เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

บทเรียนฮิกมะฮ์ที่ 150 จากนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ โดยซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

บทเรียนฮิกมะฮ์ที่ 150 จากนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ โดยซัยยิดสุไลมาน ฮุซัยนี

 

สำหรับบทเรียนครั้งนี้ก็ยังคงอยู่ในฮิกมะฮ์ที่ 150 ซึ่งเป็นฮิกมะฮ์ที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก ถือได้ว่าเกือบจะเป็นทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิตอย่างมีฮิกมะฮ์ ซึ่งเป็นฮิกมะฮ์ที่ท่านอิมามอาลี(อ.)กล่าวไว้ว่า
" จงอย่าเป็นแบบนี้ "


   (لَاتَكُنْ مِمَّن) يخشى الموت ولا يبادر الفوت

" (จงอย่าเป็นแบบนี้) กลัวตายแต่ไม่รู้จักโอกาสที่มีอยู่ในขณะที่ตัวเองยังไม่ตาย(กลัวตายแต่ไม่ได้เตรียมตัวที่จะตาย) "


สำหรับผู้ศรัทธา หากต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการนับถือศาสนา จงอย่าเป็นแบบนี้ กลัวตายแต่ไม่เคยเตรียมพร้อมที่จะตายในหนทางที่ดี
เพราะแท้จริงแล้วความตายคือสัจธรรม เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องพบเจอ
ดังนั้นเราจะต้องเตรียมพร้อมที่จะต้องเผชิญหน้ากับมัน ซึ่งจริงๆความตายนั้นไม่มีอะไรเลย มันเป็นเพียงกรงขังระหว่างมนุษย์กับความเมตตาของอัลลอฮ์(ซ.บ.)
ซึ่งท่านอิมามฮูเซน(อ.)ได้กล่าวไว้ในเหตุการณ์กัรบาลาว่า " จงรู้ไว้เถิดว่า ความตายไม่มีอะไรเลย ความตายคือ สะพานอันนึงที่จะพาพวกเจ้าไปสู่สวรรค์ต่างๆหรือนรกต่างๆ "
ดังนั้น ในประโยคนี้ ท่านอิมามอาลี(อ.)ต้องการจะบอกว่า ถ้ากลัวตายก็จงเตรียมพร้อมที่จะตายในหนทางที่ดี สิ่งใดที่ค้างคาก็จงรีบชดใช้ให้หมด แท้จริงแล้วความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวแม้แต่นิดเดียว
นี่ก็คือ ฮิกมะฮ์ของการดำเนินชีวิต มนุษย์จะต้องมีความพร้อมอยู่ตลอดเวลาในการพบเจอกับความตาย


  (لَاتَكُنْ مِمَّنْ) يسنعظم من معصية غيره ما يستقل اكثر منه من نفسه

" (จงอย่าเป็นแบบนี้) ความผิดบาปของคนอื่นมองเห็นเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ แต่ความผิดบาปที่มากมายของตัวเองมองว่าน้อยนิด "


ก็คือ จงอย่าเป็นคนที่เวลาเห็นคนอื่นทำผิดแล้วเป็นเรื่องใหญ่ เพราะจริงๆแล้วมันไม่ใช่เรื่องเรา ในบางเหตุการณ์ในบางกรณี เวลาที่เราเจอใครทำผิด ท่านนบีมูฮัมหมัด(ศ็อลฯ)ได้บอกว่า "เราจะต้องแปลไปในทางที่ดี70รูปแบบก่อน ก่อนที่จะฟันธงว่าเขาผิดจริงๆ"
และหากเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าเขาทำผิด ก็จงอย่านับความผิดของเขาเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเรา เราไม่มีทางรู้ว่าเขาเตาบัตแล้วหรือยัง
ซึ่งมนุษย์ส่วนมากเป็นแบบนี้ ความผิดบาปที่มากมายของตัวเองมองไม่เคยเห็น หรือถ้ามองเห็นก็อาจจะมองว่าเล็กน้อย แต่เมื่อเห็นความผิดหนึ่งอย่างของคนอื่น กลับมองว่าเป็นเรื่องใหญ่
และเหตุผลที่คนจำนวนมากเป็นคนดีไม่ได้ก็เพราะ ห่วงแต่จะดูความผิดของคนอื่น ไม่เคยคิดที่จะมองความผิดของตัวเอง
ดังนั้นถ้ายังใช้ชีวิตแบบนี้ ท่านอิมามอาลี(อ.)ถือว่าเป็นการดำเนินชีวิตแบบไม่มีฮิกมะฮ์ และเราจะไม่มีวันที่จะได้ปรับปรุงตัวเอง ซึ่งในวันกิยามัตสิ่งแรกเมื่อวิญญาณออกจากร่าง มนุษย์ทุกคนจะต้องรับผิดชอบตัวของตัวเอง ไม่มีใครเกี่ยวข้องกับใคร
ดังนั้นจงอย่าดำเนินชีวิตแบบที่มัวแต่เป็นห่วงว่าคนอื่นจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์จนเกินไป จนกลายเป็นเราที่ไม่ได้ขึ้นสวรรค์ซะเอง
เพราะฉะนั้นวิธีการแก้ไขเพื่อที่จะไม่ให้เกิดพฤติกรรมแบบนี้ ท่านอิมามอาลี(อ.)จึงกล่าวว่า อย่าไปนับบาปของคนอื่น อย่ามองความผิดบาปของคนอื่นยิ่งใหญ่ และที่เลวร้ายกว่านั้น ความผิดบาปของตัวเองที่มีอย่างมากมายนั้น มองเห็นว่าน้อยนิด
ซึ่งคนแบบนี้จะไม่มีวันที่จะประสบความสำเร็จในการนับถือศาสนา


 (لَاتَكُنْ مِمَّنْ) ويستكثر من طاعته ما يحقره من طاعتة غيره

" (จงอย่าเป็นแบบนี้) การภักดีของตัวเองถือเป็นยิ่งใหญ่และมากมายนัก แต่การภักดีของคนอื่นถือเป็นเรื่องเล็กน้อยด้อยค่า "


อย่าเป็นคนที่นับของตัวเองให้เยอะเอาไว้ก่อน หรือนับให้มากกว่าคนอื่นในทุกๆเรื่อง และต่อให้จะนับให้มันเยอะซักขนาดไหนสิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้เอาไว้ก็คือ ไม่มีใครมีบุญคุณต่อศาสนาในศาสนานี้ แต่เป็นศาสนานี้ต่างหากที่มีบุญคุณต่อพวกเรา อิสลามได้ชี้นำเราไปสู่การมีชีวิตที่มีเกียรติยศ มีศักดิ์ศรี
ดังนั้นมันไม่มีอะไรเลย ไม่ต้องไปนับว่าของตัวเองเยอะ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้ทำเราจะต้องขอบคุณอัลลอฮ์(ซบ.)ที่พระองค์ทรงประทานเตาฟีกให้เราได้กระทำความดี
ทำไมเราต้องขอบคุณอัลลอฮ์(ซบ.)กับการที่เราได้ทำความดี
ซึ่งคำตอบอันหนึ่งของมันก็คือ อย่างน้อยการทำความดีของเราอันนี้ เราจะได้รับรางวัลในโลกหน้า ในขณะที่หลายๆคนนั้นยังไม่ได้ทำความดี และยังไม่มีรางวัลในโลกหน้า
ดังนั้นท่านอิมามซัยนุลอาบิดีน (อ.)จึงบอกว่า " ทุกๆอัลฮัมดุลิลละฮ์ยังคงต้องการอีกหนึ่งอัลฮัมดุลิลละฮ์ "
ซึ่งในทุกๆอัลฮัมดุลิลละฮ์ที่เราได้กล่าวก็ล้วนมีรางวัลทั้งหมดอีกเช่นกัน
เพราะงั้นมนุษย์ไม่มีวันที่จะตอบแทนอัลลอฮ์(ซบ.)ได้หมด
ดังนั้นจงอย่าลำพองตน อย่าคิดว่าที่เราทำไปนั้นมากมายและยิ่งใหญ่มีบุญคุญต่อศาสนา เพราะแท้จริงแล้วอัลลอฮ์(ซบ.)ต่างหากที่มีบุญคุญต่อเรา
ซึ่งการที่เรานับการภักดีของตัวเองว่า เราละหมาดเยอะแล้วหรือเราบริจาคเยอะแล้ว มันจะนำไปสู่การกระทำที่น้อยลง
และบางครั้งที่เราทำอะไรมากๆ เป็นเพราะเราไม่ได้นับมัน เรายังไม่รู้ว่าละหมาดตลอดชีวิตนี้ มีเวลาไหนบางที่อัลลอฮ์(ซ.บ.)ตอบรับ ดังนั้นแล้วเราจะมีสิทธิ์อะไรที่จะไปนับว่าการภักดีของเราเพียงพอแล้ว
และที่หนักไปกว่านั้นคือ ไปดูหมิ่นการภักดีของคนอื่น เช่นดูหมิ่นการบริจาคของคนอื่นว่าบริจาคแค่เพียงน้อยนิด แต่ตัวเองนั้นบริจาคมากกว่าแล้วนับว่าเป็นการบริจาคที่ยิ่งใหญ่ ได้รางวัลเยอะกว่าคนที่บริจาคเพียงน้อยนิด ทั้งๆที่ตัวเองก็ไม่ได้รู้ด้วยซ้ำว่าการบริจาคของตัวเขาเองนั้นอัลลอฮ์(ซบ.)จะรับหรือไม่
ซึ่งการที่อัลลอฮ์(ซ.บ.)จะรับการบริจาคของใครคนหนึ่ง พระองค์ไม่ได้มองว่าจะมากมายแค่ไหนหรือเล็กน้อยแค่ไหน แต่อัลลอฮ์(ซบ.)จะมองตรงที่การบริจาคอันไหนเป็นการบริจาคแบบมีตักวา ถ้าหากการบริจาคเล็กด้วยเพียง 5 บาทเป็นการบริจาคอย่างมีตักวา อัลลอฮ์(ซบ.)ก็จะรับอันนั้นโดยที่พระองค์ไม่ได้มองถึงคุณค่าหรือจำนวนว่ามากน้อยแค่ไหน
ดังนั้นจงอย่าเป็นแบบนี้ อย่านับของตัวเองว่าความดีต่างๆที่ทำไปนั้นมากมาย เพราะเราไม่รู้ว่าความดีต่างๆของที่เราทำไปนั้นอัลลอฮ์(ซ.
บ.)รับหรือไม่ และที่สำคัญก็คือจงอย่าไปดูหมิ่นการทำความดีของคนอื่น


  (لَاتَكُنْ مِمَّنْ) فهو على الناس طاعن ولنفسه مداهن

" (จงอย่าเป็นแบบนี้) ตักเตือน ตำหนิ ติฉินผู้อื่น แต่ ยกย่อง สรรเสริญเยินยอตัวเอง "


เหตุผลหนึ่งของคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ ก็คือ คนที่มองตัวเองดีกว่าคนอื่น
จงอย่าเป็นคนที่คอยจ้องจะตำหนิ ติฉินผู้อื่นทุกๆเรื่อง เพื่อทำให้เขาดูตกต่ำ แต่พอสำหรับตัวเองกลับสรรเสริญเยินยอให้ตัวเองดูดี เพราะพฤติกรรมแบบนี้ไม่ใช่พฤติกรรมของผู้ที่มีฮิกมะฮ์
ดังนั้นจงอย่าเป็นแบบนี้ คนที่มองว่าของตัวเองดีหมดแต่ของคนอื่นใช้ไม่ได้
หากว่าเราต้องการที่จะประสบความสำเร็จในการนับถือศาสนา เราก็จงอย่ามัวแต่ห่วงคนอื่น ให้ห่วงตัวเองก่อน ให้ดูตัวเองว่าดีพอหรือยัง การดำเนินชีวิตของเราที่เป็นอยู่นี้ อัลลอฮ์(ซบ.)พอใจแล้วหรือยัง และหากมั่นใจว่าดีพอแล้ว พระองค์ทรงพอใจแล้ว เราจึงค่อยไปเป็นห่วงผู้อื่น
ดังนั้นคำสั่งนี้ของท่านอิมามอาลี(อ.)เหมือนกับต้องการจะบอกว่า ให้เราซ่อมแซมดูแลตัวเองซะก่อน อย่าเป็นคนที่คอยแต่จะตำหนิผู้อื่น แล้วสรรเสริญเยินยอตัวเอง


  (لَاتَكُنْ مِمَّنْ) الهو مع الأعنياء أحب إليه من الذكر مع الفقراء

" (จงอย่าเป็นแบบนี้) รักที่จะอยู่อย่างไร้สาระกับหมู่คนที่มั่งมี มากกว่า อยู่อย่างผู้รำลึกในหมู่ผู้ยากจน "
จงอย่าเป็นแบบนี้ รักที่จะใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานกับหมู่คนร่ำรวยโดยที่ไร้สาระไปวันๆ แบบไม่มีประโยชน์ทั้งในดุนยาและในอาคิเราะห์ มากกว่าการที่ได้นั่งอยู่กับคนจนแล้วรำลึกถึงอัลลอฮ์(ซบ.) ที่ได้นั่งแล้วทำให้เรากลัวบาป ทำให้เรามีอามั้ลอิบาดัตที่ดีขึ้น หรือทำให้เราได้ไปฟังมัจลิส และอะไรก็ตามที่เป็นการรำลึกถึงอัลลอฮ์(ซ.บ.)
เพราะเพื่อนของเราในโลกนี้นั้นจะมีผลในวันกิยามัต ทั้งที่เป็นผลดีและผลร้ายของเรา
ซึ่งมนุษย์ที่ใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่ไร้สาระ สิ่งที่เขาฝันในวันกิยามัตก็คือ เขาไม่น่าเกิดมาเป็นมนุษย์เลย น่าจะเกิดมาเป็นดินเสียดีกว่า
{ إِنَّآ أَنذَرۡنَٰكُمۡ عَذَابٗا قَرِيبٗا يَوۡمَ يَنظُرُ ٱلۡمَرۡءُ مَا قَدَّمَتۡ يَدَاهُ وَيَقُولُ ٱلۡكَافِرُ يَٰلَيۡتَنِي كُنتُ تُرَٰبَۢا }
[Surah An-Naba’: 40]
" แท้จริงเราได้เตือนพวกเจ้าแล้วถึงการลงโทษอันใกล้ วันที่มนุษย์จะมองไปยังสิ่งที่สองมือของเขาได้ประกอบไว้ และผู้ปฏิเสธศรัทธาจะกล่าวว่า โอ้..ถ้าฉันเป็นฝุ่นดินเสียก็จะดี "
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชีวิตทั้งชีวิตของเขาที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์นั้น เป็นชีวิตที่ไร้ค่าที่สุด
ดังนั้นจงอย่าเป็นแบบนี้ อย่ารักการที่ได้ใช้ชีวิตที่ไร้สาระกับหมู่คนที่มั่งมีร่ำรวยทั้งหลาย และรังเกียจการได้นั่งกับคนจนทั้งๆที่การได้นั่งกับคนจนนั้นทำให้เรารำลึกถึงอัลลอฮ์(ซ.บ.)
และหากเรายังเป็นแบบนี้อยู่ เราจะเสียใจเป็นอย่างมากในวันกิยามัต ที่เราได้ใช้ชีวิตของเราในโลกนี้ไปแบบไร้ค่าทั้งหมด
ซึ่งสิ่งหนึ่งที่บรรดาอาลิมอุลามาอ์ได้บอกไว้ก็คือว่า " สิ่งหนึ่งที่มนุษย์จะเสียใจที่สุดและเจ็บปวดยิ่งกว่าโดนไฟนรกก็คือ วินาทีและชีวิตที่ไร้ค่าที่เขาได้ใช้ชีวิตในดุนยา "
ดังนั้นท่านอิมามอาลี(อ.)จึงบอกว่า "#จงอย่าเป็นแบบนี้" (لَاتَكُنْ مِمَّنْ)
 

สอนโดย ฮุจญตุลอิสลามวัลมุสลีมีน ซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี
ถอดความโดย Muhammad Sanmat
เรียบเรียงโดย เชคญะมาลุดดีน ปาทาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม