วยความมืดไปสู่จุดสูงสุด ในเรื่องนี้ท่านได้ประสบความสำเร็จอันเป็นความสำเร็จที่สูงส่งของบรรดานักปฏิรูปทั้งมวลของโลก นอกจากท่านแล้วน้อยคนนักที่จะพบเห็นได้อย่างท่าน ที่ได้ทุ่มเทความพยายามและความหวังทั้งหมดของท่านไปในหนทางของศาสนา เนื่องจากท่านมีความเชื่อมั่นในศาสนา ท่านได้สร้างประชาติหนึ่งเดียว (อุมมะตัน วาฮิดะฮฺ) ขึ้นมาจากเผ่าชนต่างๆ ที่ป่าเถื่อน เคราพบูชาเทวรูปที่กระจัดกระจายอยู่ในทะเลทราย ท่านได้นำศาสนาที่สูงกว่าศาสนายิว ศาสนาคริสต์ และศาสนาอาหรับโบราณมา เป็นศาสนาที่เรียบง่าย มีความชัดเจนและมีความเข้มแข็งที่เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณต่างๆ ที่เป็นรากฐานของความกล้าหาญและการยืนหยัดอย่างมั่นคงของหมู่ชน ซึ่งได้รับชัยชนะในชนเพียงรุ่นเดียว การเผชิญสงครามน้อยใหญ่นับร้อยครั้ง ในระยะเวลาหนึ่งศตวรรษที่ท่านได้สร้างจักรวรรดิที่ยิ่งใหญ่และกว้างขวางขึ้นมา และในยุคสมัยของเรานี้ถือเป็นขุมกำลังสำคัญที่มีอิทธิพลมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก" (10)
ทูตแห่งความรอดพ้น
เลโอ ตอลสตอย (Leo Tolstoy) (1828-1910) นักเขียนที่มีชื่อเสียงของรัสเซีย ซึ่งเขาได้เขียนหนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่งในการตอบโต้ผู้ที่กล่าวหาท่านศาสดาของอิสลามว่า เป็นผู้แสวงหาอำนาจและมักมากในกามรมย์ ซึ่งมีชื่อว่า “The Rule of Prophet Muhammad” พร้อมกันนี้ยังมีคำพูดต่างๆ ที่ปราดเปรื่องของเขาที่ถูกรวบรวมไว้เป็นหนังสือเฉพาะ ได้รับการแปลเป็นภาษารัสเซียและพิมพ์เผยแพร่ภายใต้ชื่อว่า "คำพูดต่างๆ ของมุฮัมมัด" เขาเขียนว่า
“ไม่เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยใดๆ ที่ว่าศาสดาของอิสลาม (ซ็อลฯ) คือนักปฏิรูปที่ยิ่งใหญ่ของโลก และเป็นนักปฏิรูปที่รับใช้บริการสังคมของมนุษยชาติอย่างยิ่งใหญ่ และเพียงพอแล้วสำหรับความภาคภูมิใจของท่าน ที่ได้ปลดปล่อยประชาชาติที่ป่าเถื่อนและชอบหลั่งเลือดออกจากเงื้อมมือของความชั่วร้ายของพฤติกรรมและนิสัยที่น่ารังเกียจ และเปิดประตูแห่งความเจริญก้าวหน้าให้แก่พวกเขา ในขณะที่ไม่มีมนุษย์ธรรมดาคนใดสามารถที่จะดำเนินการอันน่าพิศวงนี้ได้ ดังนั้นศาสดาของอิสลาม (ซ็อลฯ) ท่านนี้ สมควรได้รับการเคารพและการให้เกียรติอย่างสมบูรณ์ บทบัญญัติของอิสลามที่สอดคล้องกับสติปัญญาและภูมิปัญญา จะครอบคลุมไปทั่วโลกในอนาคต" (11)
แรงดึงดูดและความมีสง่าราศีของมุฮัมมัด (ซ็อลฯ)
เอ็ดเวิร์ด กิบบอน (Edward Gibbon ) (1731-1794) นักประวัติศาสตร์ผู้เรืองนามชาวอังกฤษ ในหนังสือของเขา "ประวัติศาสตร์ของความเสื่อมและการล่มสลายของจักรวรรดิโรมัน" (12) เล่มที่ 5 หน้า 335 ตีพิมพ์ในลอนดอนในปี 1838-39 เขาได้เขียนเกี่ยวกับคุณลักษณะพิเศษต่างๆ ของท่านศาสดาของอิสลาม (ซ็อลฯ) ไว้เช่นนี้ว่า
"มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มีคุณลักษณะพิเศษต่างๆ ในด้านของความงดงามและมีหน้าตาดี ความเป็นพิเศษเหล่านี้ไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญ นอกจากผู้ที่ไม่มีมัน ก่อนที่ท่านจะเริ่มต้นการพูดและการเทศนานั้น ไม่ว่าผู้ฟังจะเป็นคนเดียวหรือเป็นหมู่คณะก็ตาม ทุกคนล้วนถูกดึงดูดด้วยความเมตตาและความรักของท่านก่อนหน้าแล้ว ทุกคนจะมุ่งความสนใจไปยังใบหน้าที่งดงามของท่าน ลักษณะเคร่งขรึมและสง่างาม ดวงตาที่คม รอยยิ้มที่หวานและดึงดูด เคราที่ดกหนา ลักษณะท่าทางที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึกทางจิตวิญญาณของท่าน และท้ายที่สุดความนุ่มนวลต่างๆ ที่ท่านได้แสดงออกในการสนทนา ทั้งหมดเหล่านี้จะบีบบังคับให้ทุกคนต้องเอ่ยปากยกย่องให้เกียรติท่าน ในกิจการต่างๆ ทางด้านสังคมและงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตนั้น ท่านจะระวังรักษามารยาทและจารีตประเพณีของดินแดนของตนอย่างสมบูรณ์ ความอ่อนน้อมถ่อมตน การให้เกียรติต่อคนรวย คนมั่งมี คนจนและคนขัดสนทั้งหมดนั้นท่านจะแสดงออกอย่างเท่าเทียมกัน ความชัดเจนที่ท่านแสดงออกในคำพูดนั้น ท่านจะไม่ละทิ้งความคลุมเครือยังปลายทางสุดท้ายในเป้าหมายสูงสุดของท่าน มารยาทในการคบหาสมาคมที่ท่านแสดงออกต่อหมู่มิตรในด้านของมิตรภาพนั้น ท่านก็จะระวังรักษาสิ่งเดียวกันนี้กับประชาชนโดยทั่วไปในด้านของมนุษยธรรม ท่านเป็นผู้ที่มีความจำดีเยี่ยม มีสติปัญญาและความเข้าใจอะไรได้อย่างง่ายดายและเป็นคนของสังคม ท่านมีพลังในการจินตนาการสูง การตัดสินของท่านมีความชัดเจน รวดเร็วและเด็ดขาด มีพลังอำนาจในการคิดและการใคร่ครวญ อีกทั้งมีพลังอำนาจในการปฏิบัติและการดำเนินการ"
การปฏิบัติตามท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ)
ศาสตราจารย์ Annemarie Schimmel (1922–2003) นักค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับอิสลาม (Islamologist) ร่วมสมัยชาวเยอรมนี ได้เขียนว่า
"อุดมคติในการลอกเลียนการปฏิบัติของมุฮัมมัดนี่เอง ที่ทำให้มุสลิมจากโมร็อกโกไปจนถึงอินโดนีเซียมีวิถีการปฏิบัติตนแบบเดียวกัน โดยที่ทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในที่แห่งใดก็ตามจะรู้ว่า เมื่อมาถึงบ้านจะปฏิบัติตนอย่างไร จะกล่าววลีคำพูดใดในการทักทาย ในการคบหาสมาคมกับผู้อื่นควรหลีกเลี่ยงสิ่งใด จะกินอย่างไร จะเดินทางอย่างไร เด็กๆ ชาวมุสลิมได้รับการปลูกฝังอบรมวิธีการปฏิบัติเหล่านี้มานานนับหลายศตวรรษ เพียงไม่นานมานี้เองว่าที่โลกของแบบฉบับ (ซุนนะฮ์) ดั้งเดิมต้องถูกทำลายลง ด้วยผลของการรุกรานทางวัฒนธรรมของเทคโนโลยีในปัจจุบัน" (13)
ดันแคน แบล็ค แมคโดนัลด์ (Duncan Black MacDonald) (1863-1943) นักบูรพาคดีศึกษา (Orientalist) ชาวอเมริกัน กล่าวว่า
"แม้จะผ่านไปถึงสิบสี่ศตวรรษแล้วก็ตาม แต่จนถึงขณะนี้มุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ก็ยังคงเป็นบ่อเกิดที่อุดมสำหรับการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวมุสลิม" (14)
เชิงอรรถ :
(1) อัลกุรอานบทอัลอันบิยาอ์ โองการที่ 107
(2) Muhammad: A Biography of the Prophet
(3) A History of Persia
(4) Oeuvres Completes vol. 24 p. 555
(5) ประวัติการเมืองอิสลาม, ฮะซัน อิบรอฮีม ฮัซัน, เล่มที่ 1, หน้าที่ 221
(6) พิจารณาการเผชิญหน้าระหว่างตะวันตกกับอิสลาม, ญะฮอนบัคช์ ซะวากิบ, หน้าที่ 356
(7) La vie de Mahomet
(8) ศาสนาในประสบการณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ในการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติ หน้าที่ 78
(9) The Genuine Islam Vol.No.8, 1936
(10) อิสลามในมุมมองของนักวิชาการตะวันตก, นัศรุลลอฮ์ นีกบีน, หน้าที่ 38
(11) เรื่องราวการดำเนินชีวิตของศาสดาของเรา, ซัยยิดฆุลาม ริฎอ ซะอีดี, หน้าที่ 21
(12) The History of the Decline and fall of the Roman Empire
(13) And Muhammad is His Messenger
(14) อิสลามในศตวรรษที่ยี่สิบ, อับบาส มะห์มูด อักกอซ, อ้างจากนิตยสาร “นิดาเย่ อิสลาม”
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ