การแบ่งความรู้แบบแรก


การแบ่งความรู้แบบแรก

 

อารัมภบท
เรื่องการแบ่งประเภทความรู้ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ เพราะบางครั้ง การเรียงความคิดหรือหลักฐานผิด จะทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ผิดไปโดยปริยาย เราเรียกกระบวนการที่ผิดแบบนี้ว่า #คัลต์ (خلط)หรือ การปนกัน อาจแปลว่า การหลงประเด็น ก็ได้ และหนึ่งในสิ่งที่มักทำให้ได้ผลลัพธ์แบบผิดๆเสมอ สาเหตุหนึ่งก็มาจากการไม่แยกประเภทของความรู้นั่นเอง
ตัวอย่างการหลงประเด็น
คุณต้องการรู้ว่า คานทีเคยพูดสนับสนุนอังกฤษจริงหรือไม่ คุณเข้าห้องแลบแล้วเอาผมเส้นหนึ่งของคานที มาตรวจหาค่าบางอย่าง จากนั้นคุณก็พบว่า คานทีพูดจริงเพราะในเส้นผมของเขามีสารบางอย่างจากผลิตภัณฑ์ที่เคยขายโดยประเทศอังกฤษ คุณจึงสรุปว่า คานทีเคยพูดสนับสนุนอังกฤษ  
จากตัวอย่างจะเห็นว่า คำตอบที่ได้มาจากวิธีการที่ไม่ถูกต้อง เพราะการจะรู้ว่า คานทีพูดหรือไม่พูดอะไร ต้องสืบจากพยาน ง่ายที่สุดอาจสืบหาข้อเท็จจริงโดยเริ่มจากวิธี 6W6H1 (Who What Where Why When Whom and 1H is How.)
ความรู้สองประเภทแรก
ในปรัชญาอิสลาม/ญาณวิทยาอิสลาม ความรู้แบ่งออกเป็นสองประเภท
ประเภทแรกเรียกว่า อิลมุลฮูซูลีย์ มีความหมายคล้าย อายตนะภายนอก และ โยนิโสมนสิการ ในแง่ของการสะท้อนวิธีคิดทั้งสิบประการ แต่ก็มีความหมายที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ซึ่งในทางภาษาคำๆนี้ มาจากการสนธิระหว่าง อิลมุ (علم)ความรู้ - ฮูซูล(حصول)สิ่งที่เกิดจากการแสวงหา,การแสวงหา แปลตรงตัวคือ ความรู้ที่เกิดจากการแสวงหา ซึ่งสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับคำนี้เลย ก็อาจจะเป็นเรื่องคลุมเครือว่า หมายถึงความรู้ประเภทใด จึงต้องอธิบายว่า

อิลมุลฮูซูรีย์ คือ ความรู้ที่ตัวผู้ไปรู้มัน ซึ่งก็คือเรา รู้มันผ่านการใช้ความคิด,รู้มันผ่านข้อมูลจากภายนอก อาจเป็นข้อมูลจากประสาทสัมผัส หรือ ประสบการณ์ก็ได้ โดยรวมแล้ว ก็คือความรู้ที่เราไม่ได้มีอยู่แต่เดิม แต่มาจากการกระทบกันระหว่างตัวเรากับสิ่งภายนอก หรือ ตัวเรากับมโนทัศน์บางอย่างที่มีอยู่ในจิตแล้วนำมาเรียงเหตุผลกัน เช่น เราไม่รู้ว่าวิชาประวัติศาสตร์ คือ วิชาอะไร จึงไม่อ่านไปศึกษา แล้วพบว่า คือ วิชาที่พูดถึงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของบุคคล,สิ่งของ และอื่นๆ หรือ เราไม่รู้ว่า 9 x 346 ได้เท่าไหร่ แม้ 9 กับ 349 จะอาศัยอยู่แต่ในโลกแห่งความคิดของเราอยู่แล้ว แต่มันก็ไม่ใช่คำตอบที่เรารู้อยู่แล้ว ต้องคิดต้องคำนวนจึงจะรู้คำตอบ นี่คือสองตัวอย่างที่มีความแตกต่างกัน แต่เป็นอิลมุลฮูซูลีย์เหมือนกัน

อิลมุลฮูฎูรีย์(علم الحضوری) มาจากคำว่า อิลมุ (علم) หมายถึงความรู้ กับ ฮูฎูร(حضور) รวมกันหมายถึง ความรู้ที่มันปรากฎอยู่ คือ ความรู้ที่มันปรากฎอยู่ในจิตของตัวผู้รู้ เราไม่ต้องคิด ก็รู้ได้ แต่ไม่ได้หมายถึง ความรู้ที่ไม่ต้องคิดในความหมายเชิงลบ แต่หมายถึงสิ่งที่เรารู้คำตอบของมันในทันที เช่น การรู้ถึงตัวตนของตนเอง การรู้ถึงความรู้สึกของตนเอง ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาบอกว่า เรามีตัวตน ไม่ต้องคิด ก็สามารถรับรู้ได้ทันทีถึงการมีอยู่ของตนเอง
ความรู้ทั้งสองประเภทแตกต่างกันอย่างไร
คำตอบ ต่างกันตรงที่ ความรู้แบบอิลมุลฮูฎรีย์ ไม่ต้องมีสื่อ หรือ ตัวกลางใด เช่น มโนทัศน์ ข้อมูลดิบ ภาพของความคิด คุณไม่ต้องอ่านหนังสือ หรือ ดูวิดิโอก่อนจึงจะได้ เกล็ดของความรู้เป้าหมาย แต่แบบฮูซูลีย์ ต้องทำแบบนั้นก่อนจึงจะได้ความรู้ใหม่มาบรรจุไว้ในจิต
ตัวอย่างปรัชญา
คุณรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์หนึ่ง และแสดงออกมาด้วยการร้องไห้ คนอื่นๆจึงรับรู้ว่าตอนนี้คุณกำลังรู้สึกเสียใจ สำหรับคุณแล้ว ความรู้สึกเสียใจนั้น เป็นอิลมุลฮูฎูรีย์ แต่สำหรับคนอื่น ความรู้สึกเสียใจเป็นอิลมุลฮูซูลีย์ เพราะ พวกเขาต้องรับรู้ข้อความจากภาษากาย ซึ่งก็คือ การร้องไห้ ก่อน จึงจะรู้ว่า คุณกำลังรู้สึกเสียใจ แต่สำหรับคุณ ไม่จำเป็นต้องทำแบบนั้นเลย

ขอขอบคุณ ข้อมูลจาก เพจปรัชญาการเมืองและศาสนา