สาส์นอิสลามคงอยู่ได้ด้วยแบบฉบับแห่งฮูซัยนี (3)
สาส์นอิสลามคงอยู่ได้ด้วยแบบฉบับแห่งฮูซัยนี (3)
วิธีเดียวในการพิทักษ์รักษาอิสลาม
ถามว่า ที่นั่งอยู่ตรงนี้ มีใครไม่ต้องการให้อิสลามยังดำรงอยู่? — ไม่มี ใช่ไหม? และมีใครต้องการให้อิสลามยังดำรงอยู่? — ทุกคนย่อมปรารถนาให้อิสลามยังคงอยู่
เราทุกคนอยากให้อิสลามดำรงอยู่ใช่ไหม? ทว่า ภายหลังเหตุการณ์กัรบาลา มีวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้อิสลามดำรงอยู่ได้ นั่นคือ “ฮูซัยนียุน” คือ “แบบฉบับของฮูเซน(อ.)” เพียงเท่านั้น
บทบาทเหล่าวีรชนกัรบาลา ในนามแบบฉบับแห่งฮูซัยนี
วาทกรรมของมุสลิม อิบนฺ เอาซะญะฮ์
หลังจากอิมามฮูเซน(อ.) จบคำปราศรัยอำลาของท่านกับเหล่าสาวกในค่ำคืนอาชูรอ ซึ่งท่านได้กล่าวขอบคุณพวกเขา ที่ได้ยืนหยัดต่อสู้กับท่านมาจนถึงคืนสุดท้าย พร้อมกับกล่าวถ้อยคำที่แสดงถึงการปลดเปลื้องพันธนาการด้วยความจริงใจ โดยอนุญาตให้พวกเขากลับไป เพราะศัตรูต้องการเพียงการยอมจำนนจากท่าน แต่ถึงกระนั้น เหล่าสาวกต่างก็ปฏิเสธที่จะทอดทิ้งท่านอิมาม (อ.) ด้วยวาทกรรมที่ลึกซึ้งเป็นอย่างมาก หนึ่งในนั้น มีตัวอย่างวาทกรรม จากท่านมุสลิม อิบนฺ เอาซะญะฮ์ ซึ่งได้พูดว่า:
‘ขอสาบานด้วยพระนามของอัลออฮฺ(ซ.บ) หากพวกเราถูกฆ่า และถูกเผา จากนั้น ฟื้นชีวิตขึ้นมาใหม่ จากนั้น ถูกฆ่า[ซ้ำอีกครั้ง] จากนั้น ถูกเผา[ซ้ำอีกครั้ง] จากนั้นฟื้นคืนชีพขึ้นมาใหม่อีกครั้ง ทำแบบนี้กับเรา [กล่าวคือ] ให้ฟื้นขึ้นมา ถูกฆ่าตาย และถูกเผา และถูกฆ่า [ซ้ำแล้วซ้ำเล่า] นับเป็นพันครั้ง เราก็ไม่มีวัน จะทอดทิ้งท่าน โอ้ ฮูเซน!
ข้างต้น คือ คำตอบของมุสลิม อิบนฺ เอาซะญะฮ์ ที่มีต่อท่านอิมามฮูเซน (อ.)[ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นวาทกรรม ตามแบบฉบับฮูซัยนี]
ขณะเดียวกัน สาวกแต่ละคน ก็มีวาทกรรมนำเสนอ [ยืนยันเจตจำนงในการต่อสู้ร่วมตายกับท่านอิมามฮูเซน (อ.)ในวันรุ่งขึ้นอื่นๆ อีก] เช่น บทบาทของท่านอบุลฟัฎลฺ อัล-อับบาส (อ.) ก็มีรายงานในส่วนคำกล่าวของท่าน รวมถึงวาทกรรมจากสาวกอีกหลายคน
ทัศนะความตายในแบบฉบับแห่งฮูซัยนี จากวีรชนวัย 13 ปี
ทั้งนี้ ในระหว่างการปราศรัยอำลาของท่านอิมามฮูเซน (อ.) กับเหล่าสาวกนั้น มีท่านกอซิม อิบนิ ฮาซัน บุตรชายของท่านอิมามฮาซัน อัลมุจญตาบา (อ.) เด็กหนุ่ม ในวัยเพียง 13 ปี กำลังยืนฟังอยู่ห่างๆ …
เมื่อทุกคนยืนยันความพร้อมในการต่อสู้เคียงข้างท่านอิมาม [ดั่งตัวอย่างจากวาทกรรมของมุสลิม อิบนฺ เอาซะญะฮ์] — ท่านอิมามฮูเซน (อ.) จึงกล่าวกับเหล่าศอฮาบะฮ์ต่อไปว่า
~ ‘ถ้าเป็นเช่นนั้น کلهم مقتول พรุ่งนี้พวกเจ้าทั้งหมด ก็จะเป็นชะฮีด..’
ทันทีที่กอซิม อิบนิ ฮาซัน ได้ยินอิมามฮูเซน (อ.) กล่าวว่า “พรุ่งนี้ พวกเจ้าทุกคนก็จะเป็นชะฮีด” — กอซิม อิบนิ ฮาซัน จึงตะโกนมาจากข้างหลัง ถามว่า
وأنا ؟ — แปลว่า ‘ฉันด้วย ใช่ไหม?’
أَنَا فِی مَنْ یُقْتَلْ؟ ‘ฉันจะถูกทำชะฮีดด้วยไหม พรุ่งนี้?’
เมื่อได้ยินกอซิมถามเช่นนั้น ท่านอิมามฮูเซน จึงมองไปยังหลานชาย และกล่าวถาม ‘โอ้กอซิม อิบนิ ฮาซัน มานี่ก่อน หลานรัก..’ อิมามฮูเซน(อ.)ยังไม่ตอบกอซิม — ‘ฉันจะถามเจ้าก่อน’ — ก่อนที่จะตอบว่ามีกอซิมรวมด้วยหรือไม่…
อิมามฮูเซน (อ.) จึงถามกอซิมว่า:
‘یا بُنَىَّ کَیْفَ الْمَوْتُ عِنْدَکَ؟ ไหนอธิบายให้อาฟังสิว่า ความตายในทัศนะเจ้าเป็นอย่างไร?’
เด็กอายุ 13 ปี ตอบเมาลาของเขากลับไปว่า ~ ความตายสำหรับฉัน คือ …أحلَی مِنَ العَسَل
یا عَمِّ أَحْلى مِنَ الْعَسَلِ
“โอ้ อาจ๋า ความตายสำหรับฉันนั้น หวานเสียยิ่งกว่าน้ำผึ้ง”
••• ณ ที่ตรงนี้ มีใครเชื่อมั่นแล้วว่า ตอนนี้ “ความตาย” หวานกว่าน้ำผึ้ง? — แต่ทว่า ที่กัรบาลานั้น เด็กอายุ 13 ขวบ ตอบว่า ความตายสำหรับเขา “หวานกว่าน้ำผึ้ง” เราสามารถเข้าไปถึงจิตวิญญาณของคำพูดนี้ จากเด็กอายุ 13 ปี ได้ไหม? •••
เมื่อท่านอิมามฮูเซน (อ.) ได้ยินคำตอบนี้ของกอซิม อิบนิฮาซัน และก่อนหน้านี้ ตามที่กอซิมได้ถามว่า
وأنا ؟ ฉันด้วยใช่ไหม ในวันพรุ่งนี้ที่จะถูกฆ่าเป็นชะฮีด? อิมามฮูเซน(อ.) จึงตอบกอซิมกลับไปว่า
إِنَّکَ لَأَحَدُ مَنْ یُقْتَلُ
‘เจ้าด้วย พรุ่งนี้เจ้าก็จะเป็นชะฮีด’ [แท้จริงเจ้าคือหนึ่งจากผู้ที่จะเป็นชะฮีด]
••• และเราลองไปพินิจพิเคราะห์วีรกรรมการเป็นชะฮีดของแต่ละวีรชน กล่าวคือ คำว่า “ฮูซัยนียุลบะกอ” [ที่อิสลามหลงเหลืออยู่ได้ด้วยแบบฉบับแห่งฮูซัยนีนั้น] จริงๆ มันต้องอธิบายกันหลายมัจญลิส •••
หนึ่งในนิยาม แบบฉบับแห่งฮูซัยนี
หมายความว่า มันต้องดิ้นรนปรารถการเป็นชะฮีด [ดั่งตัวอย่างจากบทบาทของท่านกอซิม อิบนิ ฮาซัน] — นี่เป็นอีกหนึ่งในความหมายของคำว่า แบบฉบับของฮูเซน (อ.) แบบฉบับของฮูซัยนี !!
พี่น้องเข้าใจ คำว่า “ดิ้นรนที่จะเป็นชะฮีด”ไหม ?
คำอธิบาย: ในแต่ละสงคราม ส่วนมากแล้ว ผู้คนจะถูกเกณฑ์ไปทำสงคราม เช่น ในยูเครนตอนนี้ เที่ยวไล่จับคน กระชากลากคนขึ้นรถ เหมือนกับปล้นกันเลย
ในทางตรงข้าม ที่กัรบาลา เหล่าวีรชนดิ้นรนกันไปเป็นชะฮีด ในแต่ละวีรชน ก็ดิ้นรนกันคนละแบบ โดยเฉพาะของกอซิม อิบนิ ฮาซัน บุตรชายของท่านอิมามฮาซัน (อ.)
เมื่อถึงวันที่จะออกสู่สมรภูมิ ท่านกอซิม ไม่ได้ใช้ชุดนักรบ ถามว่า ทำไมจึงไม่ใช้ชุดนักรบ? — เพราะว่า ตัวเล็ก แม้แต่ดาบที่แม่เป็นผู้ผูกให้ ตรงปลายดาบนั้น ก็ลากไปกับพื้นดิน [บ่งบอกว่า ยังไม่ถึงวัยเป็นนักรบ] และเมื่อท่านกอซิมไปยืนปรากฎต่อหน้าท่านอิมามฮูเซน (อ.) [เพื่อขออนุญาตออกรบ] ท่านอิมาม (อ.) ได้ตอบว่า ‘เจ้ากลับไปก่อน โอ้หลานรัก เจ้ากลับไปก่อน’
ท่านกอซิมได้ยินดังนั้น จึงได้แต่ออดอ้อนท่านอิมามฮูเซน (อ.) ‘โอ้ อาจ๋า…’ และได้ลงไปจูบยังแทบเท้าของผู้เป็นอา ‘โอ้ อาจ๋า โปรดอนุญาต…’
ถึงกระนั้น ท่านอิมามฮูเซน (อ.) ก็ยังคงไม่อนุญาต เมื่อสิ้นหนทาง ท่านกอซิม จึงร่ำไห้กลับมาหาแม่ ตัดพ้อกับผู้เป็นมารดา ‘แม่จ๋า เมาลาไม่ให้ออกสู่สนามรบ อิมามฮูเซน(อ.)ไม่ให้ออกรบ’
บริบทเหล่านี้ ล้วนบ่งชี้ว่า ท่านกอซิม ดิ้นรนที่จะออกไปเป็นชะฮีด ~
ดังนี้ แม่ของท่านจึงบอกให้ท่านกอซิมไปหยิบห่อผ้าชิ้นหนึ่ง โดยบอกให้นำห่อผ้าชิ้นนี้ไปมอบให้อิมามฮูเซน (อ.) ผู้เป็นอา..
บางริวายัตบอกว่า เป็นห่อผ้าที่ท่านอิมามฮาซัน (อ.) ฝากไว้กับท่านกอซิม บางริวายัตบอกว่า ฝากกับแม่ของท่านกอซิม ซึ่งเป็นสาส์นบางอย่าง ท่านกอซิมจึงกลับไปหาท่านอิมามฮูเซน(อ.)อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับยื่นห่อผ้าดังกล่าวให้ท่านอิมามฮูเซน(อ.)
เมื่อพบว่า เป็นห่อผ้ามาจากท่านอิมามฮาซัน(อ.) ท่านอิมามฮูเซน (อ.) จึงนำมาจูบ และเปิดดู ในนั้นมีสาส์นเขียนว่า: ‘…โอ้! น้องรัก เมื่อถึงวันที่กอซิม จะขอออกไปรบ น้องจงอนุญาตให้ลูกของพี่ออกไป…’
เด็กอายุ 13 ขวบ ปรารถนาจะออกสู่สนามรบ ดิ้นรนไปหาตัวช่วยมาเพื่อจะไปเป็นชะฮีด
ถามว่า จิตวิญญาณเฉกเช่นนี้ มีอยู่ในพวกเราไหม ? จิตวิญญาณ ที่อยากจะเป็นชะฮีดแบบนี้ มีอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเราไหม? — ถ้ามี ถึงแม้พวกเราจะมีจำนวนเพียงเท่านี้ [น้อยนิด] ก็จะสามารถเอาชนะทุกสงคราม ชนะทุกสนามรบได้ — ผมขอยืนยัน !
นี่เรายกเพียงแค่หนึ่งตัวอย่างในเรื่องจิตวิญญาณ อย่ามองว่ามันเป็นวาทกรรมอย่างสั้นในกัรบาลา [แม้จะเป็นวาทกรรมสั้นๆ] ทว่ามันเป็นวาทกรรมที่ลึกซึ้ง วาทกรรมที่เขย่าจิตวิญญาณมนุษย์
ยิ่งไปกว่านั้น ในกัรบาลา มันยังมีอีกเป็นร้อยๆ วาทกรรม และหาใช่ว่าจะมีเพียงวาทกรรมของท่านอิมามฮูเซน(อ.)บุคคลเดียวไม่ — ซึ่งแน่นอน วาทกรรมของท่านอิมามฮูเซน(อ.) นั้น เลิศหรู มันสูงส่งที่สุดแล้ว ..
وَسَیعْلَمُ الَّذِینَ ظَلَمُوا أَی مُنْقَلَبٍ ینْقَلِبُونَ
اللهم صل علی محمد وآل محمد وعجل فرجهم
____________________
ถอดคำบรรยาย: เศาฟีญิ้ลลา บินตีชัมซุดดีน
เรียบเรียง และค้นคว้าอาหรับ: เว็ปไซต์ syedsulaiman. com