สถานภาพทางความรู้ (อิลม์) ในทัศนะของอิมามมุฮัมมัดญะวาด (อ.)
สถานภาพทางความรู้ (อิลม์) ในทัศนะของอิมามมุฮัมมัดญะวาด (อ.)
โดยพื้นฐานแล้วในทัศนะของท่านอิมามญะวาด (อ.) นั้น ท่านถือว่าความรู้ (อิลม์) คือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนเราบรรลุสู่ความสมบูรณ์ต่างๆ ทั้งในชีวิตทางโลกนี้และปรโลก ความรู้นั้นเปรียบประดุจดวงประทีปที่คอยส่องแสงสว่างแก่ปัญญาของมนุษย์ในการย่างก้าวไปในเส้นทางที่ยากลำบากของการดำเนินชีวิต
ท่านอิมามมุฮัมมัด ตะกี (อ.) หรือที่รู้จักกันโดยทั่วไปในนาม ท่านอิมามญะวาด (อ.) คือ อิมามท่านที่ 9 ของชาวชีอะฮ์ ท่านได้รับผิดชอบตำแหน่งอิมามะฮ์ (ความเป็นผู้นำ) ของสังคมอิสลามตั้งแต่วัยเด็ก (ขณะอายุ 8 ขวบ) และในช่วงเวลาดังกล่าวความรู้ที่เปี่ยมล้นของท่านได้สร้างความพิศวงและความประหลาดใจทั้งต่อมิตรและศัตรู การถกข้อปัญหาทางวิชาการต่างๆ ของท่านอิมามญะวาด (อ.) กับบุคคลสำคัญของโลกอิสลามและคำฟัตวา (คำตัดสินชี้ขาดบนพื้นฐานของบทบัญญัติศาสนา) ที่ละเอียดอ่อนของท่านในปัญหาต่างๆ ทางด้านวิชาการ ได้กลายเป็นสื่อชี้นำสำหรับโลกอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชาวชีอะฮ์ตลอดมา เนื่องในการรำลึกถึงการเป็นชะฮีด (เสียชีวิตในหนทางของพระเจ้า) ของท่านอิมามญะวาด (อ) ตามรายงานบันทึกว่า คือวันสุดท้ายของเดือนซิลเกาะอ์ดะฮ์ ปีฮิจญเราะฮ์ศักราชที่ 220 เราจะมารับรู้ถึงคำสอนอันทรงคุณค่าส่วนหนึ่งของท่าน
โดยพื้นฐานแล้วในทัศนะของท่านอิมามญะวาด (อ.) นั้น ท่านถือว่าความรู้ (อิลม์) คือหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้คนเราบรรลุสู่ความสมบูรณ์ต่างๆ ทั้งในชีวิตทางโลกนี้และปรโลก ความรู้นั้นเปรียบประดุจดวงประทีปที่คอยส่องแสงสว่างแก่ปัญญาของมนุษย์ในการย่างก้าวไปในเส้นทางที่ยากลำบากของการดำเนินชีวิต ทั้งนี้เนื่องจากธรรมชาติ (ฟิฏเราะฮ์) ของความใฝ่รู้และการแสวงหาความจริงของมนุษย์นั้นไม่สอดคล้องและเข้ากันไม่ได้กับความไม่รู้ (ญะฮ์ล) หากปราศจากการพัฒนาทางด้านวัฒนธรรมและความคิดที่คู่ควรเหมาะสมและมีความรู้ความเข้าใจที่ลึกซึ่งต่อข้อเท็จจริงต่างๆ แล้ว มนุษย์ก็จะไม่สามารถบรรลุสู่เป้าหมายหลักในชีวิตของตนเองได้
ในเรื่องนี้ท่านอิมามญะวาด (อ.) ได้กล่าวว่า :
عَلَیْكُمْ بِطَلَبِ الْعِلْمِ، فَإنَّ طَلَبَهُ فَریضَةٌ وَالْبَحْثَ عَنْهُ نافِلَةٌ، وَ هُوَ صِلَةُ بَیْنَ الاْ خْوانِ، وَ دَلیلٌ عَلَى الْمُرُوَّةِ، وَ تُحْفَةٌ فِى الْمَجالِسِ، وَ صاحِبٌ فِى السَّفَرِ، وَ اءُنْسٌ فِى الْغُرْبَةِ
“ท่านทั้งหลายจงแสวงหาความรู้เถิด เพราะการแสวงหาความรู้นั้นคือหน้าที่บังคับ (ของศาสนา) และการพูดคุยเกี่ยวกับความรู้นั้นคือสิ่งที่ดีงาม (ที่ให้คุณประโยชน์) มันคือสื่อเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างหมู่มิตรสหาย เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเป็นสุภาพชน เป็นของกำนัลในที่ชุมนุมทั้งหลาย มันคือเพื่อนร่วมทางและเป็นเพื่อนสนิทในยามเดียวดาย” (1)
ในทัศนะของท่านอิมามญะวาด (อ.) สมควรยิ่งที่มุสลิมแต่ละคนจะหันมาสู่การแสวงหาความรู้และมะอ์ริฟะฮ์ (การทำความรู้จักพระผู้เป็นเจ้า) และเลือกคบมิตรสหายบนพื้นฐานของความรู้และมุมมองที่ถูกต้อง การสร้างบุคลิกภาพและสถานภาพทางสังคมของตนเอง บนพื้นฐานของความรู้มะอ์ริฟะฮ์ (การทำความรู้จักพระผู้เป็นเจ้า) ในการไปพบปะกับบุคคลอื่นๆ ก็จะนำเอาความรู้ไปเป็นของฝากและของกำนัลแก่พวกเขา และการพูดคุยในที่ชุมนุมพบปะต่างๆ เขาจะต้องถือว่า ความรู้นั้นคือมิตรและเพื่อนร่วมทางที่ดีที่สุด ทั้งในยามเดินทางและยามเดียวดาย ทั้งนี้เนื่องจากความรู้นั้นคือแหล่งที่มาของความสมบูรณ์ (กะมาลาต) ทั้งมวลของมนุษย์ หากความรู้นี้ประดับประดาไปด้วยเครื่องประดับแห่งความอ่อนน้อมถ่อมตน จะเป็นประหนึ่งน้ำอมฤตที่จะช่วยให้เรารอดพ้นจากทุกสิ่งที่จะนำมาซึ่งความหายนะ
ดังที่ท่านอิมามญะวาด (อ.) ได้ชี้ถึงประเด็นนี้ว่า :
خَفْضُ الْجَناحِ زینَةُالْعِلْمِ
“ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ เครื่องประดับของความรู้” (2)
แต่ทว่าสิ่งที่จำเป็นจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญนั้นก็คือ เราจะต้องมีความรอบคอบและระมัดระวังในความปลอดภัยและถูกต้องความดีงามของเส้นทางที่เขาจะย่างก้าวไปในเส้นทางของการแสวงหาความรู้และมะอ์ริฟะฮ์ (การทำความรู้จักพระผู้เป็นเจ้า) เพื่อที่เขาจะได้ไม่ตกหลุมพรางและกับดักของแนวคิดต่างๆ ที่เป็นความหลงผิดที่ไม่สอดคล้องกับสัจธรรมและความจริง บนพื้นฐานดังกล่าวนี้เอง มุสลิมแต่ละคนสมควรยิ่งที่จะต้องชั่งวัดความชื่นชอบ ความเชื่อถือศรัทธาและความคิดของตนเอง ด้วยตราชูแห่งสัจธรรม และจงใช้สติปัญญาเป็นดวงประทีปเพื่อส่องสว่างในเส้นทางของตนเอง ซึ่งในคำสอนของอิสลามนั้นได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้เป็นพิเศษ
ท่านอิมามญะวาด (อ.) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ โดยท่านได้กล่าวว่า :
مَنْ أَصْغَى إِلَى نَاطِقٍ فَقَدْ عَبَدَهُ فَإِنْ كَانَ النَّاطِقُ عَنِ اللَّهِ فَقَدْ عَبَدَ اللَّهَ وَ إِنْ كَانَ النَّاطِقُ یَنْطِقُ عَنْ لِسَانِ إِبْلِیسَ فَقَدْ عَبَدَ إِبْلِیس
“ใครก็ตามที่รับฟังผู้พูดคนหนึ่ง แน่นอนยิ่งเขาก็จะบูชา (เชื่อฟัง) บุคคลผู้นั้น ดังนั้นหากผู้พูดผู้นั้น (พูดในสิ่งที่มา) จากอัลลอฮ์ แน่นอนยิ่งเขาก็จะบูชาอัลลอฮ์ และหากผู้พูดนั้นพูดจากลิ้นของลิบลีส (หัวหน้าของมาร) แน่นอนเขาก็จะบูชาอิบลีส” (3)
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยกับแรงบันดาลใจจากคำสอนอันสูงส่งของท่านอิมามญะวาดุ้ลอะอิมมะฮ์ (อ.) เราทุกคนจะประดับประดาตนไปด้วยคุณลักษณะอันงดงามข้อนี้ และจะยึดเอาการแสวงหาความรู้และมะอ์ริฟะฮ์เป็นวาระสำคัญในการดำเนินชีวิตในด้านต่างๆ ทั้งด้านส่วนตัวและด้านสังคม ด้วยกับการขจัดม่านหมอกอันมืดมิดแห่งความไม่รู้และความโง่เขลาออกไป เราจะย่างก้าวเข้าสู่ท้องทุ่งแห่งรัศมี (นูร) และแสงสว่าง ด้วยกับการปฏิบัติตามสิ่งที่เราได้เรียนรู้ ซึ่งจะทำให้เราได้รับความสำเร็จและความผาสุกไพบูลย์ทั้งในโลกนี้และปรโลก ทั้งนี้เนื่องจากผู้รู้กับผู้ไม่รู้นั้นย่อมไม่เท่าเทียมกัน
ดังที่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้กล่าวและเน้นย้ำไว้ นั่นก็คือ :
كُلُّ عِلْمٍ وَبَالٌ عَلَى صَاحِبِهِ إِلَّا مَنْ عَمِلَ بِهِ
“ทุกๆ ความรู้นั้นมีจุดจบที่เลวร้ายสำหรับผู้เป็นเจ้าของมัน ยกเว้นผู้ที่ปฏิบัติตามมัน” (4)
เชิงอรรถ :
(1) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 4, หน้าที่ 598
(2) กัขฟุลฆุมมะฮ์ ฟี มะอฺริฟะติ้ลอะอิมมะฮ์, เล่มที่ 2, หน้าที่ 47
(3) ตุหะฟุลอุกูล, หน้าที่ 456
(4) บิฮารุ้ลอันวาร, เล่มที่ 2, หน้าที่ 38
บทความโดย : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ