เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 156-157 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

คำอธิบายโองการที่ 156-157 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

وَ لَنَبْلُوَنَّكُم بِشىْء مِّنَ الخَْوْفِ وَ الْجُوع وَ نَقْص مِّنَ الأَمْوَلِ وَ الأَنفُسِ وَ الثَّمَرَتِ وَ بَشرِ الصبرِينَ (155) الَّذِينَ إِذَا أَصبَتْهُم مُّصِيبَةٌ قَالُوا إِنَّا للَّهِ وَ إِنَّا إِلَيْهِ رَجِعُون َ(156) أُولَئك عَلَيهِمْ صلَوَتٌ مِّن رَّبِّهِمْ وَ رَحْمَةٌ وَ أُولَئك هُمُ الْمُهْتَدُونَ (157)

 

ความหมาย

155. แน่นอน เราจะทดลองสูเจ้าด้วยสิ่งหนึ่งจากความกลัว และความหิว และความสูญเสียทรัพย์สมบัติและชีวิต และพืชผล และเจ้าจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทนเถิด

156. บรรดาผู้ที่เมื่อทุกข์ภัยประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงเราเป็นของอัลลอฮฺ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์

157. เหล่านี้แหละ พวกเขาจะได้รับประสาทพร และความเมตตาจากพระผู้อภิบาลของพวกเขา และเหล่านี้แหละคือผู้ที่ได้รับทางนำ

คำอธิบาย โลกคือสถานที่ทดสอบของพระเจ้า

หลังจากที่กล่าวถึงเรื่องการพลีชีวิตในหนทางของพระเจ้า ชีวิตอัมตะของ บรรดาพลีชีพ ความอดทน และการขอบคุณ ซึ่งแต่ละประเภทล้วนเป็นการทดสอบอย่างหนึ่งจากพระเจ้า โองการที่กำลังกล่าวถึงกล่าวถึงการทดสอบโดยทั่วไป และรูปแบบต่าง ๆ ของการทดสอบ พวกเขาคือกลุ่มชน ที่ประสบความสำเร็จจากการทดสอบที่ยากลำบากในครั้งนี้ ดังนั้น การแจ้งข่าวดีและชัยชนะจึงเป็นของพวกเขา ส่วนผู้ที่อ่อนแอเป็นพวกที่ไม่มีความอดทน และไม่สามารถผ่านการทดสอบในครั้งนี้

โองการที่ 156 กล่าวแนะนำบรรดาที่มีความอดทนว่า บรรดาผู้ที่เมื่อทุกข์ภัยประสบแก่พวกเขา พวกเขาก็กล่าวว่า แท้จริงเราเป็นของอัลลอฮฺ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์

ซึ่งในความเป็นจริงทุกคนมาจากพระเจ้า แม้ว่าในบางครั้งความโปรดปรานอาจมาไม่ถึง แต่ไม่มีวันที่เราจะเสียใจ เนื่องจากความโปรดปรานทั้งหมด หรือแม้แต่ตัวตนของมนุษย์ก็เป็นของพระองค์ วันหนึ่งพระองค์อาจประทานให้ ส่วนอีกวันพระองค์อาจงดไม่ประทานให้ ทั้งสองการกระทำล้วนเป็นความเหมาะสมกับเราทั้งสิ้น และความจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้นั่นคือ ทั้งหมดต้องกลับไปหาพระองค์ โลกมนุษย์มิได้มีความเป็นนิรันดร ไม่มีสิ่งใดบนโลกไม่ว่าจะเป็นความโปรดปรานอันมากมาย หรือน้อยนิด ตลอดจนความสุขสบายหรือความยากลำบากทั้งหมดล้วนจากไปอย่างรวดเร็ว และทั้งหมดเป็นเพียงสื่อเพื่อนำมนุษย์ไปพบกับความสมบูรณ์ ฉะนั้น ถ้ามนุษย์ตระหนักถึงรากฐานสำคัญสองประการ จะก่อให้เกิดผลอย่างลึกซึ้งในการสร้างจิตวิญญาณแห่งการยืนหยัด และความอดทน แน่นอนเป็นที่ประจักษ์ว่าจุดประสงค์ของการกล่าวว่า แท้จริงมนุษย์เป็นของอัลลอฮฺ และแท้จริงมนุษย์ต้องกลับคืนสู่พระองค์ มิใช่เป็นการกล่าวแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการพิจารณาถึงแก่นแท้ของจิตวิญญาณ ในมิติของโลกแห่งความเป็นเอกภาพของพระเจ้า และความศรัทธาที่แท้จริงที่แฝงเร้นอยู่ในนั้น

โองการถัดมากล่าวถึงความเมตตาอันยิ่งใหญ่ ที่พระองค์ตระเตรียมไว้เพื่อบรรดาผู้อดทน และบรรดาผู้ที่ผ่านการทดสอบอันรุนแรง ความเมตตาทั้งหลายจะให้พลังแก่พวกเขา ในการต่อสู้บนแนวทางที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว ภยันตรายต่าง ๆ มากมาย เพื่อมิให้ผิดพลาดและหลงทางออกไป ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงให้ความกระจ่างต่อการทดสอบในครั้งนี้ ตรัสถึงเป้าหมายสุดท้ายของการทดสอบ และรูปแบบต่าง ๆ ปัจจัยที่นำไปสู่ชัยชนะ และผลสรุปของการทดสอบ

ประเด็นสำคัญ

1. เพราะเหตุใด พระเจ้าต้องทดสอบมนุษย์

การทดสอบของพระเจ้า มักมีการวิพากกันในรู้แบบต่าง ๆ มากมาย อันดับแรกสิ่งที่เกิดขึ้นในความคิดคือ การทดสอบมิใช่เป็นการทำให้มนุษย์รู้จักสิ่ง ที่เขายังไม่รู้จักดอกหรือ และเพื่อให้มนุษย์ลดอัตราความโง่ของตนลงมา ถ้าสมมุติว่าเป็นเช่นนี้ อัลลอฮฺ ทรงล่วงรู้ถึงการกระทำของมนุษย์ และมีอำนาจครอบคลุมเหนือทุกสรรพสิ่ง ทรงรอบรู้ความเร้นลับของสิ่งที่อยู่ภายนอกและสิ่งที่อยู่ภายในของทุกคน พระองค์ทรงรู้ความเร้นลับแห่งฟากฟ้าและแผ่นดิน ด้วยความรู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด แล้วทำไมพระองค์ต้องทดสอบมนุษย์ด้วย หรือว่ามีบางสิ่งบางอย่างปิดบังพระองค์

สิ่งที่ต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกคือ การทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทดสอบของพระเจ้า กับการทดสอบของเราแตกต่างกันมาก การทดสอบของเราเพื่อการรู้จักมากขึ้น และเพื่อขจัดความโง่เขลา ส่วนการทดสอบของพระเจ้าคือการสอนและการอบรมให้เติบโตแข็งแรง ประหนึ่งการถลุงเหล็ก ถ้าต้องการได้เหล็กกล้า ก็ต้องหลอมให้นาน มนุษย์ก็เช่นเดียวกัน การที่พระองค์อบรมพวกเขา ด้วยความยากลำบากเพื่อให้มีความแข็งแกร่งและแข็งแรงยิ่งขึ้น กองทัพก่อนออกสงครามจริงต้องมีการฝึกฝน มีการซ้อมรบเพื่อให้เผชิญปัญหาต่าง ๆ ทั้งความหิว ความกระหาย ความร้อน และหนาวเย็น เผชิญกับเหตุการณ์ที่ยากลำบาก เพื่อให้มีความแข็งแกร่งและออกสู่สนามรบด้วยความมั่นใจ

อิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงปรัชญาการทดสอบของพระเจ้าว่า แม้ว่าพระเจ้าทรงรอบรู้จิตวิญญาณของมนุษย์ดีกว่าตัวเขา แต่พระองค์ทรงทดสอบพวกเขา เพื่อให้การงานที่ดีและไม่ดี ซึ่งเป็นเกณฑ์ของรางวัลและการลงโทษปรากฏชัดเจนออกมา ซึ่งเป็นมาตรฐานของรางวัลและการลงโทษปรากฏชัดเจนออกมา[42]

หมายถึงคุณสมบัติของมนุษย์ภายในของมนุษย์เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำมาเป็นเกณฑ์ของการรางวัลและการลงโทษได้ เว้นเสียแต่ว่าสิ่งนั้นจะปรากฏออกมาทางการกระทำ พระเจ้าทรงทดสอบมนุษย์เพื่อให้สิ่งที่อยู่ในใจปรากฏออกมาทางการกระทำจากความสามารถ กลายเป็นพลัง และถ่ายทอดเป็นการกระทำในที่สุด ถึงเวลานั้นจึงรู้ว่าใครคือผู้มีสิทธิ์ในรางวัลและการลงโทษ

ถ้าไม่มีการทดสอบจากพระเจ้าความสามารถเหล่านี้จะไม่เปล่งบานออกมา และต้นไม้แห่งมนุษย์ก็จะไม่ผลิดอกออกผลให้เห็น แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นไม้พันธ์ดีหรือไม่ และสิ่งนี้เป็นปรัชญาการทดสอบของพระเจ้าในตรรกอิสลาม

2. พระเจ้าทรงทดสอบมนุษย์ทุกคน

ระบบชีวิตในโลกทัศน์แห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นระบบแห่งความสมบูรณ์ และการบ่มเลี้ยงให้เติบโต สรรพสิ่งมีชีวิตทั้งหลายล้วนก้าวเดินไปสู่ความสมบูรณ์ มนุษย์ทุกคนนับตั้งแต่บรรดาศาสดาเรื่อยมา ล้วนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน และทุกคนต้องถูกทดสอบเพื่อให้ความสามารถในตัวเปล่งบานออกมา

แม้ว่าการทดสอบของพระเจ้าจะแตกต่างออกไป บางครั้งพระองค์ทดสอบด้วยความโปรดปรานอันมากมาย บางครั้งทรงทดสอบด้วยเหตุการณ์ที่รุนแรง ซึ่งบางครั้งก็ง่ายดาย และบางครั้งก็ยากลำบาก แน่นอนว่าผลของการทดสอบย่อมแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตามทุกคนต้องผ่านการทดสอบ

3. รหัสแห่งชัยชนะในการทดสอบ

ดังกล่าวไปแล้วว่ามนุษย์ทุกคนต้องร่วมการทดสอบครั้งใหญ่ของพระเจ้า แนวทางแห่งชัยชนะในการทดสอบคืออะไร สามารถกล่าวได้ดังนี้ว่า

ประการแรก ก้าวที่สำคัญที่สุดสำหรับชัยชนะครั้งนี้ดังที่กล่าวไว้ในประโยชน์สั้น ๆ ว่า และจงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้อดทน ฉะนั้น จะเห็นว่าโองการกล่าวว่า ความดอดทน คือรหัสของชัยชนะบนหนทางดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ โองการจึงแจ้งข่าวดีแก่บรรดาผู้ที่อดทนเท่านั้น มิใช่กลุ่มชนอื่น

ประการที่สอง การพิจารณาเหตุการณ์บนโลก ความยากลำบาก และอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งโลกนี้มิใช่สิ่งอื่นใดนอกจากทางผ่านของทุกสิ่ง ซึ่งสิ่งสำคัญที่ถือว่าเป็นปัจจัยของชัยชนะคือ การใคร่ครวญในประโยคที่เป็นสัจธรรมยิ่ง ที่กล่าวว่า แท้จริงเราเป็นของอัลลอฮฺ และแท้จริงพวกเราจะกลับไปยังพระองค์

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม