เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

จริยธรรม และบุคลิกลักษณะอันสูงส่งของอิมาม ญะอ์ฟัร อัซ ซอดิก (อ.)

1 ทัศนะต่างๆ 05.0 / 5

จริยธรรม และบุคลิกลักษณะอันสูงส่งของอิมาม ญะอ์ฟัร อัซ ซอดิก (อ.)

 

ท่านอิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก( อ. ) ถือกำเนิด เมื่อวันที่ 17 รอบีอุลเอาวัล ฮ.ศ. 80  ณ เมืองมะดีนะฮ์ อัล มุเนาวะเราะฮ์ บิดาคือ ท่านอิมาม มุฮัมมัดบากิร (อ.) มารดา คือ ท่านหญิง อุมมุฟัรวะฮ์ บุตรสาวของ กอซิม บิน อบูบักร์ อิมามญะอ์ฟัร อัซซอดิก (อ.)ได้กล่าวถึงมารดาของท่านไว้ว่า “มารดาของข้าพเจ้าเป็นผู้มีความศรัทธา มีความสำรวมตนต่อพระเจ้า และมีความประพฤติดีงาม อัลลอฮ์ทรงรักบรรดาผู้ประพฤติดี”

زندگی نامه امام جعفر صادق (ع) از ولادت تا شهادت + همسر، فرزندان، القاب و احادیث

จริยธรรม และบุคลิกลักษณะอันสูงส่งของอิมาม ญะฟัร อัซ ซอดิก อ.

อิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. คือศูนย์รวมแห่งความประเสริฐทั้งมวลเป็นที่รวมแห่งจริยธรรมทั้งหลาย โลกก้าวหน้าด้วยศิลปะวิทยาการของท่าน อ. จะกล่าวถึงเรื่องราวของท่านอิมามญะฟัรซอดิก อ. ให้หมดได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นวิชาความรู้ของท่าน อิมาม อ. คือผู้แต่งเติมโลกนี้ด้วยกับวิชาการความรู้ของท่าน หรือจะกล่าวถึงสถาบันการศึกษาของท่านซึ่งประวัติศาสตร์ในยุคนั้นไม่เคยพบบุคคลเช่นนี้มาก่อนสถาบันการศึกษาของท่านคือสถานที่ผลิตอุละมาฮ์ นักปราชญ์จำนวนมากกว่า 4,000 คน ไม่ว่าจะเป็นสาขา นิติศาสตร์อิสลาม ตัฟซีร จริยศาสตร์ อัคลาก ปรัชญา ดาราศาสตร์ เคมี แพทย์ศาสตร์ ฯลฯ แต่ใช่ว่าวิถีชีวิตด้านอื่นของอิมาม อ. จะด้วยค่าไปกว่าความดีเด่นดังกล่าว คุณลักษณะพิเศษของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ คือ การแสดงภาพรวมแห่งความดีงามทั้งมวล ล้ำหน้าประชาชาติทั้งหลายในเรื่องคุณธรรม พวกท่าน อ. มีวิถีชีวิตที่ดีที่สุด จริยธรรมสูงส่งที่สุด มีการอิบาดะฮ์อย่างมากมาย มีความสมถะมากที่สุด มีความขันติและบริสุทธิ์ในกิจการงานทั้งหลาย มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่มากที่สุด ผู้คนทั้งหลายจะเรียกขานอิมามญะฟัร อัซซอดิก อ. ด้วยฉายานามที่หลากหลาย อย่างเช่น “อัซซอบิร” (ผู้มีความขันติ) “อัลฟาฎิล” (ผู้มีเกียรติ) “อัฏฏอฮิร”(ผู้สะอาด) แต่ที่รู้จักกันจนเป็นที่แพร่หลายมากที่สุดก็คือ “อัซซอดิก” (ผู้มีสัจจะ) ฉายานามทั้งหมดล้วนเป็นหลักฐานบ่งบอกถึงบุคลิกลักษณะอันสูงส่งทางด้านจริยธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตที่ดีงามของท่านอิมาม อ. ทั้งสิ้น

ซัยดฺ บุตร อาลีซัยนุลอาบิดีน นักปฏิวัติสังคมผู้มีเชื่อเสียงกล่าวว่า ทุกสมัยจะมีบุรุษคนหนึ่งจากพวกเรา “อะฮ์ลุลยัยต์” เป็นผู้ที่อัลลอฮฺทรงให้เป็นข้อพิสูจน์(ฮุจญะฮ์)แก่ปวงบ่าวของพระองค์เสมอและข้อพิสูจน์สำหรับยุคสมัยของเราก็คือบุตรของพี่ชายของข้าพเจ้านั่นเอง ญะอ์ฟัร อัซซอดิก บุตรของ มุฮัมมัดบากิร แน่นอน คนที่ปฏิบัติตามเขาจะไม่หลงผิด และคนที่ขัดแย้งกับเขาจะไม่ได้รับทางนำ

มาลิก บิน อะนัส (อิมามมัซฮับมาลิกี) ได้กล่าวถึงท่านว่า ขอสาบานต่ออัลลอฮฺ สายตาของข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นใครเหนือกว่า “ญะอ์ฟัร บิน มุฮัมมัด”(อิมามซอดิก) ในด้านความสมถะ มีเกียรติ เคร่งครัดในการเคารพภักดีและสำรวมตน ข้าพเจ้าเคยมุ่งไปหาท่าน ท่านได้ให้เกียรติและจูบข้าพเจ้า

อบูฮะนีฟะฮฺ (อิมามมัซฮับฮะนะฟี) เคยเป็นศิษย์ของท่านอิมามญะฟัร ซอดิก อ. ถึง 2 ปี อบูฮะนีฟะฮ์ กล่าวว่า หากไม่มีสองปีนี้แน่นอน นุอ์มาน (อบูฮะนีฟะฮ์) ต้องพินาศแน่นอน

สหายของท่านอิมามซอดิก อ. คนหนึ่งกล่าวว่า ข้าพเจ้าเคยอยู่ที่เมืองมะดีนะฮ์กับ“อบูอับดิลลาฮ์” (หมายถึงอิมามซอดิก) ขณะที่ท่านขี่ลาของท่าน เมื่อเราไปถึงใกล้ตลาด อิมามซอดิก อ. ได้ลงจากหลังลา แล้วก้มกราบ (สุญูด) ต่ออัลลอฮฺท่านอยู่ในท่าสุญูดนาน ส่วนข้าเจ้าก็รอยู่ แล้วท่านก็เงยศีรษะขึ้น ข้าพเจ้าจึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าอุทิศตนเป็นผู้รับใช้ท่าน เมื่อสักครู่นี้ท่านลงจากหลังลาแล้วสุญูดเป็นเวลานานเป็นเพราะอะไร อิมามซอดิก อ. ตอบว่า “เพราะว่าฉันรำลึกถึงความโปรดปรานของอัลลอฮฺทีทรงประทานให้แก่ฉัน ดังนั้น ฉันจึงสุญูดด้วยความขอบคุณต่อพระองค์”

สหายอีกคนหนึ่งของท่านกล่าวว่าข้าเจ้าเคยเห็นอบูอับดิลลาฮ์ อ. ถือพลั่วไว้ในมือแล้วนุ่งผ้าอย่างรัดกุมท่านกำลังทำงานในสวนของท่านอยู่แถมมีเหงื่อไหลออกมาจนเปียกโชกดังนั้นข้าพเจ้าจึงกล่าวกับท่านว่า ข้าพเจ้าได้ถูกกำหนดมาเพื่อรับใช้ท่าน โปรดยื่นพลั่วมาให้ข้าเจ้าเพื่อช่วยเหลือท่านในการทำงานเถิด ท่านได้กล่าวกับข้าพเจ้าว่า แม้จริงฉันชอบที่เป็นคนทนทุกข์กับความร้อนของแสงแดดในการทำงานเลี้ยงชีพ

วันหนึ่งท่านอิมามญะฟัร ซอดิก อ. ได้ส่งคนรับใช้ไปทำธุระบางอย่าง แต่เขาได้ล่าช้ามาก ดังนั้นอิมาม อ. จึงออกไปตามหาและพบว่าเด็กรับใช้คนนั้นกำลังหลับอยู่อิมาม อ. จึงนั่งโบกลมให้เขาทางด้านศีรษะ จนกระทั่งเขาตื่น อิมาม อ. จึงกล่าวด้วยความเมตตาว่า “เป็นอะไรไปหรือ เจ้าถึงได้นอนทั้งกลางวันกลางคืน กลางคืนนั้นเป็นสิทธิของเจ้าที่จะนอนอยู่แล้ว แต่ขอเวลากลางวันของเจ้าให้แก่เราเถิด”

ท่านอิมาม อ. ได้ว่าจ้างคนมาทำสวน ครั้นเลิกงานแล้วอิมามซอดิก อ. ได้สั่งแก่มุอฺตัมคนรับใช้ว่า “จงมอบค่าจ้างให้คนเหล่านั้นก่อนที่เหงื่อของพวกเขาจะแห้ง”

ท่านฮิชาม บินซาลิม กล่าวว่า“ท่านอบูอับดิลลาฮ์(อิมามญะฟัร)นั้น ท่านจะออกจากบ้านในยามกลางคืนโดยนำเอาขนมปัง เนื้อ และเงินแบกไว้บนบ่า จากนั้นท่านก็จะไปยังบ้านคนยากจนในเมืองมะดีนะฮ์ แล้วท่านได้แจกจ่ายสิ่งของเหล่านั้นให้แก่พวกเขาโดยที่พวกเขาไม่รู้จักเลยว่า ท่านเป็นใคร ครั้นต่อเมื่อท่าน อิมามซอดิก อ. ถึงแก่กรรมลง เมื่อนั้นแหละคนทั้งหลายถึงได้รู้ว่าที่แท้ชายคนนั้นคือ อิมาม “ญะฟัร ซอดิก”

داستان‌های آموزنده از امام صادق علیه السلام

ข้อบัญญัติเรื่องตำแหน่ง“อิมาม”ของ“ญะฟัร อัซ ซอดิก” (ฮ.ศ. 114-148)

เป็นหน้าที่ของบรรดาอิมามทั้งหลายที่ว่าท่านที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนจะต้องวางบทบัญญัติในเรื่องตำแหน่งแก่อิมามท่านถัดมาโดยได้ทำการระบุชื่อไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกบอิมามท่านนั้นๆ ท่ามกลางพี่น้องหลายๆท่านที่มีอยู่ และประกาศออกไปยังบรรดาสาวกและแต่งตั้งเพื่อเป็นที่รู้ในบรรดาประชาชนทั้งหลายเพื่อให้เป็นประมุขของศาสนาอิสลาม และเป็นผู้ชี้นำสำหรับมวลมุสลิม ต่อไปจะกล่าวถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับตำแหน่ง “อิมาม” ที่มีไว้สำหรับท่านอิมาม ญะฟัรซอดิก อ. โดยท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร อ. ผู้เป็นบิดาเอง ดังนี้

ท่านญาบิร บิน ยะซีด อัลญุฮ์ฟี กล่าวว่า บิดาของท่าน “ญะฮ์ฟัร” (อิมามมุฮัมมัด บากิร)เคยได้รับคำถามเกี่ยวกับผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งภายหลังจากท่าน อิมามบากิร อ. ได้แตะมือไปที่ “อบูอับดิลลาฮ์” แล้วกล่าวว่า “นี้แหละ ด้วยพระนามแห่งอัลลอฮ์ เขาคือผู้จะมาดำรงตำแหน่ง(กออิม) สำหรับวงศ์วานของมุฮัมมัด อ. ” (จากหนังสือ อัล อิรชาด หน้า 289)

ในการสนทนาครั้งหนึ่งของท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร อ. กับ อัลกุมัยต์ ซึ่งเป็นกวีผู้มีชื่อเสียง ท่านกุมัยต์ ได้ถามท่านอิมาม อ. ในเรื่องของบรรดาอิมาม(ภายหลังท่านศาสดามุฮัมมัด) ท่านอิมามตอบว่า “อิมามคนแรกคือ อาลี บินอบีฏอลิบ ต่อจานั้นได้แก่ ท่านฮะซัน ท่านฮุเซน อาลี อิบนิ ฮุเซน แล้วก็ฉัน ต่อจากฉันได้แก่คนๆนี้” พลางท่านอิมาม อ. ได้วางมือลงบนหัวไหล่ของท่าน “ญะฮ์ฟัร” (จากหนังสือ กิฟายะตุล อะษัร)

ท่านอบูศิบาฮ์ อัลกินานี กล่าวว่า อิมามมุฮัมมัดบากิร อ. มองไปยังท่าน “อบูอับดิลลาฮ์”(อิมามญะฟัรซอดิก) บุตรชายของตน แล้วกล่าวว่า นี้คือบุคคลหนึ่งที่อัลลอฮ์ทรงมีโอการว่า

وَنُرِيدُ أَن نَّمُنَّ عَلَى الَّذِينَ اسْتُضْعِفُوا فِي الْأَرْضِ وَنَجْعَلَهُمْ أَئِمَّةً وَنَجْعَلَهُمُ الْوَارِثِينَ سوره القصص: ۵

“และเรามีความประสงค์จะให้ความโปรดปรานแก่เหล่าบรรดาผู้ถูกกดขี่ในหน้าแผ่นดิน แล้วเราจะแต่งตั้งพวกเขาให้เป็นอิมามและเราจะแต่งตั้งพวกเขารับมรกด (ในการปกครอง)”

สภาพด้านสังคมและวัฒนธรรมในสมัยอิมามญะฟัรซอดิก อ.

ในช่วงท้ายๆก่อนการล่มสลายในการปกครองของราชวงศ์ “อุมัยยะฮ์” พวกเขาต้องเจอกับปัญหาทางด้านการเมืองมากมายจากกลุ่มปฏิวัติ ส่วนราชวงศ์ “อับบาซียะฮ์” ได้ใช้สโลแกน “ การเป็นผู้ฝักใฝ่ในลูกหลานศาสดาและเพื่อการแก้แค้นให้กับอะฮ์ลุลบัยต์ ” ด้วยเหตุนี้จึงไม่มีการกดดันจากกลุ่มทั้งสองต่อการดำเนินชีวิตของอิมาม ฉะนั้นจึงเป็นช่วงที่สงบและมีอิสระสำหรับอิมามญะฟัร ซอดิก อ. และบรรดาชีอะฮ์ ซึ่งพวกเขาได้รับโอกาสที่ดีมากมายสำหรับการทำงานทางด้านวิชาการและวัฒนธรรม

ในสมัยของอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. เป็นสมัยที่ก่อกำเนิดทางด้านความคิดและวัฒนธรรมที่หลากหลาย เป็นสมัยที่มีความตื่นตัวและความปรารถนาทางด้านวิชาการอย่างกว้างขวาว ไม่ว่าจะเป็น วิชาการอ่านอัลกุรอาน ตัฟซีร ฮะดิษ วิชาฟิกฮ์(นิติศาสตร์) กะลาม(เทววิทยา) หรือวิทยาการทั่วไปเช่น การแพทย์ ปรัชญา ดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิชาเคมี และอื่นๆ

สาเหตุที่ทำให้เกิดการตื่นตัวทางด้านวิชาการเหล่านี้ ปัจจัยหลักเกิดจากสาเหตุ ต่อไปนี้คือ

    การมีอิสรเสรีทางด้านความคิดและความเชื่อในอิสลาม
    สภาพแวดล้อมของอิสลามในตอนนั้นเป็นสภาพแวดล้อมที่เกี่ยวกับเรื่องราวของศาสนาโดยสมบูรณ์แบบ
    หมู่ชนและประชาชาติที่ยอมรับอิสลาม พวกเขามีความคิดและวิชาการมาอยู่ก่อนแล้ว และเมื่อชนชั้นปกครองเปิดเสรีทางด้านความคิดทำให้บุคคลเหล่านี้มีโอกาสในการค้นคว้า ค้นหาและแลกเปลี่ยนทัศนะเพื่อให้เข้าถึงความลุ่มลึกของวิชาการอิสลาม
    ความสมานฉันท์ทางศาสนา นั่นคือมุสลิมสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมได้อย่างสงบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ชีวิตร่วมกับชาวคัมภีร์

عکس پروفایل شهادت امام جعفر صادق + متن تسلیت و عکس مذهبی امام صادق (ع)

มหาวิทยาลัย “ญะฮ์ฟะรีย์”

เมื่อพิจรณาถึงโอกาสอันเหมาะสมทางด้านการเมืองที่เกิดขึ้น และด้วยการเล็งเห็นถึงความจำเป็นอันยิ่งยวดของสังคม ประกอบกับความพร้อมทางด้านสังคม อิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. จึงได้ดำเนินรอยตามการขับเคลื่อนทางด้านวิชาการ และวัฒนธรรมของบิดาของท่านคืออิมามมุฮัมมัดบากิร อ. ท่านได้ก่อตั้งสถาบันทางวิชาการและมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ขึ้น และท่านได้อบรมบรรดาสานุศิษย์ที่ยิ่งใหญ่และโด่งดังในสาขาต่างๆมากมายของวิชาการทางด้านสิตปัญา และทางด้านการรายงานซึ่งจำนวนของสานุศิษย์ที่ได้เข้าศึกษาในสถาบันของท่านมีถึง 4,000 คนแต่ละคนต่างเป็นสานุศิษย์ที่สูงส่งทางด้านวิชาการและมีชื่อเสียงโด่งดังซึ่งเป็นผู้ที่รับใช้ที่ยิ่งใหญ่ต่ออิสลาม และมีผลิตผลทางด้านวิชาการมากมาย ดังเช่น

    อบูมูซา ญาบิร อิบนิ ฮัยยาน

เป็นลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งของท่านอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. เขามีความปราดเปรื่องในสาขาวิชาคำนวน ดาราศาสตร์และอื่นๆเขาเขียนหนังสือมากว่า 20 เล่มในหลากหลายสาขาวิชาโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านสติปัญญาธรรมชาติวิทยาและวิชาเคมี ด้วยเหตุนี้เขาจึงถูกรู้จักในนามของ บิดาแห่งวิชาเคมี

อะบุลฟะร็อจญ์ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ อัล ฟะร็อจญ์ ตีพิมพ์ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า มีประมาณ 1,300 ฉบับ ท่าน “ญาบิร อิบนิ ฮัยยาน” ได้รับการศึกษาจากท่านอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. โดยตรง เขามีชั่วโมงเฉพาะในการรับความรู้จากท่านอิมามเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งไม่มีผู้อื่นร่วมเข้ารับการศึกษาวิชาด้านนี้กับเขาเลยแม้แต่คนเดียว

ตำราของ “ญาบิร อิบนิ ฮัยยาน” 500 ฉบับได้รับการจัดพิมพ์ในเยอรมัน เมื่อ 300 กว่าปีก่อนและยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ที่หอสมุดกรุงเบอร์ลิน และหอสมุดกรุงปารีส

อิบนิ ค็อลกาน ได้กล่าวไว้ใน “วุฟฟิยาตุลอะฮ์ยาน” โดยกล่าวว่าตำราดังกล่าวเป็นของ“ญาบิร อิบนิ ฮัยยาน” และกล่าวว่า นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสได้ให้สมญานาม “ญาบิร บิน ฮัยยาน” ว่า “อาจารย์แห่งวิทยาการ” บรรดาผู้ทรงคุณวุฒิต่างให้การยอมรับว่า เขาคือผู้บุกเบิกวิชาการมากมายถึง 19 สาขา ที่สืบมาถึงเราในปัจจุบันนี้ และเขายังมีผลงานต่างๆในเรื่องดาราศาสตร์ พวกเขาเชื่อว่าท่าน ญาบิร เป็นผู้บุกเบิกการใช้กล้องส่องดูดวงดาวอีกด้วย เพราะเขาได้กล่าวไว้ในจดหมายของเขาว่า “คนที่ต้องการจะดูดวงอาทิตย์ในตอนกลางคืนก็สามารถกระทำได้โดยวิธีการอย่างนั้นอย่างนี้” กล้องดูดาวชนิดนั้นได้พัฒนามาเป็นกล้องติดบอลลูนที่รู้จักกันในปัจจุบัน

นักวิทยาศาสตร์เหล่านั้นยังอ้างคำสอนนของท่านญาบิรในเรื่องความเป็นหน่วยเดียวกันของสสาร และถือว่าสสารทั้งหมดจะสิ้นสุดตรงที่กระแสดความร้อนที่อยู่ภายในอนุภาคที่เล็กที่สุดของวัตถุ ชาวฝรั่งเศสได้ค้นพบพลังความร้อนที่ซ่อนอยู่ภายใน “อะตอม”

และข้าพเจ้าได้ทราบว่า พวกนักปราชญ์ตะวันตกบางท่านได้เสนอแนะให้ก่อตั้งสำนักวิชาการของท่านญาบิร บิน ฮัยยานโดยเฉพาะเกี่ยวกับความรู้และทัศนะของเขา (จากหนังสือ อัดดาลาอิล วัน มะซาอิล หน้า 53)

มร. เบิร์ติโล ชาวฝรั่งเศษ เจ้าของตำรา “ประวัติของวิทยาศาสตร์” สาขาเคมีวิทยาในสมัยกลาง ได้กล่าวว่า ญาบิร บิน ฮัยยาน ที่รู้จักกันในภาษาลาตินว่า “ญิบรา” คือบุคคลแรกที่วางกฏเกณฑ์ต่างๆในวิทยาศาสตร์ สาขาเคมีวิทยา

    ฮิชาม อิบนิ ฮะกัม เป็นหนึ่งในบรรดาสานุศิษย์ที่มีความสามารถในด้านวิชาหลักศรัทธาหรือ “กะลาม” (เทววิทยา) และเขายังได้เขียนหนังสือถึง 31 เล่ม
    ซุรอเราะฮ์ อิบนิ อะฮ์ยัน เป็นหนึ่งในบรรดาสานุศิษย์ที่มีความสามารถทางด้านวิชาการในด้านต่างๆมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวิชาฟิกฮ์ (นิติศาสตร์)

การแพร่ขยายมหาวิทยาลัยของอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก(อ)

ในสมัยของอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. หลักศรัทธาอันบิดเบือนและหลงผิดได้มีการแพร่ระบาดไปทั่ว และเป็นสมัยที่มีการเผชิญทางด้านความคิดต่างๆ และมีการเกิดขึ้นของสำนักคิดและนิกายต่างๆมากมาย เช่น มุอ์ตะซิละห์ ญับรียะฮ์ มุรญิอะฮ์ มุชับบะฮะฮ์ มุญัสสะมะฮ์ มุตะเซาวิฟะฮ์ และยังมีกลุ่มต่างๆที่เหมือนกับกลุ่มเหล่านี้ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างก็เผยแพราความคิดของตน

อิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. จึงใช้ความพยายามในการต่อสู้กับความเชื่อเหล่านั้น ท่านอิมามทำหน้าที่ตอบคำถามของบุคคลเหล่านั้น และแก้ปัญหาให้แก่ผู้แสวงหาสัจธรรมโดยมิได้ใส่ใจว่าจะเป็นกลุ่มชนใด มีแนวความคิดทางศาสนาอย่างไร และมีเป้าหมายอย่างไร ดังจะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัย อิสลามอันยิ่งใหญ่ได้ถูกวางรากฐานขึ้นมาโดยผลงานของท่านอิมาม ซึ่งได้ผลิตผู้รู้ในศาสตร์สาขาต่างๆมากมาย

บรรดาสานุศิษย์ในมหาวิทยาลัยของอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. ไม่ได้มีแต่บรรดาชีอะฮ์เท่านั้น ทว่ายังมีบรรดาผู้ปฏับัติตามแนวทางของ “ซุนนะฮ์ วัน ญะมะฮะฮ์” เองก็เช่นกันที่ได้รับประโยชน์จากสถาบันของอิมาม หนึ่งในบรรดาบุคคลเหล่านั้น คือ“อบู ฮะนีฟะฮ์”(หัวหน้ามัซฮับ ฮะนาฟีฮ์)เป็นลูกศิษย์ของอิมามถึง 2 ปีด้วยกัน เขาได้กล่าวเกี่ยวกับสองปีนี้ว่าเป็นช่วงของรากฐานแห่งวิชาการและความรู้ของตนเขาเขียนว่า “ถ้าหากไม่มีสองปีนั้น “นุฮ์มาน”(อบู ฮะนีฟะฮ์)คงพินาศไปแล้ว

ฮุเซน อิบนิ อาลี อิบนิ ซิยาดวัชชาฮ์ หนึ่งในบรรดาสานุศิษย์อิมามริฏอ อ. กล่าวว่า “ฉันเห็นบรรดาคณาจารย์ในมัสยิดของกูฟะฮ์ ถึง 900 คนด้วยกัน ซึ่งทั้งหมดต่างกล่าวฮะดิษที่มานาก ญะฮ์ฟัร อิบนิ มุฮัมมัด

ชาวเมืองกูฟะฮ์ บัศเราะห์ ฮิญาซและเมื่องอื่นๆต่างส่งบุตรหลานของพวกตนมาเรียนวิชาจากท่านอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. เพราะเหตุนี้ บ้านของอิมามเปรียบเสมือนมหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ เต็มไปด้วยนักปราชญ์ นักวิชาการ และคนทั้งหลายได้รับการถ่ายทอดวิชาการมาจากท่านอิมามและทั่วทุกมุมโลกความรู้ของท่านได้แพร่หลายออกไป จนทำให้ประชาชนเรียกขานสถาบันของท่านว่า “มัซฮับญะฟารีฮ์”

อิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. กับคอลีฟะฮ์ “มันศูร ดะวานิกี”แห่งราชวงศ์อับบาซี

ประชาชนต่างโอดครวญกับการปกครองและความอยุติธรรมของราชวงศ์อุมัยยะฮฺ คนบางกลุ่มฉวยโอกาสใช้ความรู้สึกของประชาชน และความรักของพวกเขาที่มีต่อครอบครัวของท่านศาสดา ศ. เริ่มต้นด้วยการแสดงตนว่าต่อต้านผู้ปกครองราชวงศ์อุมัยยะฮฺในนามของอะฮฺลุลบัยตฺ อ. แน่นอน ตระกูลอับบาซียะฮฺได้พยายามเรียกร้องเชิญชวนประชาชนให้แสวงหา ความพึงพอใจจากวงศ์วานของศาสดามุฮัมมัด ปรากฏว่าคำขวัญนี้ได้ช่วยทำให้การเชิญชวนของพวกเขาแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง และการปฏิบัติของพวกเขาก็ได้เริ่มก่อตัวขึ้นที่เมืองโคราซาน ประชาชนได้มารวมตัวสนับสนุนพวกเขาอย่างรวดเร็ว ดังนั้น พวกเขาจึงประสบชัยชนะและอำนาจรัฐของอุมัยยะฮฺก็สิ้นสุดลง

แทนที่คนในตระกูลอับบาซียะฮฺจะมอบตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺให้กับอะฮฺลุลบัยตฺผู้ที่เป็นเจ้าของแต่กลับพยายามขับไล่ไสส่งตระกูลคนในตระกูลของท่านศาสดา ศ. ในทุกหนทุกแห่ง พวกเขาได้รับความขมขื่นกับการเข่นฆ่าการเนรเทศ

มันศูร ผู้ปกครองแห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ใช้ประเพณีสืบทอดตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺด้วยกำลัง และพยายามวงแผนกำจัดฝ่ายที่ต่อต้านตน ในสมัยของเขาได้มีการจับคุมขัง และประหารชีวิตสาวกอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. ไปหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทารุณกรรมที่มีต่อบรรดาลูกหลานของท่านอบูฏอลิบ และยังได้จับกุมตัวท่านอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. ปยังเมืองต่างๆในประเทศอิรัก

ตลอดเวลานับสิบปีที่ท่านอิมาญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. ได้ใช้ชีวิตในรัฐบาลของมันศูร ท่านได้รับความขมขื่นอย่างรุนแรง มันศูรเคยวางแผนที่จะสังหารท่านอิมามติดต่อกันหลายครั้ง แต่อัลลอฮ์ทรงบันดาลให้เหตุการณ์ผ่านพ้นไปได้ทุกๆครั้ง คอลีฟะฮ์ มันศูรได้ฆ่ามุฮัมมัดและอิบรอฮีมผู้เป็นพี่ชาย ซึ่งทั้งสองคนเป็นลูกหลานของท่าน อิมามฮะซัน อ. และยังส่งคนสอดแนมไปตามเมืองต่างๆ และได้สังการให้ผู้ปกครองเมืองมะดีนะฮฺให้สอดส่องดูแลพฤติกรรมของอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. อย่างใกล้ชิดอีกด้วย

ครั้งหนึ่งมันศูรได้เชิญท่านอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. เขาพบ แล้วถามว่า ทำไมท่านมิได้มาเยี่ยมเยือนเราเหมือนกับผู้คนทั้งหลายที่มาเยี่ยมเยือนกัน อิมามซอดิก อ. ตอบว่า “สำหรับเราไม่มีกิจการใดทางโลกที่ทำให้เรากลัวเกรงท่าน และสำหรับท่านก็ไม่มีกิจการใดๆ ทางปรโลกที่ทำให้เราหวังจะได้จากท่าน และท่านก็มิได้อยู่ในความโปรดปรานอันใดที่เราจะต้องรู้สึกยินดีด้วย และท่านก็มิได้อยู่ในความแค้นใดๆ ที่เราจะต้องรู้สึกเสียใจด้วย” คอลีฟะฮ์ มันศูรได้กล่าววาจาสามหาวออกมาว่าท่านเป็นเพื่อนกับเราเพื่อจะได้ตักเตือนเราอิมาม อ. กล่าวตอบว่า“ผู้ที่ปรารถนาทางโลกจะไม่ตักเตือนท่านและผู้ที่ปรารถนาทางปรโลกก็จะไม่ตักเตือนท่านด้วย”

มันศูรได้สั่งการให้ผู้ปกครองเมืองมะดีนะฮ์ให้ลบหลู่เกียรติยศของท่านอิมามอะลี อ. วันหนึ่งเจ้าเมืองมะดีนะฮฺได้ขึ้นบนมิมบัร แล้วกล่าวถึงอะมีรุลมุอฺมินีน และบรรดา อะฮ์ลุลบัยตฺ อ. ในทางที่เสื่อมเสีย ดังนั้น อิมามซอดิก อ. จึงลุกขึ้นตอบโต้ว่า “ตามที่ท่านได้กล่าวมานั้น ในส่วนที่เป็นความดีพวกเรานี่แหละคือ ผู้ทรงสิทธิ์กับความดีอันนั้น แต่สำหรับสิ่งที่ท่านได้กล่าวมาในส่วนที่เป็นความเสื่อมเสีย ท่านและเจ้านายของท่าน (เคาะลิฟะฮฺมันซูร) คือผู้ที่คู่ควรมากกว่าใครทั้งหมดกับความเสื่อมเสียอันนั้น” แล้วอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. ก็ได้หันไปทางประชาชน พลางกล่าวว่า “ข้าพเจ้ายังมิได้บอกพวกท่านอีกหรือว่าคนทีมีน้ำหนักของความดีในตราชูที่เบาที่สุดและคนที่ขาดทุนอย่างยับเยินที่สุดในวันฟื้นคืนชีพ อีกทั้งคนที่ตกอยู่ในสภาพที่เลวทรามต่ำช้าที่สุดได้แก่ คนที่ขายรางวัลแห่งปรโลกของตนเองไปกับผลประโยชน์ทางโลกของบุคคลอื่น และเขาก็คือคนที่ละเมิดศาสนาผู้นี้” หลังจากนั้นเจ้าเมืองจึงได้ลงจากมิมบัรด้วยความอัปยศอดสูที่สุด

ในที่ประชุมของคอลิฟะฮฺมันศูรครั้งหนึ่งได้มีแมลงวันตัวหนึ่งไปเกาะที่จมูกของคอลีฟะฮ์ มันศูร จนเขารู้สึกรำคาญ เมื่อท่านอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. เข้าไปหา มันศูรเขาได้พูดกับ อิมามว่า “โอ้อบูอับดิลลาฮ์ อัลลอฮ์ทรงสร้างแมลงวันมาทำไม ? อิมามกล่าวว่า “เพื่อทำให้คนที่หลงอำนาจพบกับความตกต่ำ ไร้ค่า (ที่ไม่อาจแม้จะปกป้องตัวเองจากมันได้)”

อิมามญะฟัร ซอดิก อ. ได้สอนเรื่องการต่อสู้โดยใช้วาจา เมื่อท่านอิมามถูกถามว่า “การต่อสู้วิธีไหนจึงประเสริฐที่สุด?”ท่านอิมาม อ. กล่าวว่า“การพูดความจริงต่อหน้าผู้ปกครองที่อธรรม”

การพลีชีพของท่านอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ.

มีการไต่ถามกันมากเกี่ยวกับสาเหตุที่คอลีฟะฮ์ “มันศูร” ใช้ความรุแรงและหยาบกระด้างต่อท่านอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. ทั้งๆที่บรรดานักปราชญ์ทางประวัติศาสตร์ต่างมีความคิดเห็นตรงกันว่า ท่านอิมามหลีกเลียงจากการที่จะมีอำนาจและตำแหน่ง สาเหตุสำคัญที่มันศูรใช้ความรุนแรงและหยาบช้ากับท่านอิมามก็คือ ความริษยา เมื่อเขาได้พบกับวิชาการและเกียรติยศของท่านอิมาม แล้วก็รู้ว่าท่านอิมามมีสิทธิในการเป็นคอลีฟะฮ์ เพราะฉะนั้นการที่อิมามยังมีชีวิตอยู่กับประชาชาติมุสลิมถึงแม้ท่านจะปฏิเสธตำแหน่งผู้นำใดๆก็ยังเป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่สำหรับเขาอยู่ดี มันซูรไม่อาจที่จะทนรับสภาพการดำรงอยู่ของท่านอิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. ได้อีกเขาจึงวางแผนที่จะกำจัดท่าน และในที่สุดเขาก็ได้ลอบวางยาพิษท่าน

อิมามญะฮ์ฟัร ซอดิก อ. ได้พลีชีพในวันที่ 25 เชาวาล ฮ.ศ. 148 ร่างอันบริสุทธิ์ของท่านได้ถูกฝังที่สุสาน อัล บาเกี้ยะใกล้กับสุสานอิมามมุฮัมมัดบากิรผู้เป็นบิดาและอิมามซัยนุล อาบิดีน อ. ผู้เป็นปู่และใกล้กับอิมามฮะซัน อ. ด้วย ณ เมืองมะดีนะฮ์ และช่วงเวลาแห่งการเป็น “อิมาม” ของท่านรวมทั้งสิ้น 34 ปี

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม