ความสำคัญของการทำงานในอัลกุรอานและริวายะฮ์; พฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการตอบรับดุอาอ์
ความสำคัญของการทำงานในอัลกุรอานและริวายะฮ์; พฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการตอบรับดุอาอ์
อิบาดะฮ์นั้นมีเจ็ดสิบส่วน แต่สิ่งที่น่าสนใจซึ่งตรงข้ามกับความคิดของคนส่วนมากที่ว่าก็คือ ไม่มีการนมัสการ (อิบาดะฮ์) ใดแม้แต่การนมาซ การถือศีลอด การทำฮัจญ์และอื่นๆ ทางด้านของคุณค่าและความประเสริฐ (ฟะฎีละฮ์) ที่จะเทียบเท่ากับการทำงานและความอุตสาห์พยายามในการแสวงหาปัจจัยยังชีพ (ริษกี) ที่ฮะลาลและการสนองตอบความจำเป็นในการดำรงชีพของครอบครัวได้เลย
ในโองการอัลกุรอานอายะฮ์ที่ 56 ของซูเราะฮ์ (บท) อัซซาริยาต พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงสูงส่งได้ทรงแนะนำให้รู้ถึงเหตุผลในการสร้างมนุษย์ว่าเพื่อการอิบาดะฮ์ (เคารพภักดี) และการยอมตน (ตะอับบุด) ต่อพระองค์ :
وَمَا خَلَقْتُ الْجِنَّ وَالْإِنسَ إِلَّا لِيَعْبُدُونِ
"และข้าไม่ได้สร้างญินและมนุษย์ (เพื่ออื่นใด) เว้นแต่เพื่อพวกเขาจะเคารพภักดีต่อข้า (และจากหนทางนี้พวกเขาพัฒนาสู่ความสมบูรณ์และเข้าใกล้ชิดข้า)!"
การอิบาดะฮ์ (นมัสการและการเคารพภักดีต่อพระเจ้า) นั้น จะนำมนุษย์ไปสู่ความสมบูรณ์ (กะมาล) และจะช่วยจัดพื้นฐานต่างๆ สำหรับความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัตถุและจิตวิญญาณของเขา แต่จุดประสงค์จากคำว่า "อิบาดะฮ์" นั้นคืออะไร? เมื่อเราได้ยินคำว่า "อิบาดะฮ์" เรามักจะนึกถึงการเคลื่อนไหวบางอย่างอย่างเช่น รุกูอ์ (การโค้งคาระวะ) และซุญูด (การกัมกราบ) และภาพของการนมาซ การวิงวอนขอพร (ดุอาอ์) จะฉุกขึ้นมาในความนึกคิดของเราอย่างฉับพลัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว "อิบาดะฮ์" ไม่ได้จำกัดอยู่การกระทำและการเคลื่อนไหวในรูปแบบเฉพาะที่รับรู้กันโดยทั่วไปเพียงเท่านั้น ทว่าในอิสลามนั้นมีขอบข่ายที่ครอบคลุมกว้างขวางมากไปกว่านั้น
ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) กล่าวว่า :
الْعِبَادَةُ سَبْعُونَ جُزْءا، أَفْضَلُهَا طَلَبُ الْحَلَال
"อิบาดะฮ์นั้นมีเจ็ดสิบส่วน ที่ประเสริฐที่สุดของมันคือการแสวงหา (ปัจจัยยังชีพ) ที่ฮะลาล" (1)
ตามฮะดีษ (วจนะ) ของท่านศาสดาบทนี้ อิบาดะฮ์นั้นมีเจ็ดสิบส่วน แต่สิ่งที่น่าสนใจก็คือตรงข้ามกับความคิดของคนส่วนมากที่ว่า ไม่มีอิบาดะฮ์ใดแม้แต่การนมาซ การถือศีลอด การทำฮัจญ์และอื่นๆ ในแง่ของคุณค่าและความประเสริฐ (ฟะฎีละฮ์) จะเทียบเท่ากับการทำงานและความอุตสาห์พยายามในการแสวงหาปัจจัยยังชีพ (ริษกี) ที่ฮะลาลและการสนองตอบความจำเป็นในการดำรงชีพของครอบครัวได้เลย
เหตุผลของความประเสริฐที่มากกว่าของการทำงานและความอุตสาห์พยายามในการประกอบอาชีพดังกล่าวก็คือ หากคนเราไม่ทำงานและไม่มีความอุตสาห์พยายามแล้ว ย่อมจะถูกแทนที่ด้วยความเกียจคร้านและการขาดความอดทน และในริวายะฮ์ (คำรายงาน) จากท่านอิมามซอดิก (อ.) ชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองลักษณะนี้จะเป็นอุปสรรคกีดขวางมนุษย์เราจากการได้รับประโยชน์จากโลกนี้ (ดุนยา) และปรโลก (อาคิเราะฮ์) (2) ด้วยเหตุนี้เองท่านศาสดา (ซ็อลฯ) จึงกล่าวว่า :
إِنَّ أَصْنَافاً مِنْ أُمَّتِي لَا يُسْتَجَابُ لَهُمْ دُعَاؤُهُمْ: ... وَ رَجُلٌ يَقْعُدُ فِي بَيْتِهِ وَ يَقُولُ رَبِّ ارْزُقْنِي وَ لَا يَخْرُجُ وَ لَا يَطْلُبُ الرِّزْقَ، فَيَقُولُ اللَّهُ عَزَّ وَ جَلَّ لَهُ: عَبْدِي، أَ لَمْ أَجْعَلْ لَكَ السَّبِيلَ إِلَى الطَّلَبِ وَ الضَّرْبِ فِي الْأَرْضِ بِجَوَارِحَ صَحِيحَةٍ؟
"คนหลายกลุ่มจากประชาชาติของฉันที่ดุอาอ์ของพวกเขาจะไม่ถูกตอบรับ และ (ในจำนวนนั้น คือ) คนที่นั่งอยู่ในบ้านและกล่าวว่า "โอ้พระผู้อภิบาลของข้าพระองค์! โปรดประทานปัจจัยยังชีพแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด" โดยที่เขาไม่ออกไปแสวงหาปัจจัยยังชีพ ดังนั้นอัลลอฮ์ ผู้ทรงเกริกเกียรติ ผู้ทรงเกรียงไกรจะทรงตรัสกับเขาว่า : โอ้บ่าวของข้า! ด้วยกับร่างกายที่สมบูรณ์ (ของเจ้า) ข้าไม่ได้บันดาลแนวทางในการแสวงหา (ปัจจัยยังชีพ) และการท่องไปในแผ่นดินแก่เจ้าดอกหรือ?" (3)
ความเจริญก้าวหน้าของสังคมขึ้นอยู่กับการทำงานและความอุตสาห์พยายามเพียงเท่านั้น
ประเด็นเกี่ยวกับคุณค่าและความสำคัญของการทำงานและความอุตสาห์พยายามนั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องส่วนตัว แต่ทว่าหากระดับการทำงานและอุตสาห์ความพยายามของสังคมหนึ่งๆ อยู่ในระดับต่ำ ประเทศทั้งประเทศก็จะประสบกับความเสียหาย ประเทศจะหยุดนิ่งและเกิดความล้าหลัง ด้วยเหตุนี้เองมาตรแม้นว่าประชาชนในสังคมหนึ่งๆ จะไม่มีศาสนาก็ตาม แต่หากพวกเขาอุตสาห์พยายามที่จะทำงานตลอดทั้งวันและคืนเพื่อความก้าวหน้าของประเทศ กฎสากลและหรือกฎธรรมชาติประการหนึ่งของโลกก็คือว่า พวกเขาจะต้องเจริญก้าวหน้าและมีการพัฒนามากกว่าสังคมต่างๆ ที่ประชาชนเกียจคร้านและรักในความสบาย ทั้งนี้เนื่องจากว่า :
وَأَنْ لَيْسَ لِلْإِنْسَانِ إِلَّا مَا سَعَى
"และมนุษย์จะไม่ได้รับสิ่งใด นอกจากสิ่งที่เขาได้ขวนขวาย" (4)
หนึ่งในอันตรายที่กำลังคุกคามสังคมของเราวันนี้ คือรอคอยโชคลาภและการแสวงหารายได้และเงินทุนโดยไม่ต้องใช้แรงงานและความอุตสาห์พยายาม คนจำนวนมากจะเลี้ยงชีวิตของตนและครอบครัวโดยอาศัยดอกเบี้ยหรือผลกำไรจากเงินที่ฝากธนาคาร บางคนก็เสี่ยงโชคด้วยการซื้อลอตเตอรี่ หวย การเสี่ยงทาย การเดิมพันและการชิงรางวัลต่างๆ อย่างต่อเนื่อง บางคนก็ซื้อดอลลาร์และทองคำสะสมไว้ในช่วงเวลาที่ราคาถูกและจะขายมันในช่วงที่มีราคาสูงโดยคาดหวังว่าจะร่ำรวยโดยทางลัด ในขณะที่อิสลามนั้นส่งเสริมในเรื่องของการใช้จ่าย การผลิตและการสร้างงาน ด้วยเหตุนี้ท่านอิมามซอดิก (อ.) จึงได้ตำหนิประณามพฤติกรรมเหล่านี้ไว้อย่างรุนแรง โดยกล่าวว่า :
مَا یُخلِفُ الرَّجُلُ بَعدَهُ شَیئاً أَشَدُّ عَلَیهِ مِنَ المَالِ الصَّامِتِ، قَالَ: قُلتُ لَهُ: کَیفَ یَصنَعُ؟ قَالَ یَضَعَهُ فِی الحَائِطِ وَ البُستَانِ وَ الدَّارِ
“คนเราจะไม่ละทิ้งสิ่งใดไว้หลังจาก (ความตายของ) ตนที่ร้ายแรงต่อตัวเขาเองยิ่งไปกว่าทรัพย์สมบัติที่หยุดนิ่ง (เงินสด, ทองคำหรือเงิน)” ผู้รายงานกล่าวว่า : ฉันได้ถามท่านว่า : “แล้วควรจะทำอย่างไร?” ท่านกล่าวว่า : “ใช้มันไปในการทำไร่นา สวนและ (การสร้าง) บ้านเรือน" (5)
เชิงอรรถ :
1.อุซูลุลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 78
2.เล่มเดิม, หน้า 85
3. เล่มเดิม, หน้า 67
4.อัลกุรอานบท อัน นัจมุ โองการที่ที่ 39
5.อุซูลุลกาฟี, เล่ม 5, หน้า 91
บทความ : เชคมูฮัมมัดนาอีม ประดับญาติ