สองปัจจัยแห่งความผาสุกในคำพูดของอิมามริฎอ (อ.)
สองปัจจัยแห่งความผาสุกในคำพูดของอิมามริฎอ (อ.)
ในทัศนะของท่านอิมามริฎอ (อ.) ความกว้างขวางของบ้านและการมีหมู่มิตรมากมายนั้น คือปัจจัยแห่งความผาสุกในชีวิตของมนุษย์
ในโลกนี้น้อยคนนักที่จะไม่ปรารถนาและแสวงหาชีวิตที่ประสบความสำเร็จและสุขสบาย สำหรับเราในฐานะที่เป็นมุสลิมและเป็นผู้ปฏิบัติตามอะฮ์ลุลบัยต์ (อ.) เราจำเป็นต้องกำหนดบรรทัศฐานของชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีให้สอดคล้องกับทัศนะและคำสอนของท่านผู้มีเกียรติเหล่านี้
ท่านอิมามริฎอ (อ.) ซึ่งเราอยู่ในช่วงวันคล้ายวันแห่งการเป็นชะฮีด (มรณะสักขี) ของท่าน ท่านได้แนะนำให้รับรู้ถึงบรรทัศฐานประการหนึ่งสำหรับการมีชีวิตที่มีความผาสุก นั่นคือ การมีบ้านที่กว้างขวางและการมีเพื่อนหรือหมู่มิตรมากมาย :
سُئِلَ أَبُو الْحَسَنِ (علیه السلام) عَنْ عَيْشِ الدُّنْيَا قَالَ سَعَةُ الْمَنْزِلِ وَ كَثْرَةُ الْمُحِبِّينَ
"มีผู้ถามท่านอิมามริฎอ (อ.) เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ที่สุขสบายของชีวิตในโลกนี้ ท่านกล่าวว่า : "การมีบ้านที่กว้างขวางและการมีคนรัก (เพื่อนที่ดีและมีศรัทธา) จำนวนมาก” (1)
ในบทความนี้ เราจะพิจารณาเกี่ยวกับหะดีษบทนี้
บรรทัศฐานของการมีชีวิตที่มีความสุข
1- การมีบ้านที่กว้างขวาง
ปัจจัยประการหนึ่งสำหรับการมีชีวิตที่มีความสุขที่ท่านอิมามริฎอ (อ.) กล่าวถึง คือการมีบ้านหลังใหญ่และกว้างขวาง อิสลามไม่ได้ต่อต้านชีวิตที่สุขสบายและความเจริญรุ่งเรือง แต่อิสลามได้เตือนว่า ทรัพย์สิน (บ้าน ฯลฯ) ของเราจะเป็นสาเหตุแห่งฟิตนะฮ์และการทดสอบสำหรับเรา (2)
ในโองการของอัลกุรอาน พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งทรงตรัสว่า :
وَمَاۤ أَمۡوَ ٰلُكُمۡ وَلَاۤ أَوۡلَـٰدُكُم بِٱلَّتِی تُقَرِّبُكُمۡ عِندَنَا زُلۡفَىٰۤ إِلَّا مَنۡ ءَامَنَ وَعَمِلَ صَـٰلِحࣰا
"และทรัพย์สมบัติของพวกเจ้าและลูกๆ ของพวกเจ้า ใช่ว่าจะทำให้พวกเจ้าเข้าใกล้ชิดเราได้ก็หาไม่ นอกจากผู้ที่มีศรัทธาและกระทำความดีเท่านั้น"
(อัลกุรอานบทสะบะอ์ โองการที่ 37)
บางครั้งเราจะพบเห็นวลี « هذا مِنْ فَضْلِ رَبِّي » (นี่คือส่วนหนึ่งจากพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้อภิบาลของฉัน) ติดอยู่เหนือประตูทางเข้าของบ้านบางหลัง วลีนี้เป็นส่วนหนึ่งของโองการอัลกุรอานซึ่งในส่วนถัดไปของมันได้ชี้ถึงความรับผิดชอบอันหนักหน่วงสำหรับมนุษย์ :
فَلَمَّا رَآهُ مُسْتَقِرًّا عِنْدَهُ قالَ هذا مِنْ فَضْلِ رَبِّي لِيَبْلُوَني أَ أَشْكُرُ أَمْ أَكْفُر
"เมื่อเขา (สุลัยมาน) ได้เห็นบัลลังก์นั้นมาวางอยู่ต่อหน้าเขา เขากล่าวว่า
“นี่นี่คือส่วนหนึ่งจากพระมหากรุณาธิคุณของพระผู้อภิบาลของฉัน เพื่อพระองค์จะได้ทรงทดสอบฉันว่าฉันจะกตัญญูหรือเนรคุณ"
(อัลกุรอานบทอันนัมล์ โองการที่ 40)
เป็นการดีกว่าเพื่อที่จะเข้าใจประเด็นนี้ได้ดียิ่งขึ้น เราจะมาพิจารณาดูหะดีษ (วจนะ) บทหนึ่งของท่านอมีรุลมุอ์มินีน อะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ขณะที่ท่านไปเยี่ยม "อะลาอ์ บินซิยาด ฮาริซี" สหายคนหนึ่งของท่าน เนื่องจากท่านเห็นว่าบ้านของอะลาฮ์นั้นมีความใหญ่โตและกว้างขวางมาก ท่านจึงกล่าวกับเขาว่า :
مَا كُنْتَ تَصْنَعُ بِسَعَةِ هَذِهِ الدَّارِ فِي الدُّنْيَا وَ أَنْتَ إِلَيْهَا فِي الْآخِرَةِ كُنْتَ أَحْوَجَ؛
وَ بَلَى إِنْ شِئْتَ بَلَغْتَ بِهَا الْآخِرَةَ تَقْرِي فِيهَا الضَّيْفَ وَ تَصِلُ فِيهَا الرَّحِمَ وَ تُطْلِعُ مِنْهَا الْحُقُوقَ مَطَالِعَهَا، فَإِذاً أَنْتَ قَدْ بَلَغْتَ بِهَا الْآخِرَةَ
"เจ้าได้ทำประโยชน์อันใดบ้างด้วยกับความกว้างขวางของบ้านหลังนี้ในโลกนี้ ในขณะที่เจ้ามีความจำเป็นมากกว่าต่อบ้านที่กว้างขวางเช่นนี้ในปรโลก แน่นอน! หากเจ้าต้องการบรรลุถึง (ผลรางวัลแห่ง) ปรโลกด้วยสื่อของมัน โดยที่เจ้าจะต้อนรับแขกในมัน เชื่อมสัมพันธ์ต่อเครือญาติในมัน และทำให้สิทธิต่างๆ ที่ควรจะปรากฏขึ้นเป็นที่ปรากฏจากมัน หากเป็นเช่นนั้นแน่นอนเจ้าก็ได้บรรลุถึง (ผลรางวัลของ) ปรโลกด้วยกับบ้านที่กว้างขวางนี้แล้ว"
อะลาอ์ได้กล่าวกับท่านว่า :
يَا أَمِيرَ الْمُؤْمِنِينَ أَشْكُو إِلَيْكَ أَخِي عَاصِمَ بْنَ زِيَادٍ
“โอ้ท่านอมีรุลมุอ์มินีน! ข้าพเจ้าขอร้องทุกข์ต่อท่านเกี่ยวกับอาซิม บินซิยาด พี่ชายของข้าพเจ้า”
ท่านกล่าวว่า :
وَ مَا لَهُ؟
“เขามีปัญหาอะไรหรือ?”
เขากล่าวว่า :
لَبِسَ الْعَبَاءَةَ وَ تَخَلَّى عَنِ الدُّنْيَا
“เขานุ่งห่มผ้าคลุมกายและละทิ้ง (ชีวิต) ทางโลก”
ท่านกล่าวว่า :
عَلَيَّ بِهِ
“จงพาเข้ามาหาฉัน” เมื่อเขาได้มาถึง
ท่านได้กล่าวว่า :
يَا عُدَيَّ نَفْسِهِ لَقَدِ اسْتَهَامَ بِكَ الْخَبِيثُ، أَمَا رَحِمْتَ أَهْلَكَ وَ وَلَدَكَ؟ أَتَرَى اللَّهَ أَحَلَّ لَكَ الطَّيِّبَاتِ وَ هُوَ يَكْرَهُ أَنْ تَأْخُذَهَا؟ أَنْتَ أَهْوَنُ عَلَى اللَّهِ مِنْ ذَلِكَ
“โอ้ ผู้เป็นศัตรูกับตัวเอง! (ชัยฏอน) ผู้ชั่วร้ายได้ชักจูงเจ้าให้หลงทาง เจ้าไม่เมตตาภรรยาและลูกๆ ของเจ้าเลยหรือไร?! เจ้าคิดว่าอัลลอฮ์ได้ทรงอนุมัติสิ่งที่ดีงามทั้งหลายสำหรับเจ้าแล้ว แต่พระองค์กลับรังเกียจที่เจ้าจะรับประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นกระนั้นหรือ! เจ้าช่างเป็นผู้ต่ำต้อยในสายพระเนตรของอัลลอฮ์ยิ่งกว่าคำพูดเหล่านี้เสียอีก!”
เขากล่าวว่า :
يَا أَمِيرَ الْمُؤْمِنِينَ هَذَا أَنْتَ فِي خُشُونَةِ مَلْبَسِكَ وَ جُشُوبَةِ مَأْكَلِكَ
“โอ้ท่านอมีรุลมุอ์มินีน! ท่านเองก็สวมใส่เสื้อผ้าที่หยาบกร้านและรับประทานอาหารที่แข็งเหมือนไม้!”
ท่านกล่าวว่า :
وَيحَكَ ، إنّي لَستُ كَأَنتَ ، إنَّ اللّه َ تَعالى فَرَضَ عَلى أئِمَّةِ العَدلِ أن يُقَدِّروا أنفُسَهُم بِضَعَفَةِ النّاسِ ؛ كَيلا يَتَبَيَّغَ بِالفَقيرِ فَقرُهُ
“เจ้าช่างน่าเวทนาเสียเหลือเกิน! ฉันไม่เหมือนกับเจ้า แท้จริงอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงกำหนดเหนือบรรดาผู้นำแห่งความยุติธรรมให้วางตนอยู่ในระดับเดียวกับคนยากจนขัดสน เพื่อว่าความยากจนขัดสนจะได้ไม่ทำให้คนยากจนขัดสนเกิดความว้าวุ่นใจ”
2- การมีเพื่อนมากมาย
การมีเพื่อนที่จริงใจและมิตรสหายเห็นอกเห็นใจในชีวิตทางโลกนี้เป็นหนึ่งในปัจจัยของความผาสุกในชีวิตมนุษย์ เราเห็นคนจำนวนมากที่ดูเหมือนจะเป็นเพื่อนแท้ที่จริงใจ มีความเห็นอกเห็นใจและมีความคิดเห็นที่ตรงกันมาก แต่จากมุมมองของคนที่มีเหตุผล (อุกอลาอ์) มิตรภาพของพวกเขาไม่ได้มีคุณสมบัติที่จำเป็นและเป็นเพียงความสนุกสนาน รื่นเริงและการใช้ชีวิตผ่านไปวันๆ เท่านั้น ศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาที่มีเหตุมีผลจะไม่ยอมรับมิตรภาพเช่นนี้
ในริวายะฮ์บทหนึ่ง ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า : ฮะวารียูน (อัครสาวก) ถามท่านศาสดาอีซา (อ.) ว่า : «مَن نُجالِسُ» "เราควรนั่งร่วม (และคบหาสมาคม) กับใครดี?!” ท่านศาสดาอีซา (อ.) ด้ชี้ถึงคุณลักษณะสามประการของคนที่เราจะคบหาสมาคมและเป็นเพื่อนแท้ว่า :
مَن یُذَکِّرُکُمُ اللهَ رُؤیَتُهُ و یَزیدُ فی عِلمِکُم مَنطِقُهُ و یُرَغِّبُکُم فی الآخرهِ عَمَلُهُ
"คนที่การเห็นเขาจะทำให้พวกท่านรำลึกถึงอัลลอฮ์ และคำพูดของเขาจะเพิ่มพูนในความรู้ของพวกท่านและการกระทำของเขาจะทำให้พวกท่านปรารถนาในปรโลก” (4)
น่าเสียดายที่บางครั้งในสังคมยังถูกชักจูงโดยบรรดาคนที่มีอคติในลักษณะ (เช่นในตัวอย่างของเรา) ที่ว่า หากต้องการที่จะมีความสุขไม่ควรเข้มงวดในเรื่องของการคบหาเพื่อน หรือหากบุคคลต้องการเลือกเพื่อนตามทัศนะของศาสนาแล้ว เขาจำเป็นจะต้องตัดใจจากความสุขและความภิรมย์ในชีวิต ฯลฯ ในขณะที่เขาสามารถที่จะมีเพื่อนตามทัศนะของอิสลามได้และในขณะเดียวกันก็มีความสุขภิรมย์ได้ด้วยเช่นกัน
บางทีโองการที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ อาจจะสะท้อนได้ดีถึงสภาพของผู้ที่มีทัศนคติข้างต้นต่อชีวิตในโลกนี้และมีเพื่อนที่ไม่ดี แต่มีความสุขกับชีวิต โดยที่อัลกุรอานได้อ้างถึงคำพูดที่พวกเขาจะต้องกล่าวในวันแห่งปรโลกว่า :
یَا وَیْلَتَى لَیْتَنِی لَمْ أَتَّخِذْ فُلَانًا خَلِیلًا * لَقَدْ أَضَلَّنِی عَنِ الذِّکْرِ بَعْدَ إِذْ جَاءنِی وَکَانَ الشَّیْطَانُ لِلْإِنسَانِ خَذُولًا
“โอ้ความวิบัติแก่ฉัน! ฉันไม่น่าคบคนนั้นเป็นเพื่อนสนิทเลย แน่นอน เขาได้ทำให้ฉันหลงผิดจากคำตักเตือน หลังจากที่มันได้มายังฉันแล้ว และชัยฏอนมารร้ายนั้น เป็นผู้ทอดทิ้งมนุษย์เสมอ”
(อัลกุรอานบทอัลฟุรกอน โองการที่ 28 และ 29)
คำพูดสุดท้าย
ท่านอิมามริฎอ (อ.) ถือว่าความสุขของชีวิตในโลกนี้คือการมีบ้านที่กว้างขวางและมีเพื่อนที่มีความจริงใจ เห็นอกเห็นใจและมีความคิดที่เหมือนกัน บ้านที่กว้างขวางที่มุสลิมคนหนึ่งมี และเช่นเดียวกันนี้เพื่อนๆ ของเขา จะต้องไม่ขัดขวางเขาจากการรำลึกและการเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า
แหล่งที่มา :
บิฮารุลอันวาร, เล่ม 73, หน้า 153
อัลกุรอานบทอัตตะฆอบุน โองการที่ 15
นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์, คุฏบะฮ์ที่ 209
อัลกาฟี, เชคกุลัยนี, เล่ม 1, หน้า 39
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ