กังขาคติ

กังขาคติ


 บทนำ 
ในบทเรียนนี้ ผู้เขียน ได้แนะนำให้เรารู้จักกับกลุ่ม ชักกะรออีย์ (شک گرائی) กับ วิมตินิยม หรือ บางครั้งก็เรียกว่า กังขาคติ ภาษาอังกฤษใช้คำว่า (Skepticism) ในช่วงแรกที่เรียน ผมยังไม่รู้จักคำนี้ในภาษาไทย  จนกระทั่งได้พจนานุกรมเทียบคำศัพท์มาไว้ในมือ กับ โปรแกรมรวมตำราสำนวนวิชาการ จึงทำให้การอ่านงานปรัชญานั้นง่ายและสะดวกขึ้น ดังนั้น สำหรับนักศึกษาที่เพิ่งเข้ามาวงการปรัชญาอิสลามใหม่ๆ ผมคิดว่า การมีพจนานุกรมปรัชญาติดตัวไว้ด้วย จะช่วยได้มากในเรื่องการทำความเข้าใจคำศัพท์ครับ เพราะอย่างที่เราทราบกันดี ถ้าเราไม่รู้ศัพท์ที่เป็นหัวใจ นั่งอ่านสามสี่ชั่วโมง ก็ไม่มีทางเข้าใจเนื้อหาได้ เหมือนคนที่ไม่รู้ว่า อิจติมาอ์นะกีซัยน์ (สภาวะ Self Contradiction) คืออะไร พอคุณเจอประโยคเช่น 
อัลลามะฮ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ผิด บาฏิล เพราะมัน ตะอารุฎ หรือ อิจติมานะกีซัยน์ หรือ 
อิมามคาเนอีย์ บอกว่า พฤติกรรมเชิงศีลธรรมของอิสราเอล คือ ตะนากุฎ (ทำในสิ่งที่ตรงข้ามกับศีลธรรมที่ตนเองยืนยันว่าถูกต้อง) 
สั้นๆแบบนี้ ถ้าคุณไม่รู้มาก่อนว่า อิจติมาอ์นะกีซัยน์ มันคือ อะไร ต่อให้อ่านยังไง ก็จะไม่มีทางเข้าใจเลย 
ในเรื่อง “พวกสงสัยนิยม” มีสามหัวข้อที่ผมอยากอธิบายเพิ่มเติมสักเล็กน้อย เราจะได้จับทางถูกกันได้ง่ายๆ ว่าผู้รู้เขาคุยกันเรื่องอะไร ผมจะเริ่มจาก ความหมายในเชิงพจนานุกรมก่อน จากนั้น จะเป็นเรื่อง สถานะของความสงสัยในแต่ละวิชา แล้วไปจบที่ การหาคำตอบว่า ทำไมอุลามานักปรัชญาอิสลาม ถึงให้ความสำคัญกับการอภิปรายเรื่องนี้ จากนั้นเราค่อยไปอ่านต่อในบทสรุปของหนังสือ ออมูเซชฟัลซาเฟะฮ์ว่า คนพวกนี้อ้างเหตุผลอะไร แล้วทางฝั่งนักปรัชญาอิสลามตอบเรื่องนี้ไว้อย่างไรบ้าง ในบทหลัก 
 ประเด็นที่ 1 คำว่า ชัก(شک) แปลตรงๆจะหมายถึง การสงสัย , ความสงสัย ความกังขา จัดอยู่ในกลุ่มคำใกล้เคียงกันกับคำว่า วัสวัส (وسواس) ซึ่งมุสลิมทุกคนต่างก็คุ้นเคยกับคำนี้ดี เราอาจเคยได้ยินผู้ใหญ่พูดตอนสมัยเด็กๆว่า 
“นี่แหนะอย่าให้ชัยฏอนมันมาวัสวัสเรื่องนี้”
อธิบายง่ายๆ ก็คือ อย่าให้ความสงสัย หรือ ความกังขา ที่ไม่มีประโยชน์ และไม่ดีนั้นมันมาผลกับชีวิตและการตัดสินใจของเรานั่นแหละครับ แต่ความสงสัยยแบบวัสวอส กับ ชัก ใช่ว่าจะเหมือนกันสะทีเดียว เพราะระหว่าง ชัก กับ วัสวอส มีความแตกต่างกันอยู่ 3 จุดด้วยกัน 
จุดที่ 1 ความสงสัยแบบวัสวอส คือ ผลจากการกระซิบกระซาบของซาตาน ส่วน ชัก บางครั้งก็เป็นผลมาจากตัวเราเอง ไม่จำเป็นต้องมาจากชัยฏอนเสมอไป
จุดที่ 2 ชัก มีความหมายได้ทั้งในเชิงลบและในเชิงบวก เช่น เราสงสัยว่า วันนี้เราทำของวาญิบครบหรือยัง ? วันนี้ทำหน้าที่ตัวเองสมบูรณ์ไหม ?? เรื่องที่อาจารย์สอน หรือ เรื่องที่ข่าวออกมา มันจริงแค่ไหน ? การสงสัยแบบนี้เป็นความสงสัยเชิงทั้งบวก เป็นความสงสัยแบบที่อุลามาของเราเช่นชะฮีดมุฏอฮารีให้การสนับสนุน ผมจำได้ว่าชะฮีดพูดประเด็นนี้ไว้ในหนังสือ มัสอะเละฮ์เชนอค (ญาณวิทยา) ในช่วงบทแรกๆ เพราะความสงสัยแบบนี้ เป็นอรัมภบทของความรู้ใหม่ ส่วนวัสวอส จะมีความหมายในเชิงลบด้านเดียว เป็นความสงสัยแบบไม่ดี ไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นคุณ เช่น เราสงสัยว่าคนอื่นกำลังกำลังคิดร้ายกับเราอย่างไม่มีเหตุมีผล เราระแวงเกินไปในเรื่องที่ไม่ดี คิดว่าทุกคนต้องทำสิ่งที่เลวร้ายกับเราไปเสียหมด 
ในมุอฺญัมฟัลซาฟีย์ อธิบายว่า
الوسواس‏ في اللغة الشيطان، و الوسوسة حديث النفس و الشيطان بما لا نفع فيه، و لا خير.
วัสวอสในทางภาษา หมายถึง ชัยฏอน มารร้าย ,และยังหมายถึง คำพูดที่ไม่มีประโยชน์และความดีงามของอัตตาและมารร้ายชัยฏอน[1] 
 จุดที่ 3 ชัก มีความหมายในเชิง “ค่านิยม” ด้วย เช่น กลุ่ม กังขาคติ หมายถึง  พวกที่เชื่อว่า ควรสงสัยการมีอยู่จริงของทุกอย่างบนโลกนี้ แต่ วัสวอส จะไม่เป็นแบบนั้น วัสวอสไม่จำเป็นต้องเป็นค่านิยม และเกิดขึ้นได้ทั่วไป 
จากสามจุดนี้ผมคิดว่า ผู้อ่านจะเห็นความแตกต่างอย่างคร่าวๆแล้ว แต่ถ้าคนที่อ่านไม่ใช่มุสลิม ผมคิดว่า ระหว่าง ชัก กับ วัสวอส ก็อาจอธิบายความต่างได้ เหมือน ความสงสัยแบบทั่วไป กับ ความสงสัยในทางที่ไม่ดี ก็น่าจะใช้ได้ 
ประเด็นที่ 2 ความสงสัย ในแต่ละวิชา
อีกเรื่องที่ควรรู้คือ ชัก หรือ ความสงสัย ในแต่ละวิชานั้นมีสถานะแตกต่างกัน
ก) ในตรรกวิทยา ความสงสัย คือ ค่าที่เท่ากันระหว่างการยืนยันหรือการปฏิเสธในข้อความหรือประพจน์ เช่น บทสนทนา นาย ก ถามนาย ข ว่า พรุ่งนี้ ฝนจะตกไหม ? นาย ข ตอบว่า อาจจะตกหรือไม่ตกก็ได้ นี่คือ สงสัยแบบที่มักจะเห็นในตัวอย่างวิชา มันติก  ซึ่งในทางวิชานี้ ประพจน์ใดก็ตามที่มีสถานะแบบ ชัก จะไม่ถือว่าเป็นความรู้ เพราะมันไม่ยืนยันหรือปฏิเสธอะไรเลย 
ข) ในวิชาฟิกฮ์ ความสงสัย จะมีสถานะเป็นไปในทางปฏิบัติ จะมีฮุกุ่มที่แตกต่างกัน เช่น สงสัย ว่า นมาซรอกาอัตที่ สอง หรือ สามในนมาซที่มีสามรอกาอัต ต้องทำยังไง เป็นบาฏิลไหม คำตอบต้องเอาจากมัรเญียะตักลีดของเราเอง หรือ สงสัยว่า  กางเกงของเรานะญิซสกปรก หรือ ไม่ มัรเญียะที่เราตาม อาจตอบว่า ถ้าหากก่อนหน้านี้ เรายะกีน ว่า มันไม่นะญีซ ก็ให้ถือว่า มันสะอาด จะเห็นว่าหลักปฏิบัติหรืออะฮ์กามเกี่ยวกับกางเกงตัวนั้น ก็จะจัดในหมวดของเสื้อผ้าที่สะอาด เช่น ใส่นมาซได้ เป็นต้น 
ค) ในวิชาอูศูล ก็มี ชัก ที่อธิบายแตกต่างกัน เช่น ชักบะดาวีย์(شک بدوی) กับ ชักตูอัม/มักรูนเบอิลมอิจมาลีย์(شک توأم،شک مقرون ب علم اجمالی) ชัก บะดาวีย์ คือ ความสงสัย หรือ ความคลุมเครือ
แบบแรก คือ มุกัลลัฟ สงสัยในความจำเป็นในหน้าที่ทางศาสนาของตนเอง และไม่มีความรู้โดยรวมในการพิสูจน์ว่าตัวเองมีหน้าที่(ตักลีฟ)ต่อเรื่องนั้นหรือไม่  เช่น การใช้ยาสูบ[2] ต่างจากแบบที่สอง คือ มุกัลลัฟ รู้อยู่แล้วว่าตัวเองมีหน้าที่(ตักลีฟ)ต่อเรื่องนั้นๆ รู้ว่า เป็นวาญิบ หรือ เป็นฮาร่าม แต่ไม่มีความรู้แบบละเอียด เช่น  รู้ว่า นมาซวันศุกร์เป็นวาญิบ แต่ไม่รู้ว่าต้องนมาซซุฮร์  หรือ นมาซวันศุกร์ในยุคที่อิมามเร้นกาย [3]
ง) ในวิชาปรัชญา ความสงสัย จะมีสถานะเป็นไปในทางทฤษฎี มันจะหมายถึง มุมมองต่อโลก หรือ การสงสัยถึงภาวะที่เป็นจริงของโลก เช่น การสงสัยว่า โลกไม่มีจริง หรือ ตัวเองไม่มีจริง หรือ บางครั้ง ก็อาจจะหมายถึง ความน่าเชื่อถือของความรู้ ซึ่งเราจะเห็น ข้อถกเถียงเหล่านี้ในวิชา ญาณวิทยา ด้วยในบทแรกๆ
✍️ ประเด็นที่ 3 ทำไมนักปรัชญาอิสลาม ถึงหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาอภิปราย ? 
คำตอบ แม้ประวัติศาสตร์ของคนกลุ่มนี้จะสืบได้ไกลถึงยุคของโสเครตีส แต่เหตุที่อุลามาของเราเช่น อัลลามะอฺฏอบาฏอบาอีย์ ชะฮีดมูฏอฮารี อยาตุลลอฮมิศบาฮ_ยัซดี   อยาตุลลอฮญะวาดี_ออมูลีย์ #อลลามะฮะซันซอเด_ออมูลีย์ กล่าวในอีกบริบทคือ ปรมาจารย์ผู้แตกฉานปรัชญาอิสลามจากทางฝั่งชีอะฮ์ทุกคนล้วนอภิปรายเรื่องนี้กันแบบละเอียด ในความเห็นส่วนตัวผมคิดว่า มีสองเหตุผลที่พวกเขาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 
เหตุผลแรก เพราะปรัชญาอิสลาม เป็นสัจนิยม ที่ตรงข้ามกับกลุ่มกังขาคติ ที่ตั้งคติไว้ที่การสงสัยไว้ก่อน ซึ่งเป็นที่มาของปัญหาและความโกลาหลหลายพันปี พูดขัดแย้งกันเองกันอย่างไม่มีวันจบสิ้น จนทำให้บางคนคิดว่า ปรัชญาคือ การถกเถียงเรื่องที่ไม่มีวันหาข้อสรุปได้ และมันยังเป็นปัญหาที่สืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ เดี๋ยวก็บอกว่า สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น เดี๋วยก็บอกว่า เห็นอะไรให้ชั่งใจใช้สติไว้ก่อน เดี๋ยวก็บอกว่า ทั้งตา ทั้งปัญญา ใช้ไม่ได้เลย เดี๋ยวก็บอกว่า คนเราไม่มีทางเข้าถึงความจริงได้อย่างสมบูรณ์ สิ่งที่นักปรัชญาอิสลามทำคือ การปิดประตูปัญหานี้อย่างถาวร โดยการหวนคืนสู่บะดีฮีย์ หรือ สัจพจน์(เคยลงในเพจแล้ว)จากนั้นค่อยมาแบ่งระดับว่าอะไรควรใช้กับช่องไหน ไม่ใช่ ปิดช่องเพราะไม่ยอมรับวิธีการ เช่น คนกลุ่มหนึ่งไม่เชื่อว่า พระเจ้ามีจริง เพราะใช้ตามอง ถ้าตาไม่เห็น  ก็ไม่มี ถ้าเป็นนักปรัชญาอิสลาม พวกเขาจะไม่พูดว่า ตา เชื่อถือไม่ได้ เพื่อโต้แย้งข้อความตื้นๆแบบนั้น แต่จะพูดว่า ดวงตา ใช้มองแต่สิ่งที่สามารถมองได้ สิ่งที่คุณพูดถึง ต้องใช้ช่องอื่นในการหาคำตอบ หรือ ในยุคปัจจุบัน บางเจ้า มีการตั้งมาตรฐานเอาไว้ว่า อะไรที่พิสูจน์ตามกระบวนการวิทยาศาสตร์ไม่ได้ ถือว่าไม่ใช่ความรู้ ถ้าเป็นนักปรัชญาอิสลาม เขาอาจจะตอบว่า แล้วคณิตศาสตร์กับตรรกวิทยา ไม่ใช่ความรู้หรือ ? เพราะทั้งสองวิชาไม่ได้เกิดจากการสังเกต ทดลอง แล้วสรุปผล ถ้าสิ่งคุณพูดถูกต้อง แล้วขึ้นคำว่า”วิชา”คณิตศาสตร์ ทำไม ??  การสรุปเอาแบบนี้ ก็เหมือนกับคนที่รู้อยู่แล้วว่า ประตูที่ต้องใช้กุญแจแห่งความรู้เปิด ไม่เหมือนกัน และมีมากกว่าหนึ่งบาน แต่คุณกลับพยายามใช้กุญแจดอกเดียวที่ใช้ได้กับประตูบานเดียวมาใช้กับทุกบานที่เหลือ คุณจะหาคำตอบเจอได้อย่างไร ถ้าใช้ผิดเครื่องมือ ?   
เหตุผลที่สอง เพราะ มุมมองเชิงปรัชญาตะวันตกที่พยายามเคลือบโลกใบนี้ทั้งที่แอบทำหรือเปิดเผยนั้น(เรารู้ว่ามีความพยายามทำให้หลักสูตรมนุษยวิทยาที่เรียนกันทั่วโลก ถูกออกแบบมาให้อยู่ภายใต้กระบวนทัศน์แบบตะวันตก) อย่าง สัมพัทธ์นิยม คลอดมาจาก วิมตินิยม 
ปรัชญาตะวันตก จะให้คำตอบว่า ความจริงขึ้นอยู่กับมุมมอง 
ส่วนปรัชญาของเรา จะบอกว่า ความจริงย่อมมีเพียงหนึ่งเดียว 
อธิบายง่ายๆคือ ถ้าเรารับกระบวนการคิดที่ผลิตมาจากปรัชญาตะวันตก เวลาใคร่ครวญเรื่องพระเจ้า หรือ มีคนถามว่า พระเจ้ามีจริงไหม ? ฐานที่เรารับมาจะฝึกและตีกรอบให้เราคิดว่า คำตอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ต่อให้คำตอบของคนนั้นจะมาจากการใช้เหตุผล ก็อาจจะผิดได้ นี่ยังไม่รวมเรื่อง วิทยาศาสตร์ ความรู้ สงคม ศีลธรรม ฯลฯ แค่เราดูเรื่องพระเจ้า เราก็จะเห็นชุดความคิดที่ถูกผลิตออกมาจากทัศนคติแบบนี้ แต่ถ้าเรารับกระบวนการคิดที่ผลิตมาจากปรัชญาอิสลาม กระบวนการคิดของเรา จะโคจรอยู่รอบ “ความเป็นจริง” เสมอ เราจะเริ่มจาก อะไรจริง และอะไรที่ไม่จริง และถ้าจริง มันจริงแบบไหน แบบเชิงบังคับ หรือ แบบเชิงเป็นไปได้ จากนั้นเราจึงจะรู้ว่า ควรทำอย่างไรกับความจริงที่เรารับรู้มา สมมติ เราจะใคร่ครวญกันเรื่อง จิต ถ้าเป็นกลุ่มอื่น อาจอธิบายว่า เป็นสารเคมีบ้าง อยู่ในสมองบ้าง อยู่ในหัวใจบ้าง อยู่ในร่างกายบ้าง แต่ถ้าเป็น นักปรัชญาสายอิสลาม คุณจะเห็นว่า  เรื่องแรก ที่พวกเขาจะตั้งคำถามและอภิปรายกันคือ “จิต มีอยู่จริงไหม” จากนั้นพวกเขาจะพิสูจน์ด้วยวิธีที่หนักแน่นที่สุด เช่น การพิสูจน์ว่า จิตมีอยู่จริง เพราะเรารับรู้มันได้ด้วย #อิลมุลฮูซูรีย์ หรือ ความรู้เชิงประจักษ์  จากนั้นบางท่านจะอธิบายว่า เหตุที่ข้อความนี้จริงแท้แน่นอน ไม่มีวันผิดพลาด เพราะ ความรู้เชิงประจักษ์นั้น 
ไม่มีระยะห่างระหว่างสิ่งที่ถูกรู้กับตัวรับรู้ 
เพราะปกติ การรับรู้ที่ผิดเกิดจากช่องว่างระหว่าง สิ่งที่ถูกรับรู้กับตัวผู้รับรู้ เช่น 
สายตาเราไม่ดี เราเห็นช้างเป็นคน เลยไม่หลบจนถูกช้างเหยียบ”
ช้างในตัวอย่าง คือ สิ่งที่ถูกรับรู้ สายตา คือ สื่อคั้นกลาง และ ตัวเราคือ ผู้รับรู้ 
จะเห็นว่า เพราะสายตามีปัญหา จึงทำให้การตัดสินสิ่งที่ถูกรับรู้ออกมาผิดพลาด แต่กับจิต มันจะไม่เป็นแบบนี้ เรารู้ว่า “เรา” มีจริง เพราะ “เรา” “ฉัน” “กู” เป็นสิ่งที่ไม่ต้องอาศัยสื่อกลางอะไรเลย เพราะมันประจักษ์อยู่เสมอ เป็นเรา และจะเป็นอยู่ตลอดไป ไม่ใช่แขน ไม่ใช่ขา ชี้ไม่ได้ในทางกายภาพ ไม่มีน้ำหนัก หรือ ปริมาตร แต่เราก็ยังรู้ว่า เจ้าสิ่งที่เรียก “ฉัน” นี้มีอยู่จริง  นี่คือความแตกต่างระหว่างสองค่าย 
ผมคิดว่าคำอธิบายนี้น่าจะเพียงพอแล้ว ไว้ถึงบท นิสบีกะรออีย์ ผมจะอธิบาย และยกข้อวิพากษ์ เรื่องสัมพัทธ์นิยม ในแบบที่ผมได้เรียนรู้มา ตามแต่พระประสงค์ของพระเจ้า อินชาอัลลอฮครับ
อ้างอิง 
[1] المعجم الفلسفي، ج‏1-02، ص:574
[2]https://fa.wikifeqh.ir 
[3]https://fa.wikifeqh.ir

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา