เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 51-52-53-54 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


คำอธิบายโองการที่ 51-52-53-54 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

وَ إِذْ وَعَدْنَا مُوسى أَرْبَعِينَ لَيْلَةً ثُمَّ اتخَذْتمُ الْعِجْلَ مِن بَعْدِهِ وَ أَنتُمْ ظلِمُونَ

ثمَّ عَفَوْنَا عَنكُم مِّن بَعْدِ ‏ذَلِك لَعَلَّكُمْ تَشكُرُونَ

وَ إِذْ ءَاتَيْنَا مُوسى الْكِتَب وَ الْفُرْقَانَ لَعَلَّكُمْ تهْتَدُونَ

وَ إِذْ قَالَ مُوسى ‏لِقَوْمِهِ يَقَوْمِ إِنَّكُمْ ظلَمْتُمْ أَنفُسكم بِاتخَاذِكُمُ الْعِجْلَ فَتُوبُوا إِلى بَارِئكُمْ فَاقْتُلُوا أَنفُسكُمْ ذَلِكُمْ خَيرٌ لَّكُمْ عِندَ ‏بَارِئكُمْ فَتَاب عَلَيْكُمْ إِنَّهُ هُوَ التَّوَّاب الرَّحِيمُ‎

 

 

 

ความหมาย

‎51. และจงรำลึกถึง เมื่อเราได้สัญญาแก่มูซาสี่สิบคืน (เขาได้ไปยังเขาฏูรเพื่อรอรับพระดำรัส) หลังจากนั้นสูเจ้าได้ยึดถือลูกวัว (เป็นพระเจ้า) ขณะที่การกระทำเช่นนี้ เป็นการอธรรมต่อตนเอง

‎52. แล้วเราได้ให้อภัยแก่สูเจ้า หลังจากนั้น เพื่อสูเจ้าจะได้ขอบคุณ

‎53. และจงรำลึกถึง เมือเราได้ประทานคัมภีร์ข้อวิจารณ์อันเด่นชัดแก่มูซา (อ.) เพื่อสูเจ้าจะได้รับทางนำ

‎54. และจงรำลึกถึง เมื่อมูซาได้กล่าวแก่ประชาชาติของเขาว่า โอ้ประชากรของฉัน ! แท้จริงพวกท่านได้ อยุติธรรมต่อตัวของพวกท่านเอง โดยที่พวกท่านได้ยึดถือลูกวัว ( เป็นที่เคารพสักการะ) ดังนั้น จงลุแก่โทษและกลับคืนสู่พระผู้ทรงบังเกิดพวกท่านเถิด แล้วจงฆ่าตัวของพวกท่าน นั่นเป็นการดีกว่าสำหรับพวกท่าน ณ พระผู้ทรงบังเกิดพวกท่าน แล้วพระองค์ทรงนิรโทษสูเจ้า แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงนิรโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ

คำอธิบาย การหลงทางที่ใหญ่ที่สุดของบนีอิสรออีล

อัล-กุรอานสี่โองการนี้กล่าวถึงประวัติศาสตร์ และเหตุการณ์มากมายของชาวบนีอิสรอีล เป็นการรำลึกถึงความทรงจำที่สร้างความหวั่นไหวแก่วงศ์วานอิสรออีลอย่างยิ่ง

โองการเหล่านี้ กล่าวถึงการหลงทางครั้งยิ่งใหญ่ของบนีอิสรออีล บนหน้าประวัติศาสตร์ ซึ่งสิ่งนั้นคือการหันเหออกจากพระเจ้าองค์เดียว ไปสู่การตั้งภาคีโดยยึดถือลูกวัวเป็นเทพเจ้าบูชา อัล-กุรอานเตือนสติพวกเขาว่า ครั้งหนึ่งพวกเจ้าเคยก่อความเสียหายบนหน้าแผ่นดินมาแล้ว บนความโง่เขลาและความอวดดีจนกระทั่งตกระกำลำบากกันถ้วนหน้า พวกเจ้าจงตื่นขึ้นเถิด บัดนี้ แนวทางแห่งพระเจ้าองค์เดียว (อัล-กุรอาน และอิสลาม) ได้เปิดกว้างสำหรับพวกเจ้าแล้ว จงละทิ้งความโง่เขลาเสีย อัล-กุรอานจึงเน้นว่า และจงรำลึกถึง เมื่อเราได้สัญญาแก่มูซาสี่สิบคืน (เขาได้ไปยังภูเขาซินายเพื่อรอรับพระดำรัส) หลังจากนั้นสูเจ้าได้ยึดถือลูกวัว (เป็นพระเจ้า) ขณะที่การกระทำเช่นนี้ เป็นการอธรรมตนเอง

โองการถัดมา หลังจากพระองค์ทรงช่วยเหลือพวกบนีอิสรออีล ให้รอพ้นจากการกดขี่ และการทรมานที่ชั่วช้า โดยให้บริวารของฟิรอาวน์จมน้ำตาย หลังจากนั้นพระองค์ทรงมอบหน้าที่ให้ศาสดามูซา (อ.) เพื่อรับคัมภีร์เตารอตที่ภูเขาฏูรเป็นเวลา 30 วัน แต่เพื่อทดสอบประชาชาติพระเจ้าทรงยึดเวลาออกไปอีก 10 วัน ซามิรียฺ ยะฮูดียฺคนหนึ่งเป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบายอย่างมาก ได้ฉวยโอกาสในช่วงนั้นนำแก้วแหวนเงินทอง ที่พวกบนีอิสรออีลลักรอบ นำติดตัวมา ‎ขณะหนีบริวารของฟิรอาวน์ มาประดิษฐ์เป็นรูปลูกวัวโดยมีเสียงร้องที่เฉพาะเจาะจง หลังจากนั้นได้เชิญชวนให้พวกบนีอิสรออีลมาสักการบูชา

พวกบนีอิสรออีลส่วนใหญ่เชื่อฟังเขาและได้หันมาสักการลูกวัวแทน ศาสดาฮารูน (อ.) ในฐานะตัวแทนของศาสดามูซา (อ.) กับสาวกจำนวนน้อยนิดยังคงยึดมั่นอยู่กับศาสนาที่เชื่อมั่นในพระเจ้าองค์เดียวต่อไป และไม่ว่าท่านจะพยายามอย่างไรเพื่อให้พวกเขารอดพ้นจากการหลงทางครั้งยิ่งใหญ่ แต่ก็ไม่สำเร็จ แม้แต่ตัวท่านศาสดาฮารูนเองก็เกือบเอาตัวไม่รอด

หลังจากศาสดามูซา (อ.) กลับมาจากภูเขาฏูร เมื่อเห็นประชาชนกระทำเช่นนั้น ท่านจึงโกรธมาก และประณามพวกเขาอย่างรุนแรง เมื่อพวกเขารู้สึกตัวว่าได้ทำสิ่งที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งลงไป จึงขอโอกาสเพื่อลุแก่โทษ ศาสดามูซาจึงวอนขอต่อพระเจ้าให้ลุแก่โทษแก่พวกเขาชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน

โองการต่อมา กล่าวว่า และจงรำลึกถึง เมือเราได้ประทานคัมภีร์ข้อวิจารณ์อันเด่นชัดแก่มูซา (อ.)เพื่อสูเจ้าจะได้รับทางนำ ทั้งกิตาบและฟุรกอนอาจหมายถึง คัมภีร์เตารอต หรืออาจเป็นไปได้ว่า กิตาบ นั้นหมายถึงเตารอต ส่วน ฟุรกอน นั้นหมายถึง ความมหัศจรรย์หรืออภินิหารที่พระเจ้าทรงประทานให้มูซา (อ.)เนื่องจาก ฟุรกอน ในเชิงของภาษาหมายถึง ข้อวิจารณ์ หรือสิ่งจำแนกความจริงออกจากความเท็จ

คำว่า บารีย์ (‎باری‎) หมายถึง พระผู้ทรงสร้าง ตามความหมายเดิมหมายถึง การแยกสิ่งหนึ่งออกจากอีกสิ่งหนึ่ง ‎เนื่องจากพระผู้ทรงสร้าง ทรงแยกสิ่งถูกสร้างของพระองค์ ออกจากวัตถุเดิม และออกจากอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งบ่งบอกให้เห็นว่า การลุแก่โทษที่หนักหน่วงนี้ ผู้ที่จะให้แก่เจ้าได้คือ พระผู้ทรงสร้างเจ้ามาตั้งแต่แรก

ความผิดอันยิ่งใหญ่กับการลุแก่โทษที่ไม่เคยมีมาก่อน

ไม่เป็นที่สงสัยว่าการสักการะลูกวัวของซามิรียฺมิใช่เรื่องเล็กน้อย เนื่องจากประชาชาติที่เพิ่งจะเห็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ ‎ของพระเจ้า และเห็นอภินิหารของศาสดาของตนมาหมาด ๆ แต่พวกเขากลับลืมอย่างง่ายดาย ช่วงเวลาอันสั้นที่ศาสดามูซา (อ.) ไม่ได้อยู่กับพวกเขา พวกเขาได้ละทิ้งรากฐานแห่งเตาฮีด (พระเจ้าองค์เดียว) และศาสนาของพระองค์ โดยนำสิ่งเหล่านี้ไปไว้ใต้ฝ่าเท้าของตน และหันกลับไปบูชาเทวรูปที่พวกเขาประดิษฐ์ขึ้นแทน

แน่นอนถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ขุดรากถอนโคนออกจากความคิด และสมองของพวกเขา พวกเขาก็จะก่ออันตรายได้ทุกเวลา หากมีโอกาส โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากศาสดามูซาจากไป อาจเป็นไปได้ที่พวกเขาจะทำลายคำสอนและการเผยแผ่ทั้งหมดของมูซา (อ.) ด้วยเหตุนี้ พระเจ้าทรงมีคำสั่งอย่างรุนแรง นอกจากให้ลุแก่โทษและกลับมาสู่การเคารพบูชาในพระเจ้าองค์เดียวแล้ว ยังสั่งให้ประหารชีวิตกลุ่มชนที่ก่อความผิดในครั้งนี้

คำสั่งของพระองค์ในครั้งนี้ต้องปฏิบัติในลักษณะที่เจาะจง หมายถึงพวกเขาต้องจับดาบ และฆ่ากันเอง ซึ่งการฆ่ากันเป็นการลงโทษอย่างรุนแรง มิหนำซ้ำยังต้องมาฆ่าคนรู้จักและมิตรสหายอีกต่างหาก บางรายงานกล่าวว่าศาสดามูซา ‎‎(อ.) สั่งให้บุคคลที่มีส่วนร่วมในการประดิษฐ์ลูกวัวเพื่อบูชา อาบน้ำ ใส่เสื้อผ้า เข้าแถวและสังหารพวกเขาในคืนเดียว

บางคนอาจคิดว่า เพราะเหตุใดการลุแก่โทษครั้งนี้จึงต้องโหดร้าย และป่าเถื่อน ถ้าปราศจากการหลั่งเลือด พระองค์จะไม่ยอมรับการลุแก่โทษหรือ

ปัญหาเรื่องการหันเหออกจากความเป็นเอกภาพของพระเจ้า และกลับไปสู่การตั้งภาคีกับพระองค์ มิใช่เรื่องเล็กน้อย ‎ในความเป็นจริงแล้วศาสนาแห่งฟากฟ้าทั้งหมด สามารถสรุปได้ที่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว การปฏิเสธพื้นฐานหลักก็เท่ากับเป็นการทำลายศาสนาทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ การประดิษฐ์ลูกวัวขึ้นบูชาถ้าถือเป็นเรื่องเล็กน้อย ‎บางทีอาจกลายเป็นแบบฉบับสำหรับชนรุ่นต่อไปในอนาคต ดังนั้น จำเป็นต้องลงโทษอย่างรุนแรงเพื่อเป็นบทเรียน ‎และเป็นความทรงจำที่ดีแก่ชนในทุกยุคทุกสมัย และเพื่อป้องกันมิให้บุคคลอื่นคิดที่จะประดิษฐ์พระเจ้าจอมปลอมขึ้นมาบูชาอีก อัลกุรอานประโยคที่กล่าวว่า นั่นเป็นการดีกว่าสำหรับพวกท่าน ก็ต้องการบ่งชี้ถึงประเด็นนี้

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม