เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

โองการ มุฮ์กะมาต และมุตะชาบิฮาต คืออะไร?

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

โองการ มุฮ์กะมาต และมุตะชาบิฮาต คืออะไร?


ในซูเราะฮ์อาลิอิมรอน โองการที่ 7   ได้อธิบายให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า  เนื้อหาในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานนั้น ประกอบด้วยกลุ่มโองการใด และมีความหมายเช่นไร  ดังที่ได้กล่าวไว้ ความว่า :

هُوَ الَّذِي أَنزَلَ عَلَيْكَ الْكِتَابَ مِنْهُ آيَاتٌ مُّحْكَمَاتٌ هُنَّ أُمُّ الْكِتَابِ وَأُخَرُ مُتَشَابِهَاتٌ ۖ فَأَمَّا الَّذِينَ فِي قُلُوبِهِمْ زَيْغٌ فَيَتَّبِعُونَ مَا تَشَابَهَ مِنْهُ ابْتِغَاءَ الْفِتْنَةِ وَابْتِغَاءَ تَأْوِيلِهِ ۗ وَمَا يَعْلَمُ تَأْوِيلَهُ إِلَّا اللَّهُ ۗ وَالرَّاسِخُونَ فِي الْعِلْمِ يَقُولُونَ آمَنَّا بِهِ كُلٌّ مِّنْ عِندِ رَبِّنَا ۗ وَمَا يَذَّكَّرُ إِلَّا أُولُو الْأَلْبَابِ
ความหมาย
“พระองค์ คือ ผู้ทรงประทานคัมภีร์ลงมาแก่เจ้า ส่วนหนึ่งจากคัมภีร์มีโองการต่าง ๆ ที่ชัดเจน (ไม่กำกวม) ซึ่งโองการเหล่านี้ เป็นรากฐานของคัมภีร์ (แม้ว่าโองการอื่นจะกำกวม แต่เมื่อย้อนมาดูโองการเหล่านี้ความกำกวมจะหมดไป)  และโองการบางส่วนมีข้อความเป็นนัย (หมายถึง มีความหมายคลุมเครือตีความได้หลายอย่าง แต่เมื่อย้อนไปดูโองการที่มีความหมายชัดเจน ความคลุมเครือจะหมดไป)  ฉะนั้น บรรดาผู้ที่ในหัวใจของเขาเรรวน  พวกเขาปฏิบัติตามโองการที่เป็นนัย  เพื่อก่อการปั่นป่วน (ทำให้ผู้อื่นหลงผิด)  และอธิบายโองการ (อย่างไม่ถูกต้อง)   ในขณะที่ไม่มีผู้ใดรู้การอธิบายโองการเหล่านั้นนอกจากอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่มั่นคงในความรู้  พวกเขากล่าวว่า เราศรัทธาต่อสิ่งนั้น  ทั้งหมดมาจากพระผู้อภิบาลของเรา และไม่มีผู้ใดใคร่ครวญ เว้นแต่ผู้มีวิจารณญาณ”

 

สาเหตุของการประทานโองการ
อิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า มียะฮูดีย์หลายคน  ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ฮัย บุตรของอัคฏ็อบ และพี่น้องของเขา
ได้เดินทางมาพบท่านศาสดา(ศ็อลฯ) พร้อมกับนำหลักฐานเกี่ยวกับอักษรย่อในอัลกุรอาน (อลีฟ ลาม มีม) มาเสนอท่านศาสดา  แล้วพวกเขาได้กล่าวว่า  “ตามหลักคำนวณของพวกเรา อลีฟ = 1, ลาม = 30, มีม = 40   ดังนั้น จากการคำนวณบ่งบอกว่า ประชาชาติของท่านจะคงอยู่ได้ไม่เกิน 71 ปี”  ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จึงต้องการจะยับยั้งความเชื่อที่ไม่ถูกต้องของพวกเขา  ท่านจึงกล่าวกับพวกเขาว่า  “ทำไมพวกท่านจึงคำนวณเฉพาะ อลีฟ ลาม มีม เท่านั้น อักษรย่อในอัล-กุรอานมีอีกมายมาย เช่น อลีฟ ลาม มีม ซ็อด  หรือ อลีฟ ลาม รอ เป็นต้น ถ้าอักษรเหล่านี้บ่งบอกถึงการคงอยู่ของประชาชาติของฉันละก็ ทำไมไม่คำนวณอักษรอื่นด้วย  ขณะที่จุดประสงค์ของอักษรย่อ คือสิ่งอื่น”   หลังจากนั้นพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานโองการลงมา

คำอธิบาย :
โองการที่ชัดแจ้งและคลุมเครือในอัล-กุรอาน
หนึ่งในความพิเศษของอัล-กุรอานโองการนี้ คือ อธิบายถึงวิธีการอธิบายเรื่องราว และสาระของอัล-กุรอาน

คำว่า “มุฮ์กัม” ตามรากศัพท์มาจากคำว่า อะฮฺกาม หมายถึง การห้าม หรือการกำหนดข้อห้าม  ด้วยเหตุนี้จึงเรียกสิ่งที่มีการยืนหยัดมั่นคงว่า มุฮ์กัม  เนื่องจากไม่มีสิ่งใดสามารถทำให้หันเห หรือหลงทางออกไปได้ หรือคำพูดที่มั่นคงแข็ง ซึ่งไม่มีคำพูดใดมาลบล้างได้เรียกว่า “มุฮ์กัม” เช่นกัน

ดังนั้น จุดประสงค์ของ โองการที่เป็นมุฮ์กัม หมายถึง โองการที่มีความหมายชัดเจน ไม่มีช่องว่างให้วิจารณ์ หรือข้อพิพาทแต่อย่างใด หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง โองการที่มีความหมายเป็นที่เข้าใจ ไม่ต้องการคำอธิบายและการตีความใด ๆ ทั้งสิ้น  เมื่อได้ยินโองการเหล่านั้นสามารถเข้าใจได้ทันที  เช่น โองการกล่าวว่า “พระเจ้าทรงอำนาจเหนือทุกสรรพสิ่ง”  โองการเหล่านี้จัดว่าเป็นเป็นรากฐานของคัมภีร์ ซึ่งสามารถช่วยอธิบายโองการที่มีความหมายคลุมเครืออื่น ๆ ได้  โองการที่เป็น มุฮ์กัม  ในอัล-กุรอานเรียกอีกอย่างว่า อุมมุลกิตาบ หมายถึง รากฐานหลัก แหล่งย้อนกลับ

โองการอื่นที่คลุมเครือ
โองการที่เป็น “มุตะชาบิฮ์”  หมายถึง โองการที่มีความหมายคลุมเครือ ไม่ชัดเจน มีความสงสัย และตีความได้หลายด้าน  เช่น  โองการที่กล่าวว่า “อัลลอฮฺ ทรงอยู่เหนือบัลลังก์”  เมื่อพิจารณาจะเห็นว่า
พระเจ้าไม่มีรูปร่าง  แต่โองการกล่าวว่า พระองค์ทรงอยู่บนบัลลังก์  กับอีกโองการหนึ่งกล่าวว่า  “ไม่มีสิ่งใดคล้ายเหมือนพระองค์”  ทำให้เข้าใจทันทีว่าจุดประสงค์ของโองการแรก มิได้หมายถึง การนั่งอยู่บนเตียงเหมือนการนั่งทั่ว ๆ ไป แต่หมายถึง อำนาจของพระองค์ครอบคลุมอยู่เหนือโลกและจักรวาล

คำว่า มุตะชาบิฮ์ หมายถึง สิ่งหนึ่งที่ส่วนต่าง ๆ ของมันคล้ายเหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกประโยค หรือคำต่าง ๆ ซึ่งมีความหมายคลุมเครือ ยุ่งยากต่อความเข้าใจ บางครั้งตีความได้หลายแง่มุมว่า มุตะชาบิฮ์
ฉะนั้น โองการอัล-กุรอานที่เป็น มุตะชาบิฮ์ จึงหมายถึงโองการที่มีความหมายคลุมเครือ ตอนแรกอาจมีความหมายหลายอย่าง หรือมีความหมายเจาะจง แต่เบื้องต้นยากแก่ความเข้าใจ จำเป็นต้องใคร่ครวญเป็นพิเศษ หรือต้องย้อนไปหาโองการที่มีความหมายชัดเจน หรือต้องอาศัยโองการอื่นตีความจึงจะเข้าใจความหมาย  โองการที่เป็นมุชาบิฮ์ ดูได้จากโองการที่กล่าวถึงคุณลักษณะของพระเจ้า หรือโองการที่กล่าวถึงเรื่องการฟื้นคืนชีพ  เช่น พระหัตถ์ของอัลลอฮฺอยู่เหนือมือพวกเขา จุดประสงค์ของโองการ คืออำนาจของพระองค์  หรือโองการที่ว่า  อัลลอฮฺทรงได้ยิน ทรงรอบรู้   บ่งชี้ถึงความรู้ของพระองค์ หรือโองการที่ว่า “เราจะให้ความยุติธรรมให้วันฟื้นคืนชีพ “  หมายถึงสื่อในการตรวจสอบการกระทำ

แน่นอนว่า พระเจ้าไม่ทรงมีพระหัตถ์ (มือตามที่เห็นและเข้าใจ) ไม่มีหู ไม่มีตราชั่งเหมือนกับที่มนุษย์มี และอื่น ๆ แต่สิ่งเหล่านี้บ่งชี้ถึงอำนาจ และความรอบรู้ของพระองค์ ซึ่งเป็นสื่อในการตรวจสอบ

เพราะเหตุใดต้องมีโองการที่คลุมเครือ
การมีโองการคลุมเครือในอัล-กุรอาน ถือเป็นหนึ่งในความจำเป็นของการดำรงอยู่นิรันดรของอิสลาม  ดังที่ทราบแล้วว่า อิสลามเป็นศาสนาที่ดำรงอยู่ตราบจนถึงวันอวสานของโลก  อีกด้านหนึ่งความคิดของมนุษย์มีการวิวัฒนาการตลอดเวลา และมีความแตกต่างกันในทุกยุคทุกสมัย  โองการที่มีความหมายคลุมเครือเหมาะสมกับนักวิชาการที่มีความคิดใหม่ ๆ  เมื่อเขาใช้ประโยชน์จากโองการเหล่านี้  สิ่งนี้จะเป็นสิ่งใหม่สำหรับเขาเสมอ  อัล-กุรอานอนุญาตให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากอัล-กุรอาน  พร้อมกับนำเสนอวิธีการใช้ที่ถูกต้อง เพื่อว่าผู้ที่ใช้จะได้ไม่หลงทาง  ดังนั้น ถ้ามีความสงสัยให้เขาย้อนกลับไปยังโองการที่มีความหมายชัดเจน ซึ่งถือว่าเป็นรากฐานของอัล-กุรอาน

รายงานจากอะฮฺลุลบัยต์ (อ.) กล่าวว่า : การมีโองการที่มีความหมายคลุมเครือในอัล-กุรอาน บ่งบอกว่ามนุษย์มีความต้องการผู้นำที่มาจากพระเจ้า  เมื่อมนุษย์มีความต้องการในความรู้มากเท่าใด เขาจำเป็นต้องเข้าหาผู้ที่มีความรู้ จำเป็นต้องรู้จักเหล่าบรรดาผู้นำ  และใช้ประโยชน์จากความรู้ และคำแนะนำของเขา  ดังที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า  “ฉันฝากสิ่งหนักสองสิ่งที่มีค่ายิ่งไว้ในหมู่สูเจ้า ได้แก่ คัมภีร์ของ    อัลลอฮฺ และครอบครัวของฉัน  สิ่งทั้งสองจะไม่แยกจากกัน จนกว่าทั้งสองจะย้อนคืนสู่ฉัน ณ บ่อน้ำเกาซัร ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพ”

การตะอ์วีล หมายถึงอะไร?
มีการให้ความหมายคำนี้ไว้มากมาย แต่ความหมายที่ใกล้เคียงที่สุด คือ ตะอ์วีล หมายถึง การย้อนกลับของสิ่งหนึ่ง  ด้วยเหตุนี้ ทุกภารกิจ หรือทุกคำพูดถ้าไปถึงยังเป้าหมายสุดท้ายเรียกว่า ตะอฺวีล ดังนั้น ถ้าคนหนึ่งลงมือปฏิบัติภารกิจบางอย่าง แต่เป้าหมายในการปฏิบัติไม่ชัดเจน  สุดท้ายของการปฏิบัติได้กำหนดชัดเจนอย่างนี้เรียกว่าตะอฺวีล เช่นกัน หรือเรื่องราวของศาสดามูซา (อ.) กับนักวิชาการที่เดินทางร่วมกัน  ซึ่งเขาต้องการทำบางอย่างที่เป้าหมายไม่ชัดเจน  เช่น การเจาะเรือ หรือการก่อกำแพงรอบเมือง  ทำให้ศาสดาโกรธมาก ต่อมาเมื่อแยกทางกันเขาจึงบอกว่า เป้าหมายที่ฉันเจาะเรือ  เนื่องจากต้องการช่วยให้รอดพ้นจาก น้ำมือของสุลต่านที่กดขี่ซึ่งกำลังจะเดินทางผ่านมา  อัล-กุรอานกล่าวว่า และนี่คือเป้าหมายสุดท้ายของงาน ที่เจ้าไม่ได้อดทน  โองการที่กำลังกล่าวถึง กล่าวว่า จุดประสงค์ของ ตะอฺวีล ก็คือ ตามความหมายที่กล่าวมา หมายถึง บางโองการของ อัล-กุรอานมีรหัส และความหมายที่ลุ่มลึก เพียงแต่ว่าบางคนที่มีความคิดหลงผิด และมีเจตนาที่เลวร้าย  จึงพยายามอธิบาย หรือสร้างความหมายที่ไม่ถูกต้องขึ้นมา

ด้วยเหตุนี้ จุดประสงค์ของประโยคที่ว่า เพื่อก่อการปั่นป่วน (ทำให้ผู้อื่นหลงผิด) และอธิบายโองการ (อย่างไม่ถูกต้อง) หมายถึงพวกเขาต้องการอธิบายโองการไปในทางที่ผิด ที่มิใช่วัตถุประสงค์ของโองการ

รอซิคูนะฟิลอิลมิ หมายถึงใคร?
อัล-กุรอานกล่าวถึง รอซิคูนะฟิลอิลมิ สองครั้งด้วยกัน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ โองการที่กำลังกล่าวถึง ส่วนอีกโองการหนึ่งคือ โองการที่ 162 บทนิซาอฺ ที่กล่าวว่า “แต่ทว่าบรรดาผู้มั่นในความรู้ในหมู่พวกเขา และบรรดาผู้ศรัทธา (จากประชาชาติอิสลาม) พวกเขาศรัทธาต่อสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่เจ้า และสิ่งที่ถูกประทานลงมาก่อนเจ้า”

ฉะนั้น ถ้าพิจารณาตามความหมายในเชิงภาษา จุดประสงค์ของ รอซิคูนะฟิลอิลมิ  จึงหมายถึง บุคลคลที่ความรู้ของเขามั่นคง เป็นเจ้าของเป็นเจ้าของทัศนะ  แม้ว่าคำนี้จะมีความหมายกว้างก็ตาม แต่บ่งบอกว่าในหมู่พวกเขามีบุคคลพิเศษ มีความบรรเจิดกว่าบุคคลอื่นในทุกด้าน

ริวายะฮฺจำนวนมากมายกล่าวว่า “ริซคูนะ ฟิล อิลม์” หมายถึงท่านศาสดา(ศ็อลฯ) และบรรดาอิมาม (อ.) ซึ่งถือว่า เป็นผู้มีความมั่นคงในความรู้มากกว่าผู้ใดทั้งหมด มีความรอบรู้เรื่องการตะอฺวีล และอธิบายความของทุกสิ่งที่พระเจ้าทรงประทานลงมา

 

อ้างอิง : http://quran.al-shia.org/th/tafsir/

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม