เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

การรู้คุณในปัจจัยอำนวยสุข (เนี๊ยะอ์มัต) ของพระผู้เป็นเจ้า

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

การรู้คุณในปัจจัยอำนวยสุข (เนี๊ยะอ์มัต) ของพระผู้เป็นเจ้า

 

       จำเป็นที่เราจะต้องตระหนักว่า การขอบคุณและการรู้คุณในเนี๊ยะอ์มัตต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้านั้น คือการใช้ประโยชน์มันอย่างถูกต้อง เราจะต้องระมัดระวังเนี๊ยะอ์มัตทั้งหลายที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่เรา อย่างเช่น ความมีรูปลักษณ์และหน้าตาที่งดงาม ความร่ำรวย ตำแหน่งและฐานะทางสังคม

    คัมภีร์อัลกุรอานถือว่าขอบข่ายของการทดสอบของพระผู้เป็นเจ้าที่มีต่อมนุษย์นั้นมีความกว้างขวางมาก ในโอการหนึ่งของคัมภีร์อัลกุรอาน ถือว่าสรรพสิ่งทั้งมวลที่มีอยู่ในหน้าแผ่นดินนี้คือเครื่องทดสอบของพระผู้เป็นเจ้า โดยที่พระองค์ทรงตรัสว่า :

إِنَّا جَعَلْنا ما عَلَى الْأَرْضِ زينَةً لَها لِنَبْلُوَهُمْ أَيُّهُمْ أَحْسَنُ عَمَلاً

"แท้จริง เราได้ทำให้สรรพสิ่งที่อยู่ในแผ่นดินเป็นเครื่องประดับสำหรับมัน เพื่อเราจะทดสอบพวกเขาว่า ผู้ใดในหมู่พวกเขามีการกระทำที่ดีเยี่ยมที่สุด" (1)

    ท่านอิมามฮะซัน มุจญ์ตะบา (อ.) กล่าวว่า :

النِّعْمَةُ مِحْنَةٌ، فَإِنْ شَكَرْتَ كَانَتْ كَنْزاً وَ إِنْ كَفَرْتَ صَارَتْ‏ نَقِمَة

"เนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุขที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้) นั้นคือการทดสอบ ดังนั้นหากท่านรู้คุณ มันจะกลายเป็นขุมทรัพย์ และหากท่านเนรคุณ มันจะกลายเป็นโทษทัณฑ์" (2)

    ในฮะดีษ (วจนะ) บทนี้ ท่านอิมาม (อ.) มิได้ถือว่า เนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) ทั้งหลายที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้นั้น มันจะเป็นบ่อเกิดของความสุขหรือความสำเร็จได้ด้วยตัวของมันเอง ทว่าท่านได้อธิบายว่า มันเป็นสื่อสำหรับการทดสอบมนุษย์ของพระผู้เป็นเจ้า การทดสอบซึ่งหากมนุษย์ได้ผ่านมันไปได้ด้วยชัยชนะ เนี๊ยะอ์มัตนั้นจะเป็นขุมทรัพย์ที่ให้ผลกำไรแก่เขา โดยที่มันจะจัดระเบียบชีวิตให้แก่เขาและทำให้เขาประสบความสำเร็จทั้งชีวิตในโลกนี้และในปรโลก แต่หากเนี๊ยะอ์มัตดังกล่าวนั้นไม่ถูกรู้คุณหรือผู้ได้รับมันไม่ขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงประทานให้แล้ว มันจะกลายเป็นการทดสอบ (บะลาอ์) และโทษทัณฑ์ (นิกมะฮ์) ที่จะทำลายชีวิตทางโลกนี้หรือปรโลก หรือทั้งสอง

    จำเป็นที่เราจะต้องตระหนักว่า การขอบคุณและการรู้คุณในเนี๊ยะอ์มัตต่างๆ ของพระผู้เป็นเจ้านั้น คือการใช้ประโยชน์มันอย่างถูกต้อง เราจะต้องระมัดระวังเนี๊ยะอ์มัตทั้งหลายที่พระผู้เป็นเจ้าทรงประทานให้แก่เรา อย่างเช่น ความมีรูปลักษณ์และหน้าตาที่งดงาม ความร่ำรวย ตำแหน่งและฐานะทางสังคม

    ความกตัญญู (ชุกร์) หมายถึง การรู้คุณในเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) และการขอบคุณต่อสิ่งนั้น ความสำคัญและความจำเป็นของความกตัญญูและการขอบคุณนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณของเนี๊ยะอ์มัต ไม่ว่าเนี๊ยะอ์มัตนั้นมีความยิ่งใหญ่เพียงใดการแสดงความกตัญญูและการขอบคุณก็จะมีความจำเป็นมากขึ้นเพียงนั้น ด้วยการพิจารณาถึงคำอธิบายนี้ การแสดงความกตัญญูและการขอบคุณต่อพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่งจึงนับว่ามีความจำเป็นกว่าใครอื่นทั้งหมด ท่านรู้ไหมว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น!

    ภายหลังจากพระผู้เป็นเจ้าแล้ว จำเป็นที่เราจะต้องขอบคุณและแสดงความกตัญญูต่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) บรรดานักวิชาการศาสนาที่เป็นผู้ชี้นำทางเราสู่ความสำเร็จ ความผาสุกไพบูลย์ในชีวิตและสู่ทางนำของพระผู้เป็นเจ้า และต่อจากนั้นก็คือบิดามารดา และบรรดาครูผู้สอนวิชาความรู้ให้แก่เรา ต่อจากนั้นคือการขอบคุณและการแสดงความกตัญญูต่อทุกๆ คนที่มีส่วนช่วยเหลือบริการเราและสังคมของเราในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง

    พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ในบทลุกมาน โองการที่ 14 ว่า

اَنِ اشْكُرْ لی وَلِوالِدَیكَ

“เจ้าจงขอบคุณข้า และผู้ให้กำเนิดทั้งสองของเจ้าเถิด”

    และในบทอัลนะห์ลุ โองการที่ 14 พระองค์ทรงตรัสว่า

وَاشْكُرُوا نِعْمَتَ اللَّهِ إِنْ كُنْتُمْ إِيَّاهُ تَعْبُدُونَ

“และพวกเจ้าจงขอบคุณต่อเนี๊ยะอ์มัตของอัลลอฮ์ หากพวกเจ้าเคารพภักดีเฉพาะพระองค์”

การขอบคุณต่อเนี๊ยะอ์มัต (ความโปรดปราน) ของพระผู้เป็นเจ้า

    การขอบคุณต่อเนี๊ยะอ์มัตของพระผู้เป็นเจ้า คือการที่เราจะต้องหลีกห่างจากการทำชั่วและสิ่งต้องห้ามทั้งปวง ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้กล่าวว่า

شکر النعمه اجتناب المحارم

“การขอบคุณในเนี๊ยะอ์มัต (สิ่งดีงามที่ได้รับจากพระผู้เป็นเจ้า) คือการหลีกเลี่ยงจากสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย” (3)

    กล่าวคือ จำเป็นที่เราจะต้องใช้ทรัพย์สินเงินทอง กำลังกาย ความรู้ ตำแหน่งหน้าที่ ความหนุ่มแน่นและเนี๊ยะอ์มัต (ปัจจัยอำนวยสุข) และสิ่งดีงามทั้งหลายที่ตนเองได้รับมานั้นไปในหนทางที่ศาสนาอนุมัติ (ฮะล้าล) ซึ่งจะต้องไม่นำสิ่งเหล่านี้ไปใช้เป็นสื่อในการกระทำสิ่งที่เป็นการละเมิดฝ่าฝืนต่อพระผู้เป็นเจ้า

แหล่งอ้างอิง :

(1) อัลกุรอาน บทอัลกะฮ์ฟี่ โองการที่ 7

(2) นุซฮะตุนนาศิร วะ ตันบีฮุลค่อวาฏิร, เชคฮุเซน อัลฮัลวานี, หน้าที่ 72

(3) บิฮารุลอันวาร, เล่มที่ 68

บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม