เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 151 -152 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

คำอธิบายโองการที่ 151 -152 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

كَمَا أَرْسلْنَا فِيكمْ رَسولاً مِّنكمْ يَتْلُوا عَلَيْكُمْ ءَايَتِنَا وَ يُزَكِّيكمْ وَ يُعَلِّمُكمُ الْكِتَب وَ الحِْكمَةَ وَ يُعَلِّمُكُم مَّا لَمْ تَكُونُوا تَعْلَمُونَ (151) فَاذْكُرُونى أَذْكُرْكُمْ وَ اشكرُوا لى وَ لا تَكْفُرُونِ (152)

ความหมาย

151. ดังที่เราได้ส่งศาสดาคนหนึ่งจากในหมู่สูเจ้า เพื่อสูเจ้า เขาจะสาธยายโองการต่าง ๆ ของเราแก่สูเจ้า ทำให้สูเจ้าสะอาดบริสุทธิ์ สอนคัมภีร์ และวิทยปัญญาแก่พวกเจ้า และสอนสูเจ้าในสิ่งที่สูเจ้าไม่รู้

152. ดังนั้น จงรำลึกถึงฉัน แล้วฉันจะรำลึกถึงสูเจ้า จงขอบคุณฉัน และจงอย่าเนรคุณฉัน

คำอธิบาย โครงการของท่านศาสดา

พระเจ้าตรัสในประโยคสุดท้ายของโองการก่อนหน้านี้ ถึงเหตุผลของการเปลี่ยนกิบละฮฺว่า เป็นการทำให้ความโปรดปรานของพระองค์สมบูรณ์ และเป็นการชี้นำทางพวกเขา ส่วนโองการนี้พระองค์ทรงเริ่มต้นด้วยคำว่า กะมา เป็นการบ่งชี้ถึงความจริงประการหนึ่งว่า การเปลี่ยนกิบละฮฺ มิได้เป็นความโปรดปรานประการเดียวที่พระองค์ทรงประทานให้กับพวกเจ้า ยังมีความโปรดปรานอีกมากมายที่จะประทานให้แก่มวลมนุษย์ เช่น การที่พระองค์ทรงเลือกศาสดาจากในหมู่พวกท่าน เพื่อให้มาสั่งสอนพวกท่านนับเป็นความโปรดปรานและความเมตตาอันยิ่งใหญ่สำหรับพวกเจ้า ตรัสว่า เราได้ส่งศาสดาคนหนึ่งจากในหมู่สูเจ้า เพื่อสูเจ้า

คำว่า มินกุม บ่งบอกว่า ศาสดาเป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเจ้า มีเนื้อหนังมังสา และมีความรู้สึก ซึ่งเฉพาะมนุษย์เท่านั้น สามารถสอนและเป็นผู้ชี้นำมนุษย์ด้วยกันได้ เนื่องจากสามารถรับรู้ความสึกของกันและกันได้ดีกว่าสรรพสิ่งอื่น หยั่งรู้ถึงความต้องการ และปัญหาของมนุษย์ การประทานศาสดาเป็นมนุษย์ นับเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่สำหรับพวกเขา หรืออีกนัยหนึ่งอาจหมายถึง ฉันเลือกศาสดามาจากเผ่าพันธุ์ของพวกเจ้า เพราะพวกอาหรับที่โฉดเขลามีความอคติในเผ่าพันธุ์สูงมาก แน่นอน ถ้าศาสดามาจากเผ่าอื่นพวกเขาจะไม่ยอมรับการเผยแผ่ของท่าน

หลังจากกล่าวถึงความโปรดปรานของการเปลี่ยนกิบละฮฺแล้ว พระองค์ตรัสถึงความโปรดปรานอีก 4 ประการ อันเป็นสิริมงคลที่มาจากท่านศาสดาแก่มวลมุสลิมทั้งหลายว่า

1. ศาสดาจะสาธยายโองการต่าง ๆ ของเราแก่สูเจ้า หมายถึงท่านศาสดาจะสาธยายดำรัสของพระเจ้าด้วยภาษาที่ง่าย สะดวกต่อความเข้าใจ โดยกล่าวซ้ำและต่อเนื่องแก่พวกเจ้าจนกว่าจะเข้าใจ และยอมรับความจริงนั้น

2. ศาสดาให้การอบรมพวกท่าน หมายถึงศาสดาได้ใช้โองการต่าง ๆ ของฉันเสริมสร้างและพัฒนาความสมบูรณ์ด้านจิตวิญญาณ และทางโลกแก่พวกเจ้า

3. ศาสดาสอนคัมภีร์และวิทยปัญญาแก่พวกท่าน

4. ศาสดาสอนสิ่งที่พวกเจ้าไม่เคยรู้มาก่อน แม้ว่าประเด็นนี้จะกล่าวแล้วในประโยคก่อนหน้านี้ แต่พระองค์ได้จำแนกวัตถุประสงค์ออกอย่างชัดเจน เพื่อบอกกับพวกเขาว่า ถ้าไม่มีศาสดามาสั่งสอน วิชาการอีกมากมายจะไม่ถูกเปิดเผยสำหรับมวลมนุษย์ ศาสดามิได้เป็นผู้นำสังคม หรือจริยธรรมอย่างเดียว ทว่าท่านยังเป็นผู้นำด้านวิชาการอีกต่างหาก แน่นอนหากไม่มีศาสดา มนุษย์จะไม่มีวิชาการใด ๆ ทั้งสิ้น

โองการถัดมากล่าวว่า จงรำลึกถึงฉัน แล้วฉันจะรำลึกถึงสูเจ้า มิได้บ่งบอกถึงความผูกพัน และความรักระหว่างพระเจ้ากับปวงบ่างของพระองค์ ประหนึ่งความรักที่มีอยู่ในหมู่มนุษย์ทั่ว ๆ ไป หรือที่มนุษย์คนหนึ่งกล่าวกับอีกคนหนึ่งว่า ผมรักคุณ แต่อัล-กุรอาน กล่าวกับเราว่า จงรำลึกถึงฉัน แล้วฉันจะรำลึกถึงเจ้า เป็นการชี้ให้เห็นถึงพื้นฐานของการอบรมสั่งสอนที่เป็นตักวีนียฺ กล่าวคือ จงรำลึกถึงฉัน หมายถึง การรำลึกถึงอาตมันบริสุทธิ์ อันเป็นแหล่งกำเนิดของคุณงามความดีทั้งหลาย และด้วยสื่อนั้นมนุษย์ได้ขัดเกลาจิตวิญญาณของตนให้สะอาดบริสุทธิ์ และเตรียมพร้อมเพื่อความเมตตาจากพระผู้อภิบาล การรำลึกถึงอาตมันบริสุทธิ์ของพระเจ้าจะทำให้เรามีความบริสุทธิ์ใจต่อภารกิจการงานมากยิ่งขึ้น มีการระวังมากขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น มีพลังมากขึ้น และมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น

ดังที่กล่าวไปแล้วว่า การขอบคุณต่อความโปรดปราน หรือการเนรคุณ มิได้เป็นเพียงคำพูดที่เอ่ยออกจากปากเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึง การนำความโปรดปรานไปใช้อย่างถูกวิธี ถูกต้อง และเหมาะสมตรงกับเป้าหมายที่ได้สร้างขึ้นมา เพื่อเป็นเชื้อสำหรับการเพิ่มพูนความโปรดปรานต่อไป

ประเด็นสำคัญ

1.คำอธิบายต่าง ๆ เกี่ยวกับประโยค จงรำลึกถึงฉัน แล้วฉันจะรำลึกถึงสูเจ้า

จุดประสงค์ของ การรำลึกถึงปวงบ่าวหมายถึงอะไร และการรำลึกถึงพระเจ้าเป็นอย่างไร ฟัครุรรอซีย์ กล่าวไว้ในหนังสืออธิบายอัล-กุรอานของตน (ตัฟซีรกะบีร) เกี่ยวกับความหมายของ จงรำลึกถึงฉัน แล้วฉันจะรำลึกถึงสูเจ้า ดังนี้

1. จงรำลึกถึงฉัน ด้วยการแสดงการเคารพภักดี เพื่อฉันจะได้รำลึกถึงเจ้าด้วยความเมตตา อัล-กุรอานกล่าวว่า สูเจ้าจงเชื่อฟังอัลลอฮฮ และเราะซูลของพระองค์ เพื่อว่าสูเจ้าจะได้รับความเมตตา (อาลิอิมรอน 132)

2. จงรำลึกถึงฉัน ด้วยดุอาอฺ เพื่อฉันจะได้รำลึกถึงเจ้าด้วยการตอบรับ จงวิงวอนต่อฉัน และฉันจะตอบรับคำวิงวอนของเจ้า (มุอฺมิน 60)

3. จงรำลึกถึงฉัน ด้วยการสรรเสริญและการภักดี เพื่อว่าฉันจะได้รำลึกถึงเจ้าด้วยการสรรเสริญและความโปรดปราน

4. จงรำลึกถึงฉัน ด้วยโลกนี้ เพื่อฉันจะได้รำลึกถึงเจ้าด้วยโลกหน้า

5. จงรำลึกถึงฉัน เมื่อยามอยู่ลำพัง เพื่อฉันจะได้รำลึกถึงเจ้าในทางสังคม

6. จงรำลึกถึงฉันเมื่อสูเจ้าอยู่สุขสบาย เพื่อฉันจะได้รำลึกถึงเจ้าในยามลำบาก

7. จงรำลึกถึงฉันด้วยการแสดงความเคารพภักดี เพื่อว่าฉันจะได้รำลึกถึงเจ้าด้วยการช่วยเหลือ

8. จงรำลึกถึงฉันด้วยการต่อสู้ เพื่อว่าฉันจะได้รำลึกถึงเจ้าด้วยการชี้นำ และบรรดาผู้ต่อสู้ดิ้นรนในทางของเรา แน่นอนเราจะชี้นำทางพวกเขาด้วยทางของเรา (อังกะบูต 69)

9. จงรำลึกถึงฉันด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพื่อฉันจะได้รำลึกเจ้าด้วยใจจริง

10. จงรำลึกถึงฉันในฐานะผู้ให้การเลี้ยงดู เพื่อฉันจะได้รำลึกถึงเจ้าด้วยความกรุณา

11. จงรำลึกถึงฉันด้วยการขอบคุณ เพื่อฉันจะได้รำลึกถึงเจ้าด้วยการประทานความโปรดปรานที่มากมาย หากสูเจ้าขอบคุณ ฉันก็จะเพิ่มพูนให้แก่สูเจ้า (อิบรอฮีม 7)

2. การรำลึกถึงพระเจ้าหมายถึงอะไร

แน่นอนว่าการรำลึกถึงพระเจ้ามิใช่การกล่าวออกมาเพียงอย่างเดียว ทว่าหัวใจ จิตวิญญาณและอวัยวะทุกส่วน ต้องมุ่งอยู่กับอาตมันบริสุทธิ์ของพระองค์ ประหนึ่งมนุษย์ได้หลีกห่างออกจากบาปทั้งหลาย และมุ่งไปสู่การเคารพภักดีต่อพระองค์ รายงานจำนวนมากมายจากอิมามผู้บริสุทธิ์ (อ.) กล่าวว่า จุดประสงค์ของการรำลึกถึงพระเจ้า หมายถึง การกระทำ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สั่งเสียแก่ท่านอะลี (อ.) ว่า มีภารกิจอยู่ 3 ประการที่ประชาชาตินี้ไม่อาจทำให้สมบูรณ์ได้ กล่าวคือ การช่วยเหลือเรื่องทรัพย์สินระหว่างพี่น้องทางสายเลือด และพี่น้องร่วมสายธาร การคืนสิทธิแก่ประชาชนด้วยการตัดสินที่ยุติธรรมกับตนเองและบุคคลอื่น และการรำลึกถึงพระเจ้าในทุกภาวการณ์ ซึ่งจุดประสงค์ของการรำลึกไม่ใช่การกล่าวว่า ซุบอานัลลอฮฺ วัลฮัมดุลิลลาฮฺ วะลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ วัลลอฮุอักบัร ทว่าจุดประสงค์หมายถึง เมื่อมีสิ่งฮะรอมอยู่ตรงหน้า เขาได้ละทิ้งมัน เนื่องจากความสำรวมตนที่มีต่อพระเจ้า

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม