มุมมองต่อชีวิตทางโลก ในวจนะของท่านอิมามฮาดี (อ.)
มุมมองต่อชีวิตทางโลก ในวจนะของท่านอิมามฮาดี (อ.)
ารรู้จักตนเอง สภาพแวดล้อมและจุดหมายสุดท้ายของการดำเนินชีวิต คือหนึ่งในสิ่งที่มนุษย์มีความกังวลมากที่สุด มุมมองหรือโลกทัศน์ที่มีต่อประเด็นเหล่านี้ จะเป็นตัวกำหนดทิศทางของการดำเนินชีวิตของมนุษย์แต่ละคน คนที่มีความศรัทธาต่อพระเจ้าและเชื่อมั่นว่า พระองค์คือผู้สร้างสรรพสิ่ง เขาจะเข้าใจได้อย่างถูกต้องว่า มีเป้าหมายและปรัชญา (ฮิกมะฮ์) ที่สูงส่งได้ถูกกำหนดไว้ในการสร้างนี้
เนื่องจากการที่เขามีความเชื่อมั่นว่า โลกแห่งการดำรงอยู่นี้มีเป้าหมาย ดังนั้นเขาจะไม่มองว่าชีวิตของตนเองว่างเปล่า และไร้เป้าหมายใดๆ เขาจะมีมุมมองเฉพาะต่อโลก เป็นมุมมองแบบผู้ที่ศรัทธามั่นในพระเจ้า และเขาจะไม่หลงลืมจากฮิกมะฮ์ (ปรัชญา) ของพระเจ้าในโลกนี้
มนุษย์ยิ่งมีความศรัทธาและความเชื่อมั่นในพระเจ้ามากเท่าใด มุมมองของเขาที่มีต่อชีวิตทางโลกนี้ ก็จะมีความเที่ยงแท้และถูกต้องมากเพียงนั้น ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ผู้ที่มีความศรัทธา (อีหม่าน) มากที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดนั้น คือบรรดามะอ์ซูม (อ.) ในเนื้อหาต่อไปนี้ เราจะมาพิจารณาถึงวจนะต่างๆ ของอิมาม (อ.) ท่านนี้ เกี่ยวกับการรู้จักโลกในบางวจนะของท่านอิมามฮาดี (อ.) ท่านได้อธิบายถึงโลกนี้ว่า เป็นเหมือนสถานที่ทำการค้า โดยกล่าวว่า :
الدُّنیا سوقٌ، رَبِحَ فیها قَومٌ وخَسِرَ آخَرونَ
“โลกนี้คือตลาดที่ชนกลุ่มหนึ่งได้รับผลกำไรในมัน และชนอีกกลุ่มหนึ่งได้รับความขาดทุน” (1)
มนุษย์ทุกคนที่ถือกำเนิดขึ้นมา ในความเป็นจริงแล้ว เขาได้ย่างก้าวเข้าสู่ตลาดแห่งหนึ่งแล้ว ดังนั้นจำเป็นต้องอุตสาหะพยายามที่จะแสวงหาผลกำไรจากการดำเนินชีวิตให้ได้มากที่สุด การมองโลกด้วยมุมมองนี้ จะเป็นสื่อทำให้มนุษย์ถือว่า ตนเองมีเป้าหมายและมุ่งมั่นพยายามที่จะนำหน้าบุคคลอื่นๆ แน่นอนยิ่งว่า พ่อค้าทุกคนนั้นปรารถนาที่จะได้รับผลกำไรให้ได้มากที่สุด และจะต้องไม่ล้าหลังบุคคลอื่นๆ ทุกคนรู้ดีว่าการดำเนินชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้นั้นมีความจำเป็นต่อกรณีต่างๆ อันเป็นเฉพาะ และมนุษย์เพื่อที่จะได้รับมาซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องอุตสาหะพยายาม
และในวจนะอีกบทหนึ่ง ท่านอิมามอะลี อัลฮาดี (อ.) พร้อมกับการชี้ถึงประเด็นข้างต้น ท่านได้ชี้ถึงสิ่งที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตในปรโลกไว้ดังนี้ว่า :
اَلنّاسُ فِی الدُّنْیا بِالاَمْوالِ وَ فِی الآْخِرَةِ بِالاَعْمالِ
“มนุษย์มีชีวิตอยู่ในโลกนี้โดยอาศัยทรัพย์สิน และจะมีชีวิตอยู่ในปรโลกโดยอาศัยการกระทำความดี (อะอ์มาล)” (2)
หมายความว่า การมีทรัพย์สินเงินทองและปัจจัยจำเป็นต่างๆ ทางด้านวัตถุเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับชีวิตทางโลกนี้ และการมีอะมั้ลซอและห์ (การกระทำที่เป็นสิ่งดีงาม) ต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับชีวิตในปรโลกเช่นเดียวกัน และทำนองเดียวกับที่มนุษย์เราจะคิดหาทางขจัดความต้องการต่างๆ ในชีวิตทางโลกนี้ของเขา ก็จำเป็นที่เขาจะต้องครุ่นคิดในการสนองตอบความต้องการต่างๆ สำหรับชีวิตในปรโลกของตนด้วยเช่นเดียวกัน และควรจะใช้โอกาสของชีวิตในโลกนี้เพื่อตระเตรียมเสบียงที่ดีงามสำหรับชีวิตปรโลกของตัวเองด้วย แต่ทว่าสิ่งใดที่มีความสำคัญกว่า ความพยายามเพื่อโลกนี้หรือว่าความพยายามเพื่อปรโลก?
แน่นอนยิ่ง ว่าเราสามารถเปลี่ยนการงานต่างๆ ทางโลกทั้งหมดให้เป็นอะมั้ลซอและห์ (การงานที่ดีงาม) ได้ด้วยเจตนา (เหนียต) เพื่อพระผู้เป็นเจ้า และเราจะส่งมันล่วงหน้าไปในฐานะเสบียงสำหรับชีวิตในปรโลก แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะคงทนถาวรกว่าและจะสนองตอบและขจัดความต้องการต่างๆ ของมนุษย์ได้ยาวนานมากกว่า ย่อมเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากกว่า ท่านอิมามฮาดี (อ.) ด้วยการพิจารณาถึงประเด็นนี้ ท่านได้เน้นย้ำให้เรารำลึกถึงช่วงเวลาแรกหลังความตาย ซึ่งเป็นสภาพที่ในช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีใครที่จะให้การช่วยเหลือแก่เขาได้ ท่านได้กล่าวว่า :
اُذکُرْ مَصرَعَكَ بینَ یَدَی أهلِكَ؛ ولا طَبیبَ یَمنَعُكَ، ولا حَبیبَ یَنفَعُكَ
“จงรำลึกถึงช่วงเวลาแห่งความตายของท่าน ณ เบื้องหน้าครอบครัวของท่าน โดยที่ไม่มีหมอคนใดจะยับยั้งท่าน (จากความตาย) ได้ และไม่มีเพื่อนคนใดจะยังคุณประโยชน์ต่อท่านได้” (3)
เมื่อมนุษย์รำลึกถึงช่วงเวลาเช่นนี้ เขาก็จะเห็นถึงความสำคัญของการทำงานและความพยายามเพื่อชีวิตในปรโลก และจะเตรียมพร้อมตนสำหรับช่วงเวลาดังกล่าว และจะใช้ประโยชน์จากเหตุการณ์ต่างๆ ของโลกนี้เพื่อปรโลกของตน มนุษย์ที่ตระหนักถึงความยากไร้และความต้องการแห่งปรโลกของตนนั้น เขาจะแสดงใบหน้าแห่งความอดทนของตนในการเผชิญหน้ากับปัญหาอุปสรรคต่างๆ โดยมุ่งหวังความพึงพอพระทัยจากพระผู้เป็นเจ้า และจะย่างก้าวเข้าสู่สนามของปัญหาต่างๆ เยี่ยงวีรบุรุษได้มากกว่าคนอื่น ๆ ท่านอิมามฮาดี (อ.) ยังได้กล่าวในเรื่องนี้อีกว่า :
إنَّ اللهَ جَعَلَ الدُّنیا دارَ بَلوی وَ الآخِرَةَ دارَ عُقبی وَ جَعَلَ بَلوَی الدُّنیَا لِثَوابَ الآخِرَةِ سَبَباً، وَ ثَوابَ الآخِرَةِ مِن بَلوَی الدُّنیا عِوَضاً
“แท้จริงอัลลอฮ์ได้ทรงกำหนดให้โลกนี้เป็นสถานที่แห่งการทดสอบ และทรงกำหนดให้ปรโลกเป็นสถานที่แห่งการตอบแทน และพระองค์ทรงกำหนดให้ความทุกข์ยากของโลกนี้เป็นสื่อสำหรับผลรางวัลแห่งปรโลก และผลรางวัลแห่งปรโลกนั้นคือสิ่งทดแทนจากความทุกข์ยากแห่งโลกนี้” (4)
โดยความคิดเช่นนี้นั่นที่จะทำให้ผู้ศรัทธา (มุอ์มิน) มีความสามารถอย่างสูงที่จะเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากต่างๆ และจะอดทนต่อความยากลำบากในโลกนี้เพื่อที่จะทำให้ตนมีค่าในปรโลก
ส่วนหนึ่งจากคำสอนของอิมามฮาดี (อ.)
خَيْرٌ مِنَ الْخَيْرِ فاعِلُهُ، وَاَجْمَلُ مِنَ الْجَميلِ قائِلُهُ، وَأرْجَحُ مِنَ الْعِلمِ حامِلُهُ، وَشَرٌّ مِنَ الشَّرِّ جالِبُهُ، وَاَهْوَلُ مِنَ الْهَوْلِ راكِبُهُ
“ที่ดียิ่งกว่าความดี คือผู้กระทำมัน และที่สวยงามยิ่งสิ่งสวยงามคือผู้ที่พูดถึงมัน และที่เหนือกว่าความรู้คือผู้ที่มีความรู้ และที่ชั่วร้ายยิ่งกว่าสิ่งชั่วร้ายคือผู้ที่นำความชั่วร้าย (มาสู่ตัวเอง) และที่น่ากลัวยิ่งกว่าความน่ากลัวคือผู้ที่กระทำมัน” (5)
اِنَّ الحَرامَ لا ینمى وَ اِن نَمى لا یبارَک لَهُ فیهِ وَ ما اَنفَقَهُ لَم یؤجَر عَلَیهِ وَ ما خَلَّـفَهُ کانَ زادَهُ اِلَى النّارِ
“แท้จริงทรัพย์สินต้องห้าม (ฮะรอม) นั้นจะไม่ก่อให้เกิดการเพิ่มพูน และถ้าหากเพิ่มพูนก็จะไม่ก่อให้เกิดความจำเริญแก่เขา และสิ่งที่เขาได้บริจาคมันออกไปก็จะไม่ได้รับการตอบแทนรางวัล และถ้าหากเขาละทิ้งมันไว้เบื้องหลัง (เป็นมรดก) มันก็จะเป็นเสบียงของเขาไปสู่ไฟนรก” (6)
ألحِکمَةُ لاتَنجَعُ فِی الطِّباعِ الفاسِدَةِ
“วิทยปัญญา (ฮิกมะฮ์) จะไม่ยังคุณประโยชน์อันใดในคนที่มีอุปนิสัยใจคอที่ชั่วร้าย” (7)
أَلدُّنيا سُوقٌ رَبِحَ فيها قَوْمٌ وَ خَسِرَ آخَرُونَ
“โลกนี้เปรียบได้ดั่งสถานที่ทำการค้าขาย ที่คนกลุ่มหนึ่งจะได้รับผลกำไรและคนอีกกลุ่มหนึ่งจะได้รับความขาดทุน” [8]
اِيّاكَ وَالْحَسَدَ فَاِنَّهُ يَبينُ فيكَ وَلايَعْمَلُ فى عَدُوِّكَ؛
“จงระวังจากความอิจฉาริษยา เพราะแท้จริงความอิจฉาริษยานั้นจะปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในตัวท่าน และมันจะไม่ส่งผลใดๆ ในศัตรูของท่าน” (9)
เชิงอรรถ :
(1) ตุหะฟุลอุกูล, หน้าที่ 483 ; บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 78, หน้าที่ 366, ฮะดีษที่ 6
(2) บิฮารุ้ลอันวาร เล่มที่ 78, หน้าที่ 368, ฮะดีษที่ 3
(3) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 78, หน้าที่ 370, ฮะดีษที่ 64
(4) ตุหะฟุลอุกูล หน้าที่ 772
(5) บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 78 , หน้าที่ 370
(6) อัลกาฟี , เล่มที่ 5 , หน้าที่ 125
(7) บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 78 , หน้าที่ 370
(8) ตุหะฟุ้ลอุกูล , หน้าที่ 774
(9) บิฮารุ้ลอันวาร , เล่มที่ 78 , หน้าที่ 370
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ