เราจะยืนหยัดขึ้นเพื่อการรอคอย ไข่มุกล้ำค่าที่ได้มาด้วยความพยายาม
เราจะยืนหยัดขึ้นเพื่อการรอคอย ไข่มุกล้ำค่าที่ได้มาด้วยความพยายาม
ความหมายของการรอคอยอิมามมะฮ์ดี (อ.) ผู้ที่อัลลอฮ์ทรงสัญญาไว้นั้น ได้รับการเน้นย้ำจากบรรดามะอ์ซูม (อ.) มาโดยตลอด สติปัญญาและริวายะฮ์ (คำรายงาน) ของอิสลามแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างการรอคอยและความพยายาม ผู้รอคอย (มุนตะซิร) หมายถึงคนที่มุ่งมั่นเพื่อเป้าหมายของเขา และการนั่งกุมมือโดยไม่ทำอะไรนั้นไม่ใช่การรอคอย
การรอคอยการหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก (อินติซอร อัล ฟะร็อจ) (1) เป็นการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับจุดสิ้นสุดที่เปี่ยมไปด้วยความผาสุกสำหรับสังคมของบรรดาผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) ปัญญาชนบางคนกล่าวว่า เหตุใดชาวอิหร่านจึงรอบุคคลเพียงคนเดียวที่จะมาแก้ไขปรับปรุงสังคมแทนที่จะคิดและพยายาม เพื่อตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ จำเป็นต้องเข้าใจความหมายของการรอคอยเสียก่อน
คามหมายของการรอคอย
บางคนคิดว่าความหมายของการรอคอยคือการนั่งกุมมืออยู่ในบ้านโดยไม่ทำอะไร ในขณะที่ความหมายนี้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องเลย เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้นเกี่ยวกับความหมายของการรอคอย (อินติซอร) จะขอยกตัวอย่างหนึ่ง สมมติว่ามีคนกล่าวกับเด็กหนุ่มคนหนึ่งว่า เธอทำงานอะไร? เขาตอบว่า ผมกำลังรอหางานอยู่ ถ้าจุดประสงค์จากการรอของเขาหมายถึง ฉันจะนั่งรออยู่ที่บ้านและไม่ทำอะไรเลย ทุกคนจะตำหนิเขาและจะบอกเขาว่า การรอไม่ใช่สิ่งนี้ แต่เธอจำเป็นจะต้องเคลื่อนไหวเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ดังนั้นการรอคอยจึงมาพร้อมกับการเคลื่อนไหวและความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมาย
ความหมายของการรอคอยในริวายะฮ์
เกี่ยวกับความหมายของการรอคอย (อินติซอร) นั้น มีริวายะฮ์ (คำรายงาน) บทหนึ่งจากท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ซึ่งท่านได้กล่าวว่า :
أَفْضَلُ أَعْمَالِ أُمَّتِي اِنْتِظَارُاَلْفَرَجِ
"การกระทำ (อะมั้ล) ที่ดีที่สุดของประชาชาติของฉัน คือ การรอคอยการหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก" (2)
ด้วยเหตุนี้ บรรดามะอ์ซูม (อ.) จึงให้ความหมายว่า "อินติซอร" (การรอคอย) เป็น "อะมั้ล" (การกระทำ) และถือว่าการรอคอยเป็นการกระทำที่ดีที่สุดของชาวมุสลิม
ความหมายของการรอคอยในคำพูดของผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลาม
ความหมายของการกระทำ (อะมั้ล) และความพยายามได้เชื่อมโยงอยู่กับความหมายของการรอคอย (อินติซอร) ท่านอายะตุลลอฮ์คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดของการปฏิวัติอิสลามได้เน้นย้ำถึงความหมายนี้ไว้หลายครั้งเช่นกัน ตัวอย่างเช่น เนื่องในโอกาสวันประสูติของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.) ท่านกล่าวว่า : "การรอคอยไม่ได้หมายถึงการนั่งกุมมือและจ้องมองไปที่ประตู การรอคอยหมายถึงการเตรียมตัว หมายถึงการลงมือทำ หมายความว่าคนๆ หนึ่งรู้สึกว่ามีจุดจบที่สามารถบรรลุผลได้ และคนๆ นั้นต้องพยายามไปให้ถึงจุดสิ้นสุดนั้น พวกเราที่กำลังรอคอยการบรรเทาทุกข์ เรากำลังรอคอยการปรากฎตัวของท่านบะกียะตุลลอฮ์ (อัราหุนา ละฮุลฟิดาอ์) เราต้องใช้ความพยายามในแนวทางนี้ เราต้องพยายามสร้างสังคมแห่งมะฮ์ดาวี ปรับปรุงตนเองและเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และทำให้สภาพแวดล้อมรอบตัวเราใกล้เคียงกับสังคมแห่งมะฮ์ดาวีให้มากที่สุด ซึ่งเป็นสังคมแห่งความบริสุทธิ์ สังคมแห่งจิตวิญญาณ และสังคมแห่งความรู้ มันคือสังคมแห่งภราดรภาพและความเป็นพี่น้อง เป็นสังคมแห่งความรู้ เป็นสังคมแห่งเกียรติยศ" (3)
ดังนั้น ความหมายของการรอคอยจึงไม่เคยขัดแย้งกับความพยายามและการคิด และแน่นอนเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม กล่าวคือ การรอคอยนั้น ก็คือ ความพยายามและการคิด และความหมายเหล่านี้เชื่อมโยงเข้าด้วยกัน สติปัญญาและริวายะฮ์ (คำรายงาน) แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่รอคอยสังคมในอุดมคตินั้น จำเป็นต้องพยายามและคิดที่จะปฏิรูปตัวเองและสังคม เพื่อทำให้ความหมายของการรอคอยมาสู่การปฏิบัติจริง ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องวางสโลแกนนี้ไว้เป็นเรื่องหลักของชีวิตของเราว่า : "เราจะยืนหยัดขึ้นเพื่อการรอคอย"
แหล่งที่มา :
1. อินติซอร อัล ฟะร็อจ (การรอคอยการหลุดพ้นจากความทุกข์ยาก) ในสำนวนฮะดีษของชีอะฮ์นั้น หมายถึง การรอคอยการปรากฏตัว (ซุฮูร) ของท่านอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
2. บิฮารุ้ลอันวาร, อัลลามะฮ์มัจญ์ลิซี, เล่ม 50, หน้า 318
3. https://khl.ink/f/45317
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ