เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม

ความประเสริฐและคุณลักษณะพิเศษของท่านหญิงซัยนับ (ซ.) ตอนที่หนึ่ง

0 ทัศนะต่างๆ 00.0 / 5

ความประเสริฐและคุณลักษณะพิเศษของท่านหญิงซัยนับ (ซ.) ตอนที่หนึ่ง

 

ท่านหญิงซัยนับ (ซ.) คือ บุตรีของอิมามอะลี (อ) กับท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (ซ) ซึ่งได้ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 5 ของเดือนญะมาดิลเอาวัล ปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 5 หรือบางรายงานกล่าวว่า ปีที่ 6 ณ เมืองมะดีนะฮ์ อัลมุเนาวะเราะฮ์


เมื่อท่านหญิงมีอายุ 5 ขวบ มารดาของท่านได้จากโลกนี้ไป ซึ่งจะเห็นได้ว่า ท่านหญิงซัยนับ เป็นผู้ที่อดทนต่อมุซีบัต (ความเศร้าโศก) ต่างๆอย่างมากมาย นับตั้งแต่ท่านหญิงยังเยาว์วัยอยู่ ด้วยการจากไปของมารดา  บิดา  พี่ชายและบรรดาลูกๆของท่านหญิง อีกทั้งท่านหญิงยังเป็นผู้ที่มีความอดทนเป็นอย่างมาก หลังจากสมรภูมิกัรบะลา ในการถูกจับเป็นเชลยศึก(1)


ท่านหญิงซัยนับได้รับสมญานามว่า อุมมุลกุลษูม อัลกุบรอ และศิดดีเกาะฮ์ อัศศุฆรอ


และหนึ่งในฉายานามที่เป็นที่รู้จักของท่านหญิงซัยนับ คือ มุฮัดดะษะ อาลิมะฮ์ และฟะฮีมะฮ์


ท่านหญิงซัยนับ เป็นผู้ที่กระทำอะมั้ลอิบาดะฮ์(เคารพภักดี)ต่อเอกองค์อัลลอฮ์ ท่านจึงได้รับตำแหน่ง อาบิดะฮ์(สตรีผู้ที่กระทำอิบาดะฮ์อย่างเคร่งครัด)


และท่านหญิงยังเป็นนักบรรยายหรือนักเทศนาที่มีสุนทรโอวาทที่ควรค่าแก่การนำไปเป็นตัวอย่างและแบบฉบับ เพราะท่านหญิงได้รับการเรียนรู้และสั่งสอนจากครอบครัวที่มีความรักต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง  ซึ่งถือว่าเป็นความโปรดปรานอันยิ่งใหญ่ที่พระองค์ทรงประทานให้กับท่านหญิง


ท่านหญิงยังได้รับเรียกการขานนามว่า อะกีละตุบะนีฮาชิม


ท่านหญิงได้สมรสกับลูกพี่ลูกน้องของท่าน คือ ท่านอับดุลลอฮ์ บิน ญะอ์ฟัร และผลของการแต่งงาน คือ บุตรชายทั้งสอง กล่าวคือ ท่านมุฮัมมัด และท่านอูน ซึ่งท่านทั้งสองได้รับตำแหน่งชะฮีด ณ ท้องทุ่งกัรบะลา ในการปกป้องอิมามฮุเซน (อ.)(2)


ท่านหญิงซัยนับ ผู้ทรงเกียรติ ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านได้อำลาจากโลกดุนยาไปเมื่อวันที่ 15 เดือนรอญับ  ในปีฮิจเราะฮ์ศักราชที่ 62 หลังจากที่ท่านต้องอดทนอดกลั้นกับความทุกข์ระทมที่มีต่อท่านและครอบครัวของท่าน

 

ความประเสริฐของท่านหญิง : เครื่องประดับแห่งบิดา


ส่วนมากของมนุษย์ทั้งหลาย ผู้เป็นบิดาหรือมารดา จะเป็นผู้ตั้งชื่อให้กับบุตรของตน แต่การถือกำเนิดของท่านหญิงซัยนับนั้น มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิง เพราะว่า บุพการีทั้งสองของท่านได้มอบการตั้งชื่อบุตรให้กับท่านศาสนทูตแห่งอัลลอฮ์ (ศ) ซึ่งในขณะนั้น ท่านศาสดาอยู่ในช่วงการเดินทาง หลังจากที่ท่านได้กลับมา เมื่อได้รับข่าวการถือกำเนิดของทารกน้อย ท่านจึงรีบเร่งไปยังบ้านของท่านอิมามอะลี (อ) และอุ้มทารกน้อยไว้ในบนตัก และเรียกเด็กน้อยนั้นว่า ซัยนับ (ซัยน์+ อับ) หมายถึง เครื่องประดับของบิดา(3)


ความรู้จากพระเจ้า


ความรู้หรือศาสตร์วิชาการ คือ สิ่งสำคัญที่จำแนกมนุษย์ออกจากบรรดาสิงสาราสัตว์ได้ ดั่งที่อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

 

وَعَلَّمَ آدَمَ الْأَسْمَاءَ كُلَّهَا ثُمَّ عَرَضَهُمْ عَلَى الْمَلَائِكَةِ فَقَالَ أَنبِئُونِي بِأَسْمَاءِ هَٰؤُلَاءِ إِن كُنتُمْ صَادِقِينَ

 

“และพระองค์(อัลลอฮ์) ได้ทรงสอนบรรดานามทั้งหลายให้แก่อาดัม ภายหลังได้ทรงแสดงสิ่งเหล่านั้นแก่มะลาอิกะฮฺ แล้วทรงตรัสว่า จงบอกบรรดาชื่อของสิ่งเหล่านั้นแก่ข้า หากพวกเจ้าเป็นผู้พูดจริง (ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 31)


ความรู้หรือวิชาการที่สูงสุด คือ วิชาการศาสตร์ที่ได้รับโดยตรงจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งในเชิงวิชาการอิสลาม เรียกว่า อิลมุน ละดุนนีย์  ดั่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสอนสั่งต่อท่านศาสดาคิฎิร (อ) ซึ่งในอัลกุรอานได้กล่าวว่า


فَوَجَدَا عَبْدًا مِنْ عِبَادِنَا آتَيْنَاهُ رَحْمَةً مِنْ عِنْدِنَا وَعَلَّمْنَاهُ مِنْ لَدُنَّا عِلْمًا

 

แล้วทั้งสองได้พบบ่าวคนหนึ่งจากปวงบ่าวของเรา ที่เราได้ประทานความเมตตาจากเราให้แก่เขา และเราได้สอนความรู้จากเราให้แก่เขา  (ซูเราะฮ์อัลกะฮ์ฟ์ โองการที่ 65)

ท่านหญิงซัยนับก็เช่นเดียวกัน ด้วยการยืนยันจากคำกล่าวของท่านอิมามซัจญาด (อ) ท่านได้กล่าวกับท่านหญิงซัยนับ ผู้เป็นอาหญิงของท่านว่า

 

انت عالمة غیر معلمة وفهمة غیر مفهمة

ท่านคือผู้รู้ที่ไม่ได้รับการเรียนรู้ และท่านคือผู้ที่เข้าใจโดยปราศจากผู้ที่มาทำความเข้าใจให้กับท่าน (4)


การอิบะดะฮ์ (เคารพภักดี)ต่อพระเจ้า


ท่านหญิงซัยนับ(ซ.) ได้เรียนรู้จากอัลกุรอานว่า เป้าหมายในการสร้างบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลาย ทั้งมนุษย์และญิน(สิ่งมีชีวิตหนึ่งที่ไม่ใช่มนุษย์) เพื่อการเข้าสู่การเป็นบ่าวที่แท้จริงต่อพระองค์ ผู้ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า


ดั่งอัลกุรอานที่กล่าวไว้ว่า

 

وَمَا خَلَقْتُ الْجِنَّ وَالْإِنسَ إِلَّا لِيَعْبُدُونِ

 

และข้ามิได้สร้างญิน และมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่เพื่อเคารพภักดีต่อข้า (ซูเราะฮ์อัซซาริยาต โองการที่ 56)


ท่านหญิงซัยนับ เป็นผู้หนึ่งที่ได้เห็นอิบะดะฮ์ และนมาซยามค่ำคืนของบิดาและมารดาของท่านอย่างใกล้ชิด อีกทั้งในกัรบะลาอ์ ท่านก็ได้ยินคำพูดหนึ่งของท่านอิมามฮุเซน (อ) ที่ท่านได้กล่าวกับอัศฮาบของท่านในค่ำคืนอาชูรอ ว่า


จงย้อนกลับไปยังพวกเขา (บรรดาทหารของอิบนุซิยาด) และขอให้พวกเขาประทังเวลาให้คืนนี้ผ่านพ้นไปก่อน จนถึงวันรุ่งขึ้น เพื่อที่พวกเราจะได้นมาซต่อพระผู้อภิบาลของเรา และขอดุอา (วิงวอน- ขอพร)ต่อพระองค์ และขอการอิสติฆฟาร(ลุแก่โทษ)  เพราะว่าพระองค์ทรงรอบรู้ว่า แท้จริงข้าฯพระองค์นั้น รักการทำนมาซ ,การอ่านพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน และการขอดุอาและการขอลุแก่โทษอย่างมากมาย (5)


จากคำกล่าวนี้ มิได้บ่งบอกถึงนมาซหรือการรำลึกถึงพระเจ้า เป็นภาระหน้าที่ๆจะต้องกระทำ แต่แสดงให้เห็นถึงความรักที่แท้จริงที่มีต่ออิบาดะฮ์และนมาซ


ท่านหญิงซัยนับ (ซ) ก็มีความรักอย่างแท้จริงในการกระทำอะมั้ลอิบาดะฮ์ของท่าน จะเห็นได้จากคำกล่าวของท่านอิมามซัจญาด (อ) ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า
แท้จริง ท่านอาของฉัน คือ ผู้ที่กระทำนมาซทั้งวาญิบ (ภาคบังคับ) และมุสตะฮับ (มิใช่ภาคบังคับ) ตลอดเวลาระหว่างทางจากเมืองกูฟะฮ์ จนถึงเมืองชาม (ซีเรีย ปัจจุบัน) และบางสถานที่ นางได้ทำนมาซในท่านั่ง เนื่องจากความหิวกระหายและร่างกายที่อ่อนเพลียของนาง (6)


อิมามฮุเซน (อ) ได้กล่าวกับท่านหญิงซัยนับ เวลาที่อำลาจากกันว่า


โอ้น้องจ๋า เจ้าอย่าลืมขอดุอาให้ฉันในนมาซศอลาตุลลัยของเจ้า (7)

 

อิฟฟะฮ์ (การธำรงตนในความสะอาดบริสุทธิ์)


ความบริสุทธิ์ คือ สิ่งที่มีคุณค่าต่อสตรีทั้งหลาย ถือได้ว่าเป็นอัญมณีอันทรงคุณค่า และท่านหญิงซัยนับก็ได้ผ่านการอบรมสั่งสอนจากบิดาของท่าน ในการรักษาและธำรงไว้ด้วยความสะอาดบริสุทธิ์


ซึ่งท่านอิมามอะลีได้กล่าวไว้ในนะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์ว่า

ما المُجاهِدُ الشَّهيدُ في سَبيلِ اللّه ِ بِأعظَمَ أجرا مِمَّن قَدَرَ فعَفَّ ، لَكادَ العَفيفُ أن يَكونَ مَلَكا مِنَ المَلائكَةِ

 

ไม่มีนักต่อสู้ชะฮีดในหนทางแห่งอัลลอฮ์คนใด ที่จะได้รับรางวัลยิ่งใหญ่กว่า ผู้ที่รักษาไว้ซึ่งความสะอาดบริสุทธิ์ (อิฟฟะฮ์) แม้นว่า ผู้มีอิฟฟะฮ์ เกือบที่จะเป็นหนึ่งในเทวทูตทั้งหลายก็ตาม (8)

 

เชิงอรรถ


1.ริยาฮีนุชชะรีอะฮ์ ,เชคซะบีฮุลลอฮ์ มะฮัลลาตีย์ ,ดารุลกุตุบ อัลอิสลามียะฮ์ ,เตหะราน ,เล่ม 3 ,หน้า 46
2.อ้างอิงแล้ว เล่ม 3, หน้า 210
3.อ้างอิงแล้ว เล่ม 3, หน้า 39
4. มุนตะฮัลอามาล ,เชคอับบาส กุมมี,อิลมียะฮ์ อิสลามียะฮ์,  เล่ม 1 ,หน้า 298
5.ตารีคฏอบะรีย์ ,มุฮัมมัด บิน ญะรีร ฏอบะรีย์ ,เล่ม 6 ,หน้า 238
6.ริยาฮีนุชชะรีอะฮ์ เล่ม 3 ,หน้า 62
7.อ้างอิงแล้ว ,หน้าที่ 61- 62
8.นะฮ์ญุลบะลาเฆาะฮ์  ,ฮิกมะฮ์ 466


บทความโดย เชคญะมาลุดดีน ปาทาน

กรุณาแสดงความคิดเห็นด้วย

ความคิดเห็นของผู้ใช้งานทั้งหลาย

ไม่่มีความคิดเห็น
*
*

เว็บไซต์ อิมาม อัลฮะซะนัยน์ (อลัยฮิมัสลาม)เพื่อคุณค่าและสารธรรมอิสลาม