เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 62 จากบทอัลบะกอเราะฮ์‎

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

คำอธิบายโองการที่ 62 จากบทอัลบะกอเราะฮ์‎

 

إِنَّ الَّذِينَ ءَامَنُوا وَ الَّذِينَ هَادُوا وَ النَّصرَى وَ الصبِئِينَ مَنْ ءَامَنَ بِاللَّهِ وَ الْيَوْمِ الاَخِرِ وَ عَمِلَ صلِحاً ‏فَلَهُمْ أَجْرُهُمْ عِندَ رَبِّهِمْ وَ لا خَوْفٌ عَلَيهِمْ وَ لا هُمْ يحْزَنُونَ‎

 

ความหมาย

‎62. แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธา และบรรดาผู้ที่เป็นยิว คริสต์ และอัซ-ซอบิอีน (ผู้ปฏิบัติตามยะฮ์ยา หรือนูฮ์ หรืออิบรอฮีม) ผู้ใดศรัทธาในอัลลอฮ์ และวันสุดท้าย และประกอบการดี ดังนั้น พวกเขาจะได้รับรางวัลของพวกเขา ณ พระผู้อภิบาลของเขา จะไม่มีความหวาดกลัวแก่พวกเขา และพวกเขาจะไม่เสียใจ

คำอธิบาย กฎทั่วไปของการช่วยเหลือ

ข้อวิพากวิจารณ์เกี่ยวกับพวกบนีอิสรออีลในโองการต่อไปนี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงชี้ให้เห็นกฎเกณฑ์ที่เป็นหลักโดยทั่วไป ซึ่งยะฮูดีย์ และชาวคริสต์ได้สร้างให้กับตนเองว่า ศาสนาของพวกเขาเป็นศาสนาที่ดีที่สุด สรวงสวรรค์ได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อพวกเขาโดยเฉพาะ ดังนั้น โองการจึงกล่าวถึงกฎโดยทั่วไปเพื่อเป็นการเตือนสติแก่ทุกคนว่า ‎บรรดาผู้มีศรัทธาแต่ภายนอก โดยมิได้ปฏิบัติคุณงามความดี ไม่ว่าจะเป็นมุสลิม คริสต์ ยูดาย และนักถือศาสนาอื่น ๆ ‎ถือว่าไร้ค่าทั้งสิ้น เฉพาะบุคคลที่มีความศรัทธามั่นคง และมีความบริสุทธิ์ใจต่อพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น วันแห่งการฟื้นคืนชีพ จะคู่ควรเฉพาะแต่การงานที่ดี และมีคุณค่า ณ องค์พระผู้อภิบาล ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้ศรัทธามั่นคงจะไม่มีความหวาดกลัว และจะไม่มีความทุกข์ระทมใจเด็ดขาด

จุดประสงค์ของ ฮาดู หมายถึงผู้นับถือศาสนายูดาย หรือยิวในปัจจุบัน ส่วนจุดประสงค์ของ นะเซาะรอ หมายถึง ชาวคริสต์ทั้งหลาย
ความศรัทธาที่มีต่อพระเจ้า วันสุดท้าย และการประกอบความดีโดยมิได้ยอมรับอิสลาม ถูกต้องหรือไม่

บางคนใช้โองการข้างต้นเป็นเหตุผลประกอบความคิดที่ไม่ถูกต้องของตน ซึ่งในความเป็นจริงทุกคนมีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาตนเองอย่างเคร่งครัด พวกเขากล่าวว่า ด้วยเหตุนี้ ไม่จำเป็นที่พวกยิว คริสต์ และผู้ที่นับถือศาสนา ต้องยอมรับอิสลาม เพียงแค่เชื่อว่ามีพระเจ้า และเชื่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพ พร้อมกับปฏิบัติคุณงามความดีเท่านั้นก็เพียงพอ

เป็นที่ทราบกันดีว่าโองการอัลกุรอาน อธิบายความซึ่งกันและกัน อัลกุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 85 กล่าวว่า ‎และผู้ใดแสวงหาศาสนาอื่นจากอิสลาม ศาสนานั้นก็จะไม่ถูกรับจากเขาเป็นอันขาด และในปรโลกเขาจะอยู่ในหมู่ผู้ขาดทุน

นอกจากนี้แล้ว ยังมีโองการอื่นอีกมากมายที่เชิญชวนชาวยิว คริสต์ และผู้ที่นับถือศาสนาอื่น ให้เข้ารับอิสลาม ถ้าการอธิบายข้างต้นถูกต้องถือว่าอัลกุรอานขัดแย้งกันอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้ จำเป็นต้องค้นหาความหมายที่แท้จริงของโองการ

ณ จุดนี้มี 2 คำอธิบายที่ให้ความหมายชัดเจนที่สุด กล่าวคือ

‎1. ถ้าชาวยิวและชาวคริสต์ปฏิบัติตามคัมภีร์ และคำสอนของศาสนาตนอย่างเคร่งครัด แน่นอนพวกเขาต้องยอมรับศาสดาแห่งอิสลาม เนื่องจากคัมภีร์ของพวกเขาได้กล่าวแนะนำ ท่านศาสดาพร้อมกับอธิบายคุณสมบัติ และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน เช่น อัลกุรอาน บทอัล-มาอิดะฮ์ โองการที่ 68 กล่าวว่า จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) โอ้ชาวคัมภีร์ทั้งหลาย พวกท่านไม่มีคุณค่าแต่อย่างใด จนกว่าพวกท่านจะยึดมั่นอัต-เตารอต อัล-อินญีล และสิ่งที่ถูกประทานลงมาแก่พวกท่านจากพระผู้อภิบาลของท่าน (เช่น ศรัทธาต่อศาสดาแห่งอิสลาม ซึ่งได้แจ้งการปรากฏไว้ในคัมภีร์ของพวกท่าน)‎

‎2. โองการข้างต้น เป็นคำถามแก่มุสลิมในยุคแรกที่ยอมรับอิสลามใหม่ ๆ พวกเขาคิดว่า ถ้าแนวทางแห่งการช่วยเหลือมีเฉพาะอิสลามเท่านั้น ฉะนั้น บรรพชนก่อนหน้านั้น ตลอดจนบิดามารดาของพวกเขาจะเป็นอย่างไร ‎พวกเขาไม่รู้จักศาสดาแห่งอิสลาม และไม่ได้ศรัทธาต่อท่าน จะถูกลงโทษหรือไม่

โองการข้างต้นจึงได้ถูกประทานลงมา และประกาศวา บุคคลใดก็ตามในสมัยของตน ถ้าศรัทธาต่อท่านศาสดา คัมภีร์อัลกุรอาน และปฏิบัติคุณงามความดี ถือว่าเป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือ โดยไม่ต้องมีความคลางแคลงใจ หรือเป็นห่วงเป็นใยแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ ชาวยิวที่มีความศรัทธา และประพฤติปฏิบัติคุณงามความดี ก่อนการมาของอีซา ถือว่าเป็นผู้ได้รับการช่วยเหลือ ทำนองเดียวกันชาวคริสต์ที่เป็นผู้ศรัทธาเคร่งครัด ก่อนการมาของอิสลาม

อัซซออิบาน หมายถึงใคร

รอฆิบ อิศฟาฮานี กล่าวว่า พวกเขาคือกลุ่มชนที่ปฏิบัติตามท่านศาสดานูฮ์ (อ.) และการนำพวกเขามากล่าวในระดับเดียวกันกับชาวยิว และคริสต์นั้น เนื่องจากว่าพวกเขาเป็นผู้ยึดมั่น หนึ่งในศาสนาแห่งฟากฟ้าเช่นกัน และมีความเชื่อในพระเจ้า และวันแห่งการฟื้นคืนชีพ

บางคนเชื่อว่า พวกเขาเป็นกลุ่มชนที่เคารพสักการะดวงดาวต่าง ๆ บางคนเชื่อว่าพวกเขาคือ พวกโซโรอัสเตอร์ ซึ่งถือว่าไม่ถูกต้อง เนื่องจากโองการ ที่ 17 บท อัลฮัจญ์ นำพวกตั้งภาคี และโซโรอัสเตอร์มากล่าวไว้คู่กับพวกซออิบาน ‎โดยกล่าวว่า แท้จริงบรรดาผู้ศรัทธา และบรรดาชาวยิว และพวกซอบิอีน และพวกนะซอรอ และพวกบูชาไฟ และบรรดาผู้ตั้งภาคี แท้จริงอัลลอฮ์ ทรงตัดสินในระหว่างพวกเขาในวันกิยามะฮ์ แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเป็นพยานต่อทุกสิ่ง ‎ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าซิอบิบานนั้นมิใช่พวกมุชริก

 

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม