เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เสรีภาพของมนุษย์ในวจนะของท่านอิมามอะลี (อ.)

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เสรีภาพของมนุษย์ในวจนะของท่านอิมามอะลี (อ.)

 

ความจริงประการหนึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพของมนุษย์ที่ถูกนำเสนอเมื่อ 1400 ปีที่ผ่านมาโดยอิสลาม นับว่าเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาใคร่ครวญ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเวลานั้น “เสรีภาพ” ไม่ได้ถูกรู้จักในฐานะหลักการสำคัญอันเป็นคุณค่าที่ดีงามประการหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ความเป็นคุณค่าที่ดีงามของเสรีภาพเป็นเรื่องที่ชัดเจนที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

    ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า

اَیُّهَا النّاسُ اِنَّ آدَمَ لَمْ یَلِدْ عَبْداً وَ لا اَمَةً وَ اِنَّ النّاسَ کُلُّهُمْ اَحْرارٌ

“โอ้มนุษย์เอ๋ย! แท้จริง ศาสดาอาดัม (อ.) มิได้ถือกำเนิดมาเป็นทาสหรือทาสีแต่ประการใด และแท้จริงมนุษย์ทุกคนนั้นคือ เสรีชน” (1)

คำอธิบาย :

    กลุ่มเป้าหมายจากคำพูดของท่านอิมามอะลี (อ.) จากคำรายงานนี้ คือ มนุษยชาติทั้งมวล เนื่องจากท่านไม่ได้พุ่งเป้าไปที่กลุ่มใดโดยเฉพาะ แต่ทว่าท่านกล่าวกับมนุษยชาติทั้งมวล สำนวนคำว่า «یا اَیُّهَا النّاسُ» “โอ้มนุษย์เอ๋ย” จะถูกใช้ในกรณีต่างๆ ที่เป็นสิทธิมนุษยชน แต่สำนวนคำว่า «یا اَیُّهَا الَّذینَ آمَنُوا» “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา” จะถูกใช้ในกรณีต่างๆ ที่เป็นสิทธิแห่งอิสลาม ตามคำรายงานนี้ ประชาชนทุกคนเป็นผู้มีเสรีภาพ และพื้นฐานของการสร้างมนุษย์และลูกหลานของอาดัมนั้นวางอยู่บนเสรีภาพ หากในที่ใดและในช่วงเวลาใดที่หลักการนี้ถูกละเมิด นั่นเป็นกรณียกเว้น

    ความจริงประการหนึ่งเกี่ยวกับเสรีภาพของมนุษย์ที่ถูกนำเสนอเมื่อ 1400 ปีที่ผ่านมาโดยอิสลาม นับว่าเป็นเรื่องที่น่าพิจารณาใคร่ครวญ ทั้งนี้เนื่องจากในช่วงเวลานั้น “เสรีภาพ” ไม่ได้ถูกรู้จักในฐานะหลักการสำคัญอันเป็นคุณค่าที่ดีงามประการหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ความเป็นคุณค่าที่ดีงามของเสรีภาพเป็นเรื่องที่ชัดเจนที่ไม่มีใครปฏิเสธได้

    หลักการความจำเป็นของการมีเสรีภาพนั้นเป็นประเด็นที่ชัดเจนยิ่ง ยิ่งไปกว่านั้นมันคือสัจพจน์ (หมายถึงเนื้อหาที่ยอมรับว่าเป็นจริงโดยไม่ต้องพิสูจน์) ประการหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับของทุกคน และทุกชนชาติที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจการครอบงำ ที่จะต้องทำการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งนี้ สิ่งที่ควรพิจารณาและให้ความสนใจคือสองสิ่งต่อไปนี้

    ทำไมเสรีภาพจึงถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าอย่างหนึ่ง? หากไม่มีสิ่งนี้แล้วจะเป็นอย่างไร? และหากมีสิ่งนี้อยู่จะเกิดอะไรขึ้น? แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปรัชญาของเสรีภาพเป็นเรื่องที่พูดถึงกันน้อยมาก ทั้งที่ปรัชญาของเสรีภาพเป็นสิ่งที่มีความชัดเจนยิ่ง

    มนุษย์มีพลังความสามารถ มีศักยภาพและพรสวรรค์ต่างๆ มากมาย ในกรณีที่มนุษย์จะทำให้สิ่งเหล่านี้บรรลุผลความเป็นจริงขึ้นมาได้นั้น จะต้องไม่มีอุปสรรคกีดขวางอยู่เบื้องหน้าเขา เขาจะต้องสามารถศึกษาแสวงหาความรู้และการเรียนรู้ได้อย่างอิสระ จะต้องย่างก้าวไปในเส้นทางของการพัฒนาสู่ความสมบูรณ์ได้อย่างมีอิสรเสรี วิวัฒนาการหรือการพัฒนาสู่ความสมบูรณ์ของมนุษย์นั้นวางอยู่บนหลักเกณฑ์พื้นฐานสองประการคือ

    (ก) ศักยภาพและพรสวรรค์ภายในตัวมนุษย์

    (ข) การไม่มีอุปสรรคกีดขวาง ดังนั้นปรัชญาของเสรีภาพของมนุษย์ คือการใช้ประโยชน์จากความสามารถและพรสวรรค์ต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวเขา ซึ่งเป็นที่ชัดเจนยิ่งที่ว่า ความเบ่งบานของศักยภาพและพรสวรรค์ต่างๆ ที่มีอยู่ในตัวของมนุษย์นั้น จะบรรลุความเป็นจริงได้ดีมากยิ่งขึ้นในสภาพแวดล้อมที่เปิดและในบรรยากาศที่เป็นอิสระ การเจริญเติบโตของต้นไม้ที่ปลูกในกระถางกับต้นไม้ที่ปลูกลงในพื้นดินนั้น ไม่อาจที่จะเปรียบเทียบกันได้

    เสรีภาพประเภทใดเป็นที่พึงปรารถนา? จากสิ่งที่ผ่านไปในประเด็นแรกนั้นเป็นที่ชัดเจนว่า เสรีภาพที่จะเป็นที่พึงปรารถนานั้นจะต้องเป็นเสรีภาพที่จะดำเนินไปในทิศทางของวิวัฒนาการหรือการพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) ของมนุษย์ ดังนั้นปรัชญาแห่งเสรีภาพจะเป็นตัวอธิบายและกำหนดขอบเขตของมัน ทั้งนี้เนื่องจากเสรีภาพมีหลายประเภทคือ

(ก) เสรีภาพแบบสมบูรณ์ (ไร้ขอบเขตจำกัด): เสรีภาพประเภทนี้จะพบได้เฉพาะในใจกลางป่าเขาลำเนาไพรและท่ามกลางสัตว์ป่าเพียงเท่านั้น สถานที่ในลักษณะดังกล่าวนี้ ใครคิดอยากจะทำอะไรก็สามารถที่จะกระทำได้ และเป็นที่ชัดเจนว่า จะไม่มีใครต่อต้านเสรีภาพเช่นนี้ของเขา

(ข) เสรีภาพที่อยู่ในกรอบจำกัดของกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น: ซึ่งก็จะมีการเปลี่ยนแปลงและการอรรถาธิบายใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา ผู้ที่ไม่ศรัทธาต่อศาสนาก็ต้องยอมรับกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้น เสรีภาพของพวกเขาจึงถูกจำกัดอยู่ในกรอบของกฎหมายนี้ จริงอยู่ที่ว่ากฎหมายนั้นอาจไม่มีความขัดแย้งใดๆ ต่อเสรีภาพ แต่จะต้องอยู่กับผู้ที่รักษาเสรีภาพดังกล่าว

(ค) เสรีภาพที่อยู่ในกรอบจำกัดของคุณค่าต่างๆ แห่งพระผู้เป็นเจ้า: เสรีภาพของผู้ที่ศรัทธาและปฏิบัติตามศาสนาและสำนักคิดต่างๆ ที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า จะอยู่ในกรอบของคุณค่าต่างๆ ทางศาสนา บุคคลเหล่านี้จะไม่อนุญาตอย่างเด็ดขาดที่ใครจะละเมิดขอบเขตของคุณค่าต่างๆ อันสูงส่งแห่งพระผู้เป็นเจ้าและของมนุษย์ โดยอาศัยชื่อของคำว่า “เสรีภาพ”

    จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเภทแรกนั้นไม่ใช่เสรีภาพที่พึงปรารถนาของมนุษย์คนใดทั้งสิ้น และประเภทที่สองก็เป็นบ่อเกิดของปัญหาอุปสรรคและความทุกข์ยากต่างๆ นานัปการ มีเพียงประเภทที่สามเท่านั้นที่สามารถสนองตอบความผาสุกไพบูลย์ของมนุษยชาติได้ และเป็นอาภรณ์ปลกคลุมเรือนร่างแห่งการดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้อย่างแท้จริง

แหล่งอ้างอิง :

[1] มีซานุลฮิกมะฮ์ หมวด (บาบ) ที่ 779 ฮะดีษที่ 3556 (เล่มที่ 2 หน้าที่ 351)

บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม