อัรบะอีน : ทำไมการรำลึกนี้จะต้องมีต่อไปอีกสี่สิบวัน? (ตอนที่1)
อัรบะอีน : ทำไมการรำลึกนี้จะต้องมีต่อไปอีกสี่สิบวัน? (ตอนที่1)
ทำไมการรำลึกนี้จะต้องมีต่อไปอีกสี่สิบวัน?
หนึ่งในเป้าหมาย ก็คือ หนึ่งถึงสิบมุฮัรรอมนั้นเรามาเพื่อทำความเข้าใจในเนื้อหาของการพลีอันนี้ ซึ่งเหมือนกับเป็นการเข้าเรียนโดยตรง โดยในสังคมเก่าแก่ของชีอะฮฺ หรือที่มีชีอะฮฺเป็นชนส่วนใหญ่นั้น มัจญลิสจะยังคงมีต่อไปจนถึงวัน อัรบะอีน
ส่วนเราหลังจากผ่านพ้นวันที่สิบมุฮัรรอมไปแล้วต่างคนก็แยกย้ายไป อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเราไม่ได้ร่วมในมัจญลิสถึงสี่สิบวัน แต่เราก็ยังสามารถเป็นผู้ที่รำลึกได้ โดยการนำเอาเนื้อหาของสิบวันสิบคืนนั้นมาขบคิด พิจารณา หาคำตอบ เอามาสร้างชีวิต สร้างจิตวิญญาณ ค้นหาเป้าหมาย ปลูกฝังจิตวิญญาณแห่งอาชูรอและกัรบะลาอฺ ให้เข้ามาอยู่ในจิตใจให้ได้ภายในสี่สิบวันนี้ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่มาจากอะอิมมะฮฺ(อ) และอุละมาอฺระดับสูงได้เน้นเป็นอย่างมาก
ถึงแม้ว่า มุฮัรรอมผ่านไปแล้ว ก็ไม่ควรหลุดอย่างสมบูรณ์จากการรำลึกถึงเหตุการณ์กัรบะลาอฺ เพราะนี่เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ อันที่จริงสิบวันยี่สิบวันไม่เพียงพอด้วยซ้ำที่จะขับกล่อมจิตวิญญาณมนุษย์ให้มีจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับจิตวิญญาณของบรรดาวีรชนแห่งกัรบะลาอฺ
สำหรับประเด็นว่า ทำไมการรำลึกถึงอิมามฮุเซน(อ) ต้องครบสี่สิบวัน? นี่เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ ตัวเลข ‘สี่สิบ’ เป็นตัวเลขที่มีความสำคัญที่สุดในอิสลาม ทั้งมีนัยยะ ซ่อนเร้นมากมาย
ในอัลกุรอานตัวเลขนี้ปรากฏขึ้นครั้งแรก ก็คือการพบเจอระหว่าง อัลลอฮฺ(ซบ) กับท่านศาสดามูซา(อ) ที่ภูเขาซีนาย เป็นการพบเจอเหมือนกับการเมียะรอจญ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ) เพียงแต่การเมียะรอจญ์ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ) นั้นไปไกลกว่าท่านศาสดามูซา(อ) การพบเจอของศาสดามูซา(อ) นั้นเป็นการพบเจอกันในโลกนี้และเป็นการพบเจอที่ใกล้ชิด กำหนดเวลาที่อัลลอฮฺ(ซบ) ทรงกำหนดในการพบเจอนั้น เป็นการนำท่านศาสดามูซา(อ) ไปสู่ความสูงสุดทางจิตวิญญาณเท่าที่ศักยภาพของท่านจะไปถึงได้ เพราะศาสดาแต่ละคนจะมีดารอญะฮฺ(ฐานันดร) มีฟะฎิลัต (ความประเสริฐ) ที่แตกต่างกัน ซึ่งในพระมหาคัมภีร์อัลกรุอานก็ได้ยืนยันว่า
تِلْكَ الرُّسُلُ فَضَّلْنَا بَعْضَهُمْ عَلَى بَعْضٍ
“บรรดาศาสนทุตเหล่านั้น เราได้ให้บางคนในหมู่พวกเขาประเสริฐกว่า (เหนือกว่า) อีกบางคน” ( ซูเราะฮ์ อัลบากอเราะฮ์ โองการที่ ๒๕๓)
ในการพบนั้น เป็นการพบที่ยิ่งใหญ่ ท่านศาสดามูซา(อ) ได้พบคำตอบมากมาย ได้ศึกษา และการขอดูอัลลอฮฺ(ซบ) ก็เกิดขึ้นในครั้งนั้น พระองค์ก็ได้แสดงเพียงแค่นูร(รัศมี) ของพระองค์ลงมา ภูเขาก็แตกเป็นเสี่ยงๆ ท่านศาสดามูซา(อ) ก็ตกใจสลบไป เมื่อฟื้นขึ้นมาก็ได้เตาบะฮ์ ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะไปไม่ถึงในจุดหนึ่ง แต่หลังจากการพบเจอในสี่สิบวันนั้น เหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ที่พัฒนาความเข้าใจ ความรู้จักในมะรีฟัตของท่านศาสดามูซา(อ) ที่มีต่ออัลลอฮฺ(ซบ) ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างมากมาย
การพบเจออันนี้ จะต้องพบเจอกันสี่สิบวัน ซึ่งสี่สิบวันนี้ ถูกกล่าวสองครั้งในกุรอาน ครั้งแรกตอนที่ท่านศาสดามูซา (อ) บอกกับบนีอิสรออีล
وَوَاعَدْنَا مُوسَىٰ ثَلَاثِينَ لَيْلَةً وَأَتْمَمْنَاهَا بِعَشْرٍ فَتَمَّ مِيقَاتُ رَبِّهِ أَرْبَعِينَ لَيْلَةً
และเราได้สัญญาแก่มูซาสามสิบคืน และเราได้ให้มันครบอีกสิบ ดังนั้นกำหนดเวลาแห่งพระเจ้าของเราจึงครบสี่สิบคืน (ซูเราะฮ์ อะรอฟ โองการที่ ๑๔๒)
ดังนั้นการพบเจอกับพระผู้อภิบาลของเขาสมบูรณ์ด้วยสี่สิบวัน จริงๆ แล้วนั้นใช้คำว่า สี่สิบคืน ในการพบเจอ ซึ่งก็มีนัยยะอีกเช่นกัน ก็คือสี่สิบวันสี่สิบคืนนั้นเอง แต่ท่านศาสดามูซา(อ) บอกกับ บนีอิสรออีล ว่าสามสิบคืน นั้นก็มีนัยยะของการทดสอบ บนีอิสรออีลว่า ลองให้ศาสดาบอกน้อยไปกว่าความจริง คือสิบวัน เพื่อทดสอบดู ….
แต่แค่สิบวัน พี่น้อง !!! จากผู้ภักดีต่ออัลเลาะฮ์(ซบ) กลายเป็นบุคคลที่บูชา ลูกวัว วัวสีแดง วัวที่ทำมาจากเงินที่พวกเขาได้รวบรวมมา !!!!
และอีกโองการหนึ่ง อัลเลาะฮ์ (ซบ) ได้ประกาศ ว่า
وَإِذْ وَاعَدْنَا مُوسَىٰ أَرْبَعِينَ لَيْلَةً
“และจงรำลึกถึง ขณะที่เราได้ให้สัญญาแก่มูซาไว้สี่สิบคืน” (ซูเราะฮ์ บากอเราะฮ โองการที่ ๕๑)
น้อยกว่านี้ไม่เพียงพอ น้อยกว่านี้ไม่ประสบความสำเร็จในเป้าหมายอันนั้น ศาสดามูซา(อ) จะต้องอยู่ให้ครบสี่สิบวันฉะนั้น แม้ได้บอกสัญญากับบนีอิสรออีลว่าสามสิบวัน อัลลอฮฺ(ซบ) ก็ไม่ให้กลับ เพราะต้องใช้เวลาสี่สิบวันจึงจะประสบความสำเร็จ นั่นคือ ตัวเลข สี่สิบที่สำคัญ และมีมุมมองทางบวกที่ปรากฏในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งหลังจากนั้นตัวเลขสี่สิบในรูปลักษณะอื่นๆ ก็ได้ถูกนำมาเปิดเผย ถึงความสำคัญในเรื่องนี้ ถ้าทำการค้นคว้า ก็จะพบว่าบรรดาศาสดาเกือบทั้งหมด ปฏิบัติภารกิจศาสนาเมื่ออายุครบสี่สิบปี ยกเว้นบางศาสดาเท่านั้นด้วยเหตุผลบางประการ ซึ่งการเป็นศาสดาในทัศนะชีอะฮ์นั้น เป็นศาสดาตั้งแต่อยู่ที่ดาวดึงส์ แต่เริ่มประกาศ ภารกิจความเป็นศาสดาเมื่อตอนที่มีอายุครบสี่สิบปี ดังนั้น เลขสี่สิบถือว่าเป็นตัวเลขที่มีนัยยะที่สำคัญ เป็นเลขถูกเลือกในการกำหนดภารกิจของศาสดา
อีกหนึ่งความสำคัญของเลขสี่สิบ ก็คือ ในฮะดีษจำนวนมากได้อธิบายว่า หากเราจะฝึกฝนอะไรก็แล้วแต่ให้เป็นนิสัย ก็ให้ฝึกฝนให้ครบสี่สิบวัน เช่น เมื่อ ผู้ใดนมาซไม่ครบห้าเวลาก็จงพยายามให้นมาซให้ครบห้าเวลาเป็นเวลาสี่สิบวัน หลังจากนั้นไม่มีวันที่เขาจะทิ้งนมาซ หรือ ผู้ใดต้องการเคร่งครัดในนมาซมุสตะฮับ หรือทำอะไรก็แล้วแต่ ก็ให้ทำจนครบสี่สิบวัน
ในตัวบทของฮะดีษกรณีเช่นนี้มีอยู่มากมาย เช่น ผู้ใดต้องการอยู่กับอัลกุรอานตลอดเวลา อ่านกุรอานไม่ทิ้ง ก็ฝึกฝนให้อ่านกุรอานสี่สิบวัน หลังจากนั้น อินชาอัลเลาะฮ์ ไม่มีวันที่เราจะผ่านวันนั้นไปโดยไม่ได้อ่านกุรอาน
นอกจากนั้น ยังมีอีกมากมาย ที่เกี่ยวกับเลขสี่สิบ ใครอยากมีความรู้ศาสนาอยู่กับตัวเอง ทั้งทางอุดมการณ์และอื่นๆ ท่านศาสดาสั่งเสียว่า ให้ท่องจำฮะดีษของเรา สี่สิบฮะดีษ
“ผู้ใดในหมู่ประชาชาติของฉัน ที่ได้ท่องจำสี่สิบฮะดีษ ที่จำเป็นต่อการดำรงศาสนาของเขา ในวันกิยามะฮ์อัลลอฮฺจะให้เขาฟื้นขึ้นมาในฐานะฟะกีฮฺ(นักปราชญ์) ผู้รอบรู้ (คือเป็นหนึ่งในอุละมาอฺในวันกิยามะฮฺ)
ซึ่งในฮะดีษนี้มีคำอธิบายอีกว่า ฮะดีษนี้ต้องอยู่ในชีวิตของเขา คือ พฤติกรรมการปฏิบัติของเขาตรงกับสี่สิบฮะดีษเป็นอย่างน้อย ในเบื้องต้นการจำสี่สิบฮะดีษก็เป็นสิริมงคลอยู่แล้ว กล่าวคือ สี่สิบฮะดีษที่เขาปฏิบัติได้ รักษาให้อยู่ในตัวของเขา เขาคือผู้ปฏิบัติตัวตามฮะดีษของศาสดาถึงสี่สิบฮะดีษ
อันที่จริง ตัวเลขสี่สิบนี้นอกจากส่งผลในด้านบวกแล้ว ก็จะส่งผลในด้านลบด้วยเช่นกัน เพราะมีฮะดีษอีกจำนวนหนึ่ง ที่ศาสดามุฮัมมัด(ซ) กล่าวว่า “ใครอยู่กับใคร ใครคบกับใคร ครบสี่สิบวัน เขาก็จะกลายเป็นพวกนั้น”
เช่น สมมุติว่า ทั้งชีวิตของเราอยู่กับกาเฟรมุชริกสี่สิบวันสี่สิบคืน อยู่กับคนไม่นมาซ กินเหล้า คนกลับกลอก ไม่เคร่งครัด ถ้าใครเป็นมิตรไปมากันตลอดสี่สิบวันเมื่อไหร่ ก็จะเป็นพวกนั้น ถ้าอยู่กับยิวเราก็จะเป็นเป็นยิว ถ้าอยู่กับคนไม่นมาซเราก็เป็นพวกนั้น นั่นคือเรื่องเลขสี่สิบ ซึ่งกล่าวได้ว่า เลขสี่สิบเปลี่ยนมนุษย์ได้ โดยบางครั้งเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดี และบางครั้งเปลี่ยนไปในทิศทางที่ไม่ดีก็ได้
นี่คือความสำคัญอีกประการหนึ่งของตัวเลขสี่สิบ ดังนั้นชีวิตมนุษย์ต้องมีความระมัดระวังอย่างมากมาย หากว่าเราต้องการที่จะตัดขาดพฤติกรรมใดที่ไม่ดีของมนุษย์ ก็ควรพยายามต่อสู้ตัดขาดกับสิ่งนั้นให้ได้สี่สิบวัน และอินชาอัลเลาะฮ์ (ซบ) ในฮะดีษต่างๆ ยืนยันว่าเขาจะสำเร็จกับการต่อสู้นั้น นี่คือส่วนหนึ่งของความสำคัญของเลขสี่สิบจากฮะดีษ ซึ่งที่จริงแล้วยังมีฮะดีษอีกมากมายที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แม้แต่การรำลึกถึงผู้ตายเรา ก็มีริวายะฮ์ว่า เมื่อบุคคลใดได้เสียชีวิตแล้วเขาเป็นผู้ศรัทธา ให้เรารำลึกถึงความดีของเขาสี่สิบวัน เมื่อจะพูดถึงเขาให้พูดถึงความดีต่างๆ หรือเมื่อผู้ศรัทธาเสียชีวิตไป ท่านอิมามญะอฺฟัร ซอดิก (อ) ก็สั่งเสียว่าให้เราไปที่กุโบร์ของเขาถึงสี่สิบวันเป็นอย่างน้อย เพื่อทำให้คนที่ยังมี ชีวิตอยู่เห็นว่า นี่คือสุสานของผู้ที่มีเกียรติ ไปที่กุโบร์เขาให้ได้สี่สิบวัน ซึ่งเป็นมุสตะฮับให้ปฏิบัติ นี่คือความสำคัญของเลขสี่สิบ
การทำบุญสี่สิบวันในสายธารของเรามีหลักฐานชัดเจน ซึ่งก็สงสารแนวทางอื่นๆ เพราะพวกหนึ่งก็ต่อต้าน ส่วนอีกพวกหนึ่งอยากทำแต่ไม่มีหลักฐานที่จะหักล้างพวกต่อต้าน แต่ในสายธารของเราเป็นคำสั่งเสียของอะอิมมะฮฺ(อ) ว่า เมื่อคนตายครบสี่สิบวันแล้วต้องทำบุญ และ รำลึกถึงเขา และในอีกริวายะห์ อธิบายว่า ทุกๆ อะอิมมะฮฺ(อ) ที่จากโลกนี้ไป จะทำบุญและจะจัดการรำลึกจะจัดมัจญลิสใหญ่อีกครั้งเมื่อครบสี่สิบวันของการรำลึกการเป็นชะฮีดของพวกท่าน
ยกเว้นกรณีของอิมามฮุเซน(อ) เท่านั้น ที่ประเสริฐกว่าอิมามท่านอื่นๆ คือ คำสั่งเสียของบรรดาอิมามบอกว่าสำหรับอิมามฮุเซน(อ) จะต้องรำลึกสี่สิบวันทุกๆ ปีตลอดไป จนถึงวันกิยามะฮฺ
เราจะเห็นว่า ไม่มีสี่สิบวันของท่านอิมามอะลี(อ) หรือท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ) หรืออิมามอื่นๆ ทั้งที่ทุกๆ อิมามมีความสำคัญเท่าเทียมกัน ทุกอิมามเป็นชะฮีดเหมือนกัน
เราไม่มีการจัดสี่สิบวันของอิมามท่านอื่น ยกเว้นเพียงอิมามฮุเซน(อ) เท่านั้น ซึ่งเป็นอิมามท่านเดียวที่มีคำสั่งเสียจากบรรดาอิมามให้จัดสี่สิบวันของการเป็นชะฮีดตั้งแต่วันนั้น จนกระทั่งถึงวันกิยามะฮ์
เนื้อหาบางส่วนในหนังสือ ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ เล่ม 1
โดย… ซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี