โองการที่ 93,94,95 ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน
โองการที่ 93,94,95 ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน
كلُّ الطعَامِ كانَ حِلاًّ لِّبَنى إِسرءِيلَ إِلا مَا حَرَّمَ إِسرءِيلُ عَلى نَفْسِهِ مِن قَبْلِ أَن تُنزَّلَ التَّوْرَاةُ قُلْ فَأْتُوا بِالتَّوْرَاةِ فَاتْلُوهَا إِن كُنتُمْ صدِقِينَ (93) فَمَنِ افْترَى عَلى اللَّهِ الكَذِب مِن بَعْدِ ذَلِك فَأُولَئك هُمُ الظلِمُونَ (94)قُلْ صدَقَ اللَّهُ فَاتَّبِعُوا مِلَّةَ إِبْرَهِيمَ حَنِيفاً وَ مَا كانَ مِنَ المُْشرِكِينَ (95)
ความหมาย
93. อาหาร (สะอาด) ทุกชนิดเป็นที่อนุมัติแก่วงศ์วานของอิสรออีล นอกจากที่อิสรออีล (ยะอฺกูบ) ห้ามแก่ตัวของเขาเอง (เช่น เนื้ออูฐเนื่องจากเป็นอันตรายแก่ตน) ก่อนที่เตารอตจะถูกประทานลงมา จงกล่าวเถิด ดังนั้น จงเอาเตารอตมา และจงอ่าน หากพวกเจ้าเป็นผู้สัตย์จริง
94. ด้วยเหตุนี้ ผู้ใดกุความเท็จต่ออัลลอฮฺ หลังจากนั้น (ทั้งที่รู้ แต่ตั้งใจที่จะกระทำ) พวกเขาคือผู้อธรรม
95. จงกล่าวเถิด อัลลอฮฺ ตรัสจริง (สิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่ในศาสนาของอิบรอฮีม) ดังนั้น สูเจ้าจงปฏิบัติตามแนวทางของอิบรอฮีม ผู้เที่ยงธรรม เขามิใช่ผู้ตั้งภาคี
สาเหตุของการประทานโองการ
จากริวายะฮฺและคำอธิบายของนักอรรถาธิบายอัล-กุรอาน เข้าใจได้ว่ายะฮูดีย์กลุ่มหนึ่งรวมตัวกัน โต้แย้งกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อันดับแรกเขากล่าวว่า เขากินเนื้ออูฐ และดื่มนม เขาจะเป็นศาสดาได้อย่างไร ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ถูกห้ามในศาสนาอิบรอฮีม ด้วยเหตุนี้ ยะฮูดีย์ที่ปฏิบัติตามแนวทางอิบรอฮีม ถือว่าสิ่งเหล่านั้นต้องห้ามสำหรับตน มิใช่อิบรอฮีมเพียงคนเดียว ทว่านูฮฺ ก็ห้ามสิ่งเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น ผู้ที่ไม่ถือว่าสิ่งเหล่านี้ต้องห้ามสำหรับตน เขาจะเป็นผู้ปฏิบัติตามแนวทางของอิบรอฮีมได้อย่างไร
อีกนัยหนึ่งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า เป็นผู้ปฏิบัติตามแนวทางอิบรอฮีม ขณะที่บรรดาศาสดาทั้งหมดในสมัยนั้น รวมทั้งอิสฮากบุตรของอิบรอฮีม ต่างนมาซโดยหันหน้าไปทางบัยตุลมุก็อดดัซทั้งสิ้น แต่ศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) นมาซโดยหันหน้าไปทางกิบละฮฺ และใช้กะอฺบะฮฺเป็นกิบละฮฺสำหรับตน โองการข้างต้นได้ตอบข้อสงสัยของพวกเขา แเละเปิดเผยสิ่งที่พวกเขาได้มุสา
คำอธิบาย ยะฮูดีย์ใส่ร้ายท่านศาสดา
ดังที่สาเหตุของการประทานโองการกล่าวว่า ยะฮูดีย์ปฏิเสธเนื้ออูฐ และนมที่ท่านศาสดาอนุมัติให้รับประทาน อัล-กุรอาน โองการแรก ลบล้างคำใส่ร้ายของยะฮูดีย์ที่ห้ามอาหารอนุมัติบางชนิด เช่น เนื้ออูฐ เนื่องจากเมื่อยะอฺกูบรับประทานเนื้ออูฐแล้วไม่สบาย ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจว่าจะไม่รับประทานเนื้ออูฐตลอดไป ผู้ที่ปฏิบัติตามเขาได้ยึดถือเช่นนั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไปประชาชนเข้าใจว่า นี่เป็นคำสั่งของพระเจ้า จึงถือเป็นคำสั่งของศาสนาแห่งพระเจ้า อัล-กุรอาน โองการข้างต้นอธิบายถึงการเข้าใจผิดของพวกเขา และกล่าวว่าการพาดพิงเช่นนี้ไปยังพระเจ้า ถือเป็นการใส่ร้ายที่น่าเกลียดที่สุด
ด้วยเหตุนี้ ก่อนที่คัมภีร์เตารอตจะประทานลงมา ไม่มีอาหารสะอาดประเภทใดถูกห้ามสำหรับวงศ์วานของอิสรออีล โองการข้างต้นบ่งชี้ว่า หลังจากเตารอตได้ประทานลงมา และมูซา บุตรของอิมรอนได้มายังพวกเขาแล้ว เนื่องจากกดขี่ที่มีต่อยะฮูดีย์ อาหารบางประเภทจึงถูกห้ามสำหรับพวกเขา เพื่อเป็นการลงโทษ
ประโยคถัดมาพระเจ้าตรัสกับศาสดาของพระองค์ว่า จงเชิญยะฮูดีย์มา และให้นำเตารอตที่มีอยู่มาด้วย หลังจากนั้นให้เขาอ่าน เพื่อจะได้เข้าใจว่าสิ่งที่พวกเขาถือว่าอาหารบางประเภทไม่อนุมัติสำหรับพวกเขา เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง แต่พวกเขาไม่พร้อมที่จะกระทำเช่นนั้น เนื่องจากทราบดีว่าสิ่งที่พวกเขายึดถือไม่มีอยู่ในเตารอต
โองการถัดมา กล่าวว่า เมื่อพวกเขาไม่พร้อมที่จะนำเอาเตารอตมา แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสิ่งที่พวกเขาปฏิบัติคือ การกรุความเท็จต่อพระเจ้า ซึ่งในความเป็นจริงพวกเขากดขี่ตนเอง เนื่องจากนำตนไปสู่การลงโทษของพระเจ้า และกดขี่คนอื่น เนื่องจากการมุสาของพวกเขาทำให้ผู้อื่นหลงทาง
โองการสุดท้าย กล่าวกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า จงบอกพวกเขาซิ เจ้าไม่เห็นดอกหรือว่า ฉันมีความสัตย์จริงต่อการการเชิญชวนของฉัน ฉะนั้น แนวทางของฉันคือ แนวทางที่สะอาดบริสุทธิ์ของอิบรอฮีม ผู้เที่ยงธรรม เนื่องจากเขาได้โน้มน้าวจากแนวทางที่หลงผิด ไปสู่แนวทางที่เที่ยงตรง คำสั่งของเขาแม้แต่ในเรื่องอาหารที่สะอาด ไม่มีกฎที่หลงทาง หรือการสั่งห้ามที่ไม่มีเหตุผลแต่อย่างใด ที่สำคัญไปกว่านั้น อิบรอฮีม มิใช่ผู้ปฏิเสธที่ตั้งภาคีเทียบเทียมพระเจ้า ฉะนั้น การที่อาหรับผู้ตั้งภาคีกล่าวอ้างว่า พวกตนปฏิบัติตามแนวทางของอิบรอฮีมจึงถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะผู้สักการบูชารูปปั้น กับผู้ทำลายรูปปั้นมีความแตกต่างกัน ขณะที่อิบรอฮีมคือ ผู้ทำลายเจว็ดรูปปั้น
สิ่งที่สมควรพิจารณาเป็นพิเศษคือ อัล-กุรอาน ได้อาศัยประโยคที่ว่า อิบรอฮีมมิใช่ผู้ตั้งภาคี ดังที่กล่าวไปแล้วว่า พวกบูชารูปปั้นต่างกล่าวอ้างว่า พวกตนยึดถือตามแนวทางของอิบรอฮีม ซึ่งพวกเขาโฆษณาชวนเชื่อความคิดของตน จนกระทั่งว่าคนอื่นแนะนำว่า พวกเขาคือผู้เจริญรอยตามแนวทางของอิบรอฮีมที่แท้จริง ด้วยเหตุนี้ อัล-กุรอานจึงปฏิเสธประเด็นดังกล่าวหลายต่อหลายครั้งด้วยกัน