มุบาฮะละฮ์ วันแห่งการพิสูจน์สัจธรรมของอิสลาม ตอนที่ 2
มุบาฮะละฮ์ วันแห่งการพิสูจน์สัจธรรมของอิสลาม ตอนที่ 2
เริ่มต้นด้วยการให้เหตุผล และแนวทางสุดท้ายคือการมุบาฮะละฮ์
ก่อนที่จะลงโองการมุบาฮะละฮ์นั้น พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสเกี่ยวกับวิธีการถือกำเนิดของท่านศาสดาอีซา (อ.) ในหลายโองการ และได้ให้เหตุผลทางสติปัญญาและการพิสูจน์หลักฐานแก่ชาวคริสต์ และเรียกร้องให้พวกเขาใช้สติปัญญาในการพิจารณาตรึกตรองเรื่องราว ด้วยเหตุนี้เองในช่วงเริ่มแรกนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้พยายามที่จะสร้างความเข้าใจให้แก่พวกเขาโดยอาศัยเหตุผลต่างๆ ที่ชัดเจนและหนักแน่น แต่เมื่อการให้เหตุผลต่างๆ ไม่อาจทำให้พวกเขาตระหนักและยอมรับและยังคงความดื้อรั้นและการต่อต้าน ท่านจึงเรียกร้องเชิญพวกเขาสู่การมุบาฮะละฮ์ โดยพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสในโองการที่ 61 ของอัลกุรอานบทอาลิอิมรอนว่า :
فَمَنْ حَآجَّكَ فِيهِ مِن بَعْدِ مَا جَاءكَ مِنَ الْعِلْمِ فَقُلْ تَعَالَوْاْ نَدْعُ أَبْنَاءنَا وَأَبْنَاءكُمْ وَنِسَاءنَا وَنِسَاءكُمْ وَأَنفُسَنَا وأَنفُسَكُمْ ثُمَّ نَبْتَهِلْ فَنَجْعَل لَّعْنَةَ اللّهِ عَلَى الْكَاذِبِينَ
“ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) ภายหลังจากที่ความรู้ได้มายังเจ้าแล้ว เจ้าก็จงกล่าว (กับพวกเขา) เถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจะเรียกลูกๆ ของเราและลูกๆ ของพวกท่าน และเรียกบรรดาสตรีของเราและบรรดาสตรีของพวกท่าน และตัวของเราและตัวของพวกท่านมา แล้วเราก็จะวิงวอน โดยขอให้การสาปแช่งของอัลลอฮ์จงประสบแก่บรรดาผู้มดเท็จ” (10)
มุบาฮะละฮ์ หมายถึงการวิงวอนขอต่อพระเจ้าให้สาปแช่ง (ลงโทษ) บรรดาผู้ที่มดเท็จ
ในริวายะฮ์ (คำรายงาน) ต่างๆ ของอิสลามได้กล่าวว่า เมื่อประเด็นเกี่ยวกับการมุบาฮะละฮ์ได้ถูกนำเสนอ บรรดาผู้แทนชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอนได้ขอประวิงเวลาจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เพื่อคิดใคร่ครวญในเรื่องนี้และขอคำปรึกษาหารือจากบรรดาแกนนำของตน
ผลของการปรึกษาหารือของพวกเขาซึ่งพิจารณาจากจิตวิทยาก็คือว่า พวกเขาได้ออกคำสั่งแก่หมู่ชนของตนว่า หากพวกท่านเห็นมุฮัมมัด (ซ็อลฯ) มาสู่การมุบาฮะละฮ์ด้วยความอึกกระทึกครึกโครมพร้อมกับหมู่ชนจำนวนมาก พวกท่านก็จงทำการมุบาฮะละฮ์กับเขาและอย่าได้หวั่นกลัว เพราะในกรณีเช่นนี้ไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ในคำกล่าวอ้างของเขา เขาเพียงอาศัยจำนวนผู้คนและความอึกกระทึกครึกโครมเพื่อข่มขู่พวกเราให้กลัว แต่ถ้าหากเขามายังสถานที่นัดหมายพร้อมกับบุคคลจำนวนน้อยนิดและเป็นเครือญาติใกล้ชิดและลูกหลานที่มีอายุน้อยของตน ก็จงรู้ไว้เถิดว่าเขาคือศาสดาของพระเจ้า และจงหลีกเลี่ยงจากการมุบาฮะละฮ์กับเขา เพราะนั่นจะเป็นภยันตรายต่อพวกท่านเอง
เป็นไปตามข้อตกลงก่อนหน้านี้ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และคณะผู้แทนชาวคริตส์แห่งนัจญ์รอนได้ไปปรากฏตัว ณ สถานที่เพื่อทำการมุบาฮะละฮ์ ทันใดนั้นเองเมื่อคณะผู้แทนแห่งนัจญ์รอนได้เห็นว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้อุ้มท่านฮุเซน (อ.) และจูงมือท่านฮะซัน (อ.) และท่านอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) ได้เดินเคียงข้างมากับท่าน และท่านได้กำชับพวกท่านเหล่านั้นว่า หากฉันขอดุดาอ์ พวกเจ้าก็จงกล่าวว่าอามีนเถิด ชาวคริสต์เมื่อได้เห็นสถานการณ์เช่นนี้ พวกเขาได้เกิดความหวั่นกลัวอย่างรุนแรง จากการที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้นำเอาบรรดาบุคคลผู้เป็นที่รักที่สุดและผู้ใกล้ชิดที่สุดของตนเข้ามาสู่สนามแห่งการมุบาฮะละฮ์ พวกเขาได้ประจักษ์ว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีศรัทธาที่มั่นคงแข็งแกร่งต่อคำกล่าวอ้างของตนเอง เพราะมิฉะนั้นท่านจะไม่นำพาบรรดาบุคคลผู้เป็นที่รักที่สุดของตนเข้ามาเผชิญกับอันตรายของโทษทัณฑ์จากพระเจ้าอย่างแน่นอน ดังนั้นพวกเขาจึงยับยั้งตนจากการมุบาฮะละฮ์และยอมที่จะประนีประนอม
ชะตากรรมของชาวคริสต์ในกรณีที่ทำการมุบาฮะละฮ์
เมื่อคณะผู้แทนแห่งนัจญ์รอนได้เห็นว่าท่านศาสดา (ซ็อลฯ) มีความมุ่งมั่นที่จะทำการมุบาฮะละฮ์ พวกเขาก็รู้สึกหวั่นกลัวอย่างมาก อบูฮาริษะฮ์ซึ่งเป็นผู้ทรงความรู้ที่สุดและเป็นอาร์คบิชอปของแห่งนัจญ์รอนได้กล่าวว่า : "หากมุฮัมมัด (ซ็อลฯ ) ไม่ได้อยู่บนสัจธรรมแล้ว เขาย่อมไม่อาจหาญที่จะทำการมุบาฮะละฮ์เช่นนี้ หากเขาทำการมุบาฮะละฮ์กับเรา ก่อนที่ปีหนึ่งจะผ่านพ้นไปจากพวกเรา จะไม่มีคริสเตียนแม้แต่เพียงคนเดียวหลงเหลืออยู่ในหน้าแผ่นดินเลย” และในริวายะฮ์ (คำรายงาน) อีกบทหนึ่งได้กล่าวว่า : "ฉันได้มองเห็นใบหน้าทั้งหลาย ซึ่งหากพวกเขาวิงวอนขอจากพระเจ้าให้ทรงเคลื่อนภูเขาทั้งหลาย แน่นอนยิ่งว่ามันจะเคลื่อน ดังนั้นพวกท่านอย่าได้ทำการมุบาฮะละฮ์เลย เพราะมิฉะนั้นแล้วพวกท่านจะพินาศและจะไม่มีคริสเตียนคนใดหลงเหลืออยู่ในหน้าแผ่นดินเลย”
ผลสุดท้ายของการมุบาฮะละฮ์ของท่านศาสดากับชาวคริสต์
อบูฮาริษะฮ์ ผู้นำของคณะผู้แทนแห่งนัจญ์รอนได้เข้ามาพบกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และกล่าวว่า : “โอ้ท่านอบุลกอซิม! โปรดละวางจากการมุบาฮะละฮ์กับพวกเราเถิด และโปรดยอมรับการขอประนีประนอมจากพวกเราในสิ่งที่พวกเรามีความสามารถที่จะกระทำมันได้”
ดังนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงยอมรับการขอประนีประนอมจากพวกเขา โดยที่ทุกปีพวกเขาจะต้องจ่ายส่วยเป็นเสื้อคลุมยาวจำนวนสองพันชุดและเสื้อคลุมแต่ละชุดนั้นจะมีราคาสี่สิบดิรฮัม (เหรียญเงิน) และหากมีสงครามเกิดขึ้น พวกเขาจะต้องให้ยืมเสื้อเกราะสามสิบชุด หอกสามสิบเล่มและม้าศึกสามสิบตัว อย่างไรก็ดีหลังจากที่คณะผู้แทนชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอนเดินทางกลับไปไม่นานนัก ผู้นำชาวคริสต์สองคนก็ได้เดินทางมาพบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) อีกครั้งพร้อมด้วยของกำนัลต่างๆ และประกาศตนเข้ารับอิสลาม (11)
ดังนั้นสามารถสรุปได้ว่า พื้นฐานการมุบาฮะละฮ์ทั้งหมดได้ถูกจัดเตรียมขึ้น แต่เนื่องจากชาวคริสต์แห่งนัจญ์รอนได้เห็นความมั่นใจในตัวเองของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ทำให้พวกเขาเกิดความหวั่นกลัวและทำให้พวกเขายอมจำนนโดยไม่มีการมุบาฮะละฮ์และขอประนีประนอมกับท่าน และในประวัติศาสตร์อิสลามจึงไม่มีการมุบาฮะละฮ์ใดๆ เกิดขึ้น
ผลและประเด็นที่สำคัญที่สุดในเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์
เหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ มีประเด็นต่างๆ ที่สำคัญและควรคู่ต่อการพิจารณาและการใคร่ครวญ ประเด็นที่สำคัญที่สุดของเหตุการณ์นี้สามารถพิจารณาได้ดังต่อไปนี้ :
1. หลักฐานพิสูจน์ความสัจจริงและสัจธรรมของศาสนาอิสลามที่มีเหนือศาสนาคริสต์
เหตุการณ์มุบาฮะละฮ์แสดงให้เห็นว่าบรรดาผู้นำคริสเตียนแห่งนัจญ์รอน ก็เช่นเดียวกับผู้รู้คริสเตียนร่วมสมัยกับท่านศาสดา (ซ็อลฯ ) คนอื่นๆ ที่ได้อ่านและรับรู้สัญลักษณ์ต่างๆ ของศาสดาท่านสุดท้ายจากบรรดาคัมภีร์แห่งฟากฟ้าของตน และพวกเขาเชื่อว่าสัญลักษณ์เหล่านั้นตรงกับตัวของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) อย่างสมบูรณ์ แต่เพื่อที่จะรักษาสถานภาพและตำแหน่งของตนในสังคมคริสเตียนเอาไว้ พวกเขาได้ทำการปกปิดสัจธรรม ดังที่คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
الَّذِينَ ءَاتَيْنَاهُمُ الْكِتَابَ يَعْرِفُونَهُ كَمَا يَعْرِفُونَ أَبْنَاءَهُمْ وَ إِنَّ فَرِيقًا مِّنْهُمْ لَيَكْتُمُونَ الْحَقَّ وَ هُمْ يَعْلَمُونَ
“บรรดาผู้ที่เราได้มอบคัมภีร์ให้แก่พวกเขา พวกเขารู้จักเขา (มุฮัมมัด) ประดุจเดียวกับที่พวกเขารู้จักลูกๆ ของพวกเขาเอง และแท้จริงกลุ่มหนึ่งจากพวกเขาจะปกปิดสัจธรรม ทั้งๆ ที่พวกเขาก็รู้” (12)
ดังนั้นเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์นั้น ไม่เพียงแต่มีหลักฐานที่ทรงประสิทธิภาพและเหนือกว่าทุกประการที่พิสูจน์ให้เห็นถึงความสัจจริงและความเป็นสัจธรรมของท่านศาสดา (ซ็อลฯ ) ที่มีเหนือศาสนาคริสต์แห่งเมืองนัจญ์รอนเพียงเท่านั้น ทว่ายังเป็นหลักฐานประการหนึ่งที่พิสูจน์ถึงความเป็นสัจธรรมของศาสนาอิสลามที่มีเหนือศาสนาคริสต์ทั้งหมดในตลอดทุกยุคสมัยจวบจนถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ (กิยามะฮ์)
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ นับจากช่วงเวลาของเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ที่เกิดขึ้นในปีฮิจญ์เราะฮ์ศักราชที่เก้า จวบจนถึงปัจจุบันนี้ ยังไม่มีผู้รู้ชาวคริสต์คนใดเลยที่จะประกาศความพร้อมของตนในการทำมุบาฮะละฮ์กับชาวมุสลิม.
2. หลักฐานพิสูจน์ให้เห็นว่าอิสลามนั้นสนับสนุนการใช้เหตุผลและการประนีประนอม
ประเด็นสำคัญที่สองในเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ คือการพิสูจน์ให้เห็นว่า ศาสนาอิสลามนั้นสนับสนุนตรรกะ (การใช้เหตุผล) การประนีประนอมและสันติภาพ เรื่องราวของการมุบาฮะละฮ์ชี้ให้เห็นว่า ศาสนาอิสลามในการเผชิญหน้ากับอำนาจต่างๆ ของฝ่ายตรงข้ามของตนนั้น ในขั้นแรกพยายามที่จะใช้การเจรจา การอภิปรายและการใช้เหตุผลและหลักฐานเพื่อเรียกร้องเชิญชวนพวกเขามาสู่สัจธรรมเสียก่อน และในขั้นที่สอง หากพวกเขาเชื่อมั่นในพระเจ้า ก็ให้เรียกร้องพวกเขาไปสู่การมุบาฮะละฮ์ และการตัดสินของพระเจ้า ผู้ทรงสูงส่ง และถ้าหากเขาปฏิเสธการมุบาฮะละฮ์ แต่ยอมรับเงื่อนไขต่างๆ ของอิสลาม ก็ให้ลงนามสัญญาทางการเมืองกับพวกเขา
ฉะนั้นการที่อิสลามจะใช้กำลังในสนามรบนั้นจะเป็นเพียงขั้นสุดท้ายเพื่อทำลายปราการต่างๆ ที่ปิดกั้นการรับรู้และเสรีภาพทางความคิ
3. หลักฐานพิสูจน์ความเป็นสัจธรรมของแนวทางชีอะฮ์และความเหนือกว่าของอะฮ์ลุลบัยติ์ของท่านศาสดา
ในเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เพื่อที่จะอธิบายว่า «أبنائنا» (ลูกๆ ของเรา) และ «نسائنا» (บรรดาสตรีของเรา) และ «أنفسنا» (ตัวตนของเรา) ในโองการมุบาฮะละฮ์ว่าเป็นใครนั้น ท่านได้นำฮะซัน (อ.) ฮุเซน (อ.) ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และท่านอิมามอะลี (อ.) ออกไปพร้อมกับตนเพื่อการมุบาฮะละฮ์ และเรียกบุคคลเหล่านี้ในนามอะฮ์ลุลบัยติ์ของตน การกระทำดังกล่าวนี้ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) เป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความเหนือกว่าของบุคคลเหล่านั้นที่มีต่อประชาชาติมุสลิมคนอื่นๆ โดยที่อะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เองในฮะดีษต่างๆ จำนวนมาก เพื่อที่จะแสดงให้เห็นถึงสถานภาพอันสูงส่งของตนเองได้อ้างโองการมุบาฮะละฮ์เป็นหลักฐาน
การมุบาฮะละฮ์ แสดงและพิสูจน์ให้เห็นว่าความมั่นคงและรากฐานของศาสนาอิสลามจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยกับสื่อแห่งอะลลุลบัยติ์ (อ.) ของท่านศาสดาและผู้ที่อยู่ภายใต้ผ้าคลุม (อัศฮาบุลกิซาอ์) และหากมิเช่นนั้นแล้วลำพังตัวของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เองก็สามารถทำการมุบาฮะละฮ์ได้และไม่จำเป็นที่จะต้องนำพาอะฮ์ลุลบัยติ์ของตนออกไปพร้อมกับตน
การอ้างหลักฐานโองการมุบาฮะละฮ์โดยท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.)
ในการโต้เถียงกับฮารูน อัรรอชีด ค่อลีฟะฮ์แห่งราชวงศ์อับบาซิยะฮ์นั้น ท่านอิมามมูซากาซิม (อ.) ได้อ้างอิงโองการมุบาฮะละฮ์เป็นหลักฐานเพื่อพิสูจน์ถึงความสัจจริงและความเป็นสัจธรรมของอะฮ์ลุลบัยติ์ (อ.) เรื่องราวมีดังนี้คือ :
ฮารูน อัรรอชีด ค่อลีฟะฮ์แห่งอับบาซิยะฮ์ได้ถามท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ว่า : “ท่านพูดได้อย่างไรว่า “พวกเราคือลูกหลาน (ซุรรียะฮ์) ของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)” ในขณะที่ท่านศาสดาไม่ได้ละทิ้งเชื้อสายคนใดจากตนเองไว้เลย? เนื่องจากเชื้อสายของคนเรานั้นจะมาจากบุตรชาย ไม่ใช่บุตรี และท่านเองก็เป็นลูกของลูกสาว (ท่านศาสดา) และลูกสาวนั้นไม่อาจสืบสายตระกูลได้”
ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้ตอบว่า : “... ฉันขอความคุ้มครองต่ออัลลอฮ์ให้พ้นจากชัยฏอน (มารร้าย) ที่ถูกสาปแช่ง ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ผู้เมตตายิ่ง ผู้ทรงปรานีเสมอ .... คัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวว่า :
وَمِن ذُرِّيَّتِهِ دَاوُودَ وَسُلَيْمَانَ وَأَيُّوبَ وَيُوسُفَ وَمُوسَى وَ هَارُونَ وَكَذَلِكَ نَجْزِى الْمُحْسِنِينَ وَزَكَرِيَّا وَيَحْيَى وَعِيسَى وَإِلْيَاسَ
“และจากลูกหลานของเขา (อิบรอฮีม) คือ ดาวูด สุไลมาน อัยยูบ ยูซุฟ มูซาและฮารูน และเช่นนั้นแหละที่เราได้ตอบแทนผู้ประพฤติดีทั้งมวล และซะกะรียา ยะห์ยา อีซาและอิลยาส” (13)
จากนั้นท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้ถามฮารูน อัรรอชีด ค่อลีฟะฮ์อับบาซียะฮ์ว่า : “บิดาของอีซา (อ.) คือใคร?” ฮารูนตอบว่า : “อีซาไม่มีบิดา” จากนั้นท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) ได้กล่าวว่า : “ดังนั้นทำนองเดียวกับที่อัลกุรอานได้สัมพันธ์ท่านศาสดาอีซา (อ.) ไปยังศาสดาอิบรอฮีม (อ.) โดยผ่านมารดา (พระนางมัรยัม) ทั้งๆ ที่ไม่มีบิดา ด้วยเหตุนี้เองเราก็ถูกสัมพันธ์ยังท่านศาสดา (ซ็อลฯ) โดยผ่านมารดาของเราคือท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) และทำนองเดียวกับที่อีซา (อ.) ถูกนับว่าเป็นลูกหลานของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) พวกเราก็ถูกนับว่าเป็นลูกหลานของศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ด้วยเช่นกัน”
จากนั้นท่านอิมาม (อ.) ได้กล่าวว่า : “จะให้ฉันยกหลักฐานอื่นอีกไหม?” ฮารูนกล่าวว่า : “จงกล่าวมาเถิด” ท่านอิมามมูซา กาซิม (อ.) กล่าวว่า : “นี่เป็นพระดำรัสของอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกร” จากนั้นท่านได้อ่านโองการมุบาฮะละฮ์ว่า :
فَمَنْ حَآجَّكَ فِيهِ مِن بَعْدِ مَا جَاءكَ مِنَ الْعِلْمِ فَقُلْ تَعَالَوْاْ نَدْعُ أَبْنَاءنَا وَأَبْنَاءكُمْ وَنِسَاءنَا وَنِسَاءكُمْ وَأَنفُسَنَا وأَنفُسَكُمْ ثُمَّ نَبْتَهِلْ فَنَجْعَل لَّعْنَةَ اللّهِ عَلَى الْكَاذِبِينَ
“ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) ภายหลังจากที่ความรู้ได้มายังเจ้าแล้ว เจ้าก็จงกล่าว (กับพวกเขา) เถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจะเรียกลูกๆ ของเราและลูกๆ ของพวกท่าน และเรียกบรรดาสตรีของเราและบรรดาสตรีของพวกท่าน และตัวของเราและตัวของพวกท่านมา แล้วเราก็จะวิงวอน โดยขอให้การสาปแช่งของอัลลอฮ์จงประสบแก่บรรดาผู้มดเท็จ” (14)
และจุดประสงค์ของ "ลูกๆ ของเรา" ในโองการนี้ คือฮะซันและฮุเซน และจุดประสงค์ของ "บรรดาสตรีของเรา" คือฟาฏิมะฮ์ และจุดประสงค์ของ "ตัวตนของเรา" คืออะลี บินอบีฏอลิบ (อ.) ดังนั้นตรงข้ามกับจารีตประเพณีของญาฮิลียะฮ์ (ยุคอนารยะ) ที่จะถือว่าลูกผู้ชายเท่านั้นคือผู้สืบเชื้อสายของตน อิสลามได้ยกเลิกวัฒนธรรมที่ไม่ถูกต้องนี้ไปแล้ว และลูกของลูกสาวก็เป็นเชื้อสายของคนเราเช่นเดียวกับลูกของลูกชาย
ดังนั้น «أَبنائنا» (ลูกๆ ของเรา) คืออิมามฮะซันและอิมามฮุเซน (อ.) ก็ถือเป็นลูกหลานของท่านศาสดา (ซ็อลฯ)
4. หลักฐานพิสูจน์ความเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) และความเป็นผู้ปกครอง (วิลายะฮ์) ของอิมามอะลีสืบทอดต่อจากท่านศาสดา
อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับจากโองการมุบาฮะละฮ์ คือการพิสูจน์อำนาจการปกครอง (วิลายะฮ์) และความเป็นผู้นำ (อิมามะฮ์) ของท่านอิมามอะลี (อ.) ตัวอย่างเช่น วันหนึ่งมะอ์มูน คอลีฟะฮ์แห่งราชวงศ์อับบาซียะฮ์ได้ถามท่านอิมามริฎอ (อ.) ว่า : “ความประเสริฐที่ใหญ่ที่สุดของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน อะลี (อ.) ในคัมภีร์อัลกุรอาน คืออะไร?”
อิมามริฎอ (อ.) ได้ตอบว่า : ความประเสริฐที่โองการมุบาฮะละฮ์ได้ชี้ถึง โดยที่อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า :
فَمَنْ حَآجَّكَ فِيهِ مِن بَعْدِ مَا جَاءكَ مِنَ الْعِلْمِ فَقُلْ تَعَالَوْاْ نَدْعُ أَبْنَاءنَا وَأَبْنَاءكُمْ وَنِسَاءنَا وَنِسَاءكُمْ وَأَنفُسَنَا وأَنفُسَكُمْ ثُمَّ نَبْتَهِلْ فَنَجْعَل لَّعْنَةَ اللّهِ عَلَى الْكَاذِبِينَ
“ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) ภายหลังจากที่ความรู้ได้มายังเจ้าแล้ว เจ้าก็จงกล่าว (กับพวกเขา) เถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราจะเรียกลูกๆ ของเราและลูกๆ ของพวกท่าน และเรียกบรรดาสตรีของเราและบรรดาสตรีของพวกท่าน และตัวของเราและตัวของพวกท่านมา แล้วเราก็จะวิงวอน โดยขอให้การสาปแช่งของอัลลอฮ์จงประสบแก่บรรดาผู้มดเท็จ” (15)
สืบเนื่องจากการประทานโองการนี้ ท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ได้เรียกท่านฮะซัน ท่านฮุเซน ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์และท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน (อะลัยฮิมุสสะลาม) และได้กำหนดบุคคลเหล่านี้ให้อยู่ในสถานะของลูกๆ และสตรีและตัวตนของท่านตามพระบัญชาของพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงสูงส่ง
เป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีบ่าวของอัลลอฮ์ (ซ.บ.) คนใดที่จะประเสริฐกว่าและมีเกียรติกว่าท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) และด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เองผู้ที่อยู่ในฐานะตัวตน (นัฟซ์) ของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) โดยพระบัญชาของอัลลอฮ์นั้นก็ย่อมไม่มีผู้ใดที่จะประเสริฐเหนือกว่าเขาด้วยเช่นกัน” (16)
ดังนั้นโองการมุบาฮะละฮ์ เคียงคู่กับการดำเนินการในทางปฏิบัติของท่านศาสนทูตของอัลลอฮ์ (ซ็อลฯ) ในการแนะนำท่านอิมามอะลี (อ.) ในฐานะตัวตน (นัฟซ์) ของท่านนั้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ภายหลังจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ไม่มีซอฮาบะฮ์ (สาวก) คนใดที่จะมีความคู่ควรเหมาะสมต่อตำแหน่งผู้ปกครอง (คิลาฟะฮ์) สืบต่อจากท่านเหมือนดั่งท่านอิมามอะลี (อ.) ด้วยเหตุนี้เองในคำตอบที่มีต่อมะอ์มูนที่ถามว่า : “อะไรคือหลักฐานบ่งชี้ถึงความเป็นผู้ปกครอง (ค่อลีฟะฮ์) ของปู่ของท่าน (อะลี บินอบีฏอลิบ)?” ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้อธิบายถึงคำว่า «أَنْفُسَنَا» (ตัวตนของเรา) ในโองการมุบาฮะละฮ์ และท่านได้กล่าวว่า : “คำว่า «أَنْفُسَنَا» (ตัวตนของเรา) คือโองการที่สำคัญที่สุดที่ลงมาในเรื่องของท่านอมีรุ้ลมุอ์มินีน อะลี (อ.)”
เชิงอรรถ
(10)- อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 61
(11)- ตัฟซีร มัจญ์มะอุลบะยาน , อัลลามะฮ์ฏ็อบริซี , เล่มที่ 2 , หน้าที่ 310
(12)- อัลกุรอานบทอัลบากอเราะฮ์ โองการที่ 146
(13)- อัลกุรอานบทอัลอันอาม โองการที่ 84 – 85
(14)- อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 61
(15)- อัลกุรอานบทอาลิอิมรอน โองการที่ 61
(16)- บิฮารุลอันวาร , เล่มที่ 49, หน้าที่ 189
บทความ : เชคมุฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ