เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เทววิทยาอิสลาม บทเรียนที่ 19

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

เทววิทยาอิสลาม บทเรียนที่ 19 


เตาฮีด อัฟอาลีย์ -  التوحيد الافعالي 
เตาฮีด [توحید] ตอนที่ 8 : เตาฮีด อัฟอาลีย์[توحید افعالی]
▪️ หัวข้อใหญ่ : เตาฮีด
▪️ หัวข้อย่อย : เตาฮีดอัฟอาลีย์
[เตาฮีด  เตาฮีดซาตีย์  เตาฮีดศิฟาตีย์  เตาฮีดอัฟอาลีย์]
 التوحید الأفعالي เตาฮีด คือการเชื่อว่าไม่มีสิ่งใดจะเสมอเหมือนพระองค์ได้ ซึ่งถูกแบ่งออกเป็นประเภทต่างๆ เช่น 
 หากพูดถึงการมีอยู่ของพระเจ้าองค์เดียวที่ไม่มีสิ่งใดเทียบเคียงกับพระองค์ได้ ถูกเรียกว่า “เตาฮีด ซาตีย์” 
 และหากพูดถึง ”ศีฟาต-คุณลักษณะ“ ของพระองค์ว่า เป็นสิ่งเดียวกับ ”ซาต-อาตมัน“ ของพระองค์เอง เป็นสิ่งที่อยู่แต่เดิมและตลอดไป จะถูกเรียกว่า “เตาฮีดศิฟาตีย์ 
 และหากจะพูดในแง่ของการงาน การกระทำของพระองค์ ว่า ทุกการกระทำ เป็นการกระทำของพระองค์เพียงองค์เดียว ไม่มีหุ้นส่วนใดๆหรือการช่วยเหลือใดๆในการกระทำของพระองค์ และจะไม่มีการกระทำใดสามารถเกิดขึ้นได้เว้นแต่ด้วยความประสงค์และความต้องการของพระองค์ พระองค์เป็นผู้กระทำสิ่งต่างๆด้วยตัวพระองค์เอง เตาฮีดประเภทนี้ถูกเรียกว่า “เตาฮีด อัฟอาลีย์”
 ความหมายของ เตาฮีด อัฟอาลีย์
เราเชื่อว่า ทุกภารกิจทั้งหมดในเอกภพนี้ ล้วนดำเนินไปตามการอนุญาตของพระเจ้าทั้งสิ้น แม้แต่น้ำฝนหนึ่งหยดที่หล่นมาจากฟากฟ้าล้วนเป็นไปด้วยการอนุมัติจากพระองค์เท่านั้น นั่นคือหากพระองค์ไม่อนุมัติสิ่งนั้นก็จะไม่มีวันเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด นี้คือ ความเชื่อใน “เตาฮีด อัฟอาลีย์” ดังนั้น เตาฮีด อัฟอาลีย์ จึงอยู่ในกรอบความหมายต่อไปนี้ คือ
 ในความหมายหนึ่ง[1]ให้ความหมายว่า : ผู้ทรงกระทำสิ่งต่างๆด้วยลำพังพระองค์เอง [یگانه بودن در افعال] 
ความว่า พระองค์เป็นผู้กระทำสิ่งต่างๆด้วยตัวของพระองค์เองตามลำพัง ไม่มีภาคีร่วมใดๆ  ในการสร้าง ในการอภิบาล และการประทานปัจจัยยังชีพและอื่นๆ โดยไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใด
 อีกความหมายหนึ่ง[ความหมายที่สอง]ให้ความหมายว่า : ปฏิเสธทุกการกระทำที่ไม่มีพระองค์เข้ามาเกี่ยวข้อง  [نفی هر فاعل مستقلی جز خدا] 
ความว่า ไม่มีสิ่งใด หรือผู้ใดกระทำสิ่งหนึ่งได้โดยไม่มีพระเจ้าเป็นผู้อนุมัติ และมีเพียงพระองค์เท่านั้นที่กระทำได้ด้วยพระองค์เอง 
แล้วการกระทำของมนุษย์ละ ?! แน่นอนว่ามนุษย์เป็นผู้กระทำ และตัดสินใจทำด้วยตัวเอง แต่การกระทำนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เว้นแต่ต้องได้รับการช่วยเหลือจากพระองค์ เช่น เรี่ยวแรงกำลังวังชา  ความสามารถ และอื่นๆ ทั้งหมดของสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจาก อัลอฮ์ ซึ่งต่างจากพระองค์ที่ไม่ต้องพึ่งพาอำนาจอื่น 
อัลลอฮ์มอบเรี่ยวแรงให้กับมนุษย์ ด้วยกับเรี่ยวแรงที่พระองค์มอบให้ มนุษย์จึงสามารถทำโน่น นี้ นั้น ได้ ตามที่เห็น แต่หากวันหนึ่งพระองค์เอาความสามารถนี้ไปจากเรา มนุษย์ก็ไม่สามารถทำอะไรได้อีก หรืออัลลอฮ์มอบความสามารถให้ และเราก็ได้กระทำสิ่งนั้นลงไปตามที่ใจต้องการ ถึงกระนั้นพระองค์ก็ยังสามารถยับยั้งการงานของเราไม่ให้สำริดผลได้
ฉะนั้นทุกการกระทำของมนุษย์จึงอยู่ภายใต้อำนาจของอัลลอฮ์ หากกากระทำใดที่มนุษย์ปรารถนา แต่พระองค์ไม่อนุมัติ การงานนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด เช่น มนุษย์ต้องการเดินทางไปยังสถานที่หนึ่ง แต่พระองค์สร้างเงื่อนไขขึ้นเพื่อขัดขวางการเดินทาง แน่นอนเราก็จะไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ดังที่เราเห็นในชีวิตจริงว่าเราตัดสินใจอะไรหลายอย่าง แต่เราไม่เคยไปถึงในสิ่งนั้นเลย !!!
พูดง่ายๆ ก็คือ ทุกๆผลที่เกิดขึ้นนั้นล้วนมาจากพระองค์​ มนุษย์​เป็นเพียงผู้ทำหน้าที่ ไม่ใช่ผู้สร้างผลลัพธ์​ ซึ่งพระองค์​ทรงกำหนดกฏเกณฑ์​ต่างๆเอาไว้ในการไปถึงความสำเร็จ นี้คือ ความหมายของ เตาฮีดอัฟอาลีย์[ไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดอยู่เหนือการงาน และอำนาจของพระองค์ได้]
อีกความหมายหนึ่ง[ความหมายที่สาม]ของเตาฮีดอัฟอาลีย์ของพระเจ้า คือ พระเจ้าทรงเป็นผู้เดียวในการสร้างและบริหารจัดการโลก
ในพระคัมภีร์อัลกุรอานหลายโองการมีการอธิบายว่าพระเจ้าทรงเป็นผู้เดียวในการสร้างและบริหารจัดการโลก หรือแม้แต่ ริสกี ปัจจัยยังชีพ ก็มาจากพระองค์ทั้งสิ้น[มนุษย์แค่ขวนขวาย] 
هَلْ مِنْ خالِقٍ غَيْرُ اللَّهِ يَرْزُقُكُمْ مِنَ السَّماءِ وَ الْأَرْضِ 
มนุษย์ชาติเอ๋ย ยังมีผู้สร้างนอกเหนือจากอัลลอฮ์ อีกหรือที่ทรงประทานปัจจัยยังชีพจากฟากฟ้า และผืนแผ่นดินให้แก่พวกเจ้า[ฟาฏีร อายะที่ 3]
ความว่า : ผู้สร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน คืออัลลอฮ์ และนอกเหนือจากพระองค์แล้วก็ไม่มีผู้ใดเลยที่ร่วมสร้างมันทั้งสอง นั้นคือ “เตาฮีด คอลีกียะฮ์-พระผู้ทรงสร้าง]มีเพียงพระองค์ผู้เป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น และเมื่อพระองค์เป็นผู้สร้าง ก็มีเพียงพระองค์เท่านั้นที่จะประทานปัจจัยยังชีพ
قُلِ اللَّهُ خالِقُ كُلِّ شَيْ‏ءٍ وَ هُوَ الْواحِدُ الْقَهَّارُ﴾ 
จงกล่าวไปว่า อัลลอฮ์คือผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง และพระองค์คือผู้เป็นหนึ่งเดียว ผู้ทรงกำราบ[อัลเราะฮ์ดุ อายะที่ 16]
ความว่า : ทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลกนี้ล้วนแล้วแต่เป็นของพระองค์ ถูกสร้างโดยพระองค์ และไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดร่วมสร้างกับพระองค์เลย
قُلْ مَنْ يَرْزُقُكُمْ مِنَ السَّماءِ وَ الْأَرْضِ أَمَّنْ يَمْلِكُ السَّمْعَ وَ الْأَبْصارَ وَ مَنْ يُخْرِجُ الْحَيَّ مِنَ الْمَيِّتِ وَ يُخْرِجُ الْمَيِّتَ مِنَ الْحَيِّ وَ مَنْ يُدَبِّرُ الْأَمْرَ فَسَيَقُولُونَ اللَّهُ فَقُلْ أَ فَلا تَتَّقُونَ
[มุฮัมมัดเอ๋ย]จงกล่าวถามไปว่า ใครที่ประทานปัจจัยยังชีพจากฟากฟ้าและผืนแผ่นดินให้พวกท่าน ใครที่นำสิ่งไร้ชีวิตออกมาจากสิ่งมีชีวิต และใครที่บริหารกิจการงานทั้งหลาย พวกเขาจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อัลลอฮ์  ฉะนั้นก็จงบอกพวกเขาไปว่า แล้วไฉนพวกเจ้าไม่มีความยำเกรงเล่า ?!! [ซูเราะห์ยูนุส อายะที่31]
ความรู้ความศรัทธาต่อพระเจ้าผู้ทรงเอกะ จะมีผลต่อวิถีของผู้คน เมื่อจุดเริ่มต้นของทุกสรรพสิ่งมาจากพระเจ้า ก็จำเป็นที่ต้องมีความยำเกรงต่อพระองค์ ไม่ว่าพระองค์ทรงบัญชาสิ่งใด จำเป็นต้องเชื่อฟังปฏิบัติตาม เพราะทุกอย่างล้วนอยู่ในอำนาจของพระองค์ทั้งสิ้น ดังที่พระองค์ระบุไว้ในอายะ นี้ว่า ปัจจัยยังชีพ ความเป็นและความตาย และทุกอย่างล้วนแล้วแต่อยู่ในอำนาจของพระองค์ 
ความว่า : นี้คือ ”เตาฮีด รอซิกียัต-ผู้ทรงมอบปัจจัย“  ,เตาฮีด คอลิกียัต-ผู้ทรงสร้าง และ “เตาฮีด รุบูบียัต-ผู้ทรงบริบาลโลกทั้งผอง” มีเพียงพระองค์เท่านั้น
 ประเภทของเตาฮีด อัฟอาลีย์
จากที่อธิบายไว้ข้างต้นเกี่ยวกับความหมายของ เตาฮีดอัฟอาลีย์ นั่นคือภารกิจทั้งหมดบนโลกนี้ดำเนินไปตามการอนุญาตของพระเจ้าทั้งสิ้น และทุกอย่างอยู่ภายใต้อำนาจของพระองค์แต่เพียงผู้เดียว นักเทววิทยาได้แบ่งประเภทของเตาฮีดอัฟอาลีย์ไว้ ด้วยกันดังนี้
▪️ เตาฮีดคอลิกียะฮ์[توحید خالقیت] หมายถึง อัลลอฮ์ คือพระผู้ทรงสร้าง สรรพสิ่งทั้งหมดมีขึ้นด้วยพระประสงค์ของพระองค์ ฉะนั้นภารกิจการสร้างสรรพสิ่งทั้งหลาย เป็นการกระทำของพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว 
อัล-กุรอาน กล่าวว่า : 
ذَلِكُمُ اللَّهُ رَبُّكُمْ لَا إِلَهَ إِلَّا هُوَ خَالِقُ كُلِّ شَيْءٍ فَاعْبُدُوهُ وَهُوَ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ وَكِيلٌ ﴿۱۰۲﴾
นั่นคือ อัลลอฮ์ พระผู้อภิบาลของพวกเจ้า ไม่มีพระเจ้า[สิ่งคู่ควรแก่การสักการะใด]นอกจากพระองค์ ผู้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่ง ดังนั้น จงเคารพภักดีพระองค์ และพระองค์ทรงเป็นผู้รับมอบหมายให้คุ้มครองรักษาในทุกสิ่งทุกอย่าง (อัล-กุรอาน บทอัล-อันอาม โองการที่ 102)
เตาฮีดรุบูบียะฮ์[توحید ربوبیت] หมายถึง อัลลอฮ์ คือผู้ทรงบริหารและดูแลทุกสรรพสิ่ง โลกไม่อาจเคลื่อนไปโดยปราศจากการดูแลของพระองค์ ฉะนั้น การบริหารและการบริบาลโลกเป็นหน้าที่ของอัลลอฮ์ ซ.บ. แต่เพียงผู้เดียว 
อัล-กุรอาน กล่าวว่า
قُلْ أَ غَیْرَ اللّهِ أَبْغی رَبّاً وَ هُوَ رَبُّ کُلِّ شَیْء
จงกล่าวไปว่า ฉันจะแสวงหาพระผู้อภิบาลอื่นนอกเหนือจากอัลลอฮ์กระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่พระองค์คือพระผู้อภิบาลของทุกสรรพสิ่ง (อัล-กุรอาน บทอัล-อันอาม โองการที่ 164)
 เตาฮีด “ฮากิมียัต-ผู้ทรงปกครองและตัดสินหนึ่งเดียว”[توحید حاکمیت ] นั้นคือ ทุกสรรพสิ่งล้วนอยู่ภายใต้การปกครองของพระเจ้า พระองค์คือผู้ตัดสินที่แท้จริง
พระคัมภีร์อัลกุรอ่าน กล่าวว่า 
«افَغَيرَ اللَّهِ ابتَغى حَكَمًا وهُوَ الَّذى انزَلَ الَيكُمُ الكِتبَ مُفَصَّلًا ...؛
นอกเหนือจากอัลลอฮ์ กระนั้นหรือที่ฉันมุ่งหวังให้ตัดสิน[ปกครอง]ทั้งที่พระองค์นั้นทรงประทานคัมภีร์ที่เป็นตัวอธิบายลงมายังพวกท่าน..[ซูเราะห์ อัลอันอาม อายะที่ 114]
 เตาฮีด รอซิกียัต[توحید رازقیت] หมายถึง ปัจจัยยังชีพล้วนแล้วแต่มาจากพระเจ้าแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีภาคีร่วมใดๆสำหรับพระองค์ในการสร้างปัจจัยยังชีพ ดังอัลกุรอ่าน กล่าวว่า :
قُلْ مَنْ يَرْزُقُكُمْ مِنَ السَّمَاءِ وَالْأَرْضِ أَمَّنْ يَمْلِكُ السَّمْعَ وَالْأَبْصَارَ وَمَنْ يُخْرِجُ الْحَيَّ مِنَ الْمَيِّتِ وَيُخْرِجُ الْمَيِّتَ مِنَ الْحَيِّ وَمَنْ يُدَبِّرُ الْأَمْرَ ۚ فَسَيَقُولُونَ اللَّهُ ۚ فَقُلْ أَفَلَا تَتَّقُونَ
[มุฮัมมัดเอ๋ย]จงกล่าวถามไปว่า ใครที่ประทานปัจจัยยังชีพจากฟากฟ้าและผืนแผ่นดินให้พวกท่าน ใครที่นำสิ่งไร้ชีวิตออกมาจากสิ่งมีชีวิต และใครที่บริหารกิจการงานทั้งหลาย พวกเขาจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า อัลลอฮ์  ฉะนั้นก็จงบอกพวกเขาไปว่า แล้วไฉนพวกเจ้าไม่มีความยำเกรงเล่า ?!! [ซูเราะห์ยูนุส อายะที่31]
 เตาฮีด อิสติกลาลี [توحید استقلالی] ให้ความหมายว่า ผลของการกระทำต่างๆนั้นเกิดมาจากการกำหนดและการอนุมัติของพระองค์ทั้งหมดโดยเอกเทศอย่างสมบรูณ์ ผู้ที่เป็นเอกเทศอย่างสมบูรณ์คือพระองค์เท่านั้น พระองค์มีความเป็นเอกเทศในการกระทำสิ่งต่างๆ 
โองการในซูเราะฮ์ อัลมาอิดะฮ์ โฮงการที่ 110 พระองค์ทรงตรัสว่า :
إِذْ قَالَ اللَّهُ يَاعِيسىَ ابْنَ مَرْيَمَ اذْكُرْ نِعْمَتىِ عَلَيْكَ وَ عَلىَ‏ وَالِدَتِكَ إِذْ أَيَّدتُّكَ بِرُوحِ الْقُدُسِ تُكلَِّمُ النَّاسَ فىِ الْمَهْدِ وَ كَهْلًا  وَ إِذْ عَلَّمْتُكَ الْكِتَابَ وَ الحِْكْمَةَ وَ التَّوْرَئةَ وَ الْانجِيلَ  وَ إِذْ تخَْلُقُ مِنَ الطِّينِ كَهَيَْةِ الطَّيرِْ بِإِذْنىِ فَتَنفُخُ فِيهَا فَتَكُونُ طَيرَْا بِإِذْنىِ  وَ تُبرِْئُ الْأَكْمَهَ وَ الْأَبْرَصَ بِإِذْنىِ  وَ إِذْ تخُْرِجُ الْمَوْتىَ‏ بِإِذْنى‏ضهسه
“จงรำลึกถึงขณะที่อัลลอฮ์ตรัสแก่อีซาบุตรของมัรยัมว่า จงรำลึกถึงความโปรดปรานของข้าที่มีต่อเจ้าและมารดาของเจ้า ขณะที่ข้าได้สนับสนุนโดยที่เจ้าพูดกับประชาชนในขณะที่อยู่ในเปล และขณะที่ข้าได้สอนคัมภีร์ เตารอต อินญีล และวิทยปัญญาให้แก่เจ้า และขณะที่เจ้าสร้างขึ้นจากดินดั่งรูปนก ด้วยอนุมัติของข้าเมื่อเจ้าเป่าไปรูปยังนกนั้นมันก็กลายเป็นนกที่มีชีวิตด้วยอนุมัติของข้า และขณะที่เจ้ารักษาคนตาบอดตั้งแต่กำเนิด และคนที่เป็นโรคผิวหนังให้หายด้วยอนุมัติของข้า และขณะที่เจ้าฟื้นชีวิตให้แก่คนตยด้วยอนุมัติของข้า…”
    จากโองการดังกล่าว การให้ชีวิตแก่คนตาย การรักษาโรค การเป่าวิญญาณ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมาได้ด้วยการอนุมัติของอัลลอฮ์ คำว่า “บิอิสนี-بِإِذْنىِ “ คือด้วยการอนุมัติของฉัน หมายถึงด้วยกับการอนุมัติของอัลลอฮ์ พระองค์เป็นเอกเทศในการอนุมัติสิ่งต่างๆให้เกิดขึ้น
ผลที่เกิดขึ้นต่อการศรัทธาในเตาฮีดอัฟอาลีย์ 
[1]. ทำให้เราค้นพบคำตอบของคำถามที่มักกวนใจมนุษย์ตลอดว่า ”เรา และเอกภพมาจากไหน“ และคำตอบของเรื่องนี้อยู่ใน เตาฮีด คอลิกียัต
[2]. ทำให้มนุษย์มอบความเกรงกลัว และความไว้วางใจทั้งหมดต่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น  เพราะพระองค์คือผู้บริบาลทุกสิ่ง ผู้ทรงสิทธิอำนาจปกครอง ผู้ทรงส้าง ผู้ทรงประทานปัจจัยยังชีพ ผู้ทรงให้ชีวิต ผู้ทรงเรียกชีวิตคืน ผู้ทรงอำนวยคุณ ผู้ทรงลงโทษ ผู้ทรงตอบคำวิงวอนของผู้ร้องขอ ผู้ทรงอนุภาพเหนือทุกสิ่ง เมื่อเชื่อเช่นนี้ ทำให้เกิดความศรัทธาในเรื่อง “ตะวักกัล-การมอบหมายทุกอย่าง” ไว้กับอัลลอฮ์แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งในหลักวิชาการเตาฮีด เรียกสิ่งนี้ว่า “เตาฮีด ตะวักกัล-กิจการงานทั้งหมดมอบหมายพระองค์“[توحید توکل] พระองค์ทรงตรัสไว้ในคำภีร์ว่า : 
 وَ مَنْ يَتَوَكَّلْ عَلَى اللَّهِ فَهُوَ حَسْبُهُ ۚ
บุคคลใดมอบหมายตนต่ออัลลอฮ์ พระองค์ก็เป็นที่เพียงพอแล้วสำหรับเขา[อัฏฏอลาก อายะที่ 3]
[3]. ทำให้มนุษย์มอบการอิบาดัตเคารพภักดีต่อพระองค์เพียงองค์เดียว ไม่ตั้งภาคีในการ อิบาดัต ของเขา ทำให้มนุษย์เชื่อในเรื่อง ”เตาฮีด อิบาดีย์[توحید عبادی] หมายถึงสิทธิ์ในการเคารพ ภักดี และการนมัสการนั้นมีเพียงพระองค์ องค์เดียวเท่านั้นที่คู่ควร พระองค์ทรงตรัสไว้ในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน  
 ซูเราะฮ์ ฟาติฮุลกิตาบ โองการที่ 5 ว่า :
إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَ إِيَّاكَ نَسْتَعِين‏
“เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ”
 ตอบข้อสงสัย ในประเด็น เตาฮีด อัฟอาลีย์
 ข้อสงสัยข้อที่หนึ่ง[1]. หากผลที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการงานของพระเจ้า จะอธิบายการกระทำของมลาอิกะฮ์ หรือการกระทำของมนุษย์อย่างไร ?!!
ความว่า เมื่อนักเทววิทยาให้ความหมาย “เตาฮีด อัฟอาลี” ว่า คือทุกการกระทำ เป็นการกระทำของพระองค์เพียงองค์เดียว ไม่มีหุ้นส่วนใด ๆหรือการช่วยเหลือใดๆในการกระทำของพระองค์ และจะไม่มีการกระทำใดสามารถเกิดขึ้นได้เว้นแต่ด้วยความประสงค์และความต้องการของพระองค์ พระองค์เป็นผู้กระทำสิ่งต่างๆด้วยตัวพระองค์เอง ในการสร้าง ในการอภิบาล และการประทานปัจจัยยังชีพ  และไม่ต้องการความช่วยเหลือจากผู้ใด จึงเกิดคำถามว่าในความเป็นจริงเห็นได้ว่ามีมนุษย์เป็นผู้กระทำหรือเป็นแหล่งเกิดการกระทำการงานต่างๆมากมาย รวมทั้งบรรดามาลาอิกะฮ์ที่มีหน้าที่ต่างๆ จะอธิบายเรื่องนี้อย่างไร ?!!
คำตอบ. 
สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีอำนาจทำให้เกิดสิ่งใดๆได้เลยเว้นแต่อำนาจของพระองค์ที่พระองค์มอบให้กับสิ่งเหล่านี้ ผู้กระทำเหล่านี้ไม่ได้มีความเป็นเอกเทศในการกระทำของตน เป็นการกระทำที่อยู่ภายใต้การกระทำของพระองค์ 
ซูเราะฮ์ อลอันฟาลโองการที่ 17 ได้ยืนยันเนื้อหานี้ไว้ 
فَلَمْ تَقْتُلُوهُمْ وَ لَاكِنَّ اللَّهَ قَتَلَهُمْ  وَ مَا رَمَيْتَ إِذْ رَمَيْتَ وَ لَاكِنَّ اللَّهَ رَمَى‏
“พวกเจ้ามิได้ฆ่าพวกเขาหรอก  แต่ทว่าอัลลอฮ์ต่างหากที่ทรงฆ่าพวกเขา และเจ้าไม่ได้ขว้างหรอกในขณะที่เจ้าขว้างแต่ทว่าอัลลอฮ์ต่างหากที่ขว้าง” 
    โองการนี้ถูกประทานลงมาในฮิจเราะฮ์ที่สองหลังจากเหตุการณ์สงครามบะดัร ซึ่งวันนั้นมุสลิมเพียงน้อยนิดสามารถมีชัยเหนือบรรดาผู้ตั้งภาคีได้ ในโองการให้ความหมายว่าผู้ที่ฆ่าผู้ที่ขว้างบรรดามุชรีกีนที่แท้จริงคืออัลลอฮ์(ซบ)ผู้กระทำที่แท้จริงคืออัลลอฮ์(ซบ) และผู้มอบชัยชนะ และความสำเร็จ คืออัลลอฮ์ ผู้ทรงอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่ง
 การตะวัซซุล -التوسل 
 ข้อสงสัยที่สอง[2] ใน “เตาฮีดอิบาดี-สิทธิ์ในการเคารพภักดี” และการนมัสการมีเพียงพระองค์เท่านั้น และใน เตาฮีด อิสติอานัต-การขอความเชื่อเหลือ“ มีเพียงพระองค์เท่านั้น ดังปรากฏอยู่ในซูเราห์ ฟาติฮุลกิตาบ
 إِيَّاكَ نَعْبُدُ وَ إِيَّاكَ نَسْتَعِين‏
“เฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราเคารพภักดี และเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่เราขอความช่วยเหลือ”
ณ จดนี้ อาจจะเกิดคำถามว่า เรื่องนี้มันขัดกับความเชื่อของชาวชีอะห์ในเรื่อง ”ตะวัซซุล-การขอผ่านสื่อกลาง“ หรือไม่ ? 
ความว่า : หากชีอะห์เชื่อเช่นนี้ เชื่อว่าพระองค์คือผู้ทรงอำนาจสูงสุด ผู้ทรงกำหนดผลของการกระทำต่างๆ ผู้ทรงเอกเทศในการกระทำสิ่งต่างๆและทรงเอกเทศในการอนุมัติและกำหนดผลของการกระทำ ทำไมชีอะห์จึงมีการขอผ่านสื่อ(ตะวัซซุล)อีก ทำไมไม่ขอต่อพระองค์ผู้ทรงอำนาจโดยตรง สิ่งนี้ ไม่ขัดกับอำนาจของพระองค์หรือ ?!!!
คำตอบ. การตะวัซซุล-ขอผ่านสื่อกลางไปยังอัลลอฮ์“ ไม่ขัดแย้งกับหลักเตาฮีด ไม่ว่าจะเป็น เตาฮีด อิบาดีย์ หรือ เตาฮีดอิสติอานะฮ์ การ “ตะวัซซุล ไม่ถือเป็นการชิรีก เพราะ
เพราะหนึ่ง[1]. การตะวัซซุล ไม่ใช่การขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นที่ไม่ใช่พระเจ้า แต่คือ การขอให้ผู้อื่นที่ใกล้ชิดกับพระเจ้ามากกว่า ช่วยเจรจากับพระเจ้าให้เรา การกระทำนี้ ผู้ขอยังขอจากพระเจ้าเหมือนเดิม ต่างตรงที่เป็นการขอผ่านสื่อ ไม่ใช่การหันไปพึ่งสิ่งอื่นนอกจากพระเจ้าแต่อย่างใด
เพราะสอง[2]. มีหลักฐานจาก อัลกุรอ่าน และ ฮะดิษ ที่ระบุและสอนใช้ให้มวลมุสลิมกระทำตาม 
กล่าวคือ เพราะการขอผ่านสื่อ [ตะวัซซุล] ไปยังอัลลอฮ์ คือ คำสอนของอิสลามที่มีอยู่ในอัลกุรอ่าน และซุนนะห์นบี ศ. 
 ตะวัซซุล ในคัมภีร์อัลกุรอ่าน พระองค์ทรงตรัสว่า 
يَأَيُّهَا الَّذِينَ ءَامَنُواْ اتَّقُواْ اللَّهَ وَ ابْتَغُواْ إِلَيْهِ الْوَسِيلَةَ وَ جَاهِدُواْ فىِ سَبِيلِهِ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُون‏
“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์และจงแสวงหาสื่อไปยังพระองค์ และจงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮ์(ซบ)เผื่อว่าพวกเจ้าจะประสบความสำเร็จ[ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ อายะที่ 35]
 ตะวัซซุล ในซุนนะห์
 [1]. ฮะดิษ ”มุตตะฟิกุนอะลัยฮ์-ฮะดิษศ่อฮิห์ที่เห็นตรงกันซุนนี่ห์ ชีอะห์“ ปราชญ์ชาวซุนนี่ห์ โดยรายงานมาจาก อุซมาน บิน ฮะนีฟว่า : 
أنَّ رجلًا ضريرَ البَصرِ أتى النَّبيَّ صلَّى اللَّهُ علَيهِ وسلَّمَ فقالَ : ادعُ اللَّهَ أن يعافيَني قالَ : إن شئتَ دعوتُ ، وإن شِئتَ صبرتَ فَهوَ خيرٌ لَكَ . قالَ : فادعُهْ ، قالَ : فأمرَهُ أن يتوضَّأَ فيُحْسِنَ وضوءَهُ ويدعوَ بِهَذا الدُّعاءِ : اللَّهمَّ إنِّي أسألُكَ وأتوجَّهُ إليكَ بنبيِّكَ محمَّدٍ نبيِّ الرَّحمةِ ، إنِّي توجَّهتُ بِكَ إلى ربِّي في حاجَتي هذِهِ لتقضى ليَ ، اللَّهمَّ فشفِّعهُ فيَّ٬ قال: فرجع وقد كشف الله عن بصره
الراوي : عثمان بن حنيف | المحدث : الألباني | المصدر : صحيح الترمذي
الصفحة أو الرقم: 3578 | خلاصة حكم المحدث : صحيح
มีชายตาบอดคนหนึ่งมาหาท่านศาสดา ศ. และพูดว่า โปรดขอต่ออัลลอฮ์ให้แก่ฉัน[หายจากการตาบอด] ท่านศาสดา ศ. กล่าวว่า หากท่านต้องการ ฉันจะวิงวอนขอต่ออัลลอฮ์ให้แก่ท่าน  หรือไม่ท่านก็จงอดทนและการที่ท่านอดทนนั้นย่อมดีกว่า เขาตอบว่า โปรดวิงวอนให้แก่ฉันเถิด 
เมื่อเป็นเช่นนั้น ท่านศาสดา ศ. ได้บอกให้เขาไปอาบน้ำนมาซ และให้วิงวอนขอว่า “ โอ้อัลลอฮฺ ข้าฯขอวิงวอนต่อพระองค์ ข้าฯได้ผินหน้ามายังพระองค์โดยผ่านศาสดาของพระองค์ มุฮัมมัด ศาสดาแห่งเมตตา โอ้มุฮัมมัด แท้จริงฉันได้วิงวอนขอสิ่งที่ต้องการจากพระผู้อภิบาลของฉันโดยผ่านท่าน เพื่อให้การวิงวอนของฉันถูกตอบรับ โอ้อัลลอฮ์โปรดให้เขาเป็นผู้อนุเคราะห์แก่ฉันเถิด หลังจากนั้นเขากลับมามองเห็นอีกครั้ง
[2]. บุคอรีย์ ได้กล่าวไว้ในเซาะฮีย์ของตนว่า
أنَّ عُمَرَ بنَ الخَطَّابِ، كانَ إذَا قَحَطُوا اسْتَسْقَى بالعَبَّاسِ بنِ عبدِ المُطَّلِبِ فَقَالَ: اللَّهُمَّ إنَّا كُنَّا نَتَوَسَّلُ إلَيْكَ بنَبِيِّنَا صَلَّى اللهُ عليه وسلَّمَ فَتَسْقِينَا، وإنَّا نَتَوَسَّلُ إلَيْكَ بعَمِّ نَبِيِّنَا فَاسْقِنَا قَالَ: فيُسْقَوْنَ.
الراوي : أنس بن مالك | المصدر : صحيح البخاري | الصفحة أو الرقم : 3710 
ทุกครั้งที่ประสบภัยพิบัติแห้งแล้ง อุมัร บิน ค็อฎฎ็อบ จะขอฝนผ่านท่านอับบาซ บิน อับดุลมุฏฎอลิบ ลุงของท่านศาสดา ศ. โดยกล่าวว่า โอ้อัลลอฮฺ ในยุคของท่านศาสดาเราจะขอผ่านท่าน และพระองค์ได้ประทานฝนแห่งเมตตาตกลงแก่พวกเรา ปัจจุบันเราได้ขอผ่านลุงของท่านศาสดาขอพระองค์โปรดประทานแก่พวกเราได้ ดังนั้นพวกเขาได้อิ่มสำราญจากน้ำฝน
 ตะวัซซุลในแบบอย่างของปวงปราชญ์
ท่านอิมามชาฟิอีย์ ได้กล่าวกลอนที่สื่อว่า อะห์ลุลบัยต์นบี คือสื่อกลางที่ท่านจะแสวงหาความใกล้ชิดยังอัลลอฮ์ และคือทางรอด
آلُ النَّبِيِّ ذَرِيعَتِي           وَهُمُ إِلَيْهِ وَسِيلَتِي
أَرْجُو بِهِمْ أُعْطَى غَدًا         بِيَدِي الْيَمِينِ صَحِيفَتِي
ความว่า : ครอบครัวของท่านศาสดาเป็นสื่อไปสู่อัลลอฮ์สำหรับฉัน
ฉันหวังว่าโดยสิทธิของพวกเขาฉันจะถูกมอบบัญชีการกระทำทางมือขวา
[จากหนังสืออัซเซาะวาอิกุลมุฮ์ริเกาะฮฺ อิบนิ ฮะญัร อัซเกาะลานีย์ หน้าที่ 178 พิมพ์ที่อิยิปต์]

บทความโดย เชคอันศอร เหล็มปาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม