ผูัปกครองรัฐ ในคำสอนแห่งนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์
ผูัปกครองรัฐ ในคำสอนแห่งนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์
คำสอนของท่านอิมามอะลี (อ.) การไปถึงขั้นสูงสุดของอำนาจนั้นไม่เพียงแต่จะต้องยึดถือและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้วยความคู่ควรเหมาะสมเพียงเท่านั้น แต่ทว่าด้วยกับการได้รับมาซึ่งตำแหน่งของการเป็นผู้นำและเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐอิสลาม จำเป็นที่จะต้องระมัดระวังทุกด้านของการดำเนินชีวิตของบุคคลเหล่านี้
ในระบอบการปกครองแบบเผด็จการและทรราชนั้น ความคิดและความมุ่งมาตรปรารถนาของบุคคลทั้งหลายมีเพียงอย่างเดียว นั่นคือ การไปให้ถึงจุดสูงสุดของอำนาจ หมายถึง การเป็นประมุขของรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นกษัตริย์หรือซุลต่านหรือประธานาธิบดีและอื่นๆ แต่หลังจากที่ตนเองได้ไปถึงจุดดังกล่าวนี้ได้แล้ว ประชาชนก็จะไม่มีความหมายใดๆ สำหรับตนอีกต่อไป และพวกเขาจะคิดแต่เพียงการรักษาอำนาจการปกครองของตนเองเอาไว้ แม้จะต้องอาศัยการใช้กำลังบีบบังคับและการทำลายสิทธิต่างๆ ของประชาชนก็ตาม
แต่ตามคำสอนของท่านอิมามอะลี (อ.) การไปถึงขั้นสูงสุดของอำนาจนั้นไม่เพียงแต่จะต้องยึดถือและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ด้วยความคู่ควรเหมาะสมเพียงเท่านั้น แต่ทว่าด้วยกับการได้รับมาซึ่งตำแหน่งของการเป็นผู้นำและเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานต่างๆ ของรัฐอิสลาม จำเป็นที่จะต้องระมัดระวังทุกด้านของการดำเนินชีวิตของบุคคลเหล่านี้ จำเป็นที่รากฐานของการดำเนินชีวิตของบุคคลเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกับหลักการและกฎระเบียบต่างๆ (ดังเช่นที่เราทราบดีว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นเพียงอิมามท่านเดียวที่มีโอกาสอันน้อยนิดเพียงช่วงเวลาประมาณ 4 ปี 9 เดือน และอีกเพียงไม่กี่วัน สำหรับการสร้างและฟื้นฟูรัฐอิสลามภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และเป็นที่น่าเสียดายที่อิมามท่านอื่นๆ ไม่ได้รับโอกาสนี้ ดังนั้นหลักการของการบริหารปกครองที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ที่ออกคำสั่งแก่บรรดาผู้ปกครองรัฐและเจ้าหน้าที่ของตนในการบริหารและการกำกับดูแลรัฐอิสลาม ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับบรรดารัฐบาลทั้งหลายที่กล่าวอ้างความเป็นอิสลามของตนได้เป็นอย่างดี
ตามคำสอนต่างๆ ของท่านอิมามอะลี (อ.) บรรดาผู้ที่ดำรงตนอยู่ในตำแหน่งผู้ปกครองเหนือประชาชนนั้น ในด้านแนวทางการปฏิบัติตนของการเป็นผู้ปกครองและผู้นำนั้น พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ที่มีอิสรเสรีที่จะกระทำตามอำเภอใจ แต่จะต้องระมัดระวังตนและเคร่งครัดในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและกฎระเบียบต่างๆ ในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ได้กล่าวถึงแนวทางการปฏิบัติตนสำหรับผู้ปกครองไว้ด้วยกันสามด้าน โดยที่ผู้ปกครองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามและระวังรักษามัน
1. แนวทางการปฏิบัติตนในเรื่องที่เป็นส่วนตัว
ตามคำสอนต่างๆ ของนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ การปฏิบัติตนในด้านส่วนตัวของผู้ปกครอง จะต้องเป็นการดำเนินชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย กล่าวคือ คนที่มีหน้าที่บริหารปกครองในรัฐอิสลามนั้น สายตาของประชาชนจำนวนมากจะจดจ่อไปที่เขา เขาจะต้องไม่ใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ และจะต้องไม่มุ่งเน้นความหรูหราในการใช้ชีวิต ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้แนะนำสั่งเสียกระทั่งว่า หากผู้ใดก็ตามที่มีฐานะต่างๆ ทางด้านการเงินที่ดีนับตั้งแต่ก่อนที่จะเข้ามารับผิดชอบหน้าที่บริหารปกครองในรัฐอิสลาม เมื่อหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารและการเป็นผู้ปกครองถูกมอบให้แก่เขา จำเป็นที่เขาจะต้องใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และจะต้องลดระดับการดำเนินชีวิตของตนเองลงมา ให้อยู่ในระดับปานกลาง ตามการดำเนินชีวิตของประชาชนส่วนใหญ่ของสังคม คำแนะนำเหล่านี้ถูกสั่งเสียแก่บรรดาผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่รัฐอิสลาม เพื่อที่พวกเขาจะได้รับรู้ถึงปัญหาความทุกข์สุขต่างๆ ของประชาชนได้อย่างถูกต้อง และได้สัมผัสกับปัญหาต่างๆ ของประชาชนในเชิงประจักษ์ด้วยประสบการณ์จริงของตน และรับรู้ถึงความเจ็บปวดของพวกเขาอย่างใกล้ชิด พวกเขาจะต้องไม่อาศัยการรับฟังจากรายงานแต่เพียงอย่างเดียว เพราะการได้ยินและการสัมผัสจริงเพียงเท่านั้นที่จะทำให้พวกเขาคิดหาทางสำหรับการแก้ไขเยียวยาปัญหาต่างๆ ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า
إِنَّ اَللَّهَ تَعَالَى فَرَضَ عَلَى أَئِمَّةِ اَلْعَدْلِ أَنْ یُقَدِّرُوا أَنْفُسَهُمْ بِضَعَفَةِ اَلنَّاسِ کیْلاَ یَتَبَیَّغَ بِالْفَقِیرِ فَقْرُهُ
“แท้จริงอัลลอฮ์ผู้ทรงสูงส่ง ได้ทรงกำหนดเป็นหน้าที่บังคับเหนือบรรดาผู้นำแห่งความเที่ยงธรรม ที่เขาจะทำให้ตัวเองให้เท่ากับชนชั้นผู้อ่อนแอ (ผู้ยากจนขัดสน) เพื่อที่ว่าความยากจนของผู้ที่ยากจนขัดสนนั้นจะได้ไม่ทำให้เขาเกิดความฟุ้งซ่านและทุกข์กังวลใจ” (1)
จากคำว่า “กำหนดเป็นหน้าที่บังคับ” ทำให้สรุปได้ว่า คำสั่งนี้เป็นวาญิบ (หน้าที่บังคับ) ที่จะต้องปฏิบัติตาม
2. แนวทางการปฏิบัติตนทางด้านสังคม
ในแนวทางปฏิบัติทางด้านสังคมนั้น เมื่อพิจารณาถึงคำสอนต่างๆ จากนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ สามารถสรุปเป็นประเด็นต่างๆ ได้ดังต่อไปนี้
ก) บรรดาผู้ปกครองจะต้องไม่ทำตัวแปลกแยกและออกห่างจากประชาชน
فَإِنَّ حَقّاً عَلَى اَلْوَالِی أَلاَّ یُغَیِّرَهُ عَلَى رَعِیَّتِهِ فَضْلٌ نَالَهُ وَ لاَ طَوْلٌ خُصَّ بِهِ وَ أَنْ یَزِیدَهُ مَا قَسَمَ اَللَّهُ لَهُ مِنْ نِعَمِهِ دُنُوّاً مِنْ عِبَادِهِ وَ عَطْفاً عَلَى إِخْوَانِهِ
“แท้จริงเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ที่เกียรติและสถานะที่สูงส่งที่เขาได้รับ จะต้องไม่ทำให้เขาเปลี่ยนแปลงท่าทีต่อประชาชน แต่ความโปรดปรานที่อัลลอฮ์ทรงมอบให้แก่เขานั้น จะต้องทำให้เขาเกิดความใกล้ชิดต่อปวงบ่าวของพระองค์มายิ่งขึ้น และเกิดความเอื้ออาทรต่อพี่น้อง (ประชาชน) ของเขามากยิ่งขึ้น” (2)
หากบรรดาผู้ปกครองเชื่อว่า ตำแหน่งหน้าที่นั้นเป็นของขวัญและความไว้วางใจ (อะมานะฮ์) จากพระผู้เป็นเจ้า และมองว่ามันเป็นสื่อสำหรับการรับใช้ประชาชน ไม่ใช่สื่อที่จะใช้ตักตวงผลประโยชน์จากกองคลัง (บัยตุ้ลมาล) และมองว่ามันเป็นสิ่งชั่วครูชั่วยามที่ไม่คงทนถาวรแล้ว เขาจะต้องถือว่าตำแหน่งที่เขาได้รับนั้น คือโอกาสอันดีงามหนึ่งที่เขาจะเข้าใกล้ชิดพระผู้เป็นเจ้า โดยอาศัยการรับใช้บริการเพื่อนมนุษย์ ผู้เป็นสิ่งถูกสร้างของพระผู้เป็นเจ้า เป็นโอกาสซึ่งบางที่อาจจะไม่เกิดขึ้นอีกเลย
ข) การเสริมสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับประชาชน
فَلا تَطُولَنَّ احْتِجَابَكَ عَلَى رَعِيَّتِكَ ، فَإِنَّ احْتِجَابَ الْوُلاةِ عَلَى الرَّعِيَّةِ شُعْبَةٌ مِنَ الضِّيقِ
“ดังนั้น เจ้าอย่าได้หายหน้าไปจากประชาชนของเจ้าอย่างยาวนาน เพราะการหายหน้าของผู้ปกครองไปจากประชาชนนั้น คือส่วนหนึ่งของความคับแคบ (ของจิตใจ)” (3)
สิ่งที่ถูกกำชับแนะนำต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ปกครองว่า พวกเขาจะต้องออกไปพบปะประชาชนเป็นครั้งคราวอย่างสม่ำเสมอ (โดยไม่ทิ้งช่วงเวลาที่ยาวนาน) การกระทำเช่นนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้พวกเขารับรู้ถึงปัญหาความทุกข์สุขของประชาชนเพียงเท่านั้น แต่ยังจะทำให้ประชาชนได้เห็นว่า พวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของประชาชน และสายสัมพันธ์ทางด้านอารมณ์และความรู้สึกจะเกิดขึ้นในระหว่างพวกเขา โอกาสที่ประชาชนและผู้อยู่ใต้ปกครองจะทรยศต่อพวกเขาก็จะน้อยลง
ค) การหลีกเลี่ยงจากการแสวงหาสิทธิพิเศษในสิทธิและกฎระเบียบต่างๆ ของสาธารณชน
وَ إِيَّاكَ وَ اَلاِسْتِئْثَارَ بِمَا اَلنَّاسُ فِيهِ أُسْوَةٌ
“จงหลีกเลี่ยงจากการเลือกให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อตัวเอง ในสิ่งที่ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน” (4)
บรรดาผู้ปกครองจะต้องรู้ว่า เขาจะได้รับสิทธิ์ต่างๆ เฉพาะในกรณีที่กฎหมายได้กำหนดสิทธิ์ให้แก่พวกเขาเพียงเท่านั้น ไม่ใช่ว่าจะมีสิทธิ์ในทุกเรื่อง พวกเขาจะต้องไม่หลงคิดว่าเนื่องจากตนเองมีตำแหน่งและอำนาจ แล้วพวกเขาจะหยิบฉวยและใช้จ่ายทรัพย์สินจากกองคลัง (บัยตุ้ลมาล) มากเกินกว่าสิทธิ์ของตนได้ แต่ทว่าพวกเขาจะต้องรับรู้ว่า พวกเขามีความเท่าเทียมกับประชาชนทั้งหมดของสังคม ในการได้รับประโยชน์จากทรัพย์สินสาธารณะ และไม่มีสิทธิ์มากไปกว่าประชาชนทั้งหลาย
3. แนวทางปฏิบัติตนทางด้านการเมือง
การแนวทางปฏิบัติของบรรดาผู้ปกครองทางการเมืองนั้น จะต้องยึดมั่นกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้
ก) การปฏิเสธความเป็นเผด็จการ
لَيْسَ لَكَ أَنْ تَفْتَاتَ فِي رَعِيَّةٍ
“เจ้าไม่มีสิทธิที่จะปฏิบัติในหมู่ประชาชนด้วยความเป็นเผด็จการ” (5)
وَ لاَ تَقُولَنَّ إِنِّی مُؤَمَّرٌ آمُرُ فَأُطَاعُ
“และเจ้าอย่าได้พูดเป็นอันขาดว่า ฉันถูกแต่งตั้งมาเป็นผู้ปกครอง ดังนั้นเมื่อฉันสั่ง ฉันจะต้องได้รับการเชื่อฟัง” (6)
ข) การกระทำที่ดีงาม พฤติกรรมการแสดงออก และแผนงานที่ดี
فَلْيَكُنْ أَحَبَّ الذَّخَائِرِ إِلَيْكَ ذَخِيرَةُ الْعَمَلِ الصَّالِحِ
“ดังนั้น เสบียงแห่งการทำความดี (อะมัลซอและห์) จงเป็นเสบียงที่เจ้ารักที่สุด” (7)
ค) การให้ความเป็นธรรม
أَنْصِفِ اللهَ وَأَنْصِفِ النَّاسَ مِنْ نَفْسِكَ، وَمِنْ خَاصَّةِ أَهْلِكَ، وَمَنْ لَكَ فِيهِ هَوىً
“จงปฏิบัติด้วยความเที่ยงธรรมต่ออัลลอฮ์ และจงให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนยิ่งกว่าตัวเจ้า และยิ่งกว่าคนพิเศษจากครอบครัวเจ้า และบุคคลที่เจ้ามีหัวใจผูกพันกับเขา” (8)
ง) บรรดาผู้ปกครองจะต้องไม่ละเมิดคำมั่นสัญญา และจงระวังการให้คำมั่นสัญญาที่สามารถกระทำมันได้
ذِمَّتِي بِمَا أَقُولُ رَهِينَةٌ
“ความรับผิดชอบของฉันนั้น ถูกประกันไว้ด้วยสิ่งที่ฉันจะพูดออกไป” (9)
จ) การปรึกษาหารือของผู้ปกครองต่อประชาชน (ยกเว้นในเรื่องของบทบัญญัติ)
أَلاَ وَ إِنَّ لَکمْ عِنْدِی أَلاَّ أَحْتَجِزَ دُونَکمْ سِرّاً إِلاَّ فِی حَرْبٍ وَ لاَ أَطْوِیَ دُونَکمْ أَمْراً إِلاَّ فِی حُکمٍ
“พึงรู้เถิดว่า หน้าที่ของฉันที่มีต่อพวกท่าน คือการที่ฉันจะไม่ปกปิดสิ่งใดเป็นความลับต่อพวกท่าน นอกจากในเรื่องที่เกี่ยวกับสงคราม และฉันจะไม่กระทำสิ่งใดโดยปราศจากการปรึกษาหารือกับพวกท่าน นอกจากในเรื่องของ (การบังคับใช้) กฎบังคับ (ของพระผู้เป็นเจ้า)” (10)
แหล่งที่มา :
(1) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คุฏบะฮ์ที่ 209
(2) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายฉบับที่ 50
(3) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายฉบับที่ 53
(4) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายฉบับที่ 53
(5) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายฉบับที่ 5
(6) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายฉบับที่ 53
(7) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายฉบับที่ 53
(8) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายฉบับที่ 53
(9) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ คุฏบะฮ์ที่ 16
(10) นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ จดหมายฉบับที่ 50
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ