แนะนำหนังสือ ออมูเซชฟัลซาเฟะฮ์ และจุดเด่นของตำราเล่มนี้

แนะนำหนังสือ ออมูเซชฟัลซาเฟะฮ์ และจุดเด่นของตำราเล่มนี้


1.1) เดิมทีประเด็นในหนังสือเล่มนี้เป็นประเด็นและเนื้อหาที่อยาตุลลอฮมิศบาฮเคยสอนในสถาบันดัรรอเฮฮัก หลังจากนั้นลูกศิษย์ของท่านได้เรียบเรียงบทเรียนต่างๆจนสำเร็จออกมาเป็นรูปเล่มและนำเสนอให้อยาตุลลอฮมิศบาฮ์ จากนั้นท่านได้เรียบเรียงและเขียนวิชาปรัชญาด้วยวิธีของท่านจนแล้วเสร็จและตีพิมพ์ออกมาในชื่อ ดูรุซฟัลซาเฟะฮ์ และในภายหลังได้เปลี่ยนเป็น ออมูเซชฟัลซาเฟะฮ์ คำว่า ออมูเซช หรือ ดูรูซ หมายถึง การศึกษา หรือ การเรียน ส่วน คำว่า ฟัลซาเฟะฮ์ หมายถึง ปรัชญา ตำราเล่มนี้ จึงแปลเป็นภาษาไทยว่า การศึกษาปรัชญา  


1.2) หนังสือเล่มนี้ ถูกเขียนขึ้นสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาปรัชญาอิสลาม ในระดับพื้นฐาน ตั้งแต่แรกเริ่ม สำหรับนักศึกษามหาวิทยาลัย และสถาบันเฮาซะฮ์ จึงถือเป็นตำราสำหรับบุคคลทั่วไป


1.3) หนังสือเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นในลักษณะของบทเรียน ตัวบทของหนังสือจึงไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ดูเหมือนเป็นการวิจัย หรือ วิทยานิพนต์ แม้เนื้อหาบางตำแหน่งของหนังสือเล่มนี้จะมีความหนักในตัวของมัน แต่ผู้ประพันธ์ก็ได้คำนึงถึงปัญหานี้ และได้อรัมภบทเพื่อให้เข้าใจประเด็นนั้นๆในปรัชญาง่ายขึ้นเสมอ การที่ผู้ประพันธ์ขึ้นบทประวัติศาสตร์ปรัชญา กับ ญาณวิทยา และแต่ละบทจะเริ่มต้นจากการอธิบายอภิธานศัพท์ก่อน เพื่อให้เข้าใจเนื้อหาที่จะตามมา แสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ได้เป็นอย่างดี กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง แต่ละบทของหนังสือเล่มนี้ จะเริ่มจากอธิบายเรื่องพื้นฐานที่จำเป็นต้องเข้าใจอย่างง่ายๆ แล้วค่อยๆไล่ไปสู่ประเด็นที่ซับซ้อนขึ้นทีละเล็กทีละน้อย นี่ถือเป็นจุดเด่นอีกข้อหนึ่งของตำราเล่มนี้ 


1.4) แม้หนังสือเล่มนี้ จะถูกออกแบบมาเพื่อใช้เป็นตำราเรียน แต่ก็ไม่ได้มีเนื้อหาในระดับพื้นฐาน จนตื้นเขิน ประเด็นในหนังสือมีความลึกในตำแหน่งของมัน และการแสดงทัศนะของตัวท่านเองก็ถือเป็นเอกลักษณ์อีกด้านหนึ่งของตำราเล่มนี้ และยังเป็นการตอบภายในตัวว่า ปรัชญาอิสลาม ไม่ใช่ปรัชญาแบบตักลีด หรือ เดินไปตามผู้นำเสนอคนเก่า แต่เป็นปรัชญาที่พัฒนาอยู่เสมอ


1.5) หนังสือเล่มนี้ นำเอาข้อถกเถียง ข้อโต้แย้งของนักปรัชญาตะวันตก และคำนึงถึงประเด็นปัญหาที่เกิดในปรัชญาตะวันตก พร้อมกันนั้นก็ได้หักล้างและขจัดปัญหาข้อคลุมเครือเหล่านั้นออกไปด้วย


1.6) ในช่วงต้นของหนังสือ มีการนำเสนอ ปัญหาเรื่องการต่อต้านปรัชญาในโลกของอิสลามเอง หรือ ปัญหาข้อคลุมเครืออื่นๆที่มักจะนำมาโจมตีปรัชญาอิสลาม และได้คลี่คลายปัญหาเหล่านั้นด้วยเช่นกัน


1.7) หนังสือเล่มนี้ถูกแปลไว้แล้วหลายภาษาในภาษาอังกฤษมีชื่อว่า Philosophical Instruction : An Introduction to Comtemporary Islamic Philosophy ในภาษาอาหรับมีชื่อว่า المنهج الجدید فی تعلیم الفلسفة  ปัจจุบันหนังสือเล่มนี้ ถูกยกให้เป็นหนังสือระดับโลกอีกเล่มหนึ่ง และยังเป็นแหล่งอ้างอิงทางความคิดของปรัชญาอิสลามอีกด้วยเช่นกัน


1.8)ทุกบทของหนังสือเล่มนี้ จะมีสรุป และคำถามทิ้งท้ายชวนให้คิด เพื่อประคองผู้อ่านให้เข้าใจประเด็นหลักและนำความเข้าใจนั้นไปต่อยอด หรือ ศึกษาเพิ่มเติมได้อีกด้วย


ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา