เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 158 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

 

คำอธิบายโองการที่ 158 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

 

إِنَّ الصَّفَا وَالْمَرْوَةَ مِن شَعَآئِرِ اللّهِ فَمَنْ حَجَّ الْبَيْتَ أَوِ اعْتَمَرَ فَلاَ جُنَاحَ عَلَيْهِ أَن يَطَّوَّفَ بِهِمَا وَمَن تَطَوَّعَ خَيْرًا فَإِنَّ اللّهَ شَاكِرٌ عَلِيم ٌ (158)

 

ความหมาย

158. แท้จริงเซาะฟา และมัรวะฮฺ เป็นเครื่องหมายของอัลลอฮฺ ด้วยเหตุนี้ ผู้ใดประกอบพิธีหัจญ์ หรืออุมเราะฮฺ ณ บัยตุลลอฮฺ ไม่มีอุปสรรคอันใดแก่เขาที่จะเดินวกวนไปมา ณ ภูเขาทั้งสอง และผู้ใดกระทำการดีโดยสมัครใจ แน่นอน อัลลอฮฺ คือผู้ทรงขอบคุณ ผู้ทรงรอบรู้

สาเหตุของการประทานโองการ

รายงานจำนวนมากมายจากชีอะฮฺและซุนนียฺกล่าวว่า ในยุคทมิฬบรรดาผู้ตั้งภาคีเทียบเทียมพระเจ้า นำรูปปั้นนามว่า อะซาฟไปตั้งบนเนินเขาเซาะฟา และนำรูปปั้นนามว่า นาอิละฮฺ ไปตั้งบนเนินเขามัรวะฮฺ ขณะที่พวกเขาเดินวกวนระหว่างเขาทั้งสอง จะขึ้นไปบนเนินเขาแตะรูปปั้นทั้งสอง เพื่อขอความสิริมงคล บรรดามุสลิมคิดว่าการเดินวกวนระหว่างเขาทั้งสองเป็นสิ่งที่น่าเกลียด ในสภาพเช่นนั้นการเดินวกวนเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง โองการข้างต้นจึงได้ประทานลงมา เพื่อประการกับพวกเขาว่า เซาะฟาและมัรวะฮฺ เป็นเครื่องหมายของพระเจ้า ถ้าหากพวกคนโง่เขลาทำให้ทั้งสองต้องเปรอะเปื้อนมลทิน มิได้หมายความว่าบรรดามุสลิม ต้องละทิ้งความประเสริฐของการเดินวกวนระหว่างเขาทั้งสอง

คำอธิบาย อย่าให้การกระทำของพวกคนโฉดเป็นอุปสรรคต่อภารกิจที่ดีงาม

ดังที่สาเหตุของการประทานโองการกล่าวถึง อันดับแรกโองการแจ้งกับบรรดามุสลิมว่า เซาะฟาและมัรวะฮฺ เป็นเครื่องหมายของพระเจ้า เป็นสิ่งยืนยันให้เห็นว่าบุคคลที่ประกอบพิธีหัจญ์ หรืออุมเราะฮฺ ณ บัยตุลลอฮฺ ไม่มีอุปสรรคอันใดทั้งสิ้น และต้องไม่ใส่ใจกับการกระทำของบรรดาผู้ตั้งภาคีทั้งหลาย ทั้งสองเป็นเครื่องหมายของพระเจ้า แม้ว่าจะถูกทำให้โสโครกโดยน้ำมือของพวกคนโฉด แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้ลดความศักดิ์สิทธิ์ลงไป

ประเด็นสำคัญ

เขาเซาะฟาและมัรวะฮฺ

เซาะฟากับมัรวะฮฺ เป็นชื่อภูเขาลูกเล็ก ๆ อยู่ในมักกะฮฺ ปัจจุบันเนื่องจากมัสญิด อัลฮะรอมได้ขยายใหญ่ขึ้น เขาทั้งสองจึงอยู่ทางมุมด้านตะวันออกของมัสญิด หรือด้านหินดำและมะกอมอิบรอฮีม

ในเชิงภาษาคำว่า เซาะฟา หมายถึง หินที่ความแข็งแกร่งและสะอาด มิได้ผสมกับดินหรือทราย ส่วน มัรวะฮฺ หมายถึง หินที่แข็งแกร่ง

คำว่า ชะอาอิร เป็นพหูพจน์ของคำว่า ชะอีเราะฮฺ หมายถึง เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ ดังนั้น ชะอาอิรอลลออฺ จึงหมายถึง เครื่องหมายของอัลลอฮฺ หรือสัญลักษณ์ที่ทำให้มนุษย์รำลึกถึงพระเจ้า

เซาะฟาและมัรวะฮฺในมุมมองของประวัติศาสตร์

ศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เริ่มย่างเข้าสู่วัยชรา แต่ท่านยังไม่มีบุตรแม้แต่คนเดียว ต่อมาพระเจ้าทรงประทานบุตรชายนามว่าอิสมาอีล ซึ่งเกิดกับหญิงรับใช้นามว่า ฮาญัร ให้กับท่าน

ภรรยาคนแรก เอาซาวะฮฺ ไม่สามารถทนได้ที่อิบรอฮีมมีบุตรกับหญิงอื่นนอกจากเธอ พระเจ้าทรงมีบัญชาให้อิบรอฮีม อพยพครอบครัวไปอาศัยอยู่ ณ มักกะฮฺ ซึ่งในขณะนั้นเป็นทุ่งทะเลทรายปราศจากน้ำ ต้นไม้ แห้งแล้งและกันดารที่สุด อิบรอฮีม (อ.) ปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ และอพยพครอบครัวไปยังแผ่นดินมักกะฮฺ เมื่อท่านต้องการเดินทางกลับ ภรรยาร้องไห้อย่างหนัก คิดไม่ออกว่าท่านกับบุตรชายตัวน้อย ๆ จะทำอย่างไร กลางทะเลทรายที่ร้อนระอุและกันดารเช่นนั้น น้ำตาของท่านกับบุตรน้อยหลั่งออกมาอย่างไม่ขาดสาย มันเหมือนกับมีดที่ทิ่มแทงหัวใจของอิบรอฮีม ท่านได้ยกมือดุอาอฺต่อพระเจ้าว่า โอ้ข้าแต่พระองค์ ข้าฯปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์จึงพาครอบครัวอพยพมายังถิ่นกันดารปราศจากน้ำและต้นไม้ เพื่อยกย่อยเกียรติคุณของพระองค์ และเพื่อปรับปรุงบ้านของพระองค์ เมื่อท่านกล่าวจบท่านลาครอบครัว ด้วยหัวใจที่แตกสลายด้วยความรัก และไม่นานนักอาหารของสองแม่ลูก ที่เตรียมไว้ก็หมดลง น้ำนมในอกของเธอก็เริ่มแห้งไปตามกาลเวลา เธอมองดูลูกน้อยด้วยหัวใจเศร้าหมองที่สุด ความรักและความเอ็นดูลูกน้อยทำให้เธอลืมความกระหาย เธอขวนขวายหาน้ำให้กับบุตรชาย ตอนแรกเธอเดินมาที่เขาเซาะฟา แต่ไม่เห็นร่องรอยของน้ำแม้แต่น้อย แสงสะท้อนแห่งความร้อน ณ เขามัรวะฮฺได้เรียกร้องเธอ ทำให้เธอคิดว่านั่นเป็นน้ำ จึงรีบวิ่งไปยังเขามัรวะฮฺหมายนำน้ำมาให้บุตรชายของเธอ แต่พอไปถึงก็ไม่พบร่องรอยของน้ำเช่นกัน แต่พอมองมายังเซาะฟาเธอเห็นไอร้อนคิดว่าเป็นน้ำ ได้วิ่งย้อนกลับมายังเขาเซาะฟาอีกครั้ง เธอวิ่งเพื่อหาน้ำดื่มและต่อสู้กับความตายที่รออยู่ตรงหน้าถึง 7 รอบด้วยกัน ช่วงนาทีสุดท้ายแห่งชีวิตของเด็กน้อย ณ ใต้ฝ่าเท้าแห่งความสิริมงคลนั้นเอง ตาน้ำซัมซัมได้ผุดขึ้นมาท่ามกลางความประหลาดใจของสองแม่ลูก ทั้งสองดื่มน้ำจากตาน้ำทำให้รอดตายอย่างเฉียบพลัน

เขาเซาะฟาและมัรวะฮฺ สอนบทเรียนสำคัญแก่เราว่า เพื่อฟื้นฟูพระนามแห่งสัจธรรม และเพื่อการนำมาซึ่งศาสนาแห่งความยิ่งใหญ่ แม้แต่เด็กตัวน้อย ๆ ก็ต้องต่อสู้และยืนหยัดแม้ชีวิตจะหาไม่ก็ตาม

เซาะฟามัรวะฮฺ สอนเราว่า จงอย่าหมดหวังในชีวิต แม้ว่าจะไม่มีความหวังอยู่เลย แต่พระองค์คือความหวังสุดท้าย

เซาะฟามัรวะฮฺกล่าวกับเราว่า พึงสังวรถึงคุณค่าของศาสนาบริสุทธิ์ ศูนย์กลางแห่งความเป็นเอกะของพระเจ้า เนื่องจากสิ่งนี้ได้ตกถอดมาถึงเราได้ ด้วยการถวายชีวิตของบ่าวบริสุทธิ์เข้าปกป้อง ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่าพระองค์ทรงกำหนดเงื่อนไขว่า ผู้ที่มาแสวงบุญ ณ บ้านของพระองค์ต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่เฉพาะเจาะจง ปราศจากยศถาบรรดาศักดิ์ เข้าสู่บ้านของพระองค์ด้วยความนอบน้อม และเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์แห่งเขาทั้งสอง จงเดินวกวนระหว่างเขาทั้งสอง 7 รอบ บุคคลที่มีความยโสโอหังไม่สมควรปรากฏตัว ณ ที่นั้น ตามท้องถนนท่านอาจเดินด้วยความรวดเร็ว แต่ ณ ที่นั้นท่านต้องเดินช้า ๆ เพื่อแสดงความเคารพภักดี และให้เกียรติท่านหญิงฮาญัรและอิบรอฮีม รายงานจำนวนมาก กล่าวว่า เซาะฟากับมัรวะฮฺคือ สถานที่ปลุกพวกโอหังทั้งหลายให้ตื่นจากภวังค์ และละทิ้งความจองหองของตนเสีย

จุดประสงค์ของ ลาญุนาฮุ หมายถึงอะไร

ถ้าพิจารณาด้านหลักการอิสลาม การเดินวกวนระหว่างเขาทั้งสองวาญิบ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรมของฮัจญฺ หรืออุมเราะฮฺก็ตาม ขณะที่ภายนอกของคำว่า ลาญุนาฮุ หมายถึง ไม่มีอุปสรรคอันใดสำหรับการเดินวกวนระหว่างเขาทั้งสอง แต่ไม่มีเครื่องหมายบ่งบอกว่าเป็นวาญิบ

ตอนแรกมุสลิมคิดว่าการเดินวกวนระหว่างเขาทั้งสองไม่มีความเหมาะสมอีกแล้ว เนื่องจากพวกตั้งภาคีเทียบเทียมนำเอารูปปั้นอะซาฟ และนาอิละฮฺไปตั้งบนเขาทั้งสอง ขณะที่เดินวกวน พวกเขาขึ้นไปแตะเพื่อขอความสิริมงคล โองการได้ประทานลงมาว่า ไม่มีอุปสรรคอันใดแก่เขาที่จะเดินวกวนไปมา ณ ภูเขาทั้งสอง เนื่องจากทั้งสองคือเครื่องหมายของอัลลอฮฺ ดังนั้น การที่โองการกล่าวว่า ลาญุนาฮุ ก็เพื่อขจัดความน่ารังเกลียดที่มุสลิมได้แสดงออก ท่านอิมามซอดิก (อ.) ได้อธิบายไว้ในความหมายเดียวกันนี้เช่นกัน

คำว่า ตะเฏาวะอะ หมายถึงอะไร

ตะเฏาวะอะ ในเชิงภาษาหมายถึง การยอมรับปฏิบัติตาม หรือการยอมรับคำสั่ง ส่วนด้านฟิกฮฺโดยทั่วไปหมายถึง การกระทำที่เป็นมุซตะฮับ นักอรรถาธิบายอัล-กุรอานส่วนใหญ่กล่าวว่าหมายถึง การประกอบฮัจญ์ และอุมเราะฮฺ หรือหมายถึงเฏาะวาฟมุซตะฮับ หรืออาจหมายถึงทั้งสองประการ อันเป็นการกระทำที่ดี เป็นมุซตะฮับ ซึ่งพระเจ้าทรงรอบรู้ถึงการกระทำของพวกเขา และทรงเตรียมรางวัลที่จำเป็นสำหรับพวกเขาไว้แล้ว

ด้วยเหตุนี้ ความหมายของประโยคจึงหมายถึง บุคคลใดเดินวกวนระหว่างเขาทั้งสองด้วยความยากลำบาก มิได้เป็นไปตามความต้องการของจิตใจ ดังที่อาหรับยุคก่อนกระทำ เท่ากับเขาได้ต่อเติมหัจญ์ของเขาให้สมบูรณ์ แน่นอนพระเจ้าทรงเตรียมรางวัลไว้สำหรับพวกเขา

การขอบคุณของพระเจ้า

โองการกล่าวว่า ผู้ทรงขอบคุณ หมายถึงพระผู้อภิบาล เป็นการกล่าวที่มีความละเอียดอ่อน และประณีตมาก ซึ่งหมายถึงที่สุดของความเคารพที่พระองค์ทรงมีต่อการกระทำความดีของมนุษย์ เป็นการบ่งบอกว่าพระองค์ทรงขอบคุณการทำความดีของพวกเขา

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม