คุณค่าและความสำคัญของเยาวชนผู้ศรัทธา
คุณค่าและความสำคัญของเยาวชนผู้ศรัทธา
เยาวชนและคนหนุ่มสาวนั้นคือต้นไม้แห่งสังคมที่กำลังผลิดอก หากผู้ดูแลต้นไม้นี้ให้การดูแลและเอาใจใส่เป็นอย่างดี และคอยทะนุบำรุงอย่างถูกวิธีแล้ว ต้นไม้นั้นก็จะให้ผลผลิตที่ดีและสมบูรณ์ที่สุดแก่ผู้ดูแลสวน การรับผลกระทบและการขัดเกลาของเยาวชนและคนหนุ่มสาวจะเป็นไปได้รวดเร็วและง่ายดายกว่าคนที่อยู่ในวัยที่สูงกว่า ด้วยเหตุนี้เองในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของอิสลามจึงให้คุณค่าและความสำคัญต่อเยาวชนคนหนุ่มสาวเป็นอย่างมาก ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ก็ได้ให้คุณค่าและความสำคัญต่อเยาวชนเป็นอย่างมาก และท่านจะมอบหมายภาระหน้าที่ต่างๆ ที่สำคัญให้แก่เยาวชนคนหนุ่มสาว
ดังเช่นที่ท่านได้ส่งมุศอับ บินอุมัยร์ ชายหนุ่มผู้เป็นคนดีมีคุณธรรม (ซอลิห์) เป็นตัวแทนของท่านไปยังนครมะดีนะฮ์เพื่อทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนประชาชนชาวมะดีนะฮ์มาสู่อิสลาม เขาเป็นชายหนุ่มที่มีอายุน้อยและเป็นผู้ท่องจำคัมภีร์อัลกุรอาน (1)
หลังจากการพิชิตนครมักกะฮ์ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้แต่งตั้งอิตาบ อิบนุอะซีร ซึ่งมีอายุเพียง 21 ปี ให้ทำหน้าที่ดูแลกิจการของนครมักกะฮ์ และเขาเป็นบุคคลแรกที่ทำหน้าที่เป็นอิมามญะมาอะฮ์ในนครมักกะฮ์ ท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวกับเขาว่า “โอ้อิตาบ เจ้ารู้ไหมว่าทำไมฉันจึงได้มอบหมายหน้าที่ในการดูแลนครมักกะฮ์ให้อยู่ในความรับผิดชอบของเจ้า ทั้งนี้เพราะว่าเจ้าเป็นคนดีมีคุณธรรม หากฉันพบคนที่ดีกว่าเจ้า ฉันก็จะมอบหมายหน้าที่นี้แก่เขา” (2)
เมื่อบรรดาซอฮาบะฮ์ (สาวก) ผู้อาวุโสได้ท้วงติงการกระทำดังกล่าวของท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ท่านได้กล่าวว่า "การเป็นผู้อาวุโสนั้นไม่ใช่เครื่องบ่งชี้ถึงความมีคุณธรรม แต่ความมีคุณธรรมต่างหากที่เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความมีเกียรติเหนือกว่า” (3)
เช่นเดียวกันนี้ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้แต่งตั้งอุซามะฮ์ บินซัยด์ ให้เป็นผู้บัญชาการกองทัพโดยที่ส่วนใหญ่ของทหารในกองทัพนี้เป็นผู้อาวุโสและมีอายุสูงกว่า อย่างเช่น อบูบักร, อุมัร, ซะอัด บินอบีวักก๊อซ และอบูอุบัยดะฮ์
ซอฮาบะฮ์ (สาวก) บางคนคัดค้านท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ว่า ทำไมจึงให้ความสำคัญต่อเด็กหนุ่มคนนี้มากกว่าชาวมุฮาญิรีนและชาวอันศ็อร จนทำให้ท่านศาสนทูต (ซ็อลฯ) โกรธ และท่านได้ขึ้นสู่มิมบัร ภายหลังจากการสรรเสริญสดุดีพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ท่านได้กล่าวว่า “มีสิ่งใดหรือที่ทำให้พวกท่านคัดค้านเกี่ยวกับการตัดสินใจของฉันในการแต่งตั้งอุซามะฮ์เป็นผู้บัญชาการกองทัพ พวกท่านก็คือกลุ่มบุคคลที่เคยคัดค้านการเป็นผู้บัญชาการกองทัพของบิดาของเขา (ซัยด์) มาแล้วก่อนหน้านี้ ทั้งที่ในวันนั้นบิดาของเขาเป็นผู้ที่เหมาะสมต่อการเป็นผู้บัญชากองทัพ และวันนี้บุตรชายของเขาก็เป็นผู้ที่เหมาะสมเช่นกัน” (4)
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า
اوصیکم بالشّبان خیراً فانهم ارقّ افئدة إن الله بعثنی بشیراً و نذیراً فوافقنی الشّباب و خالفنی الشیوخ
“ฉันขอสั่งเสียพวกท่านให้ปฏิบัติดีต่อเยาวชน (คนหนุ่มสาว) ทั้งนี้เนื่องจากในขณะที่ฉันได้รับแต่งตั้ง (ให้เป็นศาสดา)นั้น บรรดาเยาวชนได้ให้การช่วยเหลือฉัน ในขณะที่คนสูงวัยนั้นต่อต้านคัดค้านฉัน” (5)
ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า
علیک بالاحداث فانّهم اسرع الی کلّ خیر
“จงให้ความสนใจต่อบรรดาเยาวชน เพราะแท้จริงพวกเขาจะตอบรับสิ่งดีงามทุกอย่างได้รวดเร็วกว่า” (6)
จากพื้นฐานดังกล่าวนี้เอง ในวจนะ (ฮะดีษ) ทั้งหลายจึงกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงสอนเด็กๆ และเยาวชนของพวกท่านให้รู้ถึงคำพูด (ฮะดีษ) ต่างๆ ของเรา และทำให้หัวใจของพวกเขาคุ้นเคยกับคำพูดของเรา ก่อนที่บรรดาพวกหลงทางจะชักนำพวกเขาไปสู่ความหลงผิด” และ “หัวใจของเยาวชนนั้นเปรียบได้ดังพื้นดินที่ยังไม่ได้ผ่านการเพาะปลูก ซึ่งเมล็ดพันธุ์จะเจริญงอกงามได้ดีในมัน” ฉะนั้นช่างเป็นสิ่งที่ดีงามเสียนี่กระไร หากความศรัทธา (อีหม่าน) จริยธรรม (อัคลาก) และการงานที่ดี (อะมั้ลซอลิห์) จะถูกฟูมฟักและปลูกฝังในตัวพวกเขา
อ้างอิง
(1) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 19, หน้าที่ 10 ; อัลฮะดีษ, เล่มที่ 1, หน้า 343
(2) อัซซีเราะฮ์-อัลฮะละบียะฮ์, เล่มที่ 3, หน้า120 ; อะซะดุลฆอบะฮ์, เล่มที่ 4, หน้า 369
(3) อัลฮะดีษ, เล่มที่ 1, หน้า 342
(4) อัลฮะดีษ, เล่มที่ 6, หน้า 7
(5) หนังสืออ้างอิงเดิม, หน้า 349
(6) อัลกาฟี, เล่มที่ 8, หน้า 193
ที่มา : www.3noqte com
แปลและเรียบเรียง : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ