โองการที่ 110 ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน
โองการที่ 110 ซูเราะฮ์ อาลิอิมรอน
كُنتُمْ خَيرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَت لِلنَّاسِ تَأْمُرُونَ بِالْمَعْرُوفِ وَ تَنْهَوْنَ عَنِ الْمُنكرِ وَ تُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَ لَوْ ءَامَنَ أَهْلُ الْكتَبِ لَكانَ خَيراً لَّهُم مِّنْهُمُ الْمُؤْمِنُونَ وَ أَكثرُهُمُ الْفَسِقُونَ (110)
ความหมาย
110.สูเจ้าเป็นประชาชาติที่ดียิ่ง ที่ถูกอุบัติขึ้นสำหรับมนุษยชาติ สูเจ้ากำชับการดี และห้ามปรามการชั่ว และสูเจ้าศรัทธาในอัลลอฮฺ และมาตรว่าชาวคัมภีร์ได้ศรัทธา แน่นอนเป็นการดีสำหรับพวกเขา แต่ (จำนวนเล็กน้อย) ในหมู่พวกเขามีผู้ศรัทธา ส่วนมากของพวกเขาเป็นผู้ฝ่าฝืน
คำอธิบาย การต่อสู้กับการชั่ว และเชิญชวนไปสู่การดี
โองการกล่าวถึงการกำชับความดี การห้ามปรามความชั่ว และการศรัทธาต่อพระเจ้าอีกครั้งหนึ่ง โองการการก่อนหน้านี้กล่าวว่าการกำชับความดี และห้ามปรามความชั่ว เป็นหน้าที่จำเป็นสำหรับกลุ่มชนที่เฉพาะเจาะจง ดังที่อธิบายไปแล้ว
แต่สิ่งที่สมควรพิจารณาคือ เหตุผลที่มุสลิมเป็นประชาชาติที่ดีทีสุดคือ การกำชับความดี การห้ามปรามความชั่ว และการศรัทธาต่อพระเจ้า สิ่งนี้บ่งบอกว่าการปรับปรุงสังคมโดยปราศจากการศรัทธาในพระเจ้า การเชิญชวนไปสู่สัจธรรม และการต่อสู้กับความชั่ว มิอาจเป็นไปได้ การกำชับความดีและการห้ามปรามความชั่ว เป็นหลักประกันความศรัทธา และการดำเนินกฎหมายทั้งส่วนตัวและสังคม
แต่เพราะสาเหตุใดประชาชาติอิสลาม จึงเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด เหตุผลนั้นชัดเจน เนื่องจากพวกเขามีศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาสุดท้ายแห่งฟากฟ้า เป็นศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุด
มีประเด็นสำคัญ 2 ประการที่โองการกล่าวถึง ได้แก่ กุนตุม หมายถึง เจ้าเคยเป็น เป็นกริยาอดีตกาล หมายถึง สูเจ้าเคยเป็นประชาชาติที่ดีที่สุดมาก่อน การใช้ลักษณะนี้เพื่อเน้นให้เห็นถึงความสำคัญ ซึ่งมีอยู่มากมายในอัล-กุรอาน อีกประการหนึ่ง อัล-กุรอานนำเอาการกำชับความดี และห้ามปรามความชั่ว ไว้ก่อนหน้าความศรัทธาในพระเจ้า บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญ และความยิ่งใหญ่
มุสลิมเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด ตราบเมื่อเชิญชวนไปสู่ความดีงาม และไม่ลืมการต่อสู้กับความชั่วร้าย แต่ถ้าวันใดพวกเขาลืมเลือนหน้าที่สำคัญสองประการนี้ เขาจะไม่ถูกนับว่าเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด และไม่มีประโยชน์กับสังคมอีกต่อไป ขณะที่โองการกล่าวถึงมุสลิมทั่วไป เหมือนกับโองการอื่น ๆ ดังนั้น การที่บางคนเชื่อว่าโองการนี้เฉพาะเจาะจงสำหรับมุสลิมรุ่นแรกที่อพยพ (มุฮาญิรีน) จึงไม่ถูกต้อง เพราะไม่มีเหตุผลอ้างอิงอันใดทั้งสิ้น
หลังจากนั้นโองการกล่าวถึงแนวทางที่ชัดเจน พร้อมทั้งกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีบุคคลใดปฏิเสธ ฉะนั้น ถ้าชาวคัมภีร์ (ยะฮูดีย์และนัซรอนีย์) ยอมรับ แน่นอนย่อมเป็นประโยชน์กับตนเอง แต่น่าเสียดายว่าชนส่วนน้อยเท่านั้นที่ยอมรับอิสลาม ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ในหมู่พวกเขาล้วนเป็นผู้ปฏิเสธ และฝ่าฝืนคำสั่งของพระเจ้า