เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

คำอธิบายโองการที่ 177 จากบทอัลบะกอเราะฮ์

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5


คำอธิบายโองการที่ 177 จากบทอัลบะกอเราะฮ์


لَّيْس الْبرَّ أَن تُوَلُّوا وُجُوهَكُمْ قِبَلَ الْمَشرِقِ وَ الْمَغْرِبِ وَ لَكِنَّ الْبرَّ مَنْ ءَامَنَ بِاللَّهِ وَ الْيَوْمِ الاَخِرِ وَ الْمَلَئكةِ وَ الْكِتَبِ وَ النَّبِيِّينَ وَ ءَاتى الْمَالَ عَلى حُبِّهِ ذَوِى الْقُرْبى وَ الْيَتَمَى وَ الْمَسكِينَ وَ ابْنَ السبِيلِ وَ السائلِينَ وَ فى الرِّقَابِ وَ أَقَامَ الصلَوةَ وَ ءَاتى الزَّكَوةَ وَ الْمُوفُونَ بِعَهْدِهِمْ إِذَا عَهَدُوا وَ الصبرِينَ فى الْبَأْساءِ وَ الضرَّاءِ وَ حِينَ الْبَأْسِ أُولَئك الَّذِينَ صدَقُوا وَ أُولَئك هُمُ الْمُتَّقُونَ (177)

 

ความหมาย

177. ไม่ใช่สิ่งดี (ขณะนมาซ) สูเจ้าหันหน้าของสูเจ้าไปทางทิศตะวันออกและตะวันตก แต่ว่าสิ่งที่ดีคือ ผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ วันสุดท้าย มลาอิกะฮฺ บรรดาคัมภีร์ และนบีทั้งหลาย และบริจาคทรัพย์ทั้งที่มีความรักในทรัพย์นั้น แก่ญาติสนิท เด็กกำพร้า ผู้ยากจน ผู้ที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ผู้ที่มาขอ และบริจาคในการไถ่ทาส และดำรงนมาซ จ่ายซะกาต (ทานบังคับ) และรักษาสัญญาของพวกเขาโดยครบถ้วน เมื่อได้สัญญา และเป็นผู้อดทนในความทุกข์ยาก และความลำเค็ญ และยืนหยัดขณะต่อสู่ในสมรภูมิรบ เหล่านี้คือบรรดาผู้พูดจริง (คำพูด การกระทำ และความเชื่อเป็นหนึ่งเดียวกัน) และเหล่านี้คือผู้สำรวมตน

มาตรฐานของสิ่งมีค่าคือความศรัทธาและการทำดี มิใช่การอิบาดะฮ์มากมาย
คำอธิบาย รากฐานของความดีทั้งหลาย

อัล-กุรอาน กล่าวถึง รากที่มาของความดีคือ ความศรัทธามั่นคง จริยธรรม และการกระทำ ขณะเดียวกันอธิบายถึงรากฐานของความดีงามเหล่านั้นไว้ 6 ประการดังนี้

ประการที่ หนึ่งสิ่งที่อัล-กุรอาน กล่าวถึงคือ รากฐานของความดีงามทั้งหลายได้แก่การศรัทธาต่อพระผู้สร้าง วันแห่งการฟื้นคืนชีพ และการบริบาลของพระเจ้า ศรัทธาต่อบรรดาศาสดาผู้ทำหน้าที่ประกาศสาส์น และปฏิบัตินโยบายของพระองค์ ศรัทธาต่อมวลมลาอิกะฮฺผู้เป็นสื่อในการประกาศสาส์น และการเชิญชวนของบรรดาศาสดา ศรัทธาต่อหลักการที่ให้ความกระจ่างต่อการเป็นมนุษย์ และวิสัยน์ทัศน์ที่ก่อให้เกิดพลังในการเคลื่อนไหวไปสู่การพัฒนา และการกระทำสิ่งที่ดีงาม

ประการที่ สอง คำว่า บิรรุน บนรูปของคำว่า ฎิดดุน หมายถึง การพัฒนา การทำให้กว้างไพศาล ต่อมาถูกใช้ในความหมายของ ความดีงาม และการทำดี เนื่องจากการกระทำเช่นนี้ไม่มีขอบเขตจำกัดสำหรับมนุษย์ มีความกว้างไกลและแผ่ไปถึงบุคคลอื่น ซึ่งพวกเขาต่างได้รับประโยชน์จากสิ่งเหล่านี้

คำว่า บิร บนรูปของคำว่า นิร ให้ความหมายเป็นคำคุณศัพท์ หมายถึงผู้ที่กระทำดี ความหมายตามรากศัพท์เดิมหมายถึงทะเลทราย หรือสถานที่ ๆ มีความกว้าง เนื่องจากผู้ที่ทำความดีเป็นคนที่มีจิตใจกว้างขวาง คำว่าบิรจึงถูกใช้กับพวกเขา

หลังจากที่กล่าวถึงการศรัทธา การบริจาค และการเสียสละแล้ว โองการกล่าวถึง การบริจาคทรัพย์ทั้งที่มีความรักในทรัพย์นั้น แก่ญาติสนิท เด็กกำพร้า ผู้ยากจน ผู้ที่อยู่ระหว่างการเดินทาง ผู้ที่มาขอ ซึ่งไม่ต้องสงสัยว่าการบริจาคทรัพย์ทั้งที่ตนยังรักในทรัพย์นั้นมิใช่เรื่องง่ายสำหรับทุกคน เนื่องจากความรักและความหวงแหน การที่โองการกล่าวว่า ทั้งที่มีความรักในทรัพย์นั้น ชี้ให้เห็นความจริงว่าพวกเขายืนหยัดต่อความพึงพอใจของพระเจ้า แม้ว่าหัวใจของพวกเขาจะเรียกร้องและยังรักและหวงแหนอยู่ก็ตาม

ประการที่ สาม รากฐานสำคัญยิ่งของการทำความดีคือ การดำรงนมาซ

ประการที่ สี่พวกเขาบริจาคทานบังคับ (ซะกาต) แก่ผู้มีสิทธิ์รับทานนั้น ผู้คนจำนวนมากมายบริจาคทาน หรือช่วยเหลือคนยากจนแต่เมื่อถึงเวลาต้องจ่ายสิทธิอันเป็นข้อบังคับ กลับไม่ใส่ใจ ในทางกลับกันกลุ่มที่ไม่เคยจ่ายสิทธิที่เป็นวาญิบ เขาจะคิดช่วยเหลือบุคคลอื่นได้อย่างไร โองการข้างต้นจึงกล่าวว่าบุคคลที่ทำความดี หมายถึงบุคคลที่กระทำทั้งสองกล่าวคือ ทั้งบริจาคทานบังคับ และช่วยเหลือคนอื่น

ประการที่ ห้า คุณสมบัติเฉพาะตัวของพวกเขาคือรักษาคำมั่นสัญญา อัล-กุรอาน จึงกล่าวว่า พวกเขารักษาสัญญาของพวกเขาโดยครบถ้วน เมื่อได้สัญญา เนื่องเงื่อนไขสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคมคือ การไว้วางใจซึ่งกันและกัน บาปกรรรมคือตัวทำลายรากฐานแห่งความเชื่อมั่น และความศรัทธา ซึ่งถือว่าเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ทางสังคม อีกทั้งยังได้ทำลายคำมั่นสัญญาที่มีต่อกัน ด้วยเหตุนี้ รายงานจำนวนมากมายกล่าวว่า มุสลิมมีหน้าที่กระทำสามภารกิจสำคัญไม่ว่าฝ่ายตรงข้ามจะเป็นมุสลิม หรือผู้ปฏิเสธ เป็นคนดีหรือไม่ก็ตาม ภารกิจสำคัญสามประการได้แก่ การรักษาคำมั่นสัญญา การรักษาของฝากและคืนสิทธิอันชอบธรรมแก่เจ้าของ และการให้ความเคารพบิดามารดา
ประการที่ หก ประเด็นสุดท้ายของรากฐานแห่งความดีงาม อัล-กุรอาน กล่าวว่า พวกเขาเป็นผู้อดทนในความทุกข์ยาก และความลำเค็ญ และยืนหยัดขณะต่อสู่ในสมรภูมิรบ พวกเขาไม่ยอมอ่อนข้อให้กับเหตุการณ์ที่เผชิญอยู่ตรงหน้า พวกเขาต่อสู้และยืนหยัดอย่างห้าวหาญ

สิ่งที่ควรพิจารณาคือ คุณสมบัติหกประการข้างต้น ครอบคลุมทั้งเรื่องหลักการศรัทธา จริยธรรม และหลักการปฏิบัติ

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม