ประเภทของญาณ ตอนที่1
ประเภทของญาณ ตอนที่1
1) อรัมภบท
ในบทนี้ก่อนเข้าสู่เนื้อเรื่องการแบ่งประเภทของญาณหรือความรู้ อ.มิศบาฮ ได้เสนอแนวคิดของเรอเน เดการ์ต ผู้เป็นบิดาแห่งปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ ในด้านหนึ่งเพื่อให้เราคลำทางถูกว่า หลังจากนี้ปรัชญาอิสลามจะสร้างความมั่นใจได้อย่างไรว่า ข้อความ/ประพจน์ที่ถูกผลิตขึ้น อยู่บนพื้นฐานของความรู้ที่หนักแน่นแล้ว กล่าวในอีกบริบทหนึ่ง ถ้าหากไม่มีความรู้ในช่องใดเลยที่ถูกต้อง ผิดพลาดได้หมดทุกช่อง เราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่า มีสิ่งที่จริงและถูกต้องอยู่
2)วิธีการเข้าถึงความจริงของเรอเน เดการ์ต (René Descartes)
เดการ์ตวางตราชั่งความรู้ที่เชื่อถือได้โดยให้เริ่มจากการมีอยู่ของ “ความสงสัย” และนำพาไปสู่การยืนยันว่า ตัวของผู้สงสัยมีอยู่จริง เพราะหากทุกสิ่งน่าสงสัยไปเสียทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่เราจะไม่สงสัยเลย ก็คือ การสงสัยของเราเอง และเมื่อเรายืนยันได้ว่า การสงสัยเกิดขึ้นจริง ตัวของผู้สงสัยซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความสงสัยนั้นก็จะต้องมีอยู่ไปโดยปริยาย จากนั้นเดการ์ตได้ยกให้แนวคิดวูฏุฮ์(وضوح) กับตะมายุซ(تمایز) (เทียบศัพท์ภาษาอังกฤษได้คำว่า (clear and distinct) หมายถึง ความแจ่มแจ้งและชัดเจน)[1] เป็นมาตรฐานในการแยกแยะระหว่างความคิดที่ถูกและความคิดที่ผิด แนวคิดนี้บอกว่า สิ่งที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนนั้น คือ ความจริง เพราะ ความชัดเจนและความแจ่มแจ้งในความคิด เป็นเงื่อนไขแบบจำเป็นของความคิดที่เป็นจริงเสมอ
3) การวิจารณ์ของอยาตุลลอฮมิศบาฮ์ ยัซดี ต่อทัศนะของเรเนอ เดการ์ต
แนวคิดของเดการ์ตมีข้อวิพากษ์ดังต่อไปนี้
การเริ่มจาก “ความสงสัย” เพื่อเปิดประเด็นกับวิมตินิยมถือเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่ไม่ถูกต้องคือการปฏิเสธการมีอยู่ของจิตแล้วให้ความสงสัยนำหน้ามาก่อน เพราะในข้อเท็จจริง ความสงสัยไม่อาจมาก่อนการมีอยู่ของจิตได้ เพราะต้องมีจิตก่อนจึงจะสงสัยได้ ต้องมีจิตก่อนจึงจะมีความคิดที่แจ่มแจ้งและชัดเจนได้ ดังนั้นการดำรงอยู่ของจิตจึงต้องมาก่อนเสมอ กล่าวคือ การจัดให้ทุกสิ่งอยู่ในช่องว่างแห่งความสงสัยไปเสียทั้งหมด เป็นกระบวนการพิสูจน์ที่มีปัญหาอยู่ในตัว เพราะในความเป็นจริงเรื่องหนึ่งที่เราไม่อาจสงสัยได้เลย คือ จิตที่เป็นแหล่งกำเนิดของความสงสัย ดังนั้นหากยอมรับว่า ตนเองกำลังสงสัยอยู่ ก็จะต้องยอมรับว่า มีตัวตนที่กำลังสงสัยอยู่ตั้งแต่แรกเริ่ม
มาตรวัดนี้ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานการมีอยู่ของจิตได้เพราะ จิตไม่ใช่สิ่งคลุมเครือที่จะต้องมาพิสูจน์ว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ แต่มันคือสิ่งที่ประจักษ์กันตั้งแต่แรกเริ่มแล้ว กล่าวคือการมีอยู่ของจิตเป็นการประจักษ์แจ้งด้วยตัวเอง ไม่ใช่ต้องไปคิดหาคำตอบก่อนแล้วจึงพิสูจน์ว่าจิตมีจริง และความคิดซึ่งเป็นกริยาของจิตนั้น ไม่อาจอุบัติขึ้นมาได้เลย หากไม่มีจิตของผู้คิดอยู่ตั้งแต่แรกเริ่ม ดังนั้น “ฉันคิดฉันจึงมี” จึงเป็นข้อความที่ไม่ถูกต้อง ที่ถูกต้องคือ “ฉันมี ฉันจึงคิด”
มาตรวัดนี้ ไม่สามารถนำมาใช้เป็นหลักการการเข้าถึงความรู้แท้จริงได้ เพราะมันไม่สามารถเจาะจงได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ถือว่าชัดเจนและอะไรคือสิ่งที่ถือว่าคลุมเครือ สังเกตได้จากข้อวิพากษ์สองข้อก่อนหน้านี้ จะเห็นว่า จิตซึ่งเป็นสิ่งประจักษ์ด้วยตนเอง ถูกจัดวางให้อยู่ในฐานะของสิ่งคลุมเครือ #เพราะต้องใช้_ฉันคิดก่อน_จึงจะพิสูจน์_ฉันจึงมี_ได้ทั้งๆที่ความเป็นจริงนั้นตรงข้ามกัน
มาตรวัดนี้ ไม่สามารถตรวจหาความผิดพลาดในการรับรู้ได้ เพราะการรับรู้ที่ผิดพลาด กับ ความแจ่มแจ้ง-ความคลุมเครือ ไม่ได้มีสัมพันธ์แบบจำเป็นต่อกัน เพราะ #เป็นไปได้ว่าความแจ่มแจ้งชัดเจนบางอย่างอาจเป็นเรื่องที่ไม่จริง และ #เรื่องที่จริงบางอย่างอาจไม่แจ่มแจ้งชัดเจนเสมอไป หรือ เรื่องที่ถูกเข้าใจว่าคลุมเครือในความเป็นจริง อาจเป็นสิ่งที่แจ่มแจ้งชัดเจนในทางความคิด และเรื่องที่ถูกถือว่าแจ่มแจ้งในทางความคิดอาจเป็นสิ่งที่คลุมเครือในความเป็นจริง เช่น #จิตเป็นเรื่องที่ชัดเจนในความเป็นจริงแต่ถูกถือให้คลุมเครือในปรัชญาของเดการ์ต หรือ ความคิดเรื่องพระเจ้าของเดการ์ต เป็นเรื่องที่แจ่มแจ้งในความคิดของเขา แต่กลับเป็นเรื่องที่คลุมเครือในความเป็นจริง เพราะเมื่อนำปรัชญาของเขามาใช้งานจริง จะพบปัญหามากมายในการพิสูจน์พระเจ้าตามวิธีการแบบเดการ์ต แม้เราจะเห็นตรงกันว่าพระเจ้าต้องมีอยู่จริงก็ตาม แต่วิธีการพิสูจน์ของเรากับเดการ์ตนั้นแตกต่างกัน เราใช้ระบบอิลลัต-มะอฺลูล(กฎแห่งเหตุและผล)บุรฮานวูญูดีย์(การพิสูจน์พระเจ้าด้วยภวันต์)บุรฮานนัซม์(การมีอยู่ของผู้ดูแลระบบ)และอื่นๆ ส่วนเดการ์ตใช้ วิธีการพิสูจน์พระเจ้าโดย #หยิบยืมมาจากเซนต์เอาแซลโม โดยเสนอว่า
พระเจ้าต้องมีอยู่จริงเพราะเรามีความคิดเกี่ยวกับเรื่องพระเจ้า และ
#พระเจ้าจะไม่สมบูรณ์แบบหากพระองค์ไม่เป็นผู้ทรงประเสริฐและมีตัวตน”
ข้อเสนอนี้ #ถูกหักล้างซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแม้แต่การหักล้างเองก็ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในประเด็นที่พบได้ทั่วไปในปรัชญาแบบคลาสิค เพราะสิ่งที่เราคิด ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงเสมอไป #ไม่ได้หมายความว่าถ้าเราคิดอะไรโดยพ่วงท้ายคำว่า #สมบูรณ์_แปลว่าสิ่งนั้นต้องมีอยู่จริง หรือ ข้อเสนอเรื่อง #ตราประทับ ที่ชวนให้เชื่อว่า #เรารู้ว่าพระเจ้ามีอยู่จริง_เพราะพระองค์จงใจทิ้งร่อยรอยซึ่งก็คือ #ความคิดเรื่องพระเจ้าใส่ไว้ในจิตของเรา #ดังนั้นหากพระเจ้าไม่มีอยู่จริงเราก็คงไม่มีทางได้คิดเรื่องพระเจ้าได้เลย ข้อเสนอนี้ก็เปราะบางเช่นเดียวกัน เพราะการคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แม้บางครั้งอาจเกิดจากสิ่งภายนอกจิต #แต่ก็ไม่จำเป็นต้องมาจากการกระตุ้นของสิ่งภายนอกเสมอไป และบางความคิด ตัวผู้กระตุ้นคือตัวของจิตภายในเอง บางครั้งข้อเสนอนี้ถูกล้อเลียนโดยเปลี่ยนจากคำว่า “พระเจ้า” เป็นมนุษย์ต่างดาว คือ “การที่เราคิดเรื่องมนุษย์ต่างดาว แสดงว่า มนุษย์ต่างดาวฝากร่องรอยของตนเองไว้ในความคิดเรา ดังนั้นมนุษย์ต่างดาวจะต้องมีจริง เพราะถ้าหากไม่มีจริง เราจะไม่มีวันคิดถึงมนุษย์ต่างดาวได้เลย” จะเห็นว่า การเรียงข้อความชวนให้เชื่อแทบไม่แตกต่างกันกับข้อความแรกเลย และเราก็รู้ในทันทีว่าการให้เหตุผลในลักษณะนี้มีปัญหา นี่จึงเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า วิธีการพิสูจน์พระเจ้าของเดการ์ตนั้นเปราะบางแค่ไหน ดังนั้นจึงต้องใช้วิธีอื่นในการพิสูจน์เรื่องนี้ ซึ่งเรา(ผู้รักในปรัชญาอิสลาม) ก็มีหนทางในการพิสูจน์พระเจ้าด้วยเช่นกัน แต่ก่อนจะไปสู่จุดนั้นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจเป็นอันดับแรกก็คือ ญาณวิทยา
- ข้อความชวนคิด
ฉันเปิดคอมพิวเตอร์ แล้วเสริชหาว่า คอมพิวเตอร์มีอยู่จริงไหม ฉันคิดอยู่ครู่หนึ่ง จากนั้นฉันก็พบว่า การที่ฉันเสริชหาว่า คอมพิวเตอร์มีอยู่จริงไหม เป็นการแสดงให้เห็นว่า คอมพิวเตอร์มีอยู่จริง เพราะถ้าหากมันไม่มีจริง ฉันจะไม่สามารถเสริชหาการมีอยู่ของมันได้เลย ดังนั้นเพราะ เสริชหาได้ คอมพิวเตอร์จึงมีอยู่จริง.....เดี๋ยวก่อนนะ ถ้าไม่มีคอมฯอยู่แต่แรกแล้วฉันจะเสริชหาได้ยังไงกัน !?
พระเจ้าต้องมีจริง เพราะการที่ฉันคิดเรื่องพระเจ้า แสดงว่าพระเจ้าใส่ความคิดนี้เข้ามาในหัวของฉันแน่ๆ ว่าแต่ต้นไม้ที่มีใบสีรุ้ง มีจริงไหมนะ สงสัยจังเลย
ก : เธอควรสงสัยในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม
ข : ฉันไม่คิดว่าเธอเป็นคนที่พูดได้หรอก
ก : ทำไมละ ?
ข : เพราะฉันกำลังสงสัยในทุกๆเรื่องอยู่
ก : ฉันสงสัยว่าสิ่งที่ฉันกำลังสงสัยว่าการสงสัยเรื่องการสงสัยถึงการมีอยู่จริงของตัวฉันเองใช้เป็นข้อพิสูจน์ว่าฉันมีอยู่จริงได้หรือไม่
ข : อ้าวแล้วไหนบอกว่า การสงสัยเป็นสิ่งที่ชัดเจนแจ่มแจ้งไม่คลุมเครือ ?
หมายเหตุ
[1]แม้คำว่าตะมายุซ จะแปลว่า แยกแยะ แต่ก็ขอยึดการแปลของไทยไว้ก่อนเพื่อไม่ให้สับสนในภายหลัง
ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา