เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

เทววิทยาอิสลาม บทเรียนที่ 25

2 ทัศนะต่างๆ 04.5 / 5

เทววิทยาอิสลาม บทเรียนที่ 25 


ความยุติธรรมของพระเจ้า -  [ العدل الإلهي ]
ภาคที่สาม : เชื่อในความยุติธรรมของพระเจ้า -[ العدل الإلهي ]
บทที่สอง : ศีฟาตความยุติธรรมของอัลลอฮ์  [บทที่ 2] 
ความยุติธรรมของพระเจ้า  -  [ العدل الإلهي ]
 بحث في العدل الإلهي  หลังจากที่นักเรียนได้ทำความเข้าใจถึงความหมายที่ถูกต้องของ “ความยุติธรรม” ที่ให้ความหมายว่า “การวางสิ่งของในที่ของมัน” ซึ่งได้รับมาจากวจนะของท่านอิมามอะลี อ.  ที่อิมาม อ. ได้อธิบาย ความยุติธรรม ไว้ว่า :
الْعَدْلُ يَضَعُ الْأُمُورَ مَوَاضِعَهَا
ความยุติธิธรรมคือ การวางสิ่งของต่างๆในที่ที่เหมาะสม
[……ย้อนดูรายละเอียดได้ในบทที่ 24 ที่ผ่านมา] 
บทนี้จะนำเสนอ ความยุติธรรม ที่ถูกใช้กับอัลลอฮ์ ผู้ทรงสูงส่ง ผู้ทรงเกรียงไกร 
 นิยามความยุติธรรมของอัลลอฮ์
อัลลอฮ์ คือ ผู้ทรงยุติธรรม นั่นคือ พระองค์ผู้ทรงสูงส่งจะไม่ทรงกดขี่ใคร และสิ่งใดอย่างเด็ดขาด และไม่ทำสิ่งที่สติปัญญา และสามัญสำนึกของมนุษย์บอกว่าน่าเกลียด และการวางระบบบริหารสรรพสิ่งอย่างเป็นธรรม 
ฉะนั้น  อัลลอฮ์ ทรงยุติธรรม ให้ความหมายว่า พระองค์ได้จัดวางสิ่งต่างตามที่ตามทางของมัน และมอบสิทธิ์ให้ตามที่มี ตามขอบเขต และปริมาณที่มี และบริหารสรรพสิ่งที่ทรงสร้างอย่างเป็นธรรม ดังที่ท่านอิมามอะลี อ. กล่าวว่า :
«الْعَدْلُ يَضَعُ الْأُمُورَ مَوَاضِعَهَا»
ความยุติธรรม คือการวางสิ่งต่างๆในที่ของมัน[ณะญุลบะลาเฆาะ หน้า 533]
 ประเภทความยุติธรรมของพระเจ้า
เมื่อพูดถึงความยุติธรรมของพระองค์ ในแนวคิดอิสลาม ความยุติธรรมของอัลลอฮ์ถูกแบ่งออกเป็นสามประเภท ได้แก่ 
 ความยุติธรรมในเรื่อง ตักวีนีย์ - العدل التكويني  
อัดล์ ตักวีนีย์ คือ ความยุติธรรมในแง่ของการกำหนดกฏสภาวะที่ตายตัว หรือความยุติธรรมในธรรมชาติ  เช่นในแง่ความยุติธรรมในธรรมชาติ หากสร้างมนุษย์ ให้ต้องกินต้องดื่ม แต่ไม่สร้างแหล่งอาหาร จะขัดกับความยุติธรรมของพระองค์ หรือ หากสร้างสัตว์ให้มีชีวิต แต่ไม่มอบความรู้สัญชาตญาณให้แก่มัน ก็จะขัดกับความยุติธรรมของพระองค์ เช่น ฮะดิษของท่านศาสดาุฮัมมัด ศ. :
«بِالْعَدْلِ قَامَتِ السَّمَاوَاتُ وَ الْأَرْض‏»
ท้องฟ้า และผืนแผ่นดิน ดำรงอยู่ได้ด้วยความยุติธรรมของอัลลอฮ์
ฉะนั้น อัลลอฮ์ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งตามรูปลักษณ์ที่สวยงาม และจะบริบาลสิ่งถูกสร้างเหล่านั้นตามขอบเขตและปริมาณของมัน และพระองค์จะไม่ทรงอธรรมต่อสิ่งใดเลย 
 ความยุติธรรมในแง่ของ ตัชรีอีย์ [العدل التشريعي]
อัดล์ ตัชรีอีย์ คือ ความยุติธรรมในการออกกฏหมาย กฏบัญญัติแก่มนุษย์ และกฏบัญญัติเหล่านนี้ที่ถูกประทานลงมาจากพระเจ้า เพื่อชี้นำและนำพามนุษย์ไปสู่ความเป็นกะมาล[มนุษย์ที่สมบูรณ์] นี้คือความหมายของการมอบความเป็นธรรมด้านกฏหมาย และบทบัญญัติ  
กล่าวคือ หากสร้างมนุษย์ในแบบที่เป็นอยู่แต่ไม่ชี้นำพวกเขา ก็จะขัดกับความยุติธรรมของพระองค์ จึงต้องมีการชี้นำ และข้อปฏิบัติในการใช้ชีวิต เรียกว่า”ศาสนา” หรือศาสนบัญญัติ 
พระองค์ทรงตรัสว่า : 
: ﴿لَقَدْ أَرْسَلْنَا رُسُلَنَا بِالْبَيِّنَاتِ وَأَنْزَلْنَا مَعَهُمُ الْكِتَابَ وَالْمِيزَانَ لِيَقُومَ النَّاسُ بِالْقِسْطِ ﴾
แน่นอนยิ่งเราได้ส่งศาสนทูตของเรามาพร้อมกับหลักฐานอันชัดแจ้ง และเราได้ประทานคัมภีร์และตราชูแห่งความเที่ยงธรรมลงมาพร้อมกับพวกเขา เพื่อมนุษย์จะได้ยืนหยัดด้วยกับความเที่ยงธรรม[อัลฮะดีด อายะที่ 25]
﴿  إِنَّ اللّهَ يَأْمُرُ بِالْعَدْلِ وَالإِحْسَانِ وَإِيتَاء ذِي الْقُرْبَى وَيَنْهَى عَنِ الْفَحْشَاء وَالْمُنكَرِ وَالْبَغْيِ يَعِظُكُمْ لَعَلَّكُمْ تَذَكَّرُونَ ﴾
แท้จริงอัลลอฮ์ทรงบัญชาใช้เรื่องความยุติธรรม และทำคุณงามความดี และการบริจาคแก่ญาติใกล้ชิดและให้ละเว้นการลามกและการชั่วช้า และการอธรรม พระองค์ทรงตักเตือน สูเจ้าเพื่อสูเจ้าจะได้รำลึก [อันนะห์ลุ อายะที่ 90]
จะเห็นว่าการกระทำ 3 ประการได้แก่ความยุติธรรม การทำความดี และการบริจาค แก่ญาติสนิทเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ พระองค์กำหนดให้เป็นวาญิบ (จำเป็น) ส่วนการกระทำ 3 ประเภทถัดมาเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ไปสู่ความตกต่ำและพระองค์ก็ทรงสั่งห้ามมัน
وَلَا نُكَلِّفُ نَفْسًا إِلَّا وُسْعَهَا
“และเราไม่บังคับแก่คนหนึ่งคนใดนอกจากเท่าที่เขามีความสามารถ(ที่จะทำได้) เท่านั้น”
 ความแตกต่างระหว่าง อัดล์ ตักวีนีย์ และ อัดล์ ตัชรีอีย์ คือ ในแง่ธรรมชาติ[ตักวีนีย์] มนุษย์ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งใดได้ เช่น เลือกที่จะเกิดเป็นคนผิวดำ หรือ เปลี่ยนตนเองกลายเป็นก้อนหิน แต่ในแง่ของการชี้นำ และการปฏิบัติ[ตัชรีอีย์] มนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลง หรือ เลือกที่จะทำหรือไม่ทำตามได้ กล่าวในภาพรวม ความยุติธรรมของพระเจ้า คือ การวางระบบบริหารสรรพสิ่งอย่างเป็นธรรม และความยุติธรรมทางการเมือง หรือ ทางสังคม และบุคคล ก็คือส่วนหนึ่งของโครงสร้างระบบความยุติธรรมของพระเจ้าเช่นกัน
 ความยุติธรรมในแง่ของ ญะซาอีย์[ العدل الجزائي ]
อัดล์ ญะซาอีย์ คือ การให้ความยุติธรรมในแง่ของการให้รางวัลผลตอบแทน  นั้นคือ อัลลอฮ์จะไม่ลงโทษ หรือให้รางวัลแก่ผู้ใดมากไปกว่าสิทธิ์ที่เขามี ซึ่งเป็นผลมาจากการกระทำของเขาเอง
หมายถึง พระเจ้าทรงยุติธรรม ให้รางวัลทุกคนตามการกระทำ เพราะพระองค์จะตอบแทนเราทุกคนตามการกระทำของเราเอง พระองค์จะไม่ลงโทษ หรือ ให้รางวัลแก่ผู้ใดมากไปกว่าสิ่งที่เขาเคยกระทำไว้ 
ความว่า อัลลอฮ์ ซ.บ. ไม่ทรง ตอบแทนผลรางวัล หรือลงโทษโดยเท่าเทียมกันระหว่างผู้ศรัทธา ผู้ปฏิเสธ ผู้ที่ประกอบ ความดีและความชั่ว ทว่าพระองค์ทรงตอบแทนตามสิทธิและความเหมาะสม ของผลบุญ และผลกรรมของบุคคลนั้น บนพื้นฐานดังกล่าวจะเห็นว่า ถ้าหากพระองค์ไม่แจ้งหน้าที่ที่ กำหนดไว้โดยผ่านบรรดาศาสดา หรืออีกนัยหนึ่งไม่ทรงทำให้เหตุผลของพระองค์ สมบูรณ์ก่อนแล้ว พระองค์จะไม่ลงโทษพวกเขา 
อัลกุรอานกล่าวว่า : 
وَنَضَعُ الْمَوَازِينَ الْقِسْطَ لِيَوْمِ الْقِيَامَةِ فَلَا تُظْلَمُ نَفْسٌ شَيْئًا وَإِنْ كَانَ مِثْقَالَ حَبَّةٍ مِنْ خَرْدَلٍ أَتَيْنَا بِهَا وَكَفَى بِنَا حَاسِبِينَ
และเราได้จัดวางตราชูแห่งความเที่ยงธรรมในวันฟื้นคืนชีพ ดังนั้นจะไม่มีชีวิตใดได้รับความอธรรมเลยแม้เพียงนิดเดียว [การกระทำ]ถึงแม้นมันมีน้ำหนักเพียงหนึ่งเมล็ด เราก็จะนำมา เพียงพอแล้วที่เราเป็นผู้ชำระบัญชี[อัลอันบิยาอ์ อายะที่ 47]
[บทต่อไป…จะมาตอบข้อสงสัยในประเด็นความยุติธรรมของพระเจ้า เช่น หากพระเจ้าคือองค์เที่ยงธรรม และองค์ผู้เมตตา เหตุใดพระองค์จึงประทานภัยบะลา ที่คร่าชีวิตมนุษย์เรือนแสน ?!!! เหตุใดพระเจ้าสร้างมนุษย์มาไม่เท่ากัน คนหนึ่งพิกลพิการ อีกคนสมบูรณ์ บางคนให้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย บางคนถูกกำหนดให้เกิดในสลัม และอื่นๆเป็นต้น สิ่งเหล่านนี้ขัดกับความยุติธรรมของพระองค์หรือไม่ ?!!]

บทความโดย เชคอันศอร เหล็มปาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม