อัรบะอีน : ทำไมการรำลึกนี้จะต้องมีต่อไปอีกสี่สิบวัน? (ตอนที่2)
อัรบะอีน : ทำไมการรำลึกนี้จะต้องมีต่อไปอีกสี่สิบวัน? (ตอนที่2)
ซิยารัตอัรบะอีน ถูกสร้างมาเพื่ออิมามฮุเซน(อ) สร้างมาโดยอะอิมมะฮฺ(อ) สำหรับบรรดาอิมามท่านอื่นๆ เราไม่มีซิยารัตอัรบะอีน เราไม่มีซิยารัตในวันที่สี่สิบ
นี่คือเนื้อหาพอสังเขปที่เกี่ยวกับความสำคัญของตัวเลขสี่สิบ และตัวเลขสี่สิบในมุมมองของศาสนาในนัยยะที่สำคัญนั้นได้ถูกมอบให้ กับท่านอิมามฮุเซน(อ) ได้ถูกมอบให้วีรกรรมอันนี้เท่านั้น ว่า การรำลึกสี่สิบวันที่จะต้องยังคงอยู่ ต่อไปจนถึงวันกิยามะฮฺ เพราะอะไร? เพราะเหตุใด? อัรบะอีนจึงเป็นสิ่งที่เฉพาะอิมามฮุเซน (อ) นี่คือสิ่งสำคัญ ที่เราต้องทำความเข้าใจเนื้อหาทั้งหมด และถึงความสำคัญของตัวเลขสี่สิบ
นั่นก็เพราะว่าต้องการให้มนุษย์ทุกคนโดยเฉพาะผู้ศรัทธานั้น จะต้องรับจิตวิญญาณของกัรบะลาอฺ จะต้องพัฒนาตัวเองให้ได้ ในการที่จะต้องมีชีวิตและจิตวิญญาณ วิถีชีวิตเหมือนกับเหล่าบรรดาวีรชนที่ได้พลีในวันอาชูรอ
ดังนั้น ถ้าเราเคร่งครัดอย่างแท้จริง ถ้าวันที่หนึ่งถึงวันที่สิบมุฮัรรอม เรามาร่วมกันรำลึก เราได้เก็บเกี่ยวเนื้อหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับวีรกรรมอันนี้ หลังจากนั้น เรานำวีรกรรมนี้ไปรำลึกต่อที่บ้านอย่างจริงจัง แล้วต้องควบคู่กับสิ่งอื่นๆ ด้วยการอ่านซิยารัตอาชูรอ ควบคู่ต่อไป อีกสี่สิบวัน หลังจากอาชูรอ จนถึงอัรบะอีน ต้องทำความเข้าใจเนื้อหาต่างๆ ของซิยารัตอาชูรอ เพื่อที่เราจะต้องเป็น ‘อัศบาฮะฮ์มินฮุม’ (บุคคลประเภทเดียวกับพวกเขา) ให้ได้
ฮะดีษได้อธิบายแล้วว่า ใครอยู่กับชนชาติไหน อยู่กับคนประเภทใด อยู่กับอากีดะฮ์ใด ถึงสี่สิบวัน ก็คือคนพวกนั้น
ด้านบวกก็เช่นกัน สี่สิบวันหลังผ่านวันอาชูรอไปแล้ว เราหยิบซิยารัตอาชูรอขึ้นมาอ่าน เราทำความเข้าใจซิยารัตว่าทำไมเป้าหมายศาสนาให้ทำ ความเข้าใจต่อไปอีกสี่สิบวัน บางครั้งอาจจะจดจำเนื้อหาของอาชูรอไม่ได้ทั้งหมด แต่ด้วยการอ่านซิยารัตอาชูรอ อย่างน้อยก็ให้เนื้อหาแก่เราต่างๆ มากมาย เช่น
اللهُمَّ اجْعَلْ مَحْيايَ مَحْيا مُحَمَّد وَآلِ مُحَمَّد ، وَمَماتي مَماتَ مُحَمَّد وَآل مُحَمَّد
“โอ้อัลเลอฮฺโปรดทำให้การใช้ชีวิตของฉัน เหมือนกับการใช้ชีวิตของมุฮัมมัด(ซ) และวงศ์วานของมุฮัมมัด(อ) ด้วยเถิด และโปรดให้การตายของฉันเหมือนการตายของมุฮัมมัด(ซ) และลูกหลานของมุฮัมมัด(อ)”
นี่คือบทหนึ่งที่มีอยู่ในซิยารัตอาชูรอ ถ้าเราทำความเข้าใจ ก็จะรู้ว่า เป็นการขอเพื่อให้วิถีการดำเนินชีวิตของเราดำเนินไปตามแบบฉบับของมุฮัมมัด(ซ) และลูกหลานของมุฮัมมัด(อ)
บรรดาอุละมาอฺอธิบายว่า แน่นอน เป็นไปไม่ได้ที่การมีชีวิตของเราจะให้เหมือนกับชีวิตของมุฮัมมัด(ซ) และลูกหลานของมุฮัมมัด (อ) แต่หนึ่งในความหมายที่เบาบางกว่านั้น คือการที่ได้ก้าวไปตามรอยเท้าของมุฮัมมัด (ซ) และลูกหลานของมุฮัมมัด (อ) พวกเขาเหล่านั้นอาจจะไปไกลเป็นหมื่นก้าวแสนก้าวแล้ว แต่ขอให้เรายังอยู่ในแถวนั้นที่พวกเขาได้ก้าว ถึงแม้ว่าจะห่างไกลกัน ก็ไม่เป็นไร แค่ให้อยู่ในเส้นทางเดียวกันที่มุฮัมมัด (ซ) และลูกหลานของมุฮัมมัด (อ) ได้ก้าวไป เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว!!!
นั่นคือความหมายของการมีชีวิตเหมือนศาสดามุฮัมมัดและลูกหลานของท่าน(อ) ซึ่งในเส้นทางเดียวกันจะเหมือนกันเลยนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
การตายก็เช่นกัน ขอให้เดินไปในเส้นทางเดียวกันกับเส้นทางของมุฮัมมัด (ซ) และบรรดาลูกหลานของมุฮัมมัด (อ) ถ้าอัลลอฮฺ(ซบ) หรือถ้าหากเราไม่ประสบความสำเร็จในเส้นทางอันนั้น เราอาจจะไม่ได้ไปถึงตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่ ไม่ได้เป็นชะฮีด แต่เราก็ได้ตายในหนทางอันนี้ ตายในทางเดินที่เหล่าบรรดาชะฮีดได้เดิน และเราก็เดินตามเขาเหล่านั้น นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งเท่านั้น ที่อยู่ในซิยารัตอาชูรอ ซึ่งมีรายละเอียดอย่างมากมาย
ดังนั้น ถ้าหากในสี่สิบวันผู้ใดรำลึกได้ในลักษณะเช่นนี้ แน่นอน เขาก็จะประสบความสำเร็จ หากเคร่งครัดในสี่สิบวันนี้ และเมื่อครบสี่สิบวันนั้นเขาจะได้รับสิ่งต่างๆ ในสี่สิบวันนั้นที่เขารักษา เขาอาจพบเนื้อหาต่างๆ มากมาย
นี่คือการสร้างอัรบะอีนให้เกิดขึ้นสำหรับเรา เหมือนกับที่เราถ้าจะไม่ทิ้งนมาซแล้วนั้น ก็ต้องนมาซให้ครบสี่สิบวัน ถ้าเราอยากจะอยู่กับอัลกุรอานทุกวันไม่อยากที่จะทิ้งอัลกุรอาน เราก็ต้องอ่านให้ครบสี่สิบวัน และรับรองว่าจะทิ้งยากเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกันถ้าหากเราต้องการที่จะมีจิตวิญญาณแบบเดียว กับที่กัรบะลา มีจิตวิญญาณเยี่ยงท่านอิมามฮุเซน (อ) เราต้องการจะเป็น ฮูซัยนี (เป็นพวกของอิมามฮุเซน) เป็นกัรบะลาอีย์ (เป็นหนึ่งในวีรชนแห่งกัรบะลา) เป็นอาชูรออีย์ (เป็นหนึ่งในผู้ที่แสดงวีรกรรมอาชูรอ) เราก็ต้องทำการรำลึก สิ่งเหล่านี้ให้ถึงสี่สิบวัน
ทำไมศาสนาจึงมาเน้นในเรื่องสี่สิบวันของอิมามฮุเซน(อ) ? ทั้งๆ ที่ทุกๆ อิมามต่างก็เป็นชะฮีด ทุกๆ อิมามต่างก็เป็นผู้เสียสละ นั่นก็เพราะว่า แบบฉบับที่กัรบะลานั้นเป็นแบบฉบับที่สมบูรณ์แบบที่สุด สำหรับทุกวิถีชีวิต สำหรับทุกชนชั้น ที่จะเป็นผู้ศรัทธา
อะอิมมะฮฺ(อ) ทั้งหมดเป็นชะฮีด ต้องทนทุกข์ทรมาน แต่รูปแบบของการทนทุกข์ทรมานของแต่ละอิมามนั้น ได้เน้นไปที่ปัจเจกบุคคล เช่น ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ) เสียชีวิตในคุก นั้นเป็นแบบฉบับปัจเจกบุคคล การเป็นอยู่ในคุกคือแบบฉบับของอิมามมูซา (อ)
แต่วีรกรรมกัรบะลานั้นเป็นวีรกรรมของคนทุกชนชั้น เศรษฐีพ่อค้าในกูฟะฮฺก็มาเป็นชะฮีดในกัรบะลาอฺ ‘ญูน’ ทาสผิวดำที่ไม่มีแม้แต่นามสกุล จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าญูนนามสกุลอะไร เป็นลูกของใคร เพราะเป็นทาสที่ถูกจับมาขาย ก็เป็นหนึ่งในชะฮีดกัรบะลาอฺ เด็กๆ ผู้หญิง คนเฒ่า คนแก่ สามี ภรรยา ลูกๆ ทุกคนได้แสดงบทบาทของตัวเองในการปกปักพิทักษ์อิสลาม บุคลที่เป็นลูกก็แสดงบทบาทเยี่ยงลูกที่พิทักษ์อิสลาม บุคคลที่เป็นสามีก็ได้แสดงความเป็นสามีที่กัรบะลาอฺ… สามีที่แท้จริง… สามีที่พิทักษ์อิสลามอันบริสุทธิ์… บุคคลที่เป็นภรรยาก็แสดงบทบาทของภรรยาอย่างเต็มที่… บุคคลที่เป็นแม่ก็แสดงบทบาทของความเป็นแม่… ทุกคนได้แสดงบทบาทของตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ ณ แผ่นดินกัรบะลาอฺ…
และนั่นคือเหตุผลที่วีรกรรมอันนี้เป็นวีรกรรมสุดท้าย เป็นแบบฉบับสุดท้ายที่อมตะถาวรสำหรับมวลมนุษยชาติทั้งหมด ทุกยุคทุกสมัย!!
แต่เพราะวีรกรรมเช่นนี้เป็นวีรกรรมที่เข้มข้น ดังนั้นการที่จะนำเข้ามาสู่จิตวิญญาณของเรานั้นจึงไม่ใช่เรื่องง่ายดาย เป็นวีรกรรมที่แค่รับฟังธรรมดา หรือเพียงด้วยการปลุกเร้าให้ฮึกเหิมนั้นไม่เพียงพอ เพราะนี่ไม่ได้เป็นการต่อสู้ที่เกิดขึ้นจากการถูกปลุกให้ฮึกเหิมเท่านั้น ทว่านี่เป็นแบบฉบับที่กลั่นกรองแล้ว กลั่นกรองเล่า จนเหลือพลังบริสุทธิ์ที่แท้จริงของบุคคลเหล่านั้น
หากพี่น้องดูในคัมภีร์อัลกุรอานมีเนื้อหามากมาย เช่น กรณีของบนีอิสรออีล ที่อยู่ภายใต้การกดขี่ วันหนึ่งชนบนีอิสรออีลไปหาศาสดา ถามศาสดาว่า ทำไมไม่ให้เรารบ?? ทำไมไม่ให้เราต่อสู้?? เราจะต้องลุกขึ้นต่อสู้กับการกดขี่ แต่ศาสดาไม่อนุญาตให้รบ พวกเขาทนไม่ได้ บีบบังคับศาสดา จนมีโองการลงมา อนุญาตให้ออกไปรบ ในการจัดทัพ เมื่อศาสดาแต่งตั้งแม่ทัพแม่ทัพคนหนึ่งที่มาจากคนยากจน พวกที่ไปขอศาสดาให้จัดทัพนั่นแหละ พากันแตกกระเจิงกันหมดเหลือแต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น อัลกุรอานบอกว่า ‘อิลลา กอลีลา’
หลังจากนั้น ก็มีการทดสอบอีกหลายๆ ครั้ง เช่น เมื่อผ่านแม่น้ำสายหนึ่ง ในขณะที่พวกเขากระหายน้ำเป็นอย่างมาก ศาสดาบอกว่าอัลลอฮฺ(ซบ) ไม่อนุญาตให้ดื่มน้ำจากลำธารสายนี้!! ให้ไปดื่มทางข้างหน้า เกือบทั้งหมดได้ฝ่าฝืน และดื่มน้ำตรงนั้น แล้วพอจะไปถึงจุดหนึ่งกำลังจะล้มตัวลงนอน ศาสดาบอกว่า อัลลอฮฺ(ซบ) สั่งให้บุกตีเมืองนี้ทันที!!! เกือบทั้งหมดก็บอกว่า เราไม่ไหวแล้วพรุ่งนี้ค่อยรบก็แล้วกัน!!
นั่นขนาดว่าพวกเขาเองเป็นฝ่ายเรียกร้องสงคราม แต่เมื่อถูกทดสอบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น!!!! มนุษย์ก็หลุดพ้นจากศาสนา… หลุดพ้นจากความเคร่งครัด… หลุดพ้นจากการเป็นนักสู้… หลุดพ้นจากการเป็นผู้พลี… หลุดพ้นจากการเป็นนักปฏิวัติ…
ดังนั้น นักสู้ที่แท้จริง มุญาฮิดที่แท้จริงในหนทางของอัลลอฮฺ(ซบ) จะต้องไม่ลุกขึ้นสู้กับความฮึกเหิม ไม่ได้ตื่นขึ้นมาเพราะถูกปลุกเร้า และการตื่นเพราะถูกปลุกเร้าไม่มีวันที่จะยืนหยัดได้จนถึงปลายทางเป้าหมาย แต่ เขาจะต้องตื่นขึ้นมาอย่างมี ‘มะริฟัต’ (อย่างมีความเข้าใจ) … อย่างมีการปลูกฝัง… และอย่างมีความใฝ่ฝัน…
เมื่อเราเข้าไปศึกษาในเรื่องราวของกัรบะลา เราจะพบว่ามีการทดสอบมากมายหลายรูปแบบ บางครั้งทดสอบในรูปลักษณ์ของความทุกข์ทรมาน… สุดท้ายคือไม่ได้ดื่มน้ำนั้น นั่นคือที่สุดแล้ว!! บางครั้งเป็นการทดสอบที่คลาสสิก กว่า…. การทดสอบที่คลาสสิกทำให้บางครั้งคนที่ไม่ระวัง คือคนที่ไม่ได้มาด้วยหัวใจที่เต็มร้อยที่คิดจะพลีเพื่ออัลลอฮฺ(ซบ) บางครั้งถึง ๙๙.๙๙% แล้ว ก็ยังไม่ผ่าน
การทดสอบที่คลาสสิก เช่น การขอดุอาอ์ให้จากไป แล้วช่วยจูงลูกจูงหลานของฉันไปด้วย ศัตรูต้องการที่จะฆ่าฉันคนเดียว วันนี้ท่านได้ทำดีที่สุดแล้ว…
นี่คือแตกต่างกัน!!! ศาสดาของบนีอิสรออีลนั้นบอกว่า อย่ากินน้ำแต่มันกิน… พอแต่งตั้งแม่ทัพ มันก็บอกว่า คนนี้จะเป็นแม่ทัพได้ไง ผอมกว่าเรา จนกว่าเรา ทำไมแต่งตั้งมันขึ้นมาเป็นแม่ทัพ!!!!
แต่ขบวนการของอิมามฮุเซน(อ) ท่านอิมามบอกว่า พอแล้วไปได้แล้ว!!! พวกท่านได้พิสูจน์ตัวตนแล้ว ผู้นำบอกไปได้แล้ว !!! แต่ไม่มีใครไป เพราะอะไร? เพราะมาด้วยจิตวิญญาณแห่งการพลีที่แท้จริง ตลอดเส้นทางอิมามฮุเซน (อ) ได้ทำการขัดเกลาพวกเขาจนบริสุทธิ์
ดังนั้นจะต้องปลูกฝังในลักษณะนี้ เป็นไปไม่ได้ ที่ศาสนาอยู่กับความฮึกเหิมเกินไป เพราะเราเห็นเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น วันหนึ่งร่วมรบจับศึกกับท่านศาสดา(ซ) พออีกวันหนึ่งกลับมานั่งดูบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ(อ )ถูกเผา ความฮึกเหิมตรงนั้นหายไปหมดแล้ว ตัวอย่างเช่นนี้มีอีกมากมาย
เนื้อหาบางส่วนในหนังสือ ปรมัตถ์แห่งการพลี สดุดีอาชูรอ เล่ม 1
โดย… ซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี