เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 57 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


คำอธิบายโองการที่ 57 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

وَ ظلَّلْنَا عَلَيْكمُ الْغَمَامَ وَ أَنزَلْنَا عَلَيْكُمُ الْمَنَّ وَ السلْوَى كلُوا مِن طيِّبَتِ مَا رَزَقْنَكُمْ وَ مَا ظلَمُونَا وَ لَكِن ‏كانُوا أَنفُسهُمْ يَظلِمُونَ‎ ‎

 

ความหมาย

‎57. และเราได้ให้เมฆมาบังสูเจ้า และได้ให้อัล-มันนะ (น้ำตาลก้อนเหนียวที่อร่อยมาก) และอัซ-ซัลวา (นกคุ่มลักษณะคล้ายนกพิราบ) แก่สูเจ้า สูเจ้าจงบริโภคสิ่งที่สะอาดที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่สูเจ้า (แต่สูเจ้าปฏิเสธ) ‎พวกเขามิได้อธรรมต่อเรา แต่ทว่าพวกเขาอธรรมต่อตัวของพวกเขาเอง

คำอธิบาย ความโปรดปรานที่หลากหลาย

ดังที่โองการที่ 20 -22 บท อัล มาอิดะฮฺ กล่าวว่า หลังจากที่วงศ์วานอิสรออีลได้รอดพ้นจากบริวารของฟิรอาวน์แล้ว ‎พระเจ้าได้มีบัญชาแก่พวกเขา ให้อพยพไปยังปาเลสไตน์ พื้นแผ่นดินบริสุทธิ์ และพำนักอยู่ที่นั่น แต่พวกบนีอิสรออีลมิได้ปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ และกล่าวว่า โอ้มูซา (อ.)แท้จริงในแผ่นดินอันบริสุทธิ์นั้นมีพวกที่เหี้ยมโหด ‎และพวกเราจะไม่เข้าไปในแผ่นดินนั้นเป็นอันขาด จนกว่าพวกเขาจะออกไปจากที่นั้น แต่ถ้าพวกเขาออกไปจากที่นั้นแล้ว พวกเราจึงจะเป็นผู้เข้าไป

เมื่อมูซา (อ.) ได้ยินเช่นนั้นจึงเกิดโทสะมาก และได้ร้องเรียนกับพระเจ้า และในที่สุดพวกบนีอิสรออีลต้องเร่ร่อนอยุ่กลางทะเลทราย ซีนา นานถึง 40 ปี บางกลุ่มจากพวกเขาสำนึกผิด และกลับใจมาสู่สายธารของพระเจ้าอีกครั้ง ‎พระองค์ทรงเมตตาต่อพวกเขา จึงได้ประทานความโปรดปรานแก่พวกเขาอีก ซึ่งบางส่วนของความโปรดปรานกล่าวไว้ในโองการต่อไปนี้ กล่าวว่า และเราได้ให้เมฆมาบังสูเจ้า

แน่นอนคนเดินทางตั้งแต่เช้าจรดเย็นท่ามกลางความร้อนระอุของแสดงแดด ถ้าได้รับร่มเงาแม้ว่าเป็นกลุ่มเมฆ ก็สามารถสร้างความชื่นใจแก่ผู้เดินทางได้ไม่น้อย อีกด้านหนึ่งถ้าเดินทางกลางทะเลทรายที่แห้งแล้ง ร้อนระอุ ในระยะเวลาที่นานถึง 40 ปี จำเป็นต้องมีเสบียงอาหารมากพอ แต่ใครจะสามารถตระเตรียมเสบียงอาหารได้นานถึงขนาดนั้น แน่นอนพระเจ้าทรงขจัดปัญหาเหล่านี้แก่พวกเขา อัล-กุรอานประโยคต่อมากล่าวว่า และได้ให้อัล-มันนะ ‎‎(น้ำตาลก้อนเหนียวที่อร่อยมาก) และอัซ-ซัลวา (นกคุ่มลักษณะคล้ายนกพิราบ) แก่สูเจ้า สูเจ้าจงบริโภคสิ่งที่สะอาดที่เราได้ให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่สูเจ้า

ประเด็นสำคัญ

มันนะและซัลวาคืออะไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้มีหลายทัศนะด้วยกัน บางคนกล่าวว่า อัลมันนะ (‎الْمَنَّ‎) ในเชิงภาษาหมายถึง หยดเล็ก ๆ คล้ายกับหยดน้ำค้างบนยอดไม้และใบหญ้า มีรสชาติหวาน หรืออีกนัยหนึ่งคล้ายกับยางไม้บางประเภทมีรสหวาน บางคนกล่าวว่า มีรสชาติอมเปรี้ยวอมหวาน ส่วน ซัลวา ตามหลักภาษาหมายถึง ความสงบเรียบร้อย นักอักษรศาสตร์และนักอรรถาธิบายกุรอานส่วนใหญ่กล่าวว่าหมายถึง นกชนิดหนึ่งมีรูปร่างคล้ายนกพิราบ บางท่านกล่าวว่าเป็น นกคุ่ม

บางคนกล่าวว่า จุดประสงค์ของ อัลมันนะ หมายถึงความโปรดปรานทั้งหมดที่พระเจ้าทรงประทานให้พวกบนีอิสรออีล ส่วนคำว่า อัซซัลวา หมายถึงความเมตตาทั้งหมด อันเป็นสาเหตุให้พวกเขามีความสงบเรียบร้อย

นักอรรถาธิบายบางคนกล่าวว่า อัลมันนะ เป็นน้ำผึ่งธรรมชาติชนิดหนึ่ง ซึ่งพวกบนีอิสรออีลได้ใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งนั้น ตลอดระยะเวลาที่เดินทางอยู่กลางทะเลทราย เนื่องจากเส้นทางที่พวกเขาลัดเลาะไปนั้น เป็นเขาสลับกับทะเลทรายและมีตาน้ำอยู่บ้าง

เพราะเหตุใดจึงกล่าวว่า อันซัลนา (เราให้)‎

สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ คำว่า อันซัลนา มิได้หมายความว่าเป็นการประทานจากเบื้องบน หรือส่งลงมาจากข้างบนเสมอไป ดังโองการที่ 6 บท อัซซุมัร กล่าวว่า

خَلَقَكُم مِّن نَّفْسٍ وَاحِدَةٍ ثُمَّ جَعَلَ مِنْهَا زَوْجَهَا وَأَنزَلَ لَكُم مِّنْ الْأَنْعَامِ ثَمَانِيَةَ أَزْوَاجٍ

พระองค์ทรงสร้างพวกเจ้าจากชีวิตหนึ่ง แล้วจากชีวิตนั้นทรงทำให้เป็นของคู่ครองของมัน และทรงประทานปศุสัตว์แปดตัวเป็นคู่แก่พวกเจ้า

ทำให้ทราบว่าปศุสัตว์ตามที่โองการกล่าวถึง ไม่ได้ถูกส่งลงมาจากฟากฟ้า ด้วยเหตุนี้คำว่า อันซัลนา ที่ใช้ในลักษณะเช่นนี้อาจหมายถึง นุซูลมะกอมมี (การลงมาโดยตำแหน่ง) กล่าวคือ ความโปรดปรานจากสถานภาพหนึ่งที่ดีกว่าไปสู่สถานภาพที่ต่ำกว่า

หรือบางครั้งมาจากคำว่า อินซาล หมายถึง การต้อนรับแขก เนื่องจากคำว่า อินซาล และคำว่า นุซุล อยู่ในรูปเดียวกับ ‎รุซุล หมายถึง การให้การต้อนรับ ดังเช่นที่อัล-กุรอาน กล่าวถึงชาวนรกบางกลุ่มว่า (‎فَنُزُلُ مِنَ حَمِيْمٍ‎) พวกเขาถูกต้อนรับด้วยฮะมีม (เครื่องดื่มที่เผาไหม้ของนรก)‎

ขณะที่พวกบนีอิสรออีลอยู่บนแผ่นดินของอัลลอฮฺ เป็นแขกของพระองค์ อัล-กุรอานจึงกล่าวว่า และได้ให้อัล-มันนะ (น้ำตาลก้อนเหนียวที่อร่อยมาก) และอัซ-ซัลวา (‎وَ أَنزَلْنَا عَلَيْكُمُ الْمَنَّ وَ السلْوَى‎ )‎

อัลเฆาะมามะ หมายถึงอะไร

บางคนกล่าวว่า อัลเฆาะมามะ และซะฮาบ ทั้งสองคำหมายถึง เมฆ ซึ่งไม่แตกต่างกัน แต่บางคนเชื่อว่า อัล เฆาะมามะ หมายถึง เมฆสีขาว คำ ๆ นี้ ในเชิงภาษามาจากรากศัพท์ของคำว่า ฆอม หมายถึง การปกปิดสิ่งหนึ่ง และการที่เรียกเมฆว่า ฆอมมะ เนื่องจากเมฆแผ่ปกคลุมชั้นฟ้า และบางครั้งเรียกทรวงอกว่า ฆอมมะ เนื่องจากว่าได้ห่อหุ้มหัวใจเอาไว้ และการที่อัล-กุรอาน กล่าวเช่นนี้เนื่องจากว่า พวกบนีอิสรออีล นอกจากใช้ประโยชน์จากเงาเมฆแล้ว ‎ยังมีแสงสว่างที่เพียงพอเนื่องจากความขาวของเมฆได้แผ่ปกคลุม ทำให้ท้องฟ้าไม่สว่างจ้าจนเกินไป ตรวจ และแก้ไขถึงตรงนี้พอดี

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม