เทววิทยาอิสลาม บทเรียนที่ 27
เทววิทยาอิสลาม บทเรียนที่ 27
الْجَبْر وَ الْإخْتِياَر - อัล ญับรุฮ์ วัน อิคติยาร
ภาคที่สาม : เชื่อในความยุติธรรมของพระเจ้า -[ العدل الإلهي ]
บทที่สี่: ศีฟาตความยุติธรรมของอัลลอฮ์ [บทที่ 4] - ตอบข้อสงสัย
เรื่อง : มนุษย์นั้นอยู่ในสภาวะจำยอม หรืออยู่ในสภาวะที่อิสระปราศจากการกำหนดของอัลลอฮ์[ญิบร์ อิกติยาร - الْجَبْر وَ الْإخْتِياَر ]
مَسْأَلَةُ الْجَبْرِ وَالْإخْتِياَر
สภาวะจำยอม[ญับร์-الْجَبْرِ] และสภาวะที่อิสระ[อิคติยาร- الْإخْتِياَر] เป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน และเป็นข้อวิพากษ์กันในหมู่ของบรรดานักวิชาการอิสลาม โดยเฉพาะในสำนักคิดทั้งหลายของเทววิทยา ซึ่งคำถามที่เกิดขึ้นในประเด็นนี้ ก็คือ มนุษย์คิดว่า ตนเองมีอิสระเสรีในการกระทำของตนเอง หรือว่า ไม่มีอิสระใดและการกระทำของเขา เป็นการบังคับจากพระผู้เป็นเจ้า
กล่าวคือ ความเข้าใจของบุคคลบางกลุ่มที่ว่า มนุษย์นั้นอยู่ในสภาวะจำยอม[ญับร์-الْجَبْرِ] และบางกลุ่มเข้าใจว่า อยู่ในสภาวะที่อิสระปราศจากการกำหนดสภาวะของอัลลอฮ์[อิคติยาร - الْإخْتِياَر]] ปัญหานี้ได้ก่อให้เกิดความขัดแย้งในหมู่นักปราชญ์อิสลามจนถึงวันนี้
กลุ่มสำนักคิดในประเด็นความเชื่อเรื่อง ญับร์ และ อิคติยาร
ความคิดเห็นในเรื่องของสภาวะจำยอม และเจตจำนงเสรี [ญับร์ และ อิกติยาร]ได้เกิดขึ้นในช่วงแรกของอิสลาม ก็คือประมาณศตวรรษแรกของอิสลาม และสาเหตุการเกิดขึ้นของความคิดนี้มาจากผลประโยชน์ของบรรดาผู้ปกครองในสมัยนั้น จึงทำให้บรรดานักปราชญ์ของสำนักคิดต่างๆถูกแบ่งออกเป็น 3 ฝ่ายหลักๆ ได้แก่
สำนักคิดฝ่ายซุนนี สายอะชาอิเราะฮ์ ยืนข้างทัศนะ ญับรียะฮ์
สำนักคิดฝ่ายซุนนี่ สาย มุอ์ตะซีละฮ์นำเสนอความเชื่อแบบ ตัฟวีฎ
ชีอะฮ์ อิมามียะฮ์ คือ ทัศนะสายกลาง[อัมรุน บัยนะ อัมรัยน์]
ทัศนะที่หนึ่ง[1] กลุ่มญับรียะฮ์ [مذْهَبُ الْجَبْرِيَّةِ]
ญับรียะฮ์ คือกลุ่มคนที่อยู่ในแนวทาง อะชาอิเราะฮ์ พวกเขาเชื่อว่า มนุษย์ไม่มีอิสระในการกระทำ อันเนื่องมาจากอัลลอฮ์ทรงกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างมาแล้ว มนุษย์เปรียบดังหุ่นเชิดเท่านั้น กลุ่มนี้คือ ชาวซุนนี่ห์ที่เชื่อและปฏิบัติตาม อบุลฮะซัน อัชอารีย์ และด้วยความเชื่อเช่นนี้พวกเขาจึงถูกเรียกว่า ”ญับรียะฮ์“
อบุลฮะซัน อัชฮารีย์ กล่าวว่า :
﴿ لَا فَاعِلَ عَلَی حَقِیقَتِهِ إِلَّا اللَّه ﴾
ไม่มีผู้กระทำที่แท้จริงเว้นแต่อัลลอฮ์เท่านั้น
ความว่า : ทุกการกระทำที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ เป็นการกระทำของอัลลอฮ์ที่ทรงกำหนดมาแล้ว เช่น การเดิน ,การกิน ,การนมาซ ,พูดความจริง พูดเท็จ ทั้งหมดเหล่านนี้ ได้ถูกกำหนดมาแล้วทั้งสินจากพระองค์อัลลอฮ์ และพระองค์คือผู้กระทำที่แท้จริง
ฉะนั้น ชาวอาชาอิเราะห์ มีการศรัทธาในกฎแห่งสภาวการณ์ นั้นคือ ทุกสภาวการณ์ทั้งหลายถูกกำหนดมาเป็นกฎอย่างตายตัวและแน่นอน ซึ่งต้องดำเนินไปตามที่กำหนดนั้น
เช่น การดำเนินชีวิตของมนุษย์ถูกกำหนดไว้อย่างเป็นระบบที่แน่นอน ไม่มีใครสามารถฝืนกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ ทุกคนจะต้องดำเนินไปตามกฎสภาวการณ์มนุษย์ต้องประสบกับเหตุให้อารมณ์และจิตใจผันแปรอยู่ตลอดเวลา เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวเสียใจ บางจังหวะชีวิตก็ร่ำรวยมหาศาล แต่เผลอไม่นานฐานะก็ยากจนลงมา บางช่วงเวลามีคนนับหน้าถือตาอย่างกว้างขวางและมากมาย แต่ต่อมาก็กลับมีคนเกลียดชังการสลับหมุนเวียนสภาวการณ์เหล่านี้ในชีวิตของมนุษย์นั้น มุสลิมศรัทธาว่าเป็นไปโดยกำหนดของพระองค์อัลลอฮ์ ตะอาลา ทั้งสิ้น ไม่ใช่เป็นไปโดยอำนาจการกระทำของมนุษย์เอง!!!
ชาวซุนนี่ห์สาย อะชาอิเราะห์ เชื่อว่า มนุษย์เรานั้น มีเส้นทางหนึ่งอยู่แล้ว สำหรับพฤติกรรมของตนเองทุกคนจะดำเนินไปตามเส้นทางที่ถูกสร้างมาให้กับเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเราเรียกสิ่งนี้ว่า สภาวะจำยอม[ญับร์]
พวกเขาได้ให้เหตุผลต่อความเชื่อนี้ด้วยการยกโองการจากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่านว่า :
﴿وَ ما رَمَيْتَ إِذْ رَمَيْتَ وَ لكِنَّ اللَّهَ رَمى﴾
และเจ้าเจ้ามิได้ยิงธนูออกไป[ในสงครามบะดัร]เมื่อเจ้ายิงมันออกไป แต่อัลลอฮ์ต่างหากได้ทรงยิงมัน[อัลอันฟาล|17]
ดังนั้นทุกการกระทำล้วนมาจากอัลลอฮ์ทั้งสิ้น หรืออีกโองการหนึ่งพระองค์ทรงตรัสว่า
﴿وَ اللَّهُ خَلَقَكُمْ وَ ما تَعْمَلُونَ﴾
อัลลอฮ์ทรงสร้างพวกท่าน และสิ่งที่พวกท่านทำ[อัศศอฟฟาต|96]
ดังนั้นอัลลอฮ์เป็นผู้สร้างเรา และสร้างในสิ่งที่เราทำ ทุกอย่างมาจากการกระทำของอัลลอฮ์ ที่พระองค์เป็นผู้ทรงกำหนดไว้แล้ว ความจริงก็คือ สภาวะจำยอม[ญับร์]
คำโต้แย้งต่อกลุ่มความเชื่อ ญับรียะฮ์
[1]. ความเชื่อแบบญับรียะฮ์ขัดต่อศิฟัตความยุติธรรมของอัลลอฮ์
สิ่งที่พวกเขาเชื่อว่า มีเส้นทางหนึ่งอยู่แล้ว สำหรับพฤติกรรมของตนเอง และทุกคนจะดำเนินไปตามเส้นทางที่ถูกสร้างมาให้กับเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็เท่ากับเชื่อว่า “อัลลอฮ์ทรงบังคับให้มนุษย์กระทำสิ่งหนึ่ง และต่อมาพระองค์ก็ลงโทษเขาต่อการกระทำนั้น นี่มันขัดต่อความยุติธรรมของพระองค์ใช่หรือไม่ ?!!!
ข้าพเจ้ามีความรู้สึกขัดแย้งอยู่เสมอระหว่างความเชื่อเหล่านี้กับสติปัญญาและส่วนลึกภายในจิตใจของข้าพเจ้าที่เป็นไปในเรื่องความยุติธรรมของอัลลอฮ์ เป็นได้อย่างไรที่พระองค์ทรงบังคับให้พวกเขามีพฤติกรรมหนึ่ง แล้วพระองค์มิได้สอบสวนพวกเขาในเรื่องนั้น และจะทรงลงโทษพวกเขาโดยสิ่งที่พระองค์ทรงกำหนดไว้ในวิถีชีวิตของพวกเขา และกำหนดให้พวกเขาเป็นอย่างนั้น!!!
“เป็นไปได้อย่างไรว่า อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงกำหนดให้บ่าวของพระองค์ประพฤติกรรมชั่ว ต่อจากนั้นแล้ว พระองค์ก็นำเขาเข้าสู่นรกญะฮันนัม ?!! ”
ในขณะที่เราเชื่อตามคำสอนแห่งคัมภีร์อัล-กุรอ่าน ว่า
{ إِنَّ اللَّهَ لَا يَظْلِم النَّاسَ شَيْئًا وَلَكِنَّ النَّاسَ أَنْفُسَهُمْ يَظْلِمُونَ }
“แท้จริงอัลลอฮ์มิทรงอธรรมต่อมนุษย์สักสิ่งเดียว แต่มนุษย์เองที่อธรรมต่อตัวของพวกเขา”(ยูนุซ / 44)
{ فَمَنْ يَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ خَيْرًا يَرَهُ وَمَنْ يَعْمَلْ مِثْقَالَ ذَرَّةٍ شَرًّا يَرَهُ}
“ดังนั้นผู้ใดที่กระทำความดี แม้เพียงธุลีหนึ่งเขาก็จะได้เห็นและผู้ใดที่กระทำความชั่วเพียงธุลีหนึ่ง เขาก็จะได้เห็น” (อัซ-ซัลซะละฮ์ / 7-8)
[2]. ในส่วนของอายะฮ์อัลกุรอ่านที่กลุ่มญับรียะฮ์ นำมาอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับตนเองนั้น
อายะที่หนึ่ง[1] : ในความเป็นจริงแล้วอายะฮ์ดังกล่าวถูกประทานลงมาในเหตุการณ์ที่เฉพาะ[ให้ความหมาย คอสอ์-เฉพาะ]เท่านั้นจึงไม่สามารถนำมาอ้างในเรื่องที่ให้ความหมาย อามม์[ทั่วไป]ได้ เพราะเป็นอายะฮ์ที่กล่าวในเหตุการณ์ที่เฉพาะเท่านั้น นั่นคือเหตุการณ์ในสมรภูมิบะดัร ซึ่งวันนั้นมุสลิมมีกองกำลังเพียงน้อยนิด[313คน]และขาดแคลนอาวุธ พูดง่ายๆ ก็คือ ทั้งกำลังพลและศาสตราวุธไม่สามารถเทียบเคียงกับชาวมุชริกีนได้ แต่สงครามนี้ด้วยการช่วยเหลือของอัลลอฮ์มุสลิมสามารถมีชัยเหนือบรรดาผู้ตั้งภาคีได้
ได้มีการบันทึกถึงรูปแบบของการช่วยเหลือของอัลลอฮ์ในสมรภูมิบะดัร ไว้สองรูปแบบดังนี้
2.1: ในริวายัตจำนวนหนึ่งรายงานว่า เมื่อทหารของมุสลิมได้ยิงธนูออกไป พระองค์ทรงบัญชาให้หมู่มลาอิกะฮ์นำดอกธนูเหล่านั้นไปปักกลางดวงใจของฝ่ายศัตรู จนทำให้พวกเขาต่องพ่ายแพ้ในที่สุด พระองค์จึงกล่าวกับท่านศาสดามุฮัมมัด ศ. ว่า
فَلَمْ تَقْتُلُوهُمْ وَ لَاكِنَّ اللَّهَ قَتَلَهُمْ وَ مَا رَمَيْتَ إِذْ رَمَيْتَ وَ لَكِنَّ اللَّهَ رَمَى
“พวกเจ้ามิได้ฆ่าพวกเขาหรอก แต่ทว่าอัลลอฮ์ต่างหากที่ทรงฆ่าพวกเขา และเจ้าไม่ได้ขว้างหรอกในขณะที่เจ้าขว้างแต่ทว่าอัลลอฮ์ต่างหากที่ขว้าง”
2.2 : และริวายัตจำนวนหนึ่งระบุว่า ในช่วงเริ่มต้นของสงคราม พระเจ้าตรัสกับท่านศาสดา ศ. ว่า จงหยิบทรายขึ้นมาหนึ่งกำมือแล้วขว้างใส่ศัตรู[ชาวมุชริกีน] ซึ่งระยะห่างระหว่านท่านนบี ศ. และทหารมุชริกีน ขั้นต่ำระหว่างพวกเขาคือหนึ่งร้อยหรือสองร้อยเมตร หากท่านศาสดาโยนทรายนี้ มันก็คงจะตกลงไปที่พื้นข้างหน้าท่านไม่เกินหนึ่งหรือสองเมตร แต่พระเจ้าจะทรงนำทรายที่ท่านนบี ศ. ขว้างออกไป เข้าไปในดวงตาของมุชริกีน จนทำให้พวกมันมองไม่เห็น และในขณะที่พวกมันกำลังง่วนอยู่กับการล้างตา ท่านศาสดา ศ. จึงสั่งโจมตีแบสายฟ้าแลบ จนนำชัยชนะมาสู่มุสลิมในที่สุด พระองค์จึงตรัสกับท่านนบี ศ. ว่า :
وَ مَا رَمَيْتَ إِذْ رَمَيْتَ وَ لَكِنَّ اللَّهَ رَمَى
และเจ้าไม่ได้ขว้างหรอกในขณะที่เจ้าขว้างแต่ทว่าอัลลอฮ์ต่างหากที่ขว้าง”
ฉะนั้นโองการนี้ถูกประทานลงมาในกรณีพิเศษ[คอส-خاص]เท่านั้น มิใช่ในกรณีทั่วไปที่คลอบคลุมทุกอย่าง[อาม-عام] เพราะมิเช่นนั้นเราคงเห็นพระดำรัสของพระองค์ในกรณีอื่นๆบ้างแล้วไม่มากก็น้อย เช่น
«وَ مَا صَلَّیتُ إذ صَلَّیت»
และเจ้าไม่ได้ทำนมาซหรอกในขณะที่เจ้าทำนมาซ แต่อัลลอฮ์ต่างหากเป็นผู้ทำ
หรือ เจ้าไม่ได้กินหรอกเมื่อเจ้ากิน แต่อัลลอฮ์เป็นผู้กิน ,เจ้าไม่ได้เดินหริกเมื่อเจ้าเดินแต่อัลลอฮ์ต่างหากที่เดิน หรืออื่นๆเป็นต้น
ด้วยเหตุนี้ไม่สามารถนำอายะฮ์ที่ลงมาในกรณีเฉพาะมาอ้างเป็นหลักฐานในกรณีทั่วไปได้
ส่วนอายะที่สอง[2] : ที่พระองค์ทรงตรัสว่า
﴿ وَ اللَّهُ خَلَقَكُمْ وَ ما تَعْمَلُونَ ﴾
อัลลอฮ์ทรงสร้างพวกท่าน และสิ่งที่พวกท่านทำ[อัศศอฟฟาต|96]
และเช่นกันเมื่อพิจารณาไปยังอายะฮ์ก่อนหน้าอายะฮ์ดังกล่าวจะประจักษ์ชัดว่า อายะฮ์ที่นำมาอ้างไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดเลยกับเรื่อง ”ญับร์ - สภาวะจำยอม“
พระองค์ตรัสในโองการก่อนหน้าว่า
﴿ قَالَ أَ تَعْبُدُونَ مَا تَنْحِتُون وَ اللَّهُ خَلَقَكُمْ وَ ما تَعْمَلُونَ ﴾
เขากล่าวว่า พวกท่านเคารพบูชาสิ่งที่พวกท่านแกะสลักขึ้นมาเอง แท้จริงอัลลอฮ์สร้างพวกเจ้า และสิ่งที่พวกท่านทำขึ้น
ความว่า : ทั้งตัวของพวกเจ้า และสิ่งที่พวกเจ้าหลอมขึ้นมา หรือแกะสลักขึ้นมา แล้วพวกเจ้าก็นำไปเคารพบูชา ทั้งหมดเป็น ”มัคลูคัส-สิ่งถูกสร้าง“ ของพระองค์ทั้งสิ้น ดังนั้น โอ้มุชริกีน เอ๋ย จงเคารพบูชาต่อฉัน มิใช่ไปเคารพบูชาต่อสิ่งที่เป็น ”มัคลูคัส-สิ่งถูกสร้าง“ ของข้า
ฉะนั้น ความหมายประโยค «وَ ما تَعْمَلُونَ» คือ สิ่งที่พวกเจ้าสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้น หรือ แกะสลักไม้ขึ้นมาเป็นรูปบูชา ทั้งหมดคือ “มัคลูค-สิ่งถูกสร้าง” ที่สร้างและมาจากพระองค์ทั้งสิ้น ดังนั้น อายะฮ์ดังกล่าวนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้นกับกับ ประเด็น “สภาวะจำยอม-ญับร์”
ทัศนะที่สอง[2] กลุ่ม ตัฟวีฎ [مذْهَبُ أصحابِ اَلتَّفْوِيْضُ]
ตัฟวีฎ คือกลุ่มคนที่อยู่ในแนวทางซุนนี่ห์ สายมุอ์ตะซิละฮ์ พวกเขาเชื่อว่า มนุษย์สามารถกระทำทุกสิ่งได้อย่างเสรี ด้วยอำนาจอิสระของมนุษย์เอง ไม่มีอำนาจใดมาครอบงำมนุษย์ได้ กล่าวง่ายๆ ก็คือ มนุษย์มีอิสระสมบูรณ์ในการเลือกปฏิบัติ อัลลอฮ์ไม่มีส่วนกำหนดแต่อย่างใด ผู้ก่อตั้งสำนักคิดนี้ คือ วาศิล บิน อะฏอ [เสียชีวิต ฮ.ศ. 131]
จะเห็นได้ว่าทัศนะของมุฮ์ตะซีละฮ์ ยืนเป็นเส้นขนานกับ อะชาอิเราะห์ ในประเด็น การกระทำของมนุษย์ ว่า “อัลลอฮ์เลือกเอง หรือ มนุษย์เลือกเอง“
ซุนนี่ห์สายอะชาอิเราะฮ์ เชื่อในสภาวะจำยอม อัลลอฮ์เลือกเอง และทุกอย่างเป็นไปตามที่อัลลอฮ์กำหนดไว้
ส่วนซุนนี่ห์สายมุฮ์ตะซีละฮ์ เชื่อในภาวะอิสระ เสรี และเจตจำนงของมนุษย์เอง และทุกอย่างเป็นไปตามที่มนุษย์เลือกเอง อัลลอฮ์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้นกับการกระทำของมนุษย์ เมื่อพระองค์สร้างมนุษย์มาแล้ว ก็ได้มอบอำนาจต่างๆให้กับมนุษย์ พระองค์ก็ไม่มีสิทธิ์ในอำนาจนั้นอีกเลย เหมือนเราสร้างบ้านหลังหนึ่งจนเสร็จ แล้วมอบกุญแจให้กับผู้ที่เข้าไปอยู่อาศัย เมื่อดอกกุญแจไปอยู่ในมือ และอำนาจของผู้อยู่อาศัย เราก็ไม่มีสิทธิ์ในบ้านหลังนั้นอีก
บทสรุปความเป็นโมฆะของทัศนะทั้งสองจะเห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นเมื่อทุกคนได้เห็นและทำความเข้าใจในทัศนะสายกลางแล้ว นั้นคือ ”อัมรน บัยนัน อัมรัยน์“ คือทัศนะของชีอะห์ อิมามียะฮ์ ที่ไม่ได้เชื่อ ญับร์ ทั้งหมด และไม่ได้เชื่อ ตัฟวีฎ อย่างสุดลิ้ม แต่ความเชื่อของมุสลิมชีอะห์ คือ อยู่ระหว่างกลางของสองสิ่งนี้[มนุษย์เลือกจากตัวเลือกที่อัลลอฮ์ให้มา]
ทัศนะสายกลาง [لاَ جَبْر وَلاَ تَفْوِيْض بَلْ أَمْرُ بَيْنَ اَمْرَيْنِ]
ชีอะห์อิมามียะฮ์ ยึดเอาคำสอนอะห์ลุลบัยต์นบี ที่พวกท่านได้สอนเรื่องนี้ไว้ว่า :
لاَ جَبْرَ وَ لاَ تَفْوِيضَ وَ لَكِنْ أَمْرٌ بَيْنَ أَمْرَيْنِ
“มิใช่การถูกกำหนดอย่างถูกบังคับ และมิใช่การมอบอำนาจ ให้อย่างสิ้นเชิง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างกลางสองเรื่องนั้น”
ความว่า : ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องที่มาจากเราเอง และโดยการตัดสินใจของเรา และเรากระทำมันขึ้นโดยเจตนารมณ์ของเรา อีกส่วนหนึ่ง อยู่นอกเหนือจากเจตนารมณ์ของเรา และเราต้องยอมจำนนกับมัน และไม่สามารถจะผลักไสมันได้ ดังนั้น เราจะถูกสอบสวนเฉพาะที่เกี่ยวกับส่วนที่หนึ่ง แต่เราจะไม่ถูกสอบสวนในเรื่องที่เกี่ยวกับส่วนที่สอง คนเราจึงอยู่ในสภาพการณ์อย่างนี้ และอยู่ท่ามกลางที่ตนสามารถตัดสินใจได้เอง ส่วนหนึ่งกับการอยู่ในเส้นทางเดินที่ถูกกำหนดมาแล้วส่วนหนึ่งในเวลาเดียวกัน
ขยายความ : มุสลิมชีอะห์เชื่อว่า อัลลอฮ์ ทรงสร้างมวลมนุษย์ขึ้นมาเพื่อให้พวกเขาแสวงหาสัจธรรม และคุณความดีเพื่อเป็นหนทางในการนำพวกเขาให้เข้าใกล้ชิดกับพระเจ้ายิ่งขึ้นในภายภพหน้า มนุษย์มาสู่โลกเหมือนกับแผ่นกระดาษที่ว่างเปล่า ระหว่างเวลาในช่วงชีวิของเขาลายลิขิตต่าง ๆ จะถูกบันทึกลงบนแผ่นกระดาษนั้น โดยผลแห่งการกระทำของตนเอง คุณความดีต่าง ๆ ที่ได้ประกอบขึ้นจะปรากฏตัวบนแผ่นกระดาษด้วยลายลักษณ์อันงามวิจิตร ส่วนความชั่วร้ายจะปรากฏตัวออกมา ด้วยลายลักษณ์อันน่าขยะแขยงและน่าสะพรึงกลัว
อิสลามเชื่อว่า อัลลอฮ์ ทรงประทานวิทยปัญญาให้แก่มนุษย์ พร้อมกับความสามารถในการตัดสิ้นใจ และอำนาจเพื่อการแสวงหาคุณธรรมความดีต่าง ๆ พระองค์ทรงแสดงให้มวลมนุษย์รู้ถึงแนวทางอันถูกต้อง และทรงเตือนให้พวกเขาพ้นจากการหลงไปสู่แนวทางที่ผิด แต่พระองค์มิได้ทรงบังคับเขาให้ประกอบกรรมดี หรือประกอบกรรมชั่วใด ๆ เพราะว่าพระองค์ทรงประทานอำนาจในอ้นที่จะทำให้สิ่งใดดังใจประสงค์ พร้อมด้วยวิทยปัญญาเพื่อการไตร่ตรองในสิ่งที่ถูกที่ควรแก่เขาแล้วอย่างสมบูรณ์
อิสลามเชื่อว่าการกระทำทุกรูปแบบของอัลลอฮ์ ทรงกระทำขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์แก่ทุกสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้างสรรค์ขึ้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งมวลมนุษย์ อุปมาประหนึ่งบุคคลผู้ขึ้นไปอุดรอยรั่วบนหลังคาท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมา เขาจะรู้สึกว่าถูกรบกวนด้วยสายฝนที่กระหน่ำลงมาบนเรือนร่างของเขา แต่สายฝนที่โปรยปรายลงมาบนพื้นดิน ต่างให้ประโยชน์กับพื้นดินไม่ทางตรงก็ทางอ้อมอย่างไม่เสื่อมคาย
บรรดาผู้ศรัทธาในความยุติธรรมของพระเจ้า ไม่เชื่อว่าการกระทำต่าง ๆ ของเขาถูกกำหนดขึ้นโดยอำนาจของอัลลอฮฺ และถึงแม้ว่ามันเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยอำนาจของอัลลอฮฺ เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำเหล่านั้น พวกเขากล่าวว่า นั่นเป็นความอยุติธรรมอย่างเห็นได้ชัดทีพระเจ้าทรงบันดาลให้มนุษย์ขโมย ฆ่าคนตาย หรือประกอบกรรมชั่วอื่น ๆ หลังจากนั้นพระองค์ทรงลงโทษพวกเขาเนื่องจากการกระทำอันเลวร้ายเหล่านั้น ทั้งที่พวกเขาถูกบันดาลให้กระทำลงไปโดยผู้พิพากษานั่นเอง
ท่านอิมามญะอฺฟัร ศอดิก อ. ได้ยกอุทาหรณ์เปรียบเทียบในเรื่องนี้อย่างเรียบง่ายที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ตามขีดสติปัญญาของพวกเขา คือท่านได้กล่าวกับคนที่ถามท่าน เมื่อถามว่า
ما معنى قولک لا جبر ولا تفویض ولکن أمر بین أمرین؟ أجابه علیه السلام: «لیس مشیک على الأرض کسقوطک علیها» ومعنى ذلک أننا نمشی على الأرض باختیارنا – ولکننا عندما نسقط على الأرض فهو بغیر إختیارنا، فمن منا یحبّ السقوط الذی قد یسبب کسر بعض الأعضاء من جسمنا فنصبح معاقین
คำพูดของท่านที่ว่า มิใช่การถูกกำหนดอย่างบังคับ และมิใช่การมอบอำนาจให้อย่างสิ้นเชิง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างสองเรื่องนี้ มีความหมายอย่างไร ?
ท่านอิมามศอดิก อ. ตอบว่า “การเดินของท่านบนดินและการตกของท่านไม่เหมือนกัน” ประโยคนี้หมายความว่า เราเดินบนดินด้วยการตัดสินใจของเรานั่นเอง แต่ถ้าเราตกลงบนดิน ก็หมายความว่าไม่ใช่ด้วยการตัดสินใจของเรา และในหมู่พวกเราจะมีใครบ้างอยากจะตกลงบนพื้นดิน จนเป็นเหตุให้อวัยวะบางส่วนแตกหัก จนต้องกลายเป็นคนพิการ
เราจะขอสรุปการอธิบายเรื่องนี้โดยถ้อยคำพูดของท่านอิมามอะลี บินมูซา อ. นั่นคืออิมามที่ 8 แห่งอะฮฺลุลบัยต์ อ. ซึ่งวิชาการของท่านเป็นที่เลื่องลืออย่างยิ่งในสมัยของมะอฺมูน ขณะที่ท่านมีอายุได้ 14 ปี จนกระทั่งท่านได้เป็นคนมีความรู้มากที่สุดในยุคนั้น มีชายคนหนึ่งถามท่านเกี่ยวกับความหมายของคำพูดของท่านอิมามศอดิก อ. ปู่ของท่านที่ว่า
[لاَ جَبْرَ وَ لاَ تَفْوِيضَ وَ لَكِنْ أَمْرٌ بَيْنَ أَمْرَيْنِ]
“มิใช่การถูกกำหนดอย่างถูกบังคับ และมิใช่การมอบอำนาจ ให้อย่างสิ้นเชิง แต่เป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างกลางสองเรื่องนั้น”
رُوِيَ عَنْ بَعْضِ أَصْحَابِ الرِّضَا عَلَيْهِ السَّلَامُ أَنَّهُ قَالَ: دَخَلْتُ إِلَيْهِ بِمَرْوَ، فَقُلْتُ
يَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ رُوِيَ لَنَا عَنِ الصَّادِقِ عَلَيْهِ السَّلَامُ أَنَّهُ قَالَ: لَا جَبْرَ وَ لَا تَفْوِيضَ، بَلْ أَمْرٌ بَيْنَ أَمْرَيْنِ، فَمَا مَعْنَاهُ؟
ท่านอิมามริฎอ อ. ตอบว่า :
“ใครที่อ้างว่าอัลลอฮ์ ทรงกระทำพฤติกรรมของเราโดยพระองค์เอง หลังจากนั้น พระองค์ก็ลงโทษเราเพราะการกระทำนั้น เท่ากับพูดว่า “ถูกกำหนด อย่างถูกบังคับ” และใครที่อ้างว่า อัลลอฮฺทรงมอบอำนาจอย่างสิ้นเชิงในกิจการ สรรพสิ่ง และริซกีแก่บรรดาข้อพิสูจน์ของพระองค์(หมายถึงบรรดาอิมาม)เท่ากับพูดว่าเป็น “การมอบอำนาจให้อย่างสิ้นเชิง” คนที่ยืนยันว่า “เป็นการถูกกำหนดอย่างถูกบังคับ” ย่อมเป็นผู้ปฏิเสธ ส่วนคนที่ยืนยันว่า “เป็นการมอบอำนาจให้อย่างสิ้นเชิง” ย่อมเป็น มุชริก
สำหรับความหมายของคำว่า “เป็นเรื่องหนึ่ง ที่อยู่ระหว่างกลางเรื่องทั้งสอง” นั้นหมายความว่า “ยังมีวิถีทางหนึ่งอันนำไปสู่การปฏิบัติตามพระบัญชาของอัลอฮ์ และละเว้นสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม หมายความว่า อัลลอฮ์ ซ.บ. ทรงประทานความสามารถแก่เขาในการกระทำความชั่วและละเว้นเช่นเดียวกับที่ทรงให้ความสามารถแก่เขาในการ กระทำความดีและละเว้นพระองค์ทรงบัญชาอันนี้แก่เขา และห้ามเขาจากอันนั้น”[หนังสือ อุยูน อัคบาร อัรริฎอ อ. เชคซอดูก เล่ม 1 : 113 ฮะดีษที่ 17]
فَقَالَ عَلَيْهِ السَّلَامُ: “مَنْ زَعَمَ أَنَّ اللَّهَ سُبْحَانَهُ يَفْعَلُ أَفْعَالَنَا ثُمَّ يُعَذِّبُنَا عَلَيْهَا فَقَدْ قَالَ بِالْجَبْرِ، وَ مَنْ زَعَمَ أَنَّ اللَّهَ تَعَالَى فَوَّضَ أَمْرَ الْخَلْقِ وَ الرِّزْقِ إِلَى حُجَجِهِ فَقَدْ قَالَ بِالتَّفْوِيضِ، وَ الْقَائِلُ بِالْجَبْرِ كَافِرٌ، وَ الْقَائِلُ بِالتَّفْوِيضِ مُشْرِكٌ”.
فَقُلْتُ: يَا ابْنَ رَسُولِ اللَّهِ فَأَمَّا أَمْرٌ بَيْنَ أَمْرَيْنِ؟
فَقَالَ عَلَيْهِ السَّلَامُ: “وُجُودُ السَّبِيلِ إِلَى إِتْيَانِ مَا أُمِرُوا بِهِ، وَ تَرْكِ مَا نُهُوا عَنْهُ
นี่คือ คำอธิบายอันแหลมคมที่ให้ความเข้าใจได้อย่างเพียงพอสำหรับระดับสติปัญญา และสามารถเข้าใจได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนมีวิชาการหรือไม่ใช่นักวิชาการก็ตาม
เป็นจริงตามที่ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ กล่าวไว้โดยท่านได้กล่าวถึงสิทธิของพวกเขาว่า
فَلَا تُقَدِّمُوهُمَا فَتُهْلِكُوا، وَلَا تَقْصُرُوا عَنْهُمَا فَتُهْلِكُوا، وَلَا تُعَلِّمُوهُمْ فَهُمْ أَعْلَمُ مِنْكُمْ
“พวกท่านอย่าได้กระทำการล้ำหน้าพวกเขา[อะห์ลุลบัยต์]เพราะจะทำให้พวกท่านเสียหาย และอย่าล้าหลังพวกเขา เพราะจะทำให้พวกท่านเสียหาย และพวกท่านจงอย่าสอนสั่งพวกเขา เพราะพวกเขารู้ดีกว่าพวกท่าน”
บทความโดย เชคอันศอร เหล็มปาน