ฟาฏิมะฮ์ ซะฮ์รอ (ซ.)
ฟาฏิมะฮ์ ซะฮ์รอ (ซ.)
ฟาฏิมะฮ์ (ซ.) รู้จักกันในนาม ฟาฏิมะฮ์ ซะฮ์รอ (ซ.) (ภาษาอาหรับ: السيدة فاطمة الزهراء عليها السلام) (ถือกำเนิดในปีที่ 5 แห่งบิอ์ษัต-ปีที่ 11 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช) คือ บุตรีของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) กับท่านหญิงคอดีญะฮ์ (ซ.) และเป็นภรรยาของอิมามอะลี (อ.)ท่านหญิงเป็นหนึ่งในห้าของกลุ่มชน อาลิอะบา (อัศฮาบุลกิซาอ์) ซึ่งบรรดาชีอะฮ์อิมามียะฮ์ เชื่อว่า ท่านหญิงนั้นมีความสะอาดบริสุทธิ์ ปราศจากมลทินทั้งปวง
อิมามฮะซัน และอิมามฮุเซน (อ.) อิมามคนที่สองและคนที่สามของชีอะฮ์ ท่านหญิงซัยนับ กุบรอ (ซ.) และท่านหญิงอุมมุลกุลษูม ทั้งหมดคือ บุตรของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.)
ซะฮ์รอ บะตูล ซัยยิดะตุนิซาอิลอาละมีน (หัวหน้าของบรรดาสตรีแห่งโลกทั้งหลาย)เป็นสมญานามของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ และอุมมุอะบีฮา (มารดาของบิดาของนาง) เป็นฉายานามของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ท่านหญิงถือเป็นสตรีเพียงผู้เดียว พร้อมด้วยศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)ที่เข้าร่วมในเหตุการณ์วันมุบาฮะละฮ์ กับชาวคริสต์แห่งเมืองนัจญ์รอน
ซูเราะฮ์อัลเกาษัร โองการตัฏฮีร โองการมะวัดดะฮ์ และโองการอิฏอาม และฮะดีษต่างๆ เช่น ฮะดีษบัฎอะฮ์ ได้ถูกประทานและรายงานเกี่ยวกับความประเสริฐของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.)
มีริวายะฮ์ทั้งหลาย รายงานจากศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ )กล่าวว่า ฟาฏิมะฮ์ เป็นสตรีที่มีความสูงส่งทั้งสองโลก ด้วยกัน และความโกรธกริ้วและความพึงพอใจของท่านหญิง ถือเป็นความโกรธกริ้วและความพึงพอพระทัยของอัลลอฮ์ (ซ.บ.)
เกี่ยวกับช่วงวัยเด็กและยุวชนของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ มีรายงานเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
จากช่วงอายุนี้ มีรายงานเพียงว่า ท่านหญิงเคยร่วมอยู่กับศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ท่ามกลางความรุนแรงของเหล่าผู้ตั้งภาคีต่อพระผู้เป็นเจ้า การเข้าร่วมของท่านหญิงในชิอ์บ อะบีฏอลิบ และการอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮ์ร่วมกับอิมามอะลี (อ.)
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ได้สมรสกับอิมามอะลี (อ.)ในปีที่สองแห่งฮิจเราะฮ์ศักราช
ท่านหญิงได้ร่วมในกิจกรรมภาคสังคมและร่วมอยู่เคียงข้างศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ในบางสงคราม เช่น ในเหตุการณ์พิชิตเมืองมักกะฮ์ ถือเป็นภารกิจของท่านหญิงหลังจากการอพยพ (ฮิจเราะฮ์)
ในเหตุการณ์ซะกีฟะฮ์ ท่านหญิงได้ต่อต้านกับการดำเนินการของสภาซะกีฟะฮ์ และท่านหญิงถือว่า ตำแหน่งคอลีฟะฮ์ของอะบูบักร เป็นการแย่งชิงมาจากผู้อื่นและท่านหญิงก็ไม่ได้ให้สัตยาบัน (บัยอะฮ์) กับเขา
ท่านหญิงได้กล่าวบทเทศนาธรรม ซึ่งถูกรู้จักกันว่า คุฏบะฮ์ ฟะดะกียะฮ์ เพราะจากเหตุการณ์ในการยึดครองสวนฟะดักและการปกป้องตำแหน่งคอลีฟะฮ์ให้อิมามอะลี (อ.)
หลังจากการวะฟาต(เสียชีวิต) ของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ไม่นานนัก ก็เกิดเหตุการณ์การโจมตีบ้านของท่านหญิง โดยฝ่ายผู้สนับสนุนอะบูบักร ทำให้ท่านหญิงได้รับความบาดเจ็บ และล้มป่วย และหลังจากนั้น ในวันที่ 3 เดือนญะมาดิษษานี ปี 11 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช ท่านหญิงก็ได้เป็นชะฮีด(มรณสักขี) ณ เมืองมะดีนะฮ์
ท่านหญิงได้สั่งให้จัดพิธีฝังศพของนาง เกิดขึ้นในเวลากลางคืน ขณะที่ ในปัจจุบันนี้ หลุมฝังศพของท่านหญิงยังไม่มีผู้ใดสามารถระบุได้
ตัซบีฮาตท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) มุศฮัฟฟาฏิมะฮ์ และคุฏบะฮ์ฟะดะกียะฮ์ เป็นส่วนหนึ่งของมรดกทางจิตวิญญาณของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.)
มุศฮัฟฟาฏิมะฮ์ เป็นหนังสือที่รวบรวมคำพูดการสนทนาของท่านหญิงกับเทวทูตของพระเจ้า โดยอิมามอะลี เป็นผู้บันทึกคำพูดเหล่านั้น ตามริวายะฮ์ต่างๆรายงานว่า มุศฮัฟเล่มนี้ อยู่กับบรรดาอิมาม และในปัจจุบัน มุศฮัฟเล่มนี้อยู่กับอิมามมะฮ์ดี (อ.ญ.)
บรรดาชีอะฮ์ ถือว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เป็นแบบอย่างสำหรับพวกเขา และในช่วงปีครบรอบการเป็นชะฮีดของนาง จึงเป็นที่รู้จักว่าเป็น อัยยาม ฟาฏิมียะฮ์ และมีการจัดงานไว้อาลัยให้กับท่านหญิงอีกด้วย
ในประเทศอิหร่าน วันครบรอบปีแห่งการถือกำเนิดของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (20 ญะมาดิษษานี) ถือเป็นวันสตรีของชาติ และวันแม่แห่งชาติ และนามว่า ฟาฏิมะฮ์และซะฮ์รอ ถือเป็นหนึ่งในชื่อที่มีการใช้กันมากที่สุดของเด็กผู้หญิงทั้งหลาย
ผลงานประพันธ์ที่เกี่ยวกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ซะฮ์รอ (ซ.) ถูกแบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน กล่าวคือ สารคดี ประวัติศาสตร์และอัตชีวประวัติ เป็นต้น
นามและเชื้อสาย
ฟาฏิมะฮ์ เป็นบุตรีของศาสดาแห่งอิสลาม มุฮัมมัด บิน อับดุลลอฮ์ และท่านหญิงคอดีญะฮ์ บินติ คุวัยลิด มีการกล่าวถึงสมญานาม (ประมาณ 30 นาม) สำหรับฟาฏิมะฮ์ (ซ.) มีดังนี้ ซะฮ์รอ , ศิดดีเกาะฮ์ , มุฮัดดะษะฮ์ , บะตูล , ซัยยิดะตุนิซาอุลอาละมีน , มันซูเราะฮ์ ,ฏอฮิเราะฮ์ , มุเฏาะฮะเราะฮ์ ,ซะกียะฮ์ , มุบารอกะฮ์ , รอฎียะฮ์ และ มัรฎียะฮ์ ถือเป็นฉายานามที่ถูกรู้จักมากที่สุดของฟาฏิมะฮ์ (1) และยังมีหลายฉายานามของฟาฏิมะฮ์ ได้แก่ อุมมุอะบีฮา , อุมมุลอะอิมมะฮ์ , อุมมุลฮะซัน , อุมมุลฮุเซน และอุมมุลมุฮ์ซิน [2]
ลำดับเหตุการณ์การดำเนินชีวิตของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.)
20 ญะมาดิษษานี ปีที่ 5 แห่งบิอ์ษัต การถือกำเนิดของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ 10 รอมฎอน ปีที่ 10 แห่งบิอ์ษัต การสูญเสียท่านหญิงคอดีญะฮ์ (3) มารดาของท่านหญิง ช่วงสุดท้ายของเดือนซอฟัร ปีที่ 2 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช พิธีการหมั้นของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ กับท่านอะลี บิน อะบีฏอลิบ (4) 1 ซุลฮิจญะฮ์ ปีที่ 2 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การแต่งงานของท่านหญิงและย้ายไปบ้านของท่านอะลี (5) 15 รอมฎอน ปีที่ 3 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การถือกำเนิดของอิมามฮะซัน บุตรคนแรก 7 เชาวาล ปีที่ 3 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การเข้าร่วมในสถานที่เกิดสงครามอุฮุด เพื่อรักษาบาดแผลของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) (7) 3 ชะอ์บาน ปีที่ 4 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การถือกำเนิดของอิมามฮุเซน (8) 5 ญะมาดิลเอาวัล ปีที่ 5 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช หรือปีที่ 6 การถือกำเนิดของท่านหญิงซัยนับ (9) ปีที่ 6 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การถือกำเนิดของท่านหญิงอุมมุลกุลษูม (10) ปีที่ 7 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การมอบสวนฟะดักให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์โดยศาสดามุฮัมมัด (11) 24 ซิลฮิจญะฮ์ ปีที่ 9 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การเข้าร่วมในเหตุการณ์มุบาฮะละฮ์ (12) 28 ซอฟัร หรือ 12 รอบีอุลเอาวัล ปีที่ 11 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การอสัญกรรมของศาสดามุฮัมมัด (13) รอบีอุลเอาวัล ปีที่ 11 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การยึดสวนฟะดักโดยคำสั่งของอะบูบักร รอบีอุลเอาวัล ปีที่ 11 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การอ่านเทศนาธรรม ฟะดะกียะฮ์ ในมัสญิดอัลนะบะวีย์ รอบีอุลเอาวัล ปีที่ 11 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การสร้าง บัยตุลอะฮ์ซาน ในสุสาน บะเกียะอ์ โดยอิมามอะลี เพื่อการแสดงความไว้ทุกข์ให้กับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เนื่องจากการจากไปของบิดาของนาง รอบีอุษษานี ปีที่ 11แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช การบุกโจมตีบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ และการจุดไฟเผาบ้านและการแท้งมุฮ์ซิน บินอะลี 13 ญะมาดิษษานี (14) หรือ 3 ญะมาดิษษานี ปีที่ 11 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช
ชีวประวัติ
ฟาฏิมะฮ์ (ซ.) เป็นบุตรคนสุดท้ายของศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และท่านหญิงคอดีญะฮ์ (ซ.) [16] ตามที่นักประวัติศาสตร์กล่าวว่า ฟาฏิมะฮ์ ถือกำเนิด ณ. เมืองมักกะฮ์และในบ้านของท่านหญิงคอดีญะฮ์ ในสถานที่ซึ่งเรียกว่า ซุกอก (ตรอก, ทางเดิน) อัลอัฏฏอรีน และ ซุกอก อัลฮิจร์ ใกล้ พื้นที่ มัสอา[17]
การถือกำเนิดและช่วงวัยเด็ก
ตามทัศนะทั่วไปของชาวชีอะฮ์ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ถือกำเนิดในปีที่ 5 ของ บิอ์ษัต (การสถาปนาเป็นศาสดา) หรือที่เรียกว่า ซะนะฮ์ อะฮ์กอฟียะฮ์ (ปีแห่งการถูกประทานลงมาของซูเราะฮ์ อัลอะฮ์กอฟ) [18] [19] เชคมุฟีดและ กัฟอะมี ถือว่า ปีที่สองแห่งบิอ์ษัต เป็นเวลาแห่งการประสูติของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) [20] ตามทัศนะทั่วไปของชาวซุนนีย์ ถือว่า การประสูติของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(ซ.) คือ ห้าปีก่อนบิอ์ษัต (21)
ในแหล่งข้อมูลของชีอะฮ์ มีการกล่าวถึงวันถือกำเนิดของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) คือ วันที่ 20 เดือนญะมาดิษษานี [22] ตามริวายะฮ์ (รายงาน) จากอิมามบากิร (อ. การตั้งชื่อนี้ได้รับการประทานจากพระผู้เป็นเจ้า ในรายงานระบุอีกว่า มีการกล่าวเกี่ยวกับการตั้งชื่อนี้ว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงแยกท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ออกจากพันธสัญญา (อะลัสตุและอาลัมซัร) ยังความรอบรู้ และทรงทำให้ท่านหญิงออกห่างจากมลทินทั้งปวง (23) นอกจากนี้ ยังมีรายงานจากหนังสือ ซะคออิรุลอุกบา (เขียนขึ้นในศตวรรษที่ 7 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช ว่า สาเหตุที่ฟาฏิมะฮ์ ถูกตั้งชื่อนี้ เพราะว่า พระผู้เป็นเจ้าทรงปกป้องท่านหญิงและเชื้อสายของท่านหญิงให้ปลอดภัยจากไฟนรก (24)
มีรายงานทางประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่ฉบับที่เกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของฟาฏิมะฮ์ในช่วงวัยเด็กและวัยรุ่น [25] ตามรายงานทางประวัติศาสตร์ หลังจากการเปิดเผยการเชิญชวนของท่านศาสดามุฮัมมัด ฟาฏิมะฮ์ได้เห็นถึงการกระทำอย่างรุนแรงของเหล่ามุชริก (ผู้ตั้งภาคีต่อพระเจ้า) ที่มีต่อบิดาของนางในบางกรณี นอกจากนี้ สามปีผ่านไป นับตั้งแต่วัยเด็กของฟาฏิมะฮ์ ในชิอ์บ อะบีฏอลิบ และภายใต้แรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคมของพวกมุชริกต่อบะนี ฮาชิม และผู้ติดตามของศาสดาแห่งอิสลาม (26) ฟาฏมะฮ์ยังได้สูญเสียคอดีญะฮ์ มารดาของนางในวัยเด็กอีกด้วย [27] การตัดสินใจของเผ่าพันธุ์กุเรช ต่อการสังหารท่านศาสดา (ซ็อลฯ)[28] การออกเดินทางตอนกลางคืนของท่านศาสดาจากเมืองมักกะฮ์และการอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮ์ และการอพยพของฟาฏิมะฮ์ไปยังเมืองมะดีนะฮ์ ร่วมกับท่านอะลี (อ.) และสตรีจำนวนหนึ่ง ถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญในช่วงวัยเด็กของฟาฏิมะฮ์[29]
การสู่ขอและการแต่งงาน
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) มีผู้มาสู่ขอหลายคนด้วยกัน แต่ท้ายที่สุด ท่านหญิงก็ได้แต่งงานกับอิมามอะลี (อ.)(30) ตามที่นักวิจัยบางคนเชื่อว่า หลังจากการอพยพของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ไปยังเมืองมะดีนะฮ์และความเป็นผู้นำของสังคมอิสลาม ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) เป็นที่ให้ความเคารพในหมู่ชาวมุสลิม เนื่องจากความสัมพันธ์ของท่านหญิงกับท่านศาสดา ในฐานะบุตรีของเขา และได้รับสถานภาพที่สูงส่ง [31 ] นอกเหนือจากประเด็นนี้ การแสดงความรักของท่านศาสดาที่มีต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.)[32] และคุณลักษณะของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เมื่อเปรียบเทียบกับสตรีทั้งหลายในสมัยของนาง [33] เป็นสาเหตุที่ทำให้ชาวมุสลิมบางคนต้องการแต่งงานกับบุตรีของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) พวกเขาจำนวนหนึ่งที่เข้ารับศาสนาอิสลามก่อนหน้านี้หรือมีอำนาจทางการเงินอย่างเพียงพอได้เข้าสู่ขอท่านหญิง [35] อะบูบักร์ อุมัร [36] และ อับดุรเราะฮ์มาน บินเอาฟ์ [37] อยู่ในหมู่ผู้คนเหล่านี้ ผู้มาสู่ขอทุกคนได้ยินการปฏิเสธจากท่านศาสดา (38) เพื่อตอบสนองต่อการสู่ขอของพวกเขา ท่านศาสดาจึงกล่าวว่า การแต่งงานของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เป็นภารกิจจากฟากฟ้าและต้องมีบัญชาการของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น (40)
ท่านอะลี (อ.) มีความสนใจที่จะแต่งงานกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เป็นอย่างมาก เนื่องจากความสัมพันธ์ทางครอบครัวของเขากับท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)และลักษณะทางศีลธรรมและทางศาสนาของท่านหญิง [41] แต่บรรดานักประวัติศาสตร์กล่าวว่า เขาไม่อนุญาตให้ตัวเองมาสู่บุตรีของท่านศาสดา [42] ซะอัด บินมะอาซ ได้แจ้งเรื่องนี้ให้ท่านศาสดารับทราบ และท่านศาสดาก็เห็นด้วยกับการสู่ของท่านอะลี (อ.)[43] ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)จึงบอกกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ถึงการสู่ขอของท่านอะลี (อ.) และลักษณะพฤติกรรมและความประเสริฐของเขาซึ่งมาพร้อมกับความยินยอมของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) (44) ท่านศาสดายังได้จัดการแต่งงานท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) กับท่านอะลี (อ.) ตามคำบัญชาของพระเจ้า ด้วยเช่นกัน [45] ท่านอะลี (อ.) ก็เช่นเดียวกันกับผู้อพยพคนอื่น ๆ มีสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ยากลำบากในช่วงเดือนแรก ๆ หลังจากการอพยพ (46) ดังนั้น ตามคำแนะนำของท่านศาสดา เขาจึงขายชุดเกราะของเขา (หรือนำไปจำนอง) และกำหนดราคา เป็นสินสอดของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) พิธีการอ่านอักด์ของท่านอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) จัดขึ้นต่อหน้าชาวมุสลิมในมัสยิด (48) เกี่ยวกับเรื่องของวันที่จัดพิธีการอ่านอักด์นั้น มีทัศนะที่แตกต่างกัน แต่ส่วนมากของแหล่งข้อมูล บันทึกว่า ในปีที่สองของฮิจเราะฮ์ศักราช [49] พิธีอภิเษกสมรส จัดขึ้น หลังสงครามบะดัรในเดือนเชาวาลหรือซุลฮิจญะฮ์ในปีฮิจเราะห์ที่ 2
การใช้ชีวิตร่วมกับท่านอะลี (อ.) ในรายงานทางประวัติศาสตร์และริวายะฮ์ ระบุว่า ฟาฏิมะฮ์ (ซ.) มีความรักต่ออะลี (อ.) ในรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งต่อหน้าท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ)และนางเรียกเขาว่าเป็นสามีที่ดีที่สุด (51)รายงานว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์เรียกชื่อท่านอะลี ด้วยชื่อที่น่ารัก[52] ในหมู่ผู้คนด้วยฉายานามว่า อะบุลฮะซัน[53] มีรายงานอีกว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ประดับตัวของนางด้วยน้ำหอมและเครื่องประดับที่บ้านของนาง[54]
ช่วงแรกของการใช้ชีวิตของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.)และท่านอะลี (อ.) มาพร้อมกับสภาพเศรษฐกิจที่ยากลำบาก [55] และบางครั้งพวกเขาก็ไม่มีอาหารสำหรับให้ฮะซันและฮุเซนอิ่มท้องได้ [56] แต่ท่านหญิงก็ไม่ได้คัดค้านกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่และบางครั้งเขาก็เคยปั่นขนแกะเ พื่อช่วยภรรยาในการหาปัจจัยเลี้ยงชีพ (57)
ตามคำแนะนำของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) [58] ให้ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ทำงานภายในบ้านด้วยตัวเองและงานนอกบ้านให้กับท่านอะลี (อ.)(59) ในเวลาที่ส่งฟิฎเฎาะฮ์ เป็นคนรับใช้ไปยังบ้านของนาง การงานครึ่งหนึ่งในบ้าน นางจะรับผิดชอบ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นหน้าที่ของฟิฎเฎาะฮ์ (60) ตามรายงานบางฉบับ ระบุว่า ตามคำแนะนำของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ให้ฟิฎเฎาะฮ์ทำงานบ้านในวันหนึ่ง และอีกวันหนึ่งเป็นหน้าที่ของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) (61)
อิมามอะลี (อ.) ให้ความเคารพต่อท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ ด้วยเช่นกัน มีริวายะฮ์หนึ่ง รายงานจากอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ฉันไม่เคยโกรธฟาฏิมะฮ์และฟาฏิมะฮ์ก็ไม่เคยโกรธต่อฉันเลย[62] ในประเด็นของอะบูบักร์ และอุมัร ที่ร้องขอต่ออิมามอะลี (อ.) เพื่อเข้าพบกับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เขาพูดกับอิมามอะลี (อ.) ว่า บ้านนี้เป็นของเจ้า และผู้หญิงที่เป็นอิสระคนนี้ ที่กำลังคุยกับเจ้า ก็คือภรรยาของเจ้า ทำทุกอย่างในสิ่งที่เจ้าต้องการ
บุตร
แหล่งข้อมูลของชีอะฮ์และอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ ต่างเห็นพ้องกันว่า ฮะซัน, [64] ฮุเซน, [65] ซัยนับ [66] และอุมมุล กุลษูม [67] เป็นบุตรสี่คนของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์และอิมามอะลี (68) ในแหล่งข้อมูลของชีอะฮ์และบางแหล่งข้อมูลของอะฮ์ลิซซุนนะฮ์ มีบุตรอีกคนหนึ่งที่ได้รับการตั้งชื่อตามรายงานว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ถูกทำแท้งอันเป็นผลมาจากความบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับท่านหญิงในช่วงเหตุการณ์หลังจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ชื่อของเขาถูกกล่าวถึงว่า มุฮ์ซิน (69)
เหตุการณ์บั้นปลายของชีวิต
ในช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายของชีวิตของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ เหตุการณ์ที่โชคร้ายเกิดขึ้นกับนาง ดังที่กล่าวไว้ว่า ไม่มีผู้ใดเห็นท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ ยิ้มแย้มเลยในช่วงเวลานี้ [70] การจากไปของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) [71] เหตุการณ์ซะกีฟะฮ์ การแย่งชิงตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์ การยึดสวนฟะดักโดยอะบูบักร์ และการอ่านคำเทศนาของท่านหญิงต่อหน้าบรรดาสาวก[72] ถือเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดในบั้นปลายของชีวิตของนาง ท่านอะลี (อ.) ซึ่งอยู่เคียงข้างท่านหญิง เป็นหนึ่งในฝ่ายตรงข้ามหลักของสภาซะกีฟะฮ์และการเป็นเคาะลีฟะฮ์ของอะบูบักร์ [73] ด้วยสาเหตุนี้ พวกเขาจึงถูกคุกคามโดยระบบเคาะลีฟะฮ์ ซึ่งตัวอย่างหนึ่ง คือ การคุกคามที่จะเผาบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (74) การไม่ให้สัตยาบันของท่านอะลี (อ.) และการต่อต้านอะบูบักร์ และการนั่งอยู่ในบ้านของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ทำให้เหล่าสหายของเคาะลีฟะฮ์โจมตีบ้านของนาง และในการโจมตีครั้งนี้ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ได้รับบาดเจ็บ เพราะนางถูกขัดขวางไม่ให้พาท่านอะลีไปให้สัตยาบัน [75] และการแท้งบุตรของนาง [76] ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) หลังจากเหตุการณ์นี้ นางได้ล้มป่วยและเป็นชะฮีดในเวลาอันสั้น [77] ในหนังสือ อัลอิฮ์ติญาจ มีรายงานว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.)ได้กล่าวในหมู่สตรีชาวเมืองมะดีนะฮ์ที่เข้ามาเยี่ยมบ้านของนาง ซึ่งรวมถึงจุดยืนอื่น ๆ ของท่านหญิงด้วย และการแสดงความไม่พอใจกับสภาพของประชาชนหลังจากการจากไปของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) [78]
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ได้สั่งเสียอะลี (อ.) ว่า เหล่าผู้ต่อต้านของนาง จะต้องไม่มีส่วนร่วมในการนมาซมัยยิตของและเข้าร่วมพิธีฝังศพของนางและนางขอร้องให้อะลี (อ.) ฝังศพของนางในตอนกลางคืน (79) ตามความเห็นที่เป็นที่รู้จัก [80] ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) เป็นชะฮีดในวันที่ 3 เดือนญะมาดิษษานี ปีที่ 11 แห่งฮิจเราะฮ์ศักราช ณ เมืองมะดีนะฮ์ [81] อายุของนาง คือ สิบแปดปี [82] แต่ในริวายะฮ์ของอิมามบากิร (อ.) อายุของนางถูกกล่าวถึงว่า 23 ปี ด้วยกัน (83)
การเข้าร่วมและจุดยืนทางการเมือง
ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) มีการเคลื่อนไหวทางสังคมและจุดยืนทางการเมืองอย่างมากมาย การอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮ์ การปฏิบัติต่อท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ในเหตุการณ์สงครามอุฮุด [84] การปรากฏตัวข้างร่างศพของท่านฮัมซะฮ์ ซัยยิดุชชุฮะดา พร้อมด้วยศอฟียะฮ์ น้องสาวของท่านฮัมซะฮ์ และป้าของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ในอูฮุด [85] การส่งอาหารให้แก่ท่านศาสดาในสงครามค็อนดัก [86] และการติดตามท่านศาสดาในการพิชิตมักกะฮ์[87] ถือเป็นการเคลื่อนไหวต่างๆของท่านหญิงก่อนการอสัญกรรมของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) แต่การเคลื่อนทางการเมืองส่วนมากของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) เกี่ยวข้องกับช่วงชีวิตอันสั้นของนาง หลังจากการอสัญกรรมของท่านศาสดา จุดยืนทางการเมืองที่สำคัญที่สุดบางประการของนาง ได้แก่ การต่อต้านเหตุการณ์ซะกีฟะฮ์ และการเลือกตั้งอบูบักร์ เป็นคอลีฟะฮ์ต่อจากท่านศาสดา การไปยังบ้านของแกนนำของพวกมุฮาญิรรและอันศอร เพื่อขอให้พวกเขาสารภาพเกี่ยวกับเหมาะสมและความเหนือกว่าของอิมามอะลี (อ.) สำหรับตำแหน่งเคาะลีฟะฮ์, การพยายามทวงคืนกรรมสิทธิ์ของฟะดัก, การเทศนาธรรมฟะดะกียะฮ์ในกลุ่มผู้อพยพและอันศอร, การปกป้องอะลี (อ) ในกรณีที่บ้านของเขาถูกโจมตี, การปราศรัยในกลุ่มสตรี (ผู้อพยพ) และอันศอร) ที่มาเยี่ยมนางและสั่งเสียไว้ว่า ให้จัดพิธีการเสียชีวิตของนางอย่างซ่อนเร้น ขณะที่นักวิจัยบางคนกล่าวว่า ส่วนมากของคำพูดและพฤติกรรมหลายประการของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ หลังจากการอสัญกรรมของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) นั้นเป็นปฏิกิริยาทางการเมืองและการประท้วงต่อต้านการแย่งชิงตำแหน่งคอลีฟะฮ์โดยอบูบักร์ และฝ่ายสนับสนุนตำแหน่งคอลีฟะฮ์ของเขา (88)
ท่านหญิงต่อต้านการตัดสินใจของสภาซะกีฟะฮ์
หลังจากการจัดตั้งสภาซะกีฟะฮ์ และการให้สัตยาบันกับอะบูบักร์ ในฐานะเป็นเคาะลีฟะฮ์ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) ได้คัดค้าน เหมือนกับอิมามอะลี (อ.) และเหล่าศอฮาบะฮ์จำนวนหนึ่ง เช่น ฏ็อลฮะฮ์และซุบัยร์ (89) เพราะว่า เหตุการณ์เฆาะดีร ศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้แนะนำอิมามอะลีว่า เป็นตัวแทนของเขา (90) จากรายงานต่างๆทางประวัติศาสตร์ ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์พร้อมอิมามอะลี ได้ไปหาศอฮาบะฮ์ และขอความช่วยเหลือจากพวกเขา ศอฮาบะฮ์ได้ตอบข้อเรียกร้องของท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ.) กล่าวว่า หากว่าก่อนหน้านี้ ได้มีการให้สัตยาบันกับอะบูบักร์ พวกเขาก็จะให้การสนับสนุนกับการเป็นเคาะลีฟะฮ์ของท่านอะลี (อ.) (91)